โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
The Development and Promotion of Science and Technology Talents Project
ภาพรวมหน่วยงาน
สำนักงานใหญ่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • หัวหน้าสาขา, นางอรวรรณ อินทวิชญ
เว็บไซต์www3.ipst.ac.th/dpst
เชิงอรรถ
โครงการพิเศษ โดยมติคณะรัฐมนตรี

โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) เป็นโครงการของรัฐบาลไทยโดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2527 ปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่ ให้ทุนการศึกษาและจัดค่ายวิทยาศาสตร์กับเยาวชนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทุนการศึกษาที่ให้มีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยให้ศึกษาต่อเต็มตามศักยภาพจนถึงปริญญาเอกในสถานศึกษาที่เป็นศูนย์ของโครงการ โดยต้องศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในระดับปริญญาตรีและเปิดโอกาสให้เลือกวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้ในระดับบัณฑิตศึกษา มีเงื่อนผูกมัดการใช้ทุนคล้ายทุนรัฐบาลไทยทั่วไป แต่จำกัดระยะเวลาปฏิบัติงานชดใช้ทุนไม่เกิน 10 ปี และอนุญาตให้ทำการวิจัยหลังปริญญาเอก 2 ปีก่อนกลับมาปฏิบัติงานชดใช้ทุน

ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการจำนวนมาก โดยเข้าปฏิบัติงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิจัยในหน่วยงานของรัฐ มีบุคลากรจากโครงการ พสวท. จำนวนมากที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากวงการวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลโครงการคือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

ประวัติ[แก้]

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและยิ่งนับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจ ที่มั่นคงมักจะเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง จึงกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ

เมื่อพิจารณาถึงสภาพการผลิตนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย พบว่าผู้มีความรู้ ความสามารถสูงเป็นพิเศษทางวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะเลือกเข้าศึกษาต่อใน คณะวิทยาศาสตร์น้อยลงทุกปี ส่วนใหญ่จะเลือกศึกษาในสาขาที่ให้ผลตอบแทนเป็นรายได้ที่ ค่อนข้างสูง เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สภาพเช่นนี้เนื่องจากสาเหตุหลายประการได้แก่สถานภาพทางด้านสังคม อาชีพ รายได้บรรยากาศในการทำงานไม่เอื้อหรือจูงใจให้ผู้มีความสามารถสูงหันมาประกอบอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ปัญหาที่น่าวิตกอย่างยิ่งคือ ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะขาดผู้มีความสามารถสูงในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

รัฐบาลจึงมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการ พสวท. โดยการดำเนินการได้แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2527 - 2533 และระยะที่ 2 2534 - 2539 และระยะที่ 3 พ.ศ. 2540 - 2544 นั้น และเนื่องจากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าผลการดำเนินงานสองระยะแรกได้ผลดี จึงมีมติ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540 ให้โครงการ พสวท. เป็นงานประจำตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป

การคัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าโครงการ พสวท.[แก้]

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[แก้]

ทางโครงการฯ จะจัดให้มีการสอบคัดเลือกนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ทั่วประเทศ ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 เข้าโครงการ พสวท. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทุก ๆ ปี ปีละ 60 คน (ปัจจุบันเป็นจำนวน 100 ทุน) กระจายไปศึกษาตามศูนย์โรงเรียนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการจะได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ โดยมีหลักสูตรโปรแกรมเสริมวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ มีกิจกรรมเสริมหลักสูตร เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ การฝึกงานและการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ และได้ศึกษาต่อเนื่องในคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยที่เป็นคู่ศูนย์ หรืออาจจะได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาต่อต่างประเทศจนสำเร็จ การศึกษาระดับปริญญาเอก หรือปริญญาโทเป็นอย่างต่ำ จึงจะเข้าปฏิบัติงาน

ระดับอุดมศึกษา[แก้]

ทางโครงการ พสวท. จะจัดให้มีการสอบคัดเลือกนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 เข้าโครงการ พสวท ระดับปริญญาตรีทุก ๆ ปี ปีละ 60 คน และรับต่อเนื่องจากศูนย์โรงเรียนโครงการ พสวท.อีกปีละ 60 คน รวมทั้งสิ้น 120 คนต่อปี กระจายไปศึกษาตามศูนย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดย นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการจะได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ โดยมีกิจกรรม เสริมหลักสูตร เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ระดับอุดมศึกษา การนำเสนอผลงานทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา ดูงาน การร่วมประชุมวิชาการ และอาจจะได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาต่อต่างประเทศจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือปริญญาโทเป็นอย่างต่ำ จึงจะเข้าปฏิบัติงานได้

สถานศึกษาที่เป็นศูนย์ของโครงการ พสวท.[แก้]

โครงการ พสวท. รับนักเรียนที่มีความสนใจและมีความสามารถพิเศษ ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จากทั่วประเทศเข้าโครงการปีละ 120 คน โดยแบ่งเป็น การรับสมัครนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเข้าทุนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 60 คน และการรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเข้ารับทุนในระดับอุดมศึกษา จำนวน 60 คน โดยนักเรียนที่เข้ารับทุนในระดับมัธยมศึกษาต้องเข้าเรียนต่อใน คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ที่เป็นศูนย์พสวท.ต่อเนื่องในระดับอุดมศึกษาของโรงเรียนนั้นๆ

มหาวิทยาลัย จำนวนนิสิตนักศึกษาที่รับเข้าโครงการต่อปี โรงเรียน จำนวนนักเรียนที่รับเข้าโครงการต่อปี
ภาคกลาง
มหาวิทยาลัยมหิดล 15 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย 6
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 15 โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 6
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 15 โรงเรียนศรีบุณยานนท์ 6
มหาวิทยาลัยศิลปากร 15 โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย 6
ภาคใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 20 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 12
ภาคเหนือ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 20 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 12
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย 12

(ระดับมหาวิทยาลัยรวมจำนวนกับระดับมัธยมที่เป็น พสวท. จากศูนย์โรงเรียนไว้แล้ว)

สิทธิ์และหน้าที่ของของผู้เข้าร่วมโครงการ[แก้]

สิทธิประโยชน์และกิจกรรมเสริมเพิ่มพูนประสบการณ์[แก้]

  1. ทุนการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ
  2. ค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับปริญญาตรี (ชั้นปีที่ 1, 2)
  3. โครงงานวิทยาศาสตร์และการนำเสนองานในการประชุมวิทยาศาสตร์ที่ พสวท. กำหนด อย่างน้อย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับปริญญาตรี อย่างละ 1 โครงงานและนำไปนำเสนอในการประชุมวิชาการที่ พสวท. จัด ปัจจุบันการจัดงานประชุมวิทยาศาสตร์แบ่งเป็น 2 งานคือ ระดับมัธยมศึกษา จัดโดยเวียนศูนย์โรงเรียนจัด สำหรับระดับอุดมศึกษา จัดในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท.เพื่อเยาวชน)
  4. ทุนสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านภาษา และทุนสนับสนุนวิจัย

ทุนการศึกษา[แก้]

ต่อไปนี้เป็นทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนโครงการ พสวท. ต่อ 1 ปีการศึกษา

ระดับ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าหนังสืออ่านประกอบ
มัธยมศึกษาตอนปลาย 42,000 2,000
ปริญญาตรี (ในประเทศ) 48,000 5,000
ปริญญาโท (ในประเทศ) 66,000 10,000
เครื่องคอมพิวเตอร์ (สำหรับปริญญาโท) 40,000
ปริญญาเอก (ในประเทศ) 78,000 15,000
ปริญญาตรีหรือโทหรือเอก (ต่างประเทศ) ตามหลักเกณฑ์ทุนรัฐบาลสำนักงาน ก.พ.

สำหรับค่าเล่าเรียนเบิกจ่ายตามจริง

ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 มีการปรับเพิ่มทุนตามมติ ครม. ดังนี้

ระดับ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว
มัธยมศึกษาตอนปลาย 73,200 2,000
ปริญญาตรี (ในประเทศ) 87,600 5,000
ปริญญาโท (ในประเทศ) 104,400 10,000
ปริญญาเอก (ในประเทศ) 144,000 15,000
ปริญญาตรีหรือโทหรือเอก (ต่างประเทศ) ตามหลักเกณฑ์ทุนรัฐบาลสำนักงาน ก.พ.

สำหรับค่าเล่าเรียนเบิกจ่ายตามจริง

เงื่อนไขและข้อผูกพัน[แก้]

1. นักเรียน นักศึกษาโครงการ พสวท. ทุกระดับจะต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 ถ้าต่ำกว่า 3.00 อาจจะต้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนทุน โดยจะต้องชดใช้ทุนหรือไม่ชดใช้ทุนอยู่ที่ดุลยพินิจของอนุกรรมการ ระดับอุดมศึกษา

2. เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานชดใช้ทุนในหน่วยงานของรัฐเป็นระยะเวลา 1 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนศึกษาภายในประเทศ และ 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนศึกษาต่อ ต่างประเทศ หากนับเวลาชดใช้ทุนมากกว่า 10 ปี จะกำหนดให้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนเพียง 10 ปี

ดูเพิ่ม[แก้]