คณากร เพียรชนะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณากร เพียรชนะ

ภาพจากกิจกรรมไว้อาลัยคณากร
เกิด18 ธันวาคม พ.ศ. 2512
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
เสียชีวิต7 มีนาคม พ.ศ. 2563 (50 ปี)
จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
สัญชาติไทย ไทย
ชื่ออื่นกร (ชื่อเล่น)
การศึกษานิติศาสตรบัณฑิต
เนติบัณฑิต
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
เนติบัณฑิตยสภา
อาชีพผู้พิพากษา
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2563
มีชื่อเสียงจากฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงระบบยุติธรรมไทย
คู่สมรสอิสริยา เพียรชนะ
บุตรขวัญชนก เพียรชนะ

คณากร เพียรชนะ (ชื่อเล่น กร; 18 ธันวาคม พ.ศ. 2512 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2563) อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเผยแพร่[1] ในคดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 พร้อมพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ก่อนตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยการยิงตัวเองด้วยอาวุธปืนเข้าที่บริเวณหัวใจ[2] การจากไปของคณากรได้จุดให้เกิดข้อถกเถียงถึงระบบยุติธรรมของไทยมากมาย โดยเฉพาะในสองข้อเรียกร้องในคำแถลงการณ์ของคณากร ที่เรียกร้องให้ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง หรือกระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา และขอให้รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ[3] อันเป็นที่มาของประโยคว่า "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"[4]

ในภายหลัง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีอุทธรณ์หมายเลขดำที่ 312/2563 พิพากษากลับคำพิพากษาเดิมของนายคณากรโดยพิพากษาให้จำคุกนายซูกรี มูเซะ จำเลยที่ 1 นายแวอาแซ แวยูโซะ จำเลยที่ 3 และนายมัสสัน เจะดือเระ จำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต ส่วนนายสาแปอิง สะเตาะ จำเลยที่ 2 และนายอับดุลเล๊าะ มะสาเม๊าะ จำเลยที่ 5 คงจำคุกคนละ 35 ปี 4 เดือน[5]

ประวัติ[แก้]

คณากร เพียรชนะ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  จากโรงเรียนผู้ใหญ่เทพลีลา และนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สอบรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาได้เมื่อ พ.ศ. 2545 เริ่มต้นรับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาล ผู้พิพากษาประจำศาลล้มละลาย ใน พ.ศ. 2547 และเคยปฏิบัติหน้าที่ที่ศาลจังหวัดปัตตานี ก่อนย้ายมาทำหน้าที่ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลาใน พ.ศ. 2562[6] เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562 หลังจากที่ตนได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ 25 หน้า กล่าวถึงความอึดอัดในการพิจารณาคดีความมั่นคงใจความว่า "ตนถูกแทรกแซงอย่างหนัก ในการพิจารณาคดีครั้งนี้" [7] คณากรได้ก่อเหตุยิงตนเองในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดยะลาทันทีที่ตนได้เผยแพร่คำแถลงการณ์เสร็จสิ้น ทว่าคณากรได้รอดชีวิตเนื่องจากกระสุนมิได้ถูกบริเวณสำคัญ[8]

การเคลื่อนไหวทางกฎหมาย[แก้]

พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้ขออนุญาตประธานศาลฎีกาดำเนินคดีต่อคณากรตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน[8] ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมมีมติตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสอบสวนการกระทำผิดวินัยต่อคณากร และมีมติให้คณากรไปดำรงตำแหน่งช่วยราชการกองผู้ช่วยในศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ชั่วคราว จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง[9] ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายของคณากร และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 คณากรตัดสินใจเผยแพร่จดหมายลาจำนวน 2 หน้ากระดาษ และยิงตนเองอีกเป็นครั้งที่สองที่บ้านพักส่วนตัว ณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุให้เสียชีวิต[10] งานณาปนกิจศพของคณากรถูกจัดขึ้นที่สุสานสันกู่เหล็กเชียงใหม่ ท่ามกลางคณะผู้พิพากษาเจ้าหน้าที่ศาลภาค 5 และประชาชนมารอรับศพจำนวนมาก จากนั้นทำพิธีรดน้ำศพโดยมีสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นประธานในพิธี[11] พร้อมด้วยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่หลายคน มาร่วมแสดงความเสียใจ กับทางครอบครัว[12]

ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563 สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการยุติดำเนินการสอบสวนการรักษาวินัยผู้พิพากษา กรณีของคณากร เพียรชนะว่า เมื่อปรากฏเหตุในภายหลังที่ผู้พิพากษาคณากรได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563 ตนในฐานะเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้รายงานให้ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาทราบตามขั้นตอนกรณีข้าราชการตุลาการนั้นพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย พร้อมเสนอการยุติสอบสวนเรื่องดังกล่าว ซึ่งประธานศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ให้ยุติการสอบสวนกรณีผู้พิพากษาคณากร ส่วนคดีอาญา ที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้เคยขออนุญาตประธานศาลฎีกาดำเนินคดีผู้พิพากษาคณากร ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 นั้น เมื่อเสียชีวิต สิทธิการดำเนินคดีอาญาก็เป็นอันระงับ ยุติไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา[13]

คณากรสมรสกับอิสริยา เพียรชนะ และมีบุตรสาวร่วมกันหนึ่งคนคือขวัญชนก เพียรชนะ[14]

การเสียชีวิต[แก้]

หลังจากการรอดชีวิตจากการยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562 คณากรได้เสียชีวิตจากการยิงตัวเองอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ที่จังหวัดเชียงใหม่[15] ก่อนการยิงตัวเองครั้งแรกนั้น คณากรได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ของตัวเองลงในสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก และได้เน้นย้ำประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในจดหมายลา โดยระบุว่า "การตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค" ทั้งนี้ได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในลักษณะที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้เขียนป้องกันเรื่องการแทรกแซงคำพิพากษาดังกล่าวเอาไว้ แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ไม่ได้มีกลไกป้องกันการแทรกแซงดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว[15] การปลิดชีพตนเองของคณากรนี้ยังเป็นฉนวนเหตุหนึ่งที่ลุกลามไปสู่การประท้วงทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2563

คำแถลงการณ์[แก้]

ก่อนหน้าที่คณากรจะปฏิบัติการยิงตัวเอง เขาได้โพสต์คำแถลงการณ์จำนวน 25 หน้า ก่อนโพสต์นั้นจะถูกลบไป ทว่าได้มีผู้บันทึกและเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวในเวลาต่อมา เนื้อหาเป็นการเล่าถึงคดีและความอัดอั้นตันใจที่ถูกแทรกแซง ซึ่งบันทึกโดยมีใจความสำคัญว่า[16]

"การตรวจร่างคำพิพากษา เริ่มกระทำโดยนายวิสูตร มานะพิทักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำภาค ทำบันทึกว่า "ไม่เห็นด้วยกับผลคำพิพากษา" ส่งต่อให้นายวรวิทย์ จิรายุกุล รองอธิบดีผู้พิพากษา ทำบันทึกว่า ไม่เห็นด้วยกับผลคำพิพากษา และส่งต่อให้นายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาภาคา 9 ทำคำสั่งที่หน้าบันทึกดังกล่าวโดยประทับคำว่า "ลับ" สั่งให้ผม (คณากร) เขียนคำพิพากษาใหม่ ตามความเห็นของหัวหน้ารองหัวหน้าภาคกับรองอธิบดี"

"หากผมยอมกระทำตามคำสั่งอธิบดี จะมีผลให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต้องโทษประหารชีวิตสถานเดียว...ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 5 จะต้องจำคุกสองในสามส่วน...คือต้องจำคุกตลอดชีวิต... ทั้งนี้คดีนี้ ผมกับองค์คณะคือนายขันติ ชัยสุวรรณ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยทั้งห้าได้ จึงพิพากษายกฟ้อง ต้องปล่อยตัวจำเลยทั้งห้าไป นอกจากนี้รองอธิบดียังกำชับไว้ในหนังสือลับด้วยว่า หากผมยืนยันยกฟ้องก็ให้ขังจำเลยทั้งห้าไว้ในระหว่างอุทธรณ์"

นอกจากนี้คำแถลงยังตั้งข้อสังเกตว่า

"...คดีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีก่อการร้าย โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่ากระทำความผิดฐานก่อการร้ายหรือความผิดต่อความมั่นคง แต่พยานหลักฐานทั้งหมดกลับเกิดจากหรือเกิดมีขึ้นในขณะที่จำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลานานในฐานะผู้ต้องสงสัย ตามกฎหมายพิเศษคือกฎอัยการศึก..."

คำแถลงยังเห็นว่าการกระทำของอธิบดี เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 188 ที่บัญญัติว่าผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งไม่รู้ว่าอธิบดี ทำเช่นนี้มากี่ครั้งกี่หนและกี่คดีแล้ว การตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง การแก้ไขถ้อยคำในคำพิพากษาของผู้พิพากษาจนแทบไม่เหลือสำนวนเดิม การมีหนังสือลับให้ผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาใหม่ให้ผลเป็นไปตามที่อธิบดีต้องการ ย่อมทำให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา เป็นการทำให้ผู้พิพากษามีศักดิ์ลดลง ให้มีฐานะและสภาพเป็นเพียง "นิติกรบริการ" คอยรับใช้ทำตามคำสั่งอธิบดี

นอกจากนี้คำแถลงยังระบุว่า "เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับผมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ขณะนี้เพื่อนๆ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ก็ถูกกระทำไม่ต่างจากผม เจ็บช้ำระกำใจไม่ต่างกัน เพียงแต่พวกเขามีความอดทนสูงและเหตุการณ์อาจไม่รุนแรงเท่าที่ผมพบเจอ สิ่งที่ผมทำในวันนี้ ผมอาจถูกตั้งกรรมการสอบ และถูกวินิจฉัยว่า กระทำผิดวินัยอันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผมคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับเงินบำเหน็จ เพราะผมเป็นเพียงไม้ซีกแต่บังอาจไปงัดไม้ซุง ไม้ซีกย่อมแตกหัก"

และในคำแถลงได้ทิ้งข้อความที่คล้ายเป็นคำลาไว้ว่า

"หากการกระทำของผมทำให้เพื่อนๆผู้พิพากษารุ่น 46 และอาจารย์ประจำรุ่น ต้องเสื่อมเสีย ผมต้องกราบขออภัย ซึ่งผู้พิพากษารุ่น 46 ที่ผมอยู่ในรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่มีชื่อเสียงที่ดีมาโดยตลอด ทั้งความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต เห็นได้จากไม่เคยมีผู้พิพากษาในรุ่นถูกร้องเรียนว่ากระทำผิด ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ทั้งไม่เคยมีใครตายมาก่อน กล่าวถึงโดยย่อได้ว่า "ไม่จบ ไม่เจ็บ ไม่ตาย" เป็นผู้พิพากษารุ่นที่เหนียวมากๆ แต่ทุกอย่างต้องมีครั้งแรก ผมเป็นคนแรก ต้องขอโทษด้วยครับ"

ในตอนท้ายยังได้ระบุถึงข้อเรียกร้อง 2 ข้อต่อ สภานิติบัญญัติ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี คือ

1. เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆ อันมีผลเป็นการแทกแซงผลคำพิพากษา

2. เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติและนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งทราบมีผู้พิพากษาบางกลุ่มจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่มีข้อขัดข้องไม่สามารถส่งออกจากศาลยุติธรรมเพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีได้

และหน้าสุดท้ายของแถลงการณ์ได้กล่าวว่า

"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"

"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"

"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"

"คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน"

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

นายคณากร เพียรชนะ

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา

จดหมายลา[แก้]

หลังจากรอดชีวิตจากการยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562 คณากรได้พยายามยิงตัวเองอีกครั้งหนึ่งที่บ้านพักส่วนตัวใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ในช่วงเช้าของวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563 ช่วงที่ภรรยาของคณากรออกไปข้างนอกกับบุตรสาว[10] โดยคณากรได้เขียนจดหมายลาลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ ‘คณากร ตุลาคม’ ก่อนตัดสินใจจบชีวิตตนเอง ในจดหมายมีข้อความระบุว่า[17]

“เรียนเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รัก เรื่องจดหมายลา สืบเนื่องจากผม คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาใช้อาวุธปืนยิงตนเองในห้องพิจารณาคดีที่ 4 ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ทั้งแถลงการณ์ผ่านสื่อออนไลน์แจ้งให้ประชาชนทราบถึงการที่ เพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 แทรกแซงผลคำพิพากษาที่ผมเป็นเจ้าของสำนวนรายละเอียดตามคำแถลงการณ์ 25 หน้าของผมซึ่งคงได้อ่านกันแล้ว

ต่อมาผมถูกศาลยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวนและยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งผมเชื่อว่าต้องถูกลงโทษออกจากราชการเป็นแน่ ทั้งการดำเนินคดีกับตัวผมเพิ่งจะเริ่มต้นการสูญเสียหน้าที่การงานที่รักนั้นคือการสูญเสียตัวตน ทั้งกลับกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง สภาพร่างกายและจิตใจของผมไม่อาจรับไหวเต็มไปด้วยความทุกข์ เส้นทางชีวิตของผมในชาตินี้ได้ขาดลงแล้ว

ผมขอยืนยันกับเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านว่าสิ่งที่ทำลงไป ผมทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนและไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน

ในอดีตที่เราใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ถูกร่างขึ้นโดย สสร. ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมา ท่านคงสงสัยว่าขณะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวทำไมจึงไม่ให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นเพราะอะไรหรือ สสร. รู้ว่าการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค

ขออนุญาตถามเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยง่ายๆ ว่าสิ่งที่ผมทำลงไปจนถูกสอบวินัยและตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญานี้ท่านพบความชั่วหรือความเลวอยู่ในการกระทำของผมบ้างหรือไม่ ขอทุกท่านตอบในใจเบาๆ ก็พอส่วนผมรู้คำตอบมาตั้งแต่ต้นแล้วเสียดายที่ท่านไม่ใช่ผู้ตัดสิน

ในวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ผมไม่คิดว่าจะมีชีวิตรอด แต่วันนั้นสวรรค์ทรงเมตตาให้ผมมีชีวิตอยู่ต่อเข้าใจว่าทรงมีพระประสงค์ให้มาอยู่กับครอบครัวสักระยะหนึ่งเท่านั้น ผมจึงจัดการซ่อมแซมแต่งบ้านบางส่วนให้เรียบร้อยขึ้นเพื่อให้สองแม่ลูกอยู่อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น สอนลูกให้เข้มแข็ง สอนให้เป็นคนดีว่า คนดีคือคนที่ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองผู้อื่นและประชาชนภายในกรอบของศีลธรรม

วันที่ 6-7 มีนาคม 2563 เป็นวันดีลูกปิดเทอมได้หนึ่งสัปดาห์ สมควรแก่เวลา ก่อนหน้านี้ฝึกดับขันธ์บางส่วนมาก่อนแล้ว ดับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ยังดีกว่าดับไม่ลง จึงตัดใจดับขันธ์ทั้งห้าด้วยกำลัง

ชีวิตเป็นเพียงแค่การเดินทาง ร่างกายที่แท้ไม่ใช่ของเรา ท้ายที่สุดย่อมเสื่อมสภาพกลับไปเป็นธาตุทั้งสี่ การพลัดพรากจากหน้าที่การงานหรือคนที่รักก็เช่นกัน ท้ายที่สุดย่อมต้องจากเหลือไว้แต่ความดีในความทรงจำของผู้อื่น เพื่อดับทุกข์จึงขอลาจากไปในเวลานี้แม้จะก่อนเวลาอันควร

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน ลาก่อน นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาฯ และผู้ต้องหา

...."

ข้อวิจารณ์[แก้]

  • วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2562 อธิชัย บุญประสิทธิ์ หนึ่งในทีมนักเขียนเรื่องสั้นจากหนังสือขายหัวเราะ ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้อย่างดุเดือดบนเฟซบุ๊กของตนว่า "ไม่เห็นด้วยกับอธิบดีก็ลาออกมาเล่นการเมือง หาความยุติธรรมให้เขา บอกให้โลกรู้ ถึงจะเรียกว่านักสู้ตัวจริง สมตำแหน่งอันทรงเกียรติ ยิงตัวเอง ถ้าอยากตายจริงๆ ให้จ่อขมับนะ ถ้ารอด คราวนี้ล่ะตายทั้งเป็น บอกไว้เลย" และ "ใช้ปืนไรเฟิลM4 เป็น แสดงว่ารู้เรื่องปืนเป็นอย่างดี การยิงท้องฆ่าตัวตายจึงเป็นการแสดงละครแน่นอน ตอนนี้ชาวโซเชี่ยลกำลังขุดประวัติกันอย่างคร่ำเคร่ง ทุกแง่ทุกมุม ในขณะที่พวกหนักแผ่นดินก็เร่งโหมไฟ เดี๋ยวเจอศาลประชาชนพิพากษา แล้วจะพูดว่า รู้งี้ กูยิงกรอกปากตั้งแต่แรกดีกว่าว่ะ" และ "ยิงตัวแต่ไม่ตาย !!! เทรนด์ใหม่ของพวกหนักแผ่นดิน" และ "อ้าว ไหงตอนนี้กองเชียร์อยากให้ท่านตายมากกว่ารอดล่ะครับ แต่ฝ่ายสมน้ำหน้า กลับอยากให้รอด เอ๊ะยังไง?" เป็นต้น[18] ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและแบนหนังสือขายหัวเราะอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ในวันเดียวกันนั้น ตัวแทนจากกองบรรณาธิการขายหัวเราะได้ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่าอธิชัย เป็นเพียงนักเขียนที่เคยส่งเรื่องมาลงขายหัวเราะ แต่ไม่ได้เป็นนักเขียนในสังกัดของขายหัวเราะ และไม่ได้ลงงานในขายหัวเราะมากว่า 10 ปีแล้ว[19]
  • วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เวลา 17:25 น. ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี ได้เผยแพร่ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวมีข้อความช่วงหนึ่งกล่าวว่า "เมื่อมี #คนพยายามเปลี่ยน #แต่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะ #สังคมมีความฉลาด คนหนึ่ง #จัดฉากยิงตัวตาย ไม่ตาย ไม่เนียน เพราะเป็นคนมีความชำนาญเรื่องปืน ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือ ต้องการทำลายสถาบันศาล โกหก ใส่ร้าย จัดฉาก แต่ไม่เนียน สังคมฉลาดพอ มันไม่ง่ายหรอกที่จะทำลายล้างสถาบันที่มีความเข้มแข็ง" และ "ประเทศไทยเรามีสถาบันสำคัญ โดยเฉพาะสถาบันศาลมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องคุ้มครอง หากผู้ใดคิดทำลายสถาบันศาล ก็จะมีอันเป็นไป #ผีผลัก" ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นการพาดพิงถึงการยิงตัวเองของคณากร[20] เป็นเหตุให้ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องชี้แจงว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัว และเรื่องนี้เป็นเรื่องของทางพรรคพลังประชารัฐ มิได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลแต่อย่างใด[21]
  • วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 กนก รัตน์วงศ์สกุล ได้โพสต์ถึงการที่คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษายิงตัวเอง มีรายละเอียดโดยคร่าวว่า "ถึงไม่เสียชีวิต แต่อย่าคิดเป็นผู้พิพากษาอีกเลย..ในชาตินี้ " " ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเปล่า" ..ยังไม่รู้ ? แต่ดูจากนักสืบโซเชียล ช่วยกันกะเทาะเปลือกผู้พิพากษาแล้ว..หมดสภาพจริงๆ ไม่เหมาะสมหลายประการ... ข้อความที่โพสต์ กับ คนที่ได้ทำหน้าที่ 1 ใน 3 สถาบันหลักของชาติ .. เหมือนคนละคน! ไม่รู้ตัวตนจริง..อยู่ตรงไหน? หรือไม่ใช่ทั้งคู่? ต้องขอบคุณ ด๊อกเตอร์อองตวน ที่รีบลนลานออกมารับลูก.. โลกจึงได้รู้กันว่า ปิยบุตรได้รับข้อมูลจากนายคณากร กับจำเลย !! ข้อมูลที่รั่วไปถึงคนนอกนั้น อาจเป็นคุณเป็นโทษกับฝ่ายโจทก์และจำเลยในคดีได้ ในคดีอาญา..ฝ่ายโจทย์ ทหาร ตำรวจ อัยการ ทำคดีกันแทบตาย สุดท้ายคนตัดสิน ดันเอาไปบอกอีกฝ่ายเฉยเลย ก็ขอให้เราท่านที่ติดตามข่าวนี้ กรุณาแยกนายคณากร เพียรชนะ ออกจากผู้พิพากษาท่านอื่น อย่าไปปนเปื้อนกัน ช่วยกัน ... คืนความน่าเชื่อถือให้ผู้พิพากษา (คนอื่น) คืนความยุติธรรมให้ประชาชน ขุดอีแอบออกจากกระบวนการยุติธรรม ยันตรงทรวงอกซ้ายด้านล่าง ให้หัวทิ่มคะมำไปอยู่กับพรรคโน้น"[22][23]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คำแถลงการณ์จำนวน 25 หน้า
  2. "ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ยิงตัวเองเสียชีวิต ใน จ.เชียงใหม่". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2021-10-10.
  3. "1 ปี การเสียชีวิตของ คณากร เพียรชนะ และข้อเรียกร้องคืนคำพิกษาและความยุติธรรมให้สังคมไทย". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-03-06.
  4. Ltd.Thailand, VOICE TV. "เปิดคำพิพากษา 'คณากร' ย้ำคืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"". VoiceTV.
  5. "ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำคุก 35 ปี 4 เดือน 5 จำเลยจ่อยิง 5 ศพ ที่อดีตผู้พิพากษา "คณากร" ยกฟ้อง". mgronline.com. 2020-08-01.
  6. "เปิดประวัติ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษายะลา. [[Workpoint News]]. 5 ต.ค. 2562 (เข้าถึง 8 มี.ค. 2563)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-04. สืบค้นเมื่อ 2020-03-08.
  7. เปิดไทม์ไลน์ "ผู้พิพากษายิงตัว" คลิปแถลง ถูกแทรกแซง วอนเยียวยาลูกเมีย. ข่าวสดออนไลน์. 5 ต.ค. 2562 (เข้าถึง 8 มี.ค. 2563)
  8. 8.0 8.1 matichon (2020-01-19). "ตร.ขออนุญาตปธ.ศาลฎีกา ดำเนินคดีความผิดพ.ร.บ.อาวุธปืน 'ผู้พิพากษาคณากร'". มติชนออนไลน์.
  9. "ฌาปนกิจ 'คณากร เพียรชนะ' ผู้เรียกร้อง #คืนความยุติธรรมให้ประชาชน". prachatai.com.
  10. 10.0 10.1 "ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ยิงตัวเองเสียชีวิต ใน จ.เชียงใหม่". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2021-10-10.
  11. "ลูกและเมีย ศาลช่วยเต็มที่ (คลิป)". www.thairath.co.th. 2020-03-09.
  12. เชียงใหม่นิวส์ (2020-03-11). "ณาปนกิจศพผู้พิพากษา "คณากร เพียรชนะ" ที่สุสานสันกู่เหล็กเชียงใหม่". Chiang Mai News.
  13. "ก.ต.ยุติสอบวินัย ภายหลังผู้พิพากษา "คณากร" ยิงตัวเองดับ". mgronline.com. 2020-03-18.
  14. เชียงใหม่นิวส์ (2020-03-11). "ณาปนกิจศพผู้พิพากษา "คณากร เพียรชนะ" ที่สุสานสันกู่เหล็กเชียงใหม่". Chiang Mai News.
  15. 15.0 15.1 'คณากร เพียรชนะ' เสียชีวิตแล้วหลังยิงตัวเองซ้ำ. ประชาไท. 7 มี.ค. 2563 (เข้าถึง 8 มี.ค. 2563)
  16. "เปิดคำแถลงของผู้พิพากษา จ.ยะลา ก่อนก่อเหตุยิงตัวเอง ขออย่าแทรกแซงและความเป็นธรรมทางการเงิน". prachatai.com.
  17. "เปิดจดหมายลา ผู้พิพากษาคณากร "ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน" ก่อนยิงหัวใจตัวเองเสียชีวิต". THE STANDARD. 2020-03-07.
  18. matichon (2019-10-05). "นักเขียนการ์ตูนดังโพสต์แรง! ถึงผู้พิพากษา'คณากร'ชาวโซเชียลเดือด จ่อแบนผลงาน!". มติชนออนไลน์.
  19. matichon (2019-10-05). "'ขายหัวเราะ' ชี้แจง 'อธิชัย' ไม่ใช่นักเขียนในสังกัด ไม่ได้ลงผลงานกว่า 10ปีแล้ว". มติชนออนไลน์.
  20. ปารีณา มาแล้ว! บอกจัดฉากยิงตัวไม่เนียน หวังโกหก-ใส่ร้าย. ข่าวสดออนไลน์. 5 ต.ค. 2562 (เข้าถึง 8 มี.ค. 2563)
  21. "'นฤมล'ระบุ'ปารีณา'วิจารณ์ผู้พิพากษายิงตัวตายจัดฉาก เป็นความเห็นส่วนตัว". naewna.com. 2019-10-06.
  22. ""กนก" ชี้ "คณากร" อย่าคิดเป็นผู้พิพากษาอีกเลย..ในชาตินี้". NationTV. 2019-10-07.
  23. "Kanok Ratwongsakul Fan Page". www.facebook.com (ภาษาอังกฤษ).
  24. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๗ ข หน้า ๗๑, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
  25. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๖, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๐ ข หน้า ๑๖๙, ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
  26. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๒๖ ข หน้า ๓, ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕