ข้ามไปเนื้อหา

วัดกุฎีดาว

พิกัด: 14°21′48″N 100°35′24″E / 14.363314°N 100.590110°E / 14.363314; 100.590110
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกุฎีดาว
วัดกุฎีดาวตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดกุฎีดาว
ที่ตั้งของวัดกุฎีดาวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดกุฎีดาวตั้งอยู่ในประเทศไทย
วัดกุฎีดาว
วัดกุฎีดาว (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัด
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา
สร้างประมาณ พ.ศ. 2254–2256
ละทิ้งพ.ศ. 2310
สมัยอยุธยา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพซากปรักหักพัง
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.00–18.30 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา

วัดกุฎีดาว มีสภาพเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติใน พ.ศ. 2478

ประวัติ

[แก้]

ประวัติการก่อสร้างวัดกุฎีดาวไม่ชัดเจน ปรากฏในหนังสือ พงศาวดารเหนือ ว่า พระยาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างเมื่อจุลศักราช 671 ปีเถาะ เอกศก และพระอัครมเหสี ของพระองค์ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้นคู่กัน ส่วนใน คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวว่า "...พระมหาบรมราชาทรงสร้างวัดกุฎีดาว (กุฎิทวา) และพระภูมินทราธิบดีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์" แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับกล่าวความต้องกันว่า "...สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์และไม่มีฉบับใดกล่าวถึงวัดกุฎีดาว จนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ..." จึงสันนิษฐานได้ว่า วัดกุฎีดาวอาจจะสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับวัดมเหยงคณ์ หรือหลังจากวัดมเหยงคณ์เล็กน้อย[1]

แต่หลักฐานการปฏิสังขรณ์มีเนื้อหาทำนองเดียวกันคือ วัดกุฎีดาวได้รับการปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2254–2258 โดย พ.ศ. 2258 มีการจัดงานฉลองวัดเป็นงานใหญ่ ดังข้อความว่า "…ณ ปีมะแม สัปตศกนั้น พระมหาอุปราชให้ฉลองวัดกุฎีดาว บำเพ็ญพระราชกุศลให้ทานสักการบูชาแก่พระรัตนตรัยเป็นอันมาก ให้เล่นงานมหรสพสมโภช ๗ วัน การฉลองนั้นสำเร็จบริบูรณ์…"

หลังจากนี้ไม่มีเรื่องราวถึงวัดกุฎีดาวในเรื่องของการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอีก แต่ปรากฏว่าวัดกุฎีดาวเป็นวัดหลวง ปรากฏหลักฐานเมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ทรงนิมนต์พระราชาคณะ 5 รูป ช่วยเจรจา ประนีประนอมกับเจ้าสามกรม หนึ่งในนั้นคือ พระเทพมุนีวัดกุฎีดาว ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

พระตำหนักกำมะเลียน

โบราณสถาน

[แก้]

ซากโบราณสถานของวัดกุฎีดาวเป็นกลุ่มโบราณสถานในเขตพุทธาวาส อยู่ในวงกำแพงแก้ว มีเฉพาะอาคารพระตำหนัก หรือที่เรียกกันว่า กำมะเลียน เท่านั้น ส่วนที่อยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ เข้าใจว่าอาจเป็นเขตสังฆาวาสในสมัยโบราณ แต่กุฎิเสนาสนะอื่น ๆ คงปรักพังสูญหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากสมัยโบราณนิยมสร้างด้วยเครื่องไม้

ในเขตพุทธาวาส ประกอบด้วยกำแพงและซุ้มประตู ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก ล้อมรอบเขตพุทธาวาส อุโบสถตั้งอยู่ด้านหน้าวัดและหน้าเจดีย์ใหญ่ ลักษณะฐานด้านข้างเป็นเส้นโค้งหย่อนดังท้องสำเภาตามแบบอยุธยาสภาพอาคารปัจจุบันปรักพัง เหลือผนังเพียง 3 ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง หลังคาคงจะเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องซึ่งหักพังหมดแล้วเหลือร่องรอยเป็น ช่องรับขื่อคานและคันทวย เจดีย์ประธานตั้งอยู่หลังอุโบสถ ปัจจุบันอยู่ในสภาพปรักพัง มียอดหัก เหลือเพียงองค์ระฆังบางส่วน เจดีย์องค์นี้คงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง วิหารตั้งอยู่หลังเจดีย์ประธาน ขนาดอาคารเล็กกว่าอุโบสถ แต่ฐานมุขด้านหน้าและหลังไม่ได้ย่อมุม ด้านข้างเป็นเส้นโค้งหย่อนท้องสำเภาน้อยกว่าอุโบสถ มีเจดีย์รายกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ รวม 14 องค์

ด้านนอกกำแพงประกอบด้วย กุฏิสงฆ์เหลือเพียงฐาน ตั้งอยู่นอกกำแพงด้านทิศใต้ พระตำหนักหรือกำมะเลียน เป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน สันนิษฐานว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ขณะ เมื่อประทับแรมควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์วัด หลังจากนั้นคงจะถวายวัด และอาจใช้เป็นกุฎิเจ้าอาวาสหรือ ศาลาการเปรียญ มีหน้าต่างเป็นทรงโค้งแหลม ภายในอาคารชั้นล่าง มีเสาตอม่อ 8 เหลี่ยม 2 แถว แถวละ 10 ต้น[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ขยี้ เพจดังกางประวัติศาสตร์ชี้รายการดังบิดเบือนประเด็นวัดกุฎีดาว". คมชัดลึก.
  2. "วัดกุฎีดาว". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

14°21′48″N 100°35′24″E / 14.363314°N 100.590110°E / 14.363314; 100.590110