พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร)
พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) | |
---|---|
ชื่ออื่น | ปัญญานันทภิกขุ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ประเทศสยาม (96 ปี) |
มรณภาพ | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550 โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 4 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี |
อุปสมบท | พ.ศ. 2474 |
พรรษา | 76 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9 รองเจ้าคณะภาค 18 |
พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะพระสงฆ์ผู้ปฏิรูปแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทย โดยเฉพาะเด่นด้านปาฐกถาธรรมเทศนาธรรม ผู้เป็นสหธรรมิกร่วมอุดมการณ์คนสำคัญของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ)[1] และผู้อุทิศชีวิตให้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้รวบรวมจากทานธนบดีชน ผู้บริจาคกัปปิยะภัณฑ์สร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างในสถานศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประวัติ
[แก้]ชาติกำเนิด
[แก้]พระพรหมมังคลาจารย์กำเนิดที่ ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เป็นบุตรของนายวัน เสน่ห์เจริญ เดิมมีนามว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ หลังใช้ชีวิตฆราวาสจนมีอายุได้ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จังหวัดระนอง โดยมีพระรณังคมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดนางลาด อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมีพระจรูญกรณีย์เป็นอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ. 2474
ศึกษาหาหลักธรรม
[แก้]หลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน ได้เดินทางไปศึกษาหาหลักธรรมในบวรพุทธศาสนาหลายจังหวัดที่มีสำนักเรียนธรรมะ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร จนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่ 1 ของสังฆมณฑลภูเก็ต และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และเอกในปีถัดมาที่ จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านภาษาบาลีจนสามารถสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้หลวงพ่อต้องหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น แล้วเดินทางกลับพัทลุงภูมิลำเนาเดิมและได้เริ่มแสดงธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ รวมทั้งเดินทางไปจำพรรษาที่วัดสีตวนารามและวัดปิ่นบังอร รัฐปีนังประเทศมาเลเซีย ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ได้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป
เผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
[แก้]- พ.ศ. 2475 หลวงพ่อมีโอกาสร่วมเดินทางไปประเทศพม่า กับพระโลกนาถชาวอิตาลีสหายธรรม ร่วมเดินทางแสวงบุญไปประเทศอินเดียและทั่วโลกโดยผ่านทางประเทศพม่าด้วยเท้าเปล่าเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าก็ต้องเดินทางกลับ
- ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2476 หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศหลายประเทศ จนหลวงพ่อได้ชื่อว่า เป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทยที่ได้เดินทางไปประกาศธรรมในภาคพื้นยุโรป
สหายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ
[แก้]พ.ศ. 2477 หลวงพ่อได้เดินทางไปจำพรรษากับพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และร่วมเป็นสหายธรรมดำเนินการเผยแพร่หลักธรรมที่แท้จริงตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ประกาศธรรมแก่ชาวบ้านที่เชียงใหม่
[แก้]- ในปี พ.ศ. 2492 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ และได้เริ่มแสดงธรรมในทุกวันอาทิตย์และวันพระที่พุทธนิคม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้หลวงพ่อได้เขียนบทความต่าง ๆ ลงในหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือธรรมะขึ้นจำนวนหลายเล่ม นอกจากนี้ หลวงพ่อได้เดินทางไปประกาศธรรมแก่ชาวบ้าน ชาวเขาโดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียง จนชื่อเสียงของหลวงพ่อดังกระฉ่อนไปทั่ว จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม "ภิกขุปัญญานันทะ"
- ในยุคนี้เองที่หลวงพ่อได้ก่อตั้งมูลนิธิเมตตาศึกษา ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ และบำเพ็ญศีล กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย
วัดชลประทานรังสฤษฎ์
[แก้]- ในปี พ.ศ. 2502 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ในสมัยนั้น ระหว่างที่ไปเยือนเชียงใหม่มีความประทับใจ ในลีลาการสอนธรรมะแนวใหม่ของหลวงพ่อ จึงเกิดความศรัทธาปสาทะในหลวงพ่อ และในขณะนั้นกรมชลประทานได้สร้างวัดใหม่ขึ้น ชื่อ "วัดชลประทานรังสฤษฎ์" ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงได้อาราธนาหลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. 2503
- พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้ดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยวิธีที่ท่านได้เริ่มปฏิวัติรูปแบบการเทศนาแบบดั้งเดิมที่นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ถือใบลาน มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรมแบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรก ๆ ได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลังการปาฐกถาธรรมแบบนี้กลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจนถึงบัดนี้ เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจะไปปาฐกถาธรรมที่ใดก็จะติดตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดหลวงพ่อได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่าง ๆ และเทศนาออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน
- นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและกล่าวคำปราศรัยในการประชุมองค์กรศาสนาของโลกเป็นประจำอีกด้วย
- โดยที่หลวงพ่อท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้สร้างงานไว้มากมายทั้งด้านศาสนาสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนงานด้านวิชาการ ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมาย และเป็นประธานในการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคม เช่น สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกโรงพยาบาลกรมชลประทาน 80 ปี (ปัญญานันทะ) และเป็นประธานในการดำเนินการจัดหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม แม้ว่าคำสอนของหลวงพ่อจะเป็นคำสอนที่ฟังง่ายต่อการเข้าใจ แต่ลึกซึ้งด้วยหลักธรรมและอุดมการณ์อันหนักแน่นในพระรัตนตรัย หลวงพ่อปัญญานันทภิภขุ เป็นหนึ่งในบรรดาภิกษุผู้มีชื่อเสียง และเปี่ยมด้วยคุณธรรมเมตตาธรรม ผู้นำคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมสำหรับชนทุกชั้นที่จะเข้าถึง หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่กล้าในการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนา ของชาวไทยที่ประกอบพิธีกรรมหรูหรา ฟุ่มเฟือย โดยเปลี่ยนเป็นประหยัด มีประโยชน์และเรียบง่าย ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการขนานนามว่า "ผู้ปฏิรูปพิธีกรรมของชาวพุทธไทย" ในปัจจุบัน
ผลงานและเกียรติคุณ
[แก้]งานด้านการปกครอง
[แก้]- พ.ศ. 2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์
งานด้านการศึกษา
[แก้]- พ.ศ. 2503 เป็นเจ้าสำนักศาสนาศึกษา แผนกธรรมและบาลีวัดชลประทานรังสฤษดิ์
- พ.ศ. 2512 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ระดับอนุบาล ประถม มัธยมศึกษา
- พ.ศ. 2524 เป็นผู้อำนวยการจัดการการอบรมพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษดิ์
- เป็นผู้อำนวยการจัดการอบรมพระนวกะที่บวชในวัดชลประทานรังสฤษดิ์
งานด้านการเผยแผ่
[แก้]- พ.ศ. 2492-2502 เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม สวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
- พ.ศ. 2500 เป็นประธานมูลนิธิ "ชาวพุทธมูลนิธิต้านโกง" จังหวัดเชียงใหม่
- เป็นประธานก่อตั้งพุทธนิคม จ.เชียงใหม่
- พ.ศ. 2503 เป็นองค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
- เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญ ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์
- เป็นผู้ก่อตั้งทุนพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน พ.ศ. 2520
- เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา
- พ.ศ. 2525 รับเป็นองค์แสดงธรรมแก่วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- พ.ศ. 2534 เป็นผู้ริเริ่ม ค่ายคุณธรรมแก่เยาวชน เรียกว่า "ค่ายพุทธบุตร" ในโรงเรียนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ฯลฯ
- พ.ศ. 2536 จำพรรษา ณ วัดพุทธธรรม ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
การปฏิบัติศาสนากิจในต่างประเทศ
[แก้]- พ.ศ. 2497 เดินทางเผยแผ่ธรรมรอบโลก
- ช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนา เผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน
- เป็นเจ้าอาวาสววัดพุทธธรรม วัดไทยในชิกาโก สหรัฐอเมริกา
งานด้านสาธารณูปการ
[แก้]- พ.ศ. 2516 เป็นประธานในการก่อสร้างกุฏิสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นที่อยู่แก่พระภิกษุผู้บวชใหม่
- พ.ศ. 2518 เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธธรรม
- เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
- พ.ศ. 2537 เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสองหลังเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์
- เป็นผู้เริ่มต้นหาทุนทรัพย์จากทานธนบดีสร้างอาคารสำนักงาน อาคารเรียน สิ่งปลูกสร้างให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
งานด้านสาธารณประโยชน์
[แก้]- พ.ศ. 2533 เป็นประธานหาทุนสร้าง "ตึก 80 ปี ปัญญานันทะ" ให้โรงพยาบาลชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
- สร้างศูนย์ฝึกและปฏิบัติงาน มูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- พ.ศ. 2534 บริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จังหวัดเชียงใหม่
- พ.ศ. 2537 บริจาคเงินสร้างโรงอาหารแก่โรงเรียนประภัสสรรังสิต อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
- บริจาคเงินซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต
- รับมอบที่ดินและเป็นประธานหาทุนสร้างและอุปถัมภ์ วัดปัญญานันทาราม จังหวัดปทุมธานี
- บริจาคเงินเป็นทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นที่ขาดแคลนต่าง ๆ หลายจังหวัด
- ได้แสดงธรรมเพื่อหาเงินสบทบทุนในจัดสร้างอาคารเรียน 100 ปี โรงเรียนพัทลุง จังหวัดพัทลุง
- แสดงธรรมเพื่อหาเงินสมบทในจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลพัทลุง จังหวัดพัทลุง
- เป็นประธานหาทุนปรับปรุงและยกฐานะโรงพยาบาลชลประทานเป็นศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
งานพิเศษ
[แก้]- พ.ศ. 2503 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน
- พ.ศ. 2518 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ ศาลาการเปรียญ วัดชลประทานรังสฤษดิ์
- เป็นองค์แสดงธรรมถวาย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอันมีศักดิ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
- เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ช่าวต่างประเทศ ที่อุปสมบทในประเทศไทย เช่น ชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น
- พ.ศ. 2529 ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเชี่ยนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 7 ที่ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว (12th Asain Buddist Conference for Peace)
- พ.ศ. 2536 ได้รับนิมนต์ไปร่วมประชุมและบรรยาย ในการประชุมสภาศาสนาโลก 1993 ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา (The 1993 Parliament of the world's Religion)
งานด้านวิทยานิพนธ์
[แก้]ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น
- ทางสายกลาง
- คำถามคำตอบพุทธศาสนา
- คำสอนในพุทธศาสนา
- หน้าที่ของคนฉบับสมบูรณ์
- รักลูกให้ถูกทาง
- ทางดับทุกข์
- อยู่กันด้วยความรัก
- อุดมการณ์ของท่านปัญญา
- ปัญญาสาส์น
- ชีวิตและผลงาน
- มรณานุสติ
- ทางธรรมสมบูรณ์แบบ
- 72 ปี ปัญญานันทะ
- กรรมสนองกรรม เป็นต้น
เกียรติคุณที่ได้รับ
[แก้]- พ.ศ. 2520 ได้รับรางวัล "สังข์เงิน" จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะและศีลธรรมยอดเยี่ยมของประเทศไทย
- พ.ศ. 2521 ได้รับรางวัล "นักพูดดีเด่น" ประเภทเผยแผ่ธรรม จากสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2525 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จากกรมการศาสนา โดยได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ 2 รางวัล คือ ประเภท ก.บุคคล และประเภท ข.สื่อสารมวลชน (รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์)
- พ.ศ. 2524 ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จาก มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2531 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- พ.ศ. 2534 ได้รับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- พ.ศ. 2537 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2548 ได้รับการยกย่องเป็นศิษย์เก่าดีเด่น เนื่องในโอกาสงานครบรอบ 100 ปี โรงเรียนพัทลุง จากโรงเรียนพัทลุง
- พ.ศ. 2550 ได้รับยกย่องเชิดชู ในฐานะ "ผู้สูงอายุแห่งชาติ" ประจำปี 2550 ผู้มีผลงานดีเด่นคนแรก (รูปแรก) ของประเทศ
สมณศักดิ์ที่ได้รับ
[แก้]- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระปัญญานันทมุนี (สป.)[2]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชนันทมุนี ธรรมาวาทีคณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวิสุทธิเมธี ศรีภาวนาจารย์ สุนทรญาณพิสิฏฐ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมภาณ วิสาลธรรมวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 รับสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ พระพรหมมังคลาจารย์ ไพศาลธรรมโกศล วิมลศีลาจารวินิฐ พิพิธธรรมนิเทศ พิเศษวรกิจจานุกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
มรณภาพ
[แก้]มรณภาพ
[แก้]พระพรหมังคลาจารย์ถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 9.09 น. ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ณ โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริรวมอายุได้ 96 ปี 5 เดือน พรรษา 76 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมและรับศพไว้ในพระราชานุเคราะห์
พระราชทานเพลิงศพ
[แก้]วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 (หลังจากบรรจุสรีระ 10 ปี) ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สรีรธาตุของหลวงพ่อปัญญา บรรจุอยู่ในโลงสีทอง ด้านหน้าโลง มีข้อความ"ร่างกายตายได้ แต่..งานอย่าให้ตาย"สื่อความหมาย ถึง คติธรรม ให้ข้อคิดกับศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมงาน
เวลา 17.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานเพลิงสลายสรีรธาตุพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทมหาเถระ) ณ เมรุชั่วคราว วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จด้วย
ในวันที่ 6 พ.ย.เวลา 08.00 น. เชิญอัฐิธาตุหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ไปบรรจุไว้ใต้ฐานเจดีย์อาคารปัญญานันทานุสรณ์ ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี [7]
อ้างอิง
[แก้]- หนังสือชีวประวัติปัญญานันทภิกขุ (สนพ.ธรรมสภา)
- ↑ โสมชยา ธนังกุล. มรดกธรรมจากท่านพุทธทาส. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 48
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระรราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์สมณศักดิ์, เล่ม 78, ตอนที่ 6 ฉบับพิเศษ, 12 มกราคม 2499, หน้า 11
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระรราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์สมณศักดิ์, เล่ม 88, ตอนที่ 151 ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม 2514, หน้า 4-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระรราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์สมณศักดิ์, เล่ม 104, ตอนที่ 253 ฉบับพิเศษ, 5 ธันวาคม 2530, หน้า 3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระรราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์สมณศักดิ์, เล่ม 111, ตอนพิเศษ 57 ง, 7 ธันวาคม 2537, หน้า 3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 122, ตอนที่ 9 ข, 3 มิถุนายน 2548, หน้า 1-4
- ↑ 'พระเทพฯ' เสด็จเป็นองค์ประธานพระราชทานเพลิงสลายสรีรธาตุหลวงพ่อปัญญา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- มูลนิธิเมตตาศึกษา ปัจจุบันเป็นโรงเรียนเมตตาศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดเชียงใหม่
ก่อนหน้า | พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) | พระธรรมโกศาจารย์ (พ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2547) |
พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2454
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2550
- ภิกษุในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
- เปรียญธรรม 4 ประโยค
- ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร
- พระราชาคณะเจ้าคณะรอง
- เจ้าอาวาส
- ผู้ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- บุคคลจากโรงเรียนพัทลุง จังหวัดพัทลุง
- ภิกษุจากจังหวัดพัทลุง
- ภิกษุจากจังหวัดนนทบุรี
- บุคคลจากอำเภอเมืองพัทลุง
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์