มาเฮอร์ชาลา อาลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาเฮอร์ชาลา อาลี
อาลีในงานหนังสือการ์ตูน แซนดีเอโก เมื่อปี ค.ศ. 2019
อาลีในงานหนังสือการ์ตูน แซนดีเอโก เมื่อปี ค.ศ. 2019
สารนิเทศภูมิหลัง
ชื่อเกิดมาเฮอร์ชาลาลหัชบัส กิลมอร์
Mahershalalhushbaz Gilmore
เกิด (1974-02-16) 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 (50 ปี)
โอ๊กแลนด์, รัฐแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา
คู่สมรสอมาตัส-ซามี คาริม (สมรส 2013)
บุตรบารี นัจมา อาลี
อาชีพนักแสดง, ​แร็ปเปอร์
ปีที่แสดง2001–ปัจจุบัน
ผลงานเด่นบท ​บอกส์
จาก เกมล่าเกม​ 3 ม็อกกิ้งเจย์ ภาค 1–2​​ (ค.ศ.2014–15)​
บท ​ฮวน​​
จาก มูนไลท์ (ค.ศ.2016)​​
​บท ​ดอน เชอร์ลีย์
จาก กรีนบุ๊ค (ค.ศ.2019)​
รางวัล
ออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
2017 มูนไลท์
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
2019 กรีนบุ๊ค
เอมมีรายการโทรทัศน์สำหรับเยาวชนยอดเยี่ยม
(ผู้อำนวยการสร้าง)
2020 We Are the Dream: The Kids of the Oakland MLK Oratorical Fest
ทาง​ช่อง เอชบีโอ
ลูกโลกทองคำนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
2019 กรีนบุ๊ค
แบฟตานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
2019 กรีนบุ๊ค

มาเฮอร์ชาลา อาลี (อังกฤษ: Mahershala Ali) หรือชื่อเดิม มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส กิลมอร์ (อังกฤษ: Mahershalalhashbaz Gilmore, เกิดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974)​ เป็นนักแสดงชาวอเมริกัน​ ได้รับรางวัลทางการแสดงหลายรางวัลเช่น รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม​ 2 สมัย, รางวัลสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ 3 สมัย, ​รางวัลลูกโลกทองคำ และ รางวัลแบฟตา​ นอกจากนี้เขายังเคยได้รับ รางวัลไพรม์ไทม์เอมมี ​ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์สารคดี​ทางช่อง เอชบีโอ​ เมื่อปี 2020 โดยเขาได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในไทม์ 100 ซึ่งเป็นการจัดอันดับบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ประจำปี 2019 จากนิตยสารไทม์[1]​ และเป็นหนึ่งใน 25 นักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 จากหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์[2]

หลังจบการศึกษาปริญญาโทหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแสดง จาก วิทยาลัยศิลปกรรมศาสตร์ทิช, มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก อาลีเริ่มต้นอาชีพนักแสดงจากการรับบทเป็นนักแสดงตัวหลักจากละครชุด​ทางโทรทัศน์ของช่อง เอ็นบีซี​ เรื่อง Crossing Jordan (2001–2002) และได้ปรากฏตัว 1 ตอนในซีรีย์เรื่อง ซีเอสไอ: ไครม์ซีนอินเวสติเกชัน ฤดูกาลที่ 3​ จากนั้นเขาได้แสดงภาพยนตร์เป็นเรื่องแรกใน Making Revolution (2003)​ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เล็กๆที่ไม่ประสบความสำเร็จและไม่ได้รับความสนใจมากนัก ก่อนจะกลับไปแสดงละครโทรทัศน์ทางช่อง เอบีซี​ ของ วอลต์ ดิสนีย์ เรื่อง Threat Matrix ​ (2003–2004) และเริ่มมีชื่อเสียงจากการรับบทเป็น ริชาร์ด ไทเลอร์ ในละครโทรทัศน์แนวไซไฟ​เรื่อง The 4400 (2004–2007)

เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงจากละครโทรทัศน์ มาเฮอร์ชาลา อาลี ได้รับโอกาสในการแสดงภาพยนตร์อีกครั้งในบทบาทนักแสดงสมทบจากภาพยนตร์ที่กำกับการแสดงโดย เดวิด ฟินเชอร์ เรื่อง เบนจามิน บัตตัน อัศจรรย์ฅนโลกไม่เคยรู้ (2008) , Crossing Over -​ สกัดแผนยื้อฉุดนรก (2009) , ภาพยนตร์แอ็คชันไซไฟที่ประสบความสำเร็จทางรายได้เรื่อง มหากาฬพรีเดเตอร์ ​(2010) ​และภาพยนตร์แนวอาชญากรรมเรื่อง ​The Place Beyond the Pines -​ พลิกชะตาท้าหัวใจระห่ำ (2012)​ ต่อมาเขาเริ่มมีชื่อเสียงจากบทบาทนักแสดงสมทบมากขึ้นจากการแสดงเป็นทนายความ​ในละครชุดแนวดรามาอิงการเมืองของ เน็ตฟลิกซ์ เรื่อง House of Cards -​ เกมอำนาจ (2013–2016), แสดงบท ซูเปอร์ฮีโร​ ใน ละครชุดในเน็ตฟลิกซ์ของมาร์เวล​ เรื่อง ลุค เคจ (2016) และแสดงในภาพยนตร์เรื่อง เกมล่าเกม ม็อคกิ้งเจย์​ ทั้ง 2 ภาค

อาลี มาประสบความสำเร็จในการเป็นนักแสดงจากบท ฮวน พ่อค้ายาเสพย์ติดในภาพยนตร์ชีวิตเรื่อง มูนไลท์ (2016) ที่ทำให้เขาได้รับ รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม โดยเขาได้รับการบันทึกว่าเป็นนักแสดงมุสลิม​คนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์[3] ต่อมาเขามีผลงานในภาพยนตร์ชีวประวัติของนักคณิตศาสตร์​หญิงผิวสี​เรื่อง ทีมเงาอัจฉริยะ​ (2016), รับบทสมทบในภาพยนตร์ชีวประวัติ​ของ ร็อกแซนน์ ชานเต นักร้องฮิปฮอป​หญิงชื่อดังเรื่อง ​ร็อกแซนน์ ร็อกแซนน์ ทางเน็ตฟลิกซ์ (2017)​ และมา​ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจากการรับบท ดอน เชอร์ลีย์ ในภาพยนตร์เรื่อง กรีนบุ๊ค (2018) ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลใหญ่ทางการแสดงหลายรางวัลเช่น รางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัลแบฟตา​ และได้รับ รางวัลออสการ์ สาขาสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เป็นสมัยที่ 2 ของตัวเอง โดยเขาสร้างสถิติเป็นนักแสดงผิวสีคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ ในสาขาเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง[4] เขากลับไปแสดงในละครชุดอีกครั้งในฤดูกาลที่ 3 ของซีรีส์ True Detective ที่ออกอากาศทางช่อง เอชบีโอ และมีผลงานในภาพยนตร์แอ็คชันไซเบอร์พังค์​เรื่อง อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล​ (2019)​ ต่อมามีการเปิดเผยว่าเขาได้รับบทนักแสดงนำในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล​เป็นครั้งแรกใน เบลด ที่มีกำหนดฉายในปี 2023

นอกจากการเป็นนักแสดงแล้ว อาลี ยังมีผลงานเพลงแนวฮิปฮอป​ของตัวเองออกมา 2 อัลบั้ม เขาใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า พรินซ์ อาลี​ และได้เป็นศิลปินรับเชิญในอัลบั้มของ ริซ อาห์เมด​ ในปี 2020 นอกจากนี้เขายังเคยทำหน้าที่เป็นนักพากย์​ โดยเขาเป็นผู้ให้เสียงตัวละคร แอรอน เดวิส/เดอะ พราวเลอร์ ในภาพยนตร์แอนิเมชัน​ เรื่อง สไปเดอร์-แมน ผงาดสู่จักรวาล-แมงมุม​ (2018)

วัยเด็กและการศึกษา[แก้]

มาเฮอร์ชาลา อาลี มีชื่อเดิมว่า มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส กิลมอร์ เกิดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1974 ที่เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา​ เขาเติบโตในครอบครัวคริสต์ศาสนิกชน​ โดยแม่ของเขาเป็นศาสนาจารย์​ในนิกายแบปทิสต์[5][6][7][8] และพ่อของเขาเป็นนักแสดงละครบรอดเวย์ ชื่อของเขาเป็นภาษาฮีบรู​ตั้งมาจากคำพยากรณ์เด็ก มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส​ ในหนังสืออิสยาห์​ บทที่ 8 หมวดผู้เผยพระวจนะใหญ่ คำภีร์ไบเบิลพันธสัญญาเดิม

เขาเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีที่ วิทยาลัยเซนต์แมรีแห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนของชาวคริสต์ จากการได้รับทุนการศึกษาสำหรับนักกีฬาบาสเกตบอล​ โดยเขาเป็นผู้เล่นของทีมบาสเกตบอลเซนต์แมรีและได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการของ เอ็นซีเอเอ​ โดยใช้ชื่อในการแข่งขันว่า เฮอร์ชาล กิลมอร์ เขาศึกษาที่วิทยาลัยแห่งนี้จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านการสื่อสารมวลชน​ในปี 1996 หลังจบปริญญาตรีเขาไม่มีความสนใจในการเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพเพราะเคยเห็นนักกีฬาที่ต้องเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บและผลข้างเคียงที่เกิดกับสภาพร่างกายจากการเล่นกีฬาอาชีพ เขาเลือกที่จะหันไปเอาดีทางด้านการแสดงโดยเริ่มจากการแสดงละครเวที​ และไปหาประสบการณ์ในการทำงานจากโรงละครเชกสเปียร์ แคลิฟอร์เนีย ก่อนที่ต่อมาเขาจะได้เข้าทำงานประจำที่สถานีวิทยุ เกวิน รีพอร์ต ในซานฟรานซิสโก​ โดยเขาใช้เวลาว่างในวันหยุดไปเรียนต่อระดับปริญญาโท จนจบหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแสดง จาก วิทยาลัยศิลปกรรมศาสตร์ทิช, มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก​ ในปี 2000

ในปีดังกล่าว เขาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม​ และเปลี่ยนนามสกุลของตัวเองจาก กิลมอร์ เป็น อาลี ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากเกิดเหตุ วินาศกรรม 11 กันยายน ตัวเขาต้องประสบปัญหาที่คนในสังคมอเมริกันมีอาการกลัวอิสลาม​ ทำให้เขาที่เป็นชาวอเมริกันมุสลิม ได้รับผลกระทบทั้งการเดินทางไปยังสนามบิน, การทำธุรกรรมที่ธนาคาร และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน[9][10][11]

การเป็นนักแสดง[แก้]

อาลี เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงในชื่อเต็มว่า มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส อาลี มาตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปี 2010 ซึ่งช่วงเวลานั้น อาลี มีแนวความคิดว่าเขาควรจะย่อชื่อของตัวเองในการแสดงให้สั้นลงมาในระยะหนึ่งแล้ว โดยความคิดดังกล่าวไม่ได้มาจากผู้จัดการหรือตัวแทนของเขาหากแต่เพราะตัวเขาเองรู้สึกว่าชื่อเต็มของเขามีความยาวอย่างมากในการที่คนอื่นต้องเขียนหรืออ่าน จนกระทั่งเขาเห็นปัญหาในการจัดทำโปสเตอร์โปรโมตภาพยนตร์เรื่อง ​The Place Beyond the Pines -​ พลิกชะตาท้าหัวใจระห่ำ ที่เขาร่วมแสดงว่าชื่อเต็มของเขามีความยาวมากเกินกว่าจะพิมพ์บนโปสเตอร์ ประกอบกับเขาไม่ต้องการใช้ชื่อที่เขียนอย่างย่อว่า เอ็ม.อาลี เขาจึงได้ตัดสินใจย่อชื่อในการแสดงของตัวเองเป็น มาเฮอร์ชาลา อาลี

อ้างอิง[แก้]

  1. Spencer, Octavia (April 17, 2019). "Mahershala Ali". Time. สืบค้นเมื่อ April 17, 2019.
  2. Dargis, Manohla; Scott, A.O. (25 November 2020). "The 25 greatest actors of the 21st century (so far)". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 4 December 2020.
  3. Crum, Maddie (February 26, 2017). "Mahershala Ali Becomes The First Muslim Actor To Win An Oscar". The Huffington Post. สืบค้นเมื่อ February 27, 2017.
  4. Yglesias, Matthew. "Oscars 2019 milestones: Black Panther and Roma broke boundaries". Vox. สืบค้นเมื่อ February 25, 2019.
  5. Ali, Mahershala (October 22, 2011). "Mahershala Ali ('96)". Saint Mary's College of California. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-02. สืบค้นเมื่อ December 14, 2016.
  6. Viera, Bené. "Mahershala Ali Quit House of Cards and Became Marvel's New Villain". GQ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 6, 2017. สืบค้นเมื่อ January 6, 2017.
  7. Mic. "Who is Mahershala Ali's wife? How Amatus-Sami Karim helped him convert to Islam". สืบค้นเมื่อ February 27, 2017.[ลิงก์เสีย]
  8. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ hollywoodreporter20170215
  9. "Will Mahershala Ali be the first Muslim actor to win an Oscar?". February 21, 2017. สืบค้นเมื่อ February 26, 2017.
  10. "Moonlight's Mahershala Ali: anti-Islam prejudice 'not a shock' if you have grown up black". Guardian. February 21, 2017. สืบค้นเมื่อ February 26, 2017.
  11. "By the Dawns Early Light: Short Stories by American Converts to Islam" (PDF). alislam.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 2, 2013. สืบค้นเมื่อ August 4, 2010.