หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หม่อมคัทริน)
คัทริน เดสนิตสกี สโตน
คัทรินขณะอายุ 14 ปี
เกิดเยกาเจรีนา อีวานอฟนา เดสนิตสกายา
9 พฤษภาคม พ.ศ. 2429[1]
ลุตสก์ เขตโวลฮีเนียน จักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบัน แคว้นวอลึญ ประเทศยูเครน)
เสียชีวิต3 มกราคม พ.ศ. 2503 (73 ปี)
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
คู่สมรส
บุตรพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
บุพการี
  • อีวาน สเตปาโนวิช เดสนิตสกี (บิดา)
  • มาเรีย มิลไฮลอฟวา เดสนิตสกี (มารดา)

เยกาเจรีนา อีวานอฟนา เดสนิตสกายา (ยูเครน: Катерина Іванівна Десницька; 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 – 3 มกราคม พ.ศ. 2503) หรือ คัทริน เดสนิตสกี (อังกฤษ: Catherine Desnitski) เป็นที่รู้จักในไทยว่า หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก[2] หรือ หม่อมคัทริน จักรพงษ์ ณ อยุธยา[3] เป็นอดีตหม่อมชาวรัสเซีย ในสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ มีพระโอรสเพียงพระองค์เดียวคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามสกุล ณ พิศณุโลก อันเป็นนามสกุลพิเศษเนื่องจากไม่มีเลขลำดับที่พระราชทาน และมีผู้ใช้เพียงท่านเดียว คือ หม่อมคัทริน[4]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงแรก[แก้]

คัทริน เดสนิตสกี หรือ แคทยา (อักษรโรมัน: Katya) เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) เป็นลูกสาวของอีวาน สเตปาโนวิช เดสนิตสกี รับราชการในกระทรวงยุติธรรมและได้เป็นประธานผู้พิพากษาสูงสุดของแคว้นลุตซ์ก ในเขตยูเครน มียศในราชการพลเรือนเทียบเท่าชั้นพลตรีในไทย ส่วนมารดาของเธอ มาเรีย มิลไฮลอฟวา เกิดในตระกูลคิชเนียคอฟฟ์ (อักษรโรมัน: Khijniakoff) อันเป็นตระกูลที่มีที่ดินเพื่อหาผลประโยชน์มาหลายชั่วอายุคน ด้วยเหตุที่ทั้งบิดา และมารดาต่างผ่านการสมรสและเป็นหม้ายมาก่อน จึงมีพี่น้องชายหญิงต่างบิดามารดาถึง 7 คน แต่มีพี่ชายแท้ ๆ เพียงคนเดียวคือ อีวาน อายุห่างกัน 2 ปี[5] ซึ่งได้เข้ารับราชการต่างประเทศและเมื่อปฏิวัติใหญ่เกิดขึ้นในรัสเซีย เป็นเลขานุการเอกอยู่สถานทูตรัสเซีย ณ กรุงปักกิ่ง

พ่อของคัทรินได้เสียตั้งแต่เธออายุได้เดือนเศษ คัทรินจึงอยู่กับแม่ ได้เลี้ยงดูอยู่ที่เมืองเคียฟและได้รับการศึกษาตามสมควรแก่ฐานะ คือมีพี่เลี้ยงเป็นฝรั่งเศสเพื่อสอนภาษาและภายหลังก็ไปโรงเรียน ต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นตอนเธออายุ 16 ปี ซึ่งเธอได้สูญเสียแม่ไปจากโรคมะเร็ง[6] เธอจึงตัดสินใจแสวงหาโชคและอนาคตที่ดีกว่า โดยการยืมเงินจากลุงมาก้อนหนึ่งไปที่กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ไปอยู่กับพี่ชายอีวานซึ่งเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัย และแคทยาได้เรียนเป็นนางพยาบาลสำหรับการรบ มิใช่นางพยาบาลอาชีพธรรมดา โดยอาศัยอยู่กับลูกพี่ลูกน้องของมารดาเธอคือ น้าโซเฟีย ซึ่งแต่งงานอยู่กับนายแพทย์ที่ชื่อ โบโรดิน จนกระทั่งได้พบกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาภ ที่บ้านของนางคราโปวิตซกี ที่เธอมักจัดงานเลี้ยงและเชิญหนุ่มสาวมาเสมอ

ย่างเข้าพ.ศ. 2448 สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่นทวีความรุนแรง แคทยาออกเดินทางไปไซบีเรียในเดือนเมษายน โดยเข้าประจำโรงพยาบาลสนาม ทำหน้าที่เป็นพยาบาล ด้วยความสามารถและความขยันขันแข็ง ในปีต่อมาเธอได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถึง 3 ตระกูล รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีเกียรติสูงอย่างตราเซนต์ยอร์ช ในขณะเดียวกันเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ซึ่งไม่สามารถขอลาราชการจากโรงเรียนเสนาธิการเพื่อเดินทางไปยังไซบีเรีย ยังมีลายพระหัตถ์และโทรเลขส่งถึงเธอเกือบทุกวัน ต่อมาสงครามก็ได้ยุติลงในเดือนสิงหาคมจากสนธิสัญญาพอร์ตสมัท แต่ก็ไม่ทำให้เหตุการณ์ที่เสื่อมทรามดีขึ้นได้ แคทยาเดินทางกลับกรุงเซนต์ปีเตอร์เบอร์กในปีเดียวกันนั้น[7] หลังจากพบปะกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ครั้งแรกหลังที่พระองค์ต้องทนทุกข์ทรมานมานานที่เธอต้องจากไปทำงานที่ไซบีเรีย พระองค์ขอแต่งงานและขอให้เธอติดตามอยู่ที่เมืองไทย

เสกสมรส เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ[แก้]

หม่อมคัทริน และสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

หม่อมคัทรินเสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล ตามพิธีการทางศาสนาตามแบบนิกายออร์โธดอกซ์ของรัสเซีย[8] ที่โบสต์เซนต์ทรินิตี บนถนนเปรา[9] โดยมิได้กราบทูลให้พระราชบิดาและจักรพรรดิซาร์ทรงทราบ

เมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถเสด็จกลับสยาม เมื่อพ.ศ. 2449 เมื่อสำเร็จการศึกษา ที่ไม่ได้ทรงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบแต่ประการใด กับได้ทรงพาหม่อมคัทรินฯ กลับเมืองไทยในปีเดียวกันนั้นเอง ในชั้นแรกทรงให้หม่อมคัทรินฯ พักอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เป็นการชั่วคราวก่อน โดยพักกับเอลินา นิโคไลเยฟนา ภรรยาของพระยาสุรยุทธโยธาหาร นายทหารคนสนิทของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ส่วนพระองค์ฯ ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่พระองค์เดียว ในไม่นานก็มีข่าวลือมายังกรุงเทพฯ ว่ามีมาดามเดอพิษณุโลกอยู่ที่สิงคโปร์ เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ทรงกริ้วเป็นที่สุด และเมื่อข่าวเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว พระองค์ฯ ก็จัดให้หม่อมคัทรินฯ เดินทางมายังกรุงเทพฯ

เมื่อหม่อมคัทรินเข้ามาในสยามอย่างไม่ปิดบังอีกว่าเป็นชายา จัดให้พักที่วังปารุสกวันร่วมกัน ในฐานะเจ้าของวังร่วมกันกับพระองค์ แต่ปีทั้งปี หม่อมคัทรินก็แทบจะไม่ได้ย่างเท้าออกจากวัง เว้นแต่ไปนั่งรถยนต์เล่นในตอนค่ำคืน เธอไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถอย่างสะใภ้หลวง ทั้งสองพระองค์มิได้ทรงยอมรับเธอ แต่ก็มิได้พระทัยร้ายถึงกับขับไล่ไสส่งหรือยื่นคำขาดให้พระราชโอรสทรงละทิ้งหม่อม

หม่อมคัทริน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ชีวิตในวังปารุสกวันผ่านไปด้วยความราบรื่น เจ้าฟ้าชายเห็นพระทัยหม่อมคัทริน ก็ทรงทำทุกอย่างที่จะให้เธออยู่อย่างเป็นสุขและสะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ที่ช่วยเป็นกำลังใจสนับสนุนอีกแรงหนึ่งคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร แคทยาเคารพและมองพระองค์ท่านด้วยความเชื่อมั่นในหลาย ๆ ด้าน และถึงแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่โปรดรับหม่อมคัทรินเป็นสะใภ้หลวง แต่ก็เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งได้พระราชทานเครื่องเพชรล้ำค่าแก่หม่อมคัทรินอยู่เสมอ หม่อมคัทรินปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยทั้งในเรื่องกิริยามารยาท การแสดงออกที่สุภาพอ่อนโยนในสายตาชาววังซึ่งเป็นชนชั้นสูง และเรียนรู้ภาษาไทยจนถึงขั้นอ่านออกเขียนได้ ในปลายปีพ.ศ. 2450 หม่อมคัทรินพระชายาของพระองค์ได้ประสูติโอรสเป็นชายพระองค์แรกและพระองค์เดียวคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแด่หม่อมคัทริน[10] ความสุขของแคทยาดำเนินต่อไปอยู่หลายปี จนกระทั่งเหตุการณ์ภายนอกเข้ามากระทบเธออย่างหนัก เริ่มด้วยการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ ที่ทำให้เจ้านายและขุนนางในรัสเซียต้องหลบลี้หนีภัยการเมืองออกนอกประเทศ ความหวังของแคทยาที่จะได้กลับไปเยี่ยมบ้านเดิมก็จบสิ้นลง บ้านเกิดเมืองนอนกลายเป็นดินแดนต้องห้ามสำหรับเธอไปเสียแล้ว สิ่งที่ตามมาคือสงครามโลกครั้งที่ 1 พระเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน ผู้นำทางการทหารของสยามก็คือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงรับภารกิจด้านนี้ไว้เต็มมืออีกครั้ง ทำให้แคทยาหมดโอกาสจะเดินทางไปแม้แต่ประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรป

ชีวิตสมรสดำเนินมาถึง 12 ปี ใต้ความกดดันเพิ่มขึ้นทีละน้อยในปีหลัง ๆ สุขภาพของแคทยาก็เสื่อมโทรมลง เธอแท้งติดต่อกันถึง 2 ครั้ง ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเดินทางไกล เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจให้ดีขึ้น ด้วยการไปเยี่ยมพี่ชายที่อยู่ในปักกิ่ง เลยไปญี่ปุ่นและเดินทางต่อไปถึงแคนาดา

เมื่อไม่มีแคทยาอยู่ด้วย เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงมีเวลาว่างพอจะได้คุ้นเคยกับพระญาติสตรีจากวังอื่น ๆ มากขึ้น ในจำนวนนั้นคือหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ รพีพัฒน์ พระธิดาของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้เป็นพระเชษฐาต่างชนนีกันนั่นเอง และในปี พ.ศ. 2462 แคทยาได้หย่าขาดกับ สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

หลังการหย่าและการแต่งงานใหม่[แก้]

หลังแยกทางเดินกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถแล้ว นับแต่เธอเดินทางออกจากสยาม แคทยาก็ไปหาพี่ชายที่ปักกิ่ง พักอยู่ด้วยไม่นาน ก็ย้ายไปพำนักอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เธอกลับไปใช้นามสกุลเดิม ใช้ชื่อว่า มาดามเดสนิทสกี้ อาศัยค่าเลี้ยงดูเดือนละ 100 ปอนด์อันน้อยนิดที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถประทานให้เป็นค่าเลี้ยงดูหลังหย่าร้าง เช่าบ้านเล็ก ๆได้หลังหนึ่ง แล้วใช้ชีวิตตามลำพังด้วยความเข้มแข็งเท่าที่ผู้หญิงสาวตัวคนเดียวจะทำได้

แคทยาไม่ได้ปล่อยชีวิตตัวเองให้หมกมุ่นน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา เธอใช้เวลาให้หมดไปกับการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ด้วยเข้าไปช่วยงานของสมาคมการกุศลของชาวรัสเซียเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพ เพราะแคทยาเคยฝึกงานเป็นนางพยาบาลมาก่อน จึงช่วยงานได้มาก ทำให้วัน ๆ ผ่านไปรวดเร็ว แต่พอกลับมาบ้านในตอนกลางคืน ความเปล่าเปลี่ยวเศร้าหมองก็กลับมาอีกสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียว พี่ชายแนะนำว่าหญิงสาวอย่างเธอไม่ควรอยู่คนเดียว จะอันตรายเกินไป ควรมีคนอยู่ด้วยเป็นเพื่อนในบ้าน จะมีรายได้เพิ่มด้วย เธอก็เลยแบ่งห้องชั้นบนในบ้านให้คนเช่า หนึ่งในคนเช่าห้องชั้นบนเป็นวิศวกรชาวอเมริกันชื่อแฮรี่ คลินตัน สโตน ซึ่งต่อมาเขาขอแต่งงานกับเธอ แต่ว่าแคทยาขอผัดผ่อนคำตอบไว้ก่อน

ต่อมาเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถเสด็จทิวงคต เธอจึงเดินทางกลับมาร่วมงานพระศพในกรุงเทพมหานคร เมื่อกลับมาเธอพบว่าโอรสของเธออยู่ในความดูแลของ "ทูลกระหม่อมลุง" (รัชกาลที่ 6) เธอได้รับเงินส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมจากมรดกของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถด้วยพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว แคทยาเดินทางกลับและแต่งงานกับแฮรี่สโตน แล้วเดินทางไปอเมริกากับเขา ทิ้งอดีตทุกอย่างในสยามให้จบสิ้นไปพร้อมกับการเสด็จทิวงคตของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก

แคทยาเข้ากับชีวิตในอเมริกาไม่ดีนัก ยิ่งกว่านั้นเธอเข้ากับพ่อสามีและแม่สามีชาวอเมริกันไม่ได้ ความสุขของเธอมีอย่างเดียวคือได้เดินทางไปอังกฤษ พบโอรสซึ่งย่างเข้าวัยหนุ่ม ในที่สุดเธอกับสโตนก็ตัดสินใจอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ปารีส เพื่อจะได้พบพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ซึ่งข้ามจากอังกฤษมาพักด้วยตอนปิดเทอม แคทยาเองก็อบอุ่นจากการได้รวมญาติชาวรัสเซียซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในฝรั่งเศสอีกครั้ง แคทยากลับไปอเมริกาในช่วงอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งเธอถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่ออายุ 71 ปี

สู่งานประพันธ์[แก้]

ทั้งนี้เนื่องจากมีลูกและหลานเป็นนักเขียน จึงมีผู้ถ่ายทอดชีวประวัติ สู่งานประพันธ์ หนังสือที่ให้รายละเอียดของหม่อมคัทรินหรือแคทยาดีที่สุดคือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม หรือ KATYA & THE PRINCE OF SIAM เขียนโดยสองป้าหลานคือไอลีน ฮันเตอร์ (Eileen Hunter) พี่สาวของหม่อมเอลิสะเบธชายาของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ธิดาคนเดียวของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังสร้างความบันดาลใจให้คณะบัลเล่ต์รัสเซียนำไปแสดงบัลเล่ต์ในชื่อเดียวกับหนังสือ Katya and the Prince of Siam "แคทยา และเจ้าฟ้าสยาม" ซึ่งเปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ของโลกที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546[11]

อนุสรณ์[แก้]

  • อาคารหอพัก คัทริน ณ พิษณุโลก วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก[12]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Catherine Desnitski
  2. จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:ริเวอร์บุ๊คส์. 2536, หน้า 255
  3. จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:ริเวอร์บุ๊คส์. 2536, หน้า 247
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามสกุลพิเศษ, เล่ม ๓๐, ตอน ๐ ง, ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖, หน้า ๘๓๒
  5. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 57
  6. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 62
  7. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 65
  8. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 66
  9. แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม, หน้า 68
  10. เล็ก พงษ์สมัครไทย, วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ จอมพล สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, นิตยสารต่วยตูนพิเศษ ฉบับที่ 395 เดือนมกราคม 2551 หน้า 91-98
  11. Katya and the Prince of Siam "แคทยา และเจ้าฟ้าสยาม เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaiticketmaster.com
  12. "วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกรับมอบ โต๊ะม้าหินอ่อน จาก มูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และคณะบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)". rtanc.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-25. สืบค้นเมื่อ 2022-07-25.
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๕ ฝ่ายใน, เล่ม ๒๘, ตอน ๐ ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๑๘๘๗

บรรณานุกรม[แก้]

  • หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์และไอลีน ฮันเตอร์, แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2551