พม่าเชื้อสายมลายู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาวพม่าเชื้อสายมลายู
ปะซู
Melayu Myanmar/Melayu Burma/ملايو ميانمار
ပသျှူးလူမျို
กลุ่มชาวพม่าเชื้อสายมลายูในคริสต์ทศวรรษ 1950
ประชากรทั้งหมด
อาศัยในพม่า 27,000 คน
(ไม่รวมผู้พลัดถิ่นในประเทศไทยและกลับไปประเทศมาเลเซีย)
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
เขตตะนาวศรี (ส่วนใหญ่ในอำเภอเกาะสอง); จังหวัดระนอง, ประเทศไทย; เกาะลังกาวี, ประเทศมาเลเซีย
ภาษา
ภาษามลายูเกอดะฮ์ · ภาษาไทยถิ่นใต้ · ภาษาพม่า
ศาสนา
ส่วนใหญ่
อิสลามนิกายซุนนี
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
มลายู (โดยเฉพาะชาวเกอดะฮ์และชาวสตูลเชื้อสายมลายู)

ชาวพม่าเชื้อสายมลายู (มลายู: Melayu Myanmar/Melayu Burma, อักษรยาวี: ملايو ميانمار, พม่า: ပသျှူးလူမျိုး, ปะซู)[1]กลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญกลุ่มหนึ่งที่กระจายตัวลงมาตั้งแต่ตอนบนจนถึงตอนล่างของหมู่เกาะมะริดในเขตแดนของเขตตะนาวศรีทางตอนใต้ของประเทศพม่า[2]

ประวัติ[แก้]

ชาวพม่าเชื้อสายมลายู มักถูกเรียกโดยชนพื้นเมืองแถบนั้นว่า ปะซู พวกเขาได้อพยพมาจากมาเลเซีย และดินแดนทางตอนใต้ฝั่งตะวันตกของไทย เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบตะนาวศรี (Tanah Seri ตาเนาะซรี) โดยเฉพาะในเขตเมืองเกาะสอง (Pulodua ปูโลดูวอ) เพื่อทำการค้าขายเมื่อครั้งเมื่อพม่ายังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงปี ค.ศ. 1824-1948 และตะนาวศรีจึงรู้จักกันในนามว่า วิกตอเรียพอยต์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ชาวมลายูส่วนหนึ่งอพยพมาจากอำเภอละงู จังหวัดสตูล[3]

กลุ่มชาวมลายู-อาหรับ ที่นำโดยนายูดา อาเหม็ด ได้เดินทางรอบหมู่เกาะมะริดเพื่อหาสินค้าในการค้าขาย และท้ายที่สุดพวกเขาก็เริ่มการตั้งถิ่นฐานลงในแถบอ่าววิกตอเรียพอยต์ นอกจากนี้บางส่วนได้ตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวจีน และชาวสยาม อย่างเมืองบกเปี้ยน[4] และเมืองมะลิวัลย์โดยเฉพาะตามชายฝั่ง[5] และตั้งหมู่บ้านเรียงรายกันบนหมู่เกาะในเขตอ่าวเบงกอล[6]

ปัจจุบันชาวพม่าเชื้อสายมลายูกว่า 10,000 คน ได้อพยพออกจากดินแดนตะนาวศรี ส่วนใหญ่ได้อพยพไปยังประเทศมาเลเซีย, เกาะสินไห จังหวัดระนอง[7][8] บางส่วนอพยพไปยังส่วนอื่นของพม่า โดยเฉพาะที่ย่างกุ้ง

ภาษาและวัฒนธรรม[แก้]

ชาวพม่าเชื้อสายมลายู ใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารคือภาษามลายูไทรบุรีหรือมลายูสตูล ที่ใช้ในแถบตะวันตกของประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะที่รัฐเกอดะฮ์และรัฐปะลิส และมีจำนวนหนึ่งใช้สำเนียงเปรัก[3] แต่ในปัจจุบันพวกเขาต้องเรียนรู้ภาษาพม่าควบคู่ไปด้วยเช่นเดียวกับชาวไทยพลัดถิ่น เนื่องจากภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ อย่างไรก็ตามภาษาของพวกเขาก็ได้ทิ้งอิทธิพลไว้กับภาษาพม่าแถบเมืองมะริดที่มีสำเนียงใกล้เคียงกับภาษามลายู โดยวัฒนธรรมของคนที่นี่ยังเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมเมื่อครั้งคริสต์ศตวรรษที่ 15[9] ชาวพม่าเชื้อสายมลายูที่สูงอายุสามารถอ่านอักษรยาวี พูดภาษามลายู และเขียนอักษรอาหรับได้ (ขณะที่มาเลเซียได้หันมาใช้อักษรรูมี) ชาวปะซูส่วนหนึ่งได้ตั้งถิ่นฐานรวมกับชาวไทยมุสลิม[10] มีสมรสข้ามชาติพันธุ์กับมุสลิมกลุ่มอื่น บรรดาวัยรุ่นที่สืบเชื้อสายมลายูส่วนมากได้รับการศึกษาจากสถานศึกษาของรัฐบาลพม่า มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนา ชาวพม่าเชื้อสายมลายูนับถืออิสลามแนวทางซุนนีย์ แต่เป็นมัซฮับซาฟีอี ซึ่งแตกต่างกับมุสลิมกลุ่มอื่นในพม่าที่เป็นมัซฮับฮานาฟี

อ้างอิง[แก้]

  1. "Malays of Myanmar". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-22. สืบค้นเมื่อ 2021-08-28.
  2. University of Texas at Austin, Perry-Castañeda Library, Map Collection, Burma (Myanmar) Maps Thematic Maps: [1]Burma - Ethnolinguistic Groups from Map No. 500425 1972 (169K) [2]
  3. 3.0 3.1 บทที่ 2 พัฒนาการทางสังคมมุสลิมในจังหวัดสตูล, หน้า 25
  4. Imperial Gazetteer of India 8:263
  5. Imperial Gazetteer of India 17: 90-91
  6. Maung-Ko Ghaffari, Yangon, Myanmar’s letter/article, published in the Sun newspaper, Malaysia on May 28, 2007.
  7. เกาะสินไห...ความเป็นไทยที่ถูกละเลย
  8. เกาะสินไห ชุมชนไทยพลัดถิ่น[ลิงก์เสีย]
  9. "aseanfocus.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-07-29. สืบค้นเมื่อ 2010-12-06.
  10. "ที่ตั้งหมู่บ้านคนไทยในพม่า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-09. สืบค้นเมื่อ 2010-12-06.