โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรงเรียนสตรีวิทยา 3)


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
Nawaminthrachinuthit Satriwitthaya Putthamonton School
ข้อมูล
ชื่ออื่นนมร.ส.ว. (NMR.S.W)
ประเภทรัฐบาล สังกัด สพฐ.
คำขวัญรักศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ
สถาปนา10 สิงหาคม พ.ศ. 2535
รหัส1000104802
ผู้อำนวยการนายธนะกุล ช้อนแก้ว
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษา
สี███ สีแดง - ███ สีขาว
ต้นไม้ราชาวดี
เว็บไซต์
นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑลตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล (กรุงเทพมหานคร)

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล หรือ โรงเรียนสตรีวิทยา 3 เป็นโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งโรงเรียนในโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในกลุ่มโรงเรียน 9 นวมินทราชินูทิศ และเป็นโรงเรียนในเครือสตรีวิทยา ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งของโรงเรียนใกล้สถานที่สำคัญ 2 แห่ง คือ ถนนอุทยาน และพุทธมณฑล มีการเรียนการสอนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6

ประวัติโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสที่ปี พ.ศ. 2535 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง เนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ กระทรวงศึกษาธิการถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะสนองพระกรุณาธิคุณเพื่อเป็นการถวายสักการะ และเป็นอนุสรณ์สถานให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์สืบไป โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนในโครงการเฉลิมพระเกียรติในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลจำนวน 9 โรง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2535

ในการจัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ กรมสามัญศึกษา ได้รับบริจาคที่ดินจาก คุณจรีพร เทพผดุงพร คุณเดชา ตั้งพิรุฬห์ธรรม และคุณทักษิณ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ณ บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย3 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา จำนวน 2 ไร่ และได้จัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 95 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบพร้อมทั้งครุภัณฑ์ประกอบในปีงบประมาณ 2535-2537 ในปีการศึกษา 2535 ซึ่งเป็นปีการศึกษาแรก กรมสามัญศึกษาได้มอบให้ โรงเรียนสตรีวิทยาเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและช่วยเหลือด้านต่างๆ ในปีการศึกษาแรกโรงเรียนเปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยรับสมัครจากโรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และนักเรียนในพื้นที่บริการ มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 4 ห้อง 144 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 2 ห้อง 39 คน รวมจำนวนนักเรียนในปีการศึกษาแรกนี้ 183 คน มีครูอาจารย์ช่วยปฏิบัติราชการจำนวน 14 คน นักการภารโรง 1 คน เนื่องจากในระยะนี้โรงเรียนยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารเรียน โรงเรียนจึงได้ขอความอนุเคราะห์ใช้สถานที่เรียนชั่วคราวที่โรงเรียนไชยฉิมพลีวิทยาคมเป็นเวลา 1 ปีการศึกษา และในปีเดียวกันนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันสูงยิ่ง จากสมเด็จพระนางเจ้าสรนิกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนมัธยมศึกษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ของกรมสามัญศึกษาว่า "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ" เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2535

ดังนั้นโรงเรียนสตรีวิทยา3 พุทธมณฑล จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล" และถือเอาวันที่ 10 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนาโรงเรียน กรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้งนายวรินทร์ เขียวสะอาด เป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียน

ในปีการศึกษา 2536 โรงเรียนเปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 จากโรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนทวีธาภิเศก และนักเรียนในพื้นที่บริการเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 218 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 2 ห้อง 37 คน เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น สถานที่เรียนชั่วคราวที่โรงเรียนไชยฉิมพลีวิทยาคม ไม่เพียงพอและอาคารเรียนอาคารเรียนถาวรยังก่อสร้างไม่เสร็จ จึงได้ขอความอนุเคราะห์จากคุณเศรษฐพงศ์ จตุรงสัมฤทธิ์ เจ้าของโครงการขุมทรัพย์นคร เพื่อขอใช้อาคารพาณิชย์ บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย3 ซึ่งใกล้กับสถานที่ตั้งโรงเรียนเป็นสถานที่เรียนชั่วคราวแห่งที่ 2 โดยได้ทำการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์การเรียนการสอนจากโรงเรียนไชยฉิมพลีวิทยาคม ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2536 พร้อมจำนวนครูอาจารย์ ทั้งสิ้น 39 คน นักการภารโรง 1 คน และรปภ 1 คน

ในปีการศึกษา 2537 โรงเรียนเปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 โดยไม่ต้องสอบถามนโยบายจากกรมสามัญศึกษาในพื้นที่บริการและรับนักเรียนเพิ่มเติมจากโรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนทวีธาภิเศก และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้จำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 12 ห้อง 490 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 2 ห้อง 55 คน รวมรับนักเรียนในปีการศึกษา 2537 จำนวน 545 คน และยังคงใช้สถานที่เรียนชั่วคราวเดิมเรียน มีจำนวนครูอาจารย์ ทั้งสิ้น 46 คน นักการภารโรง 1 คน รปภ 1 คน ในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2537 อาคารเรียนถาวรได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย จึงได้ย้ายสถานที่เรียนจากอาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นสถานที่เรียนชั่วคราวไปยังอาคารเรียนถาวรเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา

ความหมายของชื่อโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ พร้อมกันนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนมัธยมศึกษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ว่า "โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ" และเนื่องจากในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงเรียนนั้น กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้โรงเรียนสตรีวิทยา เป็นโรงเรียนพี่เลี้ยง และผู้ประสานงานการจัดตั้งโรงเรียน โดยความหมายของชื่อโรงเรียนนั้น สามารถแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • นวมินทราชินูทิศ ซึ่งเกิดจากการสนธิของคำต่าง ๆ ดังนี้
นวม แปลว่า ลำดับที่เก้า
อินทร์ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่
ราชินี แปลว่า พระมเหสี
อุทิศ แปลว่า ทำเพื่อ หรือ สละให้อย่างเจาะจง
  • สตรีวิทยา เป็นชื่อของโรงเรียนพี่เลี้ยง ในช่วงการก่อตั้งโรงเรียน
  • พุทธมณฑล เป็นชื่อของสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของโรงเรียน

สัญลักษณ์ของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล[แก้]

ตราสัญลักษณ์[แก้]

อักษรประดิษฐ์ นมร. ตราประจำโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียน "นวมินทราชินูทิศ"
  • มงกุฎขัตติยราชนารี คือ พระมหาพิชัยมงกุฏประดับพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. ถือเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โรงเรียนนวมินทราชินูทิศได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้นำมงกุฎขัตติยราชนารีมาใช้เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน

สีประจำโรงเรียน[แก้]

  • สีแดง-สีขาว 420

ต้นไม้ประจำโรงเรียน[แก้]

  • ต้นราชาวดี

พระพุทธรูปประจำโรงเรียน[แก้]

  • พระพุทธนวมินทราชินูทิศ
  • พระพุทธโลกเชษฐ์สำเร็จวิเศษาสีติกิตยานุสรณ์

กิจกรรม - ประเพณี[แก้]

  • วันคล้ายสถาปนาโรงเรียน 10 สิงหาคม
  • เปิดบ้านนวมินทร์
  • ราชาวดีมุทิตากษิณานุสรณ์
  • ราชาวดีเกมส์
  • อำลาช่อราชาวดี
  • รวมช่อราชาวดี
  • วันเชิดชูเกียรติ

ผู้อำนวยการโรงเรียน[แก้]

  • พ.ศ. 2535-2540 นายวรินทร์ เขียวสะอาด
  • พ.ศ. 2540-2543 นางสาวเฟื่องฟ้า ประดิษฐ์พจน์
  • พ.ศ. 2543-2547 นายนิพนธ์ นุตพงศ์
  • พ.ศ. 2547-2548 นายสุธน เรืองเดช
  • พ.ศ. 2548-2550 นางสาวสุปราณี ไกรวัตนุสสรณ์
  • พ.ศ. 2550-2552 นางสาวรัตนา อรรคนิตย์
  • พ.ศ. 2553-2556 นายสำเร็จ แก้วกระจ่าง
  • พ.ศ. 2556-2559 ว่าที่ร้อยตรีศักดิ์สิทธิ์ เสียงเสนาะ
  • พ.ศ. 2559-2561 นายไชยา กัญญาพันธุ์
  • พ.ศ. 2561-ปัจจุบัน นายธนะกุล ช้อนแก้ว

โรงเรียนที่เกี่ยวข้อง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]