ข้ามไปเนื้อหา

ตำบลบางแก้ว (อำเภอบ้านแหลม)

พิกัด: 13°06′34.5″N 100°03′38.6″E / 13.109583°N 100.060722°E / 13.109583; 100.060722
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำบลบางแก้ว
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันTambon Bang Kaeo
คำขวัญ: 
ศาลเจ้าพ่อฟ้าศักดิ์สิทธิ์ ผลผลิตอาหารทะเล แหล่งเรือตังเกพื้นบ้าน เป็นตำนานกระซ้าขาว แพรวพราวเกลือสมุทร งามที่สุดทะเลโคลน รำโทนศิลปวัฒนธรรม
ประเทศไทย
จังหวัดเพชรบุรี
อำเภอบ้านแหลม
พื้นที่
 • ทั้งหมด24.76 ตร.กม. (9.56 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2561)
 • ทั้งหมด4,920 คน
 • ความหนาแน่น198.70 คน/ตร.กม. (514.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 76110
รหัสภูมิศาสตร์760704
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย
องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว
อบต.บางแก้วตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี
อบต.บางแก้ว
อบต.บางแก้ว
พิกัด: 13°06′34.5″N 100°03′38.6″E / 13.109583°N 100.060722°E / 13.109583; 100.060722
ประเทศ ไทย
จังหวัดเพชรบุรี
อำเภอบ้านแหลม
การปกครอง
 • นายกเอกชัย เตียเจริญ
รหัส อปท.06760704
ที่อยู่ที่ทำการหมู่ที่ 1 ถนนคันกั้นน้ำเค็ม ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 76110
โทรศัพท์0 3240 5200
โทรสาร0 3240 5200
เว็บไซต์www.bangkaewphet.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ตำบลบางแก้ว เป็นตำบลตั้งอยู่ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านแหลมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 24.760 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 15,475 ไร่ ประกอบไปด้วย 8 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบางแก้ว บ้านนาแค บ้านทำเนียบ บ้านบนดอน บ้านหนองแห้ว บ้านนาบัว บ้านร่องใหญ่ และบ้านเหมืองกลาง[1] โดยเริ่มแรกมีจำนวน 6 หมู่บ้าน ภายหลังได้มีการแยกหมู่ที่ 1 ออกเป็นหมู่ที่ 8 และแยกหมู่ที่ 3 ออกเป็นหมู่ที่ 7 รวมเป็น 8 หมู่บ้าน[2] มีองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้วรับผิดชอบพื้นที่ทั้งหมดของตำบล[3] ซึ่งได้รับการจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ปัจจุบันเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง

ตำนาน

[แก้]

จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษได้สรุปเนื้อเรื่องได้ว่า "ในอดีตนั้นเมื่องเพชรบุรีเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญของสยามประเทศมาแต่เก่าก่อน จนกระทั่งสยามประเทศได้มีการทำสนธิสัญญาเบอร์นี เพื่อให้มีเพียงแค่เมืองท่าเดียวคือท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) หลังจากสนธิสัญญาได้ยกเลิกไปแล้วนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้เคยคิดฟื้นฟูเมืองท่าตามหัวเมืองอีกเลย" ในสมัยเมืองเพชรยังมีความรุ่งเรืองมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ฮอลันดา โปรตุเกส อินเดีย เป็นต้น จึงยังความให้ชาวเมืองเพชรได้รับอารยธรรมจากที่อื่นในการประกอบอาหารคาว-หวาน จนเป็นเอกลักษณ์ของคนเมืองเพชร หามีเมืองอื่นทำได้เสมอเหมือนไม่ จากการเล่าขานเหล่านี้ก็ได้มีอยู่ว่า "ได้มีสำเภาจีนได้บรรทุกสินค้า จาน ชาม แก้ว แหวน เงินทอง มาเต็มลำเพื่อมาค้าขายยังเมืองเพชร แต่ได้ประสบกับลมมรสุมจนเรือได้อับปางลง สินค้าและทรัพย์สินมีค่าจึงได้จมลง จากตำนานดังกล่าวทำให้บรรพบุรุษเชื่อว่าที่ดินในพื้นที่ตำบลบางแก้ว ซึ่งในอดีตเป็นทะเลมีทรัพย์สินที่มีค่าอยู่ในผืนแผ่นดินแห่งนี้ ประกอบกับชายหาดของบางแก้วที่มีกระซ้าซึ่งเป็นเปลือกหอยที่มีอยู่มากที่ชายฝั่งทะเลบางแก้ว ยามเมื่อต้องแสงตะวันเป็นประกายระยิบระยับ ชาวบ้านจึงได้ออกหาสิ่งที่มีค่าที่ยังคงสภาพอยู่บริเวณชายหาด ทำให้ได้เรียกขนานนามว่า "บางแก้ว" จนมาถึงปัจจุบัน และตำนานนี้ก็ยังเป็นเรื่องเล่าสู่ลูกหลานกันต่อไป

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

ตำบลบางแก้วอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านแหลมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี 15 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 24.760 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 15,475 ไร่[4] มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลข้างเคียงวนตามเข็มนาฬิกา ดังนี้[5]

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

[แก้]

พื้นที่เป็นที่ราบมีความลาดเทเล็กน้อยไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ โดยมีความลาดเททางทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกและเป็นพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล มีพื้นที่ป่าชายเลนด้านทิศตะวันออกสามารถใช้ประโยชน์กิจการด้านป่าไม้ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และนาเกลือ ส่วนอากาศจะคล้ายคลึงกับตำบลอื่น ๆ ของอำเภอบ้านแหลม คือ มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุม มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด และฤดูฝนมีฝนตกค่อนข้างชุกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเล

ชายฝั่งทะเล

[แก้]

ลักษณะชายฝั่งทะเลเป็นทะเลโคลน อันเนื่องจากในน้ำมีปริมาณตะกอนแม่น้ำสูงมาก จากการไหลของน้ำจืดออกจากปากแม่น้ำชายฝั่งตั่งแต่ชลบุรีจนถึงเพชรบุรี มีปากแม่น้ำอยู่หลายสาย เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี จนทำให้ตะกอนในทะเลแถบนี้มีจำนวนสูงสงผลให้ชายฝั่งปากแม่น้ำตั่งแต่จังหวัดฉะเชิงเทรามาถึงแหลมหลวงของจังหวัดเพชรบุรีนั้นเป็นหาดโคลน เกิดเป็นระบบนิเวศป่าชายเลน

ป่าชายเลน

[แก้]
แนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตำบลบางแก้ว
การกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ในเขตตำบลบางแก้วนั้นไม่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้มีการพังทลายของดินชายฝั่งค่อนข้างสูง จะมีเพียงปรากฏตามชายฝั่งหลังเขื่อนหินที่กั้นแรงการกัดเซาะชายฝั่ง ป่าชายเลนของตำบลบางแก้วนั้นส่วนใหญ่ถูกทำลายไปก่อนหน้านี้ อันเนื่องจากการเข้าไปตัดไม้ในการเผาถ่านเป็นหลัก การตัดไม้ป่าชายเลนในอดีตส่งผลให้ชายหาดบางแก้วขาดความสมดุลทางระบบนิเวศป่าชายเลนไป อีกทั้งแนวปราการที่จะป้องกันการกัดเซาะพลังทลายของชายฝั่งทะเลก็เสียหายไปด้วย โดยการขุดกระซ้า (เปลือกหอยป่นละเอียดจากธรรมชาติ) ไปขายหรือนำไปเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์อันก่อให้เกิดผลเสียหายนานัปการ จนในที่สุดหมู่บ้าน ในตำบลบางแก้วได้ถูกกัดเซาะหายกลายเป็นทะเล ด้วยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่มีความรุนแรงทวีมากขึ้นในยามที่มีคลื่นใหญ่ จึงได้มีการเข้าไปศึกษาปัญหาและการแก้ไขโดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งเอเชีย ทำการศึกษาชายฝั่งทะเล ณ ตำบลบางแก้ว ในปี พ.ศ. 2532 ทั้งนี้ได้ทำเขื่อนเป็นกองหิน จำนวน 14 กอง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การกัดเซาะได้เพียงแค่ชลอความรุนแรงเท่านั้น จึงได้มีการวางแนวปราการเป็นเขื่อนหินเป็นแนวยาวตามชายฝั่งของตำบลบางแก้วที่มีการกัดเซาะรุนแรง

ปัญหาของตำบล

[แก้]

พื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในอดีตเป็นท้องที่น้ำทะเลเคยท่วมถึง มีสภาพเป็นทะเล ซึ่งต่อมาแผ่นดินได้มีการยกตัวสูงขึ้น มีสภาพเป็นป่าชายเลนด้านทิศตะวันออกของตำบล ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้มีการเข้ามาใช้พื้นที่บุกป่าถางพงออกเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำนาเกลือ และบ่อขังน้ำเพื่อใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล

กาลเวลาผ่านไป ประเทศไทยได้มีการพัฒนาประเทศจากเกษตรแบบพึ่งพาอาศัยเกื้อกูล มาเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ทำให้กระซ้า (เปลือกหอย) ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ชาวบ้านที่อาศัยใกล้เคียงชายทะเลอ่าวบางแก้วจึงได้ลักลอบเข้าขุดกระซ้าบรรจุถุงจำหน่าย และปัญหาการบุกรุกป่าชายเลนได้มีความรุนแรงขึ้นจนไม่มีสภาพความเป็นป่าชายเลน เกิดปัญหาการกัดเซาะชายทะเลอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนของประชาชน วัดวาอาราม ต้องรื้อย้ายเข้ามาในแผ่นดินมากขึ้น อันเนื่องจากไม่มีปราการธรรมชาติในการป้องกันแรงกระแทรกของคลื่นลมที่พัดเข้าชายฝั่งในฤดูกาลที่คลื่นลมแรง ประกอบกับการสร้างเขื่อนทำให้มีการขังน้ำไว้ในเขื่อน ตะกอนที่แขวนลอยในน้ำจึงตกตะกอนในเขื่อน ตะกอนที่จะลอยตามน้ำออกปากอ่าวแล้วมาเติมให้กับชายฝั่งจึงลดลง

ทางด้านชายฝั่งทะเลอ่าวบางแก้ว (อ่าวไทย) ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมากที่สุด มีการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้หมู่บ้าน ศาลากลางบ้านบางแก้ว วัดโคมนารามต้องดำเนินการย้ายสิ่งก่อสร้างขยับเข้ามาในผืนดินให้มากขึ้น จนกระทั่งได้มีศึกษาผลกระทบจากปัณหาดังกล่าวเพื่อแก้ไขอย่างเร่งด่วน และได้ทำการสร้างเขื่อนหินโดยสร้างจากชายฝั่งเป็นจำนวน 14 กอง เพื่อช่วยในการลดความแรงที่จะเข้ามาปะทะชายฝั่งของคลื่นลมที่จะปะทะกับชายฝั่งได้ หลังจากสร้างเขื่อนแล้วปัญหาการกัดเซาะได้ลดความรุนแรงของการพังทลายของชายฝั่งลง

ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำ

[แก้]
  • แหล่งน้ำ
    • คลองบางแก้ว จากคลองสี่ร้อย ลากผ่านแบ่งเขตหมู่ 6 กับหมู่ 2 แบ่งเขตหมู่ 8 กับ หมู่ 2 ผ่านหมู่ 1 และ หมู่ 4 ออกทะเลสู่อ่าวกรุงเทพ หรือ อ่าวตัว ก (Briht of Bangkok)
    • คลองเหมืองกลาง จากคลองบางแก้ว(โรงเรียนบ้านเหมืองกลาง เดิม)แบ่งเขตหมู่ 6 กับ หมู่ 8 จนถึงปลายคลองชลประทานหัวรถเหมืองกลาง แบ่งเขตหมู่ 6 กับ หมู่ 5 จนถึงสี่แยกคลองตีคุ (วัดราษฎร์ศรัทธา)
    • คลองเจ็กสี จุดเริ่มต้นจากแม่น้ำเพชรบุรีแต่จะลากผ่านตำบลท่าราบ ตำบลช่องสะแก ตำบลนาวุ้ง ตำบลโพพระ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่พื้นที่ตำบลบางแก้ว ที่หมู่ 2 หมู่ 4 ออกสู่อ่าวกรุงเทพ (Bight of Bangkok)
    • คลองร่องน้อย
    • คลองร่องใหญ่
    • คลองหนองแห้ว
    • คลองสี่ร้อย แบ่งเขต หมู่ 6 กับ ตำบลโพพระ
    • คลองนกทุง (คลองนกกระทุง) แบ่งเขตหมู่ 6 ตำบลบางแก้ว กับ หมู่ 10 ตำบลช่องสะแก
    • คลองพี่เลี้ยง หรือ คลองชลประทาน ดี 25 แบ่งเขตหมู่ 6 ตำบลบางแก้ว กับ หมู่ 10 ตำบลช่องสะแก
    • คลองใหญ่ หรือ คลองชลประทาน ดี 25 แบ่งเขตหมู่ 6 ตำบลบางแก้ว กับ หมู่ 2 ตำบลบางจาน และ หมู่ 5 ตำบลบางแก้ว กับ ตำบลบางจาน
    • คลองแหลม แบ่งเขตหมู่ 5 ตำบลบางแก้ว กับ ตำบลปากทะเล ออกสู่อ่าวไทย (อ่าวกรุงเทพ)
    • คลองนาแค
    • คลองนาบัว
  • ทะเล มีสภาพเป็นทะเลโคลนเนื่องจากสภาพอ่าวกรุงเทพมีลักษณะกว้างยาวด้านละประมาณ 100 กิโลเมตร ทำให้ตะกอนจากแม่น้ำสายต่างที่พัดพาตะกอนสู่ทะเลส่งผลให้ทะเลในพื้นที่ตำบลบางแก้วเป็นทะเลโคลน อันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หน้าดิน เช่น เคย กุ้ง กั้ง ปู ปลา หมึก แมงดา แพลงตอน อาทีเมีย และหอย เป็นต้น
  • ป่าชายเลน ปัจจุบันถูกบุกรุกจนไม่เหลือสภาพความเป็น และเป็นที่อยู่อาศัย พืชาป่าชายเลนที่มีปัจจุบันจึงมีการขึ้นเป็นหย่อม พืชป่าชายเลนที่พบในพื้นที่ ได้แก่ ต้นสะแม โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ชะคราม ผักบุ้งทะเล ผักเบี้ย เป็นต้น

ประชากร

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2561 ตำบลบางแก้วมีประชากรจำนวน 4,920 คน[7] อาชีพหลักของประชาชนคือเกษตรกร ทำนา ทำประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และนาเกลือ[1]

การศึกษา

[แก้]

สาธารณสุข

[แก้]

ตำบลบางแก้วเป็นพื้นที่ให้บริการของโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแก้ว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาบัว

เศรษฐกิจ

[แก้]
โรงกลั่นและคลังน้ำมัน ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
การขุดหอยของชาวบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี
หอยเสียบที่ชาวบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรีขุดขึ้นมาเพื่อนำไปประกอบอาหาร ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นในอ่าวบางแก้วที่พบมากที่สุดของประเทศไทย

การประกอบอาชีพ

[แก้]
  • เกษตรกรรม[8] เพาะปลูกข้าว (มีการประกอบอาชีพมากเป็นอันดับ 1 ของตำบล)[9]
  • ปศุสัตว์ (มีการประกอบอาชีพเป็นอันดับ 2 ด้านการเกษตร โดยเลี้ยงโค จำนวน 296 ครัวเรือน)
  • ประมง
  • เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  • นาเกลือ (เกลือสมุทร)
  • รับจ้าง และอื่น ๆ

การใช้ที่ดิน

[แก้]
  • พื้นที่การเกษตรกรรม
    • พืชไร่นา-ปลูกข้าว ในหมู่ที่ 2, 3, 5, 6, 7 และ 8 โดยหมู่ที่ 6 มีการปลูกข้าวมากเป็นอันดับ 1 ของตำบล[10])
    • โรงงานอุตสาหกรรม 2 แห่ง (โรงงานผลิตเกลือป่น)
    • โรงกลั่นน้ำมัน 1 แห่ง
    • คลังน้ำมัน 2 แห่ง
    • สถานีบริการน้ำมัน 2 แห่ง
    • โรงสีข้าว 3 แห่ง
    • บริษัทผู้ประกอบการธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2 แห่ง
  • ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรระดับตำบล (ถ่ายโอนจาก กรมส่งเสริมการเกษตร) 1 แห่ง

วิสาหกิจชุมชน

[แก้]
  • วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมู่ที่ 6 ประเภทสินค้า/บริการ ปุ๋ยหมักธรรมชาติ น้ำฮอร์โมนผลไม้ เชื้อหมักขับไล่แมลง
  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง หมู่ที่ 7 ประเภทสินค้า/บริการ เกลือขัดผิว ขัดหน้า สบู่ดอกเกลือ สบู่เหลว ครีมบำรุงผิว
  • วิสาหกิจชุมชนเกษตรภูมิปัญญาบางแก้ว หมู่ที่ 1 ประเภทสินค้า/บริการ หอยตลับสามรส น้ำพริกนรกปลากุเลา น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกนรกไข่ปูม้าสามรส น้ำพริกเผากุ้ง ฮ่อยจ๊อ ปูจ๋า ทอดมันปลาอินทรีย์ ปลากรอบ ไข่เค็มใบเตย แมงดาทะเลยำ แกงหัวตาล
  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจักสานธูปฤๅษี หมู่ที่ 5 ประเภทสินค้า/บริการ จักสานผลิตภัณฑ์จากต้นธูปฤๅษี
  • วิสาหกิจชุมชนคนบางแก้ว หมู่ที่ 1 ประเภทสินค้า/บริการ จำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ดินชีวภาพ

ถนนที่สำคัญ

[แก้]
  • ทางหลวงชนบท พบ.6022 สายช่องสะแก-บางแก้ว ใช้สัญจรเชื่อมต่อระหว่างตัวจังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง
  • ทางหลวงชนบท สส.2021 ถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตะวันตก หรือถนนริเวียร่า หรือถนนชลประทานคันกั้นน้ำเค็มเดิม

สถานที่สำคัญ

[แก้]
ซุ้มประตูวัดโคมนาราม หมู่ 4 ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
ศาลเจ้าปิงเถ้ากง
ศาลเจ้าพ่อฟ้า
ศาสนสถาน

วัดทางพระพุทธศาสนา 3 แห่ง

  • วัดราษฎร์ศรัทธา (วัดใหม่ตีนคุ)
  • วัดโคมนาราม (วัดในบางแก้ว)
  • วัดพิกุลแก้ว (วัดนอกบางแก้ว)
หน่วยงานราชการ
  • สถานีตำรวจภูธรบ้านแหลม ศูนย์บริการตำบลบางแก้ว, ตำรวจชุมชนบางแก้ว
  • สำนักงานเกษตรตำบลบางแก้ว
  • ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบลบางแก้ว
อื่น ๆ
  • อู่ต่อเรือประมง
  • ตลาดนัด
    • ตลาดนัดบางแก้ว
    • ตลาดนัดวัดใหม่ตีนคุ
    • ตลาดนัดเปิดท้าย
  • ศาลเจ้า
    • ศาลเจ้าปิงเถ้ากง
    • ศาลเจ้าพ่อฟ้า

โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ

[แก้]

โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เกิดขึ้นจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริจะใช้ที่ดินซึ่งนางวาสนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวน 82 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา พัฒนาเป็นฟาร์มตัวอย่างให้ผู้จับสัตว์น้ำ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ที่สนใจทั่วไป ได้ใช้เป็นแหล่งพัฒนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ดูงานนำไปปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตนต่อไป รวมถึงการเสริมสร้างให้ชาวบ้านในพื้นที่มีงานทำ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริมาตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีเกษตรกรทำการประมงและการทำนาเกลือ ซึ่งส่วนนี้น่าจะมีการจัดตั้งศูนย์เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้เรียนรู้การทำประมงทะเลเพื่อให้เห็นว่าฟาร์มทะเลแบบผสมผสาน

พื้นที่ตั้งโครงการอยู่ใน หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ตำบลบางแก้ว พื้นที่ทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งดูแลเรื่องพันธุ์สัตว์น้ำหรือเพาะพันธุ์สัตว์น้ำกร่อย ส่วนที่ 2 ใช้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเค็มและส่วนสุดท้ายจะทำการเลี้ยงไรน้ำเค็ม

กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าพื้นที่ทำโครงสร้างโรงเรือนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมชลประทานได้เข้าปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงส้างพื้นฐาน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเชียงใต้ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโครงสร้างการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

[แก้]
  • ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. 2549[11]
  • ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2551[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ข้อมูลทั่วไปตำบลบางแก้ว เก็บถาวร 2008-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
  2. ประกาศจังหวัดเพชรบุรี เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน ในอำเภอบ้านแหลม, อำเภอท่ายาง เก็บถาวร 2020-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่มที่ ๑๑๙ ตอนที่ ๗๘ ง ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้าที่ ๑๑๘
  3. ข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบล สืบค้นวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
  4. ข้อมูลทั่วไป ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี http://www.thaitambon.com/tambon/ttambon.asp?ID=760704 เก็บถาวร 2008-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีราชกิจจานุเบกษา เล่มที ๑๑๘ ตอนที่ ๖๖ ง ประกาส ณ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ หน้าที่ ๑๐
  6. พระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ. 2502. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก เก็บถาวร 2004-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  7. ข้อมูลจากสำนักทะเบียนราษฎร์อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย http://www.dupa.go.th[ลิงก์เสีย]
  8. ยุกตนันท์ จำปาเทศ. เอกสารเกษตรกรชาวเพชรบุรีกับวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2553.
  9. ทะเบียนเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ http://www.survey.doae.go.th เก็บถาวร 2020-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  10. ทะเบียนเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ http://www.survey.doae.go.th เก็บถาวร 2020-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. ๒๕๔๙ เล่มที่ ๑๒๖ ตอน ๓๒ ง ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ หน้า ๒๑๕
  12. ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๑ เล่มที่ ๑๒๖ ตอน ๓๒ ง ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ หน้า ๒๑๙

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]