บิมสเทค
ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ บิมสเทค | |
---|---|
ธง | |
สำนักงานเลขาธิการ | ธากา บังกลาเทศ[1] |
ภาษาราชการ | อังกฤษ |
สมาชิก | |
ผู้นำ | |
• ผู้นำ | ศรีลังกา (ตั้งแต่กันยายน 2561)[2] |
• เลขาธิการ | Tenzin Lekphell ภูฏาน[3] |
สถาปนา | 6 มิถุนายน พ.ศ. 2540 |
เว็บไซต์ bimstec |
ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (อังกฤษ: Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) หรือ บิมสเทค (อังกฤษ: BIMSTEC) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของ 7 ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากร 1.73 พันล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวมกัน 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (2565)[4][5] ประเทศสมาชิกบิมสเทค ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย[6] อยู่ในกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเบงกอล
ประวัติ
[แก้]ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทยโดยใช้ชื่อว่า Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation หรือ BIST-EC ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนี้มีสมาชิกเพียง 4 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และไทย สำหรับ ประเทศพม่าได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ธันวาคม 2540 และเปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือเป็น Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation หรือ BIMST-EC ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2546 ประเทศเนปาลและภูฏานได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือนี้ ทำให้ในปัจจุบัน ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC มีสมาชิกรวม 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล และภูฏาน ซึ่งภายหลังจากการประชุมระดับผู้นำกลุ่มประเทศ BIMSTEC หรือ BIMSTEC Summit ครั้งที่ 1 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงชื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้ใหม่เป็น Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและสมาชิกของกลุ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 8 ที่ประชุมมีมติประกาศให้วันที่ 6 มิถุนายนของทุกปีเป็นวัน BIMSTEC โดยส่งเสริมให้สมาชิกจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ BIMSTEC ในช่วงเวลาดังกล่าวตามที่เห็นเหมาะสม
วัตถุประสงค์
[แก้]ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC มีจุดเด่น คือ เป็นเวทีเชื่อมประสานนโยบาย Look East ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ กับนโยบาย Look West ของไทย และเป็นกลไกหนึ่งที่ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิก ในรูปของการฝึกอบรม รวมถึงการค้นคว้าวิจัย และการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากภาคกสิกรรมและอุตสาหกรรม การขยายการค้าและการลงทุน ตลอดจนปรับปรุงการสื่อสารและการคมนาคม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ
สาขาความร่วมมือ
[แก้]ประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ตกลงทำความร่วมมือใน 14 สาขาหลัก ได้แก่
- การค้า ลงทุน คมนาคม สื่อสาร พลังงาน ท่องเที่ยว เทคโนโลยี ประมง เกษตร สาธารณสุข ยากจน ต่อต้าน ภัยพิบัติ วัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ อากาศ
โดยในความร่วมมือในแต่ละสาขาได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระดับ คือ
- ความร่วมมือสาขาหลัก (Sector) ซึ่งมีประเทศนำ (Lead Country) ในแต่ละสาขาเป็นผู้รับผิดชอบ
- ความร่วมมือสาขาย่อย (Sub-Sector) ซึ่งมีประเทศประธาน (Chair Country) เป็นผู้รับผิดชอบ
- โครงการ (Project) ซึ่งมีประเทศผู้ประสานงานโครงการ (Coordinating Country) เป็นผู้รับผิดชอบ
กลไกการทำงาน
[แก้]โครงสร้างของกลไกการทำงานของ BIMSTEC สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ กลไกการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน โดยกลไกการทำงานของภาครัฐจะแบ่งการดำเนินการเป็น 5 ระดับได้แก่
- การประชุมระดับผู้นำ (BIMSTEC Summit) เป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมให้กรอบความร่วมมือมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองและเป็นการสนับสนุนตามกระบวนการ Top-down เพื่อผลักดันกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ในระดับนโยบายของประเทศ โดยการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกเกิดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 ซึ่งการประชุมครั้งที่สองนั้น จะมีขึ้นในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2551 ที่ประเทศอินเดีย
- การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Meeting) โดยที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า พิจารณากำกับดูแลความคืบหน้าของการดำเนินงานในสาขาการค้าและการลงทุน และนโยบายเขตการค้าเสรี ส่วนที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นกลไกด้านกำหนดนโยบายสูงสุดสำหรับการประชุมผู้นำ ทั้งนี้ ในอดีต การประชุมสูงสุดของ BIMSTEC อยู่ในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่ในการประชุม ครั้งที่ 5 ที่กรุงโคลัมโบ เมื่อเดือนธันวาคม 2545 ได้มีการยกระดับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นครั้งแรก การประชุมระดับรัฐมาตรีครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ที่ประเทศอินเดีย
- การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการค้าและเศรษฐกิจ (Senior Trade / Economic Official Meeting: STEOM) และด้านต่างประเทศ (Senior Official Meeting: SOM)โดยมีระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ/การค้าและกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน ตามลำดับ ทำหน้าที่พิจารณากรอบการค้าเสรี การดำเนินงานสาขาการค้าและการลงทุน และ15 สาขาย่อย และรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า ส่วนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านต่างประเทศ ทำหน้าที่พิจารณาการดำเนินการของสาขาต่างๆ ที่เหลือและของคณะทำงาน และรายงานต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี
- การประชุมคณะทำงาน ที่กรุงเทพฯ (Bangkok Working Group: BWG) เป็นการประชุมร่วมระหว่างอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกประจำประเทศไทยประชุมทุกเดือน ที่กรุงเทพฯ เพื่อติดตามและผลักดันให้การดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่างๆ มีความก้าวหน้า นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาในเรื่องแนวทางและนโยบายของความร่วมมือก่อนเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
- การประชุมรายสาขาและสาขาย่อยความร่วมมือ 6 สาขา จะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญสาขาปีละ 1 ครั้ง รายงานผลการประชุมให้คณะทำงานที่กรุงเทพฯทราบผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตประเทศนำนั้นๆประจำประเทศไทยนำเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสพิจารณาต่อไปส่วนกลไกการทำงานของภาคเอกชนนั้นจะมีการจัดการประชุม BUSINESS FORUM 1 ครั้ง จะหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพ นำเสนอผลการประชุมดังกล่าวที่ประชุม ECONOMIC FORUM ภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ภาคเอกชนยังจะต้องมีการจัดการประชุม BIMSTEC Chamber of Commerce & Industry ปีละ 1 ครั้ง
ศูนย์บิมสเทค
[แก้]รัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ครั้งที่ 6 เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนทางวิชาการ BIMSTEC(Technical Support Facility: BTSF)Center เวลา 2 ปี เพื่อเป็นกลไกประสานงานกลางการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือในภาพรวมถึงกิจกรรมกลุ่มทำงาน BIMSTEC Working Group BWG) สภาหอการค้า BIMSTEC(Chamber of Commerce)ไทยได้ให้การสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องจะมีประเมินผลดำเนินการพิจารณารูปแบบการจัดตั้งสำนักเลขาธิการแบบถาวรต่อไป ศูนย์บิมสเทคตั้งอยู่ที่สถาบันยุทธศาสตร์การค้า อาคาร 20 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย
ศูนย์บิมสเทค
สถาบันยุทธศาสตร์การค้า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Nepal unlikely to host fourth 'Bimstec' summit this year". Business Standard India. 3 June 2016. สืบค้นเมื่อ 17 December 2016.
- ↑ "BIMSTEC summit ends with Oli presenting Kathmandu declaration". The Hindu. 31 August 2018. สืบค้นเมื่อ 31 August 2018.
- ↑ "Tenzin Lekphell begins journey as BIMSTEC Secretary General". UNB. 6 November 2020. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
- ↑ BIMSTEC: Building bridges between South Asia & Southeast Asia เก็บถาวร 22 ธันวาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, IndiaWrites, 2014.
- ↑ BIMSTEC
- ↑ "Regional economic integration in the Bay of Bengal". 25 February 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- BIMSTEC Official Website
- ดาวน์โหลดจดหมายข่าวบิสเทค เก็บถาวร 2008-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สถาบันยุทธศาสตร์การค้า เก็บถาวร 2022-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน