อันเนอ ฟรังค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Anne Frank)

อันเนอ ฟรังค์
อันเนอ ฟรังค์ ใน พ.ศ. 2484
อันเนอ ฟรังค์ ใน พ.ศ. 2484
เกิดAnnelies Marie Frank
12 มิถุนายน พ.ศ. 2472
แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี
เสียชีวิตป. มีนาคม พ.ศ. 2488 (15 ปี)
ค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน นาซีเยอรมนี
ที่ฝังศพค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน ประเทศเยอรมนี
อาชีพ
  • นักจดไดอารี
  • พี่เลี้ยงเด็ก
  • นักเขียน
ภาษา
สัญชาติ
  • เยอรมัน
  • ไวมาร์
การศึกษา
แนว
  • ชีวประวัติ
  • อัตชีวประวัติ
บิดามารดา
ญาติ

ลายมือชื่อ

อันเนอลีส มารี "อันเนอ" ฟรังค์ (เยอรมัน: Annelies Marie "Anne" Frank [ˈanəˌliːs maˈʁiː ˈʔanə ˈfʁaŋk] ( ฟังเสียง); ภาษาดัตช์: [ˈɑnəˌlis maːˈri ˈʔɑnə ˈfrɑŋk]; 12 มิถุนายน 2472 – ป. มีนาคม 2488) หรือ แอนน์ แฟรงค์ เป็นเด็กหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เกิดที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เธอมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้เขียนบันทึกประจำวันซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ บรรยายเหตุการณ์ขณะหลบซ่อนตัวจากการล่าชาวยิวในประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างที่ถูกเยอรมนีเข้าครอบครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ครอบครัวของเธอได้ย้ายไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ใน พ.ศ. 2476 หลังจากพรรคนาซีเริ่มมีอำนาจ ต่อมาเมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับออกมาตรการควบคุมชาวยิวจำนวนมาก เธอและครอบครัวกับผู้อื่นอีก 4 คนจึงต้องไปหลบซ่อนตัวอยู่ในอาคารสำนักงานในกรุงอัมสเตอร์ดัมของออทโท ฟรังค์ ผู้เป็นบิดาในห้องลับบนหลังคาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 จนถูกหักหลังและถูกนาซีจับเข้าค่ายกักกันใน พ.ศ. 2487 อันเนอ ฟรังค์เสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ในเวลาใกล้เคียงกับพี่สาวในค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซินประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม พ.ศ. 2488 สมาชิกตระกูลฟรังค์มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว คือออทโทผู้เป็นพ่อ เขากลับมาอัมสเตอร์ดัมหลังสงครามสิ้นสุดและได้พบสมุดบันทึกของเธอที่เพื่อนเก็บรักษาไว้ให้ จึงพยายามนำออกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2490 ใช้ชื่อหนังสือว่า "Het Achterhuis" หลังจากนั้นมีการแปลจากต้นฉบับภาษาดัตช์ออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย ฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า "The Diary of a Young Girl" ส่วนฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า "บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์"

อันเนอ ฟรังค์ได้รับสมุดบันทึกเป็นของขวัญวันเกิดครบ 13 ขวบ เธอเริ่มเขียนบันทึกตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2485 และสิ้นสุดในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 บันทึกได้รับการแปลจากภาษาดัตช์ออกเป็นภาษาต่าง ๆ มากมายและกลายเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีผู้อ่านมากที่สุดในโลก นอกจากภาพยนตร์แล้วยังมีการนำเรื่องราวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ ละครเวที และแม้แต่อุปรากร งานบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ถือว่าเป็นการเขียนงานอย่างผู้ใหญ่เต็มตัวและเต็มไปด้วยความช่างคิด แสดงให้เห็นชีวิตประจำวันที่แท้จริงภายใต้อำนาจพวกนาซี เป็นการพรรณนาถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โด่งดังที่สุด อันเนอ ฟรังค์ ได้รับเลือกจากนิตยสารไทมส์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อเกียรติภูมิของมนุษย์

วัยเด็ก[แก้]

อันเนอลีส มารี "อันเนอ" ฟรังค์ เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เป็นบุตรีคนที่สองของออทโท ฟรังค์ (2432-2523) และเอดิท ฮอลเลนเดอร์ (2443-2488) มีพี่สาวชื่อ มาร์กอท ฟรังค์ (2469-2488) [1] ครอบครัวฟรังค์เป็นชาวยิวหัวก้าวหน้า อาศัยอยู่ในชุมชนผสมระหว่างชาวยิวกับพลเมืองอื่น ๆ ทำให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาในแวดล้อมของสหายกลุ่มต่าง ๆ ทั้งคาทอลิก, โปรเตสแตนต์ และชาวยิวเอง พวกเขาไม่ใคร่เคร่งครัดประเพณีในศาสนายูดายมากนัก เอดิทปกครองเด็ก ๆ อย่างเคร่งครัดมากกว่า ขณะที่ออทโทซึ่งเป็นนายทหารเยอรมันที่ได้รับเหรียญตราจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ให้ความสนใจกับความรู้วิชาการและมีห้องสมุดใหญ่เป็นของตัวเอง ทั้งพ่อและแม่ต่างสนับสนุนให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือ[2]

ห้องพักอาศัยที่จัตุรัสแมร์เวเดอซึ่งครอบครัวฟรังค์พำนักอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2477 - 2485

วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2476 มีการเลือกตั้งในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต และพรรคนาซีของฮิตเลอร์เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง มีการออกกฎหมายต่อต้านชาวยิวแทบจะในทันที ทำให้ครอบครัวฟรังค์เริ่มวิตกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกตนหากยังคงอยู่ในเยอรมนีต่อไป ปีต่อมา เอดิทและเด็ก ๆ จึงเดินทางไปยังเมืองอาเคิน (Aachen) เพื่อพำนักอยู่กับมารดาของเอดิท คือนางโรซา ฮอลเลนเดอร์ ออทโท ฟรังค์ยังคงอยู่ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ตต่อไป แต่ต่อมาเขาได้รับข้อเสนอให้ทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งในอัมสเตอร์ดัมชื่อว่าโอเพคทา เขาจึงย้ายไปเริ่มต้นธุรกิจที่นั่นและพาครอบครัวไปด้วย[2] ครอบครัวฟรังค์เป็นหนึ่งในบรรดาชาวยิวกว่า 300,000 คนที่อพยพออกจากเยอรมนีระหว่างปี พ.ศ. 2476 ถึง 2482[3]

ออทโท ฟรังค์ เริ่มทำงานที่บริษัทโอเพคทาซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายผลไม้ เขามีห้องพักอาศัยแห่งหนึ่งบริเวณจัตุรัสแมร์เวเดอ (Merwedeplein) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เอดิทกับลูก ๆ มาถึงอัมสเตอร์ดัมในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 จากนั้นเด็กหญิงทั้งสองจึงได้เข้าโรงเรียน มาร์กอทได้เข้าโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ส่วนอันเนอได้เข้าโรงเรียนแบบมอนเตสโซรี (Montessori) มาร์กอทมีความสามารถพิเศษด้านพีชคณิต ส่วนอันเนอชอบการอ่านและเขียนหนังสือ เพื่อนคนหนึ่งของเธอคือ ฮันเนอลี กอสลาร์ เล่าถึงเรื่องในวัยเด็กภายหลังว่า อันเนอมักเขียนหนังสืออยู่เสมอ เธอจะเอามือป้องบังงานของเธอเอาไว้และไม่ยอมพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับงานเขียนของเธอเลย มาร์กอทกับอันเนอมีบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด โดยที่มาร์กอทเป็นคนเรียบร้อย เก็บตัว ชอบศึกษาหาความรู้ ส่วนอันเนอเป็นคนช่างพูด กระตือรือร้น และชอบพบปะผู้คน[1]

ปี พ.ศ. 2481 ออทโท ฟรังค์ เริ่มต้นทำบริษัทเพคทาคอนเป็นบริษัทที่สอง โดยเป็นผู้แทนจำหน่ายสมุนไพร เกลือ และเครื่องเทศต่าง ๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตไส้กรอก บริษัทได้ว่าจ้างแฮร์มันน์ ฟัน แป็ลส์ มาเป็นที่ปรึกษาทางด้านเครื่องเทศ เขาเป็นพ่อค้าสัตว์ชาวยิวที่พาครอบครัวหนีมาจากเมืองออสนาบรึค (Osnabrück) ในเยอรมนี[2] ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 แม่ของเอดิทก็มาอยู่กับครอบครัวฟรังค์ด้วย จนกระทั่งเสียชีวิตลงในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485[1]

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2483 เยอรมนีรุกรานเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลผู้คุกคามเริ่มราวีชาวยิวโดยบังคับใช้กฎหมายเหยียดชนชาติอย่างไม่เป็นธรรม มีการขึ้นทะเบียนและแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน มาร์กอทและอันเนอเป็นเด็กเรียนเก่งและมีเพื่อนมาก แต่ด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมบังคับให้เด็กชาวยิวต้องเรียนในโรงเรียนยิวเท่านั้น ทั้งสองจึงต้องย้ายไปอยู่ศูนย์ศึกษาของชาวยิวเท่านั้น เดือนเมษายน พ.ศ. 2484 ออทโท ฟรังค์ พยายามปกป้องบริษัทเพคทาคอนจากการถูกยึดกิจการเนื่องจากเป็นธุรกิจของชาวยิว เขาโอนหุ้นของเขาในเพคทาคอนไปให้แก่โยฮันเนิส ไกลมัน แล้วลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ทรัพย์สินของบริษัททั้งหมดถูกโอนไปยังบริษัทคีสและคณะ ซึ่งมียัน คีส เป็นเจ้าของ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ออทโททำอย่างเดียวกันกับบริษัทโอเพคทา ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ปรากฏพิรุธ ออทโท ฟรังค์สามารถมีรายได้บ้าง แม้จะน้อยลงกว่าเดิมแต่ก็เพียงพอจะช่วยยังชีพครอบครัวของเขาไว้ได้

ลำดับเหตุการณ์ตามบันทึก[แก้]

ก่อนการซ่อนตัว[แก้]

ลายมือของอันเนอ ฟรังค์ แปลได้ว่า "นี่คือรูปของฉันที่ฉันอธิษฐานให้ตัวฉันเป็นอย่างนี้ตลอดไป และหวังว่าจะได้มีโอกาสไปฮอลลีวุดกับเขาบ้าง" ลงชื่อ อันเนอ ฟรังค์ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2485

ในวันเกิดปีที่สิบสามของอันเนอ เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เธอได้รับของขวัญจากพ่อเป็นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเธอแสดงความประสงค์ต่อบิดาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ มันเป็นสมุดวาดเขียนเปล่า ปกเป็นผ้าสีแดง-เขียว ผูกเงื่อนเล็ก ๆ ไว้ด้านหน้า อันเนอตัดสินใจว่าเธอจะใช้หนังสือนี้เป็นสมุดบันทึก[2] และเริ่มต้นเขียนลงในสมุดนับแต่บัดนั้น เนื้อหาในช่วงต้น ๆ โดยมากเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วไปในชีวิตของเธอ แต่เธอก็ได้บันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์หลังจากเยอรมนีเข้าครอบครองไว้ด้วย ในบันทึกของเธอที่ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เธอได้บันทึกรายการข้อห้ามต่าง ๆ ที่บังคับใช้กับพลเมืองชาวดัตช์ที่เป็นยิว และได้บันทึกความเศร้าโศกในการเสียชีวิตของยายของเธอเมื่อช่วงต้นปีนั้น[4] อันเนอใฝ่ฝันจะได้เป็นนักแสดง เธอชอบดูภาพยนตร์ แต่ชาวดัตช์เชื้อสายยิวถูกห้ามเข้าโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 8 มกราคม พ.ศ. 2484[1]

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 มาร์กอท ฟรังค์ ได้รับจดหมายเรียกให้ไปรายงานตัวยังศูนย์กลางชาวยิวอพยพ เพื่อให้ย้ายที่อยู่ไปยังค่ายทำงาน ก่อนหน้านี้พ่อของอันเนอบอกเธอว่าครอบครัวจะต้องขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนห้องใต้หลังคาของที่ทำการบริษัทบนถนนปรินเซินครัคต์ (Prinsengracht) ที่ซึ่งพนักงานของออทโทที่เชื่อถือได้จำนวนหนึ่งจะให้การช่วยเหลือพวกเขา จดหมายเรียกตัวทำให้พวกเขาต้องรีบเร่งการซ่อนตัวเร็วกว่าที่คาดไว้หลายสัปดาห์[1]

ชีวิตใน อัคเตอร์เฮอวส์[แก้]

เช้าวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2485[1] ครอบครัวฟรังค์ได้ย้ายไปยังที่หลบซ่อนตัว ห้องพักอาศัยเดิมของพวกเขาถูกทิ้งไว้ในสภาพยุ่งเหยิง ให้ดูเหมือนว่าพวกเขารีบเร่งจากไปในทันที ออทโท ฟรังค์ ทิ้งข้อความไว้ฉบับหนึ่งบอกเป็นนัยว่าพวกเขาได้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องทิ้งโมร์เจอ (แมวของอันเนอ) เอาไว้เนื่องจากจำเป็นต้องรักษาความลับ พวกยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้รถขนส่งสาธารณะ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเดินจากบ้านเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร แต่ละคนสวมเสื้อผ้าซ้อนกันหลายชั้นเพราะพวกเขาไม่กล้าถือกระเป๋าเดินทางไปด้วย ที่ซ่อนของพวกเขาคือ อัคเตอร์เฮอวส์ [Achterhuis; เป็นคำภาษาดัตช์ หมายถึงพื้นที่ส่วนด้านหลังของบ้าน ฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกที่ซ่อนนี้ว่า "ห้องลับ" (Secret Annexe)] เป็นพื้นที่ว่างสามชั้น เข้าได้จากชั้นพื้นดินของสำนักงานบริษัทโอเพคทา ภายในมีห้องเล็ก ๆ สองห้องบนชั้นที่หนึ่ง มีห้องอาบน้ำและห้องส้วมในตัว ชั้นบนเป็นห้องโล่งที่ใหญ่กว่า และมีห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งอยู่ด้านข้าง จากห้องเล็ก ๆ นี้มีบันไดทอดออกไปยังห้องใต้หลังคา ในเวลาต่อมาประตูทางเข้า อัคเตอร์เฮอวส์ ถูกบังไว้ด้วยตู้หนังสือ เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่ถูกค้นพบ ส่วนตัวอาคารหลักตั้งอยู่ห่างจากโบสถ์แว็สเตอร์แกร์ก (Westerkerk) หนึ่งบล็อก ไม่มีการบรรยายถึง

บ้านที่ปรินเซินครัคต์ กรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ซ่อนตัวของครอบครัวฟรังค์

วิคทอร์ คูเกลอร์, โยฮันเนิส ไกลมัน, มีป คีส และแบ็ป โฟสเกยล์ เป็นบรรดาพนักงานที่ล่วงรู้ว่าครอบครัวฟรังค์หลบอยู่ที่นั่น ยัน คีส สามีของมีป และโยฮันเนิส แฮ็นดริก พ่อของโฟสเกยล์ เป็น "ผู้ให้ความช่วยเหลือ" ตลอดช่วงเวลาที่ครอบครัวฟรังค์ซ่อนตัว พวกเขานำข่าวจากนอกบ้านมาแจ้งให้ คอยรายงานสถานการณ์สงครามและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ให้แน่ใจว่าครอบครัวฟรังค์สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีอาหารเพียงพอ ซึ่งนับวันจะยิ่งเสาะหาอาหารได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนอเขียนถึงความเสียสละและความพยายามของพวกเขาที่พยายามจรรโลงจิตใจของคนในบ้านตลอดช่วงระยะเวลาอันแสนอันตรายนั้น ทุกคนต่างตระหนักดีว่า หากถูกจับได้ พวกเขาจะต้องโทษถึงประหารฐานให้ที่พักพิงแก่ชาวยิว[2]

วันที่ 13 กรกฎาคม ครอบครัวฟัน แป็ลส์ ได้มาอาศัยร่วมกับครอบครัวฟรังค์ ได้แก่ แฮร์มันน์, เอากุสต์ และเปเตอร์ ลูกชายอายุ 16 ปี เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนพวกเขาก็ได้ต้อนรับฟริทซ์ พเฟฟเฟอร์ ทันตแพทย์และเพื่อนของครอบครัว อันเนอบันทึกว่าเธอดีใจที่มีเพื่อนคุยด้วย แต่การมีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกันในที่แคบ ๆ ทำให้เกิดความเครียด อันเนอใช้ห้องร่วมกับพเฟฟเฟอร์ เธอไม่สามารถทนเขาได้และรำคาญที่ต้องรับเขามาอยู่ด้วย เธอยังทะเลาะกับพเฟฟเฟอร์ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าโง่เง่า เธอระบุว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปริมาณอาหารที่ได้รับแบ่งปัน[2] ในเวลาต่อมา เธอเริ่มญาติดีกับเปเตอร์ผู้ขี้อายและเชื่องช้า แล้วทั้งสองก็เริ่มตกหลุมรักกัน อันเนอได้จูบเขาเป็นครั้งแรก ทว่าความรู้สึกหลงใหลดูดดื่มของอันเนอค่อย ๆ เจือจางลง เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่าความรู้สึกของเธอต่อเปเตอร์นั้นจริงแท้แค่ไหน หรือเป็นเพียงเพราะพวกเขาได้อยู่ร่วมในที่แห่งเดียวกันเท่านั้น อันเนอ ฟรังค์ สนิทสนมกับบรรดาผู้ให้ความช่วยเหลือพวกเขามาก ออทโท ฟรังค์ รำลึกเรื่องนี้ในภายหลังว่า เธอตื่นเต้นกระตือรือร้นที่จะได้พบพวกเขาทุก ๆ วัน เขายังสังเกตว่าเพื่อนสนิทที่สุดของอันเนอคือ แบ็ป โฟสเกยล์ "เลขานุการสาวผู้นั้น... พวกเธอทั้งสองมักยืนกระซิบกระซาบกันอยู่ตรงมุมห้อง"[2]

ในบันทึกของอันเนอ เธอบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ และความแตกต่างในบุคลิกภาพของพวกเขาทั้งหลาย เธอเห็นว่าตัวเองมีความรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อมากกว่าคนอื่น ๆ พ่อของเธอบอกภายหลังว่า "ผมเข้ากับอันเนอได้ดีกว่ามาร์กอทซึ่งมักจะติดแม่แจ อาจเป็นเพราะมาร์กอทไม่ค่อยแสดงความรู้สึกของเธอออกมาเท่าไรนัก และดูเหมือนไม่ต้องการการสนับสนุนมากนัก เธอไม่ค่อยหัวเสียกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาเหมือนอย่างที่อันเนอเป็น"[1] หลังจากมาซ่อนตัว อันเนอกับมาร์กอทก็สนิทกันยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้บางครั้งอันเนอจะรู้สึกอิจฉามาร์กอท เพราะสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านมักตำหนิเธอว่าไม่มีความอ่อนโยนสุภาพเหมือนอย่างพี่สาว แต่เมื่ออันเนอเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สองสาวพี่น้องก็เข้ากันได้ดี ในบันทึกของเธอวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 อันเนอเขียนว่า "มาร์กอทดีขึ้นมาก พักหลังนี้เธอไม่ทำตัวเป็นแมวหง่าว และเริ่มเป็นเพื่อนจริง ๆ สักที เธอไม่มองฉันเป็นเด็กทารกอีกแล้ว"[4]

อันเนอเขียนเรื่องความขัดแย้งกับแม่เอาไว้บ่อย ๆ รวมถึงความขัดแย้งในใจของเธอเองเกี่ยวกับแม่ด้วย วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 เธอบรรยายถึง "ความเสื่อมศรัทธา" ที่มีต่อแม่ ทั้งยังไม่สามารถ "ประจันหน้ากับความสะเพร่า เย็นชา และหัวใจที่แข็งกระด้าง" ของแม่เธอได้ ก่อนจะสรุปว่า "เขาไม่ใช่แม่สำหรับฉัน"[4] ต่อมาเมื่อเธอทบทวนสมุดบันทึกของตัวเอง อันเนอรู้สึกละอายกับทัศนคติแย่ ๆ ของตัวเอง เธอบันทึกว่า "อันเนอ นั่นเธอหรือที่จงเกลียดจงชังขนาดนั้น โอ อันเนอ เธอทำได้อย่างไร?"[4] อันเนอเริ่มเข้าใจว่า ความแตกต่างของพวกเขาเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจกัน เป็นความผิดของเธอมากเท่า ๆ กับความผิดของแม่ อันเนอยังเห็นว่าเธอได้เพิ่มความทุกข์ใจให้แก่แม่อย่างไม่จำเป็นเลย เมื่อตระหนักดังนี้ อันเนอก็เริ่มปฏิบัติต่อมารดาด้วยความเคารพมากยิ่งขึ้น[1]

ทั้งมาร์กอทและอันเนอต่างหวังจะได้กลับไปโรงเรียนอีกครั้งทันทีที่ไปได้ เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนต่อ มาร์กอทมีสมุดบันทึกส่วนตัวของเธอเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าสูญหายไป อันเนอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านและเล่าเรียน โดยยังเขียนและแก้ไขบันทึกของเธออยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกเหนือจากการบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พวกเขาประสบแล้ว เธอยังบรรยายถึงความรู้สึกของเธอ ความเชื่อ ความปรารถนา และเรื่องต่าง ๆ ที่เธอไม่กล้าปรึกษาหารือกับใคร เมื่อเธอมีความมั่นใจในการเขียนหนังสือมากขึ้น เธอก็เริ่มบรรยายถึงเรื่องราวเชิงนามธรรม เช่นความเชื่อของเธอต่อพระผู้เป็นเจ้า และเรื่องการจำกัดความธรรมชาติของมนุษย์ เธอเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอทุกวันจนกระทั่งถึงบันทึกครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487

ถูกจับกุม[แก้]

ค่ายที่สร้างขึ้นใหม่บนที่ตั้งของค่ายแว็สเตอร์บอร์ก ซึ่งอันเนอ ฟรังค์ พำนักอยู่ระหว่างสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2487

เช้าวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2487 อัคเตอร์เฮอวส์ ถูกบุกค้นโดยตำรวจเยอรมนี (Grüne Polizei) เนื่องจากมีผู้แจ้งเบาะแสนิรนาม[5] ทีมจับกุมนำโดยคาร์ล ซิลเบอร์เบาเออร์ นายตำรวจซีแชร์ไฮท์สดีนสท์ (Sicherheitsdienst) พร้อมทั้งตำรวจอีกอย่างน้อย 3 นาย ครอบครัวฟรังค์ ครอบครัวฟัน แป็ลส์ และพเฟฟเฟอร์ ถูกนำตัวไปยังสำนักงานใหญ่เกสตาโป พวกเขาถูกไต่สวนและขังคุกไว้ที่นั่นหนึ่งคืน วันที่ 5 สิงหาคมพวกเขาถูกนำตัวไปยังเฮยส์ฟันเบวาริง (Huis van Bewaring) ซึ่งเป็นคุกแน่นขนัดที่เวเตอริงสคันส์ (Weteringschans) สองวันต่อมาพวกเขาถูกส่งไปยังแว็สเตอร์บอร์ก (Westerbork) ซึ่งเป็นค่ายส่งตัว มีชาวยิวนับแสนคนถูกส่งผ่านค่ายแห่งนี้ เนื่องจากพวกเขาถูกจับกุมได้ขณะหลบซ่อนตัว จึงโดนข้อหาเป็นอาชญากรและจะต้องถูกส่งไปยังค่ายลงทัณฑ์เพื่อเป็นแรงงานหนัก[1]

วิคทอร์ คูเกลอร์ และโยฮันเนิส ไกลมัน ถูกจับตัวและขังคุกอยู่ในค่ายลงโทษฝ่ายศัตรูที่เมืองอาเมอร์สโฟร์ต (Amersfoort) ไกลมันได้รับการปล่อยตัวใน 7 สัปดาห์ให้หลัง แต่คูกเลอร์ต้องอยู่ในค่ายแรงงานหลายแห่งจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด[1] มีป คีส กับแบ็ป โฟสเกยล์ ถูกไต่สวนและคุกคามจากตำรวจความมั่นคง ทว่าพวกเขาไม่โดนจำคุก เมื่อพวกเขากลับไปที่ อัคเตอร์เฮอวส์ ในวันรุ่งขึ้น ก็พบกระดาษบันทึกของอันเนอกระจัดกระจายเกลื่อนพื้น พวกเขาเก็บรักษาบันทึกทั้งหมดไว้ รวมถึงอัลบัมภาพถ่ายครอบครัวอีกหลายเล่ม คีสตัดสินใจจะเก็บไว้คืนให้อันเนอหลังสงครามสิ้นสุด วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2487 คีสพยายามจัดการให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยติดสินบนให้แก่ซิลเบอร์เบาเออร์ แต่เขาปฏิเสธ[1]

การกักกันและการเสียชีวิต[แก้]

วันที่ 3 กันยายน[6] ทั้งกลุ่มถูกส่งตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายไปจากแว็สเตอร์บอร์ก มุ่งสู่ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ใช้เวลาเดินทางถึง 3 วัน ในท่ามกลางความวุ่นวายขณะลงจากรถไฟ พวกผู้ชายก็พลัดจากกลุ่มผู้หญิงและเด็ก แล้วออทโท ฟรังค์ ก็ไม่ได้พบครอบครัวของเขาอีกเลย ในจำนวนผู้โดยสาร 1,019 คนที่มาถึง ถูกแยกส่งไปยังห้องรมแก๊สทันที 549 คน (รวมถึงเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี) อันเนอเพิ่งมีอายุครบ 15 ปีมาได้ 3 เดือน และเป็นหนึ่งในบรรดาผู้รอดชีวิตที่อายุน้อยที่สุด ไม่นานเธอก็เริ่มเข้าใจว่า นักโทษส่วนใหญ่ถูกส่งไปรมแก๊สทันทีที่เดินทางมาถึง เธอไม่ทราบเลยว่ากลุ่มที่มาจาก อัคเตอร์เฮอวส์ ทั้งหมดรอดชีวิต แต่คิดไปว่าพ่อของเธอซึ่งอายุกว่าห้าสิบปีแล้วและไม่ค่อยแข็งแรงนัก คงจะถูกฆ่าทันทีที่พวกเขาพลัดจากกัน[1]

อันเนอกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่รอดจากการสังหารหมู่ทันทีที่มาถึง ถูกบังคับให้เปลือยกายและฆ่าเชื้อ พวกเธอถูกจับโกนผมและสักหมายเลขประจำตัวไว้บนแขน ในเวลากลางวัน พวกผู้หญิงจะถูกใช้งานเป็นทาส อันเนอต้องทลายหินและขุดพื้น เมื่อตกกลางคืนพวกเขาต้องเบียดเสียดกันอยู่ในคุกแคบ ๆ พยานหลายคนให้ปากคำในภายหลังว่า อันเนอจะหวาดผวาและร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นเด็ก ๆ ถูกนำตัวไปยังห้องรมแก๊ส แต่ก็มีพยานอีกหลายคนบอกว่าบางครั้งเธอก็แสดงความกล้าหาญและความแข็งแกร่ง ความอารีและธรรมชาติความเป็นผู้นำในตัวเธอทำให้เธอมักได้รับส่วนแบ่งขนมปังเพิ่มขึ้นสำหรับให้เอดิท มาร์กอท และตัวเธอเอง ในค่ายสกปรกมาก ไม่ช้าเชื้อโรคก็แพร่ระบาด ผิวของอันเนอติดเชื้อหิดอย่างรุนแรง เธอกับมาร์กอทถูกแยกไปห้องผู้ป่วย ที่ซึ่งมีแต่ความมืดสลัวตลอดเวลา และเป็นที่อยู่ของหนู เอดิท ฟรังค์ เลิกกินอาหารส่วนของตน แต่เก็บเอาไว้เพื่อส่งไปให้ลูกสาวทั้งสอง โดยส่งผ่านรูเล็ก ๆ ที่เธอแอบเจาะไว้ทางด้านหลังกำแพงห้องผู้ป่วย[1]

มรณานุสรณ์สำหรับมาร์กอท และอันเนอ ฟรังค์ ที่บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซินเดิม

เมื่อถึงวันที่ 28 ตุลาคมก็มีการคัดเลือกผู้หญิงที่จะย้ายไปยังค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน ผู้หญิงกว่า 8,000 คน รวมทั้งอันเนอและมาร์กอท ฟรังค์ และเอากุสต์ ฟัน แป็ลส์ ถูกย้ายไป แต่เอดิท ฟรังค์ไม่ได้ไปด้วย เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมาเนื่องจากอดอาหาร[1] นักโทษจำนวนมากหลั่งไหลไปที่เบลเซินจนต้องมีการตั้งเต็นท์ชั่วคราวสำหรับเป็นที่พักอาศัย ผลจากจำนวนผู้อาศัยที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดโรคระบาดและอัตราเสียชีวิตก็สูงขึ้นอย่างมาก อันเนอได้พบกับเพื่อนเก่าสองคนคือ ฮันเนอลี กอสลาร์ และนาเนตต์ บลิตซ์ เป็นเวลาสั้น ๆ พวกเธอถูกกักกันอยู่ในคนละพื้นที่ของค่าย กอสลาร์กับบลิตซ์มีชีวิตรอดจนสงครามสิ้นสุด ในภายหลังพวกเธอทั้งสองได้เล่าถึงบทสนทนากับอันเนอเมื่อทั้งหมดได้คุยกันชั่วขณะผ่านรั้วกั้นแดน บลิตซ์บอกว่าอันเนอดูผอมมาก ศีรษะล้าน ตัวสั่นเทา ส่วนกอสลาร์เล่าว่าเอากุสต์ ฟัน แป็ลส์ ได้อยู่กับอันเนอและมาร์กอทด้วย ดูเหมือนเธอจะคอยดูแลสองพี่น้องที่กำลังป่วยหนัก คนทั้งสองไม่ได้พบกับมาร์กอท เนื่องจากเธออ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากที่นอนได้ อันเนอบอกกับกอสลาร์และบลิตซ์ว่า เธอคิดว่าพ่อกับแม่คงจะตายไปแล้ว ด้วยเหตุนั้นเธอจึงไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ต่อไป กอสลาร์คิดว่าช่วงที่พวกเขาได้พบกันน่าจะอยู่ในราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488[1]

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ระบาดในค่ายกักกัน ทำให้นักโทษเสียชีวิตไปประมาณ 17,000 คน[1] พยานบางคนเล่าในภายหลังว่า มาร์กอทร่วงตกจากที่นอนและเสียชีวิตจากอาการช็อก หลังจากนั้นไม่กี่วัน อันเนอก็เสียชีวิต ประมาณว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทหารอังกฤษจะสามารถเข้าปลดปล่อยค่ายกักกันได้ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2488 แต่ไม่สามารถระบุวันที่ที่แน่นอนได้[7][8] ค่ายทั้งค่ายถูกเผาหลังจากได้รับการปลดปล่อยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด อันเนอกับมาร์กอทจึงถูกฝังอยู่ใต้กองดินขนาดใหญ่ โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้

หลังจากสิ้นสุดสงคราม ประมาณว่ามีชาวยิวถูกเนรเทศจากเนเธอร์แลนด์ระหว่างปี พ.ศ. 2485 – 2487 ประมาณ 107,000 คน ในจำนวนนี้รอดชีวิตมาได้เพียง 5,000 คน ส่วนชาวยิวที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในเนเธอร์แลนด์มีประมาณ 30,000 คน โดยความช่วยเหลือของขบวนการใต้ดินชาวดัตช์ และรอดชีวิตมาจนถึงหลังสงครามได้ประมาณสองในสามส่วน[9]

ออทโท ฟรังค์ รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์ หลังสงคราม เขากลับไปยังอัมสเตอร์ดัมและได้อาศัยพำนักอยู่กับยันและมีป คีส เพื่อติดตามค้นหาครอบครัวของเขา เขาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาแล้วตั้งแต่อยู่ที่เอาชวิทซ์ แต่ก็ยังมีความหวังว่าลูกสาวทั้งสองน่าจะรอดชีวิต หลังจากค้นหาอยู่หลายสัปดาห์เขาจึงได้ทราบว่า มาร์กอทและอันเนอเสียชีวิตแล้ว เขาติดตามสอบถามข่าวชะตากรรมของบรรดาสหายของบุตรสาวด้วย และได้ทราบว่าพวกเขาถูกสังหารจนหมด ซูซันเนอ เลเดอร์มันน์ เป็นหนึ่งในชื่อสหายที่ปรากฏบ่อยครั้งอยู่ในสมุดบันทึกของอันเนอ เธอถูกรมแก๊สเสียชีวิตพร้อมกับพ่อแม่ แต่บาร์บารา พี่สาวของซูซันเนอและเพื่อนสนิทของมาร์กอท รอดชีวิต[2] ยังมีเพื่อนร่วมโรงเรียนของพี่น้องฟรังค์อีกหลายคนที่รอดชีวิต เช่นเดียวกับญาติ ๆ อีกหลายคนของทั้งออทโทและเอดิท ฟรังค์ ที่หนีออกจากเยอรมนีในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 บางคนไปตั้งรกรากอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

หนังสือ บันทึกของเด็กหญิง[แก้]

การตีพิมพ์[แก้]

ภาพปกหนังสือ Het Achterhuis ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2490 ต่อมาแปลเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า The Diary of a Young Girl ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 หลังจากกาชาดสากลยืนยันการเสียชีวิตของอันเนอและมาร์กอทแล้ว มีป คีส จึงมอบสมุดบันทึกและเศษกระดาษบันทึกของอันเนอที่เธอเก็บรักษาไว้ด้วยความตั้งใจจะคืนให้แก่อันเนอ ให้แก่ออทโท ฟรังค์ ออทโทบอกในภายหลังว่า เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าอันเนอได้จดบันทึกอย่างละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาระหว่างการซ่อนตัว ออทโทค่อย ๆ อ่านบันทึกด้วยความปวดร้าว ระลึกถึงแต่ละเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในบันทึก และนึกได้ว่าเขาเคยได้ยินเนื้อความบางส่วนที่ตลก ๆ ซึ่งบุตรสาวของเขาเคยอ่านให้ฟังมาก่อนแล้ว นอกจากนี้เขายังยอมรับว่า เพิ่งเคยได้ทราบความเป็นส่วนตัวบางอย่างของบุตรสาวเป็นครั้งแรก รวมถึงบางส่วนของบันทึกที่เธอไม่เคยพูดถึงกับใครมาก่อน ออทโทกล่าวว่า "สำหรับผม มันเป็นการเปิดดวงตาครั้งใหญ่... ผมไม่เคยล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดของลูกมาก่อน... เธอเก็บความรู้สึกทั้งหมดนี้ไว้กับตัวเอง"[2] อันเนอบันทึกความปรารถนาไว้หลายครั้งว่าอยากเป็นนักเขียน ดังนั้น ออทโทจึงเริ่มคิดว่า น่าจะนำบันทึกนี้ไปตีพิมพ์

ช่วงต้นของบันทึกของอันเนอ บรรยายความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว และยังระบุหลายครั้งว่าเธอจะไม่ยอมให้ใครได้อ่านมันเลย เธอแอบเขียนบรรยายชีวิตของเธอ ของครอบครัว และเพื่อน ๆ ตลอดจนสถานะของพวกเขา ขณะเดียวกันเธอก็เริ่มมีความคาดหวังจะเขียนนิยายสำหรับพิมพ์เผยแพร่ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2487 อันเนอได้ยินประกาศทางวิทยุโดยแคร์ริต โบลเกอสไตน์ หนึ่งในคณะรัฐบาลพลัดถิ่นของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าหลังจากสงครามสิ้นสุด เขาจะจัดทำบันทึกสาธารณะขึ้นเพื่อรวบรวมสิ่งที่เกิดกับชาวดัตช์ระหว่างอยู่ภายใต้รัฐบาลเยอรมนี[4] เขาระบุถึงการเผยแพร่จดหมายและบันทึกต่าง ๆ ทำให้อันเนอตัดสินใจจะส่งงานเขียนของเธอไปร่วมด้วยเมื่อถึงเวลานั้น เธอเริ่มปรับปรุงแก้ไขงานเขียนของเธอ สลับ ย้ายเนื้อหา และเขียนขึ้นใหม่บางส่วน ด้วยมุมมองที่เหมาะสมสำหรับการตีพิมพ์ สมุดบันทึกเริ่มแรกของเธอสอดแทรกไว้ด้วยสมุดโน้ตเพิ่มเติมและกระดาษเป็นแผ่น ๆ อีกจำนวนมาก เธอคิดชื่อสมมุติขึ้นสำหรับสมาชิกในบ้านและบรรดาผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยเปลี่ยนชื่อครอบครัวฟัน แป็ลส์เป็นแฮร์มันน์, เปโตรเนลลา และเปเตอร์ ฟัน ดาน และเปลี่ยนชื่อฟริทซ์ พเฟฟเฟอร์เป็นอัลแบร์ท ดึสเซิลล์ ในบันทึกฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่นี้ เธอเขียนถึง "คิตตี" ซึ่งเป็นตัวละครในนิยายเรื่อง โยปเตอร์เฮิล (Joop ter Heul) ของซิสซี ฟัน มากซ์เฟลต์ ซึ่งอันเนอชอบอ่านบ่อย ๆ ออทโท ฟรังค์ ใช้บันทึกฉบับดั้งเดิมของเธอซึ่งเรียกว่า "ฉบับเอ" รวมกับฉบับปรับปรุงแก้ไขที่เรียกว่า "ฉบับบี" มาเรียบเรียงใหม่เป็นฉบับตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เขาตัดเนื้อหาบางส่วนออก โดยเฉพาะส่วนที่อันเนอวิจารณ์พ่อแม่ของเธอ (โดยมากเป็นแม่) และส่วนที่บรรยายถึงการเติบโตทางเพศของอันเนอเอง ออทโทเปลี่ยนส่วนที่ระบุชื่อสมาชิกในครอบครัวของเขาเองให้เป็นชื่อจริง แต่ยังคงใช้ชื่อสมมุติสำหรับบุคคลอื่น ๆ เอาไว้

ออทโท ฟรังค์ มอบสมุดบันทึกให้แก่อันนี โรไมน์-แฟร์สโคร์ (Annie Romein-Verschoor) นักประวัติศาสตร์ ซึ่งพยายามช่วยให้หนังสือได้ตีพิมพ์ แต่ไม่สำเร็จ เธอส่งหนังสือต่อไปให้ยัน โรไมน์ สามีของเธอ เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับหนังสือนี้ ชื่อหัวข้อว่า "Kinderstem" (หมายถึง "เสียงของเด็กหญิง") พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Het Parool ฉบับวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2489 เขาเขียนว่าสมุดบันทึกนี้ "สะท้อนเสียงคร่ำครวญของเด็กน้อย แสดงให้เห็นความน่าขยะแขยงของลัทธิฟาสซิสต์ โหดร้ายยิ่งกว่าเหตุการณ์ทั้งมวลที่เนือร์นแบร์กรวมกันเสียอีก"[10] บทความของเขาทำให้บรรดาสำนักพิมพ์สนใจขึ้นมา แล้วสมุดบันทึกเล่มนั้นจึงได้ตีพิมพ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ในชื่อ Het Achterhuis เมื่อปี พ.ศ. 2490[2] และได้พิมพ์ซ้ำในปี พ.ศ. 2493

หนังสือได้ตีพิมพ์ในเยอรมนีและฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2493 ส่วนในประเทศอังกฤษได้พิมพ์ในปี พ.ศ. 2495 หลังจากถูกสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ปฏิเสธหลายครั้ง ฉบับพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2495 ในชื่อว่า Anne Frank: The Diary of a Young Girl โดยได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี หนังสือประสบความสำเร็จในฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา แต่ที่อังกฤษไม่ค่อยเป็นที่ดึงดูดใจนักอ่านนัก ไม่มีการพิมพ์ซ้ำอีกหลังจากปี พ.ศ. 2496 หนังสือประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นที่สุดที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นที่ชื่นชอบอย่างสูงและจำหน่ายได้มากกว่า 100,000 เล่มในฉบับพิมพ์ครั้งแรก อันเนอ ฟรังค์ กลายเป็นผู้แทนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างยิ่งในญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว เธอเป็นตัวแทนถึงวัยเยาว์ที่ถูกทำลายลงในระหว่างสงคราม[2]

หนังสือได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวที โดยแฟรนซิส กู๊ดริช และแอลเบิร์ต แฮกเกตต์ แสดงรอบปฐมทัศน์ในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับประเภทละครชีวิต ในปี 2502 ได้สร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Diary of Anne Frank ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งเงินและชื่อเสียง นักบันทึกชีวประวัติ เมลิสซา มึลเลอร์ เขียนถึงการดัดแปลงบทประพันธ์เป็นการแสดงเหล่านี้ว่า "แสดงให้เห็นความรักใคร่ ความอ่อนไหว และความเป็นสากลในเรื่องของอันเนอได้อย่างดีที่สุด"[1] ยิ่งเวลาผ่านไป ความนิยมในงานเขียนก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น ในโรงเรียนหลายแห่งโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานำหนังสือนี้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย ทำให้อันเนอ ฟรังค์ เป็นที่รู้จักดีของนักอ่านรุ่นใหม่ ๆ

ปี พ.ศ. 2529 สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามแห่งรัฐเนเธอร์แลนด์ (Netherlands State Institute for War Documentation) ได้จัดพิมพ์บันทึก "ฉบับชำระใหม่" (Critical Edition) แสดงเนื้อหาเปรียบเทียบฉบับต่าง ๆ ที่เคยปรากฏทั้งหมด ทั้งที่ผ่านการเรียบเรียงแล้วและที่ยังไม่ได้เรียบเรียง รวมถึงรายละเอียดการสืบสวนความเป็นจริงและความเป็นเจ้าของของบันทึกด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับครอบครัวของฟรังค์และเกี่ยวกับตัวบันทึก[11]

กอร์เนลิส เซยก์ อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ และประธานศูนย์สหรัฐอเมริกาของมูลนิธิการศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประกาศในปี พ.ศ. 2542 ว่า เขาเป็นเจ้าของกระดาษบันทึก 5 แผ่น ซึ่งออทโท ฟรังค์ ดึงออกจากสมุดบันทึกก่อนจะนำไปตีพิมพ์ เซยก์อ้างว่าออทโท ฟรังค์ มอบกระดาษบันทึกเหล่านั้นให้เขาเอง ไม่นานก่อนที่ออทโทจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2523 เนื้อหาบันทึกส่วนที่หายไปเกี่ยวข้องกับการที่อันเนอ ฟรังค์ วิพากษ์วิจารณ์ชีวิตแต่งงานของพ่อแม่ของเธอ และยังพรรณนาความรู้สึกไม่พอใจต่อแม่ของเธอด้วย[12] ในเวลาต่อมาเรื่องนี้ก็กลายเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะเซยก์เรียกร้องสิทธิ์ในการตีพิมพ์บันทึก 5 แผ่นนี้ และคิดจะนำไปขายเพื่อระดมทุนให้แก่ศูนย์สหรัฐอเมริกาของเขา สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามแห่งเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของต้นฉบับ เรียกร้องให้เขาคืนบันทึกทั้ง 5 แผ่นนี้ ในปี พ.ศ. 2543 กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์แห่งเนเธอร์แลนด์ ยินยอมบริจาคเงินจำนวน 300,000 เหรียญสหรัฐให้แก่มูลนิธิของเซยก์ แล้วบันทึกทั้ง 5 แผ่นจึงได้ส่งคืนในปี พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นจึงได้นำบันทึกทั้ง 5 แผ่นผนวกรวมเข้าไปในหนังสือบันทึกฉบับพิมพ์ครั้งใหม่ ๆ ด้วย

การตอบรับ[แก้]

บันทึกของอันเนอได้รับคำยกย่องชมเชยในฐานะวรรณกรรมที่ดี ไมเยอร์ เลวิน ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการเขียนของอันเนอว่า "รักษาความตึงเครียดของนวนิยายซึ่งเขียนโดยมีโครงสร้างอย่างดี"[13] เขาประทับใจกับผลงานของเธอมากจนต้องร่วมงานกับออทโท ฟรังค์ ในการดัดแปลงบทประพันธ์เป็นบทละคร หลังจากหนังสือได้รับการตีพิมพ์ไม่นานนัก[14] จอห์น เบร์รีแมน กวีชาวอเมริกันเขียนถึงหนังสือนี้ว่า มีถ้อยความพรรณนาที่โดดเด่นมาก มิใช่เพียงแค่เรื่องราวของเด็กสาว แต่เป็น "การก้าวย่างจากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่ ซึ่งเกิดจากความแม่นยำ ความเชื่อมั่น เป็นรูปแบบที่ชวนให้พรึงเพริดกับความสัตย์ซื่อของตัวอักษร"[15]

เอลินอร์ โรเซเวลต์ เขียนคำนำให้แก่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เธอบรรยายว่าหนังสือนี้เป็น "หนึ่งในหนังสือซึ่งบรรยายถึงสงครามกับผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาและเฉลียวฉลาดที่สุดเท่าที่ดิฉันเคยอ่าน" จอห์น เอฟ. เคนเนดี เอ่ยถึงอันเนอ ฟรังค์ ในสุนทรพจน์เมื่อปี พ.ศ. 2504 ว่า "ในบรรดาผู้คนมากมายตลอดห้วงประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเกียรติภูมิแห่งความเป็นมนุษย์ ในช่วงเวลาอันแสนขมขื่นและการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดพรรณนาได้จับใจเท่าอันเนอ ฟรังค์"[6] ในปีเดียวกันนั้น นักเขียนชาวโซเวียต อิลยา เอเรนบูร์ก เขียนถึงอันเนอว่า "เสียงเสียงหนึ่งที่เอ่ยแทนผู้คนอีกหกล้าน - เสียงที่มิได้มาจากปราชญ์หรือกวี แต่มาจากเด็กหญิงธรรมดาตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง"[16]

อันเนอ ฟรังค์ เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นทั้งในฐานะที่เป็นนักเขียนและนักมนุษยนิยม มีการพูดถึงเธอทั่วไป โดยเฉพาะการเป็นสัญลักษณ์ของการถูกทำลายและเป็นตัวแทนของการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฮิลลารี คลินตัน อ่านบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีมอบรางวัล Elie Wiesel Humanitarian Award เมื่อปี พ.ศ. 2537 ว่า "เธอได้ปลุกพวกเราขึ้นจากความเขลา ให้แลเห็นความตายอันโหดร้ายที่พรากความเยาว์ของเราไปเสีย" คลินตันเปรียบเทียบเรื่องของอันเนอกับเหตุการณ์ร่วมสมัยในเวลานั้น คือสงครามในซาราเยโว, โซมาเลีย และรวันดา[17] หลังจากที่เนลสัน แมนเดลา ได้รับรางวัลจากมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ เมื่อปี พ.ศ. 2537 เขาเอ่ยกับฝูงชนในเมืองโจฮันเนสเบิร์กว่า เขาอ่านบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ ขณะที่อยู่ในคุก และ "รู้สึกกล้าหาญขึ้นอย่างมาก" เขาเปรียบเทียบการต่อสู้ของอันเนอกับพวกนาซี กับการต่อสู้ของเขาเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ และว่าปรัชญาทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่ขนานกัน "เพราะความเชื่อพื้นฐานของมันผิดพลาด มันเคยผิดพลาดและยังคงผิดพลาดต่อไป ทว่าด้วยตัวอย่างจากอันเนอ ฟรังค์ การเหยียดผิวจักต้องพ่ายแพ้"[18]

ออทโท ฟรังค์ ใช้เวลาที่เหลือในชีวิตคอยดูแลอารักขาเกียรติยศชื่อเสียงของบุตรสาว เขากล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่แปลก สำหรับครอบครัวทั่วไป ผู้เป็นลูกจะเป็นฝ่ายได้รับเกียรติยศจากการกระทำของพ่อแม่ และคอยรักษาเกียรติยศนั้นให้สืบต่อไป แต่สำหรับผมมันกลับตรงกันข้าม" เขายังนึกถึงคำกล่าวของผู้จัดพิมพ์ที่อธิบายให้เขาฟังว่า เหตุใดบันทึกจึงเป็นที่นิยมอ่านโดยกว้างขวาง "เขาบอกว่าบันทึกได้รวบรวมด้านต่าง ๆ ของชีวิตเอาไว้ ผู้อ่านแต่ละคนสามารถค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ตรงกับใจของตนเอง"[2] ต่อมาภายหลัง ซีมอน วีเซินทัล ได้อธิบายแนวคิดคล้ายกันนี้ เขากล่าวว่าบันทึกของอันเนอ ฟรังค์ ทำให้เกิดความตื่นตัวทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยโดดเด่นยิ่งกว่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เนือร์นแบร์กเสียอีก ทั้งนี้เนื่องจาก "เด็กคนนี้เป็นตัวตนที่เห็นได้เด่นชัดจากหมู่คนจำนวนมาก เป็นผลกระทบจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยตรง เธอมีครอบครัว เหมือนอย่างครอบครัวของผม เหมือนอย่างครอบครัวของคุณ คุณจึงเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ง่าย"[19]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 นิตยสารไทมส์ตีพิมพ์หนังสือฉบับพิเศษ ใช้ชื่อว่า "Time 100: The Most Important People of the Century" (100 บุคคลสำคัญแห่งศตวรรษ) อันเนอ ฟรังค์ ได้รับเลือกเป็นผู้หนึ่งในหมวด "วีรบุรุษและสัญลักษณ์" รอเจอร์ โรเซนแบลตต์ บรรยายถึงความเป็นตำนานของเธอว่า "หนังสือเล่มนี้ส่งแรงบันดาลใจ ทำให้ทุกผู้คนรู้สึกเป็นเจ้าของอันเนอ ฟรังค์ เธอโดดเด่นขึ้นมาเหนือเหล่าผู้ถูกทำร้าย เหนือเหล่าชาวยิว เหนือความเยาว์วัย และอาจจะเหนือความดีงาม เธอกลายเป็นสัญลักษณ์บูชาในโลกยุคใหม่ ที่ซึ่งหัวใจแห่งศีลธรรมแต่ละดวงถูกรุมล้อมด้วยการทำลายล้างของเครื่องจักร เธอต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะมีชีวิต ที่จะถาม และที่จะหวังถึงอนาคตแห่งมนุษยชาติทั้งปวง" เขายังให้ความเห็นอีกว่า แม้ความกล้าหาญและการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเธอจะเป็นที่นิยมชมชอบ ทว่าแท้จริงแล้วปัจจัยที่ทำให้เธอน่าหลงใหล คือความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเอง ประกอบกับทักษะการเขียนอันดียิ่ง เขาเขียนว่า "ความเป็นอมตะของเธอเนื่องมาจากวรรณศิลป์อย่างแท้จริง เธอเป็นนักเขียนที่มีคุณวิเศษตลอดทุกยุคสมัย คุณภาพแห่งผลงานของเธอเป็นผลโดยตรงจากหัวใจอันซื่อตรงอย่างที่สุด"[20]

การต่อต้านและผลกระทบทางกฎหมาย[แก้]

หลังจากบันทึกเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 ก็มีการตีพิมพ์ข้อกล่าวหามากมายต่อต้านบันทึกนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงแรกเกิดขึ้นที่ประเทศสวีเดนและนอร์เวย์ คำกล่าวหาข้อหนึ่งกล่าวว่า ผู้เขียนบันทึกนี้คือ ไมเยอร์ เลวิน ส่วนอันเนอ ฟรังค์ ไม่มีตัวตนจริง[21]

ปี พ.ศ. 2501 ซีมอน วีเซินทัล ถูกท้าทายจากกลุ่มผู้ต่อต้านขณะแสดงละคร The Diary of Anne Frank ที่กรุงเวียนนา พวกเขากล่าวหาว่า อันเนอ ฟรังค์ ไม่มีตัวตนจริง และท้าให้วีเซินทัลพิสูจน์ตัวตนของเธอโดยหาตัวคนที่จับกุมเธอ วีเซินทัลจึงเริ่มออกติดตามหาคาร์ล ซิลเบอร์เบาเออร์ ตำรวจในคณะจับกุม และพบตัวเขาในปี พ.ศ. 2506 จากการสัมภาษณ์ ซิลเบอร์เบาเออร์ยอมรับบทบาทของเขา และระบุตัวอันเนอ ฟรังค์ ได้จากภาพถ่ายว่าเป็นหนึ่งในคนที่เขาจับกุม เขาให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้น และเล่าถึงการค้นกระเป๋าใบหนึ่งที่เต็มไปด้วยกระดาษโดยการเทลงบนพื้น คำให้การของเขาสนับสนุนเรื่องราวลำดับเหตุการณ์ที่เล่าโดยพยานคนอื่นมาก่อนหน้านี้ เช่น ออทโท ฟรังค์[2]

การต่อต้านหนังสือนี้ยังมีประเด็นอื่นอีกคือ ผู้เขียนบันทึกไม่ใช่เด็ก แต่น่าจะถูกสร้างขึ้นเป็นวาทกรรมที่โอนเอียงเข้าข้างชาวยิว ออทโท ฟรังค์ ถูกกล่าวหาว่าหลอกลวง ปี พ.ศ. 2502 ที่เมืองลือเบค ฟรังค์ฟ้องร้องต่อ โลทาร์ ชตีเลา ครูสอนหนังสือคนหนึ่งที่เคยเป็นสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ ในการตีพิมพ์บทความในโรงเรียนโจมตีว่าหนังสือบันทึกนี้สร้างเรื่องขึ้นมาเอง คดียังครอบคลุมถึงไฮน์ริช บุดเดอแกร์ก ซึ่งเขียนจดหมายไปสนับสนุนชตีเลาและได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ลือเบคด้วย ศาลได้ตรวจสอบหนังสือบันทึก และพิสูจน์ได้ว่าลายมือในบันทึกตรงกันกับจดหมายซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเขียนขึ้นโดยอันเนอ ฟรังค์ ปี พ.ศ. 2503 จึงมีการประกาศว่าบันทึกเป็นของจริง ชตีเลาต้องถอนบทความที่เคยเขียนไปทั้งหมด และออทโท ฟรังค์ ก็ไม่ได้ฟ้องร้องเขาต่อไปอีก[21]

ปี พ.ศ. 2519 ออทโท ฟรังค์ ฟ้องร้องไฮนซ์ รอท ชาวเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ผู้ซึ่งเขียนหนังสือโจมตีว่าบันทึกเป็นเรื่องหลอกลวงสร้างขึ้นเอง ศาลตัดสินว่า หากรอทยังเขียนเช่นนั้นอีก เขาจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 500,000 มาร์คเยอรมันและจำคุก 6 เดือน รอทยื่นอุทธรณ์คัดค้าน แต่เขาเสียชีวิตเสียก่อนในปี พ.ศ. 2521 หนึ่งปีก่อนศาลจะตัดสินไม่รับอุทธรณ์[21]

ออทโท ฟรังค์ ยังยื่นฟ้องแอนสท์ เรอเมอร์ ในปี พ.ศ. 2519 เช่นกัน เขาเขียนหนังสือต่อต้านบันทึกใช้ชื่อว่า "The Diary of Anne Frank, Bestseller, A Lie" เมื่อชายอีกคนหนึ่งชื่อ เอดการ์ ไกสส์ นำหนังสือต่อต้านมาแจกจ่ายในห้องพิจารณาคดี เขาก็ถูกออทโทฟ้องร้องด้วย เรอเมอร์ถูกปรับเป็นเงิน 1,500 ดอยช์มาร์ค[21] ส่วนไกสส์ถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือน เมื่อมีการอุทธรณ์จึงได้ลดโทษลง

หลังจากออทโท ฟรังค์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2523 เขาแสดงความจำนงที่จะมอบต้นฉบับสมุดบันทึกรวมถึงจดหมายและกระดาษบันทึกทั้งหมดให้แก่สถาบันเอกสารหลักฐานสงครามของเนเธอร์แลนด์[2] ซึ่งเป็นผู้จัดให้มีการตรวจสอบและศึกษาบันทึกในเวลาต่อมาโดยกระทรวงยุติธรรมแห่งเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2529 มีการตรวจสอบลายมือเปรียบเทียบกับตัวอย่างต่าง ๆ ที่ทราบตัวเจ้าของ และพบว่าถูกต้องตรงกัน ผลตรวจกระดาษ กาว และหมึก พบว่าเป็นสิ่งซึ่งใช้สอยอยู่แล้วในยุคที่เชื่อกันว่าได้เขียนบันทึกขึ้น ผลสรุปจากการตรวจสอบยืนยันว่า บันทึกนี้เป็นของจริง และได้จัดพิมพ์สมุดบันทึกนี้ขึ้นเป็นการพิเศษ รู้จักกันต่อมาว่าเป็น "ฉบับชำระใหม่" ศาลแขวงฮัมบวร์คก็ได้ประกาศยืนยันความเป็นตัวจริงของบันทึกนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2533[11]

ปี พ.ศ. 2534 รอแบร์ โฟรีซง และซีคฟรีด แฟร์เบเกอ ผู้ปฏิเสธไม่เชื่อเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้เขียนหนังสือเล็ก ๆ ขึ้นเล่มหนึ่งชื่อ The Diary of Anne Frank: A Critical Approach โดยกล่าวหาว่า ออทโท ฟรังค์ เป็นผู้เขียนบันทึกนั้นขึ้นเอง เนื่องจากรายละเอียดหลายอย่างในบันทึกขัดแย้งกันเอง การซ่อนตัวใน อัคเตอร์เฮอวส์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และว่าวิธีการเขียนร้อยแก้วกับลายมือของอันเนอ ฟรังค์ ไม่น่าที่เด็กวัยรุ่นจะทำได้[22]

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2536 อันเนอร์ ฟรังค์ เฮาส์ ที่อัมสเตอร์ดัม ร่วมกับมูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ ในเมืองบาเซิล ได้ร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายห้ามการเผยแพร่หนังสือ The Diary of Anne Frank: A Critical Approach ในประเทศเนเธอร์แลนด์ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ศาลประจำกรุงอัมสเตอร์ดัมได้มีประกาศห้ามการต่อต้านความเป็นตัวจริงและความเป็นเจ้าของของหนังสือบันทึกนี้อีก รวมถึงห้ามการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่ทำให้เกิดผลดังกล่าว ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 25,000 กิลเดอร์ต่อหนึ่งกรณี[23]

อนุสรณ์[แก้]

ผู้เยี่ยมชมเข้าแถวรอเข้าพิพิธภัณฑ์ อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมทั้งออทโท ฟรังค์ ได้ก่อตั้งกลุ่ม คนรักอันเนอ ฟรังค์ ขึ้น เพื่อพยายามป้องกันมิให้อาคารปรินเซินครัคต์ถูกทุบทิ้ง และพยายามให้อาคารแห่งนั้นเปิดต่อสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ จึงได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ประกอบด้วยพื้นที่คลังสินค้าของบริษัทโอเพคทา ส่วนสำนักงาน และส่วน อัคเตอร์เฮอวส์ ไม่มีการตกแต่งภายใน เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเดินผ่านห้องต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ของส่วนตัวบางอย่างของผู้อยู่อาศัยเดิมยังคงประดับอยู่เช่นเดิม เช่นรูปภาพดารานักแสดงซึ่งอันเนอทากาวปิดไว้บนผนัง ขีดบนผนังที่ออทโทบันทึกส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นของลูกสาวทั้งสอง และแผนที่บนผนังที่เขาบันทึกการเคลื่อนที่คืบหน้าของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ปัจจุบันทั้งหมดมีกระดาษใสเคลือบเอาไว้เพื่อรักษาสภาพ จากห้องเล็ก ๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของเปเตอร์ ฟัน แป็ลส์ มีทางเดินเชื่อมต่อกับอาคารข้างเคียง มูลนิธิได้ซื้ออาคารนั้นไว้ด้วย ปัจจุบันใช้เก็บรักษาหนังสือบันทึก และจัดนิทรรศการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงความโหดร้ายทารุณในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในกรุงอัมสเตอร์ดัม ในปี พ.ศ. 2548 จำนวนผู้เยี่ยมชมก็สูงกว่า 965,000 คน อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ ยังเผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมที่ไม่สะดวกจะเดินทางมายังอัมสเตอร์ดัม ในปี พ.ศ. 2548 มีการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ในประเทศต่าง ๆ 32 ประเทศ ทั้งในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้[24]

รูปปั้นของอันเนอ ฟรังค์ สร้างโดยมารี แอนดรีสเซน ที่แว็สเตอร์แกร์ก กรุงอัมสเตอร์ดัม

ปี พ.ศ. 2506 ออทโท ฟรังค์ กับภรรยาคนที่สองคือ เอลฟรีเดอ ไกริงเงอร์-มาร์โควิทส์ ได้ก่อตั้ง มูลนิธิอันเนอ ฟรังค์ ขึ้นในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มูลนิธิจัดหาเงินทุนเพื่อบริจาคแก่การกุศล "ตามที่เห็นว่าเหมาะสม" หลังจากออทโทเสียชีวิต เขาแสดงความจำนงจะยกลิขสิทธิ์ในหนังสือบันทึกให้แก่มูลนิธิ โดยที่เงินส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ส่วนแรกจำนวน 80,000 ฟรังก์สวิสจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทของเขาก่อนในทุก ๆ ปี เงินส่วนที่เหลือให้มูลนิธินำไปช่วยเหลือโครงการการกุศลต่าง ๆ ได้ตามที่ผู้บริหารมูลนิธิเห็นว่าสมควร มูลนิธินำเงินไปช่วยเหลือโครงการทางการแพทย์ของสหประชาชาติเป็นประจำทุกปี ทั้งยังให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ ต่อต้านการทารุณกรรม และยังให้ยืมเอกสารต้นฉบับบางส่วนไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การล้างเผ่าพันธุ์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2546 รายงานประจำปีในปีนั้นยังแสดงให้เห็นความพยายามของมูลนิธิที่จะกระตุ้นจิตสำนึกโดยรวมของทั้งโลก โดยสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี อิสราเอล อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา[25]

สำหรับห้องพักอาศัยเดิมที่จัตุรัสแมร์เวเดอซึ่งครอบครัวฟรังค์เคยอาศัยอยู่ระหว่างปี 2476 ถึง 2485 ยังคงอยู่โดยมีเจ้าของครอบครอง จนกระทั่งถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 สารคดีทางโทรทัศน์รายการหนึ่งจับประเด็นที่อาคารแห่งนี้ว่าสมควรได้รับการเอาใจใส่จากสาธารณะ เนื่องจากชำรุดทรุดโทรมไปมาก องค์กรบ้านอยู่อาศัยของเนเธอร์แลนด์แห่งหนึ่งได้ซื้อห้องพักอาศัยนี้ไปในเวลาต่อมา แล้วปรับปรุงให้กลับคืนสภาพเดิมโดยอาศัยภาพถ่ายเก่าแก่ของครอบครัวฟรังค์ ประกอบกับคำบอกเล่าถึงลักษณะภายในห้องพักที่ปรากฏในจดหมายจำนวนหนึ่งซึ่งเขียนโดยอันเนอ ฟรังค์ ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์อันเนอ ฟรังค์ คือ เตเรซีน ดา ซิลวา กับญาติของครอบครัวฟรังค์คือ แบร์นฮาร์ด "บัดดี" เอลิยัส ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูห้องพักในครั้งนี้ด้วย ห้องพักอาศัยเปิดขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่อันปลอดภัยสำหรับนักเขียนที่ไม่สามารถเขียนเรื่องราวได้อย่างปลอดภัยที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเอง นักเขียนที่ผ่านการคัดสรรแล้วสามารถมาพำนักที่ห้องพักนี้เป็นเวลา 1 ปีเพื่อสร้างงานของเขา นักเขียนคนแรกที่ได้รับเลือกให้มาพำนักคือกวีและนักประพันธ์ชาวแอลจีเรีย ชื่อ El-Mahdi Acherchour[24]

ต้นไม้ของอันเนอ ฟรังค์ ในสวนด้านหลังพิพิธภัณฑ์ อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 "บัดดี" เอลิยัส บริจาคเอกสารของตระกูลกว่า 25,000 ชิ้นให้แก่พิพิธภัณฑ์อันเนอ ฟรังค์ เฮาส์ ในเอกสารเก่าแก่เหล่านั้นมีภาพถ่ายของครอบครัวฟรังค์ทั้งในเยอรมนีและในฮอลแลนด์ รวมถึงจดหมายที่ออทโท ฟรังค์ เขียนไปถึงมารดาในปี พ.ศ. 2488 เพื่อแจ้งข่าวว่าภรรยาและลูก ๆ ของเขาเสียชีวิตแล้วในค่ายกักกันของนาซี[26]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 มีการตกลงกันให้ตัดต้นไม้ของอันเนอ ฟรังค์ เพื่อป้องกันการโค่นลงทับอาคารข้างเคียง เนื่องจากรากต้นไม้ติดเชื้อราอย่างหนักและอาจล้มได้ทุกเมื่อ อาร์โนลด์ เฮร์เจอ นักเศรษฐศาสตร์ชาวดัตช์ซึ่งต้องหลบซ่อนตัวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน[27] กล่าวถึงต้นไม้นี้ว่า "มันไม่ใช่เพียงต้นไม้ธรรมดา ต้นไม้ของอันเนอ ฟรังค์ เป็นศูนย์รวมการถูกทรมานของชาวยิว"[28] มูลนิธิต้นไม้ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อนุรักษ์ต้นไม้พยายามรณรงค์เพื่อป้องกันมิให้โค่นต้นเกาลัดต้นนี้ มีสื่อสากลให้ความสนใจเป็นอันมาก ศาลแห่งเนเธอร์แลนด์สั่งให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายผู้อนุรักษ์หาข้อมูลทางเลือกอื่น ๆ มาเสนอเพื่อหาข้อยุติ[29] ในที่สุดทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้โดยสร้างโครงสร้างเหล็กประคองต้นไม้ไว้ ซึ่งจะช่วยยืดอายุไปได้อีกอย่างน้อย 15 ปี[28]

ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีภาพยนตร์เกี่ยวกับอันเนอ ฟรังค์ มากมาย ชีวิตและงานเขียนของเธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มศิลปินและนักวิจารณ์สังคม มีการอ้างถึงเธอในแวดวงวรรณกรรม ดนตรี โทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ มากมาย ปี พ.ศ. 2542 นิตยสารไทมส์ ยกย่องอันเนอ ฟรังค์ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ในหมวดวีรบุรุษและสัญลักษณ์ โดยระบุว่า "แม้หนังสือจะเก็บไว้เป็นความลับ แต่เธอมิได้หวาดเกรงพวกนาซีเลย กลับส่งเสียงอันอ่อนล้าออกไปก่อแรงใจให้ต่อสู้เพื่อเกียรติภูมิแห่งความเป็นมนุษย์"[30]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

หมายเหตุ

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 เมลิสซา มึลเลอร์. Anne Frank: The Biography Macmillan, 1998. ISBN 0-8050-5996-2
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 แครอล แอนน์ ลี (2000). The Biography of Anne Frank - Roses from the Earth. Viking. ISBN 0-7089-9174-2.
  3. van der Rol, Ruud; Verhoeven, Rian (for the Anne Frank House) ; Quindlen, Anna (Introduction) ; Langham, Tony & Peters, Plym (translation) (1995). Anne Frank - Beyond the Diary - A Photographic Remembrance. Puffin. ISBN 0-14-036926-0.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 อันเนอ ฟรังค์; ซูซัน แมสซอตตี (แปล) ; เรียบเรียงโดยออทโท ฮา. ฟรังค์ และเมียร์ยัม เพรสเลอร์ (1995). The Diary of a Young Girl - The Definitive Edition. Doubleday. ISBN 0-553-29698-1. (ฉบับแปลใหม่ซึ่งรวบรวมข้อมูลเพิ่มขึ้นจากฉบับพิมพ์ก่อนหน้า)
  5. ดาฟิด บาร์เนา และแคร์โรลด์ ฟัน เดอร์สโตรม (2003-04-25). "ใครหักหลังอันเนอ ฟรังค์? เก็บถาวร 2007-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" (PDF). Netherlands Institute for War Documentation, Amsterdam. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-12. (อังกฤษ)
  6. 6.0 6.1 ฮันส์ แว็สตรา; แม็นโน แม็ตเซอลาร์; รืด ฟัน เดอร์โรล; ดีเนเกอ สตัม (2004). Inside Anne Frank's House: An Illustrated Journey Through Anne's World. Overlook Duckworth. ISBN 1-58567-628-4.
  7. "Anne Frank Life & Times เก็บถาวร 2008-04-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". The Anne Frank Center (2003). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-02-02.
  8. "Typhus". Betrayed 5. Anne Frank Stichting. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-02-02.
  9. "Holocaust Encyclopedia - The Netherlands". The United States Holocaust Memorial Museum. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-27.
  10. ยัน โรไมน์. "The publication of the diary: reproduction of Jan Romein's Het Parool article Kinderstem". พิพิธภัณฑ์อันเนอ ฟรังค์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-25.
  11. 11.0 11.1 Frank, Anne and Netherlands State Institute for War Documentation, น. 102
  12. ราล์ฟ บลูเมนทัล (1998-09-10). "Five precious pages renew wrangling over Anne Frank.", นิวยอร์กไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-25.
  13. ไมเยอร์ เลวิน (1952-06-15). "The child behind the secret door; An Adolescent Girl's Own Story of How She Hid for Two Years During the Nazi Terror[ลิงก์เสีย]", บทวิจารณ์หนังสือ จากนิวยอร์กไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-19.
  14. เจค็อบ บี. มิคาเอลเซน. "Remembering Anne Frank เก็บถาวร 2005-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Judaism (ฉบับฤดูใบไม้ผลิ 1997). เก็บข้อมูลเมื่อ 17 มีนาคม 2006.
  15. จอห์น เบอร์รีแมน. "The Development of Anne Frank" ใน Solotaroff-Enzer, Sandra and Hyman Aaron Enzer (2000). Anne Frank: Reflections on her life and legacy. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอิลลินอย, p. 78.
  16. ลอเรนซ์ เกรเวอร์. "One Voice Speaks for Six Million: The uses and abuses of Anne Frank's diary เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Yale Holocaust Encyclopedia. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-19.
  17. ความเห็นของสตรีหมายเลขหนึ่ง, Elie Wiesel Humanitarian Awards, New York City เก็บถาวร 2011-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. จากเว็บไซต์ Clinton4.nara.gov, 14 เมษายน 1994. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-02.
  18. ปาฐกถาโดยประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ในพิธีเปิดงานนิทรรศการอันเนอ ฟรังค์ ที่พิพิธภัณฑ์แอฟริกา เก็บถาวร 2007-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. African National Congress, 15 สิงหาคม 1994. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-02.
  19. "Reaction decease Simon Wiesenthal". Anne Frank House (20 กันยายน 2005). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-03.
  20. รอเจอร์ โรเซนแบลตต์ (14 มิถุนายน 1999). "TIME 100: Heroes & Icons of the 20th century, Anne Frank เก็บถาวร 2009-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", นิตยสารไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-01.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 "What did Otto Frank do to counter the attacks on the authenticity of the diary? Question 7 on the authenticity of the diary of Anne Frank". Anne Frank House. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-03.
  22. รอแบร์ โฟรีซง (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2000). "The Diary of Anne Frank: is it genuine?". Journal of Historical Review. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-13.
  23. "Publicity about Anne Frank and her Diary: Ten questions on the authenticity of the diary of Anne Frank". Anne Frank House. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-01.
  24. 24.0 24.1 "Anne Frank House, รายงานประจำปี 2005 เก็บถาวร 2008-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" (PDF). Anne Frank House (มีนาคม 2006). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-03.
  25. "Anne Frank-Fonds: รายงานประจำปี 2003 เก็บถาวร 2012-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Anne Frank House (1 กรกฎาคม 2004). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-03.
  26. อาร์เทอร์ แมกซ์ (2007-06-25). "Anne Frank's cousin donates family files", วอชิงตันโพสต์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-02.
  27. ฟิลิป เดอ วิตต์ วิเนน (2008-07-03). "Arnold Heertje-Echte economie". nrc•next. PCM Uitgevers. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-26.
  28. 28.0 28.1 เอมมา โทมัสสัน; ริชาร์ด บาล์มฟอร์ธ (2008-01-23). "Plan agreed to save Anne Frank tree from the axe", www.reuters.com, สำนักข่าวรอยเตอร์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-26.
  29. กิลเบิร์ต ครีเจอร์ (2007-11-20). "Dutch court saves Anne Frank tree from the chop", www.reuters.com, สำนักข่าวรอยเตอร์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-26.
  30. รอเจอร์ โรเซนแบลตต์ (1999-06-14). "Anne Frank เก็บถาวร 2009-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". The Time 100 เก็บถาวร 2013-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. นิตยสารไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-07-26.

บรรณานุกรม[แก้]

หนังสือ
  • Barnouw, David; Van Der Stroom, Gerrold, บ.ก. (2003). The Diary of Anne Frank: The Revised Critical Edition. New York: Doubleday. ISBN 0-385-50847-6.
  • Berryman, John (2000) [1999]. "The Development of Anne Frank". ใน Enzer, Hyman Aaron; Solotaroff-Enzer, Sandra (บ.ก.). Anne Frank: Reflections on her life and legacy. Urbana: University of Illinois Press. ISBN 978-0-252-06823-2.
  • Bigsby, Christopher (2006). Remembering and Imagining the Holocaust: The Chain of Memory. New York: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-86934-8.
  • Enzer, Hyman Aaron; Solotaroff-Enzer, Sandra, บ.ก. (20 December 1999). Anne Frank: Reflections on Her Life and Legacy. Urbana: University of Illinois Press. ISBN 978-0-252-06823-2.
  • Frank, Anne (1995) [1947]. Frank, Otto H.; Pressler, Mirjam (บ.ก.). Het Achterhuis [The Diary of a Young Girl – The Definitive Edition] (ภาษาดัตช์). Massotty, Susan (translation). Doubleday. ISBN 0-553-29698-1.; This edition, a new translation, includes material excluded from the earlier edition.
  • Frank, Anne (1989). The Diary of Anne Frank, The Critical Edition. Netherlands State Institute for War Documentation. New York: Doubleday. ISBN 978-0-385-24023-9.
  • Frank, Anne; Holmer, Per (2005). Anne Franks dagbok : den oavkortade originalutgåvan : anteckningar från gömstället 12 juni 1942 – 1 augusti 1944 [Anne Frank's Diary: The Unabridged Original Edition: Notes From the Hiding Place] (ภาษาสวีเดน). Stockholm: Norstedt. ISBN 978-91-1-301402-9.
  • Konig, Nanette (2018). Holocaust Memoirs of a Bergen-Belsen Survivor, Classmate of Anne Frank. Amsterdam Publishers. ISBN 9789492371614.
  • Lee, Carol Ann (2000). The Biography of Anne Frank – Roses from the Earth. London: Viking Press. ISBN 978-0-7089-9174-9.
  • Lindwer, Willy (1988). The Last Seven Months of Anne Frank. Netherlands: Gooi & Sticht.
  • Müller, Melissa (1999) [1998]. Das Mädchen Anne Frank [Anne Frank: The Biography] (ภาษาเยอรมัน). Kimber, Rita and Robert (translators). New York: Henry Holt and Company. ISBN 978-0-7475-4523-1. OCLC 42369449.; With a note from Miep Gies
  • Müller, Melissa (2013) [1998]. Anne Frank: The Biography (ภาษาเยอรมัน). New York: Henry Holt and Company. ISBN 978-0-8050-8731-4.
  • Prose, Francine (2009). Anne Frank: The Book, the Life, the Afterlife. New York: HarperCollins. ISBN 978-0-06-143079-4.
  • Rosow, La Vergne (1996). Light 'n Lively Reads for ESL, Adult, and Teen Readers: A Thematic Bibliography. Englewood, Colo: Libraries Unlimited. p. 156. ISBN 978-1-56308-365-5.
  • van der Rol, Ruud; Verhoeven, Rian (1995). Anne Frank – Beyond the Diary – A Photographic Remembrance. Langham, Tony & Peters, Plym (translation). New York: Puffin. ISBN 978-0-14-036926-7.
  • Verhoeven, Rian (2019). Anne Frank was niet alleen. Het Merwedeplein 1933–1945. Amsterdam: Prometheus. ISBN 9789044630411.
  • Westra, Hans; Metselaar, Menno; Van Der Rol, Ruud; Stam, Dineke (2004). Inside Anne Frank's House: An Illustrated Journey Through Anne's World. Woodstock: Overlook Duckworth. ISBN 978-1-58567-628-6.
ออนไลน์

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]