เงือก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เงือกน้ำ)
เงือก
กลุ่มตำนาน
สัตว์คล้ายคลึงเมอร์แมน
ไซเรน
อันดายน์
ประเทศทั่วโลก

เงือก (อังกฤษ: mermaid) เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่งตามความเชื่อนิยายปรัมปราเกี่ยวกับน้ำ โดยเป็นจินตนาการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ โดยมากจะเล่ากันว่าเงือกนั้นเป็นสัตว์ครึ่งมนุษย์ มีส่วนครึ่งท่อนบนเป็นคน ส่วนครึ่งท่อนล่างเป็นปลา มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเงือกแพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรป เอเชียและแอฟริกา

บางตำนานเล่าว่าเงือกมีความสัมพันธ์กับเหตุอันตรายอย่างอุทกภัย วาตภัย เรืออับปาง และการจมน้ำเสียชีวิต แต่ก็มีเล่าว่าเงือกอาจนำคุณมาให้ได้เช่นกัน เช่น มอบของกำนัลหรือตกหลุมรักมนุษย์

เงือกมีได้ทั้งเพศหญิงและชาย (เรียกว่า merman) แม้ตามตำนานจะเล่าว่าพบเห็นเงือกเพศชายน้อยกว่าเงือกเพศหญิง แต่โดยทั่วไปก็ถือกันว่าทั้งสองเพศอยู่ร่วมกัน บางทีอาจเรียกเงือกชายและหญิงรวม ๆ กันว่าชาวเงือก (merfolk หรือ merpeople)

ที่มาของเงือกในโลกตะวันตกนั้นอาจได้รับอิทธิพลมาจากไซเรนในปรัมปรากรีก ซึ่งเป็นอมนุษย์คล้ายนก แต่เมื่อมาถึงยุคศาสนาคริสต์อาจมองกลายเป็นกึ่งปลาไป บันทึกการพบเห็นเงือกในประวัติศาสตร์ เช่น ที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสบันทึกไว้ระหว่างการสำรวจทะเลแคริบเบียนนั้น อาจเป็นการพบเห็นพะยูนหรือสัตว์น้ำที่คล้ายกันมากกว่า แม้ไม่มีหลักฐานว่าเงือกมีอยู่จริง แต่ก็ยังมีรายงานการพบเห็นเงือกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เงือกมีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในศิลปะและวรรณกรรมในศตวรรษหลัง ๆ เช่นในเทพนิยาย เงือกน้อยผจญภัย ของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน และยังมีการกล่าวถึงในโอเปรา จิตรกรรม หนังสือ การ์ตูน แอนิเมชันและภาพยนตร์คนแสดงอื่น ๆ อีกด้วย

ในยุโรป[แก้]

ในประเทศยุโรปตอนเหนือ มีตำนานเกี่ยวกับเงือกด้วยเช่นกัน เงือกของยุโรปมีความน่ากลัว เป็นปิศาจลักษณะเดียวกับนิมฟ์จำพวกไซเรน, ไนแอด หรือลิมนาเดส ที่จะล่อลวงเหยื่อ โดยเฉพาะชายหนุ่มให้ลงไปในน้ำแล้วสังหารทิ้ง ซึ่งเสียงของเงือกมีพลังดึงดูด สามารถชักพาให้ผู้ที่ได้ยินเสียงคล้อยตามได้ การที่เรือเดินทะเลต้องชนกับหินโสโครก และอับปางลงลำแล้วลำเล่านั้น เป็นเพราะว่าถูกชักจูงให้เดินทางไปตามเสียงเพลงของเงือก[1]

เรื่องของเงือกที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุโรป ปรากฏในนิทานพื้นบ้านของเยอรมนี ชื่อ "ลอเรไร" (เยอรมัน: Loreley; อังกฤษ: Lorelei) อาศัยอยู่กับพ่อริมแม่น้ำไรน์ เมื่อเสียชีวิตเธอได้กลายเป็นปีศาจที่ล่อลวงเรือให้อับปาง[2][3]

ที่อังกฤษ, สกอตแลนด์ รวมถึงไอร์แลนด์ก็มีความเชื่อทำนองนี้ โดยเรียกว่า "เซลกี" (Selkie) แปลว่า "ผู้หญิงแมวน้ำ" [2][4]

ในประเทศญี่ปุ่น[แก้]

ในประเทศญี่ปุ่น มีความเชื่อเกี่ยวกับเงือกมากมายเช่นเดียวกัน โดยเงือกเป็นโยไกหรือปิศาจจำพวกพรายน้ำอย่างหนึ่งตามความเชื่อของศาสนาชินโต ศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่น เงือกในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "นิงเงียว" (人魚, Nin-gyo) ความเชื่อหลักเกี่ยวกับการกินเนื้อเงือก คือ เมื่อในอดีต มีหญิงสาวคนหนึ่งได้ช่วยนางเงือกเอาไว้ที่ชายหาด นางเงือกซาบซึ้งบุญคุณของหญิงคนนั้น จึงให้กินเนื้อเงือกเป็นการตอบแทน แต่ทว่า อาถรรพณ์ของเนื้อเงือก จะทำให้ผู้ที่กินเข้าไปไม่แก่ไม่ตาย หญิงสาวผู้นั้นมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีวันแก่ตาย ได้เห็นผู้คนรอบข้างตายไปทีละคนจนทนไม่ได้ จึงบวชเป็นชีชื่อ แม่ชีเบคุนิ และยังมีความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ดื่มน้ำตาของ”นิงเงียว” จะมีอายุยืนถึง 500 ปี

ปัจจุบัน ในประเทศญี่ปุ่น ตามวัดต่าง ๆ มักจะมีซากเงือกตั้งแสดงอยู่ เป็นของประหลาดและเป็นที่ตื่นตาสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น แต่ทว่าซากของเงือกหรือสัตว์ประหลาดต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นของปลอมที่ทำขึ้น โดยการนำเอาอวัยวะของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาผสมรวมกัน[5]

เงือกยักษ์ ใน Jason and the Argonauts (1963)

ในประเทศไทย[แก้]

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

เงือกในประเทศไทย ถูกกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยอดีต ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่เป็นเงือกที่ได้รับความนิยม และกล่าวขานกันมากที่สุดก็คือ เงือกในวรรณคดีของ สุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี ที่นางเงือก (เงือกสาว) และเงือกตายาย ช่วยพาพระอภัยมณีหนีจาก ผีเสื้อสมุทรได้จนสำเร็จ และนางเงือกได้เป็นชายาของพระอภัยมณี จนมีโอรสด้วยกันหนึ่งองค์ ชื่อว่า สุดสาคร

ในภาษาไทยโบราณ รวมทั้งในวรรณคดีสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ มีคำว่า เงือก มาแล้ว แต่มีความหมายแตกต่างกันไป พอจะสรุปได้ดังนี้

  • งู : คำว่าเงือกในภาษาไทยโบราณ และภาษาตระกูลไตบางถิ่นนั้น มักจะหมายถึง งู ดังปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำ ที่ว่า "ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น" นั่นคือ เอางูมาพันรอบกาย, "เสียงเงือกงูว้าง ขึ้นลง" หมายถึง เสียงงู เหล่านี้เป็นภาษาเก่าที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน [6]
  • สัตว์ร้าย จำพวกผี หรือปีศาจ : ปรากฏในลิลิตพระลอ วรรณกรรมสมัยอยุธยาเช่นกัน
  • สัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา : เชื่อกันว่าเงือกในลักษณะนี้ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีพระอภัยมณีดังกล่าวมาข้างต้น แต่อาจมีค้นเค้าจากเรื่องอื่นก็เป็นได้ [6]
  • มังกร คนไทบ้างกลุ่มในประเทศจีนและเวียดนาม จะเรียกมังกรว่า "เงือก" เช่น ไทปายี ไทเมือง และกะเบียว ในเวียดนาม

และอาจสรุปลักษณะของเงือกตามตำนานต่าง ๆ ได้ว่า:

  • มีใบหน้าเล็กขนาดเท่างบน้ำอ้อย
  • มีหวีและกระจก มักจะปรากฏกายขึ้นเหนือน้ำในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเพื่อนั่งสางผม ถ้ามีใครผ่านมาเห็นจะตกใจหนีลงน้ำโดยทิ้งเอาไว้ ถ้ามีผู้ได้ครอบครองสามารถที่จะเข้าฝันทวงคืนได้
  • มีเสียงไพเราะล่อลวงให้คนเดินตกน้ำ [1]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

จากนิทานและเรื่องเล่าเกี่ยวกับเงือกมากมายในอดีต ทำให้ในวัฒนธรรมร่วมสมัยมีการกล่าวถึงเงือกไว้ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Jason and the Argonauts ในปี ค.ศ. 1963 ซึ่งสร้างมาจากเทพปกรณัมกรีกเรื่อง เจสัน เมื่อเรืออาร์โกของเจสันกำลังผ่านช่องเขา และช่องเขากำลังถล่ม ก็ปรากฏมีเทพเจ้าโพไซดอน ผู้เป็นใหญ่แห่งมหาสมุทรทั้งปวง (โดยปรากฏเป็นชายร่างยักษ์ที่มีหางเป็นปลา โผล่ขึ้นมาช่วยดันภูเขาให้เรือผ่านไปได้ในที่สุด[7]

และในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง The Little Mermaid ของวอลด์ ดีสนีย์ ในปี ค.ศ. 1989 ที่ดัดแปลงมาจากนิทานชื่อเดียวกันนี้ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน เมื่อออกฉาย ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนมีการสร้างภาคต่อตามมาอีกหลายภาคและสร้างเป็นซีรีส์ [8]

ในปี ค.ศ. 2012 แอนนิมอลแพลนเน็ต ซึ่งเป็นช่องรายการโทรทัศน์สารคดีชีวิตสัตว์โลกในเครือของช่องดิสคัฟเวอรี ได้เผยแพร่สารคดีชุด Mermaids: The Body Found เป็นที่ฮือฮาและประสบความสำเร็จอย่างมาก[9] จนเป็นที่กล่าวขานกันว่าเงือกมีจริงหรือไม่ ก่อนที่ผู้ผลิตจะยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นเรื่องแต่ง[10][11] และได้ผลิตชุดที่สอง คือ Mermaids: The New Evidence ออกมาในปีต่อมา

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ขวัญนุช คำเมือง (แปล) (มกราคม 2543). โลกเร้นลับของสิ่งมีชีวิต. นานมีบุ๊คส์. ISBN 974-472-262-2.
  2. 2.0 2.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ สุด
  3. Blottenberger, Dan (2012-03-07). "Rhine River Valley: Mystical Lorelei statue continues to enchant visitors". สืบค้นเมื่อ 2017-06-18.
  4. "The Viking Rune". สืบค้นเมื่อ 12 May 2013.
  5. "Urban Legends Reference Pages: Mermaid to Order". Snopes. สืบค้นเมื่อ 2012-04-24.
  6. 6.0 6.1 "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒". พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-02. สืบค้นเมื่อ 2010-07-17.
  7. Jason and the Argonauts (1963) ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
  8. The Little Mermaid ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
  9. "Animal Planet Slays With Best-Ever May in Network History". Animal Planet Press Release. สืบค้นเมื่อ 2012-05-31.
  10. Jim Vorel (July 17, 2012). "Mermaid body found? No, bad TV". Quad-City Times.
  11. Mermaid Body Found? No, Bad TV http://qctimes.com/entertainment/mermaid-body-found-no-bad-tv/article_5037b13c-d040-11e1-953f-0019bb2963f4.html