ข้ามไปเนื้อหา

จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จณิสตา จรูญสมิทธิ์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
3 มกราคม พ.ศ. 2544 – 5 มกราคม พ.ศ. 2548
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
ดำรงตำแหน่ง
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
เขตเลือกตั้งเขต 14
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์

6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 (51 ปี)
สัญชาติไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองชาติไทย (2544–2551)
คู่สมรสบุตรรัตย์ จรูญสมิทธิ์ (สมรส 2552)
บุตร2 คน
บุพการี
  • อาคม ลิ่วเฉลิมวงศ์ (บิดา)
  • หม่อมราชวงศ์สิริญาดา วรวรรณ (มารดา)
ญาติชญาดา ลิ่วเฉลิมวงศ์ (น้องสาว)
การศึกษาโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ร.บ.)
มหาวิทยาลัยลอนดอน (ร.ม.)
อาชีพนักการเมือง ข้าราชการ พิธีกร
ชื่อเล่นแบม

จณิสตา จรูญสมิทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 มีชื่อเล่นว่า แบม หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า น้องแบม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกันสองสมัยตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2549 อดีตโฆษกพรรค, อดีตรองเลขาธิการและอดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย และ อดีตรองโฆษกรัฐบาล พิธีการรายการโทรทัศน์ที่เคยรับงานพิธีกรรายการตีสิบ โดยภายหลังจึงลาออกมาทำงานการเมือง

ประวัติ

[แก้]

จณิสตา จรูญสมิทธิ์ (สกุลเดิม ลิ่วเฉลิมวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 มีชื่อเล่นว่า แบม เป็นบุตรของนายอาคม ลิ่วเฉลิมวงศ์ กับหม่อมราชวงศ์สิริญาดา วรวรรณ เป็นหลานตาของพันตำรวจโท หม่อมเจ้าหัชชากร วรวรรณ พระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีน้องสาวร่วมบิดามารดา 2 คนคือ ชญาดา ลิ่วเฉลิมวงศ์ หรือโบ กับ สุนุชดา ลิ่วเฉลิมวงศ์และมีน้องต่างบิดาอีกสองคนคือ ชวิทย์ และฐนุชดี เสรีวัฒโนภาส

วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552 จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ และบุตรรัตย์ จรูญสมิทธิ์ หรือ โบ้ท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิลค์สแปน จำกัด เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระตำหนักวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในหลวงพระราชทานถุงทองเป็นของขวัญแก่คู่บ่าวสาว ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงอวยพรแก่คู่บ่าวสาวว่าให้รักกันนาน ๆ ครองรักด้วยความเข้าใจและใช้ความอดทน[1] ทั้งคู่มีบุตรดังนี้

1. ลูกสาวชื่อ วณิสตา จรูญสมิทธิ์ หรือน้องเวนิส เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553 ที่โรงพยาบาลสมิติเวช[2]

2. ลูกชายชื่อ นราธิปพงศ์ จรูญสมิทธิ์ หรือน้องวินซ์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์[3]

ประวัติการศึกษา

[แก้]

จณิสตา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จบชั้นมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาการพัฒนาภูมิภาคและเมือง จาก London School of Economics & Political Science (LSE) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ[ต้องการอ้างอิง]

ประวัติการทำงาน

[แก้]

จณิสตา เคยทำงานในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 5 สังกัด ศูนย์วิเคราะห์ และประสานแผนปฏิบัติการ ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะเดียวกันเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จากการเป็นนางแบบถ่ายโฆษณา ก่อนจะรับเป็นพิธีกร รายการ ตีสิบ ทางช่อง 3 คู่กับ นายวิทวัส สุนทรวิเนตร ซึ่งทำให้จณิสตา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง

งานการเมือง

[แก้]

ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 ได้เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคชาติไทย โดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ คนที่ 6 ของพรรค และได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นคนสุดท้าย นอกจากดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.จณิสตา ยังดำรงตำแหน่ง โฆษกพรรคชาติไทย อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2548 น.ส.จณิสตา ได้เปลี่ยนมาลงสมัคร ส.ส.เขต ในพื้นที่เขตดอนเมือง แทนที่ นายการุณ โหสกุล ซึ่งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ของพรรคชาติไทย ที่ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทยอย่างกะทันหัน และลงเลือกตั้งในเขตดอนเมือง แข่งกับพรรคชาติไทย ซึ่งผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น น.ส.จณิสตา ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตดอนเมือง และเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวของพรรคชาติไทยที่ชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2550 มีข่าวลือว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยไม่พอใจในพฤติกรรมของ น.ส.จณิสตา ถึงขนาดจะตัดสิทธิ ไม่ให้ลงเลือกตั้งในคราวหน้า พร้อมกับมีข่าวว่า น.ส.จณิสตา จะย้ายไปสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต่อมาทั้ง นายบรรหาร น.ส.จณิสตา และทางพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงว่าทั้งหมดเป็นเพียงข่าวปล่อยที่ไม่เป็นความจริง[4][5]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ได้ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 5 (บางเขน สายไหม ดอนเมือง) สังกัดพรรคพรรคชาติไทยอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือก จากนั้นในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย[6]

สรุปประวัติการดำรงตำแหน่ง

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""แบม-จณิสตา"ฉลองสมรสกับ"โบ๊ท" เปิดใจผลิตทายาททันทีอายุมากแล้ว เตรียมฮันนีมูนยุโรป-อิตาลี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-23. สืบค้นเมื่อ 2011-12-07.
  2. ไทยรัฐออนไลน์- ได้ลูกสาว
  3. แบม จณิสตา คลอดลูกคนที่ 2 ตั้งชื่อ น้องวินซ์
  4. ""บรรหาร"ยืนยัน"จณิสตา"อยู่ชาติไทย ส่งเลือกตั้งเขตเดิม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 2007-10-20.
  5. "จณิสตาพบบรรหารยันไม่ย้ายพรรค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-01. สืบค้นเมื่อ 2007-10-20.
  6. "เปิดชื่อ 109 กก.บริหาร "พปช.-ชาติไทย-มัชฌิมาฯ" ถูกยุบ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
  7. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-05-31. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๖๕, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๑๐๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]