ร่มเกล้า ธุวธรรม
พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม | |
---|---|
![]() | |
เกิด | 23 เมษายน พ.ศ. 2509 |
เสียชีวิต | 10 เมษายน พ.ศ. 2553 (43 ปี) |
คู่สมรส | นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม |
บิดามารดา | รพีพงศ์ ธุวธรรม วัชรี ธุวธรรม |
พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันในชื่อ เสธ.เปา อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) ที่แยกคอกวัว เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553
เนื้อหา
ประวัติ[แก้]
พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2509 เวลาประมาณ 21.00 น. เป็นบุตรคนที่สองของรพีพงศ์ และวัชรี ธุวธรรม มีพี่สาวหนึ่งคน ชื่อ รัดเกล้า วิชญชาติ ชื่อเล่น ไก่[1]
จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล, โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 (ตท.25), โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 (จปร.36), โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 76, รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และขณะที่เสียชีวิตก็กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์อยู่ด้วย
เริ่มรับราชการครั้งแรกที่ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดชลบุรี ในยศร้อยตรี (ร.ต.) เมื่อปี พ.ศ. 2532 เป็น ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2548 เรื่อยมาจนกระทั่งได้รับยศ พันเอก (พ.อ.) ในปี พ.ศ. 2552 โดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี
เสียชีวิต[แก้]
ร่มเกล้า เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) ที่แยกคอกวัว เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 ช่วงหัวค่ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในการชุมนุมของกลุ่ม นปช.นี้ในปีเดียวกัน โดยมีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณศีรษะและลำตัวลักษณะถูกยิงหลายนัด ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่งทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งนายฮิโระ มุระโมะโตะ สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นด้วย [2]
หลังการเสียชีวิตแล้วร่มเกล้าได้รับการพระราชทานยศเป็น พลเอก[3] และได้รับการปูนบำเหน็จพิเศษให้เลื่อนชั้นเงินเดือน 9 ขั้น พร้อมกับที่กองทัพบกได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ขั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.) [1][4] ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงรับศพของพลเอกร่มเกล้าไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ในพิธีสวดพระอภิธรรม 7 วัน ที่วัดเทพศิรินทราวาส และเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีการวางพวงมาลาและพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร[5] ต่อมาศพได้ถูกเคลื่อนย้ายไปประกอบพิธีที่วัดเซนต์หลุยส์ กรุงเทพมหานคร[6] ก่อนที่จะมีพิธีบรรจุศพซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553 ที่สุสานศานติคาม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม[7] โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นประธานในพิธี[8]
ชีวิตส่วนตัว[แก้]
ร่มเกล้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีชื่อทางศาสนาว่า "คริสโตเฟอร์" มีชื่อเล่นว่า "ก้อง" แต่เพื่อน ๆ นายทหารนิยมเรียกว่า "เปา" ขณะที่เพื่อน ๆ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จะนิยมเรียกว่า "ร่ม" ตามชื่อจริงพยางค์แรก ชีวิตครอบครัวสมรสกับนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม (นามสกุลเดิม หิรัญบูรณะ)
พล.อ.ร่มเกล้า เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของครอบครัว ในตอนแรกที่คลอด นายรพีพงศ์ บิดาจะให้ชื่อว่า "ร่มฉัตร" นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ทั้งมือเปล่าและใช้อาวุธ ทั้ง คาราเต้, กระบี่กระบอง และมิกซ์มาเชียลอาร์ท มักจะสาธิตและฝึกสอนศิลปะการต่อสู้เหล่านี้ให้แก่ทหารใต้บังคับบัญชาเสมอ[9]
เรื่องราวของ พล.อ.ร่มเกล้า ได้ถูกดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ในชื่อเรื่อง ปาฏิหาริย์..รักไม่มีวันตาย สร้างโดย เจเอสแอล ออกอากาศทางพีพีทีวี โดยมี พันโทวันชนะ สวัสดี เป็น พล.อ.ร่มเกล้า และสินจัย เปล่งพานิช เป็น นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม[10] ซึ่งเมื่อมีข่าวการจัดสร้างละครเรื่องดังกล่าวมีการนำไปบิดเบือนว่าละครเรื่องดังกล่าวเตรียมจะนำออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนผู้บริหารของไทยพีบีเอสต้องออกมาชี้แจงว่าไทยพีบีเอสไม่มีนโยบายผลิตละครเรื่องนี้[11]
รางวัลที่ได้รับ[แก้]
- รางวัลจักรดาวสดุดีประจำปี 2554[12]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 อาลัยพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม จากไทยโพสต์
- ↑ รายชื่อ ผู้เสียชีวิต เหตุการณ์ ทหารปะทะเสื้อแดง บริเวณ 4 แยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ปชต. (ล่าสุด)[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/B/011/67.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/B/011/5.PDF
- ↑ ราชินี พระบรมฯ เสด็จฯงานศพนายทหาร
- ↑ ชมรมผู้รู้คุณแผ่นดิน. พิธีสวดภาวนาแด่ วิญญาณ คริสโตเฟอร์ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ วันที่ 23 เมษายน 2553 ณ วัดเซนต์หลุยส์. เรียกดูเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2556
- ↑ ศานติคาม สุสานมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. ผู้ล่วงลับที่บรรจุศพในเดือน เมษายน 2010. เรียกดูเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2556
- ↑ ล้านนาทีวีดอตคอม. พิธีฝังศพ พล อ. คริสโตเฟอร์ ร่มเกล้า. เรียกดูเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2556
- ↑ ร้อยข่าวบลูสกาย โดย อัญชลี ไพรีรักษ์ และสันติสุข มะโรงศรี ทางบลูสกายแชนแนล: ศุกร์ที่ 12 เมษายน 2556
- ↑ สินจัย ปลื้มแสดง "ปาฏิหาริย์..รักไม่มีวันตาย" ซีรีส์เล่าความหวังถึง "พล.อ.ร่มเกล้า", มติชน, 8 กันยายน 2558, สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2558
- ↑ “ผอ.ไทยพีบีเอส” แจงไม่ได้ทำละคร "พล.อ.ร่มเกล้า" ผู้กำกับเผยผลิตป้อน "พีพีทีวี" .
- ↑ มูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2509
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2553
- ทหารบกชาวไทย
- รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.)
- ชาวไทยเชื้อสายจีน
- ผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ชาวไทย
- ผู้ฝึกสอนคาราเต้
- ผู้ฝึกสอนกระบี่กระบอง
- คริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
- บุคคลจากโรงเรียนเตรียมทหาร
- บุคคลจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- บุคคลจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ม.
- ชาวไทยที่ถูกลอบสังหาร
- เสียชีวิตจากอาวุธปืน
- บุคคลจากจังหวัดนครปฐม