สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ThaiHealth Promotion Foundation | |
ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ | |
ภาพรวมสำนักงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 |
ประเภท | องค์การมหาชน |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 99/8 ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 |
งบประมาณต่อปี | 4,314 ล้านบาท (พ.ศ. 2567)[1] |
ฝ่ายบริหารสำนักงาน |
|
ต้นสังกัดสำนักงาน | สำนักนายกรัฐมนตรี |
ลูกสังกัดสำนักงาน | |
เว็บไซต์ | www |
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ชื่อย่อ: สสส.) เป็นหน่วยงานของรัฐ มีสถานะเป็นองค์การมหาชน[2] ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 [3] เพื่อเป็นองค์กรหลัก ซึ่งทำหน้าที่ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โดยมุ่งหมายให้คนไทย มีสุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดี ด้วยการกระตุ้นให้เกิด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความเชื่อ และสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อคุณภาพชีวิต อันจะช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย
ทั้งนี้ งบประมาณ สสส. มาจากการรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบ และสุรา โดยเป็นการจัดเก็บส่วนเพิ่มในอัตรา 2% ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ซึ่งการออกกฎหมายให้จัดเก็บเงินเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะโดยตรงเช่นนี้ เป็นหนึ่งในกลไกจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ ที่ถูกออกแบบให้ประเทศไทยมีงบประมาณเพื่อการลงทุนด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง [4]
สสส.ถือเป็นองค์กรด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับมติของสมัชชาสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (World Health Assembly Resolution 12.8 : Health Promotion and Health Life-Style) ขององค์การอนามัยโลก (WHO)
วิสัยทัศน์
ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี
พันธกิจ
จุดประกาย กระตุ้น สาน และ เสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ
พัฒนาก้าวสำคัญ
ปี 2545
- คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรก และอนุมัติให้ใช้งบประมาณเท่าที่จำเป็นในวงเงิน 9.5 ล้านบาท
ปี 2546
- ร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน
- ผลักดันมติคณะรัฐมนตรี ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเวลา 22.00 น. ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และป้ายโฆษณาใกล้สถานศึกษาเป็นผลสำเร็จ
- รณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ปีแรกมีผู้งดดื่ม ร้อยละ 40.4 ประชาชน ร้อยละ 84.7 รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้
- คณะรัฐมนตรี มีมติให้ขยายเวลาออกอากาศของวิทยุโทรทัศน์ให้มีรายการเพื่อเยาวชนและครอบครัวในช่วงเวลาหลัก (prime time) เป็นผล
ปี 2547
- กระทรวงสาธารณสุขปรับเปลี่ยนคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นรูปภาพ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 25 มีนาคม 2548 องค์การอนามัยโลกเชิญ สสส.เป็นที่ปรึกษาให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในการจัดตั้งองค์กรลักษณะเดียวกัน
- โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา มีผู้งดดื่มเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 48.9 และประชาชน ร้อยละ 84.1 รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ ประชาชน 229,979 คนร่วมลงนามปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เห็นชอบประกาศห้ามเติมน้ำตาลในนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก
- การแข่งขันกีฬาระดับชาติทุกรายการประกาศ ตัวเป็น "กีฬาปลอดแอลกอฮอล์" และ 14 สมาคมกีฬายุติการรับทุนอุปถัมภ์จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนลดลง โดยในปี 2547 มีผู้ดื่ม ร้อยละ 32.7 ลดลงจากปี 2546 ที่มีจำนวนผู้ดื่ม ร้อยละ 38.6
- ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขายสำเร็จ และมีผลบังคับใช้เป็นประเทศที่ 3 ในโลก
- ภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอัตราเพิ่มอย่างต่อเนื่องเปลี่ยนเป็นอัตราลดลงในปีงบประมาณ 2548 ขณะที่ภาษีสรรพสามิตยาสูบลดลง ร้อยละ 6.8 โดยอัตราภาษียังคงเดิม
- ผลักดันให้การทำสุหนัตของเด็กชายไทยเข้าอยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- ร่วมสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดทั้งการจำหน่ายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ
- ร่วมผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายเพิ่มชั่วโมงพลศึกษาในหลักสูตรจากสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เป็น 2 ชั่วโมง
- สื่อโฆษณารณรงค์ของสสส. ได้รับรางวัลดีเด่นจากการตัดสินผลงานโฆษณาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศรวม 26 รางวัล
ปี 2549
- คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดวาระหลักประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในปีแรกใช้ประเด็น “60 ปี 60 ล้านความดีเริ่มที่เยาวชน”
- สนับสนุนให้สถานที่ราชการเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยดำเนินงานในหน่วยราชการนำร่อง 29 หน่วยงาน
- เปิดตัวสถานีโทรทัศน์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว "ETV " ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตามโรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 20,000 แห่ง และครอบครัวที่เปิดรับเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 2 ล้านครัวเรือน
ปี 2550
- ร่วมผลักดันให้มีการประกาศนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 10 เรื่อง ดังนี้
- คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่ให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ต่อสุขภาวะของสังคม
- คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีวาระเด็กและเยาวชน ปี 2550 เพื่อให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนใน 5 ประเด็นและให้ 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
- กรมประชาสัมพันธ์กำหนดแนวทางให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ดำเนินการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อวิทยุโทรทัศน์
- กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายห้ามแจกตัวอย่างนมผสมแก่ทารกหลังคลอดในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประกาศนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม
- มหาเถรสมาคมมีมติให้วัดทุกวัดทั่วประเทศจัดงานเทศกาลและงานต่าง ๆ ในวัด โดยปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กองทัพไทยมีนโยบายและแผนแม่บทการสร้างเสริมสุขภาพกำลังพล โดยให้ทุกเหล่าทัพจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับแผนแม่บทและให้มีการดำเนินการตามแผน
- คณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมการตลาดขนมเด็ก
- รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 61 เรื่องการตั้งองค์การอิสระผู้บริโภคและในมาตรา 30 และ 54 เรื่องสิทธิผู้พิการ
- สำนักงาน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประกาศมาตรฐานตู้ทำน้ำเย็นและห้ามโรงเรียนใช้ตู้ทำน้ำเย็นที่บัดกรีด้วยตะกั่ว
ปี 2551
- ร่วมสร้าง นโยบาย กฎหมาย และมาตรการ สร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ และระดับท้องถิ่น 36 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นนโยบายด้านการลดปัจจัยเสี่ยงหลัก ที่ผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 (ตุลาคม 2550 - กันยายน 2551) จำนวน 19 เรื่อง
- ระบบบริการเพื่อสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรูปของศูนย์ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ และระบบบริการบำบัดของภาครัฐ เอกชน และชุมชน ได้รับการพัฒนาสมรรถนะสู่การให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศ
- ผลงานศึกษาวิจัยด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ สสส. สนับสนุน เพิ่มขึ้นจาก 40 เรื่อง ในปี พ.ศ. 2550 เป็น 168 เรื่อง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า ศูนย์วิจัยเรื่องยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ที่ สสส. สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น ได้ร่วมมีบทบาทในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อนำเสนอข้อมูลใหม่ด้านการป้องกันปัจจัยเสี่ยงหลักทั้ง 3 เรื่อง ดังกล่าวขึ้นเป็นประจำทุกปี
- เครือข่ายสนับสนุนการลดปัจจัยเสี่ยงหลักทั้ง 4 ประการ ขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น และได้รับการพัฒนาสมรรถนะให้เป็นผู้เฝ้าระวังความเสี่ยง และผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
- การรณรงค์เพื่อสร้างกระแสสังคมและค่านิยมสนับสนุนการลดปัจจัยเสี่ยงหลักทั้ง 4 ประการ ดำเนินต่อเนื่องโดยผ่านสื่อทุกแขนงตลอดทั้งปี
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ปี 2559
- นายแพทย์ วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการคนที่สอง
- นายแพทย์ คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
- ดร. สุวรรณี คำมั่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการพัฒนาชุมชน
- นาย วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสื่อสารมวลชน
- รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการ ด้านการกีฬา
- นาย สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านศิลปวัฒนธรรม
- นาย สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการบริหาร
ปี 2560
คณะกรรมการมีผล 17 ตุลาคม 2560 [5]
- นายแพทย์ วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการคนที่สอง
- นายแพทย์ คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
- นาย พิทยา จินาวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการพัฒนาชุมชน
- นาย วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสื่อสารมวลชน
- นาง ทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการศึกษา
- รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการกีฬา
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านศิลปวัฒนธรรม (ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2566)[6]
- นาย ไพโรจน์ แก้วมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย
- นาย สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการบริหาร
ปี 2567
คณะกรรมการมีผล 27 เมษายน 2567 [7]
- นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
- นายแพทย์ สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการคนที่สอง
- รองศาสตราจารย์ ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
- นาย พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการพัฒนาชุมชน
- นาย วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสื่อสารมวลชน
- รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการศึกษา
- นาง ประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการกีฬา
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านศิลปวัฒนธรรม
- นาย เสรี นนทสูติ ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านกฎหมาย
- นาย สัมพันธ์ ศิลปนาฏ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการบริหาร
โครงสร้างองค์กร
ด้านนโยบายและการกำกับดูแล
ด้านนโยบายและการกำกับดูแล ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
- คณะกรรมการกองทุน มีบทบาทควบคุมดูแลการดำเนินกิจการกองทุนในระดับนโยบายและกำหนดงบประมาณในภาพรวม รวมทั้งออกกฎระเบียบข้อบังคับที่สำคัญในการดำเนินงาน
- คณะอนุกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งขึ้นเพื่อมอบหมายงาน ได้แก่
- คณะกรรมการบริหารแผน ปัจจุบันมี 7 คณะ มีบทบาทในการพัฒนาแผน กำกับดูแลให้การดำเนินงานตามแผนแต่ละด้านที่รับผิดชอบบรรลุเป้าหมาย
- คณะอนุกรรมการเฉพาะด้าน ได้แก่ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการตรวจสอบภายใน คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาสำนักงานกองทุน คณะอนุกรรมการนโยบายทางการเงิน คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะอนุกรรมการสารสนเทศ คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น
ด้านการประเมินผลการดำเนินงาน
ดำเนินการโดย คณะกรรมการประเมินผล ซึ่ง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มาตรา 38 ให้มีอำนาจหน้าที่ประเมินผลด้านโยบายและการกำหนดกิจการของกองทุน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน รายงานผลพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการประเมินผลจึงมีความอิสระจากคณะกรรมการกองทุนฯ มีบทบาทในการ ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนในภาพรวม ทั้งด้านนโยบาย ด้านผลกระทบต่อสังคม และด้านการบริหารจัดการ อันจะเป็นหลักประกันความรับผิดชอบของ สสส.ต่อสาธารณะ (public accountability)
ด้านการบริหารจัดการให้เกิดผลตามนโยบาย
- ผู้จัดการกองทุน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ [8] เป็นผู้บริหารสูงสุดและเป็นผู้จัดการกองทุนในปี พ.ศ. 2567
- รองผู้จัดการกองทุน
- ผู้อำนวยการสำนัก และเจ้าหน้าที่ มีบทบาทหน้าที่ในการนำนโยบายมาดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์การสนับสนุนภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมพัฒนาและดำเนินกิจกรรม ตลอดจนการพัฒนาระบบและวิธีปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถของบุคลากร และภาคีเครือข่าย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้ และรวบรวมจัดเก็บบทเรียน ผลงานวิชาการ รวมทั้งเผยแพร่และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความรู้ดังกล่าว เพื่อเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ขององค์กร
ด้านการดำเนินงานให้เกิดผลตามเป้าหมาย
ดำเนินการโดย ภาคีเครือข่าย ซึ่งแม้กฎหมายจะไม่ระบุโดยตรงว่าเป็นโครงสร้างของ สสส. แต่ภาคีเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นผู้ปฏิบัติงานที่แท้จริงของโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายยังมีบทบาทในการร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ ร่วมพัฒนาอย่างกัลยาณมิตร และร่วมลงทุนในบางกรณีด้วยเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายซึ่งมีประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์สุดท้ายร่วมกัน
การตรวจสอบการทุจริต
คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ได้แจ้งจุดประสงค์ที่จะตรวจสอบการทุจริตส่งผลให้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เปิดแถลงข่าวเพื่อประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการ สสส. โดยจะยื่นหนังสือลาออกให้กับคณะกรรมการ สสส. ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง[9] ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการใหม่ทั้งหมดจำนวน 7 ราย ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 [10]
- รองศาสตราจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการ
- รองศาสตราจารย์ ปาริชาติ วลัยเสถียร กรรมการ
- รองศาสตราจารย์ นภาภรณ์ หะวานนท์ กรรมการ
- นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช กรรมการ
- ศาสตราจารย์ วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการ
- นายมนัส แจ่มเวหา กรรมการ
ต่อมามีการคำสั่งให้กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 รายพ้นสภาพจากตำแหน่ง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2559[11]
- นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน
- นายสงกรานต์ ภาคโชคดี
- นายเอ็นนู ชื่อสุวรรณ
- นายยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
- นายสมพร ใช้บางยาง
- รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม[12]
- นายวิเชียร พงศธร
ทั้งหมดพ้นสภาพในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559
อ้างอิง
- ↑ [1]
- ↑ องค์การมหาชนที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. เฉพาะ
- ↑ [2]
- ↑ [3]
- ↑ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2560
- ↑ มติครม. 23 พฤษภาคม 2566
- ↑ คณะกรรมการ
- ↑ [4] เก็บถาวร 2012-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ “กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” ลาออกจากผู้จัดการ สสส. หลีกทาง คตร. ตรวจสอบ ยันไม่มีการทุจริต
- ↑ การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการใหม่ทั้งหมดจำนวน 7 ราย
- ↑ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2559
- ↑ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 52/2559