วัดปัญญานันทาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดปัญญานันทาราม
แผนที่
ที่ตั้งตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดปัญญานันทาราม ตั้งอยู่ที่ ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นวัดที่หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งและสร้างขึ้น โดยมุ่งหวังให้เป็นมรดกธรรม วัดปัญญานันทาราม เดิมเป็นที่ดินของ นายพิชิต - นางจำรัส ทองสีม่วง ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้ถวายที่ดิน 6 ไร่ แก่คณะสงฆ์โดยมีพระเฉลิม ปภสฺสโร เป็นผู้รับมอบ และก่อตั้งเป็น "สำนักสงฆ์สนเฒ่า" แต่ต่อมาขาดพระภิกษุดูแลไปช่วงระยะหนึ่ง นางบุญส่ง โพธิจันทร์ จึงได้ประสานงานและร่วมกันถวายที่ดินและสำนักสงฆ์นี้แด่ พระเทพวิสุทธิเมธี หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ องค์ประธานศูนย์สืบอายุพระพุทธศาสนา วัดชลประทานรังสฤษฏ์ (ที่ระลึก 80 ปี ปัญญานันทะ) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 และได้รับอนุญาตจัดตั้งวัดชื่อ วัดปัญญานันทาราม เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2537 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 มีเนื้อที่ 79 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

วัดปัญญานันทาราม ก่อตั้งจากดำริของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปญฺญานนฺโท) โดยมีคำปรารภในการก่อตั้งวัดไว้ว่า

สร้างพระ สร้างคน สร้างเยาวชนของชาติ สร้างศาสนทายาทให้มีชีวิตอยู่ในโลกอย่างถูกต้อง ให้มีชีวิตเรียบร้อยตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจวัตถุมากเกินไป

และได้มอบหมายให้ พระมหาสง่า สุภโร (ปัจจุบัน พระปัญญานันทมุนี) พระมหามานพ ปญฺญาวชิโร และพระมหาสมโภช ฐิติญาโณ ร่วมสนองงานก่อสร้างวัด และกิจกรรมงานเผยแผ่พระศาสนา โดยมุ่งเน้นการศึกษาอบรมปฏิบัติธรรม และเผยแผ่ธรรมตามหลักธรรมวินัย จนเป็นที่ยอมรับจากสถานศึกษา หน่วยงานราชการและ เอกชนหลายแห่ง ส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี วัดปัญญานันทาราม เป็นวัดที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จพระราชดำเนินมา 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ทรงวางศิลาฤกษ์สร้างวัดปัญญานันทาราม และทรงปลูกต้นสาละเพื่อเป็นอนุสรณ์ ณ สวนสาละ และพระราชทานนามว่า “สวนสาละสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา”

ครั้งที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเปิด อาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานประจำอุโบสถวัดปัญญานันทาราม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 72 นิ้ว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พระชันษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2541

และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จวัดปํญญานันทาราม เพื่อทรงเป็นองค์ประธานเปิดป้ายวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ 80 วัด 80 พรรษา และเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันอาทิตย์ และทรงประทานใบประกาศเกียรติคุณ แก่วัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ 80 วัด เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 5 มีนาคม 2552

นอกจากนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จร่วมปฏิบัติธรรมตามโครงการพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ ร่วมกับพระสหาย ตามหลักสูตร “อัยการผู้ช่วย” รุ่นที่ 39 พ.ศ. 2549 ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2549

ซึ่งในหลักสูตรดังกล่าวได้กำหนดให้มีการปฏิบัติธรรม เพื่อให้ทราบหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ อารมณ์บนพื้นฐานของศีล สมาธิ ปัญญา

การเสด็จปฏิบัติพระภารกิจเข้ารับการฝึกปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ ได้ทรงศึกษารับฟังธรรม ปฏิบัติธรรมและประทับค่าย ณ วัดปัญญานันทาราม ตามหลักสูตร “ค่ายคุณธรรม” ตลอดระยะเวลา 2 คือ 3 วัน ทรงศีล 8 และทรงสวมฉลองพระองค์ สีขาว กางเกงสีดำ เช่นเดียวกับพระสหาย

และเสด็จเปิดค่ายคุณธรรม เยาวชนพุทธบุตร บ้านกาญจนาภิเษก และยังเสด็จมาทรงงานโครงการกำลังใจในพระดำริ หลายครั้ง

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระปัญญานันทมุนี
  • พระมหาเฉลิม

กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ ของวัดปัญญานันทาราม[แก้]

วัดปัญญานันทาราม ได้รับการยอมรับว่ามีความโดดเด่นในการใช้กระบวนการบูรณาการศาสนธรรมเข้าสู่การศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่โรงเรียนถึงมหาวิทยาลัย เช่น ใช้ศีลธรรมผ่านการจัดกิจกรรม “ค่ายพุทธบุตร” “ค่ายพุทธธรรม” ด้านประชาชนและข้าราชการซึ่งอยู่ในวัยทำงานและผ่านการใช้ชีวิตมาพอสมควร จะนำหลักธรรมหรือหัวข้อความรู้ทางพุทธศาสนาทั้งหมดมาบูรณาการเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต เรียกว่า “ค่ายคุณธรรม” โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  1. จัดโรงเรียนเข้าสู่วัดด้วยการอบรมคุณธรรม“ค่ายพุทธบุตร” ระยะเวลา 2 คืน 3 วัน ถึง 10 คืน 11 วัน[1] เก็บถาวร 2009-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. จัดมหาวิทยาลัยเข้าสู่วัดด้วยการอบรมคุณธรรม “ค่ายพุทธธรรม” ระยะเวลา 2 คืน 3 วัน
  3. จัดหน่วยงานองค์กรต่างๆ เข้าสู่วัดด้วยการอบรมคุณธรรม “ค่ายคุณธรรม” ระยะเวลา 2 คืน 3 วัน ถึง 6 คืน 7 วัน
  4. จัดการทัศนศึกษาธรรมโดยนำโรงเรียนและองค์กรต่างๆ เข้าชมวัดและศึกษาธรรม
  5. การจัดวัดเข้าสู่โรงเรียน ด้วย “พุทธศาสนา 1 วัน ในโรงเรียน”
  6. จัดมอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุ - สามเณร “สร้างศาสนทายาท” เป็นประจำทุกปี
  7. การจัดวัดให้เป็นสมบัติของพุทธบริษัท 4 โดยจัดบริเวณวัดให้มีเขตพุทธาวาส (อุโบสถ) และเขตสังฆาวาส (พระภิกษุ แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา) อย่างชัดเจน
  8. จัดโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี ให้สัมพันธ์กับชีวิตจริงตามหลักศาสนา คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ฝึกแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื้อแผ่ วันพระและวันอาทิตย์ มุ่งพัฒนาตนเองด้วยกระบวนการไตรสิกขา
  9. การจัดสื่อธรรมะต่างๆ เผยแพร่ เช่น เทป , ซีดี , จัดพิมพ์หนังสือ ได้แก่ วารสารประจำวัดปัญญานันทาราม “ปัญญาสาส์น”, ประกายแห่งปัญญา เล่ม 1 - 9 , หนังสือธรรมะฝ่าวิกฤต , ธรรมในสวน , พระพุทธศาสนาให้อะไร, หลักธรรมแห่งความสุข ฯลฯ
  10. จัดทำชุดฝึกอบรม หลักสูตร การจัดฝึกอบรมคุณธรรม “ค่ายพุทธบุตร ค่ายพุทธธรรม”[2] เก็บถาวร 2008-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. จัดทำแนวการสอนพุทธศาสนาร่วมสมัยโดยวิธีการสอนแบบสัมมนาเรียกว่า สัมมนาพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน 2544
  12. จัดอบรมพระและครูวิทยากรประจำค่ายพุทธบุตร ค่ายพุทธธรรม ตามหลักสูตร การจัดฝึกอบรมคุณธรรม “ค่ายพุทธบุตร ค่ายพุทธธรรม” ของวัดปัญญานันทาราม
  13. จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเฉพาะวิชาชีพ ครูผู้สอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  14. จัดอบรมครูผู้สอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  15. จัดทำโครงการ Bomb to Bell: สันติสุข สันติภาพในโรงเรียนวิถีพุทธ
  16. จัดตั้ง “พุทธอาสา” ทำบุญไม่ผ่านเงิน
  17. จัดทำโครงการวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ และเปิดวัดวันอาทิตย์
  18. จัดทำโครงการอุปสมบทหมู่ ประจำเดือน
  19. จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงพระพุทธศาสนาวัดปัญญานันทาราม FM. 97.75 Mhz. “คลื่นสีขาวของชาวพุทธ”
  20. การจัดกิจกรรม "มัคคุเทศก์" ของสามเฌรโรงเรียนพระปริยัติธรรมพระราหุล
  21. การบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน

รางวัลและเกียรติคุณ[แก้]

  • 8 ตุลาคม 2541 ได้รับคัดเลือกเป็นวัดประจำภาคกลาง เพื่อจัดกิจกรรมลานวัด ลานใจ ลานกีฬา จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
  • 4 พฤษภาคม 2542 ได้รับจัดตั้งเป็น ศูนย์พัฒนาจิต เฉลิมพระเกียรติ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัดปทุมธานี จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
  • 15 กรกฎาคม 2542 ได้รับคัดเลือกเป็น อุทยานการศึกษาในวัดประจำปี 2542 จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
  • 9 กันยายน 2542 ได้รับเกียรติคุณ เพชรสยาม สาขาศาสนา จากสถาบันราชภัฏจันทรเกษม
  • 20 กันยายน 2543 ได้รับรางวัลพระราชทานองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน สาขาคุณธรรมและจริยธรรม ประเภทองค์กร เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ
  • 29 มกราคม 2545 ได้รับคัดเลือกเข้าสู่โครงการนำร่องด้านการจัดกิจกรรมการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดในพระพุทธศาสนา จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2546 ได้รับคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ประจำปี 2546 จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2546 ได้รับโล่เกียรติยศเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประจำปี2546
  • พ.ศ. 2548 ได้รับโล่เกียรติยศ เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2548 ได้รับโล่เกียรติยศ เป็นวัดพัฒนารูปแบบค่ายแห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2549 ได้รับคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น ประจำปี 2549 จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2551 ได้รับการคัดเลือกเป็น วัดที่มุ่งมั่นจัดการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประจำปี 2551 จาก มูลนิธิศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2551 ได้รับการคัดเลือกเป็น วัดที่มุ่งมั่นจัดการเข้าค่ายแห่งชาติ ประจำปี 2551 จาก โรงเรียนกุนนทีรุทธารามวิทยาคม
  • พ.ศ. 2552 ได้รับการคัดเลือกเป็น สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา จาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

อ้างอิง[แก้]

หมวดหมู่ รายชื่อวัดในจังหวัดปทุมธานี เถรวาท มหานิกาย