อุทกภัยในประเทศจีน พ.ศ. 2563

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทกภัยในประเทศจีน พ.ศ. 2563
น้ำท่วมเมืองเก่าต้าทง ในนครถงหลิง กรกฎาคม พ.ศ. 2563
วันที่ต้นเดือนมิถุนายน[1] – ปัจจุบัน
ที่ตั้งหูหนาน เจียงซี กวางสี กุ้ยโจว เสฉวน หูเป่ย์ ฉงชิ่ง อานฮุย เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน และยูนนาน[2][3][4][1]
เสียชีวิตเสียชีวิตหรือสูญหาย >141 คน (13 กรกฎาคม)[5][3]
ทรัพย์สินเสียหาย82.23 พันล้านหยวน (RMB) (12 กรกฎาคม)[6]

นับตั้งแต่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563[1] ฝนตกหนักและต่อเนื่องในฤดูฝนของเอเชียตะวันออกได้นำไปสู่ อุทกภัยในประเทศจีน ในช่วงเดือนมิถุนายน อุทกภัยเกิดขึ้นหลักในภูมิภาคตอนใต้ของจีน ส่งผลกระทบต่อประชากรหลายล้านคน[2] ในเดือนกรกฎาคม มีการคาดการณ์ว่าฝนที่ตกหนักขึ้นกว่าเดิมนั้นจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคทางตอนกลางและตะวันออกของจีน[7] เหตุอุทกภัยนี้ถือว่าเป็นอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่อุทกภัยในประเทศจีนปี พ.ศ. 2541 เป็นอย่างน้อย[8]

กระทรวงจัดการเหตุฉุกเฉินของจีน (应急管理部) ระบุว่า ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน เหตุอุทกภัยนี้ได้ทำให้ประชาชน 744,000 คนจากพื้นที่ทั้งหมด 26 มณฑลของจีนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน และมี 81 รายที่เสียชีวิตหรือสูญหาย[2] ในต้นเดือนกรกฎาคม เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่าผู้อยู่อาศัยจำนวน 20 ล้านคนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนี้ และมี 121 รายที่เสียชีวิตหรือสูญหาย[9] ในวันที่ 13 กรกฎาคม อุทกภัยได้ส่งผลกระทบต่อประชากร 37.89 ล้านคนใน 27 มณฑล เขตปกครองตนเอง และเทศบาลนคร มี 141 รายที่เสียชีวิตหรือสูญหาย และมีบ้าน 28,000 หลังพังถล่ม[5] กระทรวงทรัพยากรน้ำ (水利部) ระบุว่ามีแม่น้ำทั้งหมด 443 สายที่เกิดน้ำท่วม ในจำนวนนี้มี 33 สายที่มีระดับน้ำสูงที่สุดในประวัติศาสตร์[10] จากสถิติของกรมมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ (国家文物局) พบว่าโบราณวัตถุสำคัญทางวัฒนธรรม 76 แห่ง และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมระดับมณฑล 187 แห่งได้รับความเสียหายในระดับต่าง ๆ จากน้ำท่วม[11]

ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบนั้นได้แก่ มณฑลกวางสี มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเสฉวน มณฑลหูเป่ย และฉงชิ่ง[2][4][12] รวมถึงพื้นที่ตอนบนและตอนกลางของแอ่งแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำสาขา น้ำฝนจำนวนมากเริ่มไหลท่วมภูมิภาคตอนล่างของแม่น้ำ ได้แก่ มณฑลอานฮุย มณฑลเจียงซี และมณฑลเจ้อเจียง[1] รวมทั้งมณฑลหูหนาน มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลยูนนาน ก็ได้รับผลกระทบ

สาเหตุ[แก้]

เหตุจากธรรมชาติ[แก้]

เอลนีโญได้ส่งผลให้เกิดอากาศแปรปรวนในหลายส่วนของจีน นักอุตุนิยมวิทยา หู เซี่ยว (胡啸) จากกรมอุตุนิยมวิทยาจีน (中国气象局; CMA) ระบุว่าฝนที่ตกมากกว่าปกตินี้เป็นผลมาจากไอน้ำจำนวนมากที่ระเหยจากมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก[13]

เหตุจากมนุษย์[แก้]

ในปี พ.ศ. 2458 ทะเลสาบต้งถิงมีพื้นที่ 5,000 ตร.กม. (1,900 ตารางไมล์)[14] แต่ในปี พ.ศ. 2543 พื้นที่ของทะเลสาบเหลือเพียง 2,625 ตร.กม. (1,014 ตารางไมล์)[14] เช่นเดียวกับในคริสต์ทศวรรษ 1950 ซึ่งทะเลสาบโผหยางมีพื้นที่ 4,350 ตร.กม. (1,680 ตารางไมล์)[14] แต่ในปี พ.ศ. 2543 เหลือเพียง 3,750 ตร.กม. (1,450 ตารางไมล์)[14] มณฑลหูเป่ย์นั้นเคยถูกเรียกขานว่าเป็น "มณฑลแห่งทะเลสาบนับพัน" (千湖之省)[14] ที่ซึ่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 มีทะเลสาบรวม 1,066 แห่ง[14] แต่ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เหลือเพียง 309 แห่งเท่านั้น[14][15] เนื่องด้วยการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วในประเทศจีน ทะเลสาบจำนวนมากได้ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ทำเกษตรและอยู่อาศัย เพื่อตอบรับกับความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับความต้องการพื้นที่อยู่อาศัย[14] การลดขนาดลงและการหายไปของทะเลสาบเหล่านี้ในพื้นที่ของแม่น้ำแยงซีตอนกลางและตอนล่าง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อุทกภัยเกิดขึ้นรุนแรงขึ้นมาก[15][16][17]

เขื่อนสามผา[แก้]

เขื่อนหลายแห่งในลุ่มแม่น้ำแยงซีใช้ในการควบคุมน้ำท่วม โดยเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดก็คือเขื่อนซานเสียต้าป้า หรือเขื่อนสามผา (三峡大坝) ที่มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 1,000,000 ตารางกิโลเมตร (390,000 ตารางไมล์) ซึ่งถูกสร้างขึ้นไม่เพียงแต่สำหรับการผลิตไฟฟ้าแต่ยังใช้สำหรับการควบคุมน้ำท่วม โดยเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2563 ได้มีการเริ่มปล่อยน้ำในเขื่อนออกมา[18] ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาจีน ระบุว่าการปล่อยน้ำเริ่มในวันที่ 29 มิถุนายน แต่ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าประตูระบายน้ำถูกเปิดขึ้นก่อนหน้านั้นห้าวัน[19] อี๋ชาง (宜昌) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใต้เขื่อน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างกว้างขวางทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการควบคุมน้ำท่วมโดยเขื่อน[20] มีความกังวลว่านครอู่ฮั่นจะถูกน้ำท่วม[4] บริษัทที่จัดการเขื่อนได้กล่าวว่า เขื่อนได้ "ลดความเร็วและขอบเขตของระดับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในตอนกลางและตอนล่างของลุ่มแม่น้ำแยงซี"[21] อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์กล่าวว่า เขื่อน "ไม่ได้ทำในสิ่งที่มันถูกออกแบบมา" และไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงได้[21]

มีการรายงานข่าวอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความปลอดภัยของเขื่อนสามผา โดยเฉพาะจากสื่อของกลุ่มการเมืองพันธมิตรรวมกลุ่มสีเขียว (泛綠聯盟; Pan-Green Coalition) ในไต้หวัน[22] รายงานคาดการณ์การวิบัติของเขื่อนเกิดขึ้นเกือบทุกฤดูร้อนในสื่อของไต้หวัน[23] หนังสือพิมพ์ the Global Times (环球时报) ของรัฐบาลจีนปิดกั้นรายงานเหล่านี้ โดยบอกว่าเขื่อนซานเสียต้าป้า นั้นปลอดภัยสำหรับกรณีฝนตกหนักและ "ไม่เสี่ยงต่อการวิบัติ"[24] สื่อต่างประเทศบางแห่งกระตุ้นว่ามี "การบิดเบือน" ในเรื่องของเขื่อนสามผา[25]

ปฏิบัติการของรัฐบาล[แก้]

รัฐบาลจีนจัดสรรงบประมาณ 309 ล้านหยวน (44.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อบรรเทาภัยพิบัติในภูมิภาคที่ประสบอุทกภัย[5] ในวันที่ 8 กรกฎาคมและ 12 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้สั่งการให้ดำเนินการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ในพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง[26][5][27]

ในตอนเย็นของวันที่ 12 กรกฎาคม มีเจ้าหน้าที่และทหารของกองทัพภาคที่ 71 และกองทัพภาคที่ 72 เดินทางไปที่เมืองจิ่วเจียง (九江) ในมณฑลเจียงซี และเมืองถงหลิง (铜陵) ในมณฑลอานฮุย เพื่อเข้าร่วมในการต่อสู้น้ำท่วมและงานช่วยเหลือฉุกเฉิน[28][29][30] ในตอนเช้าของวันที่ 14 กรกฎาคมมีเจ้าหน้าที่และทหารกว่า 3,700 นายจากกองทัพภาคที่ 73 เร่งรีบไปยังเขตอำเภอหยูกาน (余干县) ของมณฑลเจียงซี เพื่อสู้กับอุทกภัยและรับมือกับเหตุฉุกเฉิน[28][29][30] และในวันเดียวกันตามคำสั่งของคณะกรรมาธิการทหารกลาง เจ้าหน้าที่และทหารกว่า 16,000 คนถูกส่งไปยังเมืองจิ่วเจียง, เมืองชั่งเหรา (上饶) และพื้นที่อื่น ๆ ของมณฑลเจียงซีเพื่อต่อสู้กับน้ำท่วม[28][29][30] เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 19 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ของกองบัญชาการยุทธบริเวณกลาง (中部战区) มาถึงนครอู่ฮั่นเมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ตอนกลางของจีน เพื่อควบคุมสถานการณ์น้ำท่วมและบรรเทาภัยพิบัติ[31]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Yu Zeyuan (9 กรกฎาคม 2020). "Floods in China: Can the Three Gorges Dam weather 'once-in-a-century massive floods in the Yangtze River'?". Think China. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Linda Lew (27 มิถุนายน 2020). "After coronavirus, flooding hits southern China with 14 million affected". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2020.
  3. 3.0 3.1 Raymond Zhong (3 กรกฎาคม 2020). "Severe Floods in China Leave Over 106 Dead or Missing". New York Times. สืบค้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2020.
  4. 4.0 4.1 4.2 "More Chinese regions brace for floods as storms shift east". Reuters. 29 มิถุนายน 2020. สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2020.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "433 rivers exceed alerting levels in flood-hit China since June". cgtn.com. 13 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2020.
  6. 薄晨棣 (10 กรกฎาคม 2020). "防汛抗洪形势严峻 国家防总专题研判会商抢险救灾工作". 人民网. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020.
  7. "More Chinese regions brace for floods as storms shift east". CNA. 27 มิถุนายน 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2020.
  8. Evelyn Cheng (14 กรกฎาคม 2020). "Floods and the coronavirus create more uncertainty for China as food prices climb". cnbc.com. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
  9. "China's flood defence network put to the test as it braces for more storms". South China Morning Post. 6 กรกฎาคม 2020.
  10. Nectar Gan (14 กรกฎาคม 2020). "China has just contained the coronavirus. Now it's battling some of the worst floods in decades". CNN. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
  11. "Live updates: 23.85 mln affected since July as floods batter S. China". cgtn.com. 20 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020.
  12. "China – Over 1 Million Affected by Floods in Hubei". FloodList. 30 มิถุนายน 2020. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2020.
  13. Li Lei, Li Hongyang (2 กรกฎาคม 2020). "Warning renewed for torrential rains". Chinadaily. สืบค้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2020.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 14.7 Shen Xubin (谌旭彬) (14 กรกฎาคม 2017). 五十年代至今,中国有多少湖泊死去?. qq.com (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
  15. 15.0 15.1 湖北湖泊面积五十年消失过半,加剧洪涝灾害. 163.com (ภาษาจีน). 15 กรกฎาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
  16. Hua Chunhao (华纯皓), บ.ก. (14 กันยายน 2016). 武汉发布首部抗洪救灾白皮书 填湖建房是城市内涝祸首. Hubei government (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.[ลิงก์เสีย]
  17. Dai Yuxi (戴玉玺), บ.ก. (8 กรกฎาคม 2016). 武汉渍水围城背后的填湖史. Beijing News (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
  18. Keoni Everington (30 มิถุนายน 2020). "China admits to 'floodwater discharge' from Three Gorges Dam". Taiwan News. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2020.
  19. Keoni Everington (13 กรกฎาคม 2020). "Satellite images show Three Gorges Dam opening all floodgates". Taiwan News. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2020.
  20. Keoni Everington (29 มิถุนายน 2020). "Flooding below China's Three Gorges raises questions about dam". Taiwan News. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2020.
  21. 21.0 21.1 David Stanway (14 กรกฎาคม 2020). "Record Floods Raise Questions About China's Three Gorges Dam". U.S. News & World Report. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2020.
  22. 汪葛雷 (8 กรกฎาคม 2020). "成日詛咒三峽大壩 覺青真是窩囊". China Times. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020.
  23. 台海网 (8 กรกฎาคม 2020). "我们对着台媒这个三峡大坝报道已经笑了一晚上了". Sina. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020.
  24. Wan Lin (22 มิถุนายน 2020). "Three Gorges Dam 'not at risk of collapse,' safe for heavy rainfall: experts". Global Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2020.
  25. Shan Jie, Zhao Juecheng (20 กรกฎาคม 2020). "Authorities answer to refute misunderstandings, rumors on Three Gorges Dam". Global Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020.
  26. 李克强部署防汛救灾:各级防汛责任人要下沉一线. gov.cn (ภาษาจีน). 10 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2020.
  27. Liu Pai (刘湃) (12 กรกฎาคม 2020). 习近平对进一步做好防汛救灾工作作出重要指示 要求压实责任 勇于担当 深入一线 靠前指挥 尽最大努力保障人民群众生命财产安全. chinanews.com (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2020.
  28. 28.0 28.1 28.2 2.9万余名官兵奋战抗洪一线,全力守护人民生命财产安全. thepaper.cn (ภาษาจีน). 15 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2020.
  29. 29.0 29.1 29.2 Yue Huairang (岳怀让) (15 กรกฎาคม 2020). 东部战区陆军下辖三大集团军均已派官兵增援抗洪一线. ifeng.com (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2020.
  30. 30.0 30.1 30.2 Chen Li (陈利); Zhou Yuan (周远); Wu Min (吴敏) (15 กรกฎาคม 2020). 紧急驰援!2.9万余名官兵、5000余名民兵战斗在抗洪一线. Sohu (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2020.
  31. 中部战区派出前指,一线指挥驻鄂部队投入抗洪抢险任务. qq.com (ภาษาจีน). 19 กรกฎาคม 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]