ม้าตง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ม้าตง (หม่า จง)
馬忠
รูปปั้นของม้าตงในศาลจูกัดเหลียงในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
แม่ทัพใต้ประตู (門下督 เหมินเซี่ยตู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
เจ้าเมืองโคกุ้น (牂牁太守 จางเคอไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 225 (225) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลสงบภาคใต้
(安南將軍 อันหนานเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 242 (242)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ถัดไปจาง เปี่ยว
มหาขุนพลพิทักษ์ภาคใต้
(鎮南大將軍 เจิ้นหนานต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 242 (242) – ค.ศ. 249 (249)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครล่างจง มณฑลเสฉวน
เสียชีวิต249
บุตร
  • หม่า ซิว
  • หม่า ฮุย
  • หม่า หรง
อาชีพขุนพล
ชื่อรองเต๋อซิ่น (德信)
บรรดาศักดิ์เผิงเซียงถิงโหว
(彭鄉亭侯)
ชื่อเดิมหู ตู่ (狐篤)

ม้าตง (เสียชีวิต 249) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หม่า จง (จีน: 馬忠; พินอิน: Mǎ Zhōng) ชื่อรอง เต๋อซิ่น (จีน: 德信; พินอิน: Déxìn) เดิมมีชื่อว่า หู ตู่ (จีน: 狐篤; พินอิน: Hú Dǔ) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เล่าปี่จักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กประทับใจและยกย่องม้าตงอย่างสูง เปรียบความสามารถของม้าตงว่าเทียบได้กับอุยก๋วนซึ่งเวลานั้นเพิ่งแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก ม้าตงได้รับความไว้วางใจและความเคารพโดยเหล่าผู้นำขุนนางราชสำนักอันได้แก่จูกัดเหลียง เจียวอ้วน และบิฮุย หลังการสวรรคตของเล่าปี่ ม้าตงรับราชการภายใต้จูกัดเหลียงในการทัพบุกลงใต้และช่วยปราบปรามกบฏ ม้าตงได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพพื้นที่ในภาคใต้หลังการเสียชีวิตของลิอิ๋น ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปในการสร้างความสงบในภูมิภาคและปกป้องราษฎรในภาคใต้ด้วยความช่วยเหลือจากเตียวหงี ม้าตงมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวางและเป็นคนแปลก แต่ก็มีความเด็ดขาดในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ชนเผ่าในภาคใต้จึงยำเกรงและเคารพม้าตง หน้าที่ของม้าตงในภาคใต้อาจเปรียบได้กับอองเป๋งในภาคเหนือและเตงจี๋ในภาคตะวันออก หลังม้าตงเสียชีวิต ชนเผ่าต่าง ๆ ต่างอาลัยและสร้างศาลอุทิศให้เป็นเกียรติแก่ม้าตง

ประวัติช่วงต้น[แก้]

ม้าตงเป็นชาวอำเภอลองจิ๋ว (閬中 ล่างจง) เมืองปาเส (巴西 ปาซี) ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน เมื่อม้าตงอยู่ในวัยเด็ก ได้รับการเลี้ยงดูอุปการะจากครอบครัวฝั่งมารดา ม้าตงจึงเดิมมีชื่อสกุลว่า "หู" (狐) และมีชื่อตัวว่า "ตู่" (篤) ภายหลังม้าตงกลับไปใช้แซ่เป็น "ม้า" (馬 หม่า) และเปลี่ยนชื่อตัวเป็น "ตง" (忠 จง) ม้าตงรับราชการเป็นเสมียนประจำเมืองในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 196-220) หลังม้าตงมีชื่อเสียงในกิจการพลเรือน ภายหลังจึงได้รับการเสนอชื่อเป็นเซี่ยวเหลียน (孝廉 "ผู้กตัญญูและซื่อตรง") และถูกส่งไปรับราชการเป็นนายอำเภอ (長 จ่าง) ของอำเภอฮั่นชาง (漢昌)[1]

เข้าเฝ้าเล่าปี่[แก้]

เมื่อเล่าปี่นำทัพยกไปทางตะวันออกเพื่อรบกับซุนกวนในปี ค.ศ. 222 แล้วพ่ายแพ้ในยุทธการที่อิเหลง เหยียน จือ (閻芝) เจ้าเมืองปาเสส่งทหารจากทุกอำเภอ และระดมกำลังเพิ่มเติม 5,000 นายเพื่อชดเชยการสูญเสียในยุทธการ จากนั้นจึงมอบหมายให้ม้าตงคุมกองกำลังนำไปส่ง เวลานั้นเล่าปี่ถอยกลับมาที่อำเภอยฺหวีฟู่ (魚復縣 ยฺหวีฟู่เซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) ซึ่งพระองค์เปลี่ยนชื่อเป็น "เตงอั๋น" (永安 หย่งอาน; แปลว่า "สันตินิรันดร์") ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่นั่น ม้าตงได้เข้าเฝ้าเล่าปี่ด้วยการทูลแนะนำโดยเล่าป๋าหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ เล่าปี่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับม้าตงเป็นการส่วนพระองค์ในเรื่องราชการแผ่นดิน เล่าปี่ทรงประทับใจม้าตงมากจึงพูดกับเล่าป๋าว่า:

“แม้ว่าข้าจะเสียอุยก๋วนไป[a] แต่ข้าก็ได้หู ตู่ (ม้าตง) มาแทน บ่งบอกว่าแผ่นดินนี้ไม่ขาดผู้มีความสามารถ”[2]

รับราชการภายใต้จูกัดเหลียง[แก้]

เมื่อเล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223 พระองค์ตั้งให้จูกัดเหลียงและลิเงียมเป็นผู้สำเร็จราชการช่วยเหลือเล่าเสี้ยน อัครมหาเสนาบดีจูกัดเหลียงเปิดสำนักของตนเองและได้ยินเรื่องที่เล่าปี่เคยชื่นชมความสามารถของม้าตง จึงแต่งตั้งให้ม้าตงเป็นแม่ทัพใต้ประตู (門下督 เหมินเซี่ยตู) จูกัดเหลียงรู้สึกประทับใจมากขึ้นต่อการปฏิบัติที่ดีของม้าตง[3]

ในปี ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงยกทัพบุกลงใต้เพื่อปราบกบฏยงคี จูกัดเหลียงแต่งตั้งให้ม้าตงเป็นเจ้าเมืองโคกุ้น (牂牁太守 จางเคอไท่โชฺ่ว) ซึ่งเมืองโคกุ้นนั้นเข้าร่วมในการก่อกบฏตั้งแต่จูโพเจ้าเมืองโคกุ้นเดิมแปรพักตร์ในปี ค.ศ. 223 สองปีหลังจากนั้นเมืองโคกุ้นยังคงเป็นกบฏ แต่ม้าตงก็ยกมาปราบกบฏลงได้อย่างรวดเร็วและทำให้อาณาบริเวณโดยรอบกลับมาสงบ[4] ม้าตงในฐานะเจ้าเมืองโคกุ้นยังคงอยู่ประจำเมืองและช่วยฟื้นฟูอาณาบริเวณนั้น ม้าตงแสดงออกซึ่งความสามารถในการบรรเทาทุกข์ให้ชาวเมืองโคกุ้นและการประสานราชการของเมือง ม้าตงเป็นที่เคารพยำเกรงของผู้คนในแถบนั้นเป็นอย่างสูง[5]

ม้าตงอยู่ที่เมืองโคกุ้นและช่วยฟื้นฟูความสงบและความเจริญรุ่งเรืองให้เมืองโคกุ้นเป็นเวลา 5 ปี แต่ในปี ค.ศ. 230 จูกัดเหลียงเรียกตัวม้าตงมาเป็นที่ปรึกษาทัพในการบุกขึ้นเหนือและช่วยเหลือหัวหน้าเลขานุการเจียวอ้วนในงานราชการระหว่างการป้องกันจ๊กก๊ก จากผลงานในราชการม้าตงจึงได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาในสำนักปกครองกลาง[6]

ปีถัดมา ค.ศ. 231 จูกัดเหลียงนำทัพรบกับชนเผ่าที่เขากิสาน ม้าตงเดินทางมาพบจูกัดเหลียงและช่วยเหลือในกิจการการทหาร จากนั้นจึงนำกองกำลังพร้อมด้วยขุนพลเตียวหงีและคนอื่น ๆ ในการปราบกบฏชนเผ่าเกี๋ยงในเมืองเวิ่นชาน (汶山郡 เวิ่นชานจฺวิ้น)[7] ชนเผ่าเกี่๋ยงสร้างประตูศิลาระหว่างภูเขาและรวบรวมกองศิลาบนประตูเพื่อใช้ต้านการโจมตีของทัพจ๊กก๊ก ม้าตงจึงส่งขุนพลเตียวหงีคุมทัพหน้าเข้าโจมตี จากนั้นเตียวหงีก็็ใช้ทูตไปข่มขู่ชนเผ่าเกี๋ยงให้ยอมจำนน ชนเผ่าเกี๋ยงบางส่วนยอมจำนนส่วนที่เหลือหนีเข้าไปในหุบเขา ม้าตงและเตียวหงีตามล่าผู้หลบหนีและได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด[8]

ปราบปรามชนเผ่าทางใต้[แก้]

ในปี ค.ศ. 233 ชนเผ่าทางใต้ชื่อหลิว โจฺ้ว (劉胄) รวบรวมพรรคพวกจากหลายชนเผ่าและก่อบฏขึ้น การกบฏก่อการขึ่้นในหลายเมือง เตียวเอ๊กแม่ทัพภูมิภาคหนานจง (庲降都督 หลายเสียงตูตู) ไม่สามารถปราบปรามกบฏลงได้และถูกเรียกตัวกลับ แต่ก่อนที่เตียวเอ๊กจะกลับได้รวบรวมเสบียงเพื่อช่วยม้าตงและจัดเตรียมกองกำลังไว้เป็นอย่างดี ม้าตงถูกส่งมาทำหน้าที่แทนเตียวเอ๊ก ม้าตงจึงนำกองกำลังปราบกองกำลังฝ่ายกบฏได้สำเร็จ ในที่สุดก็สามารถตัดศีรษะหลิว โจฺ้วได้ จากชัยชนะครั้งนี้ม้าตงจึงทำให้ดินแดนทางใต้สงบลง ม้าตงได้รับตำแหน่งเพิ่มเติมเป็นผู้กำกับกองทหาร (監軍 เจี้ยนจฺวิน) และขุนพลสำแดงเดช (奮威將軍 เฟิ่นเวย์เจียงจฺวิน) และได้บรรดาศักดิ์เป็นปั๋วหยางถิงโหว (彭鄉亭侯)[9]

ก่อนที่ม้าตงจะมาประจำการทางใต้และในระหว่างกบฏยงคี ในเมืองเกียมเหลง (建寧郡 เจี้ยนหนิงจฺวิ้น) กลุ่มกบฏได้สังหารเจิ้ง อ๋าง (正昂) เจ้าเมืองเกียมเหลง และล้อมจับตัวเตียวอี้ (張裔 จาง อี้) ที่เป็นเจ้าเมืองเกียมเหลงคนใหม่ได้ แต่กลุ่มกบฏไม่กล้าสังหารเตียวอี้จึงส่งไปเป็นตัวประกันของง่อก๊กแทน ด้วยเหตุนี้แม่ทัพผู้บัญชาการกองทหารจึงมักตั้งกองกำลังรักษาการณ์ห่างออกไปจากอำเภอผิงอี๋ (平夷縣 ผิงอี๋เซี่ยน) ด้วยความกลัวกลุ่มกบฏ แต่เมื่อม้าตงมาเป็นแม่ทัพที่นี่ก็ไม่ต้องการทำอย่างเดียวกัน จึงย้ายที่ว่าการไปยังอำเภอเว่ย์ (魏縣 เว่ย์เซี่ยน) เมืองหานตาน (邯鄲) ซึ่งอยู่ท่ามกลางถิ่นอาศัยของชาวฮั่นและชนเผ่าต่าง ๆ ในเวลานั้นจ๊กก๊กได้เสียเมืองอวดจุ้น (越巂郡 เยฺว่ซีจฺวิ้น) ให้กับชนเผ่าไปนานแล้ว ม้าตงทำศึกเพื่อชิงเมืองอวดจุ้นคืนโดยนำกองกำลังพร้อมด้วยเตียวหงีขุนพลทัพหน้ายกไปรบชนเผ่าต่าง ๆ ได้รับชัยชนะ และสามารถชิงเมืองอวดจุ้นคืนมาได้ จากผลงานนี้ม้าตงจึงได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลสงบภาคใต้ (安南將軍 อันหนานเจียงจฺวิน) และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเผิงเซียงถิงโหว (彭鄉亭侯)[10]

ชีวิตช่วงปลาย[แก้]

ในปี ค.ศ. 242 ภูมิภาคหนานจงกลับมาสงบอีกครั้ง ม้าตงถูกเรียกตัวกลับไปยังราชสำนักที่นครเซงโต๋ เวลานั้นเจียวอ้วนต้องการเปลี่ยนเส้นทางในการโจมตีวุยก๊ก แต่ขุนนางส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เพราะเกรงว่าหากทัพที่ยกไปเกิดปัญหาขึ้นจะล่าถอยไม่ได้ ม้าตงจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ถือพระราชโองการเดินทางไปยังเมืองฮันต๋งเพื่อพบเจียวอ้วนและช่วยเหลือเจียวอ้วนในการดูแลป้องกันจากการบุกของวุยก๊ก เจียวอ้วนยังได้เลื่อนขั้นม้าตงให้เป็นมหาขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南大將軍 เจิ้นหนานต้าเจียงจฺวิน)[11]

สองปีต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 244 ทัพใหญ่ของวุยก๊กใต้การบัญชาการของโจซองเข้าโจมตีเมืองฮันต๋งในยุทธการที่ซิงชื่อ อองเป๋งบัญชาการกองกำลังป้องกันในเบื้องต้น ส่วนมหาขุนพลบิฮุยต้องการนำทัพเสริมไปทางเหนือ เวลานั้นม้าตงได้รับมอบหมายให้ดูแลราชการในนครเซงโต๋ ม้าตงปฏิบัติหน้าที่แทนบิฮุยระหว่างที่ไม่อยู่ได้เป็นอย่างดี เมื่อบิฮุยกลับมาได้ส่งม้าตงกลับไปป้องกันทางใต้จากการจู่โจมของชนเผ่าพื้นเมือง[12]

ม้าตงอยู่ประจำที่ภาคใต้และรักษาดินแดนให้สงบต่อไปอีก 5 ปี ม้าตงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 249 ทุกผู้คนในภูมิภาคหนานจงทั้งชาวฮั่นและชนเผ่าต่าง ๆ ต่างโศกเศร้าต่อการเสียชีวิตของม้าตงอย่างมาก[13]

ครอบครัว[แก้]

ม้าตงมีบุตรชาย 3 คน ได้แก่ หม่า ซิว (馬脩), หม่า ฮุย (馬恢) และหม่า หรง (馬融) หม่า ซิวสืบทอดตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ของม้าตง ส่วนหม่า ฮุยมีบุตรชายชื่อหม่า อี้ (馬義) ซึ่งรับราชการเป็นเจ้าเมืองเกียมเหลง (建寧 เจี้ยนหนิง) ในยุคราชวงศ์จิ้น[14]

คำวิจารณ์[แก้]

ตันซิ่วผู้เขียนชีวประวัติม้าตงในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) วิจารณ์ม้าตงไว้ว่า "ม้าตงเป็นผู้อ่อนโยนแต่ก็เด็ดเดี่ยว[15]... ร่วมกับอุยก๋วน ลิอิ๋น ลิคี อองเป๋ง เตียวหงี ด้วยความสามารถของพวกเขาเหล่านี้จึงมีชื่อเสียงไปทั่วแผ่นดินและได้โอกาสให้เหลือสิ่งตกทอดไว้"[16]

ม้าตงเป็นผู้ใจกว้างและมีเมตตาต่อผู้คน แต่ก็เป็นคนแปลกและชอบแกล้งคนอื่นเล่นแล้วหัวเราะชอบใจ แต่เมื่อโกรธก็ไม่ยอมแสดงออกให้เห็น เมื่อม้าตงจัดการงานราชการทั้งด้านการพลเรือนและการทหารก็มีความเด็ดขาดและจะใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ดังนั้นชนเผ่าต่าง ๆ จึงยำเกรงและเคารพรักม้าตง เมื่อม้าตงเสียชีวิต ทุกผู้คนมาร่วมงานศพและร้องไห้ให้ม้าตงอย่างสุดซึ้ง พวกเขาสร้างศาลเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับม้าตง[17]

ฉาง ฉฺวีระบุในหฺวาหยางกั๋วจื้อว่าเมื่อม้าตงมาปกครองภาคใต้ ได้แสดงความเมตตาต่อผู้ห่างไกลและความกรุณาต่อผู้ชิดใกล้ แสดงความห่วงใยและเอื้อเฟื้ออย่างสูงต่อทุกผู้คน ด้วยความดีนี้ม้าตงจึงได้ตำแหน่งสูงสุดเป็นมหาขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ ตำแหน่งที่ไม่เคยมีผู้ปกครองดินแดนทางใต้คนใดเคยได้รับมาก่อน หลังจากม้าตงเสียชีวิต ผู้คนในภาคใต้ต่างสร้างศาลเพื่อเป็นเกียรติแก่ม้าตงและสักการะบวงสรวงแก่ม้าตงในยามที่เกิดความยากลำบากขึ้น[18]

จาง เปี่ยว (張表) เป็นบัณฑิตผู้มีชื่อเสียงจากความละเอียดลออยิ่งกว่าม้าตง ม้าตงนั้นเป็นแม่ทัพภูมิภาคที่มีชื่อเสียงที่สุดในดินแดนภาคใต้ของจ๊กก๊ก แม้ว่าอาจจะเป็นรองลิอิ๋นและฮั่ว อี้ (霍弋) เงียมอู (閻宇 เหยียน ยฺหวี่) ชื่อรอง เหวินผิง (文平) แสดงออกซึ่งความสามารถในการทำผลงาน มีความพิถีพิถันและขยันหมั่นเพียรในงานราชการ จาง เปี่ยวและเงียมอูรับผิดชอบในการปกครองบริหารภาคใต้หลังการเสียชีวิตของม้าตง แต่อิทธิพลและความดีความชอบของทั้งคู่ไม่อาจเทียบได้กับม้าตง[19]

จาง เปี่ยวเป็นชาวเมืองจ๊ก (蜀郡 สู่จฺวิ้น) และได้รับเลือกให้ปกครองบริหารภาคใต้ถัดจากม้าตง จาง เปี่ยวสืิบทอดตำแหน่งของม้าตงในฐานะขุนพลสงบภาคใต้ หยาง ซี (楊羲) ชาวเมืองเฉียนเว่ย์ (犍為郡) มาร่วมช่วยจาง เปี่ยวในการบริหารราชการ และได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งรองจากจาง เปี่ยว[20]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ในระหว่างยุทธการที่อิเหลง กองกำลังของอุยก๋วนซึ่งอยู่ป้องกันฝั่งเหนือของแม่น้ำแยงซีถูกตัดขาดจากทัพหลักของจ๊กก๊กจากการจู่โจมของทัพง่อก๊ก ทำให้อุยก๋วนไม่สามารถกลับไปยังจ๊กก๊กได้ อุยก๋วนหมดหนทางจึงนำกองกำลังเข้าสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก

อ้างอิง[แก้]

  1. (馬忠字德信,巴西閬中人也。少養外家,姓狐,名篤,後乃復姓,改名忠。為郡吏,建安末舉孝廉,除漢昌長。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  2. (先主東征,敗績猇亭,巴西太守閻芝發諸縣兵五千人以補遺闕,遣忠送往。先主已還永安,見忠與語,謂尚書令劉巴曰:「雖亡黃權,復得狐篤,此為世不乏賢也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  3. (建興元年,丞相亮開府,以忠為門下督。三年,亮入南,拜忠牂牁太守。郡丞朱褒反。 ) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  4. (先主薨,高定恣睢於越嶲,雍闓跋扈於建寧,朱襃反叛於䍧牱。...與亮聲勢相連。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  5. (叛亂之後,忠撫育卹理,甚有威惠。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  6. (八年,召為丞相參軍,副長史蔣琬署留府事。又領州治中從事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  7. (明年,亮出祁山,忠詣亮所,經營戎事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  8. (益部耆舊傳曰:嶷受兵馬三百人,隨馬忠討叛羌。嶷別督數營在先,至他里。邑所在高峻,嶷隨山立上四五里。羌於要厄作石門,於門上施床,積石於其上,過者下石槌擊之,無不糜爛。嶷度不可得攻,...耆帥得命,即出詣嶷,給糧過軍。軍前討餘種,餘種聞他里已下,悉恐怖失所,或迎軍出降,或奔竄山谷,放兵攻擊,軍以克捷。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ้วนในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  9. (軍還,督將軍張嶷等討汶山郡叛羌。十一年,南夷豪帥劉冑反,擾亂諸郡。徵庲降都督張翼還,以忠代翼。忠遂斬冑,平南土。加忠監軍奮威將軍,封博陽亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  10. (初,建寧郡殺太守正昂,縛太守張裔於吳,故都督常駐平夷縣。至忠,乃移治味縣,處民夷之間。又越嶲郡亦久失土地,忠率將太守張嶷開復舊郡,由此就加安南將軍,進封彭鄉亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  11. (延熙五年還朝,因至漢中,見大司馬蔣琬,宣傳詔旨,加拜鎮南大將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  12. (七年春,大將軍費禕北禦魏敵,留忠成都,平尚書事。禕還,忠乃歸南。禕還,忠乃歸南。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (十二年卒,子脩嗣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  14. (脩弟恢。恢子義,晉建寧太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  15. (尚書曰:擾而毅。鄭玄注曰:擾,馴也。致果曰毅) อรรถาธิบายจากช่างชูจู้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  16. (評曰:...馬忠擾而能毅,...咸以所長,顯名發跡,遇其時也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  17. (忠為人寬濟有度量,但詼啁大笑,忿怒不形於色。然處事能斷,威恩並立,是以蠻夷畏而愛之。及卒,莫不自致喪庭,流涕盡哀,為之立廟祀,迄今猶在。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  18. (忠在南,柔遠能邇,甚垂惠愛,官至鎮南大將軍。卒後,南人為之立祠,水旱禱之。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.
  19. (張表,時名士,清望踰忠。閻宇,宿有功幹,於事精勤。繼踵在忠後,其威風稱績,皆不及忠。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  20. (蜀郡張表為代,加安南將軍。又以犍為楊羲為參軍,副貳之。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.

บรรณานุกรม[แก้]