แนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมร
แนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมร រណសិរ្សរំដោះជាតិប្រជាជនខ្មែរ | |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | ซอน ซาน |
ประธาน | ซอน ซาน |
ก่อตั้ง | 9 ตุลาคม ค.ศ. 1979 |
ถูกยุบ | ค.ศ. 1993 |
ถัดไป | พรรคประชาธิปไตยเสรีนิยมพระพุทธศาสนา |
ฝ่ายทหาร | KPNLAF |
อุดมการณ์ | ชาตินิยมเขมร เศรษฐศาสตร์เสรีนิยม ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ |
จุดยืน | ฝ่ายขวา |
กลุ่มระดับชาติ | CGDK |
ธงประจำพรรค | |
การเมืองกัมพูชา รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
แนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมร (เขมร: រណសិរ្សរំដោះជាតិខ្មែរ รณสิรฺสรํเฎาะชาติขฺแมร; อังกฤษ: Khmer People’s National Liberation Front) เป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลในกัมพูชาที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2522 เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มีเวียดนามหนุนหลัง ผู้ก่อตั้งคือซอนซาน ใน พ.ศ. 2525 กลุ่มนี้เข้าร่วมในรัฐบาลผสมกัมปูเจียประชาธิปไตยพริอมกับเขมรแดงและกลุ่มฟุนซินเปก โดยซอนซานได้เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมนี้ เป็นกลุมที่ไม่มีความเข้มแข็งทางด้านกำลังทหารเท่าใดนัก ได้เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 เมื่อสหประชาชาติเข้ามาจัดการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2536 แนวร่วมได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาธิปไตยเสรีนิยมชาวพุทธเข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งนั้น ได้ 10 จาก 120 ที่นั่งและได้เข้าร่วมในรัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีบทบาทในรัฐบาลน้อยมาก
จุดกำเนิด
[แก้]เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2522 มีการจัดตั้งคณะกรรมการพื่อความเป็นกลางและสันติภาพกัมพูชาที่ปารีส โดยซอน ซาน ซิม วาร์ เยน สัมบัวร์ เฮียก เพียวลอง นง กิมมี โทน โอก์ และ ชัย โทล ซึ่งมีจุดประสงค์ในการต่อต้านเขมรแดงและการรุกรานของเวียดนามเหนือ ซึ่งขัดแย้งกับข้อตกลงเจนีวา พ.ศ. 2497 และข้อตกลงสันติภาพปารีส พ.ศ. 2516[1] ซอน ซานได้เดินทางไปยังนิวยอร์ก เพื่อเชิญพระนโรดม สีหนุมาเป็นนผู้นำของแนวร่วมแต่พระองค์ปฏิเสธ
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 นายพลเดียน เดลและเงือน ไพทัวเรต ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อจัดตั้งแนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมรและได้เชิญผู้นำอื่นๆมาร่วมกับซอน ซานได้แก่ เจีย จุต อดีตนายพลของกองทัพแห่งชาติเขมร ปรุม วิท ตา เมียงและ โอม ลวต ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2522 มีทหารเข้าร่วมราว 1,600 คน
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2522 ซอน ซานและลูกชายของเขาคือ ซอน ซัวเบิตและซอน โมนีร์ รวมทั้ง เนียง จินฮัน (เคยทำงานกับรัฐบาลของลน นล) และคนอื่นๆจากฝรั่งเศสได้เดินทางมายังประเทศไทย แนวร่วมฯได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ที่ค่ายซกซาน ซึ่งเป็นค่ายผู้อพยพในเขตเทือกเขาบรรทัดว่ามีทหารราว 2000 คน[2] และยังมีแนวร่วมอื่นอีก เช่น ขบวนการเขมรอิสลาม ขบวนการชาตินิยมสหภาพเขมรอิสระและขบวนการในกำปงธม ซอน ซานเป็นผู้นำของแนวร่วม นโยบายเป็นกลุ่มฝ่ายขวา นิยมตะวันตกและต่อต้านคอมมิวนิสต์[3] ตามแนวชายแดนด้านจังหวัดจังหวัดสระแก้วเป็นเขตอิทธิพลของแนวร่วมนี้[4]
แรงผลักดันทางการเมืองก่อนข้อตกลงสันติภาพปารีส
[แก้]ในช่วงแรก แนวร่วมฯขึ้นกับเงินสนับสนุนจากต่างชาติเพื่อสนับสนุนกองกำลังทางทหารและค่ายผู้อพยพ รวมทั้งสร้างการยอมรับจากนานาชาติ ใน พ.ศ. 2525 ซอน ซานเดินทางไปยังสหรัฐและยุโรปเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวร่วมฯนี้ถือเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่ไม่นิยมคอมมิวนิสต์ จึงได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกที่ไม่สนับสนุนเวียดนามและเขมรแดง อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง แนวร่วมฯ ได้เข้าร่วมในแนวร่วมเขมรสามฝ่าย แม้ว่าแนวร่วมฯจะเป็นเช่นเดียวกับพรรคฟุนซินเปกคือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดและวิธีการของเขมรแดง แต่ต้องเข้าร่วมเพื่อดึงดูดความสนใจจากนานาชาติและได้ที่นั่งเป็นตัวแทนในสหประชาชาติ[5]
กองกำลังทางการทหาร
[แก้]ส่วนที่เป็นทหารของแนวร่วมฯคือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรที่ก่อตั้งโดยนายพลเดียน เดลในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 และอยู่ภายใต้การควบคุมของ สัก สุตสคานในช่วง พ.ศ. 2524 – 2535[6] ในช่วงต่อมา การสู้รบของแนวร่วมฯได้เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านอื่นๆเพื่อให้มีขอบเขตในการสู้รบเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2529 กองกำลังของเขมรสามฝ่ายสามารถยึดครองจังหวัดพระตะบองได้[7] การรบโดยลำพังในฐานะแนวรบขนาดใหญ่ของแนวร่วมฯลดลงหลังจากถูกเวียดนามโจมตีใน พ.ศ. 2527 – 2528 ทำให้สูญเสียทหารไปถึง 30%
ความขัดแย้งภายในก่อนข้อตกลงปารีส
[แก้]ความขัดแย้งภายในแนวร่วมเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นก่อนข้อตกลงปารีสใน พ.ศ. 2534 และอีกครั้งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 ความแตกแยกครั้งแรกเริ่มปรากฏต่อสาธารณชนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2528 ระหว่างซอน ซาน กับสัก สุตสกัน ผู้นำทางการทหาร ต่อมาในวันที่ 2 มกราคม เดียน เดลและสัก สุตสกันได้ออกมาก่อตั้งคณะกรรมการเฉพาะกาลเพื่อการปลดปล่อย ซอน ซานได้ออกมาต่อต้านเดียน เดลและสัก สุตสกัน โดยกล่าวว่าการกระทำของทั้งคู่ผิดกฎหมายและเป็นการต่อต้านจิตวิญญาณของกลุ่มและยินดีต้อนรับกลับมาถ้ายุติพฤติกรรมแบ่งแยก ซอน ซานยังกล่าวว่าฝ่ายของเขาได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ อาเซียนและจีนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินของกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ต่อมาฝ่ายไทยเห็นว่าความแตกแยกของผู้นำแนวร่วมฯทำให้ความสามารถในการต่อสู้กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาลดลง ไทยจึงจัดตั้งคณะกรรมการทางทหารชั่วคราวขึ้นใน พ.ศ. 2529 เพื่อเข้ามาควบคุมกองทัพจนกว่าความขัดแย้งจะยุติลง ซึ่งการเข้ามาแทรกแซงของไทยในครั้งนี้ ทำให้ความขัดแย้งสงบลงได้
หลังข้อตกลงปารีส
[แก้]ใน พ.ศ. 2534 ฝรั่งเศสและอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้มีการประชุมสันติภาพเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในกัมพูชา เขมรสี่ฝ่าย สหประชาชาติและประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สหรัฐ สหภาพโซเวียต จีน และอังกฤษ เป้าหมายของการประชุมเพื่อสร้างเอกภาพ สันติภาพและประชาธิปไตยที่เป็นกลางของกัมพูชา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ทุกกลุ่มที่เข้าร่วมได้ลงนามในข้อตกลงปารีสให้สหประชาชาติเข้ามาจัดการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2536เพื่อกำหนดรัฐบาลกัมพูชาในอนาคต กัมพูชาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติจนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น และลดจำนวนกองทัพของตน ยกเว้นเขมรแดงที่ถูกคว่ำบาตรไม่ให้เข้าร่วมการเลือกตั้ง
ตัวแทนของแนวร่วมคือพรรคประชาธิปไตยเสรีนิยมชาวพุทธเข้าร่วมในการเลือกตั้งและได้ 10 จาก 120 ที่นั่งในสภา เนื่องจากไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง พรรคจึงเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาชนกัมพูชาและพรรคฟุนซินเปก และมีผู้ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น เอง เมาลีเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศ และ เคม โสขาเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในสภาแห่งชาติ[8]
ความขัดแย้งภายในหลังการเลือกตั้ง
[แก้]ความขัดแย้งเมื่อ พ.ศ. 2529 ได้ส่งผลมาถึงความขัดแย้งใน พ.ศ. 2538 โดยในครั้งนี้เกิดความขัดแย้งระหว่างซอน ซานกับเอง เมาลี ซึ่งเกิดจากความแตกต่างทางความคิด ซอน ซานต่อต้านเวียดนาม ส่วนเมาลีได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของราชวงศ์ในประชาธิปไตยใหม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดข้อตกลงกัน ทั้งเมาลีและซอน ซานเข้าร่วมในการเลือกตั้ง โดยซอน ซานเป็นหัวหน้าพรรค ส่วน เอง เมาลีเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมเพื่อรักษาอำนาจของพรรคไว้
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งได้มาถึงจุดเดือด เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนซอน ซานออกมาประกาศว่าเอง เมาลีถูกขับออกจากพรรค ต่อมา 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เอง เมาลี ได้ประกาศให้มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ ซึ่งกลุ่มของซอน ซานไม่ได้เข้าร่วมประชุม หลังจากการประชุมครั้งนั้นไม่นาน พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยชาวพุทธได้สลายตัว เอง เมาลีไปจัดตั้งพรรคประชาธิปไตยเสรีนิยม กลุ่มของซอน ซานแยกไปตั้งพรรคซอน ซาน ทั้งสองพรรคไม่ได้รับการเลือกตั้งหลังการแยกตัว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Corfield J. J., "A History of the Cambodian Non-Communist Resistance, 1975-1983." Clayton, Vic., Australia: Centre of Southeast Asian Studies, Monash University, 1991, p. 9.
- ↑ Bekaert, J., "Kampuchea: The Year of the Nationalists?" Southeast Asian Affairs, Institute of Southeast Asian Studies, Singapore (1983), pp. 169.
- ↑ “The Khmer People's National Liberation Front,” Country Studies, [1].
- ↑ วัชรินทร์ ยงศิริ.ค้าไม้ไทย-กัมพูชา ใครจริงใจ ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 255-262
- ↑ Trevor Findlay, Cambodia The Legacy and Lessons of UNTAC, (Oxford: Oxford University Press, 1995), 1-2.
- ↑ Rodney Tasker,, “Up Against the Odds” Far Eastern Economic Review 131, no.3 (1986):22-23.
- ↑ Rodney Tasker, “The Reality of Coalition,” Far Eastern Economic Review 133, no.28 (1986): 11-12.
- ↑ Matthew Lee, “Divided we Fall,” Far Eastern Economic Review 158, no.30 (1995): 31
- ไมเคิล ลีเฟอร์. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กทม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2548.