มาเฮอร์ชาลา อาลี
มาเฮอร์ชาลา อาลี | |
---|---|
อาลีในงานหนังสือการ์ตูน แซนดีเอโก เมื่อปี ค.ศ. 2019 | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
ชื่อเกิด | มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส กิลมอร์ Mahershalalhushbaz Gilmore |
เกิด | โอ๊กแลนด์, รัฐแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา | 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974
การศึกษา | Saint Mary's College, California (BA) New York University (MFA) |
คู่สมรส | อมาตัส-ซามี คาริม (สมรส 2013) |
บุตร | บารี นัจมา อาลี |
อาชีพ | นักแสดง, แร็ปเปอร์ |
ปีที่แสดง | 2001–ปัจจุบัน |
ผลงานเด่น | บท บอกส์ จาก เกมล่าเกม 3 ม็อกกิ้งเจย์ ภาค 1–2 (ค.ศ.2014–15) บท ฮวน จาก มูนไลท์ (ค.ศ.2016) บท ดอน เชอร์ลีย์ จาก กรีนบุ๊ค (ค.ศ.2019) |
รางวัล | |
ออสการ์ | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม 2017 มูนไลท์ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม 2019 กรีนบุ๊ค |
เอมมี | รายการโทรทัศน์สำหรับเยาวชนยอดเยี่ยม (ผู้อำนวยการสร้าง) 2020 We Are the Dream: The Kids of the Oakland MLK Oratorical Fest ทางช่อง เอชบีโอ |
ลูกโลกทองคำ | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม 2019 กรีนบุ๊ค |
แบฟตา | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม 2019 กรีนบุ๊ค |
มาเฮอร์ชาลา อาลี (อังกฤษ: Mahershala Ali) หรือชื่อเดิม มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส กิลมอร์ (อังกฤษ: Mahershalalhashbaz Gilmore, เกิดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974) เป็นนักแสดงชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลทางการแสดงหลายรางวัลเช่น รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม 2 สมัย, รางวัลสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ 3 สมัย, รางวัลลูกโลกทองคำ และ รางวัลแบฟตา นอกจากนี้เขายังเคยได้รับ รางวัลไพรม์ไทม์เอมมี ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์สารคดีทางช่อง เอชบีโอ เมื่อปี 2020 โดยเขาได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในไทม์ 100 ซึ่งเป็นการจัดอันดับบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ประจำปี 2019 จากนิตยสารไทม์[1] และเป็นหนึ่งใน 25 นักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 จากหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์[2]
หลังจบการศึกษาปริญญาโทหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแสดง จาก วิทยาลัยศิลปกรรมศาสตร์ทิช, มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก อาลีเริ่มต้นอาชีพนักแสดงจากการรับบทเป็นนักแสดงตัวหลักจากละครชุดทางโทรทัศน์ของช่อง เอ็นบีซี เรื่อง Crossing Jordan (2001–2002) และได้ปรากฏตัว 1 ตอนในซีรีย์เรื่อง ซีเอสไอ: ไครม์ซีนอินเวสติเกชัน ฤดูกาลที่ 3 จากนั้นเขาได้แสดงภาพยนตร์เป็นเรื่องแรกใน Making Revolution (2003) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เล็กๆที่ไม่ประสบความสำเร็จและไม่ได้รับความสนใจมากนัก ก่อนจะกลับไปแสดงละครโทรทัศน์ทางช่อง เอบีซี ของ วอลต์ ดิสนีย์ เรื่อง Threat Matrix (2003–2004) และเริ่มมีชื่อเสียงจากการรับบทเป็น ริชาร์ด ไทเลอร์ ในละครโทรทัศน์แนวไซไฟเรื่อง The 4400 (2004–2007)
เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงจากละครโทรทัศน์ มาเฮอร์ชาลา อาลี ได้รับโอกาสในการแสดงภาพยนตร์อีกครั้งในบทบาทนักแสดงสมทบจากภาพยนตร์ที่กำกับการแสดงโดย เดวิด ฟินเชอร์ เรื่อง เบนจามิน บัตตัน อัศจรรย์ฅนโลกไม่เคยรู้ (2008) , Crossing Over - สกัดแผนยื้อฉุดนรก (2009) , ภาพยนตร์แอ็คชันไซไฟที่ประสบความสำเร็จทางรายได้เรื่อง มหากาฬพรีเดเตอร์ (2010) และภาพยนตร์แนวอาชญากรรมเรื่อง The Place Beyond the Pines - พลิกชะตาท้าหัวใจระห่ำ (2012) ต่อมาเขาเริ่มมีชื่อเสียงจากบทบาทนักแสดงสมทบมากขึ้นจากการแสดงเป็นทนายความในละครชุดแนวดรามาอิงการเมืองของ เน็ตฟลิกซ์ เรื่อง House of Cards - เกมอำนาจ (2013–2016), แสดงบท ซูเปอร์ฮีโร ใน ละครชุดในเน็ตฟลิกซ์ของมาร์เวล เรื่อง ลุค เคจ (2016) และแสดงในภาพยนตร์เรื่อง เกมล่าเกม ม็อคกิ้งเจย์ ทั้ง 2 ภาค
อาลี มาประสบความสำเร็จในการเป็นนักแสดงจากบท ฮวน พ่อค้ายาเสพย์ติดในภาพยนตร์ชีวิตเรื่อง มูนไลท์ (2016) ที่ทำให้เขาได้รับ รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม โดยเขาได้รับการบันทึกว่าเป็นนักแสดงมุสลิมคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์[3] ต่อมาเขามีผลงานในภาพยนตร์ชีวประวัติของนักคณิตศาสตร์หญิงผิวสีเรื่อง ทีมเงาอัจฉริยะ (2016), รับบทสมทบในภาพยนตร์ชีวประวัติของ ร็อกแซนน์ ชานเต นักร้องฮิปฮอปหญิงชื่อดังเรื่อง ร็อกแซนน์ ร็อกแซนน์ ทางเน็ตฟลิกซ์ (2017) และมาประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจากการรับบท ดอน เชอร์ลีย์ ในภาพยนตร์เรื่อง กรีนบุ๊ค (2018) ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลใหญ่ทางการแสดงหลายรางวัลเช่น รางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัลแบฟตา และได้รับ รางวัลออสการ์ สาขาสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เป็นสมัยที่ 2 ของตัวเอง โดยเขาสร้างสถิติเป็นนักแสดงผิวสีคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ ในสาขาเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง[4] เขากลับไปแสดงในละครชุดอีกครั้งในฤดูกาลที่ 3 ของซีรีส์ True Detective ที่ออกอากาศทางช่อง เอชบีโอ และมีผลงานในภาพยนตร์แอ็คชันไซเบอร์พังค์เรื่อง อลิตา แบทเทิล แองเจิ้ล (2019) ต่อมามีการเปิดเผยว่าเขาได้รับบทนักแสดงนำในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวลเป็นครั้งแรกใน เบลด ที่มีกำหนดฉายในปี 2023
นอกจากการเป็นนักแสดงแล้ว อาลี ยังมีผลงานเพลงแนวฮิปฮอปของตัวเองออกมา 2 อัลบั้ม เขาใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า พรินซ์ อาลี และได้เป็นศิลปินรับเชิญในอัลบั้มของ ริซ อาห์เมด ในปี 2020 นอกจากนี้เขายังเคยทำหน้าที่เป็นนักพากย์ โดยเขาเป็นผู้ให้เสียงตัวละคร แอรอน เดวิส/เดอะ พราวเลอร์ ในภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง สไปเดอร์-แมน ผงาดสู่จักรวาล-แมงมุม (2018)
วัยเด็กและการศึกษา
[แก้]มาเฮอร์ชาลา อาลี มีชื่อเดิมว่า มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส กิลมอร์ เกิดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1974 ที่เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เขาเติบโตในครอบครัวคริสต์ศาสนิกชน โดยแม่ของเขาเป็นศาสนาจารย์ในนิกายแบปทิสต์[5][6][7][8] และพ่อของเขาเป็นนักแสดงละครบรอดเวย์ ชื่อของเขาเป็นภาษาฮีบรูตั้งมาจากคำพยากรณ์เด็ก มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส ในหนังสืออิสยาห์ บทที่ 8 หมวดผู้เผยพระวจนะใหญ่ คำภีร์ไบเบิล พันธสัญญาเดิม
เขาเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีที่ วิทยาลัยเซนต์แมรีแห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนของชาวคริสต์ จากการได้รับทุนการศึกษาสำหรับนักกีฬาบาสเกตบอล โดยเขาเป็นผู้เล่นของทีมบาสเกตบอลเซนต์แมรีและได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการของ เอ็นซีเอเอ โดยใช้ชื่อในการแข่งขันว่า เฮอร์ชาล กิลมอร์ เขาศึกษาที่วิทยาลัยแห่งนี้จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านการสื่อสารมวลชนในปี 1996 หลังจบปริญญาตรีเขาไม่มีความสนใจในการเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพเพราะเคยเห็นนักกีฬาที่ต้องเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บและผลข้างเคียงที่เกิดกับสภาพร่างกายจากการเล่นกีฬาอาชีพ เขาเลือกที่จะหันไปเอาดีทางด้านการแสดงโดยเริ่มจากการแสดงละครเวที และไปหาประสบการณ์ในการทำงานจากโรงละครเชกสเปียร์ แคลิฟอร์เนีย ก่อนที่ต่อมาเขาจะได้เข้าทำงานประจำที่สถานีวิทยุ เกวิน รีพอร์ต ในซานฟรานซิสโก โดยเขาใช้เวลาว่างในวันหยุดไปเรียนต่อระดับปริญญาโท จนจบหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแสดง จาก วิทยาลัยศิลปกรรมศาสตร์ทิช, มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในปี 2000
ในปีดังกล่าว เขาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนนามสกุลของตัวเองจาก กิลมอร์ เป็น อาลี ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากเกิดเหตุ วินาศกรรม 11 กันยายน ตัวเขาต้องประสบปัญหาที่คนในสังคมอเมริกันมีอาการกลัวอิสลาม ทำให้เขาที่เป็นชาวอเมริกันมุสลิม ได้รับผลกระทบทั้งการเดินทางไปยังสนามบิน, การทำธุรกรรมที่ธนาคาร และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน[9][10][11]
การเป็นนักแสดง
[แก้]อาลี เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงในชื่อเต็มว่า มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส อาลี มาตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปี 2010 ซึ่งช่วงเวลานั้น อาลี มีแนวความคิดว่าเขาควรจะย่อชื่อของตัวเองในการแสดงให้สั้นลงมาในระยะหนึ่งแล้ว โดยความคิดดังกล่าวไม่ได้มาจากผู้จัดการหรือตัวแทนของเขาหากแต่เพราะตัวเขาเองรู้สึกว่าชื่อเต็มของเขามีความยาวอย่างมากในการที่คนอื่นต้องเขียนหรืออ่าน จนกระทั่งเขาเห็นปัญหาในการจัดทำโปสเตอร์โปรโมตภาพยนตร์เรื่อง The Place Beyond the Pines - พลิกชะตาท้าหัวใจระห่ำ ที่เขาร่วมแสดงว่าชื่อเต็มของเขามีความยาวมากเกินกว่าจะพิมพ์บนโปสเตอร์ ประกอบกับเขาไม่ต้องการใช้ชื่อที่เขียนอย่างย่อว่า เอ็ม.อาลี เขาจึงได้ตัดสินใจย่อชื่อในการแสดงของตัวเองเป็น มาเฮอร์ชาลา อาลี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Spencer, Octavia (April 17, 2019). "Mahershala Ali". Time. สืบค้นเมื่อ April 17, 2019.
- ↑ Dargis, Manohla; Scott, A.O. (25 November 2020). "The 25 greatest actors of the 21st century (so far)". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 4 December 2020.
- ↑ Crum, Maddie (February 26, 2017). "Mahershala Ali Becomes The First Muslim Actor To Win An Oscar". The Huffington Post. สืบค้นเมื่อ February 27, 2017.
- ↑ Yglesias, Matthew. "Oscars 2019 milestones: Black Panther and Roma broke boundaries". Vox. สืบค้นเมื่อ February 25, 2019.
- ↑ Ali, Mahershala (October 22, 2011). "Mahershala Ali ('96)". Saint Mary's College of California. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-02. สืบค้นเมื่อ December 14, 2016.
- ↑ Viera, Bené. "Mahershala Ali Quit House of Cards and Became Marvel's New Villain". GQ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 6, 2017. สืบค้นเมื่อ January 6, 2017.
- ↑ Mic. "Who is Mahershala Ali's wife? How Amatus-Sami Karim helped him convert to Islam". สืบค้นเมื่อ February 27, 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อhollywoodreporter20170215
- ↑ "Will Mahershala Ali be the first Muslim actor to win an Oscar?". February 21, 2017. สืบค้นเมื่อ February 26, 2017.
- ↑ "Moonlight's Mahershala Ali: anti-Islam prejudice 'not a shock' if you have grown up black". Guardian. February 21, 2017. สืบค้นเมื่อ February 26, 2017.
- ↑ "By the Dawns Early Light: Short Stories by American Converts to Islam" (PDF). alislam.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 2, 2013. สืบค้นเมื่อ August 4, 2010.