ข้ามไปเนื้อหา

สุรินทร์ ภาคศิริ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุรินทร์ ภาคศิริ
ชื่อเกิดชานนท์ ภาคศิริ
รู้จักในชื่อทิดโส สุดสะแนน
เกิด18 ธันวาคม พ.ศ. 2485
อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
เสียชีวิต24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 (79 ปี)[1]
แนวเพลงเพลงลูกทุ่ง  · หมอลำ
อาชีพนักแต่งเพลง  · นักดนตรี  · นักเขียน  · กวี
ช่วงปีพ.ศ. 2506 – 2565 (59 ปี)

สุรินทร์ ภาคศิริ เป็นศิลปินมรดกอีสาน (ประพันธ์เพลง) ประจำปี พ.ศ. 2551[2] เป็นนักแต่งเพลงในแนวเพลงลูกทุ่งอีสานที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศไทย[3][4] เป็นที่รู้จักจากเพลง หนาวลมที่เรณู[5][6] ขับร้องโดยศรคีรี ศรีประจวบ อีสานลำเพลิน[6] ขับร้องโดยอังคนางค์ คุณไชย และ วอนลมฝากรัก ขับร้องโดยบุปผา สายชล และยังมีผลงานประพันธ์เพลงให้นักร้องลูกทุ่งอีกเป็นจำนวนมาก และยังเป็นพิธีกร และที่ปรึกษาของรายการสารพันลั่นทุ่ง (บางเขน) ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ประวัติ

[แก้]

สุรินทร์ ภาคศิริ มีชื่อเกิดว่า ชานนท์ ภาคศิริ เกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ที่ตำบลกุดเชียงหมี อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันแยกตัวออกมาเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนอำนาจเจริญ เมื่อ พ.ศ. 2503 [7]

เขามีพรสวรรค์ด้านการประพันธ์เพลงและร้อยแก้วต่างๆ มาตั้งแต่เยาว์วัย เนื่องจากเขาได้มีโอกาสเรียนรู้จากคณะละครอุลิตราตรีศิลป์และคณะเทพศิลป์ 2 ซึ่งไปทำการแสดงที่บ้านเกิดของเขาขณะเขากำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นเขาจึงเริ่มแต่งคำประพันธ์ นิยาย เรื่องสั้น และยังแต่งเพลงเชียร์กีฬาให้กับทางโรงเรียนอีกด้วย[7]

การเสียชีวิต

[แก้]

สุรินทร์ ได้ล้มป่วยและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล กระทั่งจากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[8]

เส้นทางนักแต่งเพลง

[แก้]

เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สุรินทร์ได้มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครเพื่อทำตามความฝันเนื่องจากมีอุปสรรคและขาดโอกาสการศึกษาต่อจึงไปอยู่ที่วัดนรนารถสุนทริการามโดยได้รับความช่วยเหลือจากพระที่วัดดังกล่าว ระหว่างนี้เขาได้ฝึกการเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงจนกระทั่งไปฝากตัวเป็นศิษย์ของก.แก้วประเสริฐ จากนั้นก็ไปสอบเข้าเป็นข้าราชการประจำกรมราชทัณฑ์[7] ทำให้เขาไม่ได้มีผลงานด้านการร้องเพลงอีก เขามุ่งกับงานราชการประกอบกับเป็นนักแต่งเพลงจึงทำให้เขาได้มีโอกาสประพันธ์เพลงให้กับนักร้องลูกทุ่งในสมัยนั้น โดยผลงานชิ้นแรกคือ คนขี้หึง ขับร้องโดยชื่นกมล ชื่นฤทัย ต่อด้วย คนขี้งอน ขับร้องโดยไพรวัลย์ ลูกเพชร ตามด้วย เมษาอาลัย และ เต้ยเกี้ยวสาว ตามลำดับ หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานแต่งเพลงให้กับศิลปินท่านอื่นอีกมากมาย อาทิ สายัณห์ สัญญา ยอดรัก สลักใจ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ไพรินร์ พรพิบูลย์ สนธิ สมมาตร กาเหว่า เสียงทอง ศรคีรี ศรีประจวบ ชาย เมืองสิงห์ รอยัลสไปรท์ ศรชัย เมฆวิเชียร ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ดาว บ้านดอน บรรจบ​ เจริญ​พร เอ๋ พจนา เป็นต้น[6]

ใน พ.ศ. 2534 เขาได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 จากเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ ขับร้องโดยศักดิ์สยาม เพชรชมภู[7]

ตัวอย่างผลงานประพันธ์เพลง

[แก้]

และเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย

รายการวิทยุ

[แก้]
  • ทิดโสโปข่าว

รางวัล

[แก้]
  • พ.ศ. 2534 - รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2
  • พ.ศ. 2551 - ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (ประพันธ์เพลง) ประจำปี พ.ศ. 2551 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อาลัย ‘สุรินทร์ ภาคศิริ’ ครูเพลงลูกทุ่งอีสาน จากไปในวัย 79 ปี
  2. ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน - สุรินทร์ ภาคศิริ - Google Sites
  3. สุรินทร์ ภาคศิริ จากเว็บไซต์นิตยสารทางอีศาน
  4. แผ่นเสียงแห่งชีวิต ครูเพลงสุรินทร์ ภาคศิริ
  5. ‘ครูสุรินทร์’ ฟันธง ! หมดยุคลูกทุ่งรวมศูนย์
  6. 6.0 6.1 6.2 นายสุรินทร์ ภาคศิริ จาก IsanGate - ประตูสู่อีสานบ้านเฮา
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 ศิลปินมรดกอีสาน 2551 สุรินทร์ ภาคศิริ (ประพันธ์เพลง)
  8. กรุงเทพธุรกิจ: อาลัย "สุรินทร์ ภาคศิริ" นักแต่งเพลงชั้นครู จากไปในวัย 79 ปี
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๖๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๔๒, ๒๓ เมษายน ๒๕๓๓
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๕๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐๕, ๙ ธันวาคม ๒๕๓๐
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๑๑๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖๖, ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๔