สงคราม
สงคราม (อังกฤษ: war; สันสกฤต: संग्राम) หรือในกฎหมายระหว่างประเทศใช้คำว่า การขัดกันทางอาวุธ (armed conflict) คือสถานะความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างหน่วยทางการเมืองที่ดำรงอยู่เป็นอิสระ (เช่น รัฐชาติ รัฐบาลและตัวแสดงที่มิใช่รัฐ) หรือแนวร่วมขององค์การดังกล่าว โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นการรุกรานที่มีการใช้ความรุนแรง การทำลายล้างและมีอัตราเสียชีวิตในระดับสูงหรือในระดับอุกฉกรรจ์ กำลังทหารที่ใช้มีทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ
นักวิชาการบางส่วนมองว่าการสงครามเป็นสากลและเป็นส่วนที่สืบมาแต่บรรพชนของธรรมชาติมนุษย์[1] แต่บางส่วนก็แย้งว่าสงครามเป็นเพียงผลลัพธ์แห่งกรณีแวดล้อมทางสังคม-วัฒนธรรมหรือระบบนิเวศเฉพาะ[2]
ในปี 2003 ริชาร์ด สมอลลีย์ (Richard Smalley) ระบุว่าสงครามเป็นปัญหาใหญ่สุดอันดับหก (จากสิบ) ที่มนุษยชาติจะเผชิญในอีกห้าสิบปีข้างหน้า[3] ปกติสงครามส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศเสื่อมลงอย่างมีนัยสำคัญ รายจ่ายสังคม (social spending) ลดลง ทุพภิกขภัย การอพยพออกขนานใหญ่จากพื้นที่สงคราม และมีการทารุณกรรมพลเรือนบ่อยครั้ง[4][5][6]
รายชื่อสงครามที่สำคัญในประวัติศาสตร์
[แก้]- สงครามครูเสด
- สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง
- สงครามโลก
- สงครามเย็น
- สงครามอ่าว
- สงครามต่อต้านการก่อการร้าย
- สงครามอิรัก
- สงครามรัสเซีย–ยูเครน
ประวัติศาสตร์
[แก้]ก่อนหน้าที่จะมีความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ สงครามประกอบไปด้วยการจู่โจมอย่างรวดเร็วขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น พบว่าชาวนูเบียประมาณ 12,000 ปีที่แล้ว ครึ่งหนึ่งเสียชีวิตเพราะความรุนแรง จนกระทั่งเมื่อถึงยุคการปกครองแบบรัฐเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว กิจการทหารได้แพร่ขยายไปทั่วโลก การคิดค้นดินปืนและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้นำไปสู่การรบสมัยใหม่ในที่สุด
ในหนังสือเรื่อง Why Nations Go to War โดย จอห์น จี. สโทสซิงเกอร์ ได้กล่าวว่า ฝ่ายคู่สงครามทั้งสองฝ่ายจะกล่าวอ้างว่าตนเป็นฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อคุณธรรม เขายังกล่าวอีกว่าสาเหตุเพื่อจะจุดชนวนสงครามขึ้นอยู่กับการประเมินในแง่ดีที่คาดว่าจะเป็นผลที่ได้รับจากความเป็นปรปักษ์นั้น (อันได้แก่มูลค่าและความสูญเสีย)
ทฤษฎีแรงจูงใจ
[แก้]ไม่มีข้อตกลงทางวิชาการว่าอะไรเป็นแรงจูงใจสำหรับสงครามที่พบมากที่สุด[7] แรงจูงใจอาจต่างกันระหว่างของผู้สั่งสงครามกับผู้เข้าร่วมสงคราม ตัวอย่างเช่น ในสงครามพิวนิกครั้งที่สาม ผู้นำกรุงโรมอาจปรารถนาก่อสงครามกับคาร์เธจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดปรปักษ์ซึ่งฟื้นกำลังใหม่ ขณะทหารแต่ละนายอาจถูกจูงใจด้วยความปรารถนาทำเงิน เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก สงครามจึงอาจมีขึ้นได้จากการรวมแรงจูงใจต่าง ๆ กันจำนวนมาก การตีความการต่อสู้ระหว่างคาอินกับอะเบล (Cain and Abel) ในปฐมกาล 4 (Parashot BeReshit XXII:7) ของคำวิจารณ์ยิวโบราณ (BeReshit Rabbah) ระบุว่า มีเหตุผลสากลสำหรับสงครามสามอย่าง คือ เศรษฐศาสตร์ อำนาจ และศาสนา[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Šmihula, Daniel (2013): The Use of Force in International Relations, p. 67, ISBN 978-80-224-1341-1.
- ↑ James, Paul; Friedman, Jonathan (2006). Globalization and Violence, Vol. 3: Globalizing War and Intervention. London: Sage Publications.
- ↑ "Top Ten Problems of Humanity for Next 50 Years", Professor R. E. Smalley, Energy & NanoTechnology Conference, Rice University, May 3, 2003.
- ↑ Tanton, John (2002). The Social Contract. p. 42.
- ↑ Moore, John (1992). The pursuit of happiness. p. 304.
- ↑ Baxter, Richard (2013). Humanizing the Laws of War. p. 344.
- ↑ Levy, Jack S. (1989). Tetlock, Philip E.; Husbands, Jo L.; Jervis, Robert; Stern, Paul C.; Tilly, Charles (บ.ก.). "The Causes of War: A Review of Theories and Evidence" (PDF). Behavior, Society and Nuclear War. New York: Oxford University Press. I: 295. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-09-22. สืบค้นเมื่อ 4 May 2012.
- ↑ "The Conflict between Cain and Abel". 2008. สืบค้นเมื่อ 2010-02-07. Analysis of Midrash re: Cain & Abel