ฮอปส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดอกฮอปในฮาลเลอร์เทา (Hallertau) เยอรมนี
ภาพตัดขวางของดอกฮอป ส่วนสำคัญในการปรุงเบียร์ คือ ต่อมลูพูลิน (Lupulin glands)
ภาพขยายของต่อมลูพูลินที่สร้างสารเหนียวบนโคนกลีบด้านในของดอกฮอป[1]

ฮอปส์ (อังกฤษ: hops) เป็นดอก (หรือเรียกว่า กรวยเมล็ดหรือสโตรบิลัส) ของต้นฮอป (Humulus lupulus)[2] พืชไม้เลื้อยชนิดหนึ่งในพืชดอกวงศ์กัญชา (Cannabaceae)[3] ส่วนใหญ่ใช้เป็นส่วนผสมแต่งรสในเบียร์ ให้รสขม แต่งกลิ่น ให้ความคงตัวของฟองเบียร์ และเป็นสารกันบูดธรรมชาติ[1] ฮอปส์นอกจากให้รสขมซึ่งช่วยสมดุลรสหวานของมอลต์แล้วยังให้รสและกลิ่นผลไม้หรือคล้ายส้ม[4][5] และฮอปส์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ในเครื่องดื่มอื่น ๆ และยาสมุนไพร

ต้นฮอปแยกเพศออกจากกัน ซึ่งในการผลิตเพื่อการค้าใช้เพียงต้นฮอปตัวเมียเท่านั้น[6] ต้นฮอปเป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี โดยมากปลูกกับหลักไม้เลื้อยแบบลวดยึดหรือเชือกพัน เรียงเป็นแถวเรียก "ไร่ฮอป" ต้นฮอปที่เกษตรกรทั่วโลกปลูกมีหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ใช้สำหรับผลิตเบียร์โดยเฉพาะ การใช้ดอกฮอปในเบียร์มีเอกสารบันทึกครั้งแรกเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 9 แม้ว่าชื่อของฮิลเดการ์ดแห่งบิงเก้นมักถูกใช้อ้างว่าเป็นแหล่งที่มาที่ก่อนหน้าที่สุด (ในคริสต์ศตวรรษที่ 12)[7] ก่อนหน้าการใช้ฮอปส์ผู้ผลิตเบียร์ใช้ "กรุต" ซึ่งส่วนผสมของสมุนไพรและดอกไม้หลายชนิดที่ให้รสขม ได้แก่ แดนดิไลออน (ฟันสิงโต), โกโบ (Burdock Root), ดาวเรือง, ฮอร์ฮาวด์ (หรือฮอปภูเขา) ไอวี่ดิน และเฮเทอร์[8] ยังพบเอกสารในช่วงต้นที่การกล่าวถึงความประสงค์ทำไร่ฮอปของเปแปงที่ 3 (Pepin III –บิดาของชาร์เลอมาญ)[9]

โดยมีการผสมที่เกสรตัวผู้จะปลิวไปผสมพันธ์กับตัวเมีย จะทำให้ได้ดอกฮอปส์ (Hops) ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ก็จะได้เม็ดฮอปส์มาด้วย ซึ่งในการใช้งานจะไม่ได้นำดอกฮอปส์ที่มีเม็ดด้วยมาใช้กับเบียร์เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ที่จะใช้งานกับตัวผู้ก็คือ ปลูกต้นฮอปส์ (Hops) ตัวผู้คู่กับต้นตัวเมียที่เพื่อให้ต้นที่เป็นเกสรตัวผู้ไปผสมกับตัวเมียเพื่อให้มีการข้ามสายพันธ์และได้พันธ์ใหม่ ดอกฮอปส์ (Hops) ที่ออกจะเป็นกลีบๆสีเขียวๆซ้อนๆกันกลายเป็นดอก และตรงโคนของพวกกลีบซ้อนๆกันพวกนี้จะมี ผงสีเหลือง เหนียวๆ ที่เรียกว่า Lupulin ซึ่งคือตัวหลักที่ให้ความขม และ ความหอมในเบียร์ กลิ่นที่อยู่ในฮอปส์นั้นมีมากมายหลายกลิ่น และนี่คือรายช่ือกลิ่นหลักๆ

  • Piney – กลิ่นคล้ายๆกับไม้สน ต้นสน
  • Woody, glass – กลิ่นคล้ายๆกับหญ้า กลิ่นเขียวๆ
  • Resin – กลิ่นยางไม้
  • Floral – กลิ่นดอกไม้ บางครั้งก็คล้าย กลิ่นน้ำหวานในดอกเข็ม
  • Citrus – กลิ่นส้ม กลิ่นสับปะรด กลิ่นเสาวรส
  • Fruity – กลิ่นผลไม้หวาน
  • Herb – กลิ่นสมุนไพร
  • Spice – กลิ่นเครื่องเทศ

ฮอปส์ยังใช้ในการต้มเบียร์เพื่อให้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและไม่ต้านจุลินทรีย์ที่ใช้หมักเบียร์[5] และเพื่อประโยชน์ในการปรับสมดุลความหวานของมอลต์ด้วยความขมและรสชาติและกลิ่นที่หลากหลายของฮอปส์ ในอดีตเชื่อกันว่าการเปลี่ยนจากการใช้สมุนไพรผสมแบบดั้งเดิม (เช่น กรุต) สำหรับผลิตเบียร์มาเป็นฮอปส์ เมื่อสังเกตพบว่าเบียร์ที่ทำจากฮอปส์มีแนวโน้มที่เก็บได้นานกว่า[10]

การผลิต[แก้]

ไร่ฮอปส์ในช่วงต้นฤดูการปลูก ที่ Yakima River Valley ในรัฐวอชิงตัน
ตัวอย่างฮอปส์อัดเม็ด ในรัสเซีย
ไร่ฮอปส์ ในเยอรมนี

การผลิตฮอปส์นั้นกระจุกตัวอยู่ในเขตอากาศหนาวชื้น โดยส่วนใหญ่ปลูกใกล้เส้นขนานที่ 48 (ช่วงละติจูด 35-55[11]) ต้นฮอปชอบสภาพดินแบบเดียวกับมันฝรั่ง และพบว่าประเทศที่ปลูกมันฝรั่งรายต้นของโลกเช่น สหรัฐอเมริกาเป็นพื้นที่ผลิตฮอปส์ที่สำคัญเช่นกัน ในบางครั้งพื้นที่ปลูกมันฝรั่งบางแห่งไม่สามารถผลิตฮอปส์ได้ดีตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ดินในรัฐติดทะเลของแคนาดาซึ่งขาดธาตุโบรอนที่ต้นฮอปชอบ[12] ในอดีตฮอปไม่ได้ปลูกในไอร์แลนด์ แต่นำเข้าจากอังกฤษ ในปีค.ศ. 1752 มีบันทึกการนำเข้าฮอปผ่านเข้าดับลินจากอังกฤษมากกว่า 500 ตัน[13]

ศูนย์การผลิตที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ ฮาลเลอร์เทาในเยอรมนี, จาเตค (Žatec) ในสาธารณรัฐเช็ก, หุบเขายาคิมาในรัฐวอชิงตัน และวิลลาเมท (Willamette) รัฐโอเรกอน และแคนยอนเคาน์ตี้ รัฐไอดาโฮฝั่งตะวันตก ศูนย์การผลิตหลักในสหราชอาณาจักรอยู่ในเมืองเคนต์ (ซึ่งผลิต Kent Goldings hops), เฮริฟอร์ดเชอร์ และวุร์สเตอร์เชอร์ โดยพื้นฐานแล้วฮอปที่เก็บเกี่ยวทั้งหมดจะใช้ในการทำเบียร์

ในประเทศไทย สามารถปลูกในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ[5][14] แต่ยังให้ผลผลิตจำนวนน้อยมากและต้นทุนที่สูง

การปลูก ฮอปส์ (Hops) ในประเทศไทย[แก้]

สำหรับการปลูกฮอปส์ (Hops) ในเมืองไทยนั้นสามารถทำได้ แต่ผลผลิตและคุณภาพที่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ด้วยที่ฮอปส์ (Hops) ที่จะนำมาปักชำและขยายพันธ์ต่อนั้น ต้องมาจากต้นที่สมบูรณ์และโตเต็มที่ปลูกมาแล้วหลายปี เพราะจะทำให้ได้กิ่งที่มีตาสำหรับงอกเยอะ และมีรากที่อวบ งอกง่าย แข็งแรง แต่ข้อจำกัดคือ มีฤดูสำหรับการปลูกฮอปส์ (Hops) ที่สามารถหากิ่งมาปลูกได้เพียงช่วงสั้นๆ คือช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคมเท่านั้น และรวมถึงในเรื่องของการขนส่ง เพราะการใช้เวลาที่นานหลายวันกว่าที่ต้นสำหรับการปลูกจะเดินทางมาถึงเมืองไทย นั้นทำให้ได้ต้นที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ เติบโตยาก หรือบางต้นก็ตาย เพราะความชื้น และเชื้อรา

โดยธรรมชาติแล้วต้นฮอปส์จะเติบโตได้ดีที่สุดที่ละติจูด 35-55 แต่พื้นที่อื่นในโลกก็สามารถปลูกให้ออกดอกได้แต่ผลผลิตอาจจะไม่ดีเท่าตามธรรมชาติของต้นฮอปส์ หลังจากทางฟาร์มในประเทศไทยอย่างเทพนมลองทดสอบปลูกฮอปส์มากว่า 4 ปี โดยทดลองปลูกมากกว่า 50 สายพันธุ์ ทั้งจากเยอรมัน, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, นิวซีแลนด์ ได้สายพันธุ์ที่เติบโตดีในไทยประมาณ 10 สายพันธุ์ ซี่งมาจากอเมริกาทั้งหมดดังนี้

  • Cluster ออกดอกเยอะ ดอกยาวใหญ่ ใช้สำหรับเป็น Bittering Hops
  • Chinook ออกดอกเยอะ ดอกยาว กลิ่นซิตรัสและไพนี่
  • Columbus ที่ฟาร์มดอกไม่ใหญ่มาก แต่ให้น้ำมันเยอะและกลิ่นซิตรัสและ Dank ชัด
  • Comet ออกดอกเยอะ ดอกยาวใหญ่ กลิ่นซิตรัส
  • Triumph สายพันธุ์ใหม่ เพิ่งออกปี 2019 ให้ผลผลิตเยอะ
  • Cashmere สายพันธุ์ใหม่ ออกปี 2013 เป็นลูกของ Cascade
ประเทศผู้ปลูกฮอป ปริมาณผลิตปี 2020 (ตัน)[15]
สหรัฐอเมริกา 47,541
เยอรมนี 46,878
จีน 7,044
สาธารณรัฐเช็ก 5,925
โปแลนด์ 3,417
สโลวีเนีย 2,723
ออสเตรเลีย 1,714
นิวซีแลนด์ 1,250
สหราชอาณาจักร–อังกฤษ 924
สเปน 908
ฝรั่งเศส 767

องค์ประกอบทางเคมี[แก้]

นอกจากน้ำ เซลลูโลส และโปรตีนต่าง ๆ แล้ว องค์ประกอบทางเคมีของฮอปส์ยังประกอบด้วยสารสำคัญในการถ่ายทอดลักษณะของเบียร์[16][17] ได้แก่

กรดอัลฟ่า[แก้]

สารประกอบทางเคมีที่สำคัญที่สุดในฮอปส์อาจเป็นกรดอัลฟา หรือฮิวมูโลน (humulone) ในระหว่างการต้มสาโท (น้ำมอลต์) ฮิวมูโลนจะถูกไอโซเมอไรซ์โดยความร้อนเป็นกรดไอโซอัลฟาหรือไอโซฮูมูโลน ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เบียร์มีรสขม[18]

กรดเบต้า[แก้]

ฮอปส์มีกรดเบต้าหรือลิวพูโลน สำหรับการให้กลิ่นของเบียร์[19]

น้ำมันหอมระเหย[แก้]

ส่วนประกอบหลักของน้ำมันหอมระเหยฮอปส์ คือ เทอร์พีน ไฮโดรคาร์บอนซึ่งประกอบด้วยไมร์ซีน ฮิวมูลีน และคาริโอฟิลลีน ไมร์ซีนมีหน้าที่ให้กลิ่นฉุนในฮอปส์สด ฮิวมูลีนและผลพลอยได้จากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นอาจทำให้เบียร์มีกลิ่นหอมที่โดดเด่นของฮอป ร้อยละ 80 ถึง 90 ของน้ำมันหอมระเหยจากฮอปส์ทั้งหมดเป็น ไมร์ซีน ฮิวมูลีน และคาริโอฟิลลีน รวม ๆ กัน[20]

ฟลาโวนอยด์[แก้]

แซนโธฮิวมอล เป็นฟลาโวนอยด์หลักในฮอปส์ และอื่น ๆ ได้แก่ 8-prenylnaringenin และไอโซแซนโธฮูมอล (isoxanthohumol) สารแซนโธฮิวมอลอยู่ระหว่างการวิจัยพื้นฐานเพื่อหาคุณสมบัติที่เป็นไปได้ ในขณะที่ 8-prenylnaringenin เป็นไฟโตเอสโตรเจนที่มีศักยภาพ[21][22]

การต้มเบียร์[แก้]

โรงอบฮอปส์ ที่ทอนบริดจ์
ฮอปส์แห้ง
ฮอปส์อบอัดแท่ง (ซ้าย)
ฮอปส์อบอัดเม็ด (ขวา)

โดยปกติ ก่อนการนำฮอปส์ไปใช้เป็นตัวปรุงเบียร์ ฮอปส์จะถูกทำให้แห้งในโรงบ่มหรือโรงอบฮอปส์ (oast house) ก่อน[23] เรียกฮอปส์แห้ง หรือดอกฮอปแห้ง[24] น้อยครั้งที่ใช้ฮอปส์สดหรือ "ฮอปส์เปียก" (เริ่มใช้ตั้งแต่ค.ศ. 1990)[25][26] เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้[24] และอีกประเภทคือ ฮอปส์อัดเม็ด[24]

สาโท (น้ำมอลต์ หรือ wort –ของเหลวที่สกัดจากมอลต์อุดมด้วยน้ำตาล เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเบียร์) ถูกต้มพร้อมฮอปส์ ทำให้เย็นลง และเติมยีสต์เพื่อเริ่มการหมัก

ผลของการเติมฮอปส์ที่มีต่อเบียร์ที่ผ่านการหมักแล้วนั้นแตกต่างกันไปตามประเภทและการปรุง โดยมากเพื่อ 2 ประการคือ รสขม และกลิ่น[27][1] ซึ่งเรียก การเติมฮอปส์ (hops addition)[24]

ฮอปส์เพื่อรสขม[แก้]

ฮอปส์ที่ใช้เพื่อเน้นความขม (บิทเทอริงฮอปส์–ฮอปส์ขม) มีความเข้มข้นของกรดอัลฟาสูงกว่า ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้เบียร์มีรสขม

ฮอปส์พันธุ์ยุโรป (หรือเรียก โนเบิลฮอปส์) โดยทั่วไปแล้วจะมีกรดอัลฟาเฉลี่ยร้อยละ 5–9 โดยน้ำหนัก (AABW) และฮอปส์พันธุ์อเมริกามีตั้งแต่เฉลี่ยร้อยละ 8–19 (AABW)

ฮอปส์ขมจะถูกต้มเป็นระยะเวลานาน โดยทั่วไปคือ 60–90 นาทีเพื่อเพิ่มไอโซเมอไรเซชันของกรดอัลฟาให้ได้มากที่สุด ซึ่งมักทำให้คุณสมบัติด้านกลิ่น (อะโรมาติก) ด้อยลงเนื่องจากสารประกอบอะโรมาติกจะระเหยไปในระหว่างการต้มที่นานเกิน ระดับความขมที่เกิดจากฮอปส์ขึ้นอยู่กับระดับที่กรดอัลฟาถูกไอโซเมอร์ไรซ์ระหว่างการต้ม และผลกระทบของฮอปส์ในปริมาณที่กำหนด ระบุไว้ตามมาตรฐาน International Bitterness Units (IBU)

โดยปกติฮอปที่ไม่ได้ต้มจะมีรสขมเล็กน้อยเท่านั้น การต้มเป็นการเพิ่มความขม ในทางกลับกันรสชาติและกลิ่นหอมอื่นของฮอปที่ไม่ใช่รสขมได้มาจากน้ำมันหอมระเหยซึ่งจะระเหยไปในระหว่างการต้ม

ฮอปส์เพื่อกลิ่น[แก้]

โดยปกติแล้ว ฮอปส์เพื่อกลิ่น (อโรมาฮอปส์–ฮอปส์กลิ่น) จะมีความเข้มข้นของกรดอัลฟาต่ำกว่า (ร้อยละ 5 ลงไป) และเป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้เบียร์มีกลิ่นและรสชาติ (เรียก non-bitter hops) และโดยทั่วไปอโรมาฮอปส์ ถูกเติมลงในสาโทภายหลังการต้มหรือช่วงหลังสุดของการต้ม เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำมันหอมระเหย

การให้ "รสฮอป" ทำโดยเติมอโรมาฮอปส์ในช่วง 30 นาทีสุดท้ายของการต้ม ซึ่งเรียก การเติมรสฮอปส์ (flavoring hops addition) และการให้ "กลิ่นฮอป" ทำโดยเติมอโรมาฮอปส์ในช่วง 10 นาทีสุดท้ายหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งเรียก การเติมกลิ่นฮอปส์ (finishing hops addition)[24]

การปรุงเบียร์ด้วยฮอปส์ อาจเติมหลังจากเบียร์เริ่มเย็นตัวลงและเริ่มกระบวนการหมัก เทคนิคนี้เรียกว่า dry hopping ซึ่งมีส่วนช่วยให้กลิ่นหอม[24]

ฟาร์เนสซีนในฮอปส์บางชนิดคือ สารประกอบหลักในการปรุงรสและกลิ่น[27] องค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยฮอปอาจแตกต่างกันระหว่างพันธุ์ และปีที่เก็บเกี่ยวแม้ในพันธุ์เดียวกัน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อรสชาติและกลิ่น[27]

ปัจจุบันมีการใช้ฮอปส์แบบ "คู่ขนาน" จากการเติมฮอปส์แต่เริ่มต้มเพื่อให้ได้กรดอัลฟาที่มีความเข้มข้นสูง และการเติมครั้งที่สองหรือมากกว่าเพื่อให้ได้กลิ่นหอมและรสแฝงอื่น ช่วงเวลาการเติมขึ้นอยู่กับเอฟเฟกต์ที่ต้องการ[28] กรดอัลฟาจากฮอปยังมีส่วนช่วยทำให้คุณภาพฟองของเบียร์คงที่อีกด้วย[27]

รสชาติและกลิ่นของอโรมาฮอปส์ได้แก่ "กลิ่นหญ้า", "กลิ่นดอกไม้", "กลิ่นซิตรัส กลิ่นส้ม กลิ่นมะนาว หรือกลิ่นเกรปฟรุต", "รสเผ็ด", "กลิ่นสน" และ "กลิ่นดิน"[11][1]

เบียร์ลาเกอร์จำนวนมาก มักไม่ได้รับอิทธิพลของฮอปส์หรือค่อนข้างต่ำจากการผสมที่น้อยหรือน้อยมาก เบียร์ลาเกอร์จำนวนน้อยในตลาดอาจมีกลิ่นหอมของฮอปที่โดดเด่น เช่น พิลเซเนอร์ หรือเบียร์ผลิตในสาธารณรัฐเช็ก เอลบางชนิด (เช่น India Pale Ale หรือ IPA) อาจมีฮอปส์ขมปริมาณมากที่ให้ความขมสูง

ปัจจุบันผู้ผลิตเบียร์อาจใช้ซอฟต์แวร์ในการควบคุมระดับความขมในการต้ม และปรับแต่งสูตรการเติมฮอปส์เพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงของฮอปส์ที่ซื้อได้ หรือการเปลี่ยนแปลงรสและกลิ่นจากฤดูกาล ซึ่งอาจจำเป็นต้องปรับชดเชยหรือลดปริมาณฮอปส์เพื่อคงระดับกรดอัลฟา ข้อมูลเหล่านี้อาจมีการแบ่งปันกับผู้ผลิตเบียร์รายอื่นผ่าน BeerXML เพื่อให้สามารถทำซ้ำสูตรเพื่อรองรับความแปรปรวนของฮอปส์ในการสร้างความพร้อมในการผลิต

วิธีการเก็บเกี่ยวและสกัดสาร[แก้]

1. เก็บเกี่ยว[แก้]

การเก็บเกี่ยว hop จะทำเมื่อดอกกำลังจะบานหรือเพิ่งบาน โดยการเก็บเกี่ยวจะใช้มือหรือเครื่องมือพิเศษ เช่น มีดใหญ่ โดยจะตัดกิ่งที่มีดอกฮอปส์ออกมาทั้งหมด แล้วนำไปห้อยในที่แห้งให้แห้งและลมได้ถึงเป้า

2. สกัดสาร[แก้]

หลังจากที่ดอกฮอปส์ถูกเก็บเกี่ยวแล้ว สารสำคัญที่อยู่ในดอกจะถูกสกัดออกมาเพื่อนำไปใช้งาน วิธีการสกัดสารจะมีหลายวิธี เช่น การใช้สารเคมีเพื่อสกัด การใช้น้ำเปล่าหรือน้ำร้อน หรือการใช้สารละลายอื่น ๆ โดยวิธีการสกัดจะมีผลต่อคุณภาพของสารที่สกัดออกมา

การเก็บเกี่ยวและสกัดสารของฮอปส์เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เนื่องจากมีผลต่อคุณภาพของสารสำคัญที่อยู่ในดอกฮอปส์ที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากฮอปส์ในที่สุด

ความเป็นพิษ[แก้]

บางครั้งโรคผิวหนังบางอาการเป็นผลจากการเก็บเกี่ยวฮอปส์ มีเพียงไม่กี่กรณีที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาล โดยประมาณร้อยละ 3 ของคนงานได้รับบาดเจ็บ มีรอยโรคทางผิวหนัง บนใบหน้า มือ และขา[29]

ฮอปส์เป็นพิษต่อสุนัข[30]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Hops ฮอปส์คืออะไร?". EatConnection. 2019-07-23.
  2. "University of Minnesota Libraries: The Transfer of Knowledge. Hops-Humulus lupulus". Lib.umn.edu. 2008-05-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-05-20.
  3. "Cannabaceae | Description, Genera, & Species". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-09-16.
  4. Schönberger C, Kostelecky T (16 May 2012). "125th Anniversary Review: The Role of Hops in Brewing". Journal of the Institute of Brewing. 117 (3): 259–267. doi:10.1002/j.2050-0416.2011.tb00471.x.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 5.2 ""ฮอปส์" ไม้เมืองหนาว วัตถุดิบส่วนผสมการทำเบียร์คราฟท์..ปลูกได้ที่ ปากเกร็ด". mgronline.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. Willy H. Verheye, บ.ก. (2010). "Hops and Hop Growing". Soils, Plant Growth and Crop Production Volume II. EOLSS Publishers. p. 194. ISBN 978-1-84826-368-0.
  7. Hornsey, Ian S. (2003). A History of Beer and Brewing. Royal Society of Chemistry. p. 305. ISBN 9780854046300.
  8. "Understanding Beer – A Broad Overview of Brewing, Tasting and Analyzing Beer – October 12th, 2006, Beer & Brewing, The Brewing Process". www.jongriffin.com. Jongriffin.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 March 2012. สืบค้นเมื่อ 2012-05-20.
  9. Michael Jackson, Michael Jackson (1988). The New World World Guide to Beer. Running Press. p. 18. ISBN 978-0-89471-884-7.
  10. F. G. Priest; Iain Campbell (2003). Brewing microbiology. Springer. p. 5. ISBN 978-0-306-47288-6.
  11. 11.0 11.1 "สายพันธุ์ฮอปส์ที่เติบโตดีในประเทศไทย – Devanom Farm – First Hops farm in Thailand" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  12. Peicanada
  13. "The London magazine, 1752", page 332
  14. โลหศรีสกุล, ดวงกมล (2017-09-16). "อดีตเจ้าของ บ.ซอฟต์แวร์ ผันตัวปลูก 'ฮอปส์' ไว้ใช้ทำคราฟท์เบียร์ แห่งแรกในไทย". เส้นทางเศรษฐี.
  15. "International Hop Growers' Convention - Economic Commission Summary Reports" (PDF). February 2021. สืบค้นเมื่อ June 5, 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. Schönberger C, Kostelecky T (16 May 2012). "125th Anniversary Review: The Role of Hops in Brewing". Journal of the Institute of Brewing. 117 (3): 259–267. doi:10.1002/j.2050-0416.2011.tb00471.x.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  17. M. Verzele (2 January 1986). "100 Years of Hop Chemistry and Its Relevance to Brewing". Journal of the Institute of Brewing. 92 (1): 32–48. doi:10.1002/j.2050-0416.1986.tb04372.x. ISSN 2050-0416.
  18. Denis De Keukeleire (2000). "Fundamentals of beer and hop chemistry". Química Nova. 23 (1): 108–112. doi:10.1590/S0100-40422000000100019. ISSN 0100-4042.
  19. Ortega-Heras, M.; González-Sanjosé, M.L. (2003). Benjamin, Caballero (บ.ก.). "BEERS | Wort Production". Encyclopedia of Food Sciences and Nutrition (Second Edition). Academic Press: 429–434. ISBN 9780122270550.
  20. M. Verzele (2 January 1986). "100 Years of Hop Chemistry and Its Relevance to Brewing". Journal of the Institute of Brewing. 92 (1): 32–48. doi:10.1002/j.2050-0416.1986.tb04372.x. ISSN 2050-0416.
  21. Stevens, Jan F; Page, Jonathan E (1 May 2004). "Xanthohumol and related prenylflavonoids from hops and beer: to your good health!". Phytochemistry. 65 (10): 1317–1330. doi:10.1016/j.phytochem.2004.04.025. PMID 15231405.
  22. Milligan, S; Kalita, J; Pocock, V; Heyerick, A; Cooman, L De; Rong, H; Keukeleire, D De (2002). "Oestrogenic activity of the hop phyto-oestrogen, 8-prenylnaringenin". Reproduction. 123 (2): 235–242. doi:10.1530/rep.0.1230235. PMID 11866690.
  23. James S. Hough (1991). The Biotechnology of Malting and Brewing. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-39553-3.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 24.5 "Hop คืออะไร และ Hop Addition มีวิธีการทำยังไง?". www.brew-corner.com.
  25. Elizabeth Aguilera (10 September 2008). "Hop harvest yields hip beer for brewer". Denver Post.
  26. Kristin Underwood "It's Harvest Time at the Sierra Nevada Brewery" เก็บถาวร 2011-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Treehugger. 6 August 2009. Retrieved 20 March 2011.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 Schönberger C, Kostelecky T (16 May 2012). "125th Anniversary Review: The Role of Hops in Brewing". Journal of the Institute of Brewing. 117 (3): 259–267. doi:10.1002/j.2050-0416.2011.tb00471.x.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  28. John Palmer (2006). How to Brew. Boulder, CO: Brewers Publications. pp. 41–44. ISBN 978-0-937381-88-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-05. สืบค้นเมื่อ 2021-04-27.
  29. "Purdue University: Center for New Crops and Plant Products. Humulus lupulus L". www.hort.purdue.edu. Hort.purdue.edu. 1998-01-07. สืบค้นเมื่อ 2012-05-20.
  30. "Animal Poison Control Center. Hops". www.aspca.org. ASPCA. สืบค้นเมื่อ 2012-05-20.