อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย ในการเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์เมื่อปี ค.ศ. 1914 ที่นครนิวยอร์ก
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
ชื่ออาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย (RMS Aquitania)
ตั้งชื่อตามแกลเลียแอควิเทเนีย[3]
เจ้าของ
  • 1914–1934: คิวนาร์ด ไลน์[1]
  • 1934–1949: คิวนาร์ด-ไวต์สตาร์ ไลน์
  • 1949–1950: คิวนาร์ด ไลน์
ผู้ให้บริการคิวนาร์ด ไลน์
ท่าเรือจดทะเบียนสหราชอาณาจักร ลิเวอร์พูล, สหราชอาณาจักร
เส้นทางเดินเรือ
  • เซาแทมป์ตัน-นิวยอร์ก (1914) (1920–1939) (1945–1948) (1945–1950)
  • เซาแทมป์ตัน-แฮลิแฟกซ์ (1948–1950)
Ordered8 ธันวาคม 1910[1]
อู่เรือจอห์น บราวน์ แอนด์ คอมพานี, ไคลด์แบงค์, สกอตแลนด์[1]
Yard number409[2]
ปล่อยเรือธันวาคม 1910
Christened21 เมษายน 1913 โดย อลิซ สแตนลีย์ เคาน์เตสแห่งดาร์บี
สร้างเสร็จ1914
ส่งมอบเสร็จ24 พฤษภาคม 1914
Maiden voyage30 พฤษภาคม 1914[1]
บริการ1914–1950
หยุดให้บริการ1950
รหัสระบุ
  • หมายเลข IMO: 1135583
  • หมายเลขทางราชการอังกฤษ: 135583
ความเป็นไปปลดระวางในปี 1949 และแยกชิ้นส่วนในปี 1950[1]
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: ชั้นลูซิเทเนีย
ประเภท: เรือเดินสมุทร
ขนาด (ตัน): 45,647 ตันกรอส[4]
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 49,430 ตัน
ความยาว: 274.6 เมตร (901 ฟุต)[4]
ความกว้าง: 29.6 เมตร (97 ฟุต)[4]
ความสูง:
  • 50 เมตร (164 ฟุต) จากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ
  • 28.6 เมตร (94 ฟุต) จากกระดูกงูถึงดาดฟ้าชั้นเรือบด
กินน้ำลึก: 11 เมตร (36 ฟุต)[1]
ดาดฟ้า: 10 ชั้น
ระบบพลังงาน: กังหันไอน้ำ Parsons แบบขับตรง ให้กำลัง 59,000 แรงม้า (44,000 กิโลวัตต์) [4]
ระบบขับเคลื่อน: จักรปีก 4 ใบจักร จำนวน 4 จักร[4]
ความเร็ว:
  • ความเร็วบริการ: 24 นอต (44 กม./ชม.; 28 ไมล์/ชม.)
  • ความเร็วสูงสุด 25 นอต (45 กม./ชม.; 29 ไมล์/ชม.)[4]
ความจุ:
  • 1914: 3,230 คน แบ่งเป็น[1]
  • ชั้นหนึ่ง 618 คน
  • ชั้นสอง 614 คน
  • ชั้นสาม 2,004 คน
  • 1926: 2,200 คน แบ่งเป็น [1]
  • ชั้นหนึ่ง 610 คน
  • ชั้นสอง 950 คน
  • ชั้นสาม 640 คน
  • ลูกเรือ: 972 คน[1]

    อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย (อังกฤษ: RMS Aquitania) หรือชื่อเต็มคือ เรือไปรษณีย์หลวงแอควิเทเนีย (Royal Mail Steamer Aquitania) เป็นเรือเดินสมุทรสัญชาติอังกฤษ ของสายการเดินเรือคิวนาร์ด (Cunard Line) ให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914–1950 ออกแบบโดยลีโอนาร์ด เพสเกตต์ (Leonard Peskett) และสร้างโดยอู่ต่อเรือจอห์นบราวน์แอนด์คอมพานี (John Brown & Company) ในเมืองไคลด์แบงก์ ประเทศสกอตแลนด์ ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1913 [5] ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 แอควิเทเนียเป็นเรือลำดับที่ 3 ในโครงการเรือเดินสมุทรด่วนสามลำขนาดใหญ่ของคิวนาร์ด ไลน์ ซึ่งนำโดยอาร์เอ็มเอส ลูซิทาเนีย (RMS Lusitania) และอาร์เอ็มเอส มอริทาเนีย (RMS Mauretania) แอควิเทเนียเป็นเรือเดินสมุทรสี่ปล่องไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเรือเดินสมุทรสี่ปล่องไฟลำสุดท้ายที่ปลดระวาง

    หลังจากเรือแอควิเทเนียเข้าประจำการได้ไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้ปะทุขึ้น ในระหว่างนั้นเรือก็ถูกดัดแปลงเป็นเรือลาดตระเวนเสริม ก่อนจะถูกใช้เป็นเรือลำเลียงพลและเรือพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะส่วนหนึ่งของการทัพดาร์ดะแนลส์ และกลับมาให้บริการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอีกครั้งในปี ค.ศ. 1921 คู่กับอาร์เอ็มเอส มอริทาเนีย และเรือ อาร์เอ็มเอส เบเรนกาเรีย (RMS Berengaria)

    เรือลำนี่ได้รับฉายาว่า "เรือที่สวยงาม" (The Ship Beautiful) จากผู้โดยสารในช่วงเวลานั้นว่าเป็นหนึ่งในเรือที่สวยที่สุด[4] เรือลำนี้ยังคงให้บริการต่อไปหลังจากการควบรวมกิจการของคิวนาร์ดไลน์กับไวต์สตาร์ไลน์ในปี ค.ศ. 1934 บริษัทวางแผนที่จะเกษียณเรือลำนี้และแทนที่ด้วย อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ (RMS Queen Elizabeth) ในปี ค.ศ. 1940

    อย่างไรก็ตาม ด้วยการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สองทำให้เรือยังคงให้บริการต่อไปอีก 10 ปี ในช่วงสงครามจนถึงปี 1947 เรือลำนี้ได้ทำหน้าที่ขนส่งทหาร ซึ่งถูกใช้เป็นพิเศษเพื่อขนส่งทหารและผู้อพยพไปยังแคนาดาหลังจากจบสงคราม

    เรือแอควิเทเนีย ถูกปลดระวางในปี 1949 และถูกขายแยกชิ้นส่วนในปีถัดมา หลังจากทำหน้าที่เป็นเรือโดยสารเป็นระยะเวลากว่า 36 ปี สิ้นสุดหน้าที่การให้บริการด้วยการเป็นเรือที่ให้บริการนานที่สุดของคิวนาร์ดไลน์ โดยมีสถิติยาวนานถึง 36 ปี จนถูกกระทั่งแซงหน้าบันทึกการให้บริการ 37 ปีโดยอาร์เอ็มเอส ไซเธีย (RMS Scythia)

    สาเหตุการสร้าง[แก้]

    อาร์เอ็มเอส โอลิมปิก และ ไททานิก ของไวต์สตาร์ไลน์ คือคู่แข่งรายสำคัญของอาร์เอ็มเอส ลูซิทาเนีย และ มอริทาเนีย ของคิวนาร์ด ไลน์

    ต้นกำเนิดของ อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย เกิดจากการแข่งขันระหว่างสายการเดินเรือไวต์สตาร์ไลน์ กับคิวนาร์ด ไลน์ ซึ่งเป็นสายการเดินเรือชั้นนำสองแห่งของอังกฤษ เรือโอลิมปิก, ไททานิก และบริแทนนิก ของไวต์สตาร์ไลน์มีขนาดที่ใหญ่กว่าเรือของคิวนาร์ดลำล่าสุด คือเรือ ลูซิทาเนีย และ มอริทาเนีย ถึง 15,000 ตันกรอส แต่ทั้งสองลำนี้เร็วกว่าเรือของไวต์สตาร์อย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เรือของไวต์สตาร์ถูกมองว่าหรูหรากว่า คิวนาร์ดจึงต้องการเรือเดินสมุทรสำหรับบริการเรือด่วนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกรายสัปดาห์ และเลือกที่จะลอกแบบของเรือตระกูลโอลิมปิกของไวต์สตาร์ไลน์ ด้วยเรือที่ช้ากว่าแต่ขนาดใหญ่กว่าและมีความหรูหรากว่า[4][6][7]

    แผนสำหรับการสร้างเรือนั้นได้เริ่มขึ้นในปี 1910 มีการร่างแผนหลายฉบับเพื่อกำหนดแกนหลักของสิ่งที่ควรเป็นเรือซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 24 นอต ในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น บริษัทได้ยื่นข้อเสนอการก่อสร้างต่ออู่ต่อเรือหลายแห่ง ก่อนที่จะเลือกจอห์น บราวน์ แอนด์ คอมพานี (ที่เคยสร้างเรือลูซิทาเนีย มาก่อน)

    บริษัทได้เลือกชื่อ "แอควิเทเนีย" (Aquitania) เป็นชื่อสำหรับเรือลำใหม่ที่มีความต่อเนื่องกับเรือสองลำก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามจังหวัดของโรมันโบราณ: ลูซิทาเนีย, มอริทาเนีย และแกลเลียแอควิเทเนีย[8]

    การออกแบบ การสร้าง และการเปิดตัว[แก้]

    เรือแอควิเทเนีย ขณะกำลังก่อสร้าง ในปี 1913
    เรือแอควิเทเนีย ก่อนการปล่อยลงน้ำไม่นาน

    เรือแอควิเทเนีย ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกเรือของคิวนาร์ด ลีโอนาร์ด เพสเกตต์ (Leonard Peskett)[4] เธอเป็นหนึ่งในเรือเดินสมุทรที่ไม่เหมือนใครเนื่องจากไม่มีท่าเทียบเรือที่ไหนที่มีขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกับขนาดของเรือ ลูซิทาเนีย/มอริทาเนีย หรือ โอลิมปิก/ไททานิก เพสเกตต์ได้วาดแผนสำหรับเรือขนาดใหญ่และกว้างกว่า ลูซิทาเนีย และ มอริทาเนีย (ยาวกว่าประมาณ 40 เมตร (130 ฟุต)) ด้วยปล่องไฟขนาดใหญ่จำนวน 4 ปล่อง และเรือจะมีลักษณะคล้ายกับเรือสองลำก่อนหน้า แต่เพสเกตต์ยังออกแบบให้ปีกสะพานเดินเรือมีหลังคา ซึ่งได้แบบมาจากเรืออาร์เอ็มเอส คาร์มาเนีย (RMS Carmania) ที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งเป็นเรือที่เขาออกแบบด้วย คุณสมบัติการออกแบบอีกประการหนึ่งจากเรือคาร์มาเนีย คือการเพิ่มช่องระบายอากาศทรงสูง จำนวน 2 ตัว ที่ด้านหน้าเรือ แม้ว่าขนาดภายนอกของแอควิเทเนียจะใหญ่กว่าเรือโอลิมปิก แต่ระวางขับน้ำและระวางบรรทุกของแอควิเทเนียมีขนาดที่น้อยกว่า[9]

    กระดูกงูของแอควิเทเนีย ถูกวางในปลายปี 1910 เพสเกตต์ได้เดินทางบนเรือโอลิมปิกในปี 1911 เพื่อสัมผัสความรู้สึกบนเรือที่มีระวางขับน้ำเกือบ 50,000 ตัน รวมทั้งคัดลอกตัวแปรสำหรับเรือลำใหม่ของบริษัทของเขา[9]

    เรือแอควิเทเนีย ถูกสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือจอห์น บราวน์ แอนด์ คอมพานี (John Brown & Company) ในเมืองไคลด์แบงค์ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่สร้างเรือส่วนใหญ่ของคิวนาร์ด [5] กระดูกงูถูกวางบนพื้นที่เดียวกันกับเดียวกับที่สร้างเรือลูซิทาเนีย และต่อมาได้ใช้สร้างเรือควีนแมรี, ควีนเอลิซาเบธ และควีนเอลิซาเบธ 2 [10] เช่นเดียวกับเรือมอริทาเนีย ในการปล่อยเรือลงน้ำ ตัวเรือได้รับการทาสีด้วยสีเทาอ่อนเพื่อวัตถุประสงค์ในการถ่ายภาพ เนื่องจากทำให้ตัวเรือดูชัดเจนขึ้นในภาพถ่ายขาวดำ ต่อมาตัวเรือถูกทาสีใหม่เป็นสีดำในอู่แห้ง[11]

    หลังจากเรือไททานิก อับปาง เรือแอควิเทเนีย เป็นหนึ่งในเรือใหม่ลำแรกๆ ที่มีเรือชูชีพเพียงพอสำหรับผู้โดยสารและลูกเรือทุกคน[4] ซึ่งมีเรือบดจำนวน 80 ลำ รวมถึงเรือบดที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ 2 ลำ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ไร้สายของมาร์โคนี นอกจากนี้ยังออกแบบให้เรือมีผนังสองชั้นและประตูกันน้ำที่ออกแบบมาเพื่อให้เรือยังลอยได้ถ้ามีน้ำท่วมอย่างน้อย 5 ห้อง[12]

    ตามความต้องการของทหารเรืออังกฤษ เรือลำนี้ได้รับการออกแบบให้ดัดแปลงเป็นเรือพาณิชย์ลาดตระเวนติดอาวุธ และได้รับการติดตั้งปืนสำหรับประจำการในบทบาทดังกล่าว ทำให้เรือมีน้ำหนักประมาณ 49,430 ตัน โดยลำเรือคิดเป็น 29,150 ตัน เครื่องจักรกล 9,000 ตัน และบังเกอร์ 6,000 ตัน [13]

    เรือแอควิเทเนีย ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1913 หลังจากได้รับการขานนามโดย อลิซ สแตนลีย์ เคาน์เตสแห่งดาร์บี และติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นในระยะเวลา 13 เดือนข้างหน้า การติดตั้งที่โดดเด่นคือการเดินสายไฟฟ้าและการตกแต่งเรือ นำโดยอาเธอร์ โจเซฟ เดวิส (Arthur Joseph Davis) และชาลส์ มิวเวส (Charles Mewès) ผู้ร่วมงานของเขา[9]

    ในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 เรือได้รับการทดสอบทางทะเล และวิ่งด้วยความเร็วที่ตามที่คาดไว้

    ในวันที่ 14 พฤษภาคม เรือไปถึงเมอร์ซีย์และเทียบท่าที่ท่าเรือที่นั่นเป็นเวลา 15 วัน ในระหว่างนั้นเรือได้รับการทำความสะอาดครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์[14]

    ลักษณะเฉพาะของเรือ[แก้]

    ภาพวาดทางเทคนิคฝั่งกราบขวาของ อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย

    อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย เป็นเรือลำแรกของคิวนาร์ดที่มีความยาวเกิน 900 ฟุต[9] และมีความแตกต่างจากเรือเดินสมุทร 4 ปล่องไฟชั้นโอลิมปิก ของไวต์สตาร์ไลน์ คือ เรือแอควิเทเนีย ไม่มีปล่องไฟหลอก แต่ละปล่องใช้ในการระบายควันจากหม้อไอน้ำโดยตรง[15][16]

    สัดส่วนเรือ[แก้]

    • ความยาว: 274.6 เมตร (901 ฟุต)
    • ความกว้าง: 29.6 เมตร (97 ฟุต)
    • ความสูง:
      • 50 เมตร (164 ฟุต) วัดจากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ
      • 28.6 เมตร (94 ฟุต) วัดจากกระดูกงูถึงดาดฟ้าชั้นเรือบด
    • กินน้ำลึก: 11 เมตร (36 ฟุต)
    • ขนาด: 45,647 ตันกรอส, ระวางขับน้ำ 49,430 ตัน

    ความเร็ว[แก้]

    • ความเร็วบริการ: 24 นอต (44 กม./ชม.; 28 ไมล์/ชม.)
    • ความเร็วสูงสุด: 25 นอต (45 กม./ชม.; 29 ไมล์/ชม.) (ทดสอบในวันที่ 10 พฤษภาคม 1914)

    ลักษณะทั่วไป[แก้]

    • ปล่องไฟ: 4 ตัว สูงตัวละ 21 เมตร (70 ฟุต) ใช้เส้นเคเบิลตรึงปล่องละ 10 คู่ รวมทั้งหมด 20 เส้น ติดหวูดไอน้ำบนปล่องที่ 1 และ 2
    • การทาสี: ปลายปล่องไฟทาสีดำ ตัวปล่องทาสีแดง (สีแดงคิวนาร์ด) โดยมีแถบสีดำ 3 แถบรอบ ๆ ปล่อง, ซุเปอร์สตรัคเจอร์ทาสีขาวงาช้าง, ตัวเรือทำสีดำ, ท้องเรือใต้แนวน้ำทาสีแดง โดยมีแถบสีขาวคั่นระหว่างตัวเรือกับท้องเรือ, ใบจักรสีทองบรอนซ์
    • หัวเรือ: เสากระโดงเรือ 1 แห่ง, สมอเรือ 2 ตัว ที่กราบซ้ายและกราบขวาหัวเรือ, ปั้นจั่น 7 ตัว สำหรับสมอเรือ 1 ตัว, ช่องสินค้า 2 ช่อง
    • ท้ายเรือ: เสากระโดงเรือ 1 แห่ง, สะพานเดินเรือ, หางเสือ 1 ตัว, สมอเรือ 2 ตัว, ปั้นจั่น 3 ตัว, ช่องสินค้า 1 ช่อง
    • โกดังสินค้า: 10 แห่ง (ห้องมาตรฐาน 5 ห้อง, ห้องแช่แข็ง 2 ห้อง, ห้องเก็บสัมภาระ 2 ห้อง และห้องไปรษณีย์ 1 ห้อง)
    • ใบจักร: จักรปีก 4 ใบจักร จำนวน 4 จักร
    • ดาดฟ้า: 10 ชั้น; ชั้นเรือบด, ชั้น A-H และชั้นห้องเครื่อง
    • เรือบด: 80 ลำ, มีเครื่องยนต์ 2 ลำ พร้อมอุปกรณ์ไร้สาย
    • ความจุผู้โดยสาร:
      • ค.ศ. 1914: 3,230 คน แบ่งเป็น ชั้นหนึ่ง 618 คน, ชั้นสอง 614 คน และชั้นสาม 2,004 คน
      • ค.ศ. 1926: 2,200 คน แบ่งเป็น ชั้นหนึ่ง 610 คน, ชั้นสอง 950 คน และชั้นสาม 640 คน
    • ลูกเรือ: 972 คน

    เสบียง[แก้]

    เสบียงสำหรับการเดินทางในเที่ยวเดียว ได้แก่:

    เนย 12,561 ปอนด์, ส้ม 625 กล่อง, แอปเปิ้ล 520 กล่อง, น้ำตาล 29,768 ปอนด์, ไข่ 239,584 ฟอง, เนื้อ 80 ตัน, ไก่ 19,112 ตัว, แฮมและเบคอน 15 ตัน, ปลาสด 30 ตัน, หอยกาบ 16,000 qts., หอยนางรม 1.221 qts, นม 1,440 แกลลอน, มันฝรั่ง 4,807 ปอนด์, ชีส 5,139 ปอนด์, ไอศกรีม 9,450 qts., ห่าน 125 ตัว, ไก่งวง 250 ตัว, เป็ด 500 ตัว, ไก่ 3,000 ตัว, หัววัวและลูกวัว 75 ตัว, แกะและลูกแกะ 250 ตัว, สุกร 150 ตัว

    ระบบขับเคลื่อน[แก้]

    ไอน้ำถูกต้มโดยหม้อน้ำสก๊อตช์แบบสองด้าน (double-ended Scotch boilers) แบบลมเป่าเข้า จำนวน 21 ตัว แต่ละตัวมี 8 เตา ยาว 6.7 เมตร (22 ฟุต) เส้นผ่านศูนย์กลาง 5.4 เมตร (17 ฟุต 8 นิ้ว) ติดตั้งในห้องหม้อน้ำ 4 ห้อง[17] แต่ละห้องมีเครื่องไล่เถ้า 7 ตัว ซึ่งมีกำลังปั๊มประมาณ 4,500 ตัน/ชั่วโมง และสามารถใช้เป็นเครื่องสูบน้ำท้องเรือฉุกเฉินได้เช่นกัน[17]

    ไอน้ำไปขับเคลื่อนกังหันไอน้ำ Parsons แบบขับตรง ในห้องเครื่องยนต์ 3 ห้องแยกกันในระบบ Triple-expansion สำหรับ 4 ใบจักร แบ่งได้ดังนี้: [17]

    • ห้องเครื่องกราบซ้าย มีกังหันแรงดันสูงสำหรับเดินหน้า (หนัก 240 ตัน, ยาว 40 ฟุต 2 นิ้ว (12.2 ม.) พร้อมส่วนขยาย 4 ขั้น) และกังหันสำหรับถอยหลัง (หนัก 120 ตัน, ยาว 22 ฟุต 11 นิ้ว (7.0 ม.)) สำหรับใบจักรซ้าย
    • ห้องเครื่องกลาง มีกังหันแรงดันต่ำ 2 ตัว ที่สามารถเดินหน้าและถอยหลังได้ภายในปลอกเดี่ยว (ยาว 54 ฟุต 3 นิ้ว (16.5 ม.) ส่วนขยาย 9 ขั้นในกังหันเดินหน้า และ 4 ตัวในกังหันถอยหลัง) สำหรับใบจักรกลาง 2 เพลา
    • ห้องเครื่องกราบขวา มีกังหันแรงดันปานกลางสำหรับเดินหน้า (ยาว 41 ฟุต 6.5 นิ้ว (12.7 ม.)) และกังหันแรงดันสูงสำหรับถอยหลัง สำหรับใบจักรขวา[18]

    ระบบไฟฟ้า[แก้]

    ห้องไฟฟ้าตั้งอยู่บนชั้น H ใต้เส้นน้ำลึก ประกอบด้วย เครื่องกำเนิดไฟฟ้า British Westinghouse ขนาด 400 กิโลวัตต์ จำนวน 4 เครื่อง สร้างไฟฟ้ากระแสตรง 225 โวลต์

    ห้องไฟฟ้าฉุกเฉินตั้งอยู่บนชั้น A ประกอบด้วย เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาด 30 กิโลวัตต์ มีไว้สำหรับไฟฉุกเฉินและโทรเลขไร้สายเท่านั้น [19]

    ภายใน[แก้]

    ห้องรับประทานอาหารผู้โดยสารชั้นหนึ่ง

    ในปี ค.ศ. 1914 เรือแอควิเทเนีย สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 3,220 คน (ชั้นหนึ่ง 618 คน ชั้นสอง 614 คน และชั้นสาม 2,004 คน) หลังจากการปรับปรุงในปี 1926 ตัวเลขก็ลดลงเหลือ 610 ในชั้นหนึ่ง 950 ในชั้นสอง และ 640 ในชั้นนักท่องเที่ยว แม้ว่าข้อมูลเดิมจะกล่าวถึงความจุของลูกเรือ 972 คน แต่บางครั้งเรือก็สามารถบรรทุกลูกเรือได้ประมาณ 1,100 คน [8]

    แม้ว่า แอควิเทเนีย จะขาดรูปลักษณ์ที่เพรียวบางเหมือนเรือเพื่อนร่วมวิ่ง ลูซิทาเนีย และ มอริทาเนีย แต่ความยาวที่มากขึ้นและความกว้างที่กว้างขึ้นทำให้ห้องสาธารณะดูโอ่อ่าและกว้างขวางมากขึ้น พื้นที่สาธารณะของเรือได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ อาเธอร์ โจเซฟ เดวิส (Arthur Joseph Davis) จากบริษัทตกแต่งภายใน มิวแยสแอนด์เดวิส (Mewès and Davis) บริษัทนี้ดูแลการก่อสร้างและตกแต่งโรงแรม Ritz ในลอนดอน และเดวิสเองก็เคยออกแบบธนาคารหลายแห่งในเมืองนั้น ชาลส์ มิวแยส (Charles Mewès) หุ้นส่วนของเขาได้ออกแบบการตกแต่งภายในของโรงแรม Paris Ritz และได้รับมอบหมายจาก อัลเบิร์ต บอลลิน (Albert Ballin) จากสายกานเดินเรือฮัมบูร์ก อเมริกา ไลน์ (Hamburg America Line; HAPAG) ของเยอรมนีให้ตกแต่งภายในของเรือ เอสเอส อเมริกา (SS Amerika) ลำใหม่ของบริษัทในปี 1905 [9]

    บันไดแกรนด์ของอาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย

    ในช่วงหลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มิวแยสได้รับมอบหมายให้ตกแต่งเรือลำใหม่ขนาดยักษ์ทั้งสามลำของสายการเดินเรือ HAPAG ได้แก่เรือเอสเอส อิมเพอเรเตอร์, เวเตอร์แลนด์ และบิสมาร์ค ในขณะที่เดวิสได้รับมอบหมายให้ตกแต่งเรือแอควิเทเนีย[9] ในข้อตกลงที่น่าสงสัยระหว่างคิวนาร์ดคู่แข่งกับฮัมบูร์ก-อเมริกา ไลน์ มิวแยสและเดวิสได้แยกกันทำงาน ในเยอรมนีและอังกฤษตามลำดับ โดยที่ทั้งคู่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดงานของเขาให้อีกฝ่ายทราบได้ แต่การตกแต่งภายในชั้นหนึ่งของแอควิเทเนีย ส่วนใหญ่เป็นผลงานของเดวิส ห้องนั่งเล่นสำหรับรับประทานอาหารสไตล์หลุยส์ที่ 16 เป็นผลงานของมิวแยส เป็นไปได้ว่าการทำงานร่วมกันเป็นเวลาหลายปีทำให้งานของนักออกแบบทั้งสองแทบจะใช้แทนกันได้[20]

    ชั้นสองมีห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่นหลายห้อง ห้องสูบบุหรี่ คาเฟ่ และโรงยิม; หลายอย่างเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เหมือนใครสำหรับชั้นนี้บนเรือเดินสมุทรของอังกฤษ ส่วนชั้นที่สามมีพื้นที่ส่วนกลางหลายแห่ง ทางเดิน และห้องน้ำแบบรวมสามห้อง[20] ห้องพักให้ความสะดวกสบายอย่างมาก ชั้นแรกประกอบด้วยห้องสวีทหรูหรา 8 ห้อง ซึ่งตั้งชื่อตามจิตรกรชื่อดัง ห้องพักชั้นหนึ่งจำนวนมากมีห้องน้ำ แม้ว่าจะไม่ได้มีทั้งหมดก็ตาม ห้องโดยสารชั้นสองมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ส่วนใหญ่สามารถรองรับคนได้ 3 คน เมื่อเทียบกับห้องมาตรฐานสี่ห้อง ส่วนที่พักชั้นสามมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมวิ่งของเธอ ในขณะที่เรือเดินสมุทรของคิวนาร์ดส่วนใหญ่มีพื้นที่ชั้นสามที่จำกัดไว้ที่บริเวณส่วนหน้าของเรือ แต่บนเรือแอควิเทเนีย พื้นที่ดังกล่าวจะมีความยาวตลอดความยาวของเรือ รวมถึงพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่หลายห้อง ห้องอาหารขนาดใหญ่ 3 ห้อง และทางเดินทั้งแบบเปิดและปิด[21]

    กว่า 35 ปีในอาชีพการงาน สิ่งอำนวยความสะดวกของเรือได้เปลี่ยนไป ตัวอย่างของสิ่งนี้คือการเพิ่มโรงภาพยนตร์ระหว่างการปรับปรุงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 ถึง 1933[22]

    ช่วงแรกและสงครามโลกครั้งที่ 1[แก้]

    เอชเอ็มเอชเอส แอควิเทเนีย (HMHS Aquitania) ในฐานะเรือพยาบาล ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
    เอชเอ็มที แอควิเทเนีย (HMT Aquitania) ในฐานะเรือลำเลียงพล ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

    วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1914 อาร์เอ็มเอส แอควิเทเนีย ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ ภายใต้คำสั่งของกัปตันวิลเลียม โทมัส เทิร์นเนอร์ (William ThomasTurner) และถึงนครนิวยอร์กในวันที่ 5 มิถุนายน [1][13] การมาถึงนิวยอร์กทำให้เรือลำนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก[23] ในการเดินทางครั้งนี้ เรือได้บรรทุกผู้โดยสารประมาณ 1,055 คน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของความจุทั้งหมด นี่เป็นเพราะความเชื่อโชคลางทำให้บางคนไม่กล้าเดินทางไปกับเรือ[ต้องการอ้างอิง] ความเร็วเฉลี่ยสำหรับการเดินทางระยะทาง 3,181 ไมล์ทะเล (5,891 กม.; 3,661 ไมล์) ซึ่งวัดจากลิเวอร์พูลไปจนถึงเรือทอดสมอที่ช่องแคบแอมโบรส อยู่ที่ 23.1 นอต (42.8 กม./ชม.; 26.6 ไมล์/ชม.) โดยมีการหยุดเรือ 5 ชั่วโมงเนื่องจากมีหมอกและภูเขาน้ำแข็งอยู่ใกล้ ๆ[24] และเรือยังสามารถวิ่งได้เกิน 25 นอตในช่วงสั้น ๆ นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ถ่านหินของเรือยังต่ำกว่าเรือลูซิทาเนีย และมอริทาเนีย อย่างมาก ผู้โดยสารหลายคนรู้สึกสนุกกับการเดินทาง ในการเดินทางกลับ เรือได้บรรทุกผู้โดยสารทั้งหมด 2,649 คน ซึ่งเป็นสถิติสำหรับเรือเดินสมุทรของอังกฤษที่ออกจากนิวยอร์ก[25]

    เมื่อมาถึงท่าเรือหลักของเธอ เธอได้รับการแก้ไขเล็กน้อย ซึ่งคำนึงถึงการสังเกตที่เกิดขึ้นระหว่างการข้ามมหาสมุทรสองครั้งแรก (เป็นเรื่องปกติสำหรับเรือเดินสมุทรหลังจากการเดินทางรอบแรก) [25] มีการเดินทางอีก 2 รอบในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนและตลอดเดือนกรกฎาคมของปีนั้น สถาปนิกของเรือ ลีโอนาร์ด เพสเกตต์ (Leonard Peskett) ได้อยู่บนเรือระหว่างการเดินทางเพื่อสังเกตข้อบกพร่องและสิ่งที่ควรปรับปรุง โดยรวมแล้วมีผู้โดยสารทั้งหมด 11,208 คนเดินทางบนเรือระหว่างการข้ามมหาสมุทร 6 ครั้งแรกของเธอ อาชีพของเธอถูกขัดจังหวะกะทันหันจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้เธอต้องออกจากการบริการผู้โดยสารเป็นเวลา 6 ปี[26]

    ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1914 อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรียถูกลอบปลงพระชนม์ และในไม่ช้าโลกก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เรือแอควิเทเนียถูกดัดแปลงให้เป็นเรือพาณิชย์ลาดตระเวนติดอาวุธในวันที่ 5 สิงหาคม 1914 ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการออกแบบ และได้เริ่มถูกส่งไปลาดตระเวนในวันที่ 8 สิงหาคม

    ในวันที่ 22 สิงหาคม เธอได้ชนกับเรือที่ชื่อ แคนาเดียน หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพเรือก็ตระหนักว่าเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่มีราคาที่สูงเกินไปที่จะใช้งานเป็นเรือลาดตระเวน ในวันที่ 30 กันยายน เธอได้รับซ่อมแซม ปลดอาวุธ และกลับไปประจำการกับคิวนาร์ด ไลน์ดังเดิม[27][4]

    หลังจากไม่ได้ใช้งานมาระยะหนึ่ง ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1915 เธอถูกเรียกตัวโดยกองทัพเรือและดัดแปลงเป็นเรือลำเลียงพล และออกเดินทางไปยังดาร์ดะแนลส์ บางครั้งก็วิ่งคู่กับเรือ บริแทนนิก หรือ มอริทาเนีย ทหารประมาณ 30,000 คนถูกส่งขึ้นเรือไปยังสนามรบระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของปีนั้น[27] ต่อมาเรือแอควิเทเนีย ถูกดัดแปลงเป็นเรือพยาบาลในระหว่างการทัพดาร์ดะแนลส์ [1][28] ในปี 1916 ซึ่งเป็นปีที่เรือธงของไวต์สตาร์ และหนึ่งในคู่แข่งหลักของ แอควิเทเนีย คือ บริแทนนิก ได้อับปางลง แอควิเทเนีย ถูกส่งกลับไปยังแนวรบ และในปี 1917 ก็ถูกนำไปจอดที่โซเลนท์ [1][29]

    ในปี 1918 ภายใต้การคำสั่งของกัปตันเรือคนใหม่ เจมส์ ชาร์ลส์ (James Charles) เรือลำนี้ได้กลับมาขนส่งทหาร โดยลำเลียงกองทหารอเมริกาเหนือไปยังอังกฤษ และยังมีการทาสีลายพรางให้กับเรือ หรือลายพรางแบบ Dazzle

    ในระหว่างการเดินทาง 9 ครั้ง เรือได้ขนส่งทหารไปทั้งหมดประมาณ 60,000 คน ในช่วงเวลานี้ แอควิเทเนีย ได้ชนกับเรือ ยูเอสเอส ชอว์ (USS Shaw) ทำให้หัวเรือขาดออกจากกัน อุบัติเหตุดังกล่าวคร่าชีวิตลูกเรือชาวอเมริกันไปหลายสิบคน [30]

    หลังสิ้นสุดสงคราม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 เรือแอควิเทเนีย ถูกปลดประจำการจากราชการทหาร เธอชนกับเรือบรรทุกสินค้า ลอร์ดดัฟเฟริน (Lord Dufferin) ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 ทำให้เรือลอร์ดดัฟเฟรินอับปาง และเรือแอควิเทเนีย ก็ได้ช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเรือที่อับปาง[31]

    หลังสงครามโลกครั้งที่ 1[แก้]

    ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1919 แอควิเทเนีย ได้เทียบท่าที่อู่เรืออาร์มสตรอง วิทเวิร์ธ (Armstrong Whitworth yards) ในนิวคาสเซิล เพื่อเตรียมเข้าประจำการหลังสงคราม เรือถูกเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากการใช้ถ่านหินมาเป็นการใช้น้ำมัน ซึ่งช่วยลดจำนวนลูกเรือในห้องเครื่องลงได้มาก[1][32] อุปกรณ์ส่วนควบและชิ้นงานศิลปะดั้งเดิมที่ถูกถอดออกเพื่อใช้ในกองทัพ ถูกนำออกจากที่เก็บและติดตั้งใหม่ ในช่วงเวลานี้ ห้องควบคุมเรือแห่งใหม่ถูกสร้างขึ้นเหนือของเดิม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้บ่นเกี่ยวกับทัศนวิสัยเหนือหัวเรือ ห้องควบคุมเรือหลังที่สองสามารถเห็นได้ในภาพต่อๆ มาของยุคนั้น และหน้าต่างของห้องควบคุมเดิมด้านล่างถูกปิดไว้ [33]

    ทศวรรษที่ 1920[แก้]

    แอควิเทเนีย หลังจากการปรับปรุงในปี 1920

    แอควิเทเนีย กลับมาให้บริการเชิงพาณิชย์อีกครั้งในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1920 โดยออกเดินทางจากลิเวอร์พูลพร้อมผู้โดยสาร 2,433 คน การข้ามมหาสมุทรประสบความสำเร็จ เรือรักษาความเร็วได้ดี และแสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงนั้นถูกกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมาก[34] การมาถึงท่าเรือนิวยอร์กของเรือถูกถ่ายทำโดยเป็นส่วนหนึ่งของสารคดีเรื่องแมนฮัตต้า (Manhatta) ในปี 1921 ซึ่งเห็นตอนที่เรือถูกลากไปยังท่าเรือด้วยเรือลากจูง[35] ในช่วงต้นทศวรรษ แอควิเทเนีย เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เพียงลำเดียวที่ให้บริการของคิวนาร์ด ไลน์ เนื่องจากเรือมอริทาเนีย อยู่ระหว่างการซ่อมแซมหลังจากเกิดไฟไหม้ ปี ค.ศ. 1922 จึงเป็นปีพิเศษสำหรับเธอ และได้ทำลายสถิติด้วยการขนส่งผู้โดยสารประมาณ 60,000 คนในปีนั้น[36] ในปีต่อมา มอริทาเนีย กลับมาวิ่งร่วมกับเธออีกครั้ง

    แอควิเทเนีย วิ่งให้บริการร่วมกับ มอริทาเนีย และ เบเรนกาเรีย (เดิมคือเรือเอสเอส อิมเพอเรเตอร์ ของเยอรมัน) เป็นที่รู้จักกันในนาม "เดอะบิ๊กทรี" ("The Big Three")[4][37]

    ในปี ค.ศ. 1924 ได้มีการออกข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองในสหรัฐอเมริกา ทำให้จำนวนผู้โดยสารชั้นสามลดลงอย่างมาก จากประมาณ 26,000 คนที่ถูกขนส่งโดย แอควิเทเนีย ในปี 1921 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือประมาณ 8,200 คน ในปี 1925 จำนวนลูกเรือจึงลดลงเหลือประมาณ 850 คนจากเดิม 1,200 คน[37] ชั้นสามไม่ได้เป็นกุญแจสำคัญในการทำกำไรของบริษัทอีกต่อไป ดังนั้นบริษัทจึงต้องปรับจากชั้นสามให้กลายเป็นชั้นท่องเที่ยวซึ่งให้บริการที่ดีในราคาต่ำ ในปีค.ศ. 1926 เรือได้รับการยกเครื่องครั้งใหญ่ ซึ่งลดความจุผู้โดยสารจากประมาณ 3,300 คนเป็นประมาณ 2,200 คน[38]

    ถึงกระนั้น คิวนาร์ด ไลน์ ก็ได้รับประโยชน์จากข้อห้ามในสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มต้นในปี 1919 คือเรือเดินสมุทรที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา จะไม่สามารถเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนเรือได้ ดังนั้นผู้โดยสารที่ต้องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องเดินทางด้วยเรือเดินสมุทรของอังกฤษเพื่อทำเช่นนั้น[39]

    แอควิเทเนีย ประสบความสำเร็จอย่างมาก และได้สร้างผลกำไรให้กับคิวนาร์ดมหาศาล ในปี ค.ศ. 1929 เรือก็ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ มีการเพิ่มห้องน้ำในห้องพักชั้นหนึ่งหลายห้อง และชั้นนักท่องเที่ยวได้รับการปรับปรุงใหม่[40]

    วิกฤตการณ์ปี 1929 และผลที่ตามมา[แก้]

    หลังจากสภาวะตลาดหุ้นล้มในปี 1929 เรือหลายลำได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตอนนี้มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะสามารถจ่ายค่าเดินทางแพงๆ ได้ ดังนั้นคิวนาร์ดจึงส่ง แอควิเทเนีย ไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อให้บริการล่องเรือราคาถูก สิ่งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวอเมริกันที่ไป "ล่องเรือดื่มเหล้า" ซึ่งเบื่อหน่ายกับข้อห้ามของประเทศตน [41] ปัญหาอีกอย่างก็เกิดขึ้นคือ เรือเดินสมุทร เอสเอส เบรเมน (SS Bremen) และ เอสเอส ยูโรป้า (SS Europa) ของสายการเดินเรือนอร์ทดอยท์เชอร์ล็อยท์ ได้แย่งรางวัลบลูริบบันด์และลูกค้าจำนวนมากได้สำเร็จ[42] ในปี 1934 จำนวนผู้โดยสารของแอควิเทเนีย ลดลงเหลือประมาณ 13,000 คน จาก 30,000 คนในปี 1929 [43] อย่างไรก็ตาม เรือลำนี้ยังคงได้รับความนิยม และยังเป็นเรือที่มีผู้โดยสารมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 รองจากเรือเดินสมุทรของเยอรมันสองลำนี้[41]

    เพื่อให้เรือทันสมัย จึงได้ทำการเพิ่มโรงภาพยนตร์เข้าไประหว่างปี 1932 และ 1933 ในขณะเดียวกัน เพื่อปรับปรุงกองเรือให้ทันสมัย ​​คิวนาร์ดได้สั่งต่อเรือควีนแมรี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้บริษัทไม่สามารถจัดหาเงินทุนในการก่อสร้างได้อย่างเต็มที่ และบริษัทได้ควบรวมกิจการกับบริษัทคู่แข่งอย่างไวต์สตาร์ไลน์ ในปี 1934 เพื่อดำเนินการดังกล่าว [44] หลังจากการควบรวมกิจการ ส่งผลให้มีเรือส่วนเกินจำนวนมากที่เป็นเจ้าของโดยบริษัทเดียวมาก่อน ดังนั้นเรือที่มีอายุมาก เช่น มอริทาเนีย และ โอลิมปิก ได้ถูกปลดระวางทันทีและถูกส่งไปขายเพื่อแยกชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม แอควิเทเนีย ไม่ได้ถูกปลดระวางแม้ว่าจะเรือจะมีอายุมากก็ตาม [45] ต่อมาเมื่อเรือเดินสมุทรลำใหม่ อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ (RMS Queen Elizabeth) มีกำหนดเข้าประจำการในปี 1940 หนังสือพิมพ์คาดการณ์ว่าเรือแอควิเทเนีย จะถูกปลดระวางในปีนั้น อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้น การให้บริการของเธอยังคงสร้างความพึงพอใจให้กับบริษัท และในปี ค.ศ. 1935 มีจำนวนผู้โดยสารที่ร่ำรวยเพิ่มขึ้นบนเรือ ในขณะที่เรือลำนี้มีอายุ 26 ปีแล้ว[46]

    สงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]

    หลังสงครามโลกครั้งที่สองและการเกษียณอายุ[แก้]

    อ้างอิง[แก้]

    1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 Pocock, Michael. "MaritimeQuest – Aquitania (1914) Builder's Data". www.maritimequest.com. สืบค้นเมื่อ 6 April 2018.
    2. "HMS Aquitania". Scottish Built Ships: the history of shipbuilding in Scotland. Caledonian Maritime Research Trust. สืบค้นเมื่อ 27 July 2017.
    3. Chirnside 2008, p. 8.
    4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 "TGOL – Aquitania". thegreatoceanliners.com. สืบค้นเมื่อ 12 June 2021.
    5. 5.0 5.1 "'Aquitania (1914 – 1950 ; 45,674 tons ; Served in two World Wars)". chriscunard.com. 2009. สืบค้นเมื่อ 11 January 2009.
    6. Le Goff 1998, p. 37
    7. Le Goff 1998, p. 33
    8. 8.0 8.1 Chirnside 2008, p. 8
    9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 Chirnside 2008, p. 13
    10. "About QE2". สืบค้นเมื่อ 2009-05-02. Queen Elizabeth 2 : About QE2 : General Information. Retrieved 2 May 2009
    11. Piouffre 2009, p. 52.
    12. Chirnside 2008, p. 14
    13. 13.0 13.1 International Marine Engineering & (July 1914), p. 277.
    14. Chirnside 2008, p. 19
    15. Chirnside 2008, pp. 58–59
    16. Chirnside 2008, p. 40
    17. 17.0 17.1 17.2 International Marine Engineering & (July 1914), p. 282.
    18. Chirnside 2008, pp. 14–15
    19. International Marine Engineering & (July 1914), p. 283.
    20. 20.0 20.1 Chirnside 2008, p. 10
    21. Chirnside 2008, p. 88
    22. Aquitania, Down the Years, Mark Chirnside's Reception Room. Accesses 24 February 2013
    23. Newspaper articles heralding the new ship on her maiden trip to New York
    24. THE DETROIT TIMES 'Aquitania' Sets New Record For Ocean Passage' June 5 1914
    25. 25.0 25.1 Chirnside 2008, p. 23
    26. THE PINE BLUFF DAILY GRAPHIC; "Government Assumes Control of Aquitania For Transport Purposes" July 31, 1914
    27. 27.0 27.1 Chirnside 2008, p. 27
    28. Le Goff 1998, p. 55
    29. Chirnside 2008, p. 33
    30. Chirnside 2008, p. 34
    31. "Lord Reading's ship in collision". The Times. No. 42038. London. 3 March 1919. col E, p. 10.
    32. Le Goff 1998, p. 54
    33. Chirnside 2008, p. 35
    34. Chirnside 2008, p. 36
    35. Chirnside 2008, p. 42
    36. Chirnside 2008, p. 44
    37. 37.0 37.1 Chirnside 2008, p. 43
    38. Chirnside 2008, p. 49
    39. Chirnside 2008, p. 51
    40. Chirnside 2008, p. 52
    41. 41.0 41.1 Chirnside 2008, p. 62
    42. Le Goff 1998, p. 73
    43. Chirnside 2008, p. 91
    44. Chirnside 2008, p. 64
    45. Chirnside 2008, p. 66
    46. Chirnside 2008, p. 67