ชุมพล กาญจนะ
ชุมพล กาญจนะ เป็นนักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี 7 สมัย อดีตกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์[1]
ประวัติ[แก้]
ชุมพล กาญจนะ เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ปัจจุบันอายุ 76 ปี สมรสกับนางโสภา กาญจนะ มีบุตรธิดาด้วยกันสามคน ได้แก่ 1. นายแสงโรจ กาญจนะ 2. นายวิทวัฒน์ กาญจนะ 3. นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต 3 คนปัจจุบัน)
การทำงาน[แก้]
ชุมพล กาญจนะ เริ่มทำงานการเมืองโดยการเป็นกรรมการสุขาภิบาลเวียงสระ เป็นรองประธานสุขาภิบาลเวียงสระ และเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนได้รับเลือกเป็นประธานสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เขาเข้าสู่งานการเมืองระดับชาติครั้งแรกใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ทีมเดียวกันกับ บัญญัติ บรรทัดฐาน และ ประวิช นิลวัชรมณี และได้รับเลือกตั้งทั้ง 3 คน ต่อเนื่อง 4 สมัย คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539
ต่อจากนั้นได้รับเลือกตั้งในเขตเดียวเบอร์เดียวอีก 2 สมัย คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 และ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 กระทั่งในปี 2550 ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบแบ่งเขต 3 คน อีกครั้ง เขาได้ลงเลือกตั้งร่วมกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ประพนธ์ นิลวัชรมณี ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยที่ 7 กระทั่งในปี 2553 เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญ[2][3]
ชุมพล เคยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกีฬาในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 17 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอาคม เอ่งฉ้วน) ในปี 2542 เป็นประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 21
ในปี 2563 ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 นายชุมพล ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง[4] โดยการสนับสนุนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[5] แต่เขาได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 2[6]
ในวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565 นายชุมพลได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ โดยเตรียมย้ายมาสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติพร้อมกับเปิดตัวในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2565 พร้อมกับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และนายชัชวาลล์ คงอุดม[7]
วันที่ 9 ม.ค.2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรมว.กลาโหมได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้แต่งตั้ง นายชุมพล กาญจนะ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ และ ชัชวาลล์ คงอุดม[7]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2546 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[8]
- พ.ศ. 2543 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[9]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ประชาธิปัตย์ ตั้งสภาที่ปรึกษาพรรคบัญญัติ-อภิสิทธิ์-ชายหมู มาครบทีม
- ↑ ชุมพล กาญจนะจาก ไทยรัฐ
- ↑ ชุมพลแจ้งบัญชีเท็จศาลเว้นวรรค5ปี
- ↑ 'ชุมพล กาญจนะ' ปชป. ลงสนามท้องถิ่นชน 'มนตรี เพชรขุ้ม' ศึกนายก อบจ. สุราษฎร์ธานี
- ↑ อภิสิทธิ์ นำทีมพรรคประชาธิปัตย์ หาเสียงหนุน ชุมพล กาญจนะ ชิงเก้าอี้นายก อบจ.สุราษฏร์ธานี
- ↑ สิ้นมนต์ขลังปชป. เจ้าพ่อคอกหอย โค่นแชมป์เก่า "ชุมพล" อดีต ส.ส. 7 สมัย ราบคาบ
- ↑ 7.0 7.1 รทสช.เคาะ 27 ธ.ค. เปิดตัว 3 วีไอพี‘ไตรรงค์-ชุมพล-ชัช’สมัครร่วมงาน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๑๐, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓