เอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย
สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส

เอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
ประสูติ5 กรกฎาคม ค.ศ. 1554
เวียนนา ออสเตรีย
สิ้นพระชนม์22 มกราคม ค.ศ. 1592
จักรพรรดินีพระเจ้าชาร์ลที่ 9 แห่งฝรั่งเศส
เอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
พระบุตรมารี เอลีซาเบ็ทแห่งวาลัว
ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค, วาลัว
พระบิดาสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิลเลียนที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
พระมารดามาเรียแห่งสเปน จักรพรรดินีแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

เอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส (อังกฤษ: Elisabeth of Austria) (5 กรกฎาคม ค.ศ. 1554 - 22 มกราคม ค.ศ. 1592) เอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรียเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสในพระเจ้าชาร์ลที่ 9 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1570 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1574

เอลีซาเบ็ทประสูติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1554 ที่เวียนนา ในประเทศออสเตรีย เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิลเลียนที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และมาเรียแห่งสเปน จักรพรรดินีแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อประสูติมีพระอิสริยยศเป็นอาร์คดัชเชสแห่งออสเตรีย

เบื้องต้น[แก้]

เอลีซาเบ็ททรงเจริญพรรษาในราชสำนักในกรุงเวียนนาและทรงได้รับการศึกษาอย่างเคร่งครัดทางโรมันคาทอลิก เพราะความเป็นผู้มีพระสิริโฉมงดงาม มีพระเกศาสีทองทำให้ทรงได้ชื่อว่าเป็นสตรีผู้มีความงดงามที่สุดคนหนึ่งของสมัยนั้น

การเสกสมรสและการเป็นพระราชินีแห่งประเทศฝรั่งเศส[แก้]

เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษาเอลีซาเบ็ทก็เสกสมรสกับพระเจ้าชาร์ลที่ 9 แห่งฝรั่งเศส พระราชโอรสองค์ในพระเจ้าอองรีที่ 2 และ แคทเธอรีน เดอ เมดิชิ[1] เพื่อเป็นการสมานความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์แฮ็บส์เบิร์ก และราชวงศ์วาลัว พระองค์ทรงเป็นคนแรกที่ทรงเสกสมรสโดยฉันทะในเวียนนา โดยมีอัครราชทูตอัลแบร์ต เดอ กองดีเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอองรี หลังจากนั้นก็เสด็จมาแต่งงานอย่างเป็นทางการในปารีสอย่างเป็นพิธีใหญ่โตแม้ว่าจะมีปัญหาทางการเงิน ฉลองพระองค์ทำด้วยเงินและทรงมงกุฎที่ฝังด้วยไข่มุก, มรกต, เพชร และทับทิม

ขณะนั้นพระราชสวามีมีพระสนมอยู่แล้ว คือมารี ทูเชต์ (Marie Touchet) แต่ก็ทรงอุทิศพระองค์ให้เอลีซาเบ็ท ทั้งสองพระองค์มิได้ทรงหลงรักกันแต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์ก็เป็นความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและทรงสนับสนุนซึ่งกันและกัน พระเจ้าชาร์ลทรงทราบว่าข่าวลือต่างๆ ในราชสำนักฝรั่งเศสคงทำให้พระอัครมเหสีตกพระทัยได้ พระองค์จึงทรงพยายามกันเอลีซาเบ็ทจากสิ่งเหล่านั้น เอลีซาเบ็ทยังทรงเข้าทำพิธีมิซซาวันละสองครั้งและทรงประหลาดพระทัยที่ราชสำนักฝรั่งเศสที่อ้างตนเป็นโรมันคาทอลิกมิได้แสดงความนับถือในศาสนาเท่าที่ควร สิ่งหนึ่งที่ทรงปฏิบัติที่เป็นข้อที่เป็นที่ตำหนิกันคือไม่ทรงอนุญาตให้ข้าราชสำนักที่เป็นโปรเตสแตนท์จูบพระหัตถ์เมื่อเข้าเฝ้า

พระเจ้าชาร์ลทรงมีอาการเสียพระสติเป็นพักๆ ซึ่งเป็นอาการที่ต้องซ่อนจากสาธารณชนเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าจะต้องทรงประสบอุปสรรคเช่นที่ว่าแต่เอลีซาเบ็ทก็ทรงครรภ์ พระองค์จึงเสด็จออกจากปารีสไปประทับที่พระราชวังฟงแตนโบล ระหว่างที่ประทับที่นั่นพระองค์ก็ทรงได้ยินข่าวของการสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว[2] [3] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1572 เมื่อชาวฝรั่งเศสที่เป็นโปรเตสแตนท์ถูกสังหารกันเป็นพันในปารีส แม้ว่าจะทรงเกลียดโปรเตสแตนท์แต่เอลีซาเบ็ทไม่เคยทรงแสดงความยินดีอย่างออกนอกหน้าต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับผู้เป็นโรมันคาทอลิกอื่นที่ทำกัน เอลีซาเบ็ททรงให้กำเนิดแก่พระราชธิดามารี-เอลีซาเบ็ทเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1572

พระราชินีหม้าย[แก้]

สองปีต่อมาระหว่างที่ฝรั่งเศสก็เข้าสู่วิกฤตการณ์สงครามการเมืองทางศาสนาอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าชาร์ลที่ 9 ก็เสด็จสวรรคตโดยมีเอลีซาเบ็ทอยู่ข้างพระแท่น หลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปประทับในชนบทโดยไม่ทรงยอมทำตามข้อเสนอของพระราชบิดาในการเสกสมรสกับพระอนุชาของพระสวามีพระเจ้าอองรีที่ 3 แห่งฝรั่งเศส พระองค์ทรงมอบพระราชทรัพย์ครึ่งหนึ่งให้มาร์เกอรีตแห่งวาลัว พระขนิษฐาของพระสวามีผู้ทรงถูกคว่ำบาตรจากพระประยูรญาติ ต่อมาพระองค์ก็ต้องประสบกับความโทมนัสเมื่อพระราชธิดามาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1578 เมื่อมีพระชนมายุเพียง 6 พรรษา เอลีซาเบ็ทสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1592 ที่ขณะนั้นราชวงศ์วาลัวก็สิ้นสุดลงและมาแทนด้วยราชวงศ์ใหม่

อ้างอิง[แก้]

  1. Catherine de' Medici
  2. The Saint Bartholomew's Day Massacre[1] เก็บถาวร 2007-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. Catholic Encyclopedia, Saint Bartholomew's Day[2]