วิกตอร์ อูว์โก

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วิกตอร์ อูโก)

วิกตอร์ อูว์โก
วิกตอร์ อูว์โก ค.ศ. 1883
วิกตอร์ อูว์โก ค.ศ. 1883
เกิด26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802
ประเทศฝรั่งเศส
เสียชีวิต22 พฤษภาคม ค.ศ. 1885(83ปี)
ประเทศฝรั่งเศส
อาชีพนักเขียน ศิลปิน รัฐบุรุษ
สัญชาติฝรั่งเศส
แนวร่วมในทางวรรณคดีโรแมนติก

ลายมือชื่อ

วิกตอร์-มารี อูว์โก (ฝรั่งเศส: Victor-Marie Hugo; สัทอักษรสากล: [viktɔʁ maʁi yɡo]; 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802 — 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1885) เป็นกวี นักเขียนบทละคร นักประพันธ์ ศิลปิน รัฐบุรุษ และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวฝรั่งเศส เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงสำหรับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยุคโรแมนติกในประเทศฝรั่งเศส

ชื่อเสียงของอูว์โกทางด้านงานวรรณกรรมในประเทศฝรั่งเศสมาจากงานกวีนิพนธ์และบทละคร ส่วนงานนวนิยายเป็นที่รู้จักรองลงมา ในบรรดางาน กวีนิพนธ์ของเขา Les Contemplations และ La Légende des siècles จัดเป็นงานที่โดดเด่นและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก บางครั้งอูว์โกได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ขณะที่เขาเป็นที่รู้จักภายนอกประเทศจากผลงานนวนิยาย เรื่อง Les Misérables (เหยื่ออธรรม) และ Notre-Dame de Paris (ฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกว่า The Hunchback of Notre Dame หรือ คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม)

ประวัติ[แก้]

วิกตอร์ อูว์โก เป็นบุตรคนที่สามและคนสุดท้องของโฌแซ็ฟ เลออปอล ซีฌิสแบร์ อูว์โก (1773–1828) และนางโซฟี เทรบูแช (1772-1821) เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802[1] ที่เมืองเบอซ็องซง ในแคว้นฟร็องช์-กงเต พี่ชายของเขาสองคนคือ อาแบล โฌแซ็ฟ อูว์โก (1798–1855) และเออแฌน อูว์โก (1800–1837) เขาใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดของเขาในประเทศฝรั่งเศส โดยจำเป็นต้องลี้ภัยออกไปนอกประเทศชั่วเวลาหนึ่งระหว่างรัชสมัยของพระเจ้านโปเลียนที่สาม โดยไปอาศัยอยู่ในบรัสเซลส์ราว ค.ศ. 1851 ในเจอร์ซีย์ระหว่างปี 1852-1855 และในเกิร์นซีย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1855-1870 กับอีกครั้งหนึ่งในปี 1872-1873 ซึ่งเขาเลือกจะลี้ภัยเองแม้มีการนิรโทษกรรมแล้วในปี ค.ศ. 1859

ในช่วงวัยเยาว์ของอูว์โกมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ในคริสต์ศตวรรษก่อนหน้าที่เขาจะเกิด ราชวงศ์บูร์บงถูกโค่นลงในการปฏิวัติฝรั่งเศส ตามมาด้วยการรุ่งเรืองและล่มสลายของสาธารณรัฐแห่งแรก การรุ่งเรืองของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่ง การรวบอำนาจเผด็จการของนโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหลังจากอูว์โกเกิดได้สองปี ราชวงศ์บูร์บงได้รับการสถาปนากลับมาอีกครั้งก่อนที่อูว์โกจะมีอายุครบ 18 ปี แนวคิดทางการเมืองและทางศาสนาที่ตรงข้ามกันของพ่อและแม่สะท้อนถึงแรงผลักดันในการสงครามในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตของเขา พ่อของอูว์โกเป็นนายทหารระดับสูงในกองทัพของนโปเลียน ซึ่งไม่นับถือพระเป็นเจ้าแต่ยกย่องนโปเลียนเป็นวีรบุรุษ ส่วนแม่ของเขาเป็นชาวคาทอลิกผู้เคร่งครัดและจงรักภักดีต่อราชวงศ์ ครอบครัวของอูว์โกต้องย้ายบ้านบ่อย ๆ ตามการรับตำแหน่งของบิดา ทำให้อูว์โกได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายระหว่างการเดินทาง ครั้งหนึ่งเมื่อครอบครัวของเขาเดินทางไปยังเนเปิลส์ อูว์โกได้เห็นช่องเขาแอลป์ขนาดใหญ่กับยอดสูงอันปกคลุมด้วยหิมะ เขาได้เห็นทะเลเมดิเตอเรเนียนสีน้ำเงินสด และได้เห็นงานเทศกาลรื่นเริงต่าง ๆ ในกรุงโรม แม้เวลานั้นเขาจะมีอายุเพียง 6 ปี แต่ก็สามารถจำการเดินทางครึ่งปีนั้นได้อย่างแม่นยำ พวกเขาอยู่ในเนเปิลส์หลายเดือนก่อนจะย้ายกลับมายังปารีส

โซฟีต้องติดตามสามีไปยังอิตาลี (เลออปอลได้เป็นข้าหลวงปกครองแคว้นแห่งหนึ่งใกล้เนเปิลส์) และสเปน (เขาได้เข้าควบคุมดูแลจังหวัดในสเปน 3 จังหวัด) เมื่อนางรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการโยกย้ายแบบชีวิตทหาร ประกอบกับความไม่พอใจกับความเชื่อทางศาสนาของสามี โซฟีจึงแยกอยู่กับเลออปอลชั่วคราวเมื่อ ค.ศ. 1803 โดยพำนักอยู่ในปารีส นางได้อุปการะเลี้ยงดูอูว์โกให้เติบโตขึ้นและรับการศึกษาจากที่นี่ ผลจากสิ่งนี้ทำให้งานกวีนิพนธ์และนิยายของอูว์โกในยุคแรก ๆ สะท้อนถึงความรู้สึกภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และความศรัทธา จนกระทั่งในช่วงหลัง เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1848 อูว์โกจึงเริ่มมีความคิดต่อต้านการศึกษาที่ภักดีต่อราชวงศ์และคาทอลิก หันไปยกย่องแนวคิดสาธารณรัฐนิยมและเสรีนิยม

กวีนิพนธ์และงานเขียนในช่วงต้น[แก้]

วิกตอร์ อูว์โก ในวัยหนุ่ม

อูว์โกในวัยเยาว์ก็เป็นเหมือนกับนักเขียนอายุน้อยคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากฟร็องซัว-เรอเน เดอ ชาโตบรีย็อง นักเขียนผู้โดดเด่นและน่าหลงใหลซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมในยุคจินตนิยม และเป็นสัญลักษณ์แห่งวรรณกรชั้นเลิศของฝรั่งเศสในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 อูว์โกถึงกับตั้งปณิธานว่า จะต้องเป็นเหมือนชาโตบรีย็อง มิฉะนั้นก็ไม่เป็นอะไรเลย[2] ชีวิตของอูว์โกคล้ายคลึงกับชาโตบรีย็องในหลายด้าน ในเวลาต่อมา อูว์โกก็กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อวรรณกรรมยุคจินตนิยม และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในฐานะผู้นำแนวคิดสาธารณรัฐนิยม จนกระทั่งจำต้องลี้ภัยไปนอกประเทศจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน

ผลงานของอูว์โกชิ้นแรก ๆ เปี่ยมด้วยเสน่ห์และวาทะน่าอ่าน จนกระทั่งเขาสามารถประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงได้ในเวลาอันรวดเร็ว งานกวีนิพนธ์ชุดแรกของเขา คือ Nouvelles Odes et Poésies Diverses ได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1824 ขณะที่เขามีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น งานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลพระราชทานจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 18[3] แต่ถึงแม้งานนี้จะได้รับคำชมเชยอย่างมากมาย ทว่างานกวีนิพนธ์อีกชุดหนึ่ง คือ Odes et Ballades ที่ตีพิมพ์ในอีก 2 ปีต่อมา ได้เผยให้เห็นถึงอัจฉริยะทางกวีของอูว์โกยิ่งกว่า แสดงถึงความเก่งกาจอย่างเป็นธรรมชาติในการประพันธ์ถ้อยคำและท่วงทำนองของดนตรี

อูว์โกหนุ่มตกหลุมรักกับเพื่อนในวัยเด็กชื่อ อาแดล ฟูเช โดยที่แม่ของเขาไม่เห็นชอบด้วย เขาแอบหมั้นกับเธออย่างลับๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1821 เขาจึงได้แต่งงานกับเธออย่างเปิดเผยในปี ค.ศ. 1822[1] ทั้งสองมีบุตรชายคนโตชื่อ เลออปอล เกิดเมื่อ ค.ศ. 1823 แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก หลังจากนั้นอูว์โกมีบุตรอีก 4 คนคือ เลออโปลดีน (เกิด 28 สิงหาคม ค.ศ. 1824) ชาร์ล (เกิด 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1826) ฟร็องซัว-วิกตอร์ (เกิด 28 ตุลาคม ค.ศ. 1828) และอาแดล (เกิด 24 สิงหาคม ค.ศ. 1830)

หลังจากแต่งงาน อูว์โกตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกของเขาในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1823 เรื่อง Han d'Islande[3] หลังจากนั้นอีก 3 ปีก็ได้ตีพิมพ์เรื่องที่สอง คือ Bug-Jargal ในปี ค.ศ. 1826 จากนั้นระหว่าง ค.ศ. 1829-1840 เขาได้ตีพิมพ์งานกวีนิพนธ์อีก 5 ชุด (Les Orientales, 1829; Les Feuilles d'automne, 1831; Les Chants du crépuscule, 1835; Les Voix intérieures, 1837; และ Les Rayons et les ombres, 1840) ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในฐานะกวีผู้ยิ่งใหญ่ด้านบทไว้อาลัยและบทลำนำในยุคสมัยนั้น

การสร้างผลงานสำคัญ[แก้]

ภาพประกอบ คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม ฉบับดั้งเดิม วาดโดยอาลแฟรด บาร์บู (ค.ศ. 1831)

ผลงานนิยายชิ้นสำคัญชิ้นแรกของอูว์โกเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1929 สะท้อนถึงแนวคิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่แทรกอยู่ในงานช่วงหลัง ๆ ของเขาแทบทั้งหมด Le Dernier jour d'un condamné ("วันสุดท้ายของนักโทษประหาร") เป็นงานที่ส่งอิทธิพลต่อนักเขียนยุคต่อมาหลายคน เช่น อาลแบร์ กามูว์, ชาลส์ ดิกคินส์ และฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี งานเขียนเรื่อง Claude Gueux ในปี ค.ศ. 1834 เป็นเรื่องสั้นเชิงพรรณนาเกี่ยวกับชีวิตจริงของฆาตกรคนหนึ่งที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาอูว์โกยอมรับว่าเป็นงานนำร่องไปสู่ผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาเกี่ยวกับความอยุติธรรมในสังคม เรื่อง Les Misérables ("เหยื่ออธรรม") แต่งานเขียนนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกของอูว์โกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงคือ Notre-Dame de Paris ("คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม") ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1831 และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วยุโรปในเวลาอันรวดเร็ว[4] ผลกระทบหนึ่งจากนวนิยายเรื่องนี้คือมหาชนหลั่งไหลกันไปเยือนมหาวิหารโนเตรอดามหลังจากอ่านนวนิยาย ทำให้นครปารีสต้องละอายที่ทอดทิ้งมหาวิหารมิได้ฟื้นฟูบูรณะมาเป็นเวลานาน หนังสือเล่มนี้ยังส่งผลให้มีการปรับปรุงอาคารใหม่ให้เป็นแบบยุคก่อนเรเนสซองส์ และต่อมาก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

อูว์โกเริ่มวางแผนการเขียนนวนิยายเรื่องเอกของเขา คือ เหยื่ออธรรม ให้มีเนื้อหาสะท้อนความทุกข์ยากและความอยุติธรรมในสังคมตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1830 และใช้เวลายาวนานกว่า 17 ปีเพื่อเขียนขึ้นมาจนสำเร็จและได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1862[4] ความพิถีพิถันในคุณภาพของนวนิยายทำให้หนังสือเป็นที่ต้องการและมีการประมูลแย่งชิงกันมาก สำนักพิมพ์ในเบลเยียมแห่งหนึ่งคือ Lacroix and Verboeckhoven ถึงกับจัดแคมเปญพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการออกหนังสือข่าวเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้เป็นเวลา 6 เดือนเต็มก่อนกำหนดวางแผง ทั้งยังมีการตีพิมพ์เพียงแค่ครึ่งแรกของนิยาย ("Fantine") ออกวางจำหน่ายในเมืองใหญ่พร้อม ๆ กัน หนังสือที่พิมพ์แต่ละคราวจำหน่ายหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมฝรั่งเศส[5] มีการวิพากษ์วิจารณ์นิยายเรื่องนี้อย่างรุนแรง เช่น Taine กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เสแสร้งไม่จริงใจ Barbey d'Aurevilly วิจารณ์ว่าใช้ภาษาหยาบคายสามหาว พี่น้อง Goncourts เปรียบว่าเป็นของเทียม และ Baudelaire ผู้เขียนแนะนำนิยายเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ก็ยังวิจารณ์ว่าโดยส่วนตัวแล้วเขาเห็นว่ามัน "ไร้รสนิยมและไม่ได้เรื่อง" ถึงกระนั้น เหยื่ออธรรม ก็พิสูจน์ความนิยมในตัวเองได้ด้วยปริมาณการขายอย่างมากมายและยังกลายเป็นวาระสำคัญในการประชุม French National Assembly ในเวลาต่อมา นิยายเรื่องนี้ยังคงเป็นที่นิยมตราบจนถึงปัจจุบัน และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีอย่างบ่อยครั้งยิ่งกว่านวนิยายเรื่องอื่นในแนวนี้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนน้อยนิด[4]

ภาพวาดประกอบ เหยื่ออธรรม ฉบับดั้งเดิม วาดโดยเอมีล บายาร์ (ค.ศ. 1862)

การติดต่อโต้ตอบระหว่างอูว์โกกับสำนักพิมพ์ของเขา Hurst & Blackett เมื่อ ค.ศ. 1862 จัดเป็นการโต้ตอบที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าในเวลาที่ เหยื่ออธรรม (ซึ่งเป็นหนังสือหนากว่า 1200 หน้า) วางแผงนั้น อูว์โกอยู่ระหว่างเดินทางพักผ่อน เขาส่งโทรเลขไปถึงสำนักพิมพ์ว่า "?" ซึ่งสำนักพิมพ์ส่งตอบมาว่า "!"[1]

นวนิยายเรื่องต่อมาของอูว์โก คือ Les Travailleurs de la Mer (ผู้ตรากตรำแห่งท้องทะเล) ซึ่งเขาหันเหแนวทางไปจากแนวสังคม-การเมือง นิยายตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1866 และได้รับการต้อนรับอย่างดี ซึ่งอาจเป็นผลจากความสำเร็จอย่างสูงของ เหยื่ออธรรม ก็ได้ อูว์โกเขียนเรื่องนี้เพื่ออุทิศแด่เกาะแห่งเกิร์นซีย์ซึ่งเขาได้ไปลี้ภัยอยู่นานถึง 15 ปี เขาพรรณนาถึงสงครามระหว่างชายคนหนึ่งกับทะเลและสิ่งมีชีวิตอันน่าสะพรึงกลัวจากมหาสมุทรห้วงลึก คือ ปลาหมึก ซึ่งทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ปลาหมึกไปทั่วนครปารีส นับแต่อาหาร งานนิทรรศการ ไปจนถึงหมวกปลาหมึกและงานสังสรรค์ คำที่ชาวเกิร์นซีย์ใช้เรียกปลาหมึก (pieuvre; ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงปลาหมึกยักษ์) ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาษาฝรั่งเศสอันเป็นผลจากคำที่ใช้ในนิยายเรื่องนี้ อูว์โกหวนกลับมาเขียนงานเกี่ยวกับการเมืองและสังคมอีกครั้งในนวนิยายเรื่องถัดไปคือ L'Homme Qui Rit (คนที่หัวเราะ) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1869 และได้สร้างภาพอันล่อแหลมเกี่ยวกับคนชั้นสูงในสังคม แต่นิยายเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเทียบกับเรื่องก่อน ๆ อูว์โกเริ่มพิจารณาตัวเองว่าห่างชั้นกับนักเขียนร่วมสมัยคนอื่น ๆ เช่นโฟลแบร์ (Flaubert) และซอลา (Zola) ซึ่งมีงานเขียนที่กำลังเป็นที่นิยม นวนิยายเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Quatrevingt-treize (เก้าสิบสาม) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1874 เขาเขียนเรื่องที่ก่อนหน้านี้เคยหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด คือยุคสมัยแห่งความหวาดหวั่นระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส แม้ว่าในเวลาที่ตีพิมพ์นั้นชื่อเสียงของอูว์โกเริ่มลดน้อยลงแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยอมรับกันว่า เก้าสิบสาม เป็นหนึ่งในผลงานของอูว์โกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด

งานการเมืองและช่วงลี้ภัย[แก้]

หลังจากพยายามอยู่ 3 ครั้ง อูว์โกก็ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกของบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส (Académie française) ในปี ค.ศ. 1841[4] ซึ่งทำให้สถานะของเขาในแวดวงศิลปกรรมและวรรณกรรมมั่นคงขึ้น นักวิชาการชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอเตียน เดอ ฌูย ผู้ต่อต้านการปฏิวัติยุคโรแมนติก พยายามหน่วงเหนี่ยวให้การรับเลือกของอูว์โกเป็นไปอย่างล่าช้า[6] หลังจากนั้นอูว์โกก็มีบทบาททางการเมืองในฝรั่งเศสสูงขึ้น โดยเป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของสาธารณรัฐ เขาได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป เลื่อนให้เป็นขุนนางชั้นสูงในปี ค.ศ. 1841 และได้เข้าสู่สภาสูงในตำแหน่ง pair de France เขาเคลื่อนไหวต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตรวมถึงความไม่ยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม โดยชื่นชมยกย่องเสรีภาพของสื่อและการจัดตั้งรัฐบาลของตนเองในโปแลนด์ ในเวลาต่อมาเขาได้รับเลือกเข้าสู่สภานิติบัญญัติ (Legislative Assembly) และสภารัฐธรรมนูญ (Constitutional Assembly) หลังจากนั้นจึงเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 และการก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 2

วิกตอร์ อูว์โก ขณะลี้ภัยในเจอร์ซีย์ (ค.ศ. 1853-55)

เมื่อหลุยส์ นโปเลียน (จักรพรรดินโปเลียนที่ 3) รวบอำนาจเบ็ดเสร็จในปี ค.ศ. 1851 และจัดตั้งรัฐธรรมนูญที่ต่อต้านรัฐสภาขึ้น อูว์โกก็ประกาศตัวเองเป็นกบฏต่อประเทศฝรั่งเศส เขาย้ายไปยังบรัสเซลส์ และต่อมาย้ายไปยังเจอร์ซีย์ จนที่สุดจึงมาตั้งถิ่นฐานกันครอบครัวของเขาที่เกาะแชนแนลที่เกิร์นซีย์ เขาลี้ภัยอยู่ที่นี่จนถึง ค.ศ. 1870

ในขณะลี้ภัย อูว์โกได้เผยแพร่ผลงานการเมืองที่มีชื่อเสียงหลายชิ้นที่ต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เช่น Napoléon le Petit และ Histoire d'un crime[4] หนังสือเหล่านี้ถูกแบนในฝรั่งเศส แต่กระนั้นก็ส่งผลกระทบต่อฝรั่งเศสอย่างมาก อูว์โกยังเผยแพร่งานเขียนอันมีชื่อเสียงอื่น ๆ ของเขาในระหว่างพำนักอยู่ที่เกิร์นซีย์ รวมถึง เหยื่ออธรรม ด้วย ในจำนวนนี้รวมถึงงานกวีนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก 3 ชุด คือ Les Châtiments ในปี 1853; Les Contemplations ในปี 1856; และ La Légende des siècles ในปี 1859

เขาได้เกลี้ยกล่อมคณะรัฐบาลของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียให้ไว้ชีวิตนักโทษชาวไอริช 6 คนที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานก่อการร้าย ผลงานครั้งนี้ได้รับยกย่องในการยกเว้นโทษประหารชีวิตจากรัฐธรรมนูญของเจนีวา โปรตุเกส และโคลอมเบีย[7]

ปี ค.ศ. 1859 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ได้พระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมืองลี้ภัยทั้งหมด แต่อูว์โกปฏิเสธการอภัยโทษ เพราะนั่นจะทำให้เขาไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อีก จนกระทั่งจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 สิ้นอำนาจและสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 จัดตั้งขึ้นแล้ว อูว์โกจึงได้หวนคืนแผ่นดินเกิดในปี ค.ศ. 1870 เขาได้รับเลือกตั้งสู่สภาแห่งชาติ (National Assembly) และวุฒิสภาในเวลาต่อมา[4]

อูว์โกพำนักอยู่ในปารีสด้วยระหว่างที่กองทัพปรัสเซียบุกเข้ายึดเมืองในปี ค.ศ. 1870 สวนสัตว์ในกรุงปารีสส่งเนื้อสัตว์ที่รับประทานได้มาให้เขา ในระหว่างที่การบุกยึดยังดำเนินอยู่และอาหารก็หายากขึ้นทุกที อูว์โกบันทึกไว้ในสมุดประจำวันของเขาว่า เขาต้องลดการ "กินอะไรที่ไม่รู้จัก" ลง

อูว์โกให้ความสนใจเกี่ยวกับสิทธิของศิลปินและลิขสิทธิ์ เขาเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง Association Littéraire et Artistique Internationale[4] ซึ่งต่อมานำไปสู่อนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการปกป้องสิทธิในงานวรรณกรรมและงานศิลปะ

ช่วงปลายของชีวิต[แก้]

หลุมฝังศพของวิกตอร์ อูว์โก และเอมีล ซอลา

เมื่ออูว์โกเดินทางกลับมาปารีสในปี ค.ศ. 1870 เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นวีรบุรุษของชาติ แต่ทั้งที่มีชื่อเสียงขนาดนั้นเขาก็ยังแพ้การเลือกตั้งเข้าสู่ National Assembly ในปี ค.ศ. 1872 ต่อมาไม่นานเขาต้องประสบความทุกข์สาหัสเมื่อบุตรสาวของเขา อาแดล ต้องถูกกักตัวไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการวิกลจริต ตามด้วยการเสียชีวิตของบุตรชาย 2 คน (ส่วนบุตรสาวอีกคนหนึ่งคือ ลีโอโปลดีน จมน้ำจากอุบัติเหตุเรือล่มเมื่อปี ค.ศ. 1843 ภริยาของเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1868 ส่วนคนรักผู้ซื่อสัตย์ของเขาคือ จูเลียตต์ ดรูเอต์ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1883 ก่อนตัวเขาเองสองปี) แม้ว่าเขาจะต้องประสบความสูญเสียมากมายในชีวิตส่วนตัว แต่อูว์โกก็ยังยึดมั่นในงานการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง ปี ค.ศ. 1876 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่[8] บทบาทสุดท้ายในงานการเมืองของเขาค่อนข้างจะล้มเหลว อูว์โกกลายเป็นเฒ่าจอมดื้อและทำอะไรในวุฒิสภาไม่ได้มากนัก

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1881 อูว์โกมีอายุครบ 79 ปี มีการจัดงานวันเกิดให้เขาซึ่งนับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่เคยจัดให้แก่นักเขียนในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่[9] งานเฉลิมฉลองเริ่มต้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เขาได้รับมอบแจกันจากแซฟวร์ (Sèvres) ซึ่งเป็นของขวัญตามประเพณีที่จะมอบให้แก่ผู้ทรงเกียรติ วันที่ 27 กุมภาพันธ์มีขบวนพาเหรดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส หัวขบวนอยู่ที่ถนนแอโล (Avenue d'Eylau) และทอดตัวยาวไปตามถนนช็องเซลีเซจนถึงใจกลางเมืองปารีส ผู้ร่วมขบวนใช้เวลาเดินทั้งหมด 6 ชั่วโมงผ่านหน้าของอูว์โกซึ่งนั่งอยู่ที่หน้าต่างบ้านของเขา ทุก ๆ รายละเอียดจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่อูว์โก แม้แต่ผู้นำขบวนพาเหรดอย่างเป็นทางการยังสวมชุดรวงข้าว เพื่อสื่อถึงบทเพลงของ Cosette ในเรื่อง เหยื่ออธรรม[9]

วิกตอร์ อูว์โก ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1885 รวมอายุได้ 83 ปี ยังความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงต่อชนทั้งชาติ เขามิได้เป็นเพียงเสาหลักทางวรรณกรรมของฝรั่งเศส แต่ยังได้รับยกย่องจากนานาชาติในฐานะรัฐบุรุษผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 และนำประชาธิปไตยมาสู่ฝรั่งเศส ประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้เข้าร่วมพิธีศพของเขาในกรุงปารีส[8] ตั้งแต่ประตูชัยไปจนถึงแพนธีออน อันเป็นสถานที่ฝังศพของเขา โดยใช้ที่ฝังศพร่วมกันกับ Alexandre Dumas และ Émile Zola

อูว์โกกับภาพวาด[แก้]

นอกจากงานด้านวรรณกรรม อูว์โกยังมีฝีมือด้านทัศนศิลป์อย่างเอกอุ ตลอดชีวิตของเขาได้วาดภาพไว้มากกว่า 4,000 ภาพ ในช่วงแรกการวาดภาพก็เป็นเพียงแค่งานอดิเรก แต่ต่อมามันก็มีความสำคัญต่ออูว์โกมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงก่อนการลี้ภัย เมื่อเขาตัดสินใจหยุดงานประพันธ์เพื่ออุทิศตัวเองแก่งานการเมือง การวาดภาพจึงเป็นทางออกทางเดียวสำหรับความคิดสร้างสรรค์ของเขาในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1848-1851

อูว์โกวาดภาพเฉพาะบนกระดาษ และมักเป็นภาพขนาดเล็ก เขาใช้เทคนิค pen-and-ink วาดด้วยสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ บางครั้งก็แต้มสีขาว แต่ไม่ค่อยใช้สีอื่น ๆ ภาพที่หลงเหลือรอดมาถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นความสามารถอันน่าอัศจรรย์และความ "ทันสมัย" ทั้งแบบอย่าง วิธีการ แสงเงา และเทคนิคต่าง ๆ ทั้งแบบเหนือจริง (surrealism) และแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (abstract expressionism)

เขามักวาดภาพโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของลูกมาช่วยในการสร้างสรรค์ เช่น กระดาษไข กระดาษซับหมึก ดิ้น ยางลบ หรือบางครั้งก็ใช้ถ่านจากแท่งไม้ขีดไฟหรือใช้นิ้วของเขาแทนที่จะใช้ปากกาหรือพู่กัน บางครั้งเขาถึงกับสาดกาแฟใส่หรือหาวิธีสร้างเอฟเฟคต่าง ๆ ที่เขาต้องการ เล่ากันว่าอูว์โกมักจะวาดภาพด้วยมือซ้าย บางครั้งก็วาดโดยไม่มองกระดาษเลย เพื่อที่จะเข้าถึงภาวะจิตใต้สำนึกของตัวเอง ในเวลาต่อมาหลักการนี้จึงเป็นที่รู้จักกันผ่านทางซิกมุนด์ ฟรอยด์

อูว์โกเก็บภาพวาดของเขามิให้สาธารณชนได้เห็น ด้วยเกรงว่ามันจะบดบังผลงานด้านวรรณกรรมของเขาเสีย แต่เขาชอบเอารูปภาพอวดแก่ครอบครัวและเพื่อนฝูง บางครั้งก็ทำเป็นบัตรอวยพร มีภาพวาดหลายภาพที่มอบให้แก่แขกของเขาเป็นของขวัญในขณะที่เขาอยู่ระหว่างการลี้ภัย ภาพวาดของเขาบางชิ้นได้แสดงแก่ศิลปินร่วมสมัยเช่น ฟัน โคค และเดอลาครัว และเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก เดอลาครัวเคยให้ความเห็นว่าถ้าอูว์โกตัดสินใจมาเป็นศิลปินวาดภาพแทนที่จะเป็นนักเขียน เขาจะเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษ[10]

ภาพวาดของอูว์โก:

อูว์โกกับดนตรี[แก้]

แม้ว่าทักษะทางดนตรีจะไม่ได้เป็นหนึ่งในพรสวรรค์มากมายของอูว์โก แต่กระนั้นเขาก็ยังสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ในโลกของดนตรี ด้วยแรงบันดาลใจอันไร้สิ้นสุดที่ผลงานของเขาส่งผลต่อบรรดานักแต่งเพลงจำนวนมากในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ตัวอูว์โกเองชอบดนตรีของกลุ๊กและเวเบอร์ ทั้งยังชื่นชอบเบทโฮเฟินอย่างมาก นอกจากนั้นเขายังชื่นชมผลงานของนักแต่งเพลงในยุคก่อนหน้าเขา เช่น Palestrina และ Monteverdi นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สองคนคือ แบร์ลีโยซและลิซท์ ก็เป็นเพื่อนของอูว์โก คนหลังนี้เคยเล่นเพลงของเบทโฮเฟินที่บ้านของอูว์โกด้วย อูว์โกเคยเขียนขำ ๆ ในจดหมายถึงเพื่อนฉบับหนึ่งว่า ต้องขอบคุณลิซท์ที่ช่วยสอนเปียโนให้เขา ทำให้เขาสามารถเล่นเพลงโปรดของตัวเองได้โดยใช้นิ้วเพียงนิ้วเดียว อูว์โกยังเคยร่วมงานกับหลุยส์ แบร์แต็ง (Louise Bertin) นักแต่งเพลง โดยช่วยเขียนบทอุปรากรให้แก่เธอในปี ค.ศ. 1836 เรื่อง La Esmeralda อันมีที่มาจากนวนิยายเรื่องหนึ่งของอูว์โก คือ คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม[11] ทว่าด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้อุปรากรอันงดงามนี้ต้องปิดการแสดงลงหลังจากเปิดแสดงได้เพียง 5 ครั้ง และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน แต่ยังมีบทเพลงในเวอร์ชันที่บรรเลงด้วยเปียโนของลิซท์ ซึ่งนำกลับมาแสดงอีกครั้งในงานเทศกาลดนตรีนานาชาติ Victor Hugo et Égaux เมื่อ ค.ศ. 2007[12] นอกจากนี้ยังนำมาแสดงเป็นออร์เคสตราเต็มรูปแบบเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2008 ในงาน Le Festival de Radio France et Montpellier Languedoc-Roussillon[13]

มีบทเพลงมากกว่า 1000 บทที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของอูว์โกตลอดช่วงเวลานับแต่คริสต์ทศวรรษ 1800 ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน บทละครของอูว์โกซึ่งแหวกประเพณีนิยมของงานแสดงในยุคคลาสสิกแต่เปลี่ยนมาเป็นเรื่องราวในยุคโรแมนติกได้จุดประกายความสนใจแก่บรรดานักแต่งเพลง และพากันจับเรื่องราวเหล่านั้นมาดัดแปลงเป็นอุปรากร มีละครอุปรากรมากกว่า 100 เรื่องที่สร้างขึ้นจากผลงานของอูว์โก ในบรรดาบทละครที่มีชื่อเสียงได้แก่ Lucrezia Borgia ของโดนีเซตตี (ค.ศ. 1833) Rigoletto และ Ernani ของแวร์ดี (ค.ศ. 1851 และ 1844 ตามลำดับ) และ La Gioconda ของ Ponchielli (ค.ศ. 1876) นอกจากบทละครของอูว์โกแล้ว นวนิยายของเขาก็เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับเหล่านักดนตรี พวกเขาไม่เพียงนำมาดัดแปลงเป็นอุปรากรและบัลเลต์ แต่ยังนำมาทำเป็นละครเพลงด้วย เช่นเรื่อง คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม และเรื่องที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลคือ เหยื่ออธรรม ซึ่งเป็นละครเพลงที่เปิดแสดงอยู่ยาวนานที่สุดในเวสต์เอนด์ กรุงลอนดอน นอกจากนี้ งานกวีนิพนธ์ของอูว์โกก็สร้างแรงบันดาลใจต่อเหล่านักดนตรีและนักแต่งเพลงด้วย พวกเขาแต่งเพลงมากมายขึ้นจากบทกวีของอูว์โก เหล่านักดนตรีเหล่านี้ได้แก่ แบร์ลีโยซ, บีแซ, ฟอเร, ฟร็องก์, ลาโล, ลิซท์, มัสแน, แซ็ง-ซ็องส์, รัคมานีนอฟ และวากเนอร์[14]

จนถึงปัจจุบัน ผลงานของอูว์โกยังส่งอิทธิพลต่องานดนตรีอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น นวนิยายเรื่อง The Last Day of a Condemned Man ซึ่งต่อต้านการลงโทษประหารชีวิต ได้ดัดแปลงมาเป็นละครอุปรากร โดยดาวิด อาลัญญา น้องชายของเขาคือ โรแบร์โต อาลัญญาได้แสดงละครอุปรากรรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อฤดูร้อน ค.ศ. 2007 ในกรุงปารีส และแสดงซ้ำอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ในงานเทศกาลดนตรีนานาชาติ Victor Hugo et Égaux 2008[15] นอกจากนี้มีงานเทศกาลดนตรีนานาชาติวิกตอร์ อูว์โก จัดขึ้นที่เกิร์นซีย์เป็นประจำทุก 2 ปี ซึ่งมีนักดนตรีมาร่วมงานค่อนข้างมาก

อนุสรณ์[แก้]

อนุสาวรีย์วิกตอร์ อูว์โก ที่เกิร์นซีย์

ประชาชนชาวเกิร์นซีย์พร้อมใจกันสร้างรูปปั้นของอูว์โกไว้ที่แคนดีการ์เด้น (ท่าเรือเซนต์ปีเตอร์) เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาที่อูว์โกลี้ภัยอยู่บนเกาะแห่งนั้น นอกจากนี้ทางปารีสก็ได้อนุรักษ์บ้านของเขาทั้งที่ Hauteville House ในเกิร์นซีย์ และที่บ้านเลขที่ 6 จัตุรัสโวฌ (Place des Vosges) ในนครปารีสไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ บ้านของอูว์โกอีกแห่งหนึ่งที่เมืองฟิยันเดิน (Vianden) ในลักเซมเบิร์ก ซึ่งเขาเคยไปพักอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1871 ก็ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย ที่เจอร์ซีย์ซึ่งอูว์โกเคยไปลี้ภัยช่วงสั้น ๆ ช่วงหนึ่งในปี ค.ศ. 1852 มีแผ่นป้ายอนุสรณ์ (plaque) ติดตั้งไว้ที่ La Vingtiane De La Ville เพื่อเป็นอนุสรณ์การมาเยือนของเขา

มีการสร้างรูปปั้นและอนุสาวรีย์ของอูว์โกไว้มากมาย เช่นที่เกิร์นซีย์ ที่อุทยานกวีเบซีเย (Béziers) ซึ่งภายหลังดัดแปลงกลายเป็นสวนสัตว์ โอกุสต์ รอแด็ง ช่างปั้นผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศสได้ปั้นรูปหล่อครึ่งตัวของอูว์โกในปี ค.ศ. 1886 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Gulbenkian ประเทศฝรั่งเศส มีอนุสาวรีย์วิกตอร์ อูว์โกอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เมืองเบอซองซง ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอูว์โก ปั้นโดยศิลปินชื่อ Ousmane Sow นอกจากนี้ในรัสเซีย มีอุทยานแอร์มิทาชในกรุงมอสโกซึ่งประดับรูปปั้นครึ่งตัวของอูว์โกไว้เช่นกัน

ที่เขต XVIème ในเมืองปารีส มีถนนชื่อ Victor-Hugo ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา นอกจากนี้ยังมีถนนและตรอกซอยอีกมากมายหลายแห่งทั่วประเทศฝรั่งเศสที่ตั้งชื่อตามชื่อของเขา มีโรงเรียนแห่งหนึ่งชื่อ Lycée Victor Hugo ตั้งอยู่ที่บ้านเกิดของอูว์โกคือเมืองเบอซองซง ถนน Victor-Hugo อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เมือง Shawinigan รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ก็ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

อูว์โกเคยอาศัยอยู่ที่เมือง Avellino ประเทศอิตาลี เมื่อย้ายครอบครัวไปอยู่กับพ่อในคราวหนึ่งในปี ค.ศ. 1808 ปัจจุบันที่พักของเขาเป็นที่รู้จักในชื่อ Il Palazzo Culturale อูว์โกเคยเขียนถึงช่วงชีวิตสั้น ๆ ที่เขาพำนักอยู่ที่นี่ กล่าวว่า "C’était un palais de marbre..." ที่เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ มีร้านอาหารแห่งหนึ่งชื่อ Victor Hugo ซึ่งเริ่มต้นดำเนินกิจการโดยชาวฝรั่งเศสคู่หนึ่ง แต่ถูกซื้อไปในปี ค.ศ. 2005 ร้านนี้ตั้งอยู่ที่เมลวิลล์เทอร์เรซ ใกล้กับหอพักมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในเขตเมืองชีนส์[16]

ปี ค.ศ. 1985 มีการจัดทำเหรียญอนุสรณ์ในโอกาสครบ 100 ปีวันถึงแก่กรรมของอูว์โก เป็นเหรียญ 10 ฟรังค์ฝรั่งเศส

รายชื่อผลงานประพันธ์[แก้]

งานที่ตีพิมพ์ระหว่างมีชีวิต[แก้]

งานที่ตีพิมพ์หลังจากเสียชีวิต[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Roche, Isabel (2005). “Victor Hugo: Biography” เก็บถาวร 2008-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Meet the Writers. เว็บไซต์: Barnes & Noble. (จากฉบับพิมพ์คลาสสิกของ บาร์นส์แอนด์โนเบิล เรื่อง The Hunchback of Notre Dame, 2005.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  2. Victor Hugo and his Revolutionary & Napoleonic Era Writings เก็บถาวร 2009-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ napoleonic-literature.com เก็บข้อมูลเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
  3. 3.0 3.1 Victor Hugo จาก เอนไซโคลพีเดียบริทันนิกา
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Victor Hugo จาก thefamouspeople.com เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  5. Les Miserables, 1862 เก็บถาวร 2007-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Life & Work of Victor Hugo. จาก hugo-online.org. เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  6. บทบาทของ É. de Jouy ที่ต่อต้านอูว์โก ดูใน Les aventures militaires, littéraires et autres de Étienne de Jouy de l'Académie française โดย Michel Faul (Éditions Seguier, France, 2009 ISBN 978-2-84049-556-7)
  7. Victor Hugo, l'homme océan
  8. 8.0 8.1 Timeline of Victor Hugo จาก BBC Guernsey. เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  9. 9.0 9.1 Les Misérables เก็บถาวร 2009-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, About the Author. เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  10. Drawings of Victor Hugo เก็บข้อมูลเมื่อ 2009-07-16.
  11. "Hugo à l'Opéra”, ed. Arnaud Laster, L'Avant-Scène Opéra, no. 208 (2002).
  12. "Cette page utilise des cadres". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-08. สืบค้นเมื่อ 2009-03-22.
  13. "23 juillet - Festival Radio France et Montpellier Languedoc Roussillon - classique - concert - opéra La Esmeralda Louise Bertin - direction Lawrence Foster - Orchestre Nationa..." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 2009-03-22.
  14. “Hugo et la musique” in Pleins feux sur Victor Hugo, Arnaud Laster, Comédie-Française (1981)
  15. "Festival Victor Hugo & Egaux 2008". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-29. สืบค้นเมื่อ 2009-03-28.
  16. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-06. สืบค้นเมื่อ 2009-03-28.

แหล่งอ้างอิงออนไลน์[แก้]

  • Afran, Charles (1997). “Victor Hugo: French Dramatist”. เว็บไซต์: Discover France. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Grolier Multimedia Encyclopedia, 1997, v.9.0.1.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Bates, Alfred (1906). “Victor Hugo”. เว็บไซต์: Theatre History. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Drama: Its History, Literature and Influence on Civilization, vol. 9. ed. Alfred Bates. London: Historical Publishing Company, 1906. pp. 11-13.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Bates, Alfred (1906). “Hernani”. เว็บไซต์: Theatre History. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Drama: Its History, Literature and Influence on Civilization, vol. 9. ed. Alfred Bates. London: Historical Publishing Company, 1906. pp. 20-23.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Bates, Alfred (1906). “Hugo’s Cromwell”. เว็บไซต์: Theatre History. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Drama: Its History, Literature and Influence on Civilization, vol. 9. ed. Alfred Bates. London: Historical Publishing Company, 1906. pp. 18-19.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Bittleston, Misha (uncited date). "Drawings of Victor Hugo". เว็บไซต์: Misha Bittleston. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Burnham, I.G. (1896). “Amy Robsart”. เว็บไซต์: Theatre History. (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Victor Hugo: Dramas. Philadelphia: The Rittenhouse Press, 1896. pp. 203-6, 401-2.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Columbia Encyclopedia, 6th Edition (2001-05). “Hugo, Victor Marie, Vicomte” เก็บถาวร 2008-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์: Bartleby, Great Books Online. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Haine, W. Scott (1997). “Victor Hugo” เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Encyclopedia of 1848 Revolutions. เว็บไซต์: มหาวิทยาลัยโอไฮโอ. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Illi, Peter (2001-2004). “Victor Hugo: Plays” เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์: The Victor Hugo Website. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Karlins, N.F. (1998). "Octopus With the Initials V.H." เว็บไซต์: ArtNet. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Liukkonen, Petri (2000). “Victor Hugo (1802-1885)” เก็บถาวร 2014-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Books and Writers. เว็บไซต์: Pegasos: A Literature Related Resource Site. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Meyer, Ronald Bruce (2004). “Victor Hugo”. เว็บไซต์: Ronald Bruce Meyer. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Robb, Graham (1997). “A Sabre in the Night”. เว็บไซต์: New York Times (Books). (Excerpt from Graham, Robb (1997). Victor Hugo: A Biography. New York: W.W. Norton & Company.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • Roche, Isabel (2005). “Victor Hugo: Biography” เก็บถาวร 2008-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Meet the Writers. เว็บไซต์: Barnes & Noble. (จากฉบับพิมพ์คลาสสิกของ บาร์นส์แอนด์โนเบิล เรื่อง The Hunchback of Notre Dame, 2005.) เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. “Victor Hugo” เก็บถาวร 2007-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์: Spartacus Educational. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. “Timeline of Victor Hugo”. เว็บไซต์: BBC. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. (2000-2005). “Victor Hugo”. เว็บไซต์: The Literature Network. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน. "Hugo Caricature" เก็บถาวร 2002-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์: Présence de la Littérature a l’école. เก็บข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2005.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]