พรีเมียร์ลีก
- สำหรับพรีเมียร์ลีกอื่นๆ ดูที่ พรีเมียร์ลีก (แก้ความกำกวม)
![]() | |
ก่อตั้ง | 20 กุมภาพันธ์ 1992 |
---|---|
ประเทศ | อังกฤษ |
สมาพันธ์ | ยูฟ่า |
จำนวนทีม | 20 |
ระดับในพีระมิด | 1 |
ตกชั้นสู่ | อีเอฟแอลแชมเปียนชิป |
ถ้วยระดับประเทศ | เอฟเอคัพ เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ |
ถ้วยระดับลีก | อีเอฟแอลคัพ |
ถ้วยระดับนานาชาติ | ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ยูฟ่ายูโรปาลีก ยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก |
ทีมชนะเลิศปัจจุบัน | แมนเชสเตอร์ซิตี (7 สมัย) (2020–21) |
ชนะเลิศมากที่สุด | แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (20 สมัย) |
ผู้ลงเล่นมากที่สุด | แกเร็ท แบร์รี (653) |
ผู้ทำประตูสูงสุด | แอลัน เชียเรอร์ (260) |
หุ้นส่วนโทรทัศน์ | สกายสปอตส์, บีทีสปอตส์, แอมะซอนไพร์มวิดีโอ (ถ่ายทอดสด) สกายสปอตส์, บีบีซีสปอตส์ (ไฮไลต์) ทรูวิชั่นส์ (ถ่ายทอดสดและไฮไลต์สำหรับประเทศไทย) |
เว็บไซต์ | premierleague.com |
![]() |
พรีเมียร์ลีก (อังกฤษ: Premier League) หรือมักจะเรียกว่า พรีเมียร์ลีกอังกฤษ เป็นการแข่งขันฟุตบอลในระดับลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษ โดยแข่งขันกัน 20 สโมสร มีระบบการตกชั้นไปสู่ อีเอฟแอลแชมเปียนชิป ฤดูกาลการแข่งขันเริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคม แต่ละทีมลงเล่นทั้งหมด 38 นัดจากการพบกันเหย้าและเยือน[1] โดยนัดการแข่งขันส่วนใหญ่มักจะแข่งขันในช่วงบ่ายวันเสาร์และวันอาทิตย์ (เวลาท้องถิ่น)
การแข่งขันก่อตั้งในชื่อ เอฟเอพรีเมียร์ลีก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 หลังการตัดสินใจของสโมสรใน ฟุตบอลลีกเฟิสต์ดิวิชัน ที่ต้องการจะแยกตัวออกจาก อิงกลิชฟุตบอลลีก ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1888 เพื่อรับผลประโยชน์จากข้อตกลงสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์[2] ข้อตกลงนั้นมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านปอนด์ต่อปี ณ ฤดูกาล 2013–14 โดยมี สกายและบีทีกรุป ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสด 116 นัดและ 38 นัด ตามลำดับ[3] พรีเมียร์ลีกเป็นบริษัทที่สโมสรเป็นสมาชิกทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นและสร้างรายได้ 2.2 พันล้านยูโรต่อปี จากสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั้งในประเทศและต่างประเทศ[4] สโมสรได้รับรายได้จากเงินส่วนกลางจำนวน 2.4 พันล้านปอนด์ในฤดูกาล 2016–1718 และอีก 343 ล้านปอนด์จ่ายให้กับสโมสรใน อิงกลิชฟุตบอลลีก (อีเอฟแอล)[5]
พรีเมียร์ลีกเป็นลีกกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก โดยมีการถ่ายทอดสดใน 212 ดินแดน ไปยังบ้าน 643 ล้านหลังและคาดว่ามีผู้ชมโทรทัศน์ 4.7 พันล้านคน[6][7] มีผู้ชมในสนามเฉลี่ย 38,181 คน ในฤดูกาล 2018–19[8] เป็นรองแค่ บุนเดิสลีกา ซึ่งมีผู้ชมในสนามเฉลี่ยที่ 43,500 คน[9] และมีผู้ชมในสนามสะสมในทุกนัดการแข่งขันที่ 14,508,981 คน ซึ่งสูงที่สุดมากกว่าลีกอื่น ๆ[10] โดยเกือบทุกสนามมีผู้ชมเกือบเต็มความจุของสนาม[11] พรีเมียร์ลีกมีค่าสัมประสิทธิ์ยูฟ่าเป็นอันดับที่สอง เป็นรองแค่ ลาลิกา โดยค่าสัมประสิทธิ์ยูฟ่านั้นคือการนำผลงานการแข่งขันในยุโรปจำนวนห้าฤดูกาลก่อนมาคำนวณ [12]
มี 49 สโมสรที่เคยแข่งขันในพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1992 โดยแบ่งเป็นสโมสรจากอังกฤษ 47 สโมสรและสโมสรจากเวลส์ 2 สโมสร มี 7 สโมสรจากทั้งหมดที่ชนะเลิศพรีเมียร์ลีก ได้แก่ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (13), เชลซี (5), แมนเชสเตอร์ซิตี (5), อาร์เซนอล (3), แบล็กเบิร์นโรเวอส์ (1), เลสเตอร์ซิตี (1), ลิเวอร์พูล (1)[13] สถิติคะแนนสูงสุดในพรีเมียร์ลีกคือ 100 คะแนน ทำโดยแมนเชสเตอร์ซิตีเมื่อ ฤดูกาล 2017–18
ประวัติ[แก้]
เดิมฟุตบอลลีกแห่งนี้ ได้ใช้ชื่อว่า ฟุตบอลลีกดิวิชันหนึ่ง ซึ่งมีจัดการแข่งขันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) และถือว่าเคยเป็นลีกฟุตบอลที่ยาวนานที่สุดในโลก โดยในปี พ.ศ. 2535 ในฤดูกาล 1992-93 ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นจากรูเพิร์ธ เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch) นักธุรกิจสื่อสารรายใหญ่เจ้าของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์สกาย (BSkyB) พยายามผลักดันให้สโมสรฟุตบอลที่จะลงแข่งขันในดิวิชันหนึ่งประจำฤดูกาล 1992-93 ถอนตัวออกมาจัดตั้งเป็นพรีเมียร์ลีกทำให้ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษในชื่อว่าดิวิชันหนึ่ง ซึ่งมีอายุ 104 ปี ต้องยุติลง ขณะเดียวกันทางฟุตบอลลีกเดิมได้เปลี่ยนชื่อจาก ดิวิชันสอง มาเป็น ดิวิชันหนึ่ง และดิวิชันอื่นได้เปลี่ยนตามกันไป
ในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่วงการฟุตบอลอาชีพของอังกฤษตกต่ำอย่างมาก เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของฟุตบอลอังกฤษ เช่น เหตุการณ์เพลิงไหม้อัฒจันทร์วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ที่สนามฟุตบอลของแบรดฟอร์ดซิตีในระหว่างการแข่งขัน มีผู้เสียชีวิต 56 คน เหตุการณ์ภัยพิบัติฮิลส์โบโรวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2532 ที่สนามฮิลส์โบโรของเชฟฟิลด์เวนส์เดย์ มีผู้คนเหยียบกันเสียชีวิต 96 คน นอกจากนี้ ภัยพิบัติเฮย์เซลซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบชิงชนะเลิศระหว่างลิเวอร์พูลและยูเวนตุสที่มีผู้เสียชีวิต 39 คน ทำให้ยูฟ่าสั่งห้ามไม่ให้สโมสรจากอังกฤษเข้าร่วมการแข่งขันชิงถ้วยสโมสรในยุโรปเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้กลุ่มฮูลิแกนหรืออันธพาลลูกหนังที่ตามไปเชียร์ทีมที่ชื่นชอบก็ก่อพฤติกรรมเกะกะระรานหลังจบการแข่งขัน เข้าผับดื่มกินจนเมามาย บ้างก็วิวาทกับแฟนฟุตบอลเจ้าถิ่นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายบางครั้งรุนแรงถึงขั้นจลาจลหรือไม่ก็มีคนเสียชีวิต โดยสาเหตุส่วนหนึ่งของภัยพิบัติเฮย์เซลก็เป็นการทะเลาะกันระหว่างแฟนบอลชาวอิตาลีที่มาชวนทะเลาะกับฮูลิแกน ซึ่งทำให้แฟนฟุตบอลไม่สามารถชมการแข่งขันได้อย่างสงบสุข เนื่องด้วยกลัวจะถูกลูกหลง ประกอบกับสภาพสนามที่ย่ำแย่ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือการป้องกันเหตุฉุกเฉินอย่างดีพอ ทำให้ชาวอังกฤษหลายคนตัดสินใจรับชมการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ที่บ้าน แทนที่จะเดินทางมาเชียร์ในสนามดังเช่นอดีต ช่วงทศวรรษ 1980 รายได้ของสโมสรจากค่าผ่านประตูซึ่งเป็นรายได้หลักได้ลดลงอย่างมาก มีเพียงสโมสรชั้นนำไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังคงมีกำไร ในฤดูกาล 1986-87 ทุกสโมสรฟุตบอลมีกำไรสุทธิรวมเพียง 2.5 ล้านปอนด์ พอถึงฤดูกาล 1989-90 รวมทุกสโมสรขาดทุน 11 ล้านปอนด์ ทำให้นายทุนไม่กล้าจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจกีฬาอาชีพนี้อย่างเต็มที่ หลายสโมสรในช่วงนั้นมีข่าวว่าใกล้จะล้มละลาย
ภายหลังเหตุการณ์ที่สนามฮิลส์โบโร รัฐบาลอังกฤษได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น โดยมีลอร์ดปีเตอร์ เทย์เลอร์ ผู้พิพากษาระดับรองประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการ โดยผลการไต่สวนซึ่งเรียกว่ารายงานฉบับเทย์เลอร์ (Taylor Report) ได้กลายมาเป็นเอกสารสำคัญนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะกำหนดให้ทุกสโมสรต้องปรับปรุงสนามแข่งขัน ที่สำคัญคืออัฒจันทร์ชมการแข่งขันต้องเป็นแบบนั่งทั้งหมด ห้ามมีอัฒจันทร์ยืนเพื่อความปลอดภัยของผู้ชมการแข่งขัน โดยทีมในระดับดิวิชัน 1 และ 2 ต้องปรับปรุงให้เสร็จในปี 2537 และ ดิวิชัน 3 และ 4 ให้เสร็จในปี 2542 ส่งผลให้การยืนชมฟุตบอลซึ่งเป็นวัฒนธรรมการชมฟุตบอลของคนอังกฤษมานานต้องจบลง รวมทั้งบางแห่งที่มีชื่อเสียงอย่างเช่นอัฒจันทร์เดอะค็อปของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ถึงแม้ว่าในประเทศอังกฤษจะมีสโมสรฟุตบอลทั้งอาชีพและสมัครเล่นมากที่สุดในโลก แต่สนามฟุตบอลส่วนใหญ่มีสภาพเก่าแก่ทรุดโทรม บางสโมสรในระดับดิวิชันหนึ่งหรือดิวิชันสองยังคงมีอัฒจันทร์ที่สร้างด้วยไม้ ทำให้การปรับปรุงสนามฟุตบอลของสโมสรฟุตบอลอังกฤษครั้งนี้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ท่ามกลางสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคงเพราะรายได้ลดลงอย่างมาก สโมสรเล็กบางแห่งซึ่งมีผู้ชมน้อยอยู่แล้วจึงใช้วิธีปิดตายอัฒจันทร์ยืน ส่วนสโมสรใหญ่ที่ฐานะการเงินดีกว่าก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะไม่อาจใช้วิธีเลี่ยงปัญหาแบบสโมสรเล็กได้ รัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นต้องเข้าช่วยเหลือโดยลดค่าธรรมเนียมหรือภาษีธุรกิจพนันฟุตบอล นำเงินส่วนนี้มาตั้งกองทุนฟุตบอลจำนวน 100 ล้านปอนด์ ให้ฟุตบอลลีกเป็นคนจัดสรรให้สโมสรฟุตบอลซึ่งเป็นภาคีสมาชิกทั้ง 96 สโมสร นำไปพัฒนาปรับปรุงสนามแข่งขันของตนเอง แต่งบประมาณเท่านี้ต้องนับว่าน้อยมาก หากนำมาเฉลี่ยอย่างเท่ากันแล้วจะได้รับเงินเพียงสโมสรละ 1.08 ล้านปอนด์เท่านั้น ขณะที่สโมสรฟุตบอลชั้นแนวหน้าของลีกต้องใช้เงินในการณ์นี้สูงถึงกว่าสิบล้านปอนด์ สโมสรใหญ่ในดิวิชันหนึ่งจึงกดดันฟุตบอลลีกจัดสรรเงินให้มากกว่าสโมสรเล็ก เพราะหากไม่เสร็จทันตามกำหนดอาจจะถูกถอนใบอนุญาตได้
กิจการถ่ายทอดทางโทรทัศน์[แก้]
ในช่วงเวลาที่สโมสรใหญ่ต้องการเงินทุนมหาศาลนี้ เป็นโอกาสให้เจ้าของสถานีโทรทัศน์สกาย ยื่นข้อเสนอให้สโมสรในดิวิชันหนึ่งประจำฤดูกาล 1992−93 ให้ถอนตัวจากสมาชิกฟุตบอลลีกเพื่อมาจัดตั้งเอฟเอพรีเมียร์ลีก โดยทางสถานีขอซื้อสิทธิผูกขาดในการถ่ายทอดการแข่งขันในราคาแพง ทำสัญญาฉบับแรกซื้อสิทธิผูกขาดในการถ่ายทอดการแข่งขันเป็นเวลา 5 ปี (ฤดูกาล 1992−93 ถึง 1996−97) จ่ายค่าตอบแทนให้ 304 ล้านปอนด์ เทียบกับในอดีตที่ฟุตบอลลีกได้รายได้จากการขายสิทธิให้สถานีไอทีวีของอังกฤษ เพียง 44 ล้านปอนด์ ในช่วงเวลา 4 ปี เงื่อนไขตอบแทนทางธุรกิจเช่นนี้ ดึงดูดให้สโมสรทั้งหลายสนใจเป็นอย่างยิ่ง จนผู้บริหารสโมสรบางคน เช่น นายแอลัน ชูการ์ เจ้าของสโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์ แสดงตนเป็นแกนนำในการล็อบบี้ให้สโมสรอื่น ๆ ในดิวิชันหนึ่งที่จะเริ่มแข่งขันในฤดูกาล 1992−93 เห็นชอบกับการก่อตั้งลีกแห่งนี้
สำหรับลิขสิทธิ์การเผยแพร่ในประเทศไทย ในช่วงฤดูกาล 2013−14, 2014−15 และ 2015−16 เป็นของบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หน่วยงานกลางของกลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลระดับท้องถิ่น โดยต่อเนื่องมาจากบริษัท ทรูวิชันส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลทั่วประเทศ ในเครือบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือลิขสิทธิ์ตั้งแต่ฤดูกาล 2007−08 จนถึง 2012−13 โดยต่อมาในปี 2016/2017 จนถึง 2018/2019 ช่องบีอินสปอตส์ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดดังกล่าว
การจัดตั้ง[แก้]
17 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 มีการลงนามข้อตกลงภาคีสมาชิกก่อตั้ง (Founder Members Agreement) เพื่อวางหลักการสำคัญในการจัดตั้งพรีเมียร์ลีก ได้แก่ ระบบลีกสูงสุดใหม่นี้จะดำเนินการทางธุรกิจด้วยตนเอง ทำให้พรีเมียร์ลีกมีอิสระที่จะเจรจาผลประโยชน์กับผู้สนับสนุน รวมทั้งสิทธิในการขายสิทธิถ่ายทอดโทรทัศน์ของตนเอง แยกขาดจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษและฟุตบอลลีก จากนั้นในปี พ.ศ. 2535 ทั้ง 20 สโมสรได้ยื่นขอถอนตัวจากฟุตบอลลีกอย่างเป็นทางการ
ต่อมา 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เอฟเอพรีเมียร์ลีกจึงก่อตั้งโดยจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด มีสโมสรฟุตบอลสมาชิกทั้ง 20 แห่งเป็นหุ้นส่วน ความเป็นหุ้นส่วนจึงขึ้นอยู่กับผลการแข่งขันทางสโมสร หากทีมใดยังคงอยู่ในพรีเมียร์ลีกก็จะถือเป็นหุ้นส่วนของพรีเมียร์ลีกต่อไป ในช่วงปิดฤดูกาลสโมสรที่ตกชั้นจะต้องมอบสิทธิความเป็นหุ้นส่วนให้กับสโมสรที่เลื่อนชั้นมาจากดิวิชั่น 2 ที่เปลี่ยนชื่อเป็นดิวิชั่น 1 (ลีกแชมเปียนชิปในปัจจุบัน) โดยมีสมาคมฟุตบอลอังกฤษถือสิทธิเป็นหุ้นส่วนหลัก มีอำนาจที่จะคัดค้านในประเด็นสำคัญ เช่น การแต่งตั้งประธานกรรมการและผู้บริหารระดับสูง หลักการเลื่อนชั้นหรือตกชั้นของสโมสรเท่านั้น แต่ไม่อาจล่วงไปถึงกิจการเฉพาะของพรีเมียร์ลีก ซึ่งได้แก่เงื่อนไขและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่าง ๆ
ด้วยค่าตอบแทนจากการถ่ายทอดโทรทัศน์และประโยชน์ที่ได้รับจากผู้สนับสนุนการแข่งขัน ทำให้พรีเมียร์ลีกพัฒนาเป็นลีกฟุตบอลภายในประเทศที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
การซื้อตัวผู้เล่นต่างชาติ[แก้]
จารีตอันยาวนานของสโมสรฟุตบอลอังกฤษในเรื่องนักฟุตบอลของทีมคือ แต่ละสโมสรจะส่งตัวแทนค้นหาเยาวชนที่มีความสามารถทางการเล่นฟุตบอลเพื่อนำมาฝึกหัดพัฒนาทักษะ โดยให้ลงเล่นตั้งแต่ในทีมระดับเยาวชน สมัครเล่น หรือทีมสำรอง ผู้ที่มีความโดดเด่นจะได้รับคัดเลือกให้ลงเล่นในทีมชุดใหญ่ซึ่งลงแข่งในฟุตบอลลีก หากจะมีการซื้อตัวผู้เล่น ก็มักจะมาจากสโมสรในดิวิชันหนึ่ง (เดิม) ซื้อตัวผู้เล่น ดาวรุ่ง จากดิวิชันที่ต่ำกว่าหรือจากสโมสรสมัครเล่นนอกลีก มีน้อยมากที่ซื้อนักฟุตบอลต่างชาติ (ไม่นับรวม สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์) ต่างจากสโมสรฟุตบอลอาชีพทางยุโรปตอนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสโมสรฟุตบอลในอิตาลีและสเปน ซึ่งมักจะได้รับฉายาว่า เจ้าบุญทุ่ม บ่อยครั้งที่สโมสรฟุตบอลจากสองประเทศนี้จ่ายเงินมหาศาล จนถึงขั้นสร้างสถิติโลกในการซื้อตัวนักฟุตบอลต่างชาติเพียงหนึ่งคน
แต่เมื่อพรีเมียร์ลีกก่อกำเนิด ธรรมเนียมการกว้านซื้อตัวนักฟุตบอลต่างชาติของสโมสรฟุตบอลอังกฤษจึงเริ่มมีมากขึ้น จารีตการสร้างนักฟุตบอลของตัวเองแม้จะยังคงอยู่แต่ก็ลดความสำคัญลงไปทุกขณะ เพราะต้องใช้เวลายาวนานอาจไม่ทันการณ์ สู้ใช้เงินซื้อนักฟุตบอลชื่อดังระดับโลกมาร่วมสังกัดไม่ได้ ที่สามารถดึงดูดแฟนฟุตบอลให้ซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันมากขึ้นในเวลาอันสั้น ลีลาการเล่นที่ตื่นเต้นเร้าใจย่อมขยายฐานแฟนคลับให้กว้างขวางออกไปอย่างรวดเร็ว เมื่อสโมสรชั้นนำในพรีเมียร์ลีกต่างมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงกว่าเดิม จึงพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
รูปโฉมใหม่ของฟุตบอลอาชีพอังกฤษเปิดฉากขึ้น ในฤดูกาล 1994-95 เมื่อท็อตนัมฮอตสเปอร์ซี่ซื้อตัวเยือร์เกิน คลินส์มันน์ นักฟุตบอลทีมชาติเยอรมันจากโมนาโกในลีกฝรั่งเศส ทักษะและลีลาการเล่นฟุตบอลของคลินส์มันน์สร้างความตื่นตาตื่นใจต่อผู้ชม ทำให้เขากลายเป็นขวัญใจของกองเชียร์ในเวลาไม่นาน สร้างความพึงพอใจต่อสโมสรต้นสังกัดเป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จของทอตนัมฮอตสเปอร์กระตุ้นให้สโมสรอื่น กล้าลงทุนซื้อตัวนักฟุตบอลระดับโลกมากขึ้น เพราะรายรับที่ได้กลับคืนมาคุ้มค่ากับการลงทุน
ในฤดูกาลถัดมานักฟุตบอลต่างชาติได้มาเล่นในฟุตบอลอังกฤษมากขึ้น ในฤดูกาล 1995-96 มิดเดิลสโบรห์ซื้อจูนินโญ่และเอเมอร์สัน (บราซิล) นิวคาสเซิลยูไนเต็ดซื้อฟาอุสติโน อัสปริญา (โคลอมเบีย) อาร์เซนอลซื้อแด็นนิส แบร์คกัมป์ (ฮอลแลนด์) เชลซีซื้อรืด คึลลิต (ฮอลแลนด์) เป็นต้น ฤดูกาล 1996-97 มิดเดิลสโบรห์ซื้อฟาบรีซีโอ ราวาเนลลี (อิตาลี) เชลซีซื้อจันลูกา วีอัลลี และจันฟรังโก โซลา (อิตาลี) สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลซื้อแพทริก แบเกอร์ (สาธารณรัฐเช็ก) และอาร์เซนอลซื้อปาทริค วิเอร่า (ฝรั่งเศส) เป็นต้น โดยในฤดูกาล 1999-2000 เชลซีได้ส่งผู้เล่น 11 ตัวจริงลงเล่นโดยที่ไม่มีผู้เล่นของอังกฤษหรือประเทศในสหราชอาณาจักรปนอยู่เลยเป็นทีมแรก[14]
นอกจากนักฟุตบอลแล้ว ผู้จัดการทีมต่างชาติก็เข้ามามีบทบาทในพรีเมียร์ลีกจวบจนปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาร์แซน แวงแกร์, รืด คึลลิต, เฌราร์ อูลีเย, ราฟาเอล เบนีเตซ, โชเซ มูรีนโย ฯลฯ แม้แต่สโมสรฟุตบอลที่มีลักษณะอนุรักษนิยมสูง ดังเช่น ลิเวอร์พูล ที่ปรับตัวให้เข้ากับระบบใหม่ช้ากว่าคู่แข่งหลายทีม จนทำให้ยังไม่ประสบความสำเร็จในระดับแชมป์พรีเมียร์ลีก (ต่างจากยุคฟุตบอลลีก) และยังต้องปรับตัวต่อกระแสการซื้อตัวนักฟุตบอลและผู้จัดการทีมต่างชาติ เพื่อหวังจะครองแชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกให้ได้
อาจกล่าวได้ว่าในขณะนี้ พรีเมียร์ลีกเป็นลีกฟุตบอลภายในประเทศที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ดึงดูดนักฟุตบอลชั้นดีให้มาประกอบวิชาชีพไม่ต่างจากเซเรียอาของประเทศอิตาลี หรือลาลิกาของประเทศสเปน ตัวชี้วัดคุณภาพที่ดีที่สุดคือนักฟุตบอลที่เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ซึ่งเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ มีจำนวน 101 คนที่เล่นฟุตบอลในอังกฤษ และปัจจุบันมีนักฟุตบอลต่างชาติในพรีเมียร์ลีกมากกว่า 290 คน[15][16][17][18]
รูปแบบการแข่งขัน[แก้]
การแข่งขัน[แก้]
มีสโมสรร่วมกันแข่งขันในพรีเมียร์ลีก 20 ทีม ในช่วงระหว่างฤดูกาล (ตั้งแต่สิงหาคมถึงพฤษภาคม) โดยแต่ละทีมจะพบกันหมด เหย้าและเยือน ทีมชนะได้ 3 คะแนน ทีมเสมอได้ 1 คะแนน และทีมแพ้ไม่ได้คะแนน ตลอดฤดูกาลทุกทีมจะต้องแข่งขันทั้งสิ้น 38 นัด ทีมจะถูกจัดอันดับโดยเรียงจาก คะแนน, ผลประตูได้เสียและผลประตูรวม หากยังคงเท่ากันทีมจะถือว่าครองตำแหน่งเดียวกัน หากมีการเสมอกันในการตกชั้นสู่การแข่งขันลีกแชมเปียนชิป หรือ การคัดเลือกไปยังการแข่งขันอื่น ๆ จำเป็นต้องมีการแข่งขันเพลย์ออฟที่สนามกลางเพื่อตัดสินอันดับ[19]
การเลื่อนชั้นและการตกชั้น[แก้]
มีระบบการเลื่อนชั้นและการตกชั้น ระหว่าง พรีเมียร์ลีก และ อีเอฟแอลแชมเปียนชิป โดยสามทีมที่ได้อันดับต่ำสุดในพรีเมียร์ลีก จะต้องตกชั้นไปเล่นใน แชมเปียนชิป และ ทีมที่อันดับสูงที่สุดสองทีมในแชมเปียนชิปจะเลื่อนชั้นไป พรีเมียร์ลีก พร้อมกับอีกหนึ่งทีมที่มาจากการชนะเลิศในการแข่งขันเพลย์-ออฟระหว่างอันดับที่ 3, 4, 5 และ 6[20] แต่เดิมพรีเมียร์ลีกมี 22 ทีมตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1992 แต่ลดลงเหลือ 20 ทีม เมื่อปี ค.ศ. 1995[21]
การคัดเลือกไปยังการแข่งขันอื่น[แก้]
4 ทีมที่อันดับดีสุดจะได้ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยสี่ทีมอันดับแรกจะผ่านเข้าไปรอในรอบแบ่งกลุ่ม (ทีมชนะเลิศได้อยู่โถ 1) ส่วนอันดับ 5 จะได้เล่นยูฟ่ายูโรปาลีก (ยูฟ่า คัพ เดิม) และทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลถ้วยภายในประเทศก็จะได้สิทธิ์ไปเล่นในยูโรปาลีก โดยอัตโนมัติเช่นกัน ส่วนทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลอีเอฟแอลคัพก็จะได้สิทธิ์ไปเล่นในยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก โดยอัตโนมัติเช่นกัน ในกรณีที่ทีมอันดับ 1-4 ชนะการแข่งขันฟุตบอลถ้วยภายในประเทศและชนะการแข่งขันฟุตบอลลีกคัพ สิทธิ์การแข่งยูโรปาลีก จะได้แก่อันดับ 5 และ 6 ของพรีเมียร์ลีกแทน และสิทธิ์การแข่งคอนเฟอเรนซ์ลีก จะได้แก่อันดับ 7 ของพรีเมียร์ลีกแทน
ทีมพรีเมียร์ลีกที่ได้สิทธิไปแข่งฟุตบอลยุโรป มีเงื่อนไขดังนี้[22]
- แชมป์พรีเมียร์ลีก : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในรอบแบ่งกลุ่มและได้อยู่โถ 1
- รองแชมป์พรีเมียร์ลีก : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในรอบแบ่งกลุ่ม
- อันดับที่ 3 : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในรอบแบ่งกลุ่ม
- แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในรอบแบ่งกลุ่มและได้อยู่โถ 1
- แชมป์ยูฟ่ายูโรปาลีก : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในรอบแบ่งกลุ่ม
- อันดับที่ 4 : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในรอบแบ่งกลุ่ม
- แชมป์เอฟเอคัพ : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่ายูโรปาลีกในรอบแบ่งกลุ่ม
- อันดับที่ 5 : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่ายูโรปาลีกในรอบแบ่งกลุ่ม
- แชมป์อีเอฟแอลคัพ : ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีกในรอบเพลย์ออฟ
ผู้สนับสนุนหลัก[แก้]
รายชื่อผู้สนับสนุนหลักในรายการแข่งขันฤดูกาลต่างๆ
- 1993–2001: คาร์ลิง (FA Carling Premiership)
- 2001–2004: บัตรเครดิตบาร์เคลย์การ์ด (Barclaycard Premiership)
- 2004–2016: แบงค์บาร์เคลย์ (Barclay Premiership) (จนถึงปี 2007 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Barclay Premier League)
- 2016–ปัจจุปัน: ไม่มีผู้สนับสนุนหลัก (Premier League)
สโมสรที่เข้าร่วม[แก้]
ฤดูกาล 2020–21[แก้]
สโมสรต่อไปนี้จำนวน 20 สโมสรจะแข่งขันกันในฤดูกาล 2020–21[23]
สโมสร | อันดับใน 2019–20 |
ฤดูกาลแรกใน ดิวิชันสูงสุด |
ฤดูกาลแรกใน พรีเมียร์ลีก |
จำนวนฤดูกาล ที่อยู่ใน ดิวิชันสูงสุด |
จำนวนฤดูกาล ที่อยู่ใน พรีเมียร์ลีก |
ฤดูกาลแรกที่อยู่บน ดิวิชันสูงสุดแล้ว ยังอยู่ถึงปัจจุบัน |
จำนวนครั้ง ที่ชนะเลิศใน ดิวิชันสูงสุด |
ชนะเลิศ ครั้งสุดท้ายใน ดิวิชันสูงสุด |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อาร์เซนอลa, b | 8th | 1904–05 | 1992–93 | 104 | 29 | 1919–20 | 13 | 2003–04 |
แอสตันวิลลาa, c | 17th | 1888–89 | 1992–93 | 107 | 26 | 2019–20 | 7 | 1980–81 |
ไบรตันแอนด์โฮฟอัลเบียนb | 15th | 1979–80 | 2017–18 | 8 | 4 | 2017–18 | 0 | – |
เบิร์นลีย์c | 10th | 1888–89 | 2009–10 | 58 | 7 | 2016–17 | 2 | 1959–60 |
เชลซีa, b | 4th | 1907–08 | 1992–93 | 86 | 29 | 1989–90 | 6 | 2016–17 |
คริสตัลพาเลซa | 14th | 1969–70 | 1992–93 | 21 | 12 | 2013–14 | 0 | – |
เอฟเวอร์ตันa, b, c | 12th | 1888–89 | 1992–93 | 118 | 29 | 1954–55 | 9 | 1986–87 |
ฟูลัม | แชมเปียนชิป | 4th in the1949–50 | 2001–02 | 27 | 15 | 2020–21 | 0 | – |
ลีดส์ยูไนเต็ดa | แชมเปียนชิป | 1st in the1924–25 | 1992–93 | 51 | 13 | 2020–21 | 3 | 1991–92 |
เลสเตอร์ซิตี | 5th | 1908–09 | 1994–95 | 52 | 15 | 2014–15 | 1 | 2015–16 |
ลิเวอร์พูลa, b | 1st | 1894–95 | 1992–93 | 106 | 29 | 1962–63 | 19 | 2019–20 |
แมนเชอร์เตอร์ซิตีa | 2nd | 1899–1900 | 1992–93 | 92 | 24 | 2002–03 | 6 | 2018–19 |
แมนเชอร์เตอร์ยูไนเต็ดa, b | 3rd | 1892–93 | 1992–93 | 96 | 29 | 1975–76 | 20 | 2012–13 |
นิวคาสเซิลยูไนเต็ด | 13th | 1898–99 | 1993–94 | 89 | 26 | 2017–18 | 4 | 1926–27 |
เชฟฟีลด์ยูไนเต็ดa | 9th | 1893–94 | 1992–93 | 62 | 5 | 2019–20 | 1 | 1897–98 |
เซาแทมป์ตันa | 11th | 1966–67 | 1992–93 | 44 | 22 | 2012–13 | 0 | – |
ทอตนัมฮอตสเปอร์a, b | 6th | 1909–10 | 1992–93 | 86 | 29 | 1978–79 | 2 | 1960–61 |
เวสต์บรอมมิชอัลเบียนc | แชมเปียนชิป | 2nd in the1888–89 | 2002–03 | 81 | 13 | 2020–21 | 1 | 1919–20 |
เวสต์แฮมยูไนเต็ด | 16th | 1923–24 | 1993–94 | 63 | 25 | 2012–13 | 0 | – |
วุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์c | 7th | 1888–89 | 2003–04 | 66 | 7 | 2018–19 | 3 | 1958–59 |
- บอร์นมัท, วอตฟอร์ด และ นอริชซิตี ตกชั้นสู่ แชมเปียนชิป ฤดูกาล 2019–20 ขณะที่ ลีดส์ยูไนเต็ด, เวสต์บรอมมิชอัลเบียน และ ฟูลัม เลื่อนชั้นจาก แชมเปียนชิป ฤดูกาล 2019–20 จากการเป็นทีมชนะเลิศ, รองชนะเลิศและชนะเพลย์-ออฟ ตามลำดับ
- ไบรตันแอนด์โฮฟอัลเบียน เป็นสโมสรที่ยังอยู่ในพรีเมียร์ลีกตั้งแต่เลื่อนชั้นครั้งแรก โดยอยู่มา 4 ฤดูกาล (จาก 29) ตามลำดับ
a: สโมสรก่อตั้งพรีเมียร์ลีก
b: ไม่เคยตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก
c: หนึ่งใน 12 ทีมดั้งเดิมในฟุตบอลลีก
d: สโมสรจากเวลส์
แผนที่[แก้]
ทำเนียบผู้ชนะเลิศ[แก้]
ผู้ชนะเลิศแบ่งตามปี[แก้]
ผู้ชนะเลิศแบ่งตามสโมสร[แก้]
สโมสร | สมัย | ปีที่ชนะเลิศ |
---|---|---|
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด | 13 | 1992–93, 1993–94, 1995–96, 1996–97, 1998–99, 1999–2000, 2000–01, 2002–03, 2006–07, 2007–08, 2008–09, 2010–11, 2012–13 |
เชลซี | 5 | 2004–05, 2005–06, 2009–10, 2014–15, 2016–17 |
แมนเชสเตอร์ซิตี | 5 | 2011–12, 2013–14, 2017–18, 2018–19, 2020–21 |
อาร์เซนอล | 3 | 1997–98, 2001–02, 2003–04 |
แบล็กเบิร์นโรเวอส์ | 1 | 1994–95 |
เลสเตอร์ซิตี | 1 | 2015–16 |
ลิเวอร์พูล | 1 | 2019–20 |
สถิติผู้ชนะเลิศ[แก้]
ผู้ชนะเลิศแบ่งตามภูมิภาค[แก้]
ภูมิภาค | สมัย | ทีมชนะเลิศ |
---|---|---|
นอร์ทเวสต์ | แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (13), แมนเชสเตอร์ซิตี (5), แบล็กเบิร์นโรเวอส์ (1), ลิเวอร์พูล (1) | |
ลอนดอน | เชลซี (5), อาร์เซนอล (3) | |
อีสต์มิดแลนส์ | เลสเตอร์ซิตี (1) |
ผู้ชนะเลิศแบ่งตามเมือง[แก้]
เมือง | สมัย | ทีมชนะเลิศ |
---|---|---|
แมนเชสเตอร์ | แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (13), แมนเชสเตอร์ซิตี (5) | |
ลอนดอน | เชลซี (5), อาร์เซนอล (3) | |
แบล็กเบิร์น | แบล็กเบิร์นโรเวอส์ (1) | |
เลสเตอร์ | เลสเตอร์ซิตี (1) | |
ลิเวอร์พูล | ลิเวอร์พูล (1) |
นักเตะที่ลงเล่นสูงสุด[แก้]
- ณ วันที่ 19 เมษายน 2022
อันดับ | ชื่อ | ลงเล่น |
---|---|---|
1 | ![]() |
653 |
2 | ![]() |
632 |
3 | ![]() |
609 |
4 | ![]() |
585 |
5 | ![]() |
572 |
6 | ![]() |
535 |
7 | ![]() |
516 |
8 | ![]() |
514 |
9 | ![]() |
508 |
10 | ![]() |
505 |
ตัวเอียง หมายถึง นักเตะที่ยังเล่นฟุตบอลอยู่
ตัวหนา หมายถึง นักเตะที่ยังเล่นฟุตบอลอยู่ในพรีเมียร์ลีก
ทำประตูสูงสุด[แก้]
- ณ วันที่ 19 เมษายน 2022
อันดับ | ชื่อ | ปี | ประตู | ลงเล่น | อัตราส่วน |
---|---|---|---|---|---|
1 | ![]() |
1992–2006 | 260 | 441 | 0.59 |
2 | ![]() |
2002–2018 | 208 | 491 | 0.42 |
3 | ![]() |
1992–2008 | 187 | 414 | 0.45 |
4 | ![]() |
2011–2021 | 184 | 275 | 0.67 |
5 | ![]() |
2012– | 179 | 279 | 0.68 |
6 | ![]() |
1995–2015 | 177 | 609 | 0.29 |
7 | ![]() |
1999–2007, 2012 | 175 | 258 | 0.68 |
8 | ![]() |
1993–2009 | 163 | 379 | 0.43 |
9 | ![]() |
2001–2003, 2004–2014, 2015–19 | 162 | 496 | 0.33 |
10 | ![]() |
1996–2004, 2005–13 | 150 | 326 | 0.46 |
ตัวเอียง หมายถึงผู้เล่นที่ยังเล่นฟุตบอลอยู่
ตัวหนา หมายถึงผู้เล่นที่ยังเล่นฟุตบอลอยู่ในพรีเมียร์ลีก
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ When will goal-line technology be introduced? Archived 9 กรกฎาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The total of matches be calculated using the formula n*(n-1) where n is the total number of teams.
- ↑ "United (versus Liverpool) Nations". The Observer. 6 January 2002. สืบค้นเมื่อ 8 August 2006.
- ↑ Gibson, Owen (13 June 2012). "Premier League lands £3bn deal". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 14 June 2012.
- ↑ "Top Soccer Leagues Get 25% Rise in TV Rights Sales, Report Says". Bloomberg. Retrieved 4 August 2014
- ↑ "Premier League value of central payments to Clubs". Premier League. 1 June 2017. สืบค้นเมื่อ 6 June 2017.
- ↑ "History and time are key to power of football, says Premier League chief". The Times. 3 July 2013. สืบค้นเมื่อ 3 July 2013.
- ↑ "Playing the game: The soft power of sport". British Council. สืบค้นเมื่อ 9 October 2018.
- ↑ "English Premier League Performance Stats - 2018-19". global.espn.com. สืบค้นเมื่อ 16 August 2018.
- ↑ "Bundesliga Statistics: 2014/2015". ESPN FC. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 29 January 2016. สืบค้นเมื่อ 18 January 2018.
- ↑ "English Premier League Performance Stats - 2018-19". global.espn.com. สืบค้นเมื่อ 16 August 2018.
- ↑ Chard, Henry. "Your ground's too big for you! Which stadiums were closest to capacity in England last season?". Sky Sports. สืบค้นเมื่อ 30 January 2016.
- ↑ uefa.com (31 July 2018). "Member associations - Country coefficients – UEFA.com".
- ↑ "Liverpool win Premier League: Reds' 30-year wait for top-flight title ends". BBC Sport. 25 June 2020. สืบค้นเมื่อ 1 August 2020.
- ↑ "ยูโร 2016 ใครชนะใครแชมป์ 19 06 59 เบรก 1". ฟ้าวันใหม่. 19 June 2016. สืบค้นเมื่อ 20 June 2016.
- ↑ Northcroft, Jonathan (11 May 2008). "Breaking up the Premier League's Big Four". The Sunday Times. สืบค้นเมื่อ 26 May 2011.
- ↑ "The best of the rest". Soccernet. ESPN. 29 January 2007. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2007-12-23. สืบค้นเมื่อ 27 November 2007.
- ↑ "Alex McLeish says Aston Villa struggle to compete with top clubs". BBC Sport. British Broadcasting Corporation. 8 September 2011. สืบค้นเมื่อ 8 September 2011.
- ↑ Jolly, Richard (11 August 2011). "Changing dynamics of the 'Big Six' in Premier League title race". The National. สืบค้นเมื่อ 18 August 2013.
- ↑ "Barclays Premier League". Sporting Life. 365 Media Group. สืบค้นเมื่อ 26 November 2007.
- ↑ Fisher, Ben (9 May 2018). "Fulham lead march of heavyweights in £200m Championship play-offs". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 19 July 2018.
- ↑ Miller, Nick (15 August 2017). "How the Premier League has evolved in 25 years to become what it is today". ESPN. สืบค้นเมื่อ 5 July 2018.
- ↑ ไขปม ตีตั๋วลุยยุโรปทีมแดน ผู้ดี
- ↑ "Clubs". Premier League. สืบค้นเมื่อ 25 January 2018.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ (อังกฤษ)
- Premier League (English) ทางเฟซบุ๊ก
- พรีเมียร์ลีกอังกฤษ (ไทย) ทางเฟซบุ๊ก
- Premier League ทางทวิตเตอร์