ร่มเกล้า ธุวธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม
เกิด23 เมษายน พ.ศ. 2509
เสียชีวิต10 เมษายน พ.ศ. 2553 (43 ปี)
คู่สมรสนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม
บุพการีรพีพงศ์ ธุวธรรม
วัชรี ธุวธรรม

พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันในชื่อ เสธ.เปา อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) ที่แยกคอกวัว เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

ประวัติ[แก้]

พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2509 เวลาประมาณ 21.00 น. เป็นบุตรคนที่สองของรพีพงศ์ และวัชรี ธุวธรรม มีพี่สาวหนึ่งคน ชื่อ รัดเกล้า วิชญชาติ ชื่อเล่น ไก่

จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล, โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 (ตท.25), โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 (จปร.36), โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 76, รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และขณะที่เสียชีวิตก็กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์อยู่ด้วย

เริ่มรับราชการครั้งแรกที่ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดชลบุรี ในยศร้อยตรี (ร.ต.) เมื่อปี พ.ศ. 2532 เป็น ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2548 เรื่อยมาจนกระทั่งได้รับยศ พันเอก (พ.อ.) ในปี พ.ศ. 2552 โดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี

การเสียชีวิต[แก้]

พลเอกร่มเกล้า เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) ที่แยกคอกวัว เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 ช่วงหัวค่ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในการชุมนุมของกลุ่ม นปช.นี้ในปีเดียวกัน โดยมีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณศีรษะและลำตัวลักษณะถูกยิงหลายนัด ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่งทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่น[1]

หลังการเสียชีวิตแล้วร่มเกล้าได้รับการพระราชทานยศเป็น พลเอก[2] และได้รับการปูนบำเหน็จพิเศษให้เลื่อนชั้นเงินเดือน 9 ขั้น พร้อมกับที่กองทัพบกได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ขั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.) [3] ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงรับศพของพลเอกร่มเกล้าไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ในพิธีสวดพระอภิธรรม 7 วัน ที่วัดเทพศิรินทราวาส และเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีการวางพวงมาลาและพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร[4] ต่อมาศพได้ถูกเคลื่อนย้ายไปประกอบพิธีที่วัดเซนต์หลุยส์ กรุงเทพมหานคร[5] ก่อนที่จะมีพิธีบรรจุศพซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553 ที่สุสานศานติคาม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม[6] โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นประธานในพิธี[7]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ร่มเกล้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีชื่อทางศาสนาว่า "คริสโตเฟอร์" มีชื่อเล่นว่า "ก้อง" แต่เพื่อน ๆ นายทหารนิยมเรียกว่า "เปา" ขณะที่เพื่อน ๆ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จะนิยมเรียกว่า "ร่ม" ตามชื่อจริงพยางค์แรก ชีวิตครอบครัวสมรสกับนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม (นามสกุลเดิม หิรัญบูรณะ) ซึ่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารและ กรรมการอิสระ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)[8]เป็นรักษาราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ถึง 5 กันยายน พ.ศ. 2566

พล.อ.ร่มเกล้า เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของครอบครัว ในตอนแรกที่คลอด นายรพีพงศ์ บิดาจะให้ชื่อว่า "ร่มฉัตร" นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ทั้งมือเปล่าและใช้อาวุธ ทั้งคาราเต้, กระบี่กระบอง และศิลปะการต่อสู้แบบผสม โดยที่เขามักจะสาธิตและฝึกสอนศิลปะการต่อสู้เหล่านี้ให้แก่ทหารใต้บังคับบัญชาเสมอ[9]

เรื่องราวของ พล.อ.ร่มเกล้า ได้ถูกดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ในชื่อเรื่องปาฏิหาริย์..รักไม่มีวันตาย สร้างโดย เจเอสแอล ออกอากาศทางพีพีทีวี โดยมี พันโทวันชนะ สวัสดี เป็น พล.อ.ร่มเกล้า และสินจัย เปล่งพานิช เป็นนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม[10] ซึ่งเมื่อมีข่าวการจัดสร้างละครเรื่องดังกล่าวมีการนำไปบิดเบือนว่าละครเรื่องดังกล่าวเตรียมจะนำออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนผู้บริหารของไทยพีบีเอสต้องออกมาชี้แจงว่าไทยพีบีเอสไม่มีนโยบายผลิตละครเรื่องนี้[11]

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

  • รางวัลจักรดาวสดุดีประจำปี 2554[12]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. รายชื่อ ผู้เสียชีวิต เหตุการณ์ ทหารปะทะเสื้อแดง บริเวณ 4 แยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ปชต. (ล่าสุด)[ลิงก์เสีย]
  2. ได้รับการพระราชทานยศเป็น พลเอก
  3. อาลัยพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม จากไทยโพสต์
  4. ราชินี พระบรมฯ เสด็จฯงานศพนายทหาร
  5. ชมรมผู้รู้คุณแผ่นดิน. พิธีสวดภาวนาแด่ วิญญาณ คริสโตเฟอร์ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ วันที่ 23 เมษายน 2553 ณ วัดเซนต์หลุยส์[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2556
  6. ศานติคาม สุสานมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. ผู้ล่วงลับที่บรรจุศพในเดือน เมษายน 2010. เรียกดูเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2556
  7. ล้านนาทีวีดอตคอม. พิธีฝังศพ พล อ. คริสโตเฟอร์ ร่มเกล้า[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2556
  8. รายชื่อกรรมการบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่
  9. ร้อยข่าวบลูสกาย โดยอัญชลี ไพรีรักษ์ และสันติสุข มะโรงศรี ทางบลูสกายแชนแนล: ศุกร์ที่ 12 เมษายน 2556
  10. สินจัย ปลื้มแสดง "ปาฏิหาริย์..รักไม่มีวันตาย" ซีรีส์เล่าความหวังถึง "พล.อ.ร่มเกล้า", มติชน, 8 กันยายน 2558, สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558 {{citation}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. “ผอ.ไทยพีบีเอส” แจงไม่ได้ทำละคร "พล.อ.ร่มเกล้า" ผู้กำกับเผยผลิตป้อน "พีพีทีวี".
  12. "มูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-11. สืบค้นเมื่อ 2019-04-11.
  13. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]