ทากาอากิ คาจิตะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทากาอากิ คาจิตะ (梶田隆章)
เกิด9 มีนาคม พ.ศ. 2502 (65 ปี)
ฮิงาชิมัตสึยามะ จังหวัดไซตามะ
ประเทศญี่ปุ่น
สัญชาติ ญี่ปุ่น
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยไซตามะ
มหาวิทยาลัยโตเกียว
องค์การสถาบันวิจัยรังสีคอสมิก มหาวิทยาลัยโตเกียว
ทากาอากิ คาจิตะ
คันจิ梶田隆章
ฮิระงะนะかじた たかあき
โรมะจิKajita Takaaki

ทากาอากิ คาจิตะ (ญี่ปุ่น: 梶田隆章โรมาจิKajita Takaaki) เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2502[1] ณ เมืองฮิงาชิมัตสึยามะ จังหวัดไซตามะ เป็นนักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่น มีชื่อเสียงจากผลงานการทดลองเกี่ยวกับอนุภาคนิวตริโน KamiokaNDE และ Super Kamiokande ในศูนย์สังเกตการณ์คามิโอกะแห่งสถาบันวิจัยรังสีคอสมิก มหาวิทยาลัยโตเกียว คาจิตะเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี พ.ศ. 2558 ร่วมกับอาร์เธอร์ แมคโดนัลด์ นักฟิสิกส์ชาวแคนาดา ในฐานะ "การค้นพบปรากฏการณ์การแกว่งของนิวตริโน ซึ่งชี้ให้เห็นว่านิวตริโนนั้นมีมวล"[2]

ประวัติ[แก้]

คาจิตะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยไซตามะ จังหวัดไซตามะ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2523 จากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโตเกียว จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกเมื่อ พ.ศ. 2529 คาจิตะเริ่มทำงานวิจัยที่สถาบันวิจัยรังสีคอสมิก (ICRR) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวในอีกสองปีต่อมา โดยมีฐานะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และเลื่อนเป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นคาจิตะยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยวิจัยคอสมิกนิวตริโน แห่งสถาบันวิจัยรังสีคอสมิก ปัจจุบันคาจิตะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรังสีคอสมิกและสถาบันฟิสิกส์และคณิตศาสตร์จักรวาลคาฟลีในกรุงโตเกียว[3]

ในปี พ.ศ. 2531 คาจิตะและคณะในการทดลอง KamiokaNDE ค้นพบว่านิวตริโนชนิดมิวออนนิวตริโน ซึ่งวิ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกนั้น ได้หายไปในระหว่างทาง และได้เรียกว่าเป็น "ปรากฏการณ์ผิดธรรมดาของนิวตริโนในชั้นบรรยากาศ" (อังกฤษ: atmospheric neutrino anomaly) ที่ต่อมามีคำอธิบายและสรุปว่าเป็น "ปรากฏการณ์การแกว่งของนิวตริโน" (อังกฤษ: neutrino oscillation) โดยนิวตริโนชนิดหนึ่งสามารถเปลี่ยนตัวเองไปเป็นนิวตริโนชนิดอื่นได้ ทำให้ทราบว่านิวตริโนจำเป็นต้องมีมวล ซึ่งช่วยพัฒนาองค์ความรู้เรื่องแบบจำลองมาตรฐานในศาสตร์ฟิสิกส์อนุภาคได้อย่างมาก

เกียรติยศ[แก้]

  • (พ.ศ. 2532) รางวัลบรูโนรอสซี (มอบโดยหน่วยฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูงแห่งสมาคมดาราศาสตร์อเมริกา) ร่วมกับคณะจาก IMB และ Kamioka[4]
  • (พ.ศ. 2542) รางวัลนิชินะ สำหรับการอุทิศตนอย่างยิ่งต่อวงการฟิสิกส์ญี่ปุ่น[5]
  • (พ.ศ. 2545) รางวัลพานอฟสกีในด้านฟิสิกส์อนุภาคเชิงทดลอง ร่วมกับมาซาโตชิ โคชิบะและโยจิ ทตสึกะ[6]
  • (พ.ศ. 2555) รางวัลสถาบันวิชาการแห่งญี่ปุ่น สำหรับผลงานการค้นพบปรากฏการณ์การแกว่งของนิวตริโนในชั้นบรรยากาศ[7]
  • (พ.ศ. 2558) รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ร่วมกับอาร์เธอร์ แมคโดนัลด์[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 梶田隆章 สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2558 (ญี่ปุ่น)
  2. 2.0 2.1 "The Nobel Prize in Physics 2015" (ภาษาอังกฤษ). Nobel Foundation. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. From the Director เก็บถาวร 2015-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สถาบันวิจัยรังสีคอสมิกแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว (ICRR), สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2558
  4. HEAD AAS Rossi Prize Winners High Energy Astrophysics Division (HEAD), สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2558
  5. Nishina Memorial Prize, สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2558
  6. 2002 W.K.H. Panofsky Prize in Experimental Particle Physics Recipient, สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2558
  7. The Imperial Prize,Japan Academy Prize,Duke of Edinburgh Prize Recipients, The Japan Academy, สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2558

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]