ข้ามไปเนื้อหา

เดอะบีเทิลส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดอะบีเทิลส์
A square quartered into four head shots of young men with moptop haircuts. All four wear white shirts and dark coats.
เดอะบีเทิลส์ในปี ค.ศ. 1964; เรียงตามเข็มนาฬิกาจากมุมบนซ้าย: จอห์น เลนนอน พอล แม็กคาร์ตนีย์ ริงโก สตาร์ และ จอร์จ แฮร์ริสัน
ข้อมูลพื้นฐาน
ที่เกิดลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ
แนวเพลง
ช่วงปี1960–1970
ค่ายเพลง
กลุ่มย่อยพลาสติกโอโนะแบนด์
แยกตัวจากเดอะควอร์รีเมน
อดีตสมาชิก (ดูที่ หัวข้อสมาชิก สำหรับ
สมาชิกคนอื่น ๆ)
เว็บไซต์thebeatles.com

เดอะบีเทิลส์ (อังกฤษ: The Beatles) เป็นวงดนตรีร็อกสัญชาติอังกฤษจากเมืองลิเวอร์พูล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1960 มีสมาชิกประกอบไปด้วย จอห์น เลนนอน, พอล แม็กคาร์ตนีย์, จอร์จ แฮร์ริสัน และริงโก สตาร์ พวกเขาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นวงดนตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาล[1] อีกทั้งยังมีอิทธิพลสำคัญต่อวัฒนธรรมต่อต้านในคริสตทศวรรษที่ 1960 และการนำรูปแบบของเพลงสมัยนิยมไปสู่ความเป็นศิลปะ[2] แนวดนตรีของพวกเขามีรากฐานมาจากแนวเพลงสกิฟเฟิล, บีท และร็อกแอนด์โรลในยุค 1950 ซาวด์ดนตรีของพวกเขาได้รับการพัฒนา โดยมีองค์ประกอบที่ผสมผสานระหว่างแนวดนตรีคลาสสิกและเพลงป็อปท้องถิ่น ถึงอย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเดอะบีเทิลส์ก็ได้แตกแขนงแนวดนตรีของพวกเขาออกไปหลากหลายแนวมากขึ้น ตั้งแต่ดนตรีโฟล์ก ดนตรีอินเดีย ไปจนถึงไซเคเดเลีย และฮาร์ดร็อก เดอะบีเทิลส์ได้ปฏิวัติวัฒนธรรมดนตรีในหลาย ๆ แง่มุม ทั้งในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมการบันทึกเสียงแบบใหม่ ๆ การแต่งเพลง และการนำเสนอแนวเพลงเชิงศิลปะ โดยสื่อมักนำเสนอภาพลักษณ์ของพวกเขาในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ (era's youth) และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคร่วมสมัยของพวกเขาเอง[3]

นักแต่งเพลงหลักของวงคือเลนนอนและแม็กคาร์ตนีย์ เดิมทีเดอะบีเทิลส์เป็นวงที่เปลี่ยนชื่อมาจาก เดอะควอร์รีเมน (the Quarrymen) ซึ่งเป็นวงเก่าของเลนนอน ในช่วงสามปีแรกที่เริ่มก่อตั้งวง พวกเขาเริ่มต้นสั่งสมชื่อเสียงผ่านการเล่นดนตรีในคลับต่าง ๆ ตามเมืองลิเวอร์พูลและฮัมบวร์ค โดยมีสมาชิกแรกเริ่ม ได้แก่ เลนนอน, แม็กคาร์ตนีย์ และ แฮร์ริสัน ที่ร่วมวงกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 สจวต ซัตคลิฟฟ์ ในฐานะมือเบส เสริมด้วย พีท เบสต์ ในฐานะมือกลอง ก่อนที่จะเปลี่ยนสมาชิกไปเป็น ริงโก สตาร์ ในปี ค.ศ. 1962 โดยได้ ไบรอัน เอปสไตน์ มาเป็นผู้จัดการวง อีกทั้งยังมีหัวหอกในการบันทึกเสียงอย่าง จอร์จ มาร์ติน ในฐานะโปรดิวเซอร์ประจำวง ซึ่งพวกเขาต่างก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้วงประสบความสำเร็จภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่พวกเขาเซ็นสัญญากับ อีเอ็มไอเรเคิดส์ (EMI Records) ก็มีเพลงฮิตประสบความสำเร็จโดยทันทีอย่างเพลง "เลิฟมีดู" (Love Me Do) ซึ่งวางจำหน่ายในช่วงปลายปี ค.ศ. 1962 กระแสความนิยมของพวกเขากลายเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "บีเทิลเมเนีย" (Beatlemania) ทางวงเองก็ถูกตั้งชื่อเล่นว่า "เดอะแฟบโฟร์" (the Fab Four) และบางครั้งเอปสไตน์, มาร์ติน หรือบุคคลอื่นที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวง ก็ได้รับการตั้งฉายาอย่างไม่เป็นทางการว่า "เต่าทองคนที่ห้า" (fifth Beatle)

เมื่อถึงต้นปี ค.ศ. 1964 เดอะบีเทิลส์กลายเป็นศิลปินระดับนานาชาติ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในด้านคำวิจารณ์และในเชิงพาณิชย์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขากลายเป็นขุมกำลังสำคัญในการฟื้นคืนวัฒนธรรมอังกฤษไปสู่สากลโลก โดยนำปรากฏการณ์บริติชอินเวชัน (British Invasion) ไปไกลจนถึงตลาดเพลงป็อปของสหรัฐอเมริกา และในเวลาต่อมาไม่นานนักพวกเขาก็ได้เปิดตัวภาพยนตร์ของตนเองเรื่อง อะฮาร์ดเดส์ไนต์ (A Hard Day's Night; 1964) เมื่อสมาชิกภายในวงมองว่าการทัวร์คอนเสิร์ตเป็นอุปสรรคต่อการที่จะต้องใช้เวลาทำเพลงในสตูดิโอบันทึกเสียง ทำให้ในเวลาต่อมาทางวงก็ได้ตัดสินใจยุติการแสดงสดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 เป็นต้นไป ในช่วงเวลานี้เองเดอะบีเทิลส์ก็ได้ผลิตงานดนตรีที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยทำ อาทิเช่น อัลบั้ม Rubber Soul (1965) Revolver (1966) Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (1967) รวมไปถึงอัลบั้มที่มีชื่อเดียวกับวง (หรือที่รู้จักกันในชื่อ "the White Album" จัดจำหน่ายในปี ค.ศ. 1968) และท้ายที่สุด Abbey Road (1969) ความสำเร็จของอัลบั้มเหล่านี้เป็นการประกาศศักดาถึงยุคของอัลบั้มที่การวางจำหน่ายแผ่นเสียงในรูปแบบอัลบั้มได้รับความนิยมมากกว่าการวางจำหน่ายในรูปแบบซิงเกิล นอกจากนั้นผลงานของพวกเขาก็ได้เผยแพร่ความสนใจในเรื่องของยาเสพติดหลอนประสาทและชุดความคิดแบบตะวันออกไปสู่สาธารณชน รวมถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมดนตรีที่เด่นชัดมากขึ้นในยุคดังกล่าว อาทิเช่น ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ การทำปกอัลบั้ม และการผลิตมิวสิกวิดีโอ เป็นต้น ต่อมาในปี ค.ศ. 1968 สมาชิกวงเดอะบีเทิลส์ก็ได้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลคอปส์ (Apple Corps) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่ครอบครองลิขสิทธิ์และควบคุมกิจการทั้งหมดที่เกี่ยวของกับทางวง หลังจากเหตุการณ์วงแตกในปี ค.ศ. 1970 อดีตสมาชิกทุกคนต่างก็ประสบความสำเร็จในเส้นทางของศิลปินเดี่ยวทั้งสิ้น โดยมีการพบปะไปมาหาสู่กันอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเลนนอนถูกฆาตกรรมในปี ค.ศ. 1980 ส่วนแฮร์ริสันเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในปี ค.ศ. 2001 ขณะที่แม็กคาร์ตนีย์และสตาร์ยังคงใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับงานดนตรีอย่างต่อเนื่อง

เดอะบีเทิลส์เป็นวงดนตรีที่มียอดขายสูงที่สุดตลอดกาล โดยมียอดขายประมาณ 600 ล้านหน่วยทั่วโลก[4][5] พวกเขาเป็นกลุ่มศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบิลบอร์ดชาตส์ของสหรัฐอเมริกา (US Billboard charts)[6] โดยครองสถิติตรงที่มีอัลบั้มอันดับหนึ่งมากที่สุดในชาร์ตอัลบั้มแห่งสหราชอาณาจักร (UK Albums Chart) (15) และมีเพลงฮิตอันดับหนึ่งในบิลบอร์ดฮอต 100 ของสหรัฐอเมริกา (US Billboard Hot 100 chart) (20) อีกทั้งยังทำยอดขายซิงเกิลในสหราชอาณาจักรได้เป็นจำนวนมาก (21.9 ล้านหน่วย) เดอะบีเทิลส์ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งแกรมมี (Grammy Awards) 7 รางวัล, บริตอะวอดส์ (Brit Awards) 4 รางวัล, รางวัลออสการ์ (Academy Award) 1 รางวัล (สำหรับสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เล็ตอิตบี ในปี ค.ศ. 1970) และรางวัลอิวอร์โนเวลโล (Ivor Novello Awards) กว่า 15 รางวัล เดอะบีเทิลส์ได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศร็อกแอนด์โรล (Rock and Roll Hall of Fame ) ในปี ค.ศ. 1988 ขณะที่สมาชิกหลักแต่ละคนก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นรายบุคคลแยกต่างหากในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1994 จนถึงปี ค.ศ. 2015 เดอะบีเทิลส์ติดอันดับศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ในนิตยสารโรลลิงสโตน (Rolling Stone) เมื่อปี ค.ศ. 2004 และปี ค.ศ. 2011 นอกจากนั้นนิตยสารไทม์ (Time) ได้ยกย่องให้พวกเขาเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อีกเช่นกัน

ประวัติ

[แก้]

1956–1963: ยุคก่อตั้ง

[แก้]

เดอะควอร์รีเมนกับการเปลี่ยนชื่อวง

[แก้]

ในช่วงประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1956 จอห์น เลนนอน (John Lennon) ในวัย 16 ปี ได้ริเริ่มตั้งวงดนตรีแนวสกิฟเฟิลขึ้นร่วมกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนมัธยมควอร์รีแบงก์ (Quarry Bank High School) เมืองลิเวอร์พูล โดยใช้ชื่อวงว่าเดอะแบล็คแจ็คส์ (the Blackjacks) ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นเดอะควอร์รีเมน (the Quarrymen) แทนในภายหลัง เนื่องจากไปซ้ำชื่อกับวงอื่นที่ใช้ชื่อนี้อยู่ก่อนแล้ว[7] จนกระทั่งพอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) ในวัย 15 ปี ได้พบกับเลนนอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1957 และก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวงในฐานะมือกีตาร์ทำนองในเวลาต่อมา[8] เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1958 แม็กคาร์ตนีย์ได้ชักชวนจอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) ซึ่งขณะนั้นยังอายุเพียงแค่ 15 ปี มาดูการแสดงสดของวงเดอะควอร์รีเมน ตัวแฮร์ริสันเองก็ได้ไปออดิชั่นให้เลนนอนดู ซึ่งเจ้าตัวก็ประทับใจฝีไม้ลายมือของแฮร์ริสันเป็นอย่างมาก แต่เลนนอนเองก็แอบคิดว่าแฮร์ริสันยังเด็กเกินไป จนกระทั่งหนึ่งเดือนต่อมาในระหว่างการพบกันรอบที่สอง (ที่เกิดจากการชักชวนโดยแม็กคาร์ตนีย์) แฮร์ริสันได้เล่นท่อนกีตาร์นำของเพลง "Raunchy" ให้พวกเลนนอนรับชมขณะที่โดยสารอยู่บนรถบัสชั้นสอง[9] ทำให้ทางวงตัดสินใจรับแฮร์ริสันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงในฐานะมือกีตาร์นำ[10][11]

ในช่วงเดือนมกราคม ค.ศ. 1959 เพื่อน ๆ จากโรงเรียนมัธยมควอร์รีแบงก์ของเลนนอนได้ทยอยแยกย้ายออกจากวง เลนนอนได้เริ่มเข้าเรียนที่วิทยาลัยศิลปะลิเวอร์พูล (Liverpool College of Art)[12] โดยที่ยังเหลือสมาชิกเพียงแค่ 3 คน พวกเขาเรียกวงของตัวเองว่าจอห์นนี่แอนด์เดอะมูนด็อกส์ (Johnny and the Moondogs)[13] โดยเน้นเล่นเพลงแนวร็อกแอนด์โรลเป็นหลักหากสามารถหามือกลองมาเป็นสมาชิกวงได้[14] จนกระทั่งในเวลาต่อมาเลนนอนได้ชักชวนสจวต ซัตคลิฟฟ์ (Stuart Sutcliffe) เพื่อนร่วมคณะจากวิทยาลัยศิลปะลิเวอร์พูล ให้นำเงินที่ได้จากการขายภาพวาดไปซื้อกีตาร์เบสแล้วเข้ามาเล่นดนตรีให้กับวง ซัตคลิฟฟ์เข้ามาเป็นสมาชิกวงอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ค.ศ. 1960 เขาแนะนำให้เปลี่ยนชื่อวงไปเป็น Beatals (แปลว่า "เต่าทอง" ในภาษาอังกฤษ) เพื่อเป็นเกียรติแก่วงบัดดี้ ฮอลลีแอนด์เดอะคริกเก็ตส์ (Buddy Holly and the Crickets; แปลว่า "จิ้งหรีด")[15][16] พวกเขาใช้ชื่อนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม แล้วก็เปลี่ยนเป็น Silver Beetles ก่อนที่จะเริ่มออกทัวร์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในประเทศสกอตแลนด์ โดยเล่นเป็นวงแบ็คอัพให้กับศิลปินชื่อจอห์นนี เจ็นเทิล (Johnny Gentle) ในต้นเดือนกรกฎาคมนี้เองที่พวกเขาได้เปลี่ยนชื่อวงเป็น Silver Beatles แล้วก็ไปจบที่เดอะบีเทิลส์ (the Beatles) ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมท้ายที่สุด[17]

แนวดนตรีและวิวัฒนาการ

[แก้]

อนุสรณ์

[แก้]

ผลงานเพลง

[แก้]

เดอะบีเทิลส์มีผลงานเพลง ประกอบไปด้วยสตูดิโออัลบั้ม 13 อัลบั้ม รวมทั้งผลงานซิงเกิลและ อีพีที่จำหน่ายในสหราชอาณาจักร[18][nb 1]

รางวัลและการตอบรับ

[แก้]
  • สมาชิกในวงเดอะบีเทิลส์ (จอห์น พอล ริงโก จอร์จ) ได้รับพระราชทานเกียรติจากควีนเอลิซาเบธที่ 2ให้เป็น MBE (Members of the Order of the British Empire)
  • ภาพยนตร์เรื่อง เลตอิตบี ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาเพลง ที่ดีที่สุดโดยวัดจากคะแนน
  • ได้รับ รางวัลแกรมมีมาทั้งหมด 7 รางวัลด้วยกัน
  • ได้รับ รางวัลอิวอร์ โนเวล ถึง 15 รางวัลด้วยกัน
  • ได้ถูกบรรจุในหอเกียรติยศร็อกแอนด์โรล ปี 1988
  • มีอัลบั้มจำนวน 15 อัลบั้มที่ขึ้นอยู่อันดับหนึ่งใน บริติชชาร์ท
  • ได้รับการยกย่องให้อยู่อันดับ 1 ศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก จากทั้งหมด 100 ของนิตยสารบิลบอร์ด
  • ได้รับการยกย่องจาก นิตยสารไทม์ให้เป็นหนึ่งใน 100 สิ่งสำคัญที่สุดของผู้คนแห่งศตวรรษที่ 20

ใบรับรองยอดการจำหน่ายอัลบั้มในอังกฤษกับสหรัฐ

[แก้]
  • ได้ใบรับรองยอดการจำหน่ายอัลบั้ม ระดับ "เพชร" 6 ใบ
  • ได้ใบรับรองยอดการจำหน่ายอัลบั้ม ระดับ "มัลติ-แพลทินัม" 28 ใบ
  • ได้ใบรับรองยอดการจำหน่ายอัลบั้ม ระดับ "แพลทินัม" 43 ใบ
  • ได้ใบรับรองยอดการจำหน่ายอัลบั้ม ระดับ "ทอง" 53 ใบ [19]
  • ได้ใบรับรองยอดการจำหน่ายอัลบั้ม ระดับ "เงิน" 1 ใบ [20]

สมาชิก

[แก้]

สมาชิกหลัก

สมาชิกยุคแรก

นักดนตรีทัวร์

เส้นเวลา

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. อ้างอิงมาจากหนังสือของ Lewisohn หน้าที่ 201, การควบรวมซิงเกิลและเพลง EP ในอัลบั้ม the Past Masters เดิมทีถูกแบ่งออกมาขายแยกเป็นสองอัลบั้ม ได้แก่ Volumes 1 และ 2 ในปี ค.ศ. 1988 อย่างไรก็ตาม อัลบั้มทั้งสองก็ได้ถูกนำมามัดรวมขายเป็นอัลบั้มเดียวกันในเวลาต่อมา

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งอ้างอิง

[แก้]
  1. Hasted 2017, p. 425.
  2. Frontani 2007, p. 125.
  3. Frontani 2007, p. 157.
  4. Siggins, Gerard (7 February 2016). "Yeah, Yeah, Yeah! Rare footage of the Beatles's Dublin performance". Irish Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 November 2019. สืบค้นเมื่อ 1 December 2017.
  5. Hotten, Russell (4 October 2012). "The Beatles at 50: From Fab Four to fabulously wealthy". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 March 2013. สืบค้นเมื่อ 28 January 2013.
  6. "Greatest of All Time Artists". Billboard. สืบค้นเมื่อ March 21, 2023.
  7. Spitz 2005, pp. 47–52.
  8. Spitz 2005, pp. 93–99.
  9. Miles 1997, p. 47; Spitz 2005, p. 127.
  10. Miles 1997, p. 47.
  11. Lewisohn 1992, p. 13.
  12. Harry 2000a, p. 103.
  13. Lewisohn 1992, p. 17.
  14. Harry 2000b, pp. 742–743.
  15. Lewisohn 1992, p. 18.
  16. Gilliland 1969, show 27, track 4.
  17. Lewisohn 1992, pp. 18–22.
  18. Lewisohn 1988, pp. 200–201.
  19. http://www.riaa.com/goldandplatinumdata.php?table=tblDiamond
  20. http://www.riaa.com/goldandplatinumdata.php?table=tblArtTal

บรรณานุกรม

[แก้]

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]