ข้ามไปเนื้อหา

ปีเตอร์ รีด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปีเตอร์ รีด
รีดใน ค.ศ. 1998 ขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมซันเดอร์แลนด์
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม Peter Reid[1]
วันเกิด (1956-06-20) 20 มิถุนายน ค.ศ. 1956 (68 ปี)[1]
สถานที่เกิด ฮัยตัน ประเทศอังกฤษ
ส่วนสูง 5 ft 8 in (1.73 m)[2]
ตำแหน่ง กองกลาง
สโมสรเยาวชน
ฮัยตันบอยส์
โบลตัน วันเดอเรอร์ส
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
1974–1982 โบลตัน วันเดอเรอร์ส 225 (23)
1982–1989 เอฟเวอร์ตัน 159 (8)
1989–1990 ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส 29 (1)
1990–1993 แมนเชสเตอร์ซิตี 103 (1)
1993–1994 เซาแธมป์ตัน 7 (0)
1994 นอตส์เคาน์ตี 5 (0)
1994–1995 บิวรี 1 (0)
รวม 529 (33)
ทีมชาติ
1977–1978 อังกฤษ ชุดอายุไม่เกิน 21 ปี 6 (0)
1985–1988 ทีมชาติอังกฤษ 13 (0)
จัดการทีม
1990–1993 แมนเชสเตอร์ซิตี
1995–2002 ซันเดอร์แลนด์
1999 อังกฤษ ชุดอายุไม่เกิน 21 ปี
2003 ลีดส์ ยูไนเต็ด
2004–2005 โคเวนทรี
2008–2009 ไทย
2010–2011 พลิมัทอาร์ไกล์
2014 มุมไบ
เกียรติประวัติ
ฟุตบอลชาย
ตัวแทนของ ธงชาติไทย ไทย (ในฐานะผู้จัดการ)
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน
รองชนะเลิศ 2008
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น

ปีเตอร์ รีด (อังกฤษ: Peter Reid) เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลและอดีตผู้เล่นฟุตบอลชาวอังกฤษ[3]

สมัยเป็นนักเตะเคยเล่นให้สโมสรโบลตัน วันเดอเรอร์ส,เอฟเวอร์ตัน,ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส,แมนเชสเตอร์ซิตี เซาธ์แฮมป์ตัน,น็อตต์ส เคาน์ตี้และสโมสรบิวรี่ หลังจากแขวนสตั๊ดเคยทำหน้าที่ผู้จัดการทีมให้ทีมชาติอังกฤษชุดอายุไม่เกิน 21 ปี ซันเดอร์แลนด์ ลีดส์ ยูไนเต็ด และโคเวนทรี อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย[4] ล่าสุดเขาเป็นผู้จัดการทีมพลิมัธ อาร์กายล์ ในลีกวัน ประเทศอังกฤษ

ประวัติ

[แก้]

ปีเตอร์ รีด เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1956 ที่แขวงฮายตัน เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ขึ้นทะเบียนเป็นนักฟุตบอลอาชีพกับสโมสรโบลตัน วันเดอเรอร์สในปี 1974 โดยได้รับเหรียญรางวัลครั้งแรกเมื่อสโมสรโบลตันคว้าแชมป์ ดิวิชั่น2ในปี 1978 และได้เลื่อนชั้นแต่ปีเตอร์ รีดได้เล่นในลีกสูงสุดกับสโมสรแค่ 2 ฤดูกาล ก่อนที่โบลตันจะตกชั้นในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นเขาได้ย้ายไปร่วมทีมเอฟเวอร์ตันในปี 1982 ภายใต้การคุมทีมของโฮเวิร์ด เคนดัลล์ ด้วยค่าตัว 6 แสนปอนด์และประสบความสำเร็จกับสโมสรใหม่อย่างมากเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีมชุดที่ได้แชมป์เอฟเอคัพและแชมป์ยูฟ่า คัพ วินเนอร์สคัพในปี 1985 ก่อนจะพาสโมสรได้แชมป์ลีกสูงสุดในปี 1987

ในช่วงที่ประสบความสำเร็จนั้น รีดได้ชื่อว่าเป็นมิดฟิลด์ที่มากความสามารถและได้รับการยอมรับในยุโรป โดยได้รับเลือกให้เป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของพีเอฟเอในปี 1985 และทำสถิติลงสนามให้เอฟเวอร์ตันถึง 159 นัด ซึ่งภายหลังในปี 2003 รีด ได้รับการโหวตจากแฟนของสโมสรให้ติดอยู่ในทีม Greatest Everton XI และ รางวัล Everton Giants ในปี 2006 อีกด้วย

ในทีมชาติอังกฤษ ปีเตอร์ รีดลงสนามให้ทีมชาติชุดใหญ่ทั้งสิ้น 13นัด เป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติอังกฤษชุดฟุตบอลโลก ปี 1986 ที่เม็กซิโกและเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่อยู่ในเกมส์ที่อังกฤษแพ้อาร์เจนติน่าจากลูกยิงของดีเอโก้ มาราโดน่า

หลังจากออกจากสโมสรเอฟเวอร์ตันเขาได้ย้ายไปสู่สโมสรควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์สและเล่นอยู่หนึ่งฤดูกาลก็ย้ายไปเล่นให้แมนเชสเตอร์ซิตีภายใต้การคุมทีมของโฮเวิร์ด เคนดัลล์ เจ้านายเก่าสมัยเล่นให้เอฟเวอร์ตัน

อาชีพผู้จัดการทีม

[แก้]

ปีเตอร์ รีด เริ่มงานผู้จัดการทีมครั้งแรกเมื่อรับตำแหน่งผู้เล่น-ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ซิตีในปี 1990 โดยรับงานต่อจากโฮเวิร์ด เคนดัลล์ ที่ลาออกไป และนำทีมจบอันดับที่5ในลีกโดยอันดับสูงกว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ฤดูกาล 1992-1993 พรีเมียร์ลีกเริ่มต้นเป็นฤดูกาลแรกหลังจากเปลี่ยนชื่อมาจากดิวิชั่น 1 ปีเตอร์ รีด พาแมนเชสเตอร์ซิตีจบฤดูกาลด้วยอันดับ 9ด้วยสไตล์การเล่นบอลโยนยาวอันเป็นเอกลักษณ์ แต่หลังจากนั้นเขาก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อทีมมีผลงานตกต่ำลง

ต่อมาปีเตอร์รีดย้ายมาเล่นให้สโมสรเซาธ์แฮมป์ตันในช่วงสั้นๆภายใต้การคุมทีมของเอียน แบรนฟุตโดยลงเล่นแค่ 7 นัด และย้ายไปเล่นให้กับสโมสรน็อตต์ส เคาน์ตี้และสโมสรบิวรี่ก่อนจะเลิกเล่นฟุตบอลอย่างเป็นทางการ

รีดเริ่มต้นงานผู้จัดการทีมแบบเต็มตัวในฤดูกาล 1995-1996 เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมซันเดอร์แลนด์ในดิวิชั่น1(ปัจจุบันคือ ลีกแชมเปี้ยน ชิพ)ซึ่งเป็นทีมที่ต้องดิ้นรนหนีการตกชั้นแต่ปีเตอร์ รีดกลับพาทีมได้แชมป์และคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นพรีเมียร์ ลีกแบบพลิกความคาดหมายทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลซันเดอร์แลนด์อย่างมาก แม้จะเลื่อนชั้นขึ้นมาปีเดียวแล้วสโมสรตกชั้นก็ตาม

ฤดูกาลต่อมาในดิวิชั่น1ซันเดอร์แลนด์พลาดโอกาสเลื่อนชั้นกลับไปเล่นพรีเมียร์ ลีกอย่างน่าเสียดายเมื่อแพ้การดวลจุดโทษในรอบเพล์-ออฟแก่ชาร์ลตัน แอธเลติกหลังจากเสมอกันในเวลา 4-4 อย่างไรก็ตามปีเตอร์ รีดพาทีมเลื่อนชั้นกลับไปพรีเมียร์ ลีกสำเร็จเมื่อคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ได้อีกครั้งในฤดูกาล 1998-1999 พร้อมทำสถิติใหม่เมื่อได้แต้มถึง 105 คะแนน

ซันเดอร์แลนด์เริ่มต้นในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 1999-2000 อย่างน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อมีลุ้นทำอันดับไปเล่นฟุตบอลยุโรปแต่เมื่อจบฤดูกาลก็ต้องผิดหวังเมื่อได้อันดับที่ 7 พลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย ฤดูกาลดังกล่าวทีมของปีเตอร์ รีดสร้างสถิติใหม่อีกครั้งโดยเป็นทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นมาแล้วได้อันดับสูงที่สุดคืออันดับ 7 และเควิน ฟิลลิปส์กองหน้าทีมชาติอังกฤษของสโมสรก็เป็นดาวซัลโวอันดับ1ของพรีเมียร์ลีกและของยุโรปด้วยผลงาน 30 ประตูในพรีเมียร์ลีก

ในฤดูกาล 2000-2001 ทีมมีโอกาสไปเล่นถ้วยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเมื่อทำผลงานดีในช่วงต้นแต่ฟอร์มของทีมยังไม่สม่ำเสมอทำให้จบฤดูกาลด้วยอันดับ7อีกครั้งและหลังจากนั้นลูกทีมของปีเตอร์ รีดก็กลับมีฟอร์มตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย โดยอยู่เหนือโซนตกชั้นแค่1อันดับในฤดูกาล 2001-2002 โดยยิงประตูได้แค่ 28 ประตูจาก 38 นัดน้อยกว่าทุกทีมในลีก และถึงขนาดเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2002-2003 ทำให้ปีเตอร์ รีดแยกทางกับสโมสรที่เขาอยู่มาเกือบ8ปีก่อนสิ้นฤดูกาล และหลังจบฤดูกาลสโมสรก็มีอันต้องตกชั้น โดยมีคะแนนเพียง19คะแนน

หลังออกจากซันเดอร์แลนด์เขารับงานคุมทีมลีดส์ ยูไนเต็ด ในพรีเมียร์ลีกหลังสโมสรปลดเทอรรี่ เวนาเบิ้ลส์ออกจากตำแหน่งในปี 2003 และมีเควิน แบล็คเวลล์เป็นผู้ช่วย โดยขณะนั้นสโมสรตกต่ำอย่างหนักและมีความเสี่ยงต่อการตกชั้นสูง สโมสรมีหนี้สินมากกว่า 80 ล้านปอนด์จากการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆได้ ปีเตอร์ รีดดูเหมือนจะช่วยกู้สถานการณ์ของทีมไว้ได้ช่วงหนึ่งเมื่อพาทีมบุกชนะชาร์ลตัน แอธเลติกถึงถิ่น 6-1 และชนะอาร์เซนอล 3-2 และพาทีมรอดจากการตกชั้นได้สำเร็จ

หลังจากเอาตัวรอดได้ในฤดูกาล 2002-2003 แฟนบอลเริ่มมีความหวังต่อทีมมากขึ้น แต่สถานะการเงินของสโมสรยังคงย่ำแย่อย่างหนัก และถึงขนาดต้องขายดาราประจำทีมออกไปหลายราย รวมถึงแฮรี่ คีเวลล์มิดฟิลด์ทีมชาติออสเตรเลียหนึ่งในขวัญใจของแฟนบอล ต่อจากนั้นปีเตอร์ ริดส์เดลผู้บริหารของสโมสรก็ลาออกพร้อมทิ้งปัญหาไว้มากมาย สโมสรมีความเป็นไปได้ที่จะตกชั้นเมื่อปีเตอร์ รีดพาทีมออกไปแพ้พอร์ทสมัธที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาถึง 6-1 ทำให้หลังจากนั้นไม่นานเขาถูกปลดจากตำแหน่ง และเอ็ดดี้ เกรย์หนึ่งในทีมงานโค้ชต้องทำหน้าที่ผู้จัดการทีมชั่วคราวจนจบฤดูกาลซึ่งสุดท้ายสโมสรก็ตกชั้นในฤดูกาล 2003-2004

เดือนพฤษภาคม ปี2004 เขารับงานคุมทีมระดับล่างโดยการทำหน้าที่คุมทีมโคเวนทรี ซิตี้ในดิวิชั่น 1 (ลีก แชมเปี้ยนชิพในปัจจุบัน) สโมสรมีเป้าหมายที่จะเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในพรีเมียร์ลีก แต่ปีเตอร์ รีดมีโอกาสอยู่กับทีมแค่8เดือนเท่านั้น เมื่อโดนปลดในเดือนมกราคม ปี 2005 ก่อนจบฤดูกาล เมื่อพาทีมรั้งอันดับ 20 ของตารางและเกือบตกชั้น ต่อมาในปี 2006 มีกระแสข่าวว่าปีเตอร์ รีด จะได้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฟุตบอลของซันเดอร์แลนด์ภายใต้การบริหารของไนออล ควินน์ ประธานสโมสรคนใหม่ซึ่งเคยเป็นลูกทีมของปีเตอร์ รีดสมัยคุมทีมแมนเชสเตอร์ซิตีและซันเดอร์แลนด์ แต่สุดท้ายรีดก็ไม่ได้รับงานนี้

ในปี2007 ปีเตอร์ รีด ตัดสินใจรับงานคุมทีมชาติชุดใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อรับงานคุมทีมชาติไทยโดยเซ็นสัญญา4ปี และได้ค่าจ้างปีละ1ล้านปอนด์ (ประมาณ 63ล้านบาท) วันที่28 ตุลาคม ปี 2008 รีดประเดิมคุมทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการนัดแรกคือนัดที่ไทยชนะเกาหลีเหนือ 1-0 ในศึกทีแอนด์ที คัพที่ประเทศเวียดนาม ก่อนที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันที่ 9 กันยายน ปีถัดมา

ในปี 2009 รีดได้กลับมารับงานในประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง โดยรับหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการทีม สโต๊ค ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะไปรับงานผู้จัดการทีมเต็มตัวอีกครั้งหนึ่ง กับสโมสร พลิมัธ อาร์ไกล์ ทีมในลีกวัน ซึ่งอยู่ในมณฑลเดวอน ย่านตะวันตกเฉียงใต้ ของประเทศอังกฤษ ในปี 2010

บทบาทอื่น

[แก้]

ปีเตอร์ รีด เป็นเอเยนต์นักฟุตบอลที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องโดยทำงานร่วมกับฌอน รีดน้องชายของเขา และเคยเป็นผู้วิเคราะห์เกมส์ทางโทรทัศน์กับบีบีซีในช่วงฟุตบอลโลก 2006 ร่วมกับลี ดิ๊กซั่นอดีตกองหลังทีมชาติอังกฤษ นอกจากนี้ยังเคยทำงานกับสกาย สปอร์ตในปี 2007

ผลงาน

[แก้]

สมัยเป็นผู้เล่น

[แก้]

โบลตัน วันดอร์เรอร์ส

  • ดิวิชั่น 2(เดิม) แชมป์: ฤดูกาล 1977-1978

เอฟเวอร์ตัน

สมัยเป็นผู้จัดการ

[แก้]

ซันเดอร์แลนด์

  • ดิวิชั่น 1 (ปัจจุบันคือ ลีก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ) แชมป์: ฤดูกาล 1995-1996, 1998-1999

ทีมชาติไทย

สโมสรที่เคยเล่น

[แก้]

ประวัติการคุมทีม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ปีเตอร์ รีด". Barry Hugman's Footballers. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2020.
  2. Dunk, Peter, บ.ก. (1987). Rothmans Football Yearbook 1987–88. London: Queen Anne Press. p. 162. ISBN 978-0-356-14354-5.
  3. "League Managers Association - Peter Reid". www.leaguemanagers.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-31. สืบค้นเมื่อ 5 March 2020.
  4. "Thailand To Unveil Reid This Month". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-31. สืบค้นเมื่อ 2008-12-20.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]