อสุรกายดงดิบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อสุรกายดงดิบ
ประเภท
สร้างโดย
กำกับโดย
แสดงนำ
ผู้ประพันธ์เพลงไมเคิล จิแอชชิโน
ประเทศแหล่งกำเนิด สหรัฐ
ภาษาต้นฉบับภาษาอังกฤษ
จำนวนฤดูกาล6
จำนวนตอน121
การผลิต
ผู้อำนวยการผลิตเจ.เจ. แอบรัมส์
เดมอน ลินเดลอฟ
ไบรอัน เบิร์ก
แจ็ก เบนเดอร์
คาร์ลตัน คิวส์
สถานที่ถ่ายทำเกาะโอวาฮู รัฐฮาวาย
ความยาวตอนเฉลี่ย 43 นาที
ออกอากาศ
เครือข่ายเอบีซี
ออกอากาศ22 กันยายน ค.ศ. 2004 (2004-09-22) –
23 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 (2010-05-23)

อสุรกายดงดิบ (อังกฤษ: Lost) หรือ ปริศนาป่ามรณะ เป็นซีรีส์อเมริกันแนวดราม่า ที่มีเนื้อหากล่าวถึงผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก บนเกาะลึกลับ บนเส้นทางบินสักแห่งระหว่างซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กับลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ตกในแปซิฟิกใต้ ในแต่ละตอนจะมีเนื้อหาหลักเป็นเรื่องบนเกาะ เนื้อหารองเป็นเรื่องชีวิตของตัวละครแต่ละคน รายการสร้างสรรค์โดยเดมอน ลินเดลอฟ, เจ. เจ. แอบรัมส์ และเจฟฟรีย์ ลีเบอร์ สถานที่ถ่ายทำหลักที่เกาะโอวาฮู รัฐฮาวาย[1] ตอนแรกที่ออกฉายชื่อ "The pilot" เมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 2004[2] หลังจากนั้นออกอากาศจนฤดูกาลที่ 4 รายการผลิตโดย เอบีซีสตูดิโอส์, แบดโรบอตโปรดักชันส์และกราสส์สเกิร์ตโปรดักชัน ออกอากาศทางช่องเอบีซีในสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยออกอากาศทางช่องเอเอ็กซ์เอ็น 17 มีนาคม ค.ศ. 2005[3] เพลงประกอบภาพยนตร์ประพันธ์โดยไมเคิล จิแอชชิโน ผู้อำนวยการสร้างปัจจุบันคือ แอบรัมส์, ลินเดลอฟ, ไบรอัน เบิร์ก, แจ็ก เบนเดอร์ และคาร์ตัน คิวส์[4] และเนื่องจากมีตัวละครจำนวนมากและค่าถ่ายทำที่ฮาวาย ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์ที่ลงทุนในการผลิตมากที่สุดในรายการโทรทัศน์[5]

ในส่วนของคำวิจารณ์และความสำเร็จ อสุรกายดงดิบ มียอดผู้ชมเฉลี่ย 16 ล้านคนต่อตอนบนช่องเอบีซีตั้งแต่ในปีแรก และได้รับรางวัลมาหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นรางวัลเอมมีสาขาดราม่าในปี 2005[6] รายการอเมริกานำเข้าจากบาฟต้าเทลิวิชันอวอร์ดสในปี 2005 รางวัลลูกโลกทองคำสาขาดราม่าซีรีส์ยอดเยี่ยมในปี 2006 และสกรีนแอกเตอร์สไกด์สำหรับซีรีส์ดราม่ายอดเยี่ยม

ฐานแฟนคลับก็มีมากมาย จนรายการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยมในอเมริกา ที่มีการนำเนื้อเรื่อง องค์ประกอบที่คล้าย ๆ กันไปใช้ในรายการโทรทัศน์อื่น[7] โฆษณา หนังสือการ์ตูน[8] การ์ตูนบนเว็บไซต์ นิตยสารขำขัน วิดีโอเกม[9][10] และเนื้อเพลง นอกจากนี้ยังมีคนแต่งบทประพันธ์ใหม่ เนื้อเรื่องใหม่บนเว็บบอร์ดและวิดีโอเกม และเกมประเภทอัลเทอร์เนทีฟเรียลลิตี้ อย่าง The Lost Experience และ Find 815[11]

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 มีการประกาศมาว่า อสุรกายดงดิบ จะมีการสร้างต่อในฤดูกาลที่ 4,5 และ 6 รวมทั้งสิ้น 121 ตอนตั้งแต่เริ่มผลิตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 ใน 3 ฤดูกาลสุดท้ายนี้จะมี 16 ตอนต่อฤดูกาล ต่อเนื่องกันทุกสัปดาห์โดย อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการประท้วงของนักเขียนในสหรัฐอเมริกา ทำให้ในฤดูกาลที่ 4 จะเหลือ 14 ตอน รวม 3 ชั่วโมงสรุปฤดูกาล[12] ในฤดูกาลที่ 4 ออกฉายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2008 และจบเมื่อ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 นอกจากนี้ทางเอบีซีตัดสินใจขยายใน 2 ฤดูกาลสุดท้ายโดยการเพิ่มตอนที่ 17 ในฤดูกาลที่เหลือ[13] อสุรกายดงดิบ จบลงที่ฤดูกาบที่ 6 กับตอนที่ 121 และตอนสุดท้ายออกอากาศวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2010

การผลิต[แก้]

แนวคิด[แก้]

เริ่มมีการพัฒนาแนวคิด อสุรกายดงดิบ ขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2004 เมื่อลอยด์ เบราน์ หัวหน้าของเอบีซีขณะนั้น สั่งให้ทางสเปลลิงเทเลวิชันเริ่มเขียนบทโดยยึดแนวความคิดหลาย ๆ เรื่องจากนิยาย Lord of the Flies ภาพยนตร์ Cast Away ซีรีส์ทางโทรทัศน์เรื่อง Gilligan's Island และรายการเรียลลิตี้ยอดนิยม เซอร์ไวเวอร์ แกดิ พอลแล็กอธิบายว่า "อิทธิพลของ อสุรกายดงดิบ มาจากเกม Myst"[14] เจฟฟรีย์ ลีเบอร์ถูกจ้างให้มาเขียนบทในชื่อ Nowhere ให้เป็นฐานในตอนแรกของซีรีส์[15] แต่ก็ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจและถูกนำมาเขียนใหม่ภายหลัง เบราน์ติดต่อเจ. เจ. แอบรัมส์ ที่ร่วมงานกับทัชสโตนเทเลวิชัน (ต่อมาคือ เอบีซีสตูดิโอ) และยังเป็นผู้สร้างซีรีส์โทรทัศน์ Alias ให้เขามาเขียนบทตอนแรกใหม่ ถึงแม้ว่าแรกเดิมจะลังเลอยู่ แอบรัมส์ก็เริ่มแนวคิดในเงื่อนไขของซีรีส์ที่จะให้เป็นในมุมเรื่องลึกลับ เขาได้ร่วมงานกับเดมอน ลินเดลอฟในการร่วมคิดแนวทางและตัวละครของเรื่อง[16] ทั้งแอบรัมส์และลินเดลอฟร่วมกันเขียนคู่มือของซีรีส์ขึ้นและคิดและสร้างรายละเอียดหลักของแนวความคิดของเรื่องและประเด็นเนื้อหาของแนวความคิดตลอด 5 ถึง 6 ฤดูกาลของรายการ[17][18] การพัฒนาถูกบีบด้วยเส้นตายที่เร่งรีบ ที่จะต้องเสร็จปลายปี 2004 ถึงแม้ว่าตารางงานอันสั้นนี้ ทีมสร้างก็ยังคงความยืดหยุ่นและดัดแปลงตัวละครให้เหมาะกับตัวละครที่เขาหวังได้[19]

ตอนเปิดตัวสองตอนของ อสุรกายดงดิบ ถือว่าเป็นตอนที่แพงที่สุดของประวัติศาสตร์ มีการรายงานว่าใช้เงินระหว่าง 10-14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[20] เมื่อเทียบกับตอนเปิดตัวของซีรีส์ในปี 2005 ที่ตกอยู่ราว 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[21] ซีรีส์เปิดตัวเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 2004 ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีและประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจในฤดูกาลโทรทัศน์ของปี 2004 เช่นเดียวกับซีรีส์ใหม่ ๆ อย่าง Desperate Housewives และ Grey's Anatomy ที่ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน อสุรกายดงดิบ ยังช่วยต่อโชคให้กับสถานีเอบีซี[22] แต่ก่อนที่จะได้ออกอากาศนั้น ลอยด์ เบราน์ถูกไล่ออกจากตำแหน่งที่บริษัทเครือเอบีซี เพราะทำเรตติ้งต่ำให้กับสถานีและเพราะให้ไฟเขียวกับโครงการนี้ที่แพงและเสี่ยง[16] รอบปฐมทัศน์โลกของตอนเปิดตัวฉายเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 ที่งานคอมิกคออินเตอร์เนชันแนล ในแซนดีเอโก[23]

รูปแบบตอน[แก้]

ตอนส่วนใหญ่ของเรื่องจะมีโครงสร้างที่ชัดเจน เริ่มจากภาพสรุปเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องของตอนที่จะเล่าเรื่อง โดยมากแต่ละตอนมักจะถ่ายเข้าไปที่ตาของตัวละคร พอถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการสรุปจะตัดไปที่พื้นสีดำที่มีตัวหนังสือ "Lost" เขียน เป็นภาพเบลอนอกโฟกัส เลื่อนเข้าผ่านคนดู คลอไปด้วยเสียงในลักษณะลางร้าย แปร่งหู เริ่มต้นกับรายชื่อผู้มีส่วนร่วมงานโดยเรียงตามอักษรของนามสกุลขณะดำเนินเรื่อง (รายชื่อจะวิ่งก่อนจะเข้าไตเติล) ขณะที่เรื่องราวดำเนินต่อไป แต่ละตอนจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นอกเกาะที่มีภาพย้อนหลังและเหตุการณ์อนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่แต่ละตัวละคร ตอนแต่ละตอนส่วนใหญ่จะจบลบด้วยปมปริศนาที่ค้างคาใจ เผยในวินาทีสำคัญก่อนที่จะตัดจบลบไปด้วยไตเติลกราฟิกรายการ นอกจากนี้ในส่วนอื่น การแก้ปัญหาเรื่องเนื้อเรื่อง จะจบฉากนั้นด้วยการค่อย ๆ เป็นสีดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากเศร้าสลด เสียงดนตรีดังไปพร้อมกับไตเติลกราฟิกรายการจะเงียบลง เพิ่มรายละเอียดให้เหตุการณ์มากขึ้น

ดนตรี[แก้]

ดนตรีออร์เคสตราประกอบของ อสุรกายดงดิบ คือวงฮอลลีวูสตูดิโอซิมโฟนีออร์เคสตราและประพันธ์โดยไมเคิล จิแอชชิโน ในหลากหลายธีมของเนื้อเรื่อง เหตุการณ์ สถานที่และตัวละคร จิแอชชิโนอธิบายว่าเสียงของเพลงประกอบใช้เครื่องดนตรีที่แปลกแตกต่างไปอย่างเช่น เสียงปะทะของชิ้นส่วนลำตัวเครื่องบิน[24] ในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2006 ค่ายเพลง Varèse Sarabande ออกอัลบั้มเพลงประกอบซีรีส์โทรทัศน์ อสุรกายดงดิบ ของฤดูกาลแรก[25] อัลบั้มเพลงประกอบยังมีเพลงธีมในรูปแบบเต็ม ที่เป็นไตเติลรายการหลัก แต่งโดยผู้สร้างซีรีส์ เจ. เจ. แอบรัมส์[25] Varèse Sarabande ยังออกอัลบั้มเพลงประกอบในฤดูกาลที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2006[26] อัลบั้มเพลงประกอบฤดูกาลที่ 3 ออกวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 และฤดูกาลที่ 4 ออกเมื่อ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2009

ซีรีส์เรื่องนี้มีการใช้เพลงวัฒนธรรมป็อปมาใช้บ้าง แต่โดยมากใช้ดนตรีบรรเลงแบบออร์เคสตรา เมื่อมีการใช้เพลงป็อป จะใช้ในลักษณะมาจากกล่องดนตรี ตัวอย่างเช่นหลายเพลงที่เล่นบนเครื่องเล่นซีดีพกพาของเฮอร์เลย์ จะเล่นในฤดูกาลแรก (จนเมื่อแบตเตอรีหมดในตอนที่ชื่อ"...In Translation") ที่มีเพลงอย่าง "Wash Away" ของโจ เพอร์ดี หรือมีการใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงในฤดูกาลที่ 2 ที่มีเพลง "Make Your Own Kind of Music" ของแคส เอลเลียต และเพลง "Downtown" ของเพทูลา คลาร์ก เล่นในตอนแรกของฤดูกาลที่ 2 และ 3 ตามลำดับ มีสองตอนที่ชาร์ลีแสดงบนหัวมุมถนนโดยเล่นกีตาร์และร้องเพลงของวงโอเอซิสเพลง "Wonderwall" ในตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 3 แจ็กขับรถบนถนนกำลังฟังเพลง "Scentless Apprentice" ของเนอร์วาน่า และในตอนสุดท้ายในฤดูกาลที่ 4 แจ็กมาถึงก็ฟังเพลง "Gouge Away" ของวงพิกซีส์ ในฤดูกาลที่ 3 ยังเล่นเพลง "Shambala" ของทรีด็อกไนต์ถึง 2 ครั้งในรถแวน และมีเพลงป็อปเพียง 2 เพลงที่เล่นโดยไม่ได้มาจากวิทยุ (ไม่มีแหล่งที่มา) คือเพลง "Slowly" ของแอน-มาร์เกรต ในตอนที่ชื่อ "I Do" และ "I Shall Not Walk Alone" เขียนโดยเบน ฮาร์เปอร์ นำมาทำใหม่โดยวงเดอะไบลนด์บอยส์ออฟอะแลบามา ในตอน "Confidence Man" ส่วนเพลงอื่นที่ใช้ในการออกอากาศนานาชาติ เช่นในญี่ปุ่น ธีมเพลงในแต่ละฤดูกาลใช้เพลงที่แตกต่างกันเพลงเช่น ในฤดูกาลแรกใช้เพลง "Here I Am" ของวงเคมิสทรี ฤดูกาลที่ 2 ใช้เพลง "Losin'" ของยูนะ อิโตะ และฤดูกาลที่ 3 ใช้เพลง "Fire Walk With Me" ของ Fantômas

สถานที่ถ่ายทำ[แก้]

ท่าจอดเรือในฮาวาย ที่เห็นในตอน "Live Together, Die Alone"

อสุรกายดงดิบ ถ่ายทำโดยใช้กล้องพานาวิชัน 35 มม. ส่วนใหญ่ถ่ายทำบนเกาะโอวาฮู รัฐฮาวาย ตอนแรกถ่ายทำที่หาดโมกูเลเอีย ใกล้กับปลายตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ ต่อมาฉากหาดถ่ายทำในชายหาดที่ไม่มีคนของนอร์ธชอร์ ฉากถ้ำของฤดูกาลแรกถ่ายทำในฉากที่สร้างขึ้นในโรงเก็บของซีรอกซ์ ที่เคยว่างมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ยิงกันตายของลูกจ้างในปี 1999[27] ทีมงานซาวด์สเตจและทีมโปรดักชันได้ย้ายสำนักงานไปยังสำนักงานฮาวายฟิล์ม ดำเนินงานกับฮาวายฟิล์มสตูดิโอ[28] ที่เห็นได้ในตอน "Swan Station" ของฤดูกาลที่ 2 และ "Hydra Station" ของฤดูกาลที่ 3 ที่ได้สร้างฉากตกแต่งภายในด้วย[29] มีหลายที่ในเมืองโฮโนลูลู ได้ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำแทนหลายที่ทั่วโลก อย่างแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก ไอโอวา ไมแอมี เกาหลีใต้ อิรัก ไนจีเรีย สหราชอาณาจักร ปารีส ประเทศไทย เบอร์ลินและออสเตรเลีย อย่างเช่นฉากสนามบินซิดนีย์ ถ่ายทำที่ฮาวายคอนเวนชันเซนเตอร์ ขณะที่บังเกอร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็ใช้เป็นฉากทหารอีรัก เช่นเดียวกันกับฉากฤดูหนาวในเยอรมนีก็ถ่ายทำในละแวกฮาวายเช่นกัน โดยนำน้ำแข็งโปรยไปทั่วบริเวณเพื่อให้เป็นหิมะและใช้ป้ายทะเบียนรถเยอรมันของรถบนถนน[30] มีหลายฉากในตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 3 "Through the Looking Glass" ถ่ายทำในลอสแอนเจลิส รวมถึงโรงพยาบาลที่ยืมมาจากเรื่อง Grey's Anatomy สองฉากในฤดูกาลที่ 4 ถ่ายทำในลอนดอนเพราะอลัน เดล ที่แสดงเป็นวิดมอร์อยู่ในช่วงที่แสดงละครเพลงเรื่อง Spamalot ไม่สามารถมาฮาวายได้[31]

การออกฉายออนไลน์[แก้]

นอกจากที่จะออกฉายทางฟรีทีวีและเผยแพร่ผ่านดาวเทียมแล้ว อสุรกายดงดิบ ยังเป็นแถวหน้าในการใช้วิธีเผยแพร่แบบใหม่ โดยถือว่าเป็นซีรีส์เรื่องแรกที่มีในร้านดนตรีไอทูนส์ของแอปเปิล คอมพิวเตอร์ สามารถเล่นได้ในเครื่องไอพอดหรือซอฟต์แวร์ของทางไอทูนส์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 ตอนใหม่ ๆ ที่ไม่มีโฆษณาสามารถมีให้ดาวน์โหลดในวันที่ออกอากาศหลังออกอากาศทางช่องเอบีซี สำหรับผู้ชมชาวอเมริกัน และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 2007 อสุรกายดงดิบ ก็ถือเป็นรายการโทรทัศน์รายการเดียวที่มีให้ดาวน์โหลดในร้านของสหราชอาณาจักร และตั้งแต่ออกอากาศในฤดูกาลที่ 4 ในสหราชอาณาจักร ตอนต่าง ๆ ของ อสุรกายดงดิบ ก็มีอยู่ในเว็บไซต์ของสกายวันในวันจันทร์หลังจากที่ออกอากาศวันอาทิตย์[32] และในเยอรมนี อสุรกายดงดิบ ก็ถือเป็นรายการโทรทัศน์รายการแรกที่มีอยู่ในร้านดนตรีไอทูนส์ของเยอรมนี[33]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2006 ดิสนีย์ประกาศมาว่า อสุรกายดงดิบ สามารถดูได้ฟรีในรูปแบบสตรีมมิง แต่มีโฆษณาของเว็บไซต์เอบีซี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธในอนาคตของการเผยแพร่แบบทดลองเป็นระยะเวลา 2 เดือน การทดลองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ค.ศ. 2006 เป็นเหตุกระตุ้นช่องที่กลัวจะถูกตัดงบโฆษณาออก การสตรีมมิงตอนของ อสุรกายดงดิบ ทำโดยตรงโดยเว็บไซต์ของเอบีซี ซึ่งอนุญาตให้ดูได้เฉพาะผู้ชมในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากติดปัญหาการตกลงเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ[34][35] เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 ทุกตอนของฤดูกาลที่ 1-4 มีฉายในรูปแบบสตรีมมิงความละเอียดสูง แต่สำหรับผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์และแอปเปิล ตอนใหม่ ๆ จะมีให้ชมในวันนั้นหลังจากออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ ผู้ชมต้องรับชมโฆษณาก่อนเป็นความยาว 5 หรือ 30 วินาที ก่อนที่จะเข้าสู่ตอนของเรื่อง โฆษณาที่ปรากฏทับกราฟิกโฆษณาด้วยวิดีโอเล็ก ๆ และมักจะเป็นโฆษณาดัง ต่อมาในปี 2009 อสุรกายดงดิบ ถือเป็นรายการที่ถูกรับชมมากที่สุดบนอินเทอร์เน็ตของผู้ชมทางเว็บไซต์ของเอบีซี บริษัทนีลเซนสำรวจข้อมูล รายงานว่าผู้ชม 1.425 ล้านคน (ไม่ซ้ำกัน) ดูอย่างน้อย 1 ตอนบนเว็บไซต์เอบีซีนี้[36]

ตอนต่าง ๆ จากทั้งฤดูกาลแรกและฤดูกาลที่สอง มีให้ชมทางเว็บไซต์แชนเนลโฟร์ในสหราชอาณาจักร แต่ได้หมดไปแล้ว[37] ทั้งสองส่วนของตอน "Pilot" มีให้ชมฟรี ส่วนตอนอื่นต้องจ่าย 0.99 ปอนด์ในการรับชม เนื่องจากติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ การชมจึงสามารถรับชมเฉพาะผู้ใช้ในสหราชอาณาจักร เวอร์จินมีเดียมีตอนต่าง ๆ ในสามฤดูกาลแรกแบบตามขอผ่านทาง "ทีวีชอยซ์ออนดีมานด์" ผู้ชมสามารถรับชมที่ความละเอียดสูงหรือความละเอียดมาตรฐานได้ ล่าสุดมีเพียงฤดูกาลที่สองและสามเท่านั้น ส่วนตอนทั้งหมดมีให้ฟรีสำหรับผู้สมัครเวอร์จินมีเดีย เมื่อ 25 พฤศจิกายน ตอนต่าง ๆ ของ อสุรกายดงดิบ มีผ่านทางบริการวีโอดีของสกายเอนีไทม์ ผู้ใช้ที่สมัครอย่างถูกต้องของสกายสามารถดาวน์โหลดตอนของ อสุรกายดงดิบ ได้ฟรี อย่างไรก็ตาม ก็ได้ยกเลิกไปแล้วเช่นกัน สำหรับผู้ใช้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสกาย สามารถจ่ายล่วงหน้าในการแลกเปลี่ยนการรับชมตอนของเรื่องได้ ส่วนเว็บไซต์อื่นที่เผยแพร่อย่างเช่น เว็บไซต์ทีเอฟวันของฝรั่งเศส[38] เอโอแอล วิดีโอ[39] เอกซ์บอกซ์ไลฟ์ของไมโครซอฟท์[40] และฮอต วีโอดี ของอิสราเอล

การออกในรูปแบบดีวีดีและบลูเรย์[แก้]

ฤดูกาลแรกของ อสุรกายดงดิบ ออกในรูปแบบดีวีดีภายใต้ชื่อ Lost: The Complete First Season เป็นบอกซ์เซต มีจำนวน 7 แผ่น ไวด์สกรีน โซน 1 ออกขายในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 6 กันยายน ค.ศ. 2005 สองอาทิตย์หลังจากปฐมทัศน์ฤดูกาลที่ 2 จัดจำหน่ายโดยบัวนาวิสตาโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ นอกจากตอนทั้งหมดที่ออกอากาศแล้ว ยังมีดีวีดีพิเศษอย่างเช่น คำบรรยายแต่ละตอน เบื้องหลังการถ่ายทำ การทำงาน เช่นเดียวกับฉากที่ถูกลบออกไป โดยฉายสลับฉายจริงกับที่หลุดคิว และต่อมาออกวางขายรูปแบบเดียวกันโซน 4 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 และโซน 2 เมื่อ 16 มกราคม ค.ศ. 2006 สำหรับการออกในโซน 2 ในการออกในรูปแบบมาตรฐานทั่วไป จะแบ่งออกเป็นสองส่วนเป็นครั้งแรก ส่วนแรกเป็น 12 ตอนแรกของซีรีส์ มี 4 แผ่น ไวด์สกรีน เป็นดีวีดีบอกซ์เซต ขายเมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ขณะที่อีก 13 ออกขายวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2006 ส่วนโซน 1 ก็ออกขายแบบแยกส่วนเป็น 2 บอกซ์เซตเหมือนกัน ในสองฤดูกาลแรกออกขายในรูปแบบบลูเรย์ เมื่อ 16 มิถุนายน ค.ศ. 2009[41]

ฤดูกาลที่สอง ออกวางขายในชื่อ Lost: The Complete Second Season - The Extended Experience เป็นบอกซ์เซต มีจำนวน 7 แผ่น ไวด์สกรีน โซน 1 ออกวาขายในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 5 กันยายน ค.ศ. 2006 และดีวีดีโซน 2 เมื่อ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2006 ทั้ง 2 แบบมีดีวีดีพิเศษอยู่ด้วย ที่มีฉากเบื้องหลัง ฉากที่ถูกลบ และตาราง "Lost Connections" ที่แสดงความเชื่อมโยงของตัวละครบนเกาะและความสัมพันธ์ต่อกันด้วย[42] เช่นเดียวกัน ซีรีส์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำหรับโซน 2 โดย 12 ตอนแรกออกขายในรูปแบบบอกซ์เซต 4 แผ่น ไวด์สกรีน ออกขายเมื่อ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 ขณะที่ตอนที่เหลือของซีรีส์ออกขายรูปแบบบอกซ์เซต 4 แผ่นเมื่อ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2006 ส่วนโซน 4 ออกขายเมื่อ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2006

ฤดูกาลที่สาม ออกวางขายในชื่อ Lost: The Complete Third Season - The Unexplored Experience ในรูปแบบดีวีดีและบลูเรย์ โซน 1 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 2007[43] เช่นเดียวกับฤดูกาลแรกและฤดูกาลที่สอง ฤดูกาลที่สามออกขายโดยมีส่วนของเสียงบรรยาย ทั้งนักแสดงและทีมงาน โบนัสพิเศษ ฉากที่ถูกลบออกไปและฉากหลุด ฤดูกาลที่ 3 ออกขาย โซน 2 รูปแบบดีวีดีเมื่อ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ออกครบทั้งหมด ทั้งชุด ไม่เหมือนกับฤดูกาลที่ผ่านมา

ฤดูกาลที่สี่ ออกวางขายในชื่อ Lost: The Complete Fourth Season - The Expanded Experience โซน 1 ออกขายเมื่อ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2008 ทั้งดีวีดีและบลูเรย์[44] ดีวีดีโซน 2 ออกขายเมื่อ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2008[45] มีส่วนของเสียงบรรยาย ฉากที่ถูกลบออกไป ฉากหลุดและโบนัสพิเศษ[46]

ดีวีดีของสามฤดูกาลแรกประสบความสำเร็จด้านยอดขายอย่างดี บอกซ์เซตฤดูกาลแรกมียอดขายติดอันดับ 2 เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2005[47] และบอกซ์เซตฤดูกาลที่สองของดีวีดี ติดอันดับ 1 ในสัปดาห์แรกที่วางขายเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2006 ถือว่าเป็นดีวีดีจากรายการโทรทัศน์รายการที่ 2 ที่ขึ้นชาร์ตอันดับ 1[48] ยอดขายวันแรกของดีวีดี อสุรกายดงดิบ ฤดูกาลที่สองมียอดขายสูงราว 500,000 ชุด[49] บอกซ์เซตของดีวีดีฤดูกาลที่สาม ขายได้ 1,000,000 ชุดใน 3 สัปดาห์[50]

นักแสดงและตัวละคร[แก้]

จากคนทั้งหมด 324 คนบนสายการบินโอเชียนิก เที่ยวบินที่ 815[51] มีผู้รอดชีวิตเบื้องต้น 71 ชีวิต (รวมถึงสุนัข 1 ตัว) เครื่องบินแตกออกเป็น 3 ส่วน ในฤดูกาลเปิดตัวมีตัวละครมีบทบาท 14 ตัวละคร ถือว่ามีตัวละครมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์รายการโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา เป็นรองเพียง Desperate Housewives และด้วยที่จำนวนตัวละครที่มากมายขนาดนี้ทำให้ อสุรกายดงดิบ ใช้งบอย่างมากในการผลิต ผู้เขียนบทใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของจำนวนตัวละครนี้ในการเปลี่ยนเรื่องราว จากบทสัมภาษณ์ของผู้อำนวยการสร้าง ไบรอัน เบิร์ก "คุณจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้มากขึ้นระหว่างตัวละครและสร้างความหลากหลายของตัวละครได้มากขึ้น เรื่องราวมากขึ้น เรื่องรักสามเส้ามากขึ้น"[52]

ในฤดูกาลแรก มีตัวละครหลัก 14 ตัวละคร คือ นาวีน แอนดรูวส์ แสดงเป็นอดีตทหารอิรักชื่อ ซายิด จาร์ราห์ ,เอมิลี ดี เรวิน รับบทเป็นหญิงสาวที่ตั้งครรภ์ชาวออสเตรเลียชื่อ แคลร์ ลิตเทิลตัน, แมททิว ฟอกซ์ แสดงเป็นศัลยแพทย์ที่มีปัญหาและเป็นผู้นำ ชื่อ แจ็ก เชปพาร์ด, ฮอร์เฮ การ์ซีอา รับบทเป็น ฮิวโก "เฮอร์เลย์" เรเยส ผู้มีแต่ความโชคร้ายที่ถูกล็อตเตอรี, แมกกี เกรซ แสดงเป็นแชนนอน รัทเทอร์ฟอร์ อดีตครูสอนเต้นรำ, จอช ฮอลโลเวย์ แสดงเป็นนักต้มตุ๋นชื่อ เจมส์ "ซอว์เยอร์" ฟอร์ด, ยุนจิน คิม แสดงเป็น ซัน-ฮวา ควอน บุตรีของนักธุรกิจชาวเกาหลีผู้ทรงอำนาจและผู้ร้าย, แดเนียล แด คิม แสดงเป็นสามีของเธอ จิน-ซู ควอน, อีแวนเจไลน์ ลิลลี แสดงเป็น ผู้หลบหนีคดีความ เคต ออสติน, โดมินิก โมนาแฮน แสดงเป็นอดีตดาราร็อกผู้ติดยา ชาร์ลี เพซ, เทอร์รี โอ'ควินน์ แสดงเป็นจอห์น ล็อก บุคคลน่าฉงน, แฮร์โรลด์ แพร์ริโน แสดงเป็นคนงานก่อสร้าง ไมเคิล ดอว์สัน, ขณะที่นักแสดงเด็ก มัลโคล์ม เดวิด เคลลีย์ แสดงเป็นลูกชายของเขา ที่ชื่อวอลต์ ลอยด์, เอียน โซเมอร์ฮอลเดอร์ แสดงเป็นบูน คาร์ไลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัททำธุรกิจแต่งงานของแม่เขาและเป็นพี่ชายต่างพ่อของแชนนอน

ระหว่างสองฤดูกาลแรก มีบางตัวละครเดิมถูกลดบทบาทลงไปเพิ่มเพิ่มขึ้นกับเส้นเรื่องใหม่ของตัวละครใหม่ ๆ[53][54] บูน คาร์ไลล์ เป็นตัวละครหลักตัวแรกที่ถูกตัดทิ้งไป โดยได้เสียชีวิตไปช่วงปลายฤดูกาลแรก ส่วนวอลต์ก็เป็นแขกรับเชิญบางครั้งหลังจากที่หายไปในตอนสุดท้ายของฤดูกาลแรก ยังปรากฏครั้งคราวในฤดูกาลที่ 2 ส่วนแชนนอนจากไปตอนที่ 8 ของฤดูกาลที่ 2 และหลีกทางให้ตัวละครใหม่คือ มร. เอโค บาทหลวงชาวไนจีเรียและอดีตอาชญากร แสดงโดย อาเดวาเล อาคินนูเย-แอ็กบาเจ ส่วนอนา ลูเซีย คอร์เตซ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบินและอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ แสดงโดยมิเชลล์ ร็อดริเกซ และลิบบี ผู้อ้างว่าเป็นนักจิตวิทยา แสดงโดยซินเธีย วาทรอส ทั้งอนา ลูเซียและลิบบี ถูกตัดออกไปปลายฤดูกาลที่ 2

ในฤดูกาลที่ 3 มีตัวละครคือเฮนรี เอียน คูซิก รับบทเป็นอดีตทหารชาวสกอตแลนด์ ชื่อ เดสมอนด์ ฮูม เช่นเดียวกับไมเคิล อีเมอร์สันในบท เบน ไลนัส (หรืออีกชื่อในเรื่องว่า เฮนรี เกล) สมาชิกผู้นำของกลุ่ม "คนอื่น" หรือ อาเทอส์ (Others) นอกจากนั้นทั้ง 3 ตัวละครอย่าง เอลิซาเบธ มิตเชลล์ แสดงเป็นสูตินารีแพทย์ และหนึ่งในสมาชิก "คนอื่น" ที่ชื่อ จูเลียต เบิร์ก และคีลี แซนเชซกับโรดริโก้ ซานโตโร คู่หนุ่มสาว รับบทเป็นนิกกี เฟอร์นานเดซกับเปาโล ในฤดูกาลนี้เอโคถูกตัดออกไปตอนต้นฤดูกาล ส่วนนิกกีและเปาโลถูกตัดออกไปกลางฤดูกาล ชาร์ลีถูกตัดออกไปในตอนสุดท้ายของฤดูกาล

ในฤดูกาลที่ 4 แฮร์โรลด์ แพร์ริโน กลับเข้ามาอีกครั้งในฐานะตัวละครหนักในบทไมเคิล ดอว์สัน ที่คิดจะฆ่าตัวตายและกลับมาเพื่อไถ่ถอนความผิดกับเหตุการณ์ที่เขาก่อ[55] ร่วมไปกับเพอร์ริโน ตัวละครใหม่อย่าง เจเรมี เดวีส์ แสดงเป็นแดเนียล ฟาราเดย์ นักฟิสิกส์ที่มีอาการทางประสาท ที่สนใจเกาะในเรื่องทางด้านวิทยาศาสตร์ เคน เหลียง รับบทเป็น ไมล์ส สเตราม์ ผู้ได้ยินเสียงกระซิบคนตายที่ชอบเสียดสีคนอื่น และรีเบกกา เมเดอร์ แสดงเป็นชาร์ลอตต์ สเตเปิลส์ ลิวอิส นักมานุษยวิทยาหัวแข็ง ก็เข้ามาร่วมในฤดูกาลนี้[56] ส่วนแคลร์ ที่สูญหายอย่างปริศนาไปกับพ่อโดยสายเลือดผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ถูกตัดไปปลายฤดูกาล ไม่ได้กลับมาใหม่ในฤดูกาลที่ 5 แต่จะกลับมาฤดูกาลที่ 6 และฤดูกาลสุดท้าย[57] ไมเคิลถูกตัดออกไปในตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 4[58]

ฤดูกาลล่าสุด ตัวละครหลักที่ประกาศว่าจะอยู่ในฤดูกาลที่ 6 คือ เนสเตอร์ คาร์โบเนลล์ รับบทเป็น ริชาร์ด อัลเพิร์ต จะกลายเป็นสมาชิกหลังจากเป็นตัวละครรองถึง 3 ฤดูกาล ส่วนตัวละครหลักเก่า ๆ อย่างเอียน โซเมอร์ฮัลเดอร์, โดมินิก โมนาแฮน เจเรมี เดวีส์ และเอลิซาเบธ มิตเชลล์ ก็ได้รับการยืนยันแล้วว่าจะกลับมาปรากฏตัว

ตัวละครสมทบอื่นที่ปรากฏตัว อย่างเช่นแดเนียล รุซโซ (มิรา เฟอร์แลน) สมาชิกคณะเดินทางด้านวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาในเกาะและได้บันทึกเสียง ปรากฏในตอนแรกของเรื่อง เธอค้นหาลูกสาวที่หายไปและได้พบเจอกันอีกครั้งกับอเลกซ์ รุซโซ (ทาเนีย เรย์โมนด์) ในฤดูกาลที่ 2 คู่แต่งงาน โรส เฮนเดอร์สัน (แอล. สกอตต์ คาลด์เวลล์) และเบอร์นาร์ด แนดเลอร์ (แซม แอนเดอร์สัน) ที่แยกตัวออกไปอีกฝั่งหนึ่งของเกาะ (โรสเป็นตัวละครหลัก ส่วนเบอร์นาร์ดเป็นผู้รอดชีวิตจากส่วนท้ายเครื่องบิน) ทั้งคู่ปรากฏตัวในตอนย้อนความอดีตหลังจากการกลับมาพบกัน ส่วนชาร์ลส วิดมอร์ ผู้ทรงอิทธิพล (อลัน เดล) ได้ติดต่อกับทั้งเบนและเดสมอนด์ ซึ่งเดสมอนด์ตกหลุมรักกับลูกสาวของเขาคือ เพเนโลเป "เพนนี" วิดมอร์ (ซอนยา วาลเกอร์) ในส่วนของกลุ่ม "คนอื่น" คนพื้นถิ่นของเกาะ มีตัวละครอย่างทอม หรือ มิสเตอร์เฟรนด์ลี (เอ็ม.ซี. เกเนย์) อีธาน รอม (วิลเลียม มาโพเธอร์) และริชาร์ด อัลเพอร์ต (เนสเตอร์ คาร์โบเนลล์) ตัวละครเหล่านี้มีฉากในเนื้อเรื่องย้อนหลังและเนื้อเรื่องในอนาคต ส่วนพ่อของแจ็ก คือคริสเตียน เชปพาร์ด (จอห์น เทอร์รี) ปรากฏตัวในฉากย้อนไปในอดีตของหลายตัวละคร ในฤดูกาลที่ 4 เควิน ดูแรนด์ แสดงเป็นมาร์ติน คีมี และเจฟฟ์ ฟาเฮย์ แสดงเป็น แฟรงก์ ลาพิดัส แสดงเป็นลูกจ้างและนักบิน ที่จ้างโดยวิดมอร์ และผู้นำทีมนี้คือ นาโอมิ ดอร์ริต (มาร์ชา โทมาสัน) ที่เป็นคนแรกที่ถึงเกาะหลังการตกของโอเชียนิก 815

การคัดเลือกนักแสดง[แก้]

ตัวละครหลักหลายตัวละครในฤดูกาลแรกที่แสดง มีส่วนเกี่ยวกับความชื่นชอบนักแสดงของผู้อำนวยการสร้าง อย่างตัวละครสำคัญอย่าง แจ็ก ที่เดิมทีจะเสียชีวิตในตอนแรก และจะแสดงโดยไมเคิล คีตัน แต่อย่างไรก็ตามผู้บริหารหลายคนของเอบีซี ก็ยืนกรานให้แจ็กอยู่[59] ก่อนที่จะตัดสินใจว่าให้แจ็กอยู่ เคตจะเป็นผู้นำของกลุ่มผู้รอดชีวิต ในต้นฉบับเธอจะมีตัวละครที่เหมือนโรส ทางด้านโดมินิก โมนาแฮนได้เข้ามาทดสอบบทกับบท ซอว์เยอร์ ที่เดิมจะเป็นนักต้มตุ๋นในชุดสูท ทางโปรดิวเซอร์รู้สึกสนุกกับการแสดงของโมนาแกนและได้เปลี่ยนให้เขามารับบทชาร์ลี อดีตดาราร็อกวัยกลางคน เพื่อที่จะให้เข้ากับตัวเขา ฮอร์เฮ การ์ซีอามาทดสอบบทกับบทซอว์เยอร์ แต่ในส่วนตัวละครเฮอร์เลย์เป็นตัวละครที่เขียนให้เขาโดยเฉพาะ และเมื่อจอชมาทดสอบบทซอว์เยอร์ ซึ่งทางโปรดิวเซอร์ก็ชื่นชอบการแสดงที่เขาดึงตัวละคร (เขาพูดว่าเขาเตะเก้าอี้ เมื่อเขาลืมบทและโกรธเมื่อทดสอบบทอยู่) และชื่นชอบสำเนียงใต้ของเขา ดังนั้นพวกเขาจึงเปลี่ยนซอว์เยอร์ให้เข้ากับการแสดงของฮอลโลเวย์

ยุนจิน คิมมาทดสอบบทเคต แต่โปรดิวเซอร์ได้สร้างตัวละครให้เป็นซัน และตัวละครจิน รับบทโดยแดเนียล แด คิม เป็นสามีของเธอ ซายิดรับบทโดยนาวีน แอนดรูวส์ ไม่ได้อยู่ในบทดั้งเดิม ส่วนตัวล็อกและไมเคิลก็ถูกเขียนขึ้นโดยนึกนักแสดงไว้ในใจแล้ว เอมิลี ดี เรวิน แสดงเป็นแคลร์ เดิมเป็นตัวละครที่มีบทเล็กน้อย[59] ในฤดูกาลที่ 2 ไมเคิล อีเมอร์สันได้รับการติดต่อให้รับแสดงเป็นเบน (หรือ เฮนรี เกล) ใน 3 ตอน บทของเขาเดิมจะมี 8 ตอนแต่ด้วยความสามารถด้านการแสดงของเขา จึงได้เป็นตัวละครหลักทั้งฤดูกาลที่ 3 และฤดูกาลถัดมา[60]

บทสรุปเนื้อเรื่อง[แก้]

ฤดูกาลที่ 1 (2004-2005)[แก้]

ฤดูกาลที่ 1 มีอยู่ 25 ตอน ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 20.00 น. ในสหรัฐอเมริกา เริ่มออกอากาศเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 2004 เที่ยวบิน 815 สายการบินโอเชียนิก ตกลงไปในเกาะร้างแห่งหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นป่าร้อนชื้น ผู้โดยสารที่รอดชีวิตที่ต่างไม่รู้จักกัน ตั้งเป็นกลุ่มเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตอยู่รอด แต่ก็มีสิ่งลึกลับที่เกิดขึ้นกับผู้รอดชีวิต เช่นพบหมีขั้วโลก สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อนที่ร่อนเร่ในป่า และคนพื้นเมืองเดิมที่มุ่งร้าย ที่เรียกว่า "คนอื่น" พวกเขายังพบกับหญิงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ดาเนียล รุซโซ ที่เรือแตกพลัดมาบนเกาะเมื่อ 16 ปีก่อน และพบประตูเหล็กปริศนาที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน และมีการพยายามที่จะออกจากเกาะโดยใช้แพ

ฤดูกาลที่ 2 (2005-2006)[แก้]

ฤดูกาลที่ 2 มีอยู่ 24 ตอน ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 21.00 น. ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เริ่มออกอากาศเมื่อ 21 กันยายน ค.ศ. 2005 เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ที่ต่อเนื่องหลังจากเครื่องบินตกได้ 45 วัน เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้รอดชีวิตและกลุ่ม "คนอื่น" ที่ยังคงเป็นการปะทะกันระหว่างความเชื่อและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับใจความสำคัญของแต่ละตอน ขณะที่ปริศนาบางอย่างถูกคลี่คลาย คำถามใหม่ก็เกิดขึ้น เริ่มมีตัวละครใหม่เข้ามา รวมถึงตัวละครในส่วนท้ายของเครื่องบินและสมาชิกกลุ่ม "คนอื่น" เรื่องราวของเกาะเริ่มเพิ่มพูนขึ้นและอดีตของผู้รอดชีวิตก็ถูกเผยความลับออกมา ขณะที่ประตูใต้ดินก็ถูกค้นพบ และพบว่าเป็น "ธรรมะปฏิบัติการ" รวมถึงมูลนิธิฮันโซ ก็ถูกเปิดเผยขึ้น ความจริงเกี่ยวกับปริศนาต่าง ๆ ของกลุ่ม "คนอื่น" ค่อย ๆ เปิดเผยขึ้น หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเครื่องบินตกทรยศต่อกลุ่ม และสาเหตุที่เครื่องบินตกถูกเปิดเผยขึ้น

ฤดูกาลที่ 3 (2006-2007)[แก้]

ฤดูกาลที่ 3 มีอยู่ 23 ตอน ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 21.00 น. ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เริ่มออกอากาศเมื่อ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2006 และกลับมาฉายอีกเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 เวลา 22.00 น. มีเรื่องราว 67 วันหลังเครื่องบินตก เริ่มมีการทำความรู้จักกับผู้รอดชีวิตจากเครื่องบินตกคนใหม่ ๆ รวมถึงคนจากกลุ่ม "คนอื่น" ก็เริ่มมีการทำความรู้จักมากขึ้น ผู้รอดชีวิตเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่ม "คนอื่น" และประวัติศาสตร์ของเกาะที่เป็นปริศนา หนึ่งในกลุ่ม "คนอื่น" เข้ามาร่วมกับผู้รอดชีวิตขณะที่มีผู้รอดชีวิตเปลี่ยนพรรคพวกไปอยู่กลุ่ม "คนอื่น" สงครามระหว่างกลุ่ม "คนอื่น" และผู้รอดชีวิตถึงจุดสำคัญ ขณะที่ผู้รอดชีวิตได้ติดต่อกับทีมกู้ชีพ

ฤดูกาลที่ 4 (2008)[แก้]

ฤดูกาลที่ 4 ถูกวางไว้ว่าจะมี 16 ตอน (ก่อนที่จะเกิดการประท้วงของนักเขียนอเมริกัน) เริ่มออกอากาศในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2008[61] แต่เนื่องจากการประท้วง ฤดูกาลนี้จึงเหลือเพียง 14 ตอน ประกอบด้วย 8 ตอนก่อนการประท้วงที่ถ่ายทำและออกอากาศแล้ว และ 6 ตอนหลังการประท้วง ฤดูกาลนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้รอดชีวิตที่ต่อกรกับคนที่มาจากเรือขนส่งสินค้าคาฮานาที่มาที่เกาะและการหนีออกจากเกาะของผู้รอดชีวิตที่เรียกว่า โอเชียนิกซิกซ์ (ภาพการใช้ชีวิตหลังออกจากเกาะเป็นภาพอนาคตที่แสดงในเรื่อง)

ฤดูกาลที่ 5 (2009)[แก้]

ฤดูกาลที่ 5 มีอยู่ 17 ตอน ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 21.00 น. ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เริ่มออกอากาศเมื่อ 21 มกราคม ค.ศ. 2009 ฤดูกาลที่ 5 มีช่วงเวลาที่เล่าอยู่ 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกเกิดขึ้นบนเกาะที่ผู้รอดชีวิตกระโดดข้ามเวลาไปมาเป็นพัก ๆ จนในที่สุดหยุดลงที่ธรรมะปฏิบัติการในปี ค.ศ. 1977 และช่วงที่ 2 เป็นเวลาปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั้งนอกเกาะและผู้รอดชีวิต (โอเชียนิกซิกซ์) ที่กลับมาที่เกาะโดยสายการบินอชิระ เที่ยวการบิน 316 ในปี 2007

ฤดูกาลที่ 6 (2010)[แก้]

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 ประธานเอบีซีเอนเตอร์เทนเมนต์ สตีเฟน แม็กเฟอร์สัน ประกาศว่า อสุรกายดงดิบ จะจบลงระหว่างฤดูกาล 2009-2010 กับ "ความคาดหวังอันสูงและฉากจบอันน่าตกใจ"[62] "พวกเรารู้สึกว่าทางเดียวที่จะให้ อสุรกายดงดิบ จบอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสม" แม็กเฟอร์สันพูดอย่างนั้น[62] ในฤดูกาลที่ 6 มีแผนว่าจะมี 17 ตอน[63] แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ก็มีการประกาศมาว่าฤดูกาลสุดท้ายจะเพิ่มชั่วโมงการฉาย ทำให้มีจำนวน 18 ตอน[64]

ผู้อำนวยการสร้างลินเดลอฟและคิวส์ กล่าวไว้ว่า "พวกเขานึกถึง อสุรกายดงดิบ ว่าเป็นซีรีส์ที่เป็นจุดเริ่ม ตรงกลาง และจุดจบ" และประกาศว่าเมื่อซีรีส์จบผู้ชมจะมั่นใจการรับรู้ได้ว่าเรื่องจบลงอย่างที่พวกเขาต้องการ"[62]ลินเดลอฟและคิวส์ พูดเกี่ยวกับตอนจบของซีรีส์ในปี 2010 ว่า "เป็นการปลดปล่อยครั้งมโหฬาร" และช่วยให้ซีรีส์มุ่งไปที่การค้นพบใหม่[65] โปรดิวเซอร์ยังวางแผนไว้ว่าจะคลี่คลายปริศนาอันยาวนานทั้งหมด อย่างควันปีศาจ อนุสาวรีย์ที่เหลือแต่นิ้ว 4 นิ้ว ตัวเรต และตัวตนของโครงสร้างที่อยู่ในฤดูกาลแรกตอน "House of the Rising Sun"[66] แมททิว ฟอกซ์กล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า ในฤดูกาลจบ ตัวละครแจ็ก เชปพาร์ดและจอห์น ล็อก "จะปะทะกันตัวต่อตัว" ช่วงเวลา 2 ช่วงเวลาจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน และ จะมาบรรจบกัน ไม่มีการย้อนอดีต ไม่เหลืออะไร[67] เขายังกล่าวว่า เขาเป็นคนเดียวในทีมนักแสดงที่รู้ตอนจบของซีรีส์[68] คิวส์ยังพูดว่า ทั้งการเดินทางข้ามเวลาและฤดูกาลที่ข้ามไปข้างหน้าจะจบลง และพวกเขาจะก้าวไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่แตกต่าง ในฤดูกาลที่ 6 นี้[69]

เรื่องลึกลับ[แก้]

สิ่งที่เหมือนกันในการพัฒนาตัวละคร ตอนต่าง ๆ ของ อสุรกายดงดิบ มีความลึกลับอยู่มากที่นำไปสู่การให้เหตุผลในนิยายวิทยาศาสตร์หรือปรากฏการณ์สิ่งเหลือเชื่อ ผู้สร้างซีรีส์อ้างถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่นำมาเขียนเรื่องลึกลับของซีรีส์ และพวกเขาก็ได้พื้นฐานในการพิจารณา.[70] หนึ่งในสิ่งลึกลับคือ "ปีศาจ" ในเรื่องร่อนเร่ไปทั่วเกาะ รวมถึงความลึกลับของกลุ่มคนพื้นเมืองที่ผู้รอดชีวิตเรียกว่า "คนอื่น" และองค์กรที่เรียกว่า "ธรรมะปฏิบัติการ" ที่มีสถานีวิจัยบนเกาะหลายแห่ง และการปรากฏตัวต่าง ๆ ของตัวละครทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต การติดต่อกันไม่ว่าเรื่องทางจิตระหว่างตัวละคร กับสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ว่าคืออะไร

หัวใจของซีรีส์เรื่องนี้คือความสลับซับซ้อนและเรื่องราวที่กำกวม ที่สร้างคำถามต่าง ๆ มากมายที่ตอบไม่ได้[71] ผู้เขียนบทและนักแสดงของ อสุรกายดงดิบ ต่างก็พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับแฟน ๆ ทางออนไลน์ ซึ่งทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์รายการโทรทัศน์ก็ได้สร้างทฤษฎีต่าง ๆ ในการแก้ไขปริศนาของเรื่อง ทฤษฎีเกี่ยวกับเกาะ ที่มาของ "ปีศาจ" และกลุ่ม "คนอื่น" ความหมายของตัวเลข เหตุผลของเครื่องบินตก ปริศนาเหล่านี้เป็นหัวข้อการสนธนาทั่วไป แต่ผู้สร้างรายการปฏิเสธไปในเรื่องที่ว่า ผู้รอดชีวิตจากสายการบินโอเชียนิกเที่ยวบินที่ 815 ได้ตายไปแล้วหรือพวกเขาอยู่ในสถานที่วิญญาณรับโทษทัณฑ์ก่อนขึ้นสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ.เจ. แอบรัมส์ ที่ปฏิเสธในทฤษฎีนี้[72] มากไปกว่านั้น ลินเดลอฟปฏิเสธเกี่ยวกับเรื่องยานอวกาศหรืออิทธิพลของมนุษย์ต่างดาวที่เกี่ยวกับเกาะนี้ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องเกิดในจิตใต้สำนึกของใครสักคน คาร์ลตัน คิวส์ ปฏิเสธทฤษฎีที่ว่าเกาะนี้เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์ทางโทรทัศน์[73] มีหลายครั้งที่ลินเดลอฟปฏิเสธทฤษฎีที่ "ปีศาจ" เป็นกลุ่มเมฆเป็นกลไกที่คล้ายกับนวนิยายของไมเคิล คริชตัน เรื่อง Prey[74][75]

ส่วนประกอบอื่น[แก้]

มีส่วนประกอบและจุดเด่นมากมาย ในเรื่อง อสุรกายดงดิบ ที่ไม่มีผลโดยตรงกับเนื้อเรื่อง แต่ได้ช่วยขยายเรื่องและด้านปรัชญา องค์ประกอบเหล่านี้มักจะปรากฏในสีดำและสีขาว ที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่กันเป็นคู่ ภายใต้ตัวละครและสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับการขัดขืนในตัวละครแทบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคต[76] ซึ่งอยู่ในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ (โดยเฉพาะ มีตัวละครหลายตัวละครที่เกี่ยวข้องกับพ่อของตัวเอง) แสดงให้เห็นชีวิตในตัวละครเกือบทุกตัวละคร[77] หรือเรื่องวันสิ้นโลก ที่เดสมอนด์ กดปุ่มเพื่อป้องกันจุดจบของโลกและธรรมะปฏิบัติการที่มีเป้าหมายในการปกป้องวันสิ้นสุดมนุษยชาติ[78]

เหตุการณ์บังเอิญ โชคชะตา ที่เกิดขึ้นโดยมากกับตัวละคร ล็อกและมร. เอโค ที่ขัดแย้งระหว่างเรื่องทางวิทยาศาสตร์กับความเชื่อ ที่ชัดเจนขึ้นผ่านความขัดแย้งของผู้นำสองคนคือ แจ็กและล็อก[79] และยังมีการอ้างถึงงานประพันธ์ รวมถึงการเอ่ยถึงและการสนทนาเกี่ยวกับบทประพันธ์[80] มีตัวละครหลายตัวเกี่ยวข้อกับนักคิด นักเขียนชื่อดังในประวัติศาสตร์ อย่างเช่น จอห์น ล็อก (ตามชื่อ นักปรัชญา) และฉายาเขา เจเรมี เบนแธม (ตามชื่อนักปรัชญา) ดาเนียล รุซโซ (ตามชื่อนักปรัชญา ฌอง-ฌาค รุสโซ) เดสมอนด์ ฮูม (ตามชื่อนักปรัชญา เดวิด ฮูม) จูเลียต เบิร์ก (ตามชื่อนักปรัชญา เอดมุนด์ เบิร์ก) มาคาอิล บาคูนิน (ตามชื่อนักปรัชญาผู้นิยมอนาธิปไตย) แดเนียล ฟาราเดย์ (ตามชื่อนักฟิสิกส์ ไมเคิล ฟาราเดย์) เอลอยส์ ฮอว์คิง (ตามชื่อนักฟิสิกส์ สตีเฟน ฮอว์คิง) จอร์จ มินคาวสกี (ตามชื่อนักคณิตศาสตร์ เฮอร์แมน มินคาวสกี) ริชาร์ด อัลเพิร์ต (ชื่อเกิดตาม ครูสอนศาสนา แรม แดส) และชาร์ลอตต์ สเตเพิลส์ ลิวอิส (ตามชื่อนักเขียน ซี. เอส. ลิวอิส)[81]

ผลกระทบ[แก้]

การวัดระดับผู้ชม[แก้]

การจัดอันดับในสหรัฐอเมริกา (วัดจากการวัดระดับผู้ชมเฉลี่ย ผู้ชมรวมต่อตอน รวมถึงตอนรีรัน ทางช่องเอบีซี

ฤดูกาล เวลา (EDT) ตอนปฐมทัศน์ของฤดูกาล ตอนจบของฤดูกาล ฤดูกาลของโทรทัศน์ อันดับ ผู้ชม
(ล้าน)
ฤดูกาลที่ 1 วันพุธ 20.00 น. (22 กันยายน ค.ศ. 2004–25 พฤษภาคม ค.ศ. 2005) 22 กันยายน ค.ศ. 2004 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 2004–2005 #15 15.69[82]
ฤดูกาลที่ 2 วันพุธ 21.00 น. (21 กันยายน ค.ศ. 2005–24 พฤษภาคม ค.ศ. 2006) 21 กันยายน ค.ศ. 2005 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 2005-2006 #15 15.50[83]
ฤดูกาลที่ 3 วันพุธ 21.00 น. (4 ตุลาคม ค.ศ. 2006–8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006)
วันพุธ 22.00 น. (7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007–23 พฤษภาคม ค.ศ. 2007)
4 ตุลาคม ค.ศ. 2006 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 2006–2007 #14 15.05[84]
ฤดูกาลที่ 4 วันพฤหัสบดี 21.00 น. (31 มกราคม ค.ศ. 2008–20 มีนาคม ค.ศ. 2008)
วันพฤหัสบดี 22.00 น. (24 เมษายน ค.ศ. 2008–29 พฤษภาคม ค.ศ. 2008)
31 มกราคม ค.ศ. 2008 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 2008 #17 13.40[85]
ฤดูกาลที่ 5 วันพุธ 21.00 น. (21 มกราคม ค.ศ. 2009–13 พฤษภาคม ค.ศ. 2009) 21 มกราคม ค.ศ. 2009 13 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 2009 #28 10.94[86]
ฤดูกาลที่ 6 วันอังคาร 21.00 น. (2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 – 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2010) 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 2010 #25 12.26[87]

ตอนเปิดตัวของเรื่องมีผู้ชม 18.6 ล้านคน ชนะสำหรับช่วงเวลา 21.00 น. (เวลาฝั่งตะวันออกและฝั่งแปซิฟิก) และทำให้สถานีเอบีซีได้รับระดับผู้ชมแข็งแรงที่สุดตั้งแต่ปี 2000 เมื่อ Who Wants to Be a Millionaire? เริ่มออกอากาศ แต่ก็ถูกทำลายสถิติต่อมาหลังจากการปฐมทัศน์ Desperate Housewives จากนิตยสาร วาไรอิตี เขียนไว้ว่า "เอบีซี สามารถประสบความสำเร็จกับแนวดราม่า ที่ไม่ได้นิยมมาตั้งแต่ The Practice และ อสุรกายดงดิบ ก็เป็นตัวแทนในการเริ่มต้นที่ดีของสถานีสำหรับแนวดราม่า กับผู้ชมกลุ่ม 18-49 ปี ตั้งแต่เรื่อง Once and Again ในปี 1999 และกับยอดผู้ชมรวมเหมือนใน Murder One ตั้งแต่ปี 1995"[88]

สำหรับในฤดูกาลแรก อสุรกายดงดิบ มีผู้ชมเฉลี่ย 16 ล้านคน ติดอันดับ 14 ของยอดคนดูในช่วงรายการไพรม์ไทม์ และติดอันดับ 15 ของกลุ่มสถิติคนดู 18-49 ปี[89] ในฤดูกาลที่ 2 ก็ได้รับความนิยมพอ ๆ กัน ติดอันดับ 14 กับยอดผู้ชมเฉลี่ย 15.5 ล้านคน อย่างไรก็ตามเพิ่มกลุ่มคนดูในช่วง 18-49 ปี เป็นอันดับที่ 8[90] ตอนปฐมทัศน์ของฤดูกาลที่ 2 มีผู้ชมมากกว่าฤดูกาลแรก คือที่ 23 ล้านคนและถือเป็นสถิติใหม่ของรายการซีรีส์[91] ตอนปฐมทัศน์ฤดูกาลที่ 3 มีผู้ชม 18.8 ล้านคน และตอนที่ 7 ของฤดูกาลนี้ หลังจากเว้นห่างการออกฉายไปนาน 3 เดือน ก็มีผู้ชมหล่นไปที่ 14.5 ล้านคน พอจบฤดูใบไม้ผลิ ความนิยมตกไปเหลือผู้ชมเพียง 11 ล้านคน ก่อนที่จะกลับมาที่ 14 ล้านคนในตอนสุดท้ายของฤดูกาล กระแสนิยมตกไปบางส่วน โดยได้รับคำอธิบายจากนีลเซ็นเรื่องการวัดอันดับความนิยมเรื่องเครื่องบันทึกวิดีโอดิจิตอล ที่แสดงให้เห็นว่า อสุรกายดงดิบ เป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่มีคนบันทึกเก็บไว้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลรวมทั้งหมด อสุรกายดงดิบ ก็ยังชนะในชั่วโมงของกลุ่มผู้ชม 14-49 ปี อย่างดี และเหนือสูงสุดของกลุ่ม 18-49 ในช่วงเวลา 22.00 น. มากกว่ารายการใดและทุกสถานีของฤดูกาลนั้น ส่วนตอนปฐมทัศน์ฤดูกาลที่ 4 มียอดผู้ชมมากขึ้นกว่าฤดูกาลก่อนหน้าคือที่ 16.1 ล้านคน[92] แต่ในตอนที่ 8 ของฤดูกาล ผู้ชมลดลงไปต่ำลงเหลือ 11.461 ล้านคน[93] และจากการสำรวจใน 20 ประเทศโดยอินฟอร์มาเทเลคอมส์แอนด์มีเดีย ในปี 2006 สรุปได้ว่า อสุรกายดงดิบ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประเทศเหล่านี้ รองจาก CSI: Miami[94] ตอนปฐมทัศน์ของฤดูกาลที่ 6 มียอดผู้ชมมีตัวเลขที่มีการเปลี่ยนแปลงไต่ขึ้นสูงนับตั้งแต่ฤดูกาลที่ 2 มียอดผู้ชม 12.1 ล้านคน[95]

รางวัล[แก้]

จากความสำเร็จของฤดูกาลแรก อสุรกายดงดิบ ได้รับรางวัลเอมมีในสาขาซีรีส์ประเภทดราม่า และเจ.เจ. แอบรัมส์ ได้รับเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 สำหรับผลงานการกำกับในตอนแรกของซีรีส์ ส่วนเทอร์รี โอ'ควินน์ และนาวีน แอนดรูวส์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนักแสดงสมทบสำหรับซีรีส์ประเภทดราม่า อสุรกายดงดิบ ได้รับรางวัลสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกา ในปี 2005 สำหรับความสำเร็จอันโดดเด่นในเรื่องการเขียนบทสำหรับซีรีส์ทางโทรทัศน์ประเภทดราม่า รางวัลสมาคมผู้สร้างปี 2005 ในสาขาการผลิตยอดเยี่ยม รางวัลสมาคมผู้กำกับในสาขางานกำกับยอดเยี่ยมสำหรับรายการโทรทัศน์ประเภทดราม่าปี 2005 และรางวัลของสมาคมนักแสดงอาชีพแห่งอเมริกา สาขากลุ่มนักแสดงยอดเยี่ยม

แมททิว ฟอกซ์และนาวีน แอนดรูวส์ ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประเภทซีรีส์ดราม่าและนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมตามลำดับ และในปี 2005 อีแวนเจไลน์ ลิลลี ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมประเภทซีรีส์โทรทัศน์ประเภทดราม่า อสุรกายดงดิบ ได้รับรางวัลบาฟต้าในสาขารายงานนำเข้าอเมริกัน ในปี 2006 ฮอร์เฮ การ์ซีอาและมิเชลล์ ร็อดริเกซ ได้รับรางวัลอัลมาในสาขานักแสดงสมทบชายและนักแสดงสมทบหญิง ตามลำดับ ในประเภทซีรีส์โทรทัศน์ แล้วยังได้รับรางวัลแซตเทิร์น ในสาขาซีรีส์โทรทัศน์ยอดเยี่ยมทั้งในปี 2005 และ 2006 เทอร์รี โอ'ควินน์ยังรับรางวัลแซตเทิร์นในปี 2005 ในสาขานักแสดงชายสมทบประเภทซีรีส์โทรทัศน์ และในปี 2006 แมททิว ฟอกซ์ ได้รับรางวัลในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

อสุรกายดงดิบ ได้รับรางวัลต่อเนื่องจากรางวัลสมาคมวิจารณ์โทรทัศน์ ในสาขาความประสบความสำเร็จอันโดดเด่นประเภทดราม่า ทั้งในฤดูกาลแรกและฤดูกาลที่ 2 ต่อเนื่องกัน เช่นเดียวกับได้รับรางวัลกลุ่มวิชวลเอฟเฟกต์ในปี 2005 และ 2006 ในสาขาเทคนิคพิเศษด้านภาพอันโดดเด่นประเภทรายการออกอากาศ มัลคอล์ม เดวิด เคลลีย์ ได้รับรางวัลยังอาร์ติส สำหรับการแสดงในบท วอลต์ ในปี 2006 อสุรกายดงดิบ ยังได้รับการลงคะแนนเสียงในปี 2005 จากนิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี ในหัวข้อสิ่งบันเทิงแห่งปี และยังได้รับรางวัลปริซึม 2005 สำหรับเนื้อเรื่องการติดยาของชาร์ลี ในตอน "Pilot", "House of the Rising Sun", และ "The Moth" นอกเหนือจากนั้นยังได้รับการเสนอชื่อในรางวัลสมาคมนักเขียนและสมาคมผู้สร้างอีกครั้งในปี ค.ศ. 2007 แต่ไม่ได้รับรางวัล ต่อมาเดือนมิถุนายน 2007 อสุรกายดงดิบ เอาชนะรายงานที่เข้าชิง 20 รายการจากหลายประเทศทั่วโลก ชนะในสาขารางวัลปีประเภทดราม่ายอดเยี่ยม ที่จัดขึ้นที่เทศกาลโทรทัศน์มอนเตคาร์โล ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 ทั้งไมเคิล อีเมอร์สันและเทอร์รี โอ'ควินน์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอมมีสาขานักแสดงสมทบประเภทซีรีส์ดราม่า ผู้ที่ได้รับรางวัลครั้งนี้คือ โอ'ควินน์[96] อสุรกายดงดิบ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีกครั้งประเภทซีรีส์ดราม่า ในงานไพรม์ไทม์เอมมี ครั้งที่ 60 ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอมมีอีก 7 รายชื่อ รวมถึงสาขานักแสดงสมทบประเภทซีรีส์ดราม่า ในการแสดงของไมเคิล อีเมอร์สัน[97]

คำวิจารณ์[แก้]

อสุรกายดงดิบ ติดอันดับ 1 ในหัวข้อ "สุดยอดการรายงานรายการโทรทัศน์: 10 อันดับแรกของนักวิจารณ์" โดยแมททิว กิลเบิร์ตแห่ง เดอะบอสตันโกลบ ทอม เกลียตโตแห่ง พีเพิลวีกลี ชาร์ลี แม็กคอลัมแห่ง แซนโฮเซเมอร์คิวรีนิวส์ และโรเบิร์ต บีแอนโกแห่ง ยูเอสเอทูเดย์[98] เจมส์ โพนีวอซิกแห่ง นิตยสารไทม์ ให้เป็น 1 ใน 10 ของซีรีส์ที่กลับมาแห่งปี 2007 ที่อันดับ 2[99] ในปีนั้น อสุรกายดงดิบ ติดในการจัดอันดับของ นิตยสารไทม์ ในหัวข้อ 100 โชว์ที่ดีที่สุดตลอดกาล[100] ยังติดอันดับ 5 ของ นิตยสารเอมไพร์ ในหัวข้อ 50 รายการโทรทัศน์ที่ดีที่สุดตลอดกาล[101] บิล คาร์เตอร์ ผู้รายงานข่าวรายการโทรทัศน์ของ เดอะนิวยอร์กไทมส์ กล่าวว่า "รายการนี้บางทีอาจมีเส้นเรื่องที่ดึงดูดน่าสนใจโดยตลอดมากที่สุดในประวัติศาสตร์รายการโทรทัศน์"[102] และจากการเปิดตัวอันแข็งแรง รอยเตอร์สก็ตั้งชื่อเล่นให้ว่า "ดราม่าสุดฮิต" และกล่าวว่า "รายการปรากฏผลกำไรในทุกตลาดอย่างแรงและรวดเร็ว ที่รวมถึงโฆษณาทางวิทยุ การฉายรอบพิเศษ และการโฆษณาครั้งแรกบนป้ายบิลบอร์ด ในรอบ 5 ปีของเอบีซี"[103]

ในส่วนของตอนแรก ๆ ในฤดูกาลที่ 3 ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าเพิ่มประเด็นปริศนามากเกินไป[104] แต่ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่เพียงพอด้วย[105] และจะมีเสียงบ่นเกี่ยวกับเวลาที่จำกัดของตัวละครหลักในตอนแรก ๆ[106] ตัวละครล็อก ที่แสดงโดยเทอร์รี โอ'ควินน์ เป็นหนึ่งในตัวละครที่ปรากฏมากที่สุดในฤดูกาลที่ 2 เมื่อนับจากจำนวนตอน แต่ปรากฏตัวเพียง 13 ใน 22 ตอนของฤดูกาลที่ 3 และมีเพียงตัวละครแขกรับเชิญอย่าง เอ็ม.ซี. เกนีย์ รับบทเป็นทอม กับตัวละครใหม่ 2 ตัว นิกกี้กับเปาโล ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ด้านลบ ลินเดลอฟก็ยอมรับว่าคู่นี้ "ถูกเกลียดโดยถ้วนหน้า" โดยแฟน ๆ[107] การตัดสินใจที่แยกฤดูกาลฉายออก[108] และการสลับช่วงเวลาฉายหลังจากห่างหายไป ก็ถูกวิจารณ์ด้วยเช่นกัน[109] คิวส์ยอมรับว่า "ไม่มีใครรู้สึกสบายใจที่ฉายอยู่ 6 ตอน"[110] ส่วนที่ 2 ของฤดูกาลได้รับเสียงชื่นชมกลับมา[111]ที่ทีมงานเจอปัญหาในส่วนแรกของฤดูกาล[112] และมีคำตอบเปิดเผยมากขึ้นในรายการ[113] และนิกกี้กับเปาโลก็ถูกกำจัดออกไป[114] มีการประกาศออกมาว่าซีรีส์จะจบใน 3 ฤดูกาล หลังจากในฤดูกาลที่ 3[115] คิวส์ก็หวังจะบอกคนดูว่า ผู้เขียนบทจะทำให้เรื่องจบลงตรงไหน[116]

ดอน วิลเลียมส์แห่ง บัดดีทีวี กล่าวว่าตอน "The Beginning of the End" ซึ่งเป็นตอนแรกของฤดูกาลที่ 4 เป็นตอนปฐมทัศน์ของฤดูกาลที่ถูกคาดหวังแห่งปี[117] ไมเคิล ออซีลโล แห่งทีวีไกด์ เรียกชั่วโมงสุดท้ายของฤดูกาลที่ 4 ว่า "60 นาทีที่ถูกคาดหวังที่สุดในรายการโทรทัศน์แห่งปี"[118] นักวิจารณ์ชาวอเมริกันได้รับดีวีดีภาพตัวอย่างตอน "The Beginning of the End" และ "Confirmed Dead" เมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2008 ก่อนออกฉายจริง[119] เมตาคริติก ให้ฤดูกาลนี้เป็น "เมตาสกอร์" ที่คะแนน 87 คะแนน วัดจากค่าเฉลี่ยของความพอใจของนักวิจารณ์ 12 คน[120] ถือว่าได้เมตาสกอร์สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของฤดูกาลโทรทัศน์ปี 2007-2008 ตามหลังตอนที่ 5 และตอนสุดท้ายของซีรีส์ทางเอชบีโอเรื่อง The Wire[121] และจากการสำรวจของ ทีวีวีก จากนักวิจารณ์มืออาชีพ อสุรกายดงดิบ ได้รับคะแนนเสียงให้เป็นรายการโทรทัศน์ที่ดีที่สุดในครึ่งปีแรกของปี 2008 ด้วยคะแนนทิ้งห่าง "เห็นได้ชัดว่าติด 1 ใน 5 ของแทบทุกนักวิจารณ์" และ "ไม่มีอะไร แต่ชื่นชม"[122] จากการประกาศเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 เรื่องการจบของซีรีส์ในปี 2010 และการแนะนำส่วนที่ย้อนกลับไปของเรื่องได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากนักวิจารณ์[123] ขณะที่มีตัวละครใหม่เพิ่ม[124]

ความคลั่งไคล้และวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ในเรื่องความเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีคนชื่นชอบ อสุรกายดงดิบ ได้สร้างสังคมของกลุ่มแฟนในระดับนานาชาติ กลุ่มแฟนซีรีส์ อสุรกายดงดิบ ในบางครั้งจะตั้งฉายาตัวเองว่า ลอสต์อะเวย์ส (Lostaway)[125] หรือ ลอสตีส์ (Losties)[126] พวกเขาเหล่านี้ได้รวมตัวกันในงานคอมิกคอนอินเตอร์เนชันแนล จัดขึ้นโดยเอบีซี[126][127] และยังคงร่วมกันอย่างแข็งขัน พัฒนาเว็บไซต์แฟนอย่างมากมาย รวมถึงเว็บ ลอสต์พีเดีย ที่เป็นฟอรัมพูดคุยเกี่ยวกับรายการรวมถึงเรื่องใกล้เคียง[128][129][130][131] และด้วยที่รายการมีเรื่องราวลึกลับ หลายแฟนไซต์จึงมุ่งประเด็นเรื่องการพิจารณา ทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องความลึกลับของเกาะ เช่นเดียวกับมีกิจกรรมของแฟน ๆ อย่างเช่นเขียนเรื่องแต่งจากแฟน วิดีโอแต่ละตอน ตัวละคร และเรื่องน่าจดจำในซีรีส์

จากความสนใจของบรรดาแฟนและความพยายามให้กลุ่มคนดูมีความสนใจต่อเนื่อง เอบีซีได้เริ่มดำเนินการข้ามลงไปในสื่ออย่างมาก โดยมักใช้สื่อใหม่ อย่างเช่นเว็บไซต์ต่อยอดที่ผลิตโดยเอบีซี วรรณกรรมต่อยอดจากเรื่อง ฟอรัมเว็บไซต์อย่างเป็นทางการสนับสนุนโดยทีมสร้างสรรค์เบื้องหลังของ อสุรกายดงดิบ ("เดอะฟิวส์เลจ") "โมบิโซด" ที่แจกจ่ายโดยทีมโปรดิวเซอร์ นิตยสารอย่างเป็นทางการ เกม (เออาร์จี) "เดอะลอสต์เอกซ์พีเรียนซ์"[130][132] นอกจากนั้นยังได้เปิดเว็บไซต์แฟนคลับอย่างเป็นทางการ เปิดเมื่อฤดูร้อนปี 2005 ผ่านทางครีเอชันเอนเตอร์เทนเมนต์[126]

เนื่องจากความนิยมในซีรีส์ ทำให้มีการอ้างถึงซีรีส์และองค์ประกอบจากเรื่องไม่ว่าจะปรากฏในแนวล้อเลียนหรือการนำไปใช้ในวัฒนธรรมสมัยนิยม รวมถึงการปรากฏในรายการโทรทัศน์อื่น อย่างเช่นซีรีส์ Veronica Mars, Will & Grace, Bo Selecta, The Sarah Silverman Program, My Wife And Kids, Chuck, Curb your Enthusiasm, Notes from the Underbelly และ The Office เช่นเดียวกับในการ์ตูนอย่าง Family Guy, American Dad!, South Park, The Simpsons และ The Venture Bros. หรือแม้กระทั่งในโฆษณาอย่างเคเอฟซี ฮาวาย หรืออย่าง Red vs. Blue การ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ที่เหมือนเข้าไปยุ่งกับหนึ่งในตอนจบของเรื่อง ผู้ผลิต Red vs. Blue ใช้ตอนเกริ่นของ อสุรกายดงดิบ มาใช้อีกในตอนของ The Strangerhood และยังเป็นไข่อีสเตอร์ ในวิดีโอเกมของค่ายวาลว์คอร์โปเรชัน ใน Half-Life 2: Episode Two และหมายเลขในเรื่อง 4, 8, 15 และ 16 ก็อยู่บนจอขณะรอข้อมูลในวิดีโอเกม Skate นอกจากนั้นใน World of Warcraft ยังมีหลุมหลบภัยบนเกาะในโชลาซาร์เบซิน ที่หมายเลข 5, 9, 16, 17, 24, 43 ถูกเขียนไว้ (เลขมากกว่าหมายเลขใน อสุรกายดงดิบ อยู่ 1) หนังสือการ์ตูนต่าง ๆ มีเนื้อเรื่องที่อ้างถึง อสุรกายดงดิบ อย่างเรื่อง Catwoman และ The Thing รวมถึง Monty และ Over the Hedge ทั้งการ์ตูนในเว็บไซต์อย่าง Piled Higher and Deeper[133] และ Penny Arcade[134]และนิตยสารขำขันอย่าง Mad เป็นต้น นอกจากนี้วงร็อกหลายวงที่ทำเพลงในธีมและชื่อเพลงที่มาจากตอนในซีรีส์ อย่างเช่นเพลงของวงโมนีน ( เพลงชื่อ "Don't Ever Tell Locke What He Can't Do") วงเซนเซสเฟล (เพลง "Lost And Found" และ "All The Best Cowboys Have Daddy Issues") วงแกตบีส์อเมริกันดรีม (เพลง "You All Everybody" และ "Station 5: The Pearl")

หลังจากตอน "Numbers" ออกอากาศเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 2005 มีหลายคนใช้หมายเลขในเรื่อง (4, 8, 15, 16, 23 และ 42) ในการแทงล็อตเตอรี จากข้อมูลของ พิตส์เบิร์จทริบูนรีวิว ระบุว่า ภายใน 30 วัน หมายเลขเหล่านี้มากกว่า 500 ครั้ง[135] นอกไปกว่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน มีคนมากกว่า 200 คนในมิชิแกนเพียงแห่งเดียวใช้เลขนี้ซื้อ เมกามิลเลียนลอตเตอรี[136] และเดือนตุลาคม กว่าพันคนใช้หมายเลขเหล่านี้ในหลายรัฐซื้อพาวเวอร์ลอตเตอรี[137][138]

สื่ออื่น[แก้]

ตัวละครและฉากของซีรีส์ อสุรกายดงดิบ ปรากฏในรายการโทรทัศน์อื่นอยู่หลายครั้ง ทั้งทางสิ่งพิมพ์ บนอินเทอร์เน็ต และวิดีโอสั้นสำหรับโทรศัพท์มือถือ นวนิยาย 3 เรื่องจากสำนักพิมพ์ไฮเปอเรียนบุ๊ก มีเจ้าของคือดิสนีย์ บริษัทในเครือเอบีซี อย่าง Endangered Species (ISBN 0-7868-9090-8) และ Secret Identity (ISBN 0-7868-9091-6) ทั้ง 2 เล่มประพันธ์โดยเคธี แฮปกา และ Signs of Life (ISBN 0-7868-9092-4) โดยแฟรงก์ ทอมสัน นอกจากนั้นไฮเปอเรียน ตีพิมพ์หนังสือแนวเรื่องซ้อนเรื่อง ชื่อ Bad Twin (ISBN 1-4013-0276-9) เขียนโดยลอเรนซ์ เชมส์ ฝ่ายการตลาดของเอบีซี[139] ที่ใช้ชื่อแต่งขึ้นในนาม "แกรี ทรูป" ที่อ้างว่าเป็นผู้โดยสารสายการบินโอเชียนิกเที่ยวบิน 815

นอกจากนั้นยังมีการตีพิมพ์หนังสือไม่เป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์ อย่าง Finding Lost: The Unofficial Guide (ISBN 1-55022-743-2) โดยนิกกี สแตฟฟอร์ดและพิมพ์โดย อีซีดับเบิลยูเพรส เป็นหนังสือรายละเอียดของซีรีส์สำหรับแฟนและสิ่งใหม่ของซีรีส์ หนังสือ What Can Be Found in LOST? (ISBN 0-7369-2121-4) โดยจอห์น แอนเคอร์เบิร์กและดิลลอน เบอร์โร ตีพิมพ์โดยฮาร์เวสต์เฮาส์ เป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณของซีรีส์ในมุมมองของคริสเตียน หนังสือ Living Lost: Why We're All Stuck on the Island (ISBN 1-891053-02-7) โดยเจ. วูด[140] ตีพิมพ์โดยแกเรตต์เคาน์ตีเพรส เป็นผลงานแรกที่วิจารณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมจากซีรีส์ หนังสือค้นพบเกี่ยวกับการสู้รบที่แปลกของสงคราม (การขาด) ข้อมูลและการก่อการร้าย และการถกเถียงเรื่องเรื่องเล่าของคนดูกับบทบาทอย่างตัวละครในเรื่อง ผู้เขียนยังได้เขียนคอลัมน์ในบล็อกด้วย[141] ในระหว่างช่วงที่สองของฤดูกาลที่ 3 ให้กับร้านพาเวลส์บุ๊กส์ มีเรื่องราวการอภิปรายของแต่ละตอนที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ ปรัชญาและความเชื่อมโยงกับเรื่องเล่า

โปรดิวเซอร์รายการของซีรีส์นี้ยังได้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต ในการขยายเรื่องราวเบื้องหลังของเรื่องด้วย เช่น ในช่วงฤดูกาลแรก เรื่องแต่ประจำวันที่ไม่เคยมาก่อนของผู้รอดชีวิต ชื่อ "Janelle Granger" ได้ถูกนำเสนอทางเว็บไซต์ของเอบีซีของซีรีส์นี้ และในทำนองเดียวกันเว็บไซต์ต่อยอดเกี่ยวกับเรื่องแต่งของสายการบินโอเชียนิก ปรากฏในฤดูกาลแรก ที่มีไข่อีสเตอร์และร่องรอยเกี่ยวกับรายการ และยังมีอีกเว็บไซต์หนึ่งที่ต่อยอดไปหลังจากออกฉายตอนที่ชื่อ "Orientation" มีเรื่องเกี่ยวกับมูลนิธิฮันโซ ในสหราชอาณาจักรยังมีเรื่องราวเบื้องหลังของหลายตัวละครที่มีใน "Lost Untold" เป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของ อสุรกายดงดิบ ทางช่อง 4 นอกไปจากนั้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 เอบีซียังได้มีพอดแคสติงอย่างเป็นทางการ มีผู้จัดคือนักเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างของซีรีส์ เดมอน ลินเดลอฟและคาร์ลตัน คิวส์ เนื้อหาโดยทั่วไปจะเป็นการสนทนาเกี่ยวกับตอนของสัปดาห์นั้น บทสัมภาษณ์ของนักแสดงและคำถามจากผู้ชม[142] ช่องสกายวันก็มีออกพอดแคสติงจัดโดยเอียน ลี ทางเว็บไซต์ของช่อง มีการวิเคราะห์แต่ละตอนหลังออกอากาศในสหราชอาณาจักร[143]

การตีตลาดของเกมออนไลน์ที่ถึงจุดสูงสุดอย่าง Lost Experience เกมอัลเทอร์เนทีฟเรียลลิตีทางอินเทอร์เน็ต ผลิตโดยช่อง 7 (ออสเตรเลีย) สถานีโทรทัศน์เอบีซี (สหรัฐอเมริกา) และช่อง 4 (สหราชอาณาจักร) โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2006 เกมนำเสนอเส้นเรื่อง 5 เส้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิฮันโซเป็นหลัก[144]

ทั้งยังมีตอนสั้น ๆ (เรียกว่า โมบิโซด) ที่เป็นวิดีโอบันทึก ออกครั้งแรกผ่านทางผู้สมัครสมาชิกกับเวริซอนไวร์เลส ผ่านระบบวี-แคสต์ แต่ก็เลื่อนออกไปเนื่องจากความขัดแย้งด้านสัญญา[145][146] โมบิโซดนี้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น Lost: Missing Pieces ออกอากาศตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ถึง 28 มกราคม ค.ศ. 2008

ของที่ระลึกลิขสิทธิ์[แก้]

นอกจากวรรณกรรมต่อยอดแล้ว ก็มีการออกผลิตภัณฑ์ที่มีที่มาจากซีรีส์ เช่น ของเล่น เกม ต่าง ๆ ที่เป็นสินค้ามีลิขสิทธิ์ วิดีโอเกม Lost: Via Domus ออกวางขาย ได้รับเสียงวิจารณ์ปานกลาง พัฒนาโดยยูบิซอฟต์ ออกในรูปแบบเครื่องเล่นวิดีโอเกมและคอมพิวเตอร์ในบ้าน[147] ขณะที่เกมลอฟต์พัฒนา Lost เป็นเกมบนโทรศัพท์มือถือและไอพอด[148] คาร์ดินอลเกมออกเกมกระดานชื่อ Lost เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2006[149] ทีดีซีเกมส์ ออกชุดเกมจิ๊กซอว์ จำนวน 1000 ชิ้น ออกมาเป็น 4 ชุดคือ "The Hatch," "The Numbers," "The Others" และ "Before the Crash" ที่เมื่อต่อเข้าด้วยกันทั้งหมด จะปรากฏร่องรอยเงื่อนงำของปริศนาทั้งหมดใน อสุรกายดงดิบ อิงก์เวิร์กส ตีพิมพ์การ์ดสะสม ซีรีส์นี้เป็น 2 ชุด และจะออกชุด Lost: Revelations set[150] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2006 แม็กฟาร์เลนทอยส์ ประกาศว่าจะออกหุ่นตัวละครแสดงท่าทางในเรื่อง[151] ออกขายชุดแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2006 และชุดที่ 2 ออกเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 มากกว่านั้นเอบีซีได้ขายสินค้าที่ระลึกจำนวนมากทางร้านออนไลน์ อย่างเช่น เสื้อผ้า อัญมณี และของสะสมอื่น[152]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Lost: About the Show - ABC.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 July 2009. สืบค้นเมื่อ 20 September 2008.
  2. "Pilot: Part 1". Lost. ฤดูกาล 1. ตอน 1. 2004-09-22. ABC.
  3. มีนาคมนี้ ยูบีซีส่ง ‘LOST’ ซีรีส์ใหม่ล่าสุด ออกอากาศเป็นที่แรกและที่เดียว ทางช่อง AXN (ยูบีซี 19)
  4. Lost: Missing Pieces เก็บถาวร 12 พฤศจิกายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," ABC. Retrieved on November 9, 2007.
  5. Ryan, Tim (2005-01-26). "High filming costs force ABC network executives to consider relocating". Honolulu Star-Bulletin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 September 2008. สืบค้นเมื่อ 20 September 2008.
  6. 58th Primetime Emmy Award Nominees and Winners - Emmys.tv
  7. Thomas, Rob (1 February 2006). "Your Veronica Mars Questions Answered!". TVGuide.com Insider. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 October 2008. สืบค้นเมื่อ 20 September 2008.
  8. Hughes, Adam (cover artist). Catwoman, issue 51. January 25, 2006.
  9. "Lost Found In Half-Life 2". Kotaku. 14 October 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 March 2010. สืบค้นเมื่อ 20 September 2008.
  10. "The Lost Numbers in HL2". Kotaku. 14 October 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 July 2012. สืบค้นเมื่อ 20 September 2008.
  11. "Global interactive phenomenon, Lost Experience, to reveal meaning behind mysterious numbers on international Hit TV show Lost". Disney-ABC Television Group. 25 July 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 August 2006. สืบค้นเมื่อ 20 September 2008.
  12. ABC Medianet, (April 14, 2008) "ABC Announces Special Two-Hour Finales of "Grey's Anatomy" and "Lost"[ลิงก์เสีย]." Retrieved on April 15, 2008.
  13. Remaining "Lost" Seasons Extended By Two Hours, Yahoo!, May 9, 2008
  14. "Lost: Getting Your Fix," Game Informer 177 (January 2008): 79.
  15. Bernstein, David (August 2007). "Cast Away". Chicago magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2012. สืบค้นเมื่อ 25 July 2009.
  16. 16.0 16.1 Craig, Olga (14 August 2005). "The man who discovered Lost — and found himself out of a job". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2006. สืบค้นเมื่อ 31 August 2021.
  17. Jensen, Jeff. "When Stephen King met the Lost boys..." EW.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 November 2014. สืบค้นเมื่อ 24 November 2007.
  18. Burk, Bryan, Lost Season 1 DVD (extras), Buena Vista Home Entertainment, September 6, 2005.
  19. Abrams, J. J and Lloyd Braun, Lost Season 1 DVD (extras), Buena Vista Home Entertainment, September 6, 2005.
  20. Ryan, Tim (17 May 2004). "New series gives Hawaii 3 TV shows in production". Honolulu Star-Bulletin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 June 2008. สืบค้นเมื่อ 12 August 2009.
  21. "EIDC Issues First Overview of Pilot Production Activity and Economic Impact" (PDF) (Press release). Entertainment Industry Development Corporation. 4 May 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 18 February 2006. สืบค้นเมื่อ 18 September 2006.
  22. Bianco, Robert (26 April 2005). "A good season, with reason". USA Today.
  23. "Comic-Con 2004: Saturday's Programming". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 February 2007. สืบค้นเมื่อ 12 August 2009.
  24. Official Lost Podcast เก็บถาวร 13 เมษายน 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน January 9, 2006.
  25. 25.0 25.1 Lost: Season 1 Original Soundtrack- Amazon.com
  26. Lost: Season 2 Original Soundtrack- Amazon.com
  27. Veitch, Kristin (16 October 2004). "Lost Secrets Found!". E! Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 December 2004. สืบค้นเมื่อ 22 August 2009.{{cite news}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) Retrieved from Internet Archive on December 8, 2004.
  28. Nichols, Katherine (21 May 2006). "Lost Home". Honolulu Star-Bulletin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2008. สืบค้นเมื่อ 22 August 2009.
  29. Ryan, Tim (24 August 2005). "Reel News". Honolulu Star-Bulletin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2008. สืบค้นเมื่อ 22 August 2009.
  30. Godvin, Tara (25 May 2005). "Oahu plays the world". Honolulu Star-Bulletin.
  31. Wilkes, Neil (September 4, 2008). "Alan Dale talks Lost, Grey's". Digital Spy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 May 2009. สืบค้นเมื่อ May 4, 2009.
  32. "Apple Announces Hit Television Programming Now Available on the iTunes Store in the UK" (Press release). Apple. 29 August 2007.
  33. "iTunes Deutschland verkauft TV-Serien". heise online. 2 April 2008.
  34. Chaffin, Joshua; Aline van Duyn (10 April 2006). "Disney's ABC to offer TV shows free on web". Financial Times.
  35. "Disney-ABC Television Group takes ABC Primetime Online" (Press release). DisneyABC TV. 10 April 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 February 2007. สืบค้นเมื่อ 24 August 2009.
  36. Whitney, Daisy (February 12, 2009). "Lost, SNL, Grey's Tops in Online Viewing, Nielsen Says". TVWeek. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 November 2013. สืบค้นเมื่อ February 12, 2009.
  37. "Lost Episodes Online - Channel 4.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 October 2009. สืบค้นเมื่อ 24 August 2009.
  38. "TF1 Lost Episodes Online (French)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 March 2007. สืบค้นเมื่อ 31 August 2021.
  39. Mick, Jason (21 September 2007). "ABC to Offer Free Shows Online Via AOL". DailyTech. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2011. สืบค้นเมื่อ 24 August 2009.
  40. Microsoft, "Xbox LIVE Marketplace - Lost เก็บถาวร 18 มิถุนายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน."
  41. Lambert, David (March 6, 2009). "Lost DVD news: Seasons 1 and 2 Announced for Blu-ray Disc". TV Shows on DVD. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2009. สืบค้นเมื่อ March 6, 2009.
  42. Adam-Troy Castro (13 September 2006). "Lost Season 2 DVD". Sci Fi Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 May 2009. สืบค้นเมื่อ 24 August 2009.
  43. "Lost: Disney Lowers List Price of Lost Season 3 on Hi-Definition Blu-Ray Discs". TV Shows on DVD.com. 19 September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 December 2007. สืบค้นเมื่อ 24 August 2009.
  44. TV Shows on DVD, (April 22, 2008) "Lost DVD news: Announcement for Lost - The Complete Fourth Season: The Expanded Experience เก็บถาวร 11 มิถุนายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Retrieved on June 8, 2008.
  45. Amazon.co.uk
  46. Lost DVD news: Season 4 Press Release เก็บถาวร 11 มิถุนายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Retrieved on July 2, 2008
  47. Lost reigns supreme on DVD - TV.com เก็บถาวร 30 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน September 13, 2006.
  48. Lost: Season 2 Tops this Week's DVD Sales Chart เก็บถาวร 21 กันยายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน September 14, 2006.
  49. Lost Season 2 DVD Tops Charts September 14, 2006.
  50. DVD Sales Chart - Week ending Dec 30, 2007
  51. Goddard, Drew (writer) & Vaughan, Brian K. (writer) & Williams, Stephen (director), "Confirmed Dead". Lost, ABC. Episode 2, season 4. Aired on February 7, 2008.
  52. Keveney, Bill (11 August 2005). "TV hits maximum occupancy". USA Today.
  53. Keck, William (13 September 2005). "Lost in the face of death". USA Today.
  54. "Interview with Damon Lindelof and Carlton Cuse". Comic Con. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 May 2007. สืบค้นเมื่อ 25 August 2009. Carlton: จะมีตัวละครใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ พวกเราพยายามทำให้คนดูหลายสิ่ง เพื่อให้ได้ตัวละครที่ชื่นชอบและแนะนำตัวละครใหม่และเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้อ ซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอของรายการ
  55. ABC: Turncoat Michael Returns to Lost Island, ABC7Chicago.com, July 25, 2007.
  56. Jensen, Jeff. "Lost: Five Fresh Faces". EW.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 October 2009. สืบค้นเมื่อ 30 August 2007.
  57. Godwin, Jennifer (30 May 2008). "Lost Redux: Promises to Keep, and Miles to Go Before We Sleep". E!. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2012. สืบค้นเมื่อ 5 June 2008.
  58. Malcom, Shawna (30 May 2008). "Harold Perrineau Dishes on his Lost Exit (Again)". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 May 2008. สืบค้นเมื่อ 30 May 2008.
  59. 59.0 59.1 Before They Were Lost (Documentary). Lost: The Complete First Season: Buena Vista Home Entertainment.
  60. Braun, Kyle. "Michael Emerson, Lost Interview". UGO Networks. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 April 2008. สืบค้นเมื่อ 21 March 2008.
  61. Hartman, Hope & Rous, Alison (December 14, 2007) "ABC Unveils Midseason Primetime Schedule," ABC Medianet. Retrieved on December 14, 2007.
  62. 62.0 62.1 62.2 ABC Gives Viewers 48 More Original Episodes of the Hit Drama Lost, Culminating in an Exciting Series Conclusion Posted May 7, 2007. Retrieved from Internet Archive on May 10, 2007.
  63. Mitovich, Matt (18 December 2008). "Lost Fans Will Get an Uninterrupted Season 5". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2014. สืบค้นเมื่อ 12 April 2009.
  64. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 July 2009. สืบค้นเมื่อ 19 September 2009.
  65. Malcom, Shawna (5 March 2008). "Lost's Killer Season". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2012. สืบค้นเมื่อ 20 March 2008.
  66. "Lost masterminds Carlton Cuse and Damen Lindelof drop hints about how ABC hit drama will end". Sunday Mercury. June 2, 2009. สืบค้นเมื่อ June 2, 2009.
  67. http://www.eonline.com/uberblog/watch_with_kristin/b128606_matthew_fox_tells_us_how_lost_ends_how.html
  68. Ben Rawson-Jones (29 May 2008). "Matthew Fox keeps quiet on 'Lost' ending". Digital Spy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 July 2009. สืบค้นเมื่อ 11 November 2008.
  69. Everything You Need to Know From the Lost Events at Comic-Con
  70. Benson, Jim. "The Lost Generation: Networks Go Eerie." Broadcasting & Cable, May 16, 2005.
  71. "IGN's Top 50 Lost Loose Ends: Page 1". IGN.com. 13 November 2006.
  72. Fienberg, Daniel (14 March 2005). "Lost Team Discusses Upcoming Death and Mysteries". Zap2It.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 December 2007. สืบค้นเมื่อ 29 August 2009.
  73. Idato, Michael (22 August 2005). "Asking for trouble". Sydney Morning Herald.
  74. Wharton, David Michael (17 July 2005). "Comicon 2005 news". Cinescape.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 February 2010. สืบค้นเมื่อ 29 August 2009.
  75. Grillo-Marxuach, Javier (22 July 2005). "Burning Questions". TheFuselage.com.
  76. "IGN's Top 50 Lost Loose Ends: Page 4". IGN.com. 13 November 2006.
  77. Warner, Tyrone (1 May 2007). "Father issues on Lost about to pay off". CTV.ca. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2008. สืบค้นเมื่อ 29 August 2009.
  78. Lindelof, Damon and Carlton Cuse. "BuddyTV Interviews Lost's Damon Lindelof and Carlton Cuse - and gets Answers!" Buddytv.com, March 7, 2007.
  79. Lindelof, Damon, Carlton Cuse, Jack Bender and Bryan Burk. "Man of Science, Man of Faith." Lost: The Complete Second Season, Buena Vista Home Entertainment. September 5, 2006. Audio commentary, disc 1.
  80. Oldenburg, Ann (October 4, 2005). "Is Lost a literal enigma?". USA Today.
  81. Franklin, Garth (9 November 2005). "Paul Dini Gives Lost Spoilers". DarkHorizons.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2008. สืบค้นเมื่อ 29 August 2009.
  82. "Season Program Rankings from 09/20/04 through 05/19/06". ABC Medianet. June 21, 2005. สืบค้นเมื่อ February 3, 2009.
  83. "Season Program Rankings from 09/15/05 through 05/31/06". ABC Medianet. May 31, 2006. สืบค้นเมื่อ February 3, 2009.
  84. "Season Program Rankings from 09/18/06 through 06/10/07". ABC Medianet. June 12, 2007. สืบค้นเมื่อ February 3, 2009.
  85. "Season Program Rankings from 09/24/07 through 06/15/08". ABC Medianet. June 17, 2008. สืบค้นเมื่อ February 3, 2009.
  86. "Season Program Rankings from 09/22/08 through 05/17/09". ABC Medianet. May 19, 2009. สืบค้นเมื่อ May 19, 2009.
  87. Seidman, Robert (May 25, 2010). "TV Ratings Top 25: Dancing Tops Idol With Viewers Again, Lost Finale Wins With Adults 18-49". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2010. สืบค้นเมื่อ May 25, 2010.
  88. Kissell, Rick (25 September 2004). "ABC, Eye have quite some night". Variety.
  89. "Final audience and ratings figures". The Hollywood Reporter. 27 May 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2005. สืบค้นเมื่อ 4 September 2009.
  90. "2005–06 primetime wrap". The Hollywood Reporter. 26 May 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 May 2006. สืบค้นเมื่อ 4 September 2009.
  91. Wilkes, Neil (23 September 2005). "US Ratings: Lost premiere draws 23 million". Digital Spy (UK). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2005. สืบค้นเมื่อ 4 September 2009.
  92. "Lost roars back with Thurs. win". The Hollywood Reporter. 2 February 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 July 2008. สืบค้นเมื่อ 4 September 2009.
  93. buddytv.com
  94. "CSI show 'most popular in world'". BBC. 31 July 2006.
  95. "Fans rediscover 'Lost' as premiere ratings climb". The Live Feed. February 3, 2010.
  96. United Press International, (September 16, 2007). "Lost star Terry O'Quinn wins best supporting drama actor Emmy." RealityTVWorld.com. Retrieved on February 19, 2008.
  97. Academy of Television Arts & Sciences, (July 17, 2008) "Complete 2008 Nominations List". Retrieved on July 17, 2008.
  98. "Best of 2005". Metacritic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 February 2009. สืบค้นเมื่อ 12 July 2005.
  99. Poniewozik, James. "Top 10 New TV Series." เก็บถาวร 25 พฤษภาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Time.com. Retrieved March 21, 2008.
  100. James Poniewozik (October 2007). "The 100 Best TV Shows of All-TIME". Time Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 October 2011. สืบค้นเมื่อ 3 May 2007.
  101. Empire: Features
  102. Carter, Bill. "Tropical Teaser: Lost Clues Decoded." NYT.com Retrieved May 21, 2008.
  103. Gorman, Steve (October 1, 2004). "ABC May Have Found a Hit in 'Lost'". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-07. สืบค้นเมื่อ 6 September 2009.
  104. Simunic, Steven, (March 15, 2007) "Why ABC's Lost Is Losing It[ลิงก์เสีย]," The Daily Californian. Retrieved on September 8, 2007.
  105. Porter, Rick, (November 8, 2006) "Lost: Yep, That's a Cliffhanger," Zap2It. Retrieved on September 7, 2007.
  106. Martin, Ed, (January 31, 2007) "Exclusive Interview! Lost Executive Producers Damon Lindelof and Carlton Cuse เก็บถาวร 30 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," MediaVillage. Retrieved on September 6, 2007.
  107. Jensen, Jeff & Snierson, Dan, (February 8, 2007) "Lost and Found เก็บถาวร 26 เมษายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," Entertainment Weekly. Retrieved on April 3, 2007.
  108. Goldman, Eric, (November 7, 2007) "Writers Strike: Should Lost Air This Season?," IGN. Retrieved on November 8, 2007.
  109. Brownfield, Robin, (March 28, 2007) "Naveen Andrews: Lost Should Start Earlier เก็บถาวร 5 พฤศจิกายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," SyFy Portal. Retrieved on September 8, 2007.
  110. Ausiello, Michael, (November 7, 2007) "Ausiello on Lost, Buffy, Heroes, ER and More!," TV Guide. Retrieved on November 10, 2007.
  111. Lachonis, Jon, (July 20, 2007) "Lost – When is an Emmy Snub not a Snub?," BuddyTV. Retrieved on September 9, 2007.
  112. Jensen, Jeff, (May 29, 2007) "Flashforward Thinking เก็บถาวร 18 ตุลาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," Entertainment Weekly. Retrieved on September 7, 2007.
  113. Pierce, Scott D., (May 23, 2007) "Is Lost Found?," Deseret Morning News. Retrieved on September 8, 2007.
  114. Malcolm, Shawna, (March 29, 2007) "Lost Boss Explains Last Night's Double Demise เก็บถาวร 3 เมษายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," TV Guide. Retrieved on April 2, 2007.
  115. Adalian, Josef, (May 6, 2007) Lost Set for Three More Years, Variety. Retrieved on April 12, 2009.
  116. Ryan, Maureen, (January 14, 2007) "Lost Producers Talk About Setting an End Date and Much More เก็บถาวร 23 ตุลาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," Chicago Tribune. Retrieved on September 6, 2007.
  117. Williams, Don, (January 31, 2008) "Lost: Episode 4.1 'The Beginning of the End' Live Thoughts", BuddyTV. Retrieved on January 31, 2008.
  118. Ausiello, Michael, (April 11, 2008) "It's Official: Lost Finds Extra Hour... But There's a Twist! เก็บถาวร 4 พฤศจิกายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", TV Guide. Retrieved on July 8, 2008.
  119. Goodman, Tim, (January 30, 2008) "Want to Get Lost? There's Still Time as Season Starts", San Francisco Chronicle. Retrieved on February 2, 2008.
  120. Metacritic, (January 31, 2008) "Lost (ABC): Season 4 เก็บถาวร 24 กุมภาพันธ์ 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Retrieved on February 16, 2008.
  121. Metacritic, (January 6, 2008) "Wire, The (HBO): Season 5 เก็บถาวร 2 เมษายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Retrieved on July 8, 2008.
  122. Krukowski, Andrew, (July 6, 2008) "Favorites Hold Fast เก็บถาวร 29 มีนาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", TVWeek. Retrieved on July 7, 2008.
  123. ABC Medianet, (May 7, 2007) "Lost to Conclude in 2009–10 Television Season". Retrieved on July 31, 2007.
  124. Lachonis, Jon "DocArzt", (February 13, 2008) "Rebecca Mader Lost Interview เก็บถาวร 20 มีนาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", UGO Networks. Retrieved on March 16, 2008.
  125. "Sites in the news: Lostaways". The San Diego Union Tribute. 7 February 2005. สืบค้นเมื่อ 29 August 2006.
  126. 126.0 126.1 126.2 "ABC Television and Creation Entertainment bring the Official Lost Fan Club and Special Events to Cities Around the World" (Press release). ABC. 12 May 2005. สืบค้นเมื่อ 29 August 2006.
  127. Kaplan, Don (15 June 2005). "Lost Fans Hold Convention for Show". FOXNews. สืบค้นเมื่อ 29 August 2006.
  128. Bancroft, Colette (2006-01-10). "Web ensnares Lost souls". St. Petersburg Times. สืบค้นเมื่อ 29 August 2006.
  129. Ahrens, Frank (4 December 2005). "Lost Fans Find A Niche on the Internet". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 29 August 2006.
  130. 130.0 130.1 Bancroft, Colette (2006-01-11). "Fans find Lost world on Net". St. Petersburg Times. สืบค้นเมื่อ 29 August 2006.[ลิงก์เสีย]
  131. Buckendorff, Jennifer (2006-01-10). "Fans play TV series Lost like an interactive video game". The Seattle Times. สืบค้นเมื่อ 29 August 2006.
  132. Lowry, Tom (24 July 2006). "Network Finds Marketing Paradise with Lost". BusinessWeek Online. สืบค้นเมื่อ 29 August 2006.
  133. Piled Higher and Deeper: Previously, on Lost September 27, 2006.
  134. Penny Arcade: Ba Dum Bum Psh November 1, 2006.
  135. "No winning ticket found with Lost numbers". Pittsburgh Tribune-Review. 19 June 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 December 2005. สืบค้นเมื่อ 12 September 2009.
  136. Rook, Christine (5 March 2005). "Lost numbers come up losers". Lansing State Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 March 2008. สืบค้นเมื่อ 5 February 2022.
  137. Serpe, Gina (20 October 2005). "Lost Numbers Lose Millions". Eonline.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2005. สืบค้นเมื่อ 12 September 2009. Eva Robelia, spokeswoman for the Wisconsin Lottery, says more than 840 people across five states played the TV-inspired numbers, including 266 hopeful Hurleys in New Hampshire
  138. Weaver, Teresa (19 October 2005). "In record Powerball, some to bank on bad luck". Columbia Missourian. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 December 2005. สืบค้นเมื่อ 12 September 2009. For the Powerball drawing on Oct. 12, 461 people selected the six numbers within Missouri, said Susan Goedde of the Missouri Lottery. If you add those to the 204 tickets in Kansas, 117 in Louisiana, 134 in Iowa and the rest of the 25 states included in the Powerball take, you end up with a lot of people sharing the winnings.
  139. Zeitchik, Steven (18 June 2006). "Inside Move: It's a Shames". Daily Variety. สืบค้นเมื่อ 19 June 2006.
  140. "Wood, J. Living Lost: Why We're All Stuck on the Island. GCPress.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 August 2008. สืบค้นเมื่อ 19 September 2009.
  141. Lost blog by J. Wood – Powells.com
  142. "Lost: Podcasts – ABC.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 August 2009. สืบค้นเมื่อ 19 September 2009.
  143. "Lost: Podcasts - SkyOneOnline.co.uk". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2008. สืบค้นเมื่อ 19 September 2009.
  144. "Global interactive phenomenon, Lost Experience, to reveal meaning behind mysterious numbers on international hit TV show Lost". ABC Press Release (Internet Archive). 25 July 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 February 2007. สืบค้นเมื่อ 20 February 2007.{{cite news}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  145. Wallenstein, Andrew and Jesse Hiestand (25 April 2006). "ABC, unions reach deal on cell phone TV shows". Reuters. {{cite news}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  146. "Disney-ABC Television Group's Touchstone Television Finalizes Agreements to Partner with Guilds on "Lost Video Diaries," Original Mini-Episodes Inspired by the Emmy Award-Winning Series for Mobile Distribution". ABC Press Release (Internet Archive). 24 April 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 October 2006. สืบค้นเมื่อ 30 October 2006.{{cite news}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  147. Ubisoft and Touchstone team up to create Lost video game." Ubisoftgroup.com, May 22, 2006. Retrieved March 21, 2008.
  148. "Gameloft's Lost Housewives." เก็บถาวร 2012-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Wireless. IGN.com, August 14, 2006. Retrieved March 21, 2008.
  149. Lost:The Board Game - LostBoardGame.com
  150. "Lost:Preview Set trading cards - Inkworks.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 June 2010. สืบค้นเมื่อ 12 September 2009.
  151. Keck, William (23 May 2006). "These characters are toying with us". USA Today. สืบค้นเมื่อ 20 June 2006.
  152. LOST: Apparel, Collectibles, Jewelry, Games & More - Official ABC Store

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

เว็บไซต์ที่เกี่ยวเนื่อง[แก้]