ข้ามไปเนื้อหา

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศักดิ์ศรี ศรีอักษร
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด12 มิถุนายน พ.ศ. 2480
ศักดิ์ศรี ศรีอักษร
จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศสยาม
เสียชีวิต15 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 (67 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสพิพัฒน์​ บริบูรณ์​
อาชีพนักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2500-พ.ศ. 2510 (10 ปี)
ผลงานเด่นผู้ใหญ่ลี
กระถินบนกระถาง

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (12 มิถุนายน พ.ศ. 2480 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2548) เป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงรุ่นเก่าชาวไทย มีผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่เพลง "ผู้ใหญ่ลี"

ประวัติและการศึกษา

[แก้]

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เกิดที่ย่านวัดป่าน้อย หรือวัดมณีวนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2480 จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวิไลพัฒนา พ่วงท้ายด้วยตำแหน่งเทพี งานแห่ต้นเทียนพรรษา

จบการศึกษาจากอุบลฯ "ศักดิ์ศรี" เข้ากรุงเทพฯ มาเป็นครูอนุบาลอยู่พักหนึ่ง เมื่อทราบว่าครู ไพบูลย์ บุตรขัน ลงประกาศแจ้งความต้องการรับสมัครนักร้อง เพื่อคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง เธอจึงไปสมัคร และโชว์การร้องเพลง ร้องหมอลำ และการฟ้อน เพื่อเอาชนะใจครู[1][2]

เข้าวงการ

[แก้]

ในที่สุด ครูไพบูลย์ก็ให้เธอไปฝึกร้องเพลงอยู่กับ พิพัฒน์ บริบูรณ์ สักระยะหนึ่ง ซึ่ง "พิพัฒน์" นั้น เป็นหุ้นส่วนในการสร้างนักร้องกับครู และในระหว่างรอการบันทึกแผ่นเสียง ความสัมพันธ์ระหว่างสาวอุบลฯ กับนักธุรกิจทำแผ่นเสียงก็สุกงอมถึงขั้นแต่งงานกัน

ปี 2500 "ศักดิ์ศรี" บันทึกเสียงเพลงชุดแรก 3 เพลง คือ "กระถินบนถระถาง" "เหนือฟ้าฝั่งโขง" และ "สาวฝั่งโขง" ซึ่งเป็นผลงานของครูไพบูลย์ และหลังจากนั้นเธอก็เดินสายร้องเพลงไปกับวงดนตรี พิพัฒน์ บริบูรณ์

ระหว่างเดินสายร้องเพลง สองสามีภรรยาได้เก็บประสบการณ์จากการแสดงลำกลอน ซึ่งมีนำเอาเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ "ลี" มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมาเล่นล้อเลียน ทำให้พิพัฒน์นำพล็อตนี้มาเขียนเป็นเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ในภายหลัง

จากปี พ.ศ. 2502-พ.ศ. 2504 ทุกครั้งที่วงพิพัฒน์ บริบูรณ์ เปิดวิกทำการแสดงที่ใด "ศักดิ์ศรี" ก็จะออกมาร้องเพลง "ผู้ใหญ่ลี" และได้รับการตอบรับจากแฟนกันล้นหลาม โดยเฉพาะข้าราชการสายปกครองที่ถูกพูดในเนื้อหาของเพลงดังกล่าว

เมื่อหยั่งกระแสจนมั่นใจแล้ว พิพัฒน์จึงให้ภรรยาบันทึกแผ่นเสียงเพลง "ผู้ใหญ่ลี" และตัวเขาใช้นามปากกา "อิง ชาวอีสาน" ในการแต่งคำร้อง ตอนแรกเขาสั่งตัดแผ่นออกขาย 300 แผ่น ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว

ความโด่งดังของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ทำให้ไนต์คลับชื่อดังของกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ "ศักดิ์ศรี" ได้เข้าไปร้องขับกล่อมแขกเหรื่อ ไม่ว่าจะเป็น "มอนติคาร์โล" "แมนดาริน" และ "โลลิต้า"

นอกจากนี้ นักร้องสาวชาวอุบลฯ ก็ได้รับเป็นนางเอกหนังไทยให้กับ "อุษาฟิล์ม" ในปี 2507 เรื่อง "ลูกสาวผู้ใหญ่ลี" โดยเธอแสดงเป็นลูกสาวผู้ใหญ่ลี และ ดอกดิน กัญญามาลย์ รับบทเป็น "ผู้ใหญ่ลี"

หลายปีต่อมา กระแสผู้ใหญ่ลีซาความนิยมลง พิพัฒน์ก็ได้เปลี่ยนทำนองเพลงโดยใช้จังหวะวาทูซี่ ชื่อเพลง "ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่" และศักดิ์ศรีเป็นผู้ขับร้องเช่นเคย และอีกไม่กี่ปีถัดมา ถึงจุดอิ่มตัวของชีวิตการร้องเพลง พิพัฒน์และศักดิ์ศรีจึงยุบวงดนตรี[3][4]

บั้นปลาย

[แก้]

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ในวัย 68 ปี เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตและโรคชราเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยครอบครัวได้นำศพไปประกอบพิธีที่วัดสะพานใหม่ดินแดน ฌาปนกิจในวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เวลา 16.00 น.[5][6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ชีวประวัติ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร[ลิงก์เสีย]
  2. ปิดตำนานคนร้อง "ผู้ใหญ่ลี" ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ชาวอุบลฯ - คม ชัด ลึก
  3. ชีวประวัติ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร[ลิงก์เสีย]
  4. ปิดตำนานคนร้อง "ผู้ใหญ่ลี" ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ชาวอุบลฯ - คม ชัด ลึก
  5. ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เสียชีวิตแล้ว[ลิงก์เสีย]
  6. ผู้ใหญ่ลี ตายแล้ว จาก Linkเก็บถาวร 2016-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน