ข้ามไปเนื้อหา

วัดราชบูรณะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดราชบูรณะ

ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
วัดราชบูรณะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดราชบูรณะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
ที่ตั้งของวัดราชบูรณะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดราชบูรณะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)ตั้งอยู่ในประเทศไทย
วัดราชบูรณะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
วัดราชบูรณะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัด
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา
ผู้สร้างสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
สร้างพ.ศ. 1967
ละทิ้งพ.ศ. 2310
สมัยอยุธยา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2500
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพหลงเหลือเพียงกำแพงพระอุโบสถและวิหารหลวง ปรางค์ประธานและเจดีย์ราย
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.00-18.30 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา
เกณฑ์วัฒนธรรม: (iii)
ขึ้นเมื่อ1991
เป็นส่วนหนึ่งของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เลขอ้างอิง576
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดราชบูรณะ
ขึ้นเมื่อ8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เลขอ้างอิง0000321

วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณเชิงสะพานป่าถ่าน ติดกับวัดมหาธาตุทางบริเวณทิศตะวันออก ห่างจากพระราชวังโบราณ เพียงเล็กน้อย[1] จัดเป็นหนึ่งในวัดที่ใหญ่และมีความเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยา สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967[2] วัดราชบูรณะมีชื่อเสียงและความโด่งดังมากในเรื่องการถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่ง ลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน ในปี พ.ศ. 2499 และลักขโมยทรัพย์สมบัติจำนวนมากมายมหาศาล ต่อมากรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะขุดแต่งต่อภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ประวัติ

[แก้]

วัดราชบูรณะสร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 บริเวณพื้นที่และตำแหน่งเดิมที่พระองค์ได้ทรงถวายพระเพลิงศพให้กับเจ้านครอินทร์ ผู้เป็นพระราชบิดา

โดยเมื่อครั้งที่พระอินทรราชาหรือเจ้านครอินทร์ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยาแล้วนั้น ทรงมีนโยบายในการเปิดการค้าขายกับจีน ภายใต้การอุดหนุนของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง กรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมืองธรรมดาก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่าในการค้าขาย และเป็นตลาดกลางในการค้าขายกับจีน

เมื่อเจ้านครอินทร์เสด็จสวรรคตลง เกิดการแย่งราชสมบัติการขึ้นระหว่างเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา พระราชโอรสทั้งสองของเจ้านครอินทร์ ผลลัพธ์คือพระราชบุตรทั้งสองสิ้นชีพลง เจ้าสามพระยาจึงได้รับสืบทอดราชสมบัติ เมื่อสิ้นพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดาไปแล้ว เจ้าสามพระยาจึงตัดสินใจที่จะสร้างวัดเป็นการถวายพระราชกุศลให้แก่พระราชบิดในพื้นที่ดังกล่าว โดยให้ชื่อว่าวัดราชบูรณะ พร้อมกันนั้นก็ได้นำทรัพย์สมบัติจำพวกทองคำและข้าวของมีค่าเก็บเอาไว้ใต้พระปรางค์ใหญ่ภายในวัด ซึ่งสมบัติเหล่านี้ทางกรมศิลปากรขุดค้นเจอในช่วงปี พ.ศ. 2499 เป็นหลักฐานแสดงถึงความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในฐานะตลาดกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้ากับจีน

ในขณะเดียวกัน เจ้าสามพระยาก็ได้สร้างเจดีย์ถวายให้แก่พี่ชายทั้งสองคนของพระองค์ที่แย่งราชสมบัติกัน โดยสร้างเจดีย์คู่อยู่เยื้องวัดราชบูรณะไปเล็กน้อย ในปัจจุบันคือบริเวณวงเวียนสามแยกตรงกึ่งกลางระหว่างวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ

โบราณสถาน

[แก้]

พระปรางค์วัดราชบูรณะมีกรุใหญ่และลึก กรมศิลปากรทำการขุดเรียบร้อยแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2500 ปัจจุบันปิดไม่ให้เข้าชมกรุแล้ว กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะมีทั้งหมด 3 ห้องใหญ่เรียงกันลงไปแนวดิ่ง โดยชั้นล่างสุดอยู่ในแนวระดับพื้นดิน ดังนี้

กรุชั้นที่ 1

เป็นชั้นที่อยู่บนสุด เดิมมีผนังก่อปิดภาพทั้งหมด (ภาพคนจีน เทพชุมนุม ฯลฯ) หลังผนังทำเป็นช่องเล็ก ๆ ใส่พระพิมพ์และพระพุทธรูปไว้จนเต็ม และในนั้นคนร้ายพบพระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตัก 1 ศอก อยู่ 3-4 องค์

กรุชั้นที่ 2

เป็นชั้นกลาง มีถาดทองคำ 3 ใบเต็มไปด้วยเครื่องทอง กรมศิลปากรได้รื้อพื้นออก จึงทำให้กรุห้องที่ 2 และ 3 เชื่อมกัน มีจิตรกรรมเป็นภาพอดีตชาติพระพุทธเจ้าวาดอยู่ในช่องสี่เหลี่ยม และรอบ ๆ มีโต๊ะสำริดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทุกซุ้มเว้นด้านใต้ ใช้วางเครื่องทองและผ้าทองที่คนร้ายให้การว่าแค่แตะก็ป่นเป็นผงแล้ว

กรุชั้นที่ 3

เป็นกรุที่อยู่ล่างสุด เป็นกรุที่สำคัญที่สุด บรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเก็บรักษาอย่างดีในเจดีย์ทองคำและรอบ ๆ ยังเต็มไปด้วยพระพุทธรูปต่าง ๆ

การลักลอบขุดกรุ

[แก้]

การค้นพบกรุเมื่อปี พ.ศ. 2499 เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ ปีถัดมาทำให้มีขโมยกลุ่มใหญ่ลักลอบมาขุดกรุวัดราชบูรณะ พบเครื่องทองและอัญมณีจำนวนมาก แต่ทว่าฝนตกหนักและรีบเร่งกลุ่มขโมยจึงขนของไปไม่หมด เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาไม่กี่วันก็จับและยึดของกลางได้บางส่วน หลังจากนั้นกรมศิลปากรได้เข้ามาขุด ปรากฏว่าพบสิ่งของกว่า 2,000 รายการ พระพิมพ์กว่าแสนองค์ ทองคำหนักกว่า 100 กิโลกรัม ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

เมื่อ พ.ศ. 2548 มีข่าวว่าพบพระมาลาทองคำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นของโบราณจริงหรือไม่ และหากจริงจะเป็นของกรุวัดราชบูรณะหรือไม่ ซึ่งยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ตำแหน่งและสถานที่ก่อตั้งวัดราชบูรณะ
  2. "ปีก่อสร้างวัดราชบูรณะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-20. สืบค้นเมื่อ 2008-05-28.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]