พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าปัทมราช
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 1
ประสูติพ.ศ. 2330
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2408 (78 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
พระมารดาเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราช (พ.ศ. 2330 — พ.ศ. 2408) พระราชธิดาพระองค์ที่ 15 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทประสูติแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก

พระประวัติ[แก้]

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราช ประสูติเมื่อพ.ศ. 2330[1] เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทประสูติแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์ ณ นคร) กับท่านผู้หญิงนวล สุธรรมมนตรี

ภายหลังจ่ากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคต เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลากลับไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่พระองค์เจ้าปัทมราชพระชนม์เพียง 20 พรรษา[2]

พระองค์มีพระชนม์ชีพยืนยาวมาจนถึงรัชกาลที่ 4 ต่อมาพระองค์ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาต เสด็จกลับไปพยาบาลดูแลเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก พระมารดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา ถึงพระองค์เจ้าปัทมราชว่า[3]

"จดหมายถวายมายังพระองค์เจ้าปัทมราช... ป้านุ้ยละทิ้งเสดจเสีย ออกไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช... นับได้ถึง ๔๒ ปีมาแล้ว ไม่ได้พบกับเสดจเลย กระหม่อมฉันคิดสงสารเสดจด้วยคิดไปตามสามัญวิตก ว่าบุตรเดียวกับมารดา เมื่อบ้านเมืองเปนปรกติ ไม่มีศึกเสือเหนือใต้ มีไภยต้องแตกแตนกระจัดพรัดพรายดังครั้งกรุงเก่าเสียแก่พม่านั้นแล้ว ไม่ควรจะแพลงพลัดพรัดพรากจากกับนานดังนี้เลย... ครั้งนั้นเปนครั้งคราวที่ควรอยู่แล้ว ที่จะเชิญเสดจออกไปพบป้านุ้ย อย่าให้เสียทีที่ป้านุ้ยยังมีชีวิตอยู่ จนเสดจก็เจริญพระชนม์ถึง ๗๒ แล้วนั้น จึ่งได้ทูลชวนเชิญเสดจแล้วรับเสดจไปด้วย แล้วยอมให้เสดจอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ไปกว่าป้านุ้ยจะสิ้นอายุ..."

ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงมีข้าบาทชาวนครอยู่จำนวนหลายร้อย และยังคงได้รับพระราชทานเบี้ยวหวัดจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ตลอด ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่า

"...ตัวเลขสักเปนข้าในเสดจก็มีจำนวนหลายร้อยอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช... สินเดิมของป้านุ้ย เปนสิ่งของทองรูปพรรณแลเงินตราที่เปนเงินเดิมแลทำมาหาได้ใหม่... ถ้าป้านุ้ยสิ้นอายุลง ใครเล่าจะควรได้มรฎก... เบี้ยหวัดแลเงินเดือนของเสดจ แลเบี้หวัดของป้านุ้ย จำนวนปีวอกโทศก ได้ถวายออกไปเสร็จแล้ว... สิบสามเดือนเปนเงินชั่งหกตำลึง เบี้ยหวัดห้าชั่งเปนส่วนของเสดจ เบี้ยหวัดป้านุ้ยสองชั่ง..."

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรักนับถือพระองค์เจ้าปัทมราชมาก ตรัสเรียกว่า "เจ้าอาว์เจ้าน้า" คือทรงนับญาติทั้งทางฝ่ายราชตระกูล เพราะเป็นพระราชธิดาของ "ปู่น้อย" สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และนับญาติทางฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชด้วย

พระองค์เจ้าปัทมราชสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 เมื่อพ.ศ. 2408 พระชันษา 78 ปี พระอัฐบรรจุในโกศโถทรงกาไหล่ทองคำ[4] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เก็บไว้ที่วิหารสามจอม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับพระอัฐิและอัฐิของสกุลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเจ้านายสกุล ณ นคร เช่น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) เป็นต้น[5]

พระกรณียกิจ[แก้]

ในระหว่างที่ทรงประทับเมืองนครศรีธรรมราช ทรงฝึกหัดละครผู้หญิงที่นครศรีธรรมราชขึ้นคณะหนึ่ง[6] โดยจัดแสดงเรื่อง "อิเหนา" เมื่อเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กถึงแก่อนิจกรรม พระองค์ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ และทรงนำคณะละครผู้หญิงมาแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ปรับการแสดงเป็นแบบละครชาตรี ละครชาตรีของหลวงจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา[7]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 112. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-05-11.
  2. เวียงวัง ตอนที่ 116 : ลูกหลานเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
  3. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระองค์เจ้าปัทมราช วันพุธ แรม สิบสอง ค่ำ เดือน เจ็ด ปีรกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓
  4. ๒-พระอัฐิ-และอัฐิบรรพชนสกุล-ณ-นคร-โกมารกุล-ณ-นคร-และจาตุรงคกุล- เก็บถาวร 2018-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มูลนิธิสกุล ณ นคร
  5. สิ่งสำคัญในวัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดย สำนักงานนิตยสารเทียนชัย
  6. ศิลปะการแสดงเท่งตุ๊ก มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสารสนเทศจันทบุรี
  7. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๖ / เรื่องที่ ๒ ละครชาตรี / กำเนิดของละครชาตรี[ลิงก์เสีย]