อินเบก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อินเบก (อิ่น มั่ว)
尹默
ที่ปรึกษาราชวัง (太中大夫 ไท่จงต้าฟู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนนางผู้ประกอบพิธีบวงสรวงประจำกองทัพ
(軍祭酒 จฺวินจี้จิ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 227 (227) – ค.ศ. 234 (234)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ขุนนางผู้เสนอและทัดทาน
(諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. 227 (227)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
สารถีประจำองค์รัชทายาท (太子僕 ไท่จื่อผู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 221 (221) – ค.ศ. 223 (223)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน
เสียชีวิตไม่ทราบ
บุตรอิ่น จง
อาชีพขุนนาง, บัณฑิต
ชื่อรองซือเฉียน (思潛)

อินเบก[a] หรือ อินเบด[b] (มีบทบาทในช่วงทศวรรษ 200– ค.ศ. 234) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า อิ่น มั่ว (จีน: 尹默; พินอิน: Yǐn Mò) ชื่อรอง ซือเฉียน (จีน: 思潛; พินอิน: Sīqián) เป็นบัณฑิตในลัทธิขงจื๊อและขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ประวัติ[แก้]

อินเบกเป็นชาวอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน) เมืองจื่อถง (梓潼郡 จื่อถงจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน เวลานั้นผู้คนจำนวนมากในมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ชื่นชอบงานเขียนร่วมสมัยมากกว่าบทกวีโบราณซึ่งไม่คุ้นเคย อินเบกเดินทางไปตะวันออกไปยังมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) ร่วมกับหลี่ เหริน (李仁) ซึ่งมาจากบ้านเกิดเดียวกันกับอินเบก[3] เพื่อไปเรียนบทกวีโบราณจากสุมาเต๊กโชและซงต๋ง (宋忠 ซ่ง จง; รู้จักในอีกชื่อว่า ซ่ง จ้งจื่อ 宋仲子) อินเบกกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ของลัทธิขงจื๊อ และเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในคัมภีร์จั่วจฺว้าน (左傳) อินเบกเจริญรอยตามบัณฑิตรุ่นก่อนอย่างหลิว ซิน (劉歆) ผู้ใช้จั่วจฺว้าน ในการอธิบายขยายขวามคัมภีร์ชุนชิว และเจิ้ง จ้ง (鄭眾) กับเจี่ย ขุย (賈逵) ผู้เขียนอรรถาธิบายของจั่วจฺว้าน ผลงานของอินเบกได้รับความนิยมอย่างมากจนผู้อ่านไม่จำเป็นต้องอ้างไปถึงต้นฉบับหลังจากได้อ่านผลงานอรรถาธิบายของอินเบกแล้ว[4]

ในปี ค.ศ. 214 หลังขุนศึกเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยงผู้เป็นเจ้ามณฑล เล่าปี่ตั้งให้อินเบกเป็นขุนนางผู้ช่วยด้านการศึกษา (勸學從事 เชฺวี่ยนเสฺวฉงชื่อ) ในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก หลังจากเล่าปี่ตั้งให้เล่าเสี้ยนพระโอรสเป็นรัชทายาท อินเบกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสารถีประจำองค์รัชทายาท (太子僕 ไท่จื่อผู) เป็นผู้สอนคัมภีร์จั่วจฺว้านและคัมภีร์ลัทธิขงจื๊อแก่เล่าเสี้ยน เล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223 และเล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชบัลลังก์ เล่าเสี้ยนแต่งตั้งให้อินเบกเป็นขุนนางผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) ในราชสำนักจ๊กก๊ก ราวปี ค.ศ. 227 เมื่อจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กตั้งกองทัพรักษากาณ์อยู่ที่เมืองฮันต๋งเพื่อเตรียมสำหรับการทัพหลายครั้งต่อวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก อินเบกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางผู้ประกอบพิธีบวงสรวงประจำกองทัพ (軍祭酒 จฺวินจี้จิ่ว) ภายใต้จูกัดเหลียง ในปี ค.ศ. 234 หลังจูกัดเหลียงเสียชีวิต อินเบกกลับไปยังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊กและได้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชวัง (太中大夫 ไท่จงต้าฟู) ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าอินเบกเสียชีวิตในปีใดวันใด หลังอินเบกเสียชีวิต อิ่น จง (尹宗) ขึ้นสืบทอดตำแหน่งและขึ้นเป็นบัณฑิต (博士 ปั๋วชื่อ) ประจำราชสำนักจ๊กก๊ก[5]

คำวิจารณ์[แก้]

ตันซิ่วผู้เขียนชีวประวัติอินเบกในจดหมายเหตุสามก๊ก ให้ความเห็นเกี่ยวกับอินเบกว่า "อินเบกเชี่ยวชาญคัมภีร์จั่วจฺว้าน แม้ว่าจะไม่มีชื่อเสียงในด้านคุณธรรม แต่ก็ยังเป็นยอดบัณฑิตในเวลานั้น"[6]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 63[1]
  2. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 70[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. ("ขงเบ้งได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ จึงลุกขึ้นขมีขมันออกไป เอามือเคาะลับแลเข้าเรียกขุนนาง ออกชื่อเคาเจ้งบิต๊กเซียงกีเล่าเป๋าเตียเจ้โจเตาเขงเตียวซ้องเลียวต๋งห้องกวนโหเจ้งอินเบกอินซุนเจียวจิ๋วเตียวอี้อองเมาอิเจี้ยจิมปักเปนขุนนางผู้ใหญ่ตามเสด็จไปคอยฟังอยู่ข้างนอกนั้นให้เข้าไปข้างใน") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 16, 2023.
  2. ("เจาจิ๋วก็ห้ามปรามเปนหลายครั้ง ขงเบ้งก็มิได้ฟัง จึงสั่งให้ กุยฮิวจี๋ บิฮุย ตันอุ๋น เฮียงทง ตันจีน เจียวอ้วน เตียวฮี เตาเขง โตบี เอียวฮอง เบงก๋อง ไลบิน อินเบด ลิจวน ฮุยสี เจาจิ๋ว กับขุนนางผู้ใหญ่ร้อยเศษ คุมทหารอยู่รักษาเมืองเสฉวน") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 16, 2023.
  3. (父仁,字德賢,與同縣尹默懼遊荊州,從司馬徽、宋忠等學。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  4. (尹默字思潛,梓潼涪人也。益部多貴今文而不崇章句,默知其不博,乃遠游荊州,從司馬德操、宋仲子等受古學。皆通諸經史,又專精於左氏春秋,自劉歆條例,鄭衆、賈逵父子、陳元方、服虔注說,咸略誦述,不復桉本。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  5. (先主定益州,領牧,以為勸學從事,及立太子,以默為僕射,以左氏傳授後主。後主踐阼,拜諫議大夫。丞相亮住漢中,請為軍祭酒。亮卒,還成都,拜太中大夫,卒。子宗傳其業,為博士。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.
  6. (尹默精於左氏,雖不以德業為稱,信皆一時之學士。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 42.

บรรณานุกรม[แก้]