จักรพรรดินีโซอี พอร์ฟีโรเกนิตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดินีโซอี พอร์ฟีโรเกนิตา
ภาพโมเสกของจักรพรรดินีโซอีในฮายาโซฟีอา
จักรพรรดินีนาถแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์
ครองราชย์11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1028 – 11 มิถุนายน ค.ศ. 1050
(21 ปี 212 วัน)
ก่อนหน้าคอนสแตนตินที่ 8
ถัดไปคอนสแตนตินที่ 9 และธีโอโดรา
พระประมุขร่วม
ดูรายชื่อ
ประสูติราวค.ศ. 978
คอนสแตนติโนเปิล
สวรรคต11 มิถุนายน ค.ศ. 1050(1050-06-11) (72 ปี)
คอนสแตนติโนเปิล
ฝังพระศพคอนสแตนติโนเปิล[1]
คู่อภิเษกจักรพรรดิโรมานอสที่ 3
(สมรส 1028; สวรรคต 1034)
จักรพรรดิมิคาเอลที่ 4
(สมรส 1034; สวรรคต 1041)
จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 9
(สมรส 1042)
พระราชบุตรจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 (โอรสบุญธรรม)
ราชวงศ์มาซิโดเนียน
พระราชบิดาจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8
พระราชมารดาเฮเลนา

โซอี พอร์ฟีโรเกนิตา (กรีก: Ζωή แปลว่า "ชีวิต" ภาษากรีกสมัยกลาง[zo'i]; ราวค.ศ. 978 – 11 มิถุนายน ค.ศ. 1050) พระนางครองราชย์เป็นจักรพรรดินีนาถแห่งไบแซนไทน์ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1028 จนกระทั่งสวรรคตในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1050 พระนางทรงปกครองเคียงข้างพระราชสวามีทั้งสามพระองค์ และพระราชโอรสบุญธรรม คือ จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 คาลาฟาเตส และพระขนิษฐาคือ จักรพรรดินีธีโอโดรา พอร์ฟีโรเกนิตา จักรพรรดินีโซอีทรงกุมพระราชอำนาจที่แท้จริงร่วมกับจักรพรรดินีธีโอโดราเพียงแค่สองเดือนในช่วงเมษายนและมิถุนายน ค.ศ. 1042

เจ้าหญิงโซอีทรงเป็นพระราชธิดาองค์รองในจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ซึ่งเป็นพระจักรพรรดิร่วมกับพระเชษฐาคือ จักรพรรดิบาซิลที่ 2 จักรพรรดิบาซิลสวรรคตขณะเจ้าหญิงโซอีมีพระชนมายุ 47 พรรษา ราชบัลลังก์ไบแซนไทน์จึงตกแก่พระราชชนกของพระนางเพียงผู้เดียว จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ไม่ทรงมีพระราชโอรส พระองค์ทรงหวังให้ราชวงศ์ยังคงดำรงอยู่ต่อไปโดยพยายามให้พระราชธิดาอภิเษกสมรส เจ้าหญิงโซอีทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษาแล้ว ต้องทรงเสกสมรสกับโรมานอส อาร์กีรอส ขุนนางอาวุโส

โซอีและพระราชสวามีได้ครองบัลลังก์ในอีกสามวันต่อมาหลังจากพระราชชนกสวรรคต ชีวิตสมรสเต็มไปด้วยปัญหาและหลังจากนั้นห้าปี จักรพรรดิโรมานอสที่ 3 ถูกพบว่าสวรรคตในอ่างสรงน้ำของพระองค์ การสวรรคตของพระองค์นั้นมีผู้อยู่เบื้องหลังคือจักรพรรดินีโซอี หรือคนรักวัยหนุ่มของพระนาง คือ มิคาเอล หรือทั้งสองร่วมวางแผนกัน ทั้งสองสมรสกันในวันที่เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น และมิคาเอลผู้มีพื้นเพเป็นเพียงชาวนาได้รับการสวมมงกุฎเป็นจักรพรรดิเคียงข้างจักรพรรดินีโซอี เจ็ดปีต่อมา จักรพรรดินีโซอีทรงได้รับการชักชวนให้รับพระราชนัดดาของพระสวามีที่สวรรคตมาเป็นโอรสบุญธรรมซึ่งชื่อว่า มิคาเอล เช่นกัน

เมื่อมิคาเอลผู้นี้ได้ครองราชย์เป็น จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 คาลาฟาเตส พระองค์จึงสั่งเนรเทศจักรพรรดินีโซอี ผู้เป็นพระราชชนนีบุญธรรม การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดการจลาจลนำมาซึ่งการโค่นราชบัลลังก์ของจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 และมีการฟื้นราชบัลลังก์ของจักรพรรดินีโซอี และมีการสถาปนาพระขนิษฐาของพระนางขึ้นเป็น จักรพรรดินีธีโอโดรา ในฐานะจักรพรรดิร่วม หลังจากครองราชย์ต่อมาอีกสองปี จักรพรรดินีโซอีทรงอภิเษกสมรสใหม่กับอดีตคนรัก ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็น จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 9 โมโนมาโชส พระนางส่งถ่ายโอนพระราชอำนาจไปให้พระองค์ และแปดปีต่อมา จักรพรรดินีโซอีก็สวรรคตด้วยพระชนมายุ 72 พรรษา

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ ราวค.ศ. 978 - 1028[แก้]

เจ้าหญิงโซอีทรงเป็น "พอร์ฟีโรเกนิตา"[2] หรือ "ผู้ประสูติในรัชกาล" หรือ "ผู้ประสูติในสีม่วง" อันเป็นสร้อยพระนามของพระโอรสธิดาที่ประสูติในช่วงจักรพรรดิกำลังเสวยราชย์อยู่ เจ้าหญิงโซอีเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองในจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 กับจักรพรรดินีเฮเลนา[3] พระราชชนกของเจ้าหญิงทรงเป็นจักรพรรดิร่วมตั้งแต่มีพระชนมายุได้ 2 พรรษา ในปีค.ศ. 962[4] พระเชษฐาของพระองค์คือ จักรพรรดิบาซิลที่ 2 เป็นพระประมุขร่วมที่อาวุโสกว่า ทรงพยายามไม่ให้เจ้าหญิงผู้เป็นพระราชนัดดาเสกสมรสกับเหล่าขุนนางไบแซนไทน์ เพื่อไม่ให้พระสวามีเหล่านันอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ได้ ในฐานะผู้หญิง พระองค์ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐใดๆได้ พวกพระองค์ทำได้เพียงแค่เลือก หรือยอมรับหรือไม่ จากพระสวามีซึ่งจะได้รับสิทธิต่างๆเมื่อทรงเสกสมรสแล้ว[5] ดังนั้น เจ้าหญิงโซอีจึงใช้พระชนม์ชีพอย่างน่าคลุมเครือในไกเนซีอุม (เขตพระราชฐานสตรี) เป็นระยะเวลาหลายปี[6]

เจ้าหญิงโซอีทรงมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกเป็นพระมเหสีในจักรพรรดิอ็อทโทที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในปีค.ศ. 996[7] คณะราชทูตครั้งที่สองจัดขึ้นในปีค.ศ. 1001 หัวหน้าคณะคือ อาร์นัล์ฟที่ 2 อาร์กบิชอปแห่งมิลาน[8] ได้รับพระราชโอรงการให้คัดเลือกพระราชธิดาสามพระองค์ของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 มาเป็นพระมเหสีของจักรพรรดิอ็อทโท พระราชธิดาองค์โตคือ เจ้าหญิงยูโดเซีย ทรงเสียโฉมจากไข้ทรพิษ ส่วนพระราชธิดาองค์เล็กคือ เจ้าหญิงธีโอโดรา ทรงมีรูปโฉมเรียบๆธรรมดา อาร์นัล์ฟจึงเลือกเจ้าหญิงโซอี พระชนมายุ 23 พรรษา ผู้งดงาม ซึ่งจักรพรรดิบาซิลที่ 2 ทรงเห็นด้วย[2] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1002 เจ้าหญิงทรงติดตามอาร์นัล์ฟกลับไปยังอิตาลี แต่เมื่อเรือมาถึงบารี ก็ทราบข่าวว่าจักรพรรดิอ็อทโทสวรรคตแล้ว ทำให้พระนางต้องเสด็จกลับ[2]

เมื่อจักรพรรดิบาซิลสวรรคต จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ได้ครองบัลลังก์ รัชกาลของพระองค์ระยะสั้นไม่ถึง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1025 ถึง 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1028[3] โอกาสที่เจ้าหญิงโซอีจะได้อภิเษกสมรสเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1028 เมื่อคณะทูตของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เดินทางมาถึงคอนสแตนติโนเปิล เพื่อทูลขอการอภิเษกสมรส จักรพรรดิคอนสแตนตินและเจ้าหญิงโซอีทรงปฏิเสธเมื่อทราบว่าคู่อภิเษกคือเจ้าชายไฮน์ริช วัยเพียง 10 พรรษา ซึ่งเป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิค็อนราทที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[6] จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงตั้งพระทัยว่าราชวงศ์ของพระองค์ยังคงอยู่ต่อไป โดยหนึ่งในพระราชธิดาของพระองค์ต้องเสกสมรสกับขุนนางที่เหมาะสม บุคคลแรกคือขุนนางผู้โดดเด่นชื่อ คอนสแตนติน ดาลาสเซนอส อดีตดุ๊กแห่งแอนติออก[9] ที่ปรึกษาของจักรพรรดิพยายามที่จะเลือกบุคคลที่อ่อนแอเพื่อที่พวกเขาจะสามารถควบคุมได้ พวกเขาจึงชักชวนให้จักรพรรดิทรงปฏิเสธดาลาสเซนอสหลังจากที่เขาเดินทางมาถึงเมืองหลวง[5] โรมานอส อาร์กีรอส เจ้าเมืองคอนสแตนติโนเปิล เป็นตัวเลือกถัดไป[5] เจ้าหญิงธีโอโดราท้าทายพระราชชนกโดยปฏิเสธที่จะเสกสมรสกับโรมานอส อาร์กีรอส ทรงเถียงว่าอาร์กีรอสสมรสแล้ว โดยภรรยาของอาร์กีรอสถูกบังคับให้ผนวชเป็นชีเพื่อเปิดทางให้อาร์กีรอสแต่งงานเข้าราชวงศ์[10]: 465  และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางสายเลือดมากเกินไปจากการเป็นพระญาติกัน[11] ดังนั้นจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ทรงเลือกเจ้าหญิงโซอีเป็นชายาในโรมานอส[11][12] เจ้าหญิงโซอีและโรมานอสเข้าพิธีอภิเษกสมรสในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1028 ในวิหารหลวงภายในพระราชวัง สองวันหลังจากนั้นจักรพรรดิคอนสแตนตินก็เสด็จสวรรคต และคู่สมรสใหม่ได้นั่งราชบัลลังก์ไบแซนไทน์[13]

จากโรมานอสที่ 3 ถึงมิคาเอลที่ 5 ค.ศ. 1028 - 1042[แก้]

ภาพขนาดเล็ก จักรพรรดินีโซอีทรงสั่งโกนพระเกศาของเจ้าหญิงธีโอโดรา พระขนิษฐา เพื่อบังคับให้เข้าสู่พระศาสนา

หลังจากทรงใช้เวลาหลายปีประทับร่วมกับพระขนิษฐา จักรพรรดินีโซอีทรงเกลียดชังเจ้าหญิงธีโอโดรา[6] จักรพรรดินีโซอีทรงชังจูงให้จักรพรรดิโรมานอสแต่งตั้งหนึ่งในองครักษ์ของจักรพรรดิเป็นผู้ปกครองของเจ้าหญิงธีโอโดรา โดยมีคำสั่งให้ลอบสอดแนมเจ้าหญิง[14] ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าหญิงธีโอโดราทรงถูกกล่าวหาว่าวางแผนช่วงชิงราชบัลลังก์โดยครั้งแรกร่วมมือกับเจ้าชายพรีเซียนในปีค.ศ. 1030 ตามมาด้วยร่วมมือกับคอนสแตนติน ไดโอจีนิส ผู้ว่าราชการจังหวัดซีร์เมียมในปีค.ศ. 1031[15] จักรพรรดินีโซอีทรงกล่าวหาพระขนิษฐาว่าทรงมีส่วนในการวางแผนสมคบคิด และเจ้าหญิงธีโอโดราถูกส่งไปคุมขังที่อารามเปตริออน จักรพรรดินีโซอีเสด็จเยี่ยมพระขนิษฐาหลังจากนั้นและทรงบังคับให้พระขนิษฐาสาบานตนเข้าสู่พระศาสนา[16]

จักรพรรดินีโซอีทรงหมกมุ่นอยู่แต่การดำรงไว้ซึ่งราชวงศ์มาซิโดเนีย[5] พระนางทรงอภิเษกสมรสกับโรมานอสขณะมีพระชนมายุถึง 50 พรรษาแล้วแต่พระนางก็ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ทรงพระครรภ์ พระนางทรงพึ่งเวทมนตร์คาถา เครื่องราง และน้ำยาขนานต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล[17] ความล้มเหลวในการตั้งครรภ์ทำให้ทั้งสองพระองค์ห่างเหินกัน และจักรพรรดิโรมานอสทรงปฏิเสธที่จะประทับบรรทมร่วมกับพระมเหสี[18] จักรพรรดิโรมานอสทรงจำกัดการใช้จ่ายของพระมเหสีและให้ความสนพระทัยในพระนางเพียงน้อยนิด[19]

จักรพรรดินีโซอีทรงพิโรธและไม่พอพระทัย จึงทรงมีเรื่องอื้อฉาวกับบุรษคนอื่นๆ ส่วนจักรพรรดิโรมานอสทรงยอมอดทนและมีพระสนมลับเอง[20] ในปีค.ศ. 1033 จักรพรรดินีโซอีทรงหลงรักข้าราชบริพารหนุ่มรูปงามที่ชื่อว่า มิคาเอล พระนางทรงตรัสโอ้อวดคนรักของพระนางอย่างเปิดเผยและทรงตรัสว่าจะทำให้เขากลายเป็นจักรพรรดิ เมื่อได้ยินข่าวลือ จักรพรรดิโรมานอสทรงหวาดหวั่นและทรงไปเผชิญหน้ากับมิคาเอล แต่มิคาเอลก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้[19]

ภาพขนาดเล็ก พระราชพิธีอภิเษกสมรสของจักรพรรดินีโซอีกับจักรพรรดิมิคาเอลที่ 4

ในต้นปีค.ศ. 1034 จักรพรรดิโรมานอสทรงพระประชวร และเป็นที่เชื่อได้ว่าจักรพรรดินีโซอีกับมิคาเอลวางแผนลอบวางยาพิษพระองค์[21] ในวันที่ 11 เมษายน จักรพรรดิโรมานอสสวรรคตขณะสรงน้ำในอ่างสรงน้ำ[20] ตามคำรายงานของ มิคาเอล เซลโลส ข้าราชสำนักและต่อมาคือนักพงศาวดาร ระบุว่า ผู้ติดตามคนหนึ่ง "จับพระเศียรของพระองค์ขึ้นจากน้ำ และพยายามทำเหมือนจะบีบพระศอของพระองค์"[21] จอห์น สไกลิตเซส เขียนถึงง่ายๆ ว่า จักรพรรดิโรมานอสถูกจับกดน้ำตามคำสั่งของมิคาเอล[21] มัทธิวแห่งอีเดสซาบันทึกว่าจักรพรรดินีโซอีวางยาพิษปลงพระชนม์จักรพรรดิโรมานอส[21]

จักรพรรดินีโซอีทรงอภิเษกสมรสกับมิคาเอล ในวันเดียวกับที่จักรพรรดิโรมานอสที่ 3 สวรรคต[5] วันต่อมาทั้งสองพระองค์ได้เรียกอัครบิดร อเล็กซิออสแห่งคอนสแตนติโนเปิล มาทำพิธีราชาภิเษกให้แก่จักรพรรดิพระองค์ใหม่[22] แม้ว่าในตอนแรกเขาจะปฏิเสธที่จะทำพิธีครองราชย์ให้ แต่จักรพรรดินีทรงจ่ายทองคำให้เขา 50 ปอนด์เขาจึงเปลี่ยนใจ[5] เขาจึงดำเนินการสวมมงกุฎให้มิคาเอลเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ เฉลิมพระนามว่า จักรพรรดิมิคาเอลที่ 4 จนกระทั่งพระองค์สวรรคตในปีค.ศ. 1041[23][24]

แม้ว่าจักรพรรดินีโซอีทรงเชื่อว่าจักรพรรดิมิคาเอลเป็นพระสวามีที่เอาใจใส่พระนางมากกว่าจักรพรรดิโรมานอส แต่พระนางก็ทรงคิดผิด จักรพรรดิมิคาเอลที่ 4 ทรงกังวลว่า จักรพรรดินีโซอีอาจจะทำให้พระองค์พบจุดจบเหมือนจักรพรรดิโรมานอสได้[25] ดังนั้นพระองค์จึงกีดกันจักรพรรดินีโซอีออกจากการเมือง พระองค์จึงมอบพระราชอำนาจทั้งหมดไปให้พระเชษฐา คือ จอห์น เดอะ ออร์ฟาโนโทรพรอส ซึ่งเป็นขันที[26] จักรพรรดินีโซอีทรงถูกกักบริเวณแต่เพียงไกนาซีอุมของพระราชวัง และทรงถูกเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด[25] จักรพรรดินีผู้ไม่ทรงพอพระทัยพยายามสบคบคิดต่อต้านจอห์นแต่ไม่เป็นผล[5]

ในปีค.ศ. 1041 จักรพรรดิมิคาเอลกำลังใกล้สวรรคต[27] ขันทีจอห์นมีความกระตือรือร้นที่จะคุมอำนาจไว้ในมือของเขา เขาจึงบีบบังคับให้จักรพรรดินีโซอี รับมิคาเอล บุตรชายในน้องสาวของเขาและจักรพรรดิมิคาเอลที่ 4 เป็นพระราชโอรสบุญธรรม[20] ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1041 จักรพรรดิมิคาเอลที่ 4 สวรรคต โดยปฏิเสธคำขอสุดท้ายของพระมเหสี ที่ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระองค์อีกครั้ง[28] และพระนัดดาของพระองค์ได้ครองราชย์เป็น จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 คาลาฟาเตส[29][30]

เหรียญทองฮิสตาเมนอนปรากฏพระบรมสาทิสลักษณ์จักรพรรดินีโซอีและจักรพรรดินีธีโอโดรา ในปี 1042

แม้ว่าจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 จะทรงให้คำมั่นว่าจะให้การเคารพจักรพรรดินีโซอี แต่พระองค์ก็สั่งเนรเทศพระนางไปยังอารามอย่างทันทีทันใดที่เกาะปรินกีปัสบนทะเลมาร์มารา ด้วยข้อกล่าวหาว่าทรงวางแผนปลงพระชนม์จักรพรรดิ พระนางทรงถูกบังคับให้ออกบวชและปวารณาตนสู่ภาคีศาสนา[31] การปฏิบัติต่อรัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายของราชวงศ์มาซิโดเนียนเช่นนี้ทำให้เกิดการลุกฮือจลาจลในคอนสแตนติโนเปิล จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 ทรงหมดหวังที่จะรักษาราชบัลลังก์ต่อไปได้ จึงต้องให้จักรพรรดินีโซอีเสด็จกลับมาจากปรินกีปัส เพื่อให้พระนางปรากฏตัวให้พสกนิกรเห็น[32] แต่ความพยายามของเขาที่จะปกครองเป็นประมุขร่วมกับพระนางต่อไปนั้นไร้ผล ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1042 กลุ่มประชาชนที่ก่อจลาจลเข้าโค่นจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 ออกจากราชบัลลังก์ พวกเขาไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่จักรพรรดินีโซอีเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเจ้าหญิงธีโอโดรา พระขนิษฐาของพระนางด้วย[33]

คณะผู้แทนนำโดยขุนนางคือ คอนสแตนตินอส คาบาซิลัส[34] เดินทางไปยังอารามเปตริออน เพื่อกราบทูลเชิญให้เจ้าหญิงธีโอโดราเสด็จกลับมาเป็นจักรพรรดินีร่วมกลับพระเชษฐภคินี ด้วยเจ้าหญิงธีโอโดราทรงเคยชินกับวิถีการทางศาสนา พระนางจึงปฏิเสธพวกเขาและทรงหลบไปประทับในส่วนโบสถ์คอนแวนต์ ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์บังคับอุ้มพระนางกลับเมืองหลวง[33] ในการประชุมที่ฮาเกียโซเฟีย ประชาชนได้นำพาเจ้าหญิงธีโอโดราผู้ทรงโกรธเกรี้ยวมารับฟังการประกาศเป็นจักรพรรดินีร่วมกับจักรพรรดินีโซอี[35] หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินีทั้งสอง ประชาชนได้บุกเข้าพระราชวัง และทำให้จักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 ต้องหลบหนีไปอยู่ในอาราม[36]

ปกครองร่วมกับธีโอโดราและคอนสแตนตินอสที่ 9 ค.ศ. 1042 - 1050[แก้]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างจักรพรรดิคอนสแตนตินอสที่ 9 และจักรพรรดินีโซอี

จักรพรรดินรโซอีทรงพยายามใช้พระราชอำนาจของพระนางในทันทีและบีบบังคับให้จักรพรรดินีธีโอโดรากลับไปประทับยังอารามดังเดิม แต่วุฒิสภาและสาธารณชนเรียกร้องให้สองภคินีเป็นประมุขร่วมกัน[37] ในช่วงแรกจักรพรรดินีธีโอโดรสถูกเรียกร้องให้ดำเนินการจัดการกับอดีตจักรพรรดิมิคาเอลที่ 5 จักรพรรดินีโซอี พระเชษฐภคินีประสงค์ให้มีการพระราชทานอภัยโทษและปล่อยอดีตจักรพรรดิ แต่จักรพรรดินีธีโอโดราทรงมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนและยืนกราน ในตอนแรกพระนางรับประกันความปลอดภัยให้มิคาเอลที่ 5 แต่จากนั้นพระนางมีพระเสาวณีย์ทำให้อดีตจักรพรรดิพระเนตรบอดและส่งไปดำรงพระชนม์ชีพที่เหลือในฐานะพระ[38]

พระนางโซอีเป็นจักรพรรดินีอาวุโสอย่างเป็นทางการและราชบัลลังก์ของพระนางอยู่เบื้องหน้าบัลลังก์ของจักรพรรดินีธีโอโดราเพียงเล็กน้อยในวาระที่สาธารณชนเข้าเฝ้า แต่ในทางปฏิบัติ จักรพรรดินีธีโอโดรสทรงเป็นแรงผลักดันให้สองประมุขบริหารราชการร่วมกัน ภคินีทั้งสองดำเนินการบริหารกิจการของจักรวรรดิโดยมุ่งเน้นการเพิ่มขอบเขตการบริหารกิจการสาธารณะและการบริหารงานด้านยุติธรรม[39] แม้ว่าตามข้อความของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอย่าง มิคาเอล พเซลลัส ที่มองว่าการครองราชย์ร่วมกันคือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่นักประวัติศาสตร์ จอห์น ไซลิตเซส มองว่าสองภคินีมีความตระหนักเพื่อแก้ไขความผิดพลาดในรัชกาลก่อนๆ[40]

จักรพรรดินีธีโอโดราและจักรพรรดินีโซอีปรากฏพระองค์ร่วมกันในการประชุมของวุฒิสภาและสาธารณชน แต่ไม่ช้าก็พบว่าการครองราชย์ร่วมกันนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด[41] จักรพรรดินีโซอียังคงริษยาจักรพรรดินีธีโอโดรา และพระนางไม่มีพระประสงค์ที่จะบริหารจักรวรรดิ แต่พระนางก็ไม่ยอมที่จะให้จักรพรรดินีธีโอโดราบริหารจักรวรรดิเพียงพระองค์เดียวได้ ราชวำนักแบ่งเป็นฝักฝ่ายที่สนับสนุนจักรพรรดินีแต่ละพระองค์[41] หลังจากนั้นสองเดือนความขัดแย้งก็ทวีมากขึ้น เมื่อจักรพรรดินีโซอีมีพระประสงค์ที่จะอภิเษกสมรสใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้จักรพรรดินีธีโอโดราแสวงหาอิทธิพลมากขึ้น[42] ตามกฎของศาสนจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ การอภิเษกสมรสครั้งที่สามของพระนางได้รับการอนุญาต[5]

ผู้ที่พระนางโปรดปรานคือ คอนสแตนตินอส ดาลาสเซนอส ซึ่งเคยเป็นว่าที่คู่หมายคนแรกของพระนางที่พระราชบิดาแนะนำให้ในปีค.ศ. 1028 เขาถูกนำตัวมาเข้าเฝ้าเบื้องพระพักตร์จักรพรรดินี แต่ระหว่างสนทนากัน ดาลาสเซนอสเปิดเผยและมีกิริยามารยาทที่รุนแรงเกินไป สร้างความไม่พอพระทัยแก่จักรพรรดินีโซอี เขาจึงถูกไล่ออกไป[41] ตัวเลือกถัดไปของพระนางคือ คอนสแตนตินอส อาโทรคลิเนส ชายผู้สมรสแล้ว และเป็นข้าราชการในราชสำนัก และมีข่าวลือว่าเขาเคยมีความสัมพันธ์กับพระนางในสมัยรัชกาลจักรพรรดิโรมานอสที่ 3 มาแล้ว[20] แต่สุดท้ายเขาตายอย่างเป็นปริศนาไม่กี่วันก่อนพิธีอภิเษกสมรส คาดว่าถูกวางยาพิษโดยอดีตภรรยาที่ถูกเขาหย่าร้าง[41]

ภาพจักรพรรดิคอนสแตนตินอสที่ 9 และจักรพรรดินีโซอีกับจักรพรรดินีธีโอโดรสในฐานะประมุขร่วมแห่งไบแซนไทน์

จักรพรรดินีโซอีทรงจดจำคอนสแตนตินอส โมโนมาโชส อดีตคนรักของพระนาง[20] ผู้หล่อเหลาและสุภาพ[41] ทั้งคู่อภิเษกสมรสในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1042 โดยไม่ผ่านการทำพิธีจากอัครบิดรอเล็กซิออส ผู้ที่ปฏิเสธจะประกอบพิธีอภิเษกสมรสครั้งที่สามให้พระนางและคอนสแตนตินอสด้วย[43] ในวันถัดมาเขาได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดิคอนสแตนตินอสที่ 9 ได้รับการประกาศเป็นจักรพรรดิร่วมกับจักรพรรดินีโซอีและจักรพรรดินีธีโอโดรา[43]

แต่จักรพรรดินีโซอีทรงต้องต่อรองกับจักรพรรดิคอนสแตนตินอสเมื่อเขานำนางสนม มาเรีย สเคราอีนา มาร่วมราชสำนักด้วย[44] แม้พระนางไม่พอพระทัยที่จะให้มาเรียมาร่วมราชสำนักด้วย แต่จักรพรรดิคอนสแตนตินอสทรงยืนยันว่าพระองค์ต้องได้รับอนุญาตให้แบ่งปันชีวิตทางสาธารณะร่วมกับมาเรียด้วย และเธอจะต้องได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ[45] จักรพรรดินีโซอีวัย 64 พรรษา ไม่ทรงคัดค้านที่จะแบ่งปันแท่นบรรทมและราชบัลลังก์กับสเคราอีนา สเคราอีนาได้รับตำแหน่ง "เซบาสเต" มีลำดับโปเจียมอยู่เบื้องหลังจักรพรรดินีโซอีและจักรพรรดินีธีโอโดรา และมักถูกเรียกว่า พระสนมหรือบางครั้งถูกเรียกว่าจักรพรรดินี เหมือนทั้งสองภคินี ในวโรกาสทางการต่างๆ สเคราอินาจะมีตำแหน่งตามหลังสองภคินี[5]

ในมุมมองของสาธารณชน การที่จักรพรรดิคอนสแตนตินอสที่ 9 ให้ความสำคัญกับสเคราอินานั้นเป็นเรื่องอื้อฉาว และเกิดการแพร่กระจายข่าวลือไปทั่วว่า สเคราอินาวางแผนลอบปลงพระชนม์จักรพรรดินีโซอี หรือจักรพรรดินีธีโอโดรา[46] สิ่งนี้นำไปสู่การลุกฮือของพลเมืองคอนสแตนติโนเปิลในปีค.ศ. 1044 ซึ่งฝูงชนเกือบจะเข้ามาทำร้ายจักรพรรดิคอนสแตนตินอส ซึ่งกำลังทรงประกอบพิธีขบวนทางศาสนาในท้องถนนของคอนสแตนติโนเปิล[47] ฝูงชนสงบลงเมื่อจักรพรรดินีโซอีและจักรพรรดินีธีโอโดราปรากฏตัวบนระเบียงของพระราชวัง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าพระนางทั้งสองไม่ได้ถูกลอบสังหารแต่อย่างใด[47]

มีการบันทึกว้า จักรพรรดินีโซอีทรงสิริโฉมงดงาม และมิคาเอล พเซลลัสบันทึกในงานเขียน โครโนกราเฟีย ระบุว่า "พระวรกายของพระองค์ทุกส่วนยังคงแข็งแกร่งและสุขภาพพลานามัยดี"[48] จักรพรรดินีโซอีทรงใช้ความสิริโฉมของพระนางเป็นเครื่องมือในศิลปการปกครองประเทศ ทรงพยายามที่จะเติมเต็มความงามและคงความอ่อนเยาว์ด้วยการที่ทรงใช้ครีมบำรุงผิวหลากหลายชนิดที่จัดเตรียมไว้ในไกนาซีอุม กล่าวกันว่าทรงทดลองแต่ละครีมเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของมัน พระนางทรงมีห้องเครื่องสำอางในพระราชวังเพื่อจัดเตรียมน้ำหอมและน้ำมันหอมตลอดเวลา พเซลลัสบรรยายว่าพระพักตร์ของพระนางทรงดูอ่อนเยาว์มากในวัยหกสิบกว่าพรรษา[5][49] จักรพรรดินีโซอีเสด็จสวรรคตในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1050 สิริพระชนมายุ 72 พรรษา[50]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Norwich, pg. 325
  2. 2.0 2.1 2.2 Norwich, pg. 259
  3. 3.0 3.1 Kazhdan, pg. 503
  4. Kazhdan, pgs. 503–504
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 Garland, Zoe Porphyrogenita
  6. 6.0 6.1 6.2 Norwich, pg. 269
  7. Norwich, pg. 253
  8. Norwich, pg. 258
  9. Finlay, pg. 464
  10. Finlay.
  11. 11.0 11.1 Norwich, pg. 270
  12. Candui, pg. 257
  13. Norwich, pg. 271
  14. Finlay, pg. 469
  15. Kazhdan, pg. 627
  16. Ostrogorsky, 1957, pg. 289
  17. Norwich, pg. 272
  18. Norwich, pg. 275
  19. 19.0 19.1 Norwich, pg. 276
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 Kazhdan, pg. 2228
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 Norwich, pg. 278
  22. Norwich, pgs. 276, 279
  23. Treadgold, pg. 586
  24. Finlay, pg. 478
  25. 25.0 25.1 Norwich, pg. 280
  26. Finlay, pg. 480
  27. Norwich, pg. 286
  28. Norwich, pg 289
  29. Finlay, pg. 495
  30. Kazhdan, pg. 2038
  31. Norwich, pg. 295
  32. Norwich, pg. 297
  33. 33.0 33.1 Finlay, pg. 496
  34. Norwich, pg. 298
  35. Norwich, pg 299
  36. Norwich, pg. 300
  37. Finlay, pg. 497
  38. Norwich, pg. 301
  39. Finlay, pg. 498
  40. Norwich, pg. 305
  41. 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 Norwich, pg. 306
  42. Finlay, pg. 499
  43. 43.0 43.1 Norwich, pg. 307
  44. Finlay, pg. 501
  45. Norwich, pg. 308
  46. Norwich, pg. 309
  47. 47.0 47.1 Finlay, pg. 503
  48. Sherrard, Philip, Byzantium, Time-Life Books (1966), pg. 79
  49. Panas, Marios; Poulakou-Rebelakou, Effie; Kalfakis, Nicoalos; Vassilopoulos, Dimitrios (September 2012). "The Byzantine Empress Zoe Porphyrogenita and the quest for eternal youth". Journal of Cosmetic Dermatology. 11 (3): 245–248. doi:10.1111/j.1473-2165.2012.00629.x. PMID 22938012. S2CID 25156633.
  50. Finlay, pg. 526

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ[แก้]

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ[แก้]