เรียลลิตีโชว์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก รายการเรียลลิตี้)

เรียลลิตีโชว์ หรือที่ถูกว่า รีแอลลิทีโชว์ เป็นรายการโทรทัศน์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งมักจะดำเนินไปโดยใช้สถานการณ์จริง และไม่มีการเขียนบท คัดเลือกผู้ร่วมรายการจากผู้ชมทางบ้าน ซึ่งจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทางทีมงานได้จัดเตรียมเอาไว้ ผู้เข้าร่วมรายการจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ รายการโทรทัศน์เช่นนี้ เริ่มมาช้านานแล้ว แต่เพิ่งจะนิยมอย่างแพร่หลายเมื่อราว พ.ศ. 2543 (โดยเฉพาะจากรายการ Expedition Robinson)

นักวิจารณ์บางท่านเห็นว่า การใช้คำว่าเรียลลิตีโชว์นี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะรายการโทรทัศน์แบบนี้จำนวนมากให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันไปอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่แปลกแตกต่างไปจากการใช้ชีวิตจริง จึงไม่น่าจะถือว่าเป็นชีวิตจริงของพวกเขา จากการวิจัยของ Nielsen Media Research พบว่ารายการเช่นนี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 56 ของรายการโชว์ทางโทรทัศน์ของอเมริกา (ทั้งรายการทางเคเบิลทีวี และรายการจากสถานีโทรทัศน์ปกติ) และยังมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 69 ของรายการโชว์ทางโทรทัศน์ทั่วโลก (ทั้งรายการทางเคเบิลทีวี และรายการจากสถานีวิทยุ)

ประวัติรายการเรียลลิตีโชว์[แก้]

เกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1973 ชื่อรายการ An American Family เป็นรายการเก็บภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว William C. Loud มีผู้ชมถึง 10 ล้านคน จนเมื่อปี ค.ศ. 1994 เรียลลิตีโชว์ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และได้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ของเอ็มทีวี ที่ชื่อ “The Real World” นำคน 7 คนที่มีบุคลิกต่างกันมาอยู่ร่วมกัน ที่รายการซีซั่นที่ 3 ของรายการนี้ประสบความสำเร็จเพราะเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง Pedro Zamora เกย์ผู้ติดเชื้อ HIV กับ Puck อาชีพ Messenger และ Pedro ได้เสียชีวิตในที่สุด และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรียลลิตีโชว์ในยุคต่อมา

ประเภทของเรียลลิตีโชว์[แก้]

เรียลลิตีโชว์ประเภทกึ่งสารคดี
จะมีลักษณะนำเสนอชีวิตส่วนต่างๆ ไม่มีบทพูด ไม่ใช่ลักษณะของเกม ตัวอย่างรายการดังเช่น MTV's Laguna Beach: The Real Housewives of Orange County
เรียลลิตีโชว์ประเภทอยู่ในสภาพแวดล้อมพิเศษ
จะมีลักษณะการสร้างสภาพแวดล้อมพิเศษให้คนมาอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นด้วยกัน เช่น Temptation Island, The Real World และ Solitary
เรียลลิตีโชว์ของดารา คนดัง
จะเผยชีวิตของดาราดัง ชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น The Osbournes (ครอบครัวออสบอร์น), Newlyweds (เจสสิก้า ซิมพ์สัน และ นิค ลาเช่), Keeping Up With The Kardashian (ครอบครัวคาร์เดเชียน) ในที่นี่รวมถึงลักษณะรายการที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเฉพาะ เช่น ไฮโซบ้านนอก,ด้ายใจ(เป็นรายการ Reality Variety ซึ่งมีครอบครัวหนึ่งมาขอเล่น Reality โดยการพาคุณแม่ของบ้านไปพักร้อน แล้วคุณพ่อและคุณลูกต้องอยู่กันเอง) เป็นต้น
เรียลลิตีโชว์ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
จะเผยลักษณะการทำงานต่างๆ ของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเช่น COPS และ The Restaurant เป็นต้น
เรียลลิตีเกมโชว์
เป็นการแข่งขันเพื่อชิงรางวัล โดยมีโจทย์ต่างๆ ตามคอนเซ็บต์ของรายการ เช่น บิ๊ก บราเธอร์, ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย, เซอร์ไวเวอร์, ดิ อะเมซิ่ง เรซ, อัจฉริยะยกบ้าน, So You Think You Can Dance และ อเมริกันไอดอล,อัจฉริยะข้ามคืน เป็นต้น
เรียลลิตีโชว์ประเภทหางาน
มีรางวัลเป็นงานที่ต้องการ เช่น The Apprentice, เดอะเฟซไทยแลนด์, อเมริกาส์ เน็กซ์ ท็อป โมเดล และ Hell's Kitchen เป็นต้น
เรียลลิตีโชว์ประเภทกีฬา
นำส่วนประกอบกีฬามาเป็นคอนเซ็บต์หลัก เช่น The Contender (รายการนี้ผู้เข้าแข่งขันที่ตกรอบคนนึงฆ่าตัวตายหลังถูกคัดออก)
เรียลลิตีโชว์ประเภทปรับปรุงตัวเอง /แปลงโฉม
มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงตัวเอง เช่นการผ่าตัด การลดน้ำหนัก ให้ตัวเองดีขึ้น เช่น Extreme Makeover, Queer Eye For The Straight Guy, The Swan, The Biggest Loser และ Celebrity Fit Club เป็นต้น
เรียลลิตีโชว์ประเภทนัดบอด
จะนำผู้เข้าแข่งขันที่ไม่รู้จักกัน มานัดบอด ตามเงื่อนไขต่างๆ รายการประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในช่องเอ็มทีวี เช่น Dis-missed Wanna Comein และ พรหมลิขิต บทที่ 1 (รายการนี้ก่อนตอนจบจะออกอากาศได้ถูกทางช่องแบนเพราะมีเนื้อหาไม่เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชน)[รายการนี้ตอนออกอากาศยังไม่มีการจัดประเภทรายการจากกรมประชาสัมพันธ์]
เรียลลิตีโชว์ประเภททอล์คโชว์
อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของรายการ โดยนำผู้ร่วมรายการมาสัมภาษณ์ เช่น The Jerry Springer Show
เรียลลิตีโชว์ประเภทซ่อนกล้อง (Hidden Camera)
จะซ่อนกล้องไม่ให้ผู้ร่วมรายการรู้ตัว โดยอาจสร้างสถานการณ์ต่างๆ เช่น Candid Camera หรือ อาจจะรวมถึง MTV Punk'd
เรียลลิตีโชว์ประเภทคนหาตัวจริง
จะมีผู้เข้าแข่งขัน 1 คน และที่เหลือจะมีนักแสดงที่คัดเลือกมา ให้ผู้เข้าแข่งขันได้ใช้ชีวิตกับคนเหล่านั้นและหาตัวจริงตามลักษณะคอนเซ็บต์รายการ ตัวอย่างเช่น Boy Meets Boy และ Joe Millionaire เป็นต้น

รายการเรียลลิตีโชว์ในไทย[แก้]

โดยมาก รายการเรียลลิตีโชว์ มักจะออกอากาศในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ซึ่งเป็นเวลาทองของสถานีต่างๆ ทำให้มีความนิยมมาก โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในวัยเรียนจนถึงวัยทำงานที่นอนดึก ให้ได้ติดตามกัน แต่ก็มีบางรายการที่ออกอากาศในช่วงกลางวันเช่นกัน

  • เกมชีวิต ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยการผลิตของ กันตนา เมื่อต้นปี พ.ศ. 2543 (วันอาทิตย์ เวลา 17.00 น.) ซึ่งตอนนั้นได้ใช้รูปแบบรายการของเซอร์ไวเวอร์ (Survivor) แต่รูปแบบของของการเล่นเกมส์จะเปลี่ยนทุกซีซั่น ในซีซั่นที่ 3 จึงได้เสียงตอบรับที่ไม่ดีในด้านการดำเนินเกมส์ที่ใช้วิธีของทางทหาร สร้างความกดดันทั้งผู้เล่นเกมส์และคนดู จนคนดูไม่สามารถรับได้ จึงได้ยุติลงในที่สุด
  • Survivor ในประเทศไทย ได้ออกอากาศทางฟรีทีวีและทางเคเบิลทีวี โดยลิขสิทธิ์ทางฟรีทีวี เป็นลิขสิทธิ์ของกันตนา (ฉายฤดูกาลที่ 1-3 ทางช่อง 5 เวลา 19.30 น.- 20.00 น. และฤดูกาลที่ 4-5 ทางช่อง 9 เวลา 22.00 น.-23.00 น. เมื่อต้นปี พ.ศ. 2546) ส่วนลิขสิทธิ์ทางเคเบิลทีวี คือ ทรูวิชั่นส์ โดยฉายฤดูกาลที่ 1-3 ตามหลังอเมริกาประมาณ 3 เดือนทางช่อง AXN และฉายฤดุกาลที่ 5-ฤดูกาลล่าสุด ตามหลังอเมริกาประมาณ 7 ชั่วโมง ทางช่อง True Series พร้อมทั้งยังมีการออกอากาศซ้ำหลายรอบ (ฤดูกาลที่ 4 เป็นฤดูกาลเดียวที่ไม่ได้ฉายทาง ทรูวิชั่นส์)
  • เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ออกอากาศทางสถานีโมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9) ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา
  • รักแท้บทที่ 1 ออกอากาศทางสถานีกองทัพบกช่อง5 ในปี พ.ศ. 2548 (วันศุกร์ เวลา 20.30 น.) ผลิตรายการโดย แกรมมี่ เทเลวิชั่น เป็นเรียลลิตีประเภทนัดบอด แต่เนื่องด้วยจากกระแสวิจารณ์ทางสังคม ที่ตีความเนื้อหาของรายการผิดเพี้ยนไปจากเดิม จึงถูกยุติบทบาทลงไปในไม่กี่เดือน
  • ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ออกอากาศทางเคเบิลทีวี ทาง ทรูวิชั่นส์ ซึ่งทรูได้ซื้อลิขสิทธิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และได้ออกอากาศทางฟรีทีวีตั้งแต่ ซีซั่น 2 โดย ซีซั่น 2 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในปี พ.ศ. 2548 และเมื่อขึ้นซีซั่นที่ 3 ได้ออกกาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปี พ.ศ. 2549 โดยโมเดิร์นไนน์ทีวีได้ออกอากาศซีซั่นที่ 3 ถึงซีซั่นที่ 10 (พ.ศ. 2549 - 2556) และเปลี่ยนไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลทรูโฟร์ยูในซีซั่นที่ 11 (พ.ศ. 2557) จนถึงปัจจุบัน เป็นรายการเรียลลิตีโชว์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทยและเป็นรายการเรียลลิตีโชว์รายการแรกของไทยที่ถ่ายทอดสดการใช้ชีวิตของผู้เข้าแข่งขันในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงตั้งแต่ต้นจนจบฤดูกาล
  • UBC Human Resource เป็นรายการประเภทหางาน จัดโดยทรูวิชั่นเองทั้งหมด รูปแบบรายการไม่ได้เป็นที่น่าสนใจ ไม่ตื่นเต้น ไม่สนุกสนาน ไม่สามารถดึงดูดผู้ชมไม่ว่าจะทางด้านใดๆ ได้เลย อีกทั้งยังออกอากาศเฉพาะในทรูเท่านั้น ทำให้รายการไม่เป็นที่รู้จักแต่อย่างใด
  • บิ๊ก บราเธอร์ โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรก วันที่ 2 เมษายน 2548 ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และทางเคเบิล ทางUBC ช่อง 16 (ตลอด 24 ชม.) จนรายการจบ
เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมากถึงเรื่องที่ทางรายการกล้าอนุญาตให้ ประธานแฟนคลับรายการจัดกิจกรรมพาสมาชิกชมรมบิ๊กบราเธอร์ แฟนคลับถึง 50 คน นำเข้าไปชมภารกิจของผู้แข่งขัน ได้ถึงในบ้าน ในการแข่งขันทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแม้รายการบิ้กบราเธอร์ ที่ได้ลิขสิทธิ์ในประเทศต่างๆ ก็ไม่เคยเปิดบ้านให้แฟนคลับได้เข้าไป เพราะตลอดเวลาในบ้านบิ้กบราเธอร์ เป็นการออกอากาศแบบเรียลไทม์ (ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก หากมีแฟนคลับหัวรุนแรงแสดงออกอะไรที่ไม่เหมาะสม)
  • ไฮโซบ้านนอก ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2548 เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมาก เนื่องจากพฤติกรรมของ คชาภา ตันเจริญ (มดดำ) ซึ่งเป็นคนเปิดเผยและค่อนข้างตรง ทำให้บางครั้งเรื่องราวเกิดขึ้นเพียงคนๆ เดียว เช่น เกือบเผาบ้าน หรือแม้แต่วีนใส่ทีมงาน และอีกอย่าง เนื่องด้วยไฮโซบ้านนอก เป็น เรียลลิตีโชว์แบบเฟค (ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตจริง แต่ทีมงานกับผู้เข้าแข่งขัน ต่างรู้เรื่องราวกันเป็นอย่างดีโดยที่ผู้ชมทางบ้านไม่รู้ว่า นี่คือ การสมรู้ร่วมคิดกันของทีมงานกับผู้เข้าแข่งขัน) ทำให้ถูกวิจารณ์และทำให้ความหมายของคำว่า เรียลลิตีโชว์ ในไทย แปลความหมายผิดเพี้ยนไปจากเดิม
  • รายการตัวจริง ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2549 ค้นหาพิธีกรโทรทัศน์
  • The Arsenal Dream ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2549 (วันอาทิตย์ เวลา 13.00 น.โดยประมาณ) เนื่องจากได้เวลาในช่วงบ่าย ประกอบกับการขาดเรื่องประชาสัมพันธ์ ทำให้เรตติ้งรายการไม่กระเตื้องขึ้น
  • Thailand Next Top Model ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ก็คือ ซอนญ่า คูลลิ่ง มีการกล่าวถึงเรื่องการดำเนินเกมส์ที่ขาดสีสัน ด้านอารมณ์ ทำให้ผู้เข้าแข่งขันมีลักษณะไปในทางเดียวกัน กล่าวคือ ไม่มีความริษยาหรือโกรธแค้นกลั่นแกล้งกัน ทำให้ความนิยมของรายการไม่กระเตื้องขึ้น ส่วนในด้านผลงานของผู้แข่งขันหลังจบเกมส์ ทาง BEC Tero ไม่ได้ประชาสัมพันธ์หรือป้อนงานให้ ทำให้ไม่สามารถติดตามผลงานได้ว่าพวกเธอมีผลงานในวงการบันเทิงในด้านใดบ้าง
  • M Thailand ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2548 ถึง ต้นปี พ.ศ. 2549 (วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 22.00 น. โดยประมาณ) มีการกล่าวถึงกันมาก เนื่องจากว่ากันว่ารูปแบบรายการได้ลอกเนื้อหามาจาก Thailand's Perfect Man โดยทาง BEC Tero ได้ชิงตัดหน้าขโมยความคิด นำมาทำเป็นรูปแบบเกมส์เรียลลิตีโชว์ก่อน และอีกสาเหตุหนึ่งมาจาก การวิจารณ์ผู้เข้าแข่งขันในรอบคัดเลือก จนไปสร้างความกดดันให้คนดูและผู้เข้าแข่งขัน รวมไปถึง การใช้ไอเดียของรายการ Manhunt ในการซ่อนทีมงานไปปะปนในหมู่ผู้เข้าแข่งขัน ทำให้ถูกพูดถึงในแง่การวิจารณ์เป็นอย่างมากและด้วยการดำเนินรายการของ BEC Tero ที่ไม่มีการโต้แย้งของผู้เข้าแข่งขัน ทำให้เรตติ้งรายการค่อนข้างทรงตัวจนจบการแข่งขัน ส่วนในด้านผลงานของผู้แข่งขันหลังจบเกมส์ เนื่องด้วยทาง BEC Tero ไม่ได้ประชาสัมพันธ์หรือป้อนงานให้กับผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ นอกจากผู้ชนะเลิศของรายการ ทำให้ไม่สามารถติดตามผลงานของผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ได้ว่าใครไปมีอาชีพในวงการบันเทิงในด้านใดบ้าง
  • Thailand's Perfect Man ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในปี พ.ศ. 2549 (ต้นเดือนกุมภาพันธ์-ปลายเดือนมิถุนายน ทุกวันอังคาร เวลา 23.00 น.) และทาง Chic Channel ของ UBC หลังจากที่ M Thailand ได้ชิงตัดหน้าออกอากาศไปก่อน ทำให้ Thailand's Perfect Man (TPM) ที่ดำเนินบริหารงานโดย เมทินี กิ่งพโยม ได้นำรายการไปเสนอทางไอทีวี และได้ปรับเนื้อหาของเกมส์ จนมีความลงตัวในหลายด้านๆ และไม่มีการสร้างความกดดันให้กับคนดูมากเกินไป แต่ถึงกระนั้นเรตติ้งของรายการก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้น จนกระทั่งได้นำการเดินแบบในชุดว่ายน้ำมานำเสนอ จนทำให้เรตติ้งของรายการเพิ่มขึ้นประกอบกับความขัดแย้งของผู้เข้าแข่งขันในช่วงการแข่งขัน ทำให้เนื้อหามีความน่าติดตามมากยิ่งขึ้น ส่วนในด้านผลงานของผู้แข่งขันหลังจบเกมส์ ได้มีการประชาสัมพันธ์ติดต่อจากสปอนเซอร์หลัก (ธนาคารไทยพาณิชย์, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, กันตนา ฯลฯ) ทำให้มีงานป้อนเข้ามาเป็นระยะ ซึ่งเป็นการดำเนินงานของ เมทินี กิ่งพโยม
  • อัจฉริยะข้ามคืน ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เริ่มออกอากาศในปี พ.ศ. 2549 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2551
  • Eco Challenge คนเก่ง เกมนักขับ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในปี พ.ศ. 2549 ดำเนินการผลิตโดย กันตนา (ออกอากาศต่อจาก Thailand's Perfect Man ประมาณ 1 เดือน ทุกวันอังคาร เวลา 23.00 น.) รูปแบบของรายการได้ใช้รูปแบบของรายการเซอร์ไวเวอร์ ผสมกับเทคนิคการขับรถยนต์ในสถานการณ์ทุกรูปแบบ แต่เนื่องจากรูปแบบรายการที่ไม่ชัดเจนและใช้รูปแบบของเซอร์ไวเวอร์ มากถึง 70% ทำให้เรตติ้งรายการไม่กระเตื้องขึ้น ซึ่งผู้ชนะได้รับรถยนต์มิตซูบิชิ และเงินรางวัล 1 ล้านบาท (รายการเป็นรูปแบบเดียวกับทางฝั่งอเมริกาที่เป็นคนเดียวกันกับที่ทำรายการ Survivor และ Eco Challenge)
  • ซีซ่า ทางสายฝันสู่ดวงดาว ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2549 โดยมี มณีนุช เสมรสุต (ครูอ้วน) เป็นผู้บริหารรายการ รายการเป็นรูปแบบแข่งขันร้องเพลงสำหรับเด็ก
  • ทำดีให้พ่อดู เป็นรายการเรียลลิตีโชว์ ตามติดชีวิตนักล่าฝันจากรายการ ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ในซีซั่นที่ 1 ถึง 3 ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสังคม 12 โครงการ โดยแบ่งผู้ปฏิบัติภารกิจตามสายรหัส V1-V12 ของแต่ละซีซั่น พร้อมทั้งอาสาสมัครบุคคลทั่วไปที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ความดี เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ออกอากาศซีซี่นที่ 1 พ.ศ. 2550 ในตอน 12 V 12 ความดีเพื่อพ่อ และออกอากาศซีซั่นที่ 2 พ.ศ. 2552 ในชื่อตอน เรียนรู้ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โดยนักล่าฝันจากรายการ ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ในซีซั่นที่ 4 ถึง 6 โดยแบ่งนักล่าฝันเป็นรุ่น 3 รุ่น เพื่อเดินทางไปเรียนรู้งานในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง 4 วัน 3 คืน ณ สถานที่ๆทีมงานกำหนด
  • The Singer ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2550 เป็นรายการรูปแบบแข่งขันร้องเพลง โดยมี พุทธธิดา ศิระฉายา เป็นผู้บริหารรายการ
  • อัจฉริยะยกบ้าน ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในปี พ.ศ. 2551
  • ซูเปอร์สตาร์ ที่สุดแห่งดาว เป็นรายการเรียลลิตีฟอร์มยักษ์ เป็นการแข่งขันของเหล่าดารา เปิดเผยเบื้องหลังที่มาของการแสดงทุกรูปแบบ ดาราที่เข้าแข่งขันจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ทีม เพื่อแข่งขันใน 10 หัวข้อการแสดง โดยการฝึกสอนจากเทรนเนอร์ที่เป็นที่สุดของทุกแขนง ออกอากาศซีซั่นแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551
  • The Master ออกอากาศ 24 ชั่วโมงทาง ทรูวิชั่นส์ ช่อง 18 และมีรายการไฮไลท์ประจำวัน และคอนเสิร์ตทุกวันเสาร์ที่ช่อง 19 ทรูอินไซด์ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2552 เป็นเวลา 1 เดือน รูปแบบรายการเป็นการแข่งขันร้องเพลงและแสดงโชว์ แข่งขันเป็นทีม ทีมละ 5 คน โดยผู้เข้าแข่งขันมาจากตำแหน่งผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับหนึ่งของรายการ ทรู อคาเดมี่ แฟนเทเชีย ตั้งแต่ฤดูกาลที่ 1-5 และได้มีการโหวตคัดเลือกผู้แข่งขันนักล่าฝันคนอื่นๆเพิ่มเติมผ่านระบบ SMS รายการนี้จะเน้นการทำงานเบื้องหลังของศิลปิน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้ประสบการณ์ในการทำงาน คิดและวางแผนโชว์ที่จะเกิดขึ้นในทุกคืนวันเสาร์ด้วยตนเอง ร่วมกับสมาชิกในทีม และทีมเบื้องหลัง และผู้ชนะรายการเพียงหนึ่งเดียวจากผล Popular Vote จะได้ตำแหน่ง สุดยอดเดอะมาสเตอร์
  • สุภาพบุรุษบอยแบนด์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2552
  • The Trainer ปั้นฝันสนั่นเวที รายการเรียลลิตีโชว์สำหรับเด็ก ออกอากาศทาง ช่อง 9 เดือนพฤษภาคม ปี 2552 - ปัจจุบัน
  • ล้านฝันสนั่นโลก ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2552
  • The Voyager เกมเดินทางในต่างแดนออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552
  • Teen Superstar เกิดมาเป็นดาว คือรายการ ซุปเปอร์สตาร์ ที่สุดแห่งดาว แต่ได้เปลี่ยนรูปแบบรายการใหม่ ค้นหาเยาวชน ผู้ชนะ ชาย 2 หญิง2 จะมาจากการโหวดของประชาชน ซึ่งก็คือ ชายและหญิง 2 คนแรก จะได้มีโอกาสไปเป็นศิลปินในประเทศเกาหลี และอีกสองคนจะได้เป็นศิลปินในประเทศไทย ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ประมาณเดือนธันวาคม ปี 2553
  • ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 - ปัจจุบัน
  • เดอะวอยซ์ไทยแลนด์ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 9 กันยายน พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน
  • เดอะ คอมเมเดียน ไทยแลนด์ ซีซั่นที่ 1 เดอะ คอมเมเดียน ไทยแลนด์ (อังกฤษ: The Comedian Thailand) เป็นรายการเรียลลิตีโชว์ มีจุดประสงค์เพื่อค้นหา "เอนเตอร์เทนเนอร์" เป็นตัวแทนถ่ายทอดศาสตร์ตลกและศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อรับรางวัลมากมายพร้อมกับโอกาสที่จะได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง ออกอากาศ ช่อง ทรูวิชั่นส์ (ถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง) ถ่ายทอดสดการประกวด ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 – 21 เมษายน 2556
  • เดอะวอยซ์ คิดส์ ไทยแลนด์ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 27 เมษายน พ.ศ. 2556 - ปัจจุบัน
  • เดอะ คอมเมเดียน ไทยแลนด์ ซีซั่นที่ 2 เดอะ คอมเมเดียน ไทยแลนด์ (อังกฤษ: The Comedian Thailand) เป็นรายการเรียลลิตีโชว์ มีจุดประสงค์เพื่อค้นหา "เอนเตอร์เทนเนอร์" เป็นตัวแทนถ่ายทอดศาสตร์ตลกและศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อรับรางวัลมากมายพร้อมกับโอกาสที่จะได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง ออกอากาศ ช่อง ทรูวิชั่นส์ (ถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง) ถ่ายทอดสดการประกวด ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 26 มกราคม พ.ศ. 2557 - 13 เมษายน พ.ศ. 2557
  • เดอะวินเนอร์อีส ไทยแลนด์ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน
  • เดอะเฟซไทยแลนด์ (4 ตุลาคม พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน) เรียลลิตี้โชว์รายการเรียลลิตีเพื่อค้นหาสุดยอดนางแบบ โดยจะมีการแบ่งนางแบบออกเป็น 3 ทีมตามทีมของเมนเทอร์ของตนเอง เนลท์ให้โอกาสประเทศไทยเป็นครั้งแรกในเอเชีย ผลิตรายการโดย บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  • เดอะเฟซเมนไทยแลนด์ (29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน) เรียลลิตี้โชว์รายการเรียลลิตีเพื่อค้นหาสุดยอดนายแบบ โดยจะมีการแบ่งนายแบบออกเป็น 3 ทีมตามทีมของเมนเทอร์ของตนเอง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากรายการเดอะเฟซไทยแลนด์ ผลิตรายการโดย บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  • The Mask Singer หน้ากากนักร้อง (6 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 3 กันยายน พ.ศ. 2563 และ 15 มีนาคม - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2566) เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์เพื่อค้นหาบุคคลในวงการบันเทิงที่มีความสามารถในการร้องเพลงมาเข้าร่วมประกวด โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องใส่ชุดหน้ากากเพื่อปิดบังตัวตนของตัวเองไว้ ซึ่งเป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจาก ประเทศเกาหลีใต้ ผลิตรายการโดย เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์
  • ซูเปอร์เท็น (7 มกราคม พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน) เป็นรายการประกวดในรูปแบบที่จะค้นหาอัจฉริยะพันธุ์จิ๋ว ผลิตรายการโดย บริษัท ซูเปอร์จิ๋ว จำกัด
  • มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ (4 มิถุนายน พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน) เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์เพื่อค้นหาผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเชฟ แต่มีใจรักที่จะทำอาหารและมีความสามารถที่จะไปเป็นเชฟได้ โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องผ่านโจทย์การทำอาหารทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมในแต่ละสัปดาห์ ผลิตรายการโดย บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด
  • ท็อปเชฟไทยแลนด์ (25 มีนาคม พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน) เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์แข่งขันทำอาหารของเชฟมืออาชีพ โดย 3 ฤดูกาลแรก ผลิตรายการโดย บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ก่อนเปลี่ยนผู้ผลิตเป็น บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด ตั้งแต่ฤดูกาลที่ 4 เป็นต้นมา
  • ฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์ (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน) เวทีการแข่งขันวงดนตรีระดับมัธยมศึกษา ที่มีระยะเวลาการแข่งขันยาวนานที่สุด เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 เพื่อให้เป็นเวทีของการแสดงออกทางดนตรี ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 คลื่นฮอตเวฟได้ปิดตัวพร้อมกับฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ดส์ แต่การประกวดดนตรีดังกล่าวได้กลับมาจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2560 โดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประกวดกึ่งเรียลลิตี้โชว์ ออกอากาศทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25
  • ลาซ ไอคอน ไอคอนป๊อบ ตัวท็อปเดบิวต์ (9 ตุลาคม พ.ศ. 2564 - 9 มกราคม พ.ศ. 2565) เป็นรายการค้นหากลุ่มศิลปินชายของไทย ผ่านการนำเด็กฝึกหัดชาย 35 คนจากเอเจนซี่ต่าง ๆ ในประเทศไทยมารวมตัวกันเป็นบอยกรุ๊ป 5 คน โดยให้ผู้เข้าแข่งขันพัฒนาตนเองผ่านการทำภารกิจ การฝึกอบรมและการประเมินผลอยู่ภายใต้การแนะนำของโค้ชผู้มีชื่อเสียง ในตอนสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันที่ได้รับเลือก 5 คน จะได้เดบิวต์เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของลาซาด้า ประเทศไทย และเป็นศิลปินกลุ่มภายใต้สังกัดวัน มิวสิก