ข้ามไปเนื้อหา

วิกฤตตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พ.ศ. 2515

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิกฤตตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พ.ศ. 2515

  • แถวบน ซ้ายไปขวา: ตำรวจเคลื่อนกำลังคุมเชิงรอบสถานทูตอิสราเอล;
    จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางไปบัญชาการด้วยตนเอง;
  • บนกลางขวา: เจ้าหน้าที่สถานฑูตอิสราเอล 2 คนที่หนีผู้ก่อการปาเลสไตน์ออกมาได้;
  • แถวล่าง: พลเอกประภาส จารุเสถียรที่กองบัญชาการในหอธรรมของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
    รีห์ฮาวิน อามีร์ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประจำประเทศไทย
วันที่28 ธันวาคม พ.ศ. 2515
สถานที่
สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย
ผล ไม่มีผลสรุป ฝ่ายโจมตีถอนตัว
ความสูญเสีย
ไม่มีต่อฝ่ายผู้ก่อการ ไม่มีต่อฝ่ายไทย

วิกฤตตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย พ.ศ. 2515 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เริ่มขึ้นจากการที่ผู้ก่อการปาเลสไตน์กลุ่ม แบล็กเซปเทมเบอร์ เข้าจู่โจมสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพและจับบุคลากรภายในเป็นตัวประกัน หลังจากการเจรจาอยู่นาน 19 ชั่วโมง[1] ผู้ก่อการก็ยินยอมที่จะถอนตัว โดยแลกกับความปลอดภัยของตนที่ประเทศอียิปต์

รายละเอียดของเหตุการณ์

[แก้]

การโจมตีเริ่มขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารแห่งประเทศไทย เมื่อผู้ก่อการแบล็ค เซปเทมเบอร์ 2 คนแฝงตัวเข้าไปในงานเลี้ยงภายในสถานทูต ในขณะที่อีก 2 คนปีนข้ามกำแพงสถานทูตพร้อมกับปืนกลเข้าไปในอาคารจากนั้นจึงทำการยึดตัวสถานทูต ผู้ก่อการอนุญาตให้ชาวไทยทั้งหมดในตึกออกไปได้ แต่ให้เหลือเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกัมพูชา ชิมอน อาวิมอร์ ที่อยู่ในเหตุการณ์ เลขานุการเอก นิตซาน ฮาดาส และภรรยา รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสถานทูตรวม 6 คนไว้เป็นตัวประกัน

หลังจากนั้น ผู้ก่อการได้ย้ายตัวประกันไปยังชั้นสองของอาคารสามชั้นและเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษ 36 คนในเรือนจำอิสราเอล โดยผู้ก่อการขู่ว่าจะระเบิดสถานทูตทิ้ง ถ้าข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนองภายในเวลา 8 นาฬิกาของวันที่ 29 ธันวาคม

พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้เป็นผู้เข้าไปเจรจากับผู้ก่อการพร้อมกับชักชวน พล.จ. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (ตำแหน่งและยศในขณะนั้น ภายหลังได้รับพระราชยศเป็นพลตรีหลังจากเหตุการณ์นี้)[ต้องการอ้างอิง] ให้มาร่วมเจรจาด้วยท่ามกลางเสียงคัดค้านในที่ประชุม[2] แต่ภายหลังก็ยินยอม ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย มุสตาฟา เอล อาซอย และผู้นำมุสลิมเข้าไปช่วยเจรจาด้วย

19 ชั่วโมงผ่านไป ผู้ก่อการก็ตกลงที่จะวางอาวุธและปล่อยตัวประกันทั้งหมดแลกกับการที่ไทยจะต้องจัดเครื่องบินนำตัวผู้ก่อการไปส่งยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยผู้ก่อการได้เดินทางออกจากสถานทูตโดยรถบัสไปยังสนามบินขึ้นเครื่องบินของสายการบินไทยโดยมีเจ้าหน้าที่ของไทยซึ่งมีรัฐมนตรีอยู่ 2 คนรวมถึงเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทยโดยสารไปเป็นประกันด้วย[1]

ภายหลัง

[แก้]

ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน ผู้ก่อการได้ให้ปืนกลในเหตุการณ์เป็นของขวัญแก่นายกรัฐมนตรีจอมพล ถนอม กิตติขจร กระบอกหนึ่ง ส่วนอีกกระบอกมอบให้ พล.อ. ประพาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการกองทัพบก[3] ผู้ก่อการปาเลสไตน์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอียิปต์ โดยหลังจากที่พวกเขาลงจากเครื่องบิน ผู้ก่อการได้ถูกนำไปขึ้นรถตำรวจโดยไม่ได้ใส่กุญแจมือแต่อย่างไร[4] ส่วนสำนักข่าวต่าง ๆ ในอียิปต์ต่างเรียกพวกเขาเป็นวีรบุรุษ ในด้านของอิสราเอล นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในขณะนั้นคือ โกลดา เมอีร์ และคณะได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลไทยอย่างยิ่งสำหรับการจัดการอันระมัดระวังซึ่งทรงประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบอย่างสูง (active vigilance and supreme responsibility)[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Peter O'Loughlin.Arab Terroristes Flown to Cairo After Releasing Six Hostages,The Telegraph - Dec 30, 1972
  2. ประภัสสร เสวิกุล.อภินิหารข้าวหมกไก่, คมชัดลึก เก็บถาวร 2012-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. Arab Gunmen Free 6 Held in Bangkok,St. Petersburg Times - Dec 29, 1972
  4. AP.'Bloody Munich' massacre averted as Arabs give up Israeli hostages, The Montreal Gazette - Dec 30, 1972
  5. Bangkok Terrorists Given Heroes Welcome in Cairo[ลิงก์เสีย],The Palm Beach Post - Dec 30, 1972