ข้ามไปเนื้อหา

จระเข้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Crocodylus)

จระเข้
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยอีโอซีนสมัยโฮโลซีน, 46–0Ma
จระเข้แม่น้ำไนล์ (Crocodylus niloticus)
จระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลื้อยคลาน
Reptilia
อันดับ: อันดับจระเข้
Crocodilia
วงศ์ใหญ่: Crocodyloidea
Crocodyloidea
วงศ์: Crocodylidae
Crocodylidae
Cuvier, 1807
สกุลต้นแบบ
Crocodylus
Laurenti, 1768
วงศ์ย่อย

จระเข้ (อีสาน,ลาว: แข้,แข่) เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ ใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Crocodylidae อยู่ในอันดับจระเข้ (Crocodilia)

มีลักษณะโดยรวมคือ ส่วนปลายของหัวแผ่กว้างหรือเรียวยาวบางตัวปากเป็นรูปตัว v และ u ขากรรไกรยาวและกว้าง เมื่อหุบปากแล้วจะเห็นฟันซี่ที่ 4 ของขากรรไกรล่างเนื่องจากขอบปากบนตรงตำแหน่งนี้เป็นรอยหยักเว้า ส่วนปลายของขากรรไกรล่างข้างซ้ายและข้างขวาเชื่อมต่อกันเป็นพื้นที่แคบ กระดูกเอนโทพเทอรีกอยด์อยู่ชัดกับแถวของฟันที่กระดูกแมคซิลลา กระดูกพาลามีนมีก้านชิ้นสั้นอยู่ทางด้านหน้าและไม่ถึงช่องในเบ้าตา พื้นผิวด้านบนของลิ้นไม่มีสารเคอราติน ต่อมขจัดเกลือบนลิ้นมีขนาดใหญ่ มีก้อนเนื้อที่ปลายปากนูนสูงที่ช่องเปิดรูจมูกเรียกว่า "ขี้หมา" "ก้อนขี้หมา" หรือ "หัวขี้หมา"[1] ซึ่งจะแตกต่างออกไปตามชนิดและเพศหรือขนาด โคนหางเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่และแข็งแรงเรียกว่า "บ้องตัน" ใช้ในการฟาดเพื่อป้องกันตัว หางแบนยาวใช้โบกว่ายน้ำ

จระเข้ ถือเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากเป็นสัตว์ผู้ล่ากินเนื้อขนาดใหญ่ ที่ไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ ยกเว้นจระเข้ในวัยอ่อน ที่ตกเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่กว่าชนิดต่าง ๆ ได้ จระเข้ตัวโตเต็มวัยจะมีพฤติกรรมกินอาหารแบบหมุนตัว กล่าวคือเมื่อจับเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ขณะอยู่ใต้น้ำและต้องการกินเหยื่อจะใช้ปากงับไว้และหมุนตัวเองเพื่อฉีกเนื้อเหยื่อออกเป็นชิ้น ส่วนเหยื่อที่มีขนาดเล็กถูกบดให้แหลกด้วยลิ้นขนาดใหญ่โดยใช้ลิ้นดันเหยื่ออัดแน่นกับเพดานของอุ้งปาก นอกจากนี้แล้วจระเข้ยังกลืนก้อนกรวดหรือก้อนหินเข้าไปในกระเพาะหรือลำไส้เพื่อช่วยในการบดอาหารด้วย[2]

แบ่งออกได้เป็น 3 สกุล 14 ชนิด พบได้ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนของทุกทวีปทั่วโลก นับว่ามีจำนวนสมาชิกมากและหลากหลายที่สุดของอันดับจระเข้ที่ยังพบคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้จระเข้แม่นำไนล์วิ่งได้เร็วถึง30-35กิโลเมตรต่อชั่วโมง

มักอาศัยบริเวณป่าริมน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะหากินในน้ำเป็นหลัก บางชนิดหรือบางพื้นที่อาจพบได้ในแหล่งน้ำกร่อยหรือป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำใกล้ทะเล ในประเทศไทยพบ 3 ชนิด คือ จระเข้บึง หรือ จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis), อ้ายเคี่ยม หรือ จระเข้น้ำเค็ม (C. porosus) และ จระเข้ปากกระทุงเหว หรือ ตะโขง (Tomistoma schlegelii) ซึ่งมิได้ถูกจัดอยู่ในวงศ์นี้ [3]

ชนิด

[แก้]
การกระจายพันธุ์ของจระเข้

การจัดจำแนก

[แก้]

ส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในสกุล Crocodylus ส่วนอีกสกุลที่เหลือ คือ Osteolaemus เป็นสกุลที่มีสปีชีส์เดียว

 Crocodylus 

ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของจระเข้และเครือญาติ

[แก้]

จระเข้ยุคปัจจุบันหรือเรียกตามภาษานักวิชาการว่าจระเข้ยุคใหม่นั้น โผล่หน้าขึ้นมาบนโลกเมื่อราว 90 ล้านปีก่อน เก่าแก่กว่ามนุษย์เมื่อ 2 ล้านปีที่ผ่านมานี้หลายเท่า จระเข้ยุคใหม่มีร่วมเผ่าพันธุ์อยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ จระเข้ (น้ำจืด-น้ำเค็ม) อัลลิเกเตอร์ และตะโขง เริ่มที่ 248 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคโบราณเทียบเท่ากับยุคไดโนเสาร์ ตรงกับช่วงต้น “มหายุคมีโซโซอิค (Mesozoic Era)” ซึ่งต้นตระกูลจระเข้ นั้นมีนามว่า “โปรเทอโรซูซุส (Proterosuchus)” จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ จระเข้ แต่ก็ไม่อาจที่จะเรียกเป็นจระเข้ได้เต็มตัว เพราะตามตำราแล้วถือว่ามันเป็นสัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) ที่คล้ายจระเข้ เท่านั้น พวกจระเข้เต็มร้อยเริ่มปรากฏเมื่อตอนช่วงกึ่งกลางมหายุคมีโซโซอิคหรือ “ยุคจูราสสิก” (206 ถึง 144 ล้านปีก่อน) จะดำรงชีวิตอยู่ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ที่กำลังรุ่งเรืองนั้นเอง จระเข้ โบราณรุ่นแรกเริ่มนั้นก็ได้แก่ “เมทรี-โอรินซุส (Metriorhynchus)” ซึ่งดำรงชีพอยู่ใต้ น้ำ มีความยาวประมาณ 3 เมตร ปลายหางบานเหมือนหางปลา แต่ขึ้นมาวางไข่บนบก อีกตัวหนึ่งเป็น จระเข้ยักษ์ “ซาร์โค-ซูซุส (Sarcosuchus)” จัดว่าเป็นขนาดใหญ่ที่สุดของทุกยุค เพราะยาวตั้ง 12 เมตร มีน้ำหนัก 10 ตัน ช่วง “ยุคครี-เตเชียส (Cretaceous)” (144 ถึง 65 ล้านปีก่อน) อันถัดจากยุคจูราสสิก และเป็นยุคปลีกย่อยสุดท้ายแห่งมหายุคมีโซโซอิค นั่นก็เพราะต้นตระกูลจระเข้ รุ่นใหม่ทวีจำนวนเพิ่มพงศ์เผ่าขึ้นอย่างมากมายในยุคนี้ ตัวที่น่าสนใจที่สุดนั้นก็คือ จระเข้ยักษ์ “ไดโนซูซุส (Dienosuchus)” มันเป็นญาติสนิท ตัวหนึ่งของจระเข้รุ่นปัจจุบัน ซึ่งเคยอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์เมื่อ 70 กว่าล้านปีก่อน ก็เป็นจระเข้ยักษ์ตัวหนึ่ง ที่ยาวเหยียด 10 ถึง 12 เมตร น้ำหนักตั้ง 9 ตัน จะมีขนาดเท่ากับ “จระเข้ยักษ์ ซาร์โคซูซุส” บรรพบุรุษของมัน สำหรับส่วนลักษณะภายนอกของ ไดโนซูซุสนั้นดูแล้วคล้ายจระเข้แม่น้ำไนล์ ซึ่งปกติชอบกินกุ้งหอยปูปลาเป็นพื้น และบางทีก็กินสัตว์ป่าที่ตัวใหญ่ด้วย เช่น ม้าลาย ในอดีต ด้วยเหตุที่ไดโนซูซุสมีขนาดเข้าขั้นจระเข้ยักษ์ มันจึงจู่โจมไดโนเสาร์ขนาดปานกลางที่มาใกล้ริมตลิ่งได้อย่างสบาย ๆ เช่น ไดโนเสาร์กินพืช “พาราซอโรลอฟอัส (Parasaurolophus)” ที่น้ำหนักเท่าช้าง (ราว 3 ตันครึ่ง) เทคนิคในการกินสัตว์ที่ขนาดใหญ่ คือ ลอยตัวเงียบกริบใต้ผิวน้ำตามลำน้ำหนองบึง หาเวลาเหมาะไดโนเสาร์ที่มาดื่มน้ำโดยไม่ระมัดระวัง มันก็กระโจนพุ่งตัวขึ้นงับติดแน่น แล้วลากไดโนเสาร์ลงน้ำ จนจมน้ำตายในที่สุด เชื่อกันว่าเจ้าไดโนซูซุส สามารถกระโจนได้ไกลเท่ากับความยาวของตัวมันเองเลยทีเดียว ดังนั้น แม้แต่ไดโนเสาร์ติดปีก “นิคโธซอรัส (Nyctosaurus)” ถ้าบินเฉียดผิวน้ำก็มีสิทธิ์โดนมันขย้ำลงไปงาบใต้น้ำได้ง่าย ๆ เช่นกัน ตอนปลายยุคมีโซโซอิค (65 ล้านปีก่อน) โลกที่โดนดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนเข้าปังใหญ่ แค่ไม่กี่เดือนกี่ปีถัดมา บรรดาสัตว์ และพืชพรรณก็มีอันสูญ พันธุ์ไปเกือบครึ่งโลก เป็นต้นว่า ไดโนเสาร์หายไปหมด แต่จระเข้ บางชนิดยังอยู่รอดและขยายพันธุ์ไปทั่วโลก ซึ่ง ได้แก่ จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม ตะโขง และอัลลิเกเตอร์ (หรือเคย์แมน) มาจนถึงปัจจุบัน[4]

การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของจระเข้

[แก้]

จระเข้ จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด 4 กลุ่ม สืบสายพันธุ์ยาวนานมาตั้งแต่ยุคจูแรคสิคและครีเทเซียสจนถึงยุคปัจจุบัน มีความสามารถในการปรับสภาพร่างกายในการอยู่รอดจากภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากว่า 160 ล้านปี คงลักษณะโบราณทางด้านกายวิภาคเกือบทั้งหมดของร่างกาย ตั้งแต่ปลายจมูกจรดปลายหาง ไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้แตกต่างไปจากบรรพบุรุษในยุคโบราณ จระเข้ส่วนใหญ่จะมีจมูกที่ยาวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีขากรรไกรที่แข็งแรงรวมทั้งฟันที่แหลมคม ขนาดความยาวประมาณ 3 - 4 เมตร ลักษณะลำตัวใหญ่โตและดุร้าย ทำให้แลดูน่ากลัวและน่าเกรงขามต่อผู้พบเห็น ผิวหนังแข็งเป็นเกล็ดปกคลุมตลอดลำตัว ปากยาวและปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูจมูก ออกลูกเป็นไข่ครั้งละประมาณ 20 - 28 ฟอง จัดอยู่ในประเภทสัตว์กินเนื้อทุกชนิดด้วย [5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ก้อนขี้หมา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2013-01-08.
  2. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 147
  3. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 369-370
  4. นิรนาม.มปป.จระเข้ยักษ์ดึกดำบรรพ์.http://blog.eduzones.com/diaw30/23449.
  5. นิรนาม.มปป.สัตว์เลื้อยคลาน.https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Iskandar, DT (2000). Turtles and Crocodiles of Insular Southeast Asia and New Guinea. ITB, Bandung.
  • Crocodilian Biology Database, FAQ. FLMNH.ufl.edu, "How long do crocodiles live for?" [ตามต้นฉบับ] Adam Britton.
  • Crocodilian Biology Database, FAQ. FLMNH.ufl.edu, "How fast can a crocodile run?" Adam Britton.
  • เลาหะจินดา, วีรยุทธ์ (2552). วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN 978-616-556-016-0.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Crocodilia