ข้ามไปเนื้อหา

แผ่นดินไหวในอำเภอแม่ลาว พ.ศ. 2557

พิกัด: 19°40′N 99°40′E / 19.66°N 99.67°E / 19.66; 99.67
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผ่นดินไหวในอำเภอแม่ลาว พ.ศ. 2557
วัดร่องขุ่น อำเภอเมืองเชียงราย ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว
แผนที่แสดงจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว
เวลาสากลเชิงพิกัด2014-05-05 11:08:43
รหัสเหตุการณ์ ISC604514202
USGS-ANSSComCat
วันที่ท้องถิ่น5 พฤษภาคม 2557 (2557-05-05)
เวลาท้องถิ่น18:08:43 ICT (UTC+7)
ขนาด6.1 Mw (USGS)[1]
ความลึก7.4 กิโลเมตร (5 ไมล์)
ศูนย์กลาง19°40′N 99°40′E / 19.66°N 99.67°E / 19.66; 99.67[1]
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไทย
ระดับความรุนแรงที่รู้สึกได้VIII (อย่างรุนแรง)
แผ่นดินไหวตาม274 ครั้ง[2]
ผู้ประสบภัยเสียชีวิต 2 คน[3] บาดเจ็บ 23 คน

แผ่นดินไหวในอำเภอแม่ลาว พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.08.43 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย (UTC+7) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย[4][5] ต่อมา กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า การใช้เครื่องมือตรวจวัดได้ข้อสรุปใหม่ว่าศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เนื่องจากพบแนวรอยแยกปรากฏอยู่จำนวนมาก[6] ส่วน สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) รายงานว่าจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากอำเภอแม่ลาวไปทางใต้ 9 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงรายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 27 กิโลเมตร[1][7] แผ่นดินไหวครั้งนี้มีขนาด 6.3 (ML) จากการวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา มีขนาด 6.1 จากการวัดโดย USGS โดยมีลึก 7.4 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย[3]

ข้อมูลทางธรณีวิทยา

[แก้]
แผนที่ของ USGS แสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นจากการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนพะเยา จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 6 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวตื้น[4] ทำให้มีความรุนแรงและความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยแรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างในระยะ 30 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง และมีแผ่นดินไหวตามกว่า 900 ครั้ง [4][8] ในจำนวนนี้เป็นแผ่นดินไหวตามที่มีความรุนแรงมากกว่า 5.0 จำนวน 8 ครั้ง[4] ทั้งนี้ยังมีการให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหวตามที่อาจเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนพะเยาในจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยาและจังหวัดลำปาง[9]

แผ่นดินไหว

[แก้]

แผ่นดินไหวครั้งนี้ถูกบันทึกว่าเป็นแผ่นดินไหวตื้น[4] ที่มีความรุนแรงโดยตรวจวัดความรุนแรงขณะเกิดแผ่นดินไหวได้ขนาด 6.3 เกิดแรงสั่นสะเทือนทั้งภาคเหนือของประเทศไทยและเมียนมาร์ในช่วงเย็น ประชาชนหลายจังหวัดภาคเหนือ (รวมถึงเชียงราย เชียงใหม่และลำปาง) สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้[10] หน้าต่าง ผนัง ถนนและวัดได้รับความเดือดร้อนจากแรงสั่นสะเทือน และเกิดปรากฏการณ์ทรายพุ (Liquefaction) คือการบีบอัดตัวของชั้นดิน ทำให้ดินที่อิ่มตัวกลายสภาพเหมือนของเหลวและถูกดันขึ้นมาจากแผ่นดินไหว[4] ในช่วงแรกยังไม่มีการค้นพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต[11] จนต่อมามีรายงานข่าวพบผู้เสียชีวิตสองราย และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 100 คน[4][12]

ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ได้อพยพผู้โดยสารออกจากอาคารผู้โดยสารในทันที ขณะที่ดำรง คล่องอักขระ ผอ.การท่าอากาศยานฯ กล่าวว่า รันเวย์และเที่ยวบินไม่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน[12][11]

เจ้าหน้าตำรวจในจังหวัดเชียงรายนายหนึ่งเล่าว่า สิ่งของในร้านค้ากระจัดกระจายไปทั่ว มีรอยแตกปรากฏตามอาคาร และพบถนนบางสายมีรอยแตกขนาดใหญ่[13]

อาคารสูงในกรุงเทพมหานครได้รับอิทธิพลจากแผ่นดินไหว และยังรู้สึกได้จากย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ด้วย[13]

ผลกระทบ

[แก้]

จะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตร จากศูนย์กลางแผ่นดินไหว[14] ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายด้านอาคารสถานที่ ทั้งโบราณสถาน สถานที่ราชการ เส้นทางคมนาคมและบ้านเรือนของประชาชน ในพื้นที่ที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนโดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และกำแพงเพชร[15] ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย สรุปสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ว่ามีพื้นที่ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งสิ้น 7 อำเภอ 47 ตำบล 478 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายรวม 8,935 หลัง โดยที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง 116 หลัง ได้รับความเสียหายบางส่วน 8,463 หลัง, วัด 99 แห่ง, โบสตถ์คริสต์ 7 แห่ง, โรงเรียน 35 แห่ง, มหาวิทยาลัย 1 แห่ง, สถานพยาบาล 25 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 6 แห่ง, โรงแรม 1 แห่ง, ถนน 5 สาย ตลิ่งพัง 1 แห่ง สะพาน 1 แห่ง และคอสะพาน 5 แห่ง[16] ประมาณความเสียหายราว 781 ล้านบาท[4]

โบราณสถาน ศาสนสถาน

[แก้]

วัดร่องขุ่น มีรูปภาพบนผนังในโบสถ์ ที่ใช้เวลาสร้างมากกว่า 20 ปี และคาดว่าต้องใช้เวลาในการซ่อมกว่า 2 ปี โดยความเสียหายปัจจุบัน ได้แก่ ผนังภาพจิตรกรรมในโบสถ์ เป็นรอยร้าวยาว แผ่นสีภาพแตกร่อนออกมา สะพานด้านข้างโบสถ์แตกเสียหาย ยอดเจดีย์หักเบี้ยว หลังคาหอแสดงภาพจิตรกรรมแตก ทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมานานต้องมาพังพินาศภายในวันเดียว เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้บุกเบิกสร้างวัดร่องขุ่น กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความเสียหายที่มีค่ามาก ไม่ใช่มูลค่าของสิ่งที่สร้าง แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจ สร้างวัดนี้ขึ้นมาไม่เคยขอเงินใคร เป็นเงินที่ตนหามาเอง เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนไหนที่สามารถซ่อมได้ก็จะซ่อม แต่ถ้าส่วนไหนที่ซ่อมไม่ได้ก็จะปล่อยให้มันคงอยู่อย่างเดิม ไม่ทำลาย เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว[17]

วัดอุดมวารี ตำบลทรายขาว เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นนามว่า พระพุทธอุดมมงคล หักลงเนื่องจากได้รับความเสียหาย และอาคารของวัดเกิดรอยแตก และเพดานได้รับความเสียหาย[11] วัดอื่น ๆ ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน[12] มีโบราณสถานเสียหาย 17 แห่งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ยอดหักเอียงตามแรงเหวี่ยงของแผ่นดินไหว รวมถึงโครงสร้างแตกร้าว

สถานที่ราชการ

[แก้]

มีสถานพยาบาลในสังกัดได้รับความเสียหาย 7 แห่ง ส่วนใหญ่มีรอยร้าว แต่ไม่กระทบต่อโครงสร้างอาคาร ที่รุนแรง เช่น โรงพยาบาลแม่ลาว มีอาคารผู้ป่วยเดิมร้าวและทรุด เสาบางแห่งเห็นเหล็กโครงสร้าง สามารถให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินได้เท่านั้น[18] ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อาคารเกิดรอยแยกและ แผ่นหินแตกออก กระจกในอาคารแตก โรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดได้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงเทพนิมิตร ตำบลป่าอ้อดอนชัย[19] มีโรงเรียนได้รับผลกระทบ 73 แห่ง มีโรงเรียนที่เสียหายหนัก 5 โรงเรียน อยู่ในอำเภอพาน อำเภอแม่ลาว และอำเภอแม่สรวย[20]

เส้นทางคมนาคม

[แก้]

ในอำเภอพาน มีถนนถูกฉีกตามรอยแตกที่รุนแรง กรมทางหลวง เปิดเผยข้อมูลหลังเกิดหลังแผ่นดินไหวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนทางหลวง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มี 2 แห่ง ในทางหลวงสาย 118 ที่ตัดผ่านอำเภอแม่ลาว ช่วง กม. 147-152 มีการบิดตัวเสียรูปทรงเกือบทั้งหมด ผิวการจราจรแตกหักเสียหาย ทำให้ผิวจราจรต่างระดับกันเล็กน้อย[21]

ประชาชนบาดเจ็บเสียชีวิต

[แก้]

มีผู้เสียชีวิต 2 คน คนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว เนื่องจากถูกผนังบ้านล้มทับบริเวณศีรษะ[22] อีกคนหนึ่ง อยู่ในพื้นที่ ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว เนื่องจากหัวใจวาย[23] มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 107 ราย[4][24]

ความช่วยเหลือ

[แก้]

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตั้ง ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธาน[25] โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยด้วยการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 2 จุด และการช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัย และส่งทีมสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสถาวิศวกรรมสถาน ชมรมช่างท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย ชมรมช่างท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ และวิศวกรอาสา จัดทีมช่างและวิศวกรลงพื้นที่ออกตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารและสิ่งกอ่สร้าง บ้านเรือนประชาชนก่อนที่เข้าไปอยู่อาศัย กว่า 200 คน จัดทีมแพทย์และเตรียมทำหนังสือขอขยายวงเงินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเสียหายทั้งหลัง จากเดิมที่สามารถชดเชยเงินให้ 33,000 บาท ให้สามารถชดเชยเงินได้สูงขึ้น

ในส่วนมาตรการบรรเทาทุกข์ของจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย การป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ก่อสร้าง ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้แก่ประชาชน ลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้า และลดค่าภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ภาษีป้าย[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "M6.3 - 9km S of Mae Lao, Thailand". USGS. May 5, 2014. สืบค้นเมื่อ May 5, 2014.[ลิงก์เสีย]
  2. "Very strong deadly earthquake close to Chiang Rai, Thailand – At least 1 dead and 32 injuries". Earthquake-Report.com. 5 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2014. สืบค้นเมื่อ 9 May 2014.
  3. 3.0 3.1 "ย้อนรอย 3 ปี "แผ่นดินไหว" 6.3 เชียงราย". Thai PBS. สืบค้นเมื่อ 30 April 2023.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว. รายงานการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณจังหวัดเชียงราย วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น.
  5. รายการค้นหาแผ่นดิวไหวภายในประเทศและใกล้เคียง
  6. กรมทรัพย์ฯ ยันศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ อ.แม่ลาว
  7. "M6.0 - 9km S of Mae Lao, Thailand". USGS. May 5, 2014. สืบค้นเมื่อ May 5, 2014.
  8. แผ่นดินไหวอีก ขนาด 5.0 ศูนย์กลางเชียงราย
  9. แผ่นดินไหวอีก ขนาด 6.0 ศูนย์กลางเชียงราย
  10. "6.0 quake in northern Thailand". Bangkok Post. May 5, 2014. สืบค้นเมื่อ May 5, 2014.
  11. 11.0 11.1 11.2 Doksone, Thanyarat (May 5, 2014). "Earthquake Cracks Walls, Roads in North Thailand". Associated Press. ABC News. สืบค้นเมื่อ May 5, 2014.
  12. 12.0 12.1 12.2 "One dies, dozens injured after earthquake in Thailand". Voice of Russia. 2014-05-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-06. สืบค้นเมื่อ 2014-05-08.
  13. 13.0 13.1 Bacon, John (May 5, 2014). "Magnitude-6.0 quake rattles Thailand". USA Today. สืบค้นเมื่อ May 5, 2014.
  14. "ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว จ.เชียงราย 5 พฤษภาคม 2557 เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต5 MAY 2014 CHIANG RAI EARTHQUAKE LESSON LEARNED FOR FUTURE EARTHQUAKE PREPAREDNESS". ph02.tci-thaijo.org. ชยานนท์ หรรษภิญโญ. สืบค้นเมื่อ 25 April 2022.
  15. "6.0 quake in northern Thailand"[ลิงก์เสีย]
  16. ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย[ลิงก์เสีย]
  17. หวั่นตึกเก่ากทม.พัง
  18. สำนักนโยบายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  19. ความเสียหายของโรงพยาบาลจากเหตุแผ่นดินไหว[ลิงก์เสีย]
  20. แผ่นดินไหวในอำเภอแม่ลาว โรงเรียนได้รับผลกระทบ 73 แห่ง
  21. กรมทางหลวงแจ้ง แผ่นดินไหว ทำทางหลวงสาย 118 พัง 1 จุด
  22. แผ่นดินไหวเชียงราย ดับแล้ว 1 ราย - อาฟเตอร์ช็อกเพียบ[ลิงก์เสีย]. news.voicetv.วันที่ 6 พฤษภาคม 2557
  23. "เหยื่อแผ่นดินไหวเชียงรายเพิ่มอีก 1 ศพ" เก็บถาวร 2014-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วันที่ 12 พฤษภาคม 2557
  24. แผ่นดินไหวในอำเภอแม่ลาว มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 23 ราย[ลิงก์เสีย]
  25. ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]