ข้ามไปเนื้อหา

สัตว์ปีก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สกุณชาติ)

นก
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่:
ยุคครีเทเชียสตอนปลายปัจจุบัน, 72–0 ล้านปี [1][2] อาจมีต้นกำเนิดถึงยุคครีเทเชียสตอนต้นหรือครีเทเชียสตอนปลายช่วงต้นตามนาฬิกาโมเลกุล[3][4][5]
Red-crested turacoนกอินทรีทะเลชเต็ลเลอร์นกพิราบนกแคสโซแวรีใต้เพนกวินเจนทูนกศิวะหางสีตาลนกกระสาปากพลั่วนกกระเรียนมงกุฎเทาฮัมมิงเบิร์ดแอนนาRainbow lorikeetนกกระสานวลนกเค้าอินทรียูเรเซียนกร่อนทะเลหางขาวนกยูงอินเดียนกพัฟฟินแอตแลนติกนกฟลามิงโกอเมริกันนกบูบีตีนฟ้าKeel-billed toucan
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
เคลด: สัตว์เลื้อยคลาน
Sauropsida
เคลด: Archosauria
Archosauria
เคลด: Avemetatarsalia
Avemetatarsalia
เคลด: ไดโนเสาร์
Dinosauria
เคลด: เทโรพอด
Theropoda
เคลด: Ornithurae
Ornithurae
ชั้น: สัตว์ปีก
Aves
Linnaeus, 1758[6]
เคลดเพิ่มเติม
ชื่อพ้อง

สัตว์ปีก หรือ นก (รวมถึง ไก่, เป็ด, ห่าน, ไก่ฟ้า) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้น Aves (คำว่า Aves เป็นภาษาละติน หมายถึง นก) โดยมีลักษณะทั่วไปคือ เป็นสัตว์ทวิบาท เลือดอุ่น ออกลูกเป็นไข่ รยางค์คู่หน้าเปลี่ยนแปลงไปเป็นปีก มีขนนก และมีกระดูกที่กลวงเบา

ในปัจจุบันทั่วโลกมีนกอยู่ประมาณ 8,800 ถึง 9,800 ชนิด (ตามการจัดอนุกรมวิธานที่ต่างกัน) ซึ่งนับว่านกเป็นชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายมากที่สุด ในบรรดาชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหลายที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน ความหลากหลายของนกนับเนื่องไปตั้งแต่ในเรื่องของขนาดตัว สีสัน เสียงร้อง อาหารการกิน และถิ่นที่อยู่อาศัย

นกเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญเป็นอันมากทั้งต่อระบบนิเวศและต่อชีวิตมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนกเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น และการเกื้อกูลกันระหว่างนกกับสรรพสิ่งต่าง ๆ ตามธรรมชาติก็เป็นไปอย่างแนบแน่น ถ้าหากปราศจากนก คงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงการดำรงอยู่ต่อไปของชีวภาคใบนี้

วิวัฒนาการ

[แก้]
ซากดึกดำบรรพ์อาร์คีออพเทอริกซ์

นกมีความคล้ายคลึงกับไอฟิสสัตว์เลื้อยคลานหลายประการ เช่น โครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อ เกล็ดที่ขา การออกลูกเป็นไข่ และการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จึงเชื่อกันว่านกในปัจจุบันถือกำเนิดมาจากสัตว์เลื้อยคลาน

ยิ่งไปกว่านั้น มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์จำนวนมากยืนยันว่านกมีวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์เทอโรพอด ตัวอย่างเช่น ซากดึกดำบรรพ์อาร์คีออปเทอริกซ์ที่ค้นพบในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1861 ซากดึกดำบรรพ์นี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี บ่งบอกว่าอาร์คีออพเทอริกซ์อาศัยอยู่ในยุคจูแรสสิก และมีลักษณะกึ่งนกกึ่งเทอโรพอด โดยอาร์คีออพเทอริกซ์ต่างจากนกในปัจจุบันตรงที่มีสามเล็บยื่นออกมาจากอุ้งมือ มีฟันที่ปาก และมีกระดูกหางยาว แต่ขณะเดียวกันบริเวณลำตัวก็มีขนนกปกคลุม ทำให้นักปักษีวิทยาเชื่อว่าอาร์คีออพเทอริกซ์น่าจะเป็นบรรพบุรุษของนกในปัจจุบัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์คริพโทโวแลนส์ที่ประเทศจีน ซึ่งมีสันที่กระดูกอก และส่วนยื่นรูปตะขอต่อที่ซี่โครง ซากดึกดำบรรพ์คริพโทโวแลนส์จึงนับว่ามีความเป็นนกมากกว่าซากดึกดำบรรพ์ใด ๆ ที่เคยค้นพบ

กายวิภาคเพื่อการบิน

[แก้]

ทุกส่วนในร่างกายของนกถูกดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นเจ้าเวหาอย่างแท้จริง เริ่มจากกระดูก ที่ภายในมีลักษณะกลวงคล้ายรวงผึ้ง ทำให้เบาแต่แข็งแรง นกบางชนิดในวงศ์นกโจรสลัด เมื่อกางปีกจะกว้างถึง 2 เมตร แต่น้ำหนักกระดูกทั้งหมดเพียงแค่ 113 กรัมเท่านั้น

นอกจากนี้อวัยวะภายในบางอย่างของนกจะถูกตัดทอนออกไปเพื่อลดน้ำหนักตัวให้ได้มากที่สุด เช่นรังไข่ของตัวเมียที่เหลือเพียงข้างเดียว และปากที่ไร้ฟัน โดยนกจะไม่เคี้ยวอาหาร แต่กลืนลงไปย่อยในกึ๋นแทน

การบินของนกต้องใช้พลังงานจากเมแทบอลิซึมเป็นอย่างมาก นกจึงมีระบบหายใจและระบบหมุนเวียนโลหิตอันทรงประสิทธิภาพ จากหัวใจที่มี 4 ห้อง และท่อที่เชื่อมต่อระหว่างปอดกับถุงลมทั่วลำตัว

เพื่อความปลอดภัยในการบิน นกจึงต้องมีสัมผัสอันว่องไว โดยเฉพาะสัมผัสทางสายตา นกบางชนิดมีสายตาอันคมกริบ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสายตาที่ดีที่สุดในบรรดาสายตาของสัตว์มีกระดูกสันหลังด้วยกัน สมองส่วนรับภาพของนกพัฒนาไปมาก เช่นเดียวกับสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว เพราะการบินที่ดีต้องอาศัยการประสานงานที่ดีของทุกส่วนในร่างกายนั่นเอง

สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการบินคือ ปีก นกมีปีกที่เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์ ซึ่งช่วยให้เกิดแรงยกขณะบิน ในการกระพือปีก นกจะใช้กล้ามเนื้ออกอันแข็งแรงที่ติดอยู่กับกระดูกอก นกที่บินเร็วที่สุดคือนกในวงศ์นกแอ่นบินเร็ว ซึ่งบินได้เร็วถึง 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ส่วนขนนกนั้นนับว่าเป็นพัฒนาการที่พิเศษสุดอย่างหนึ่งในบรรดาพัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ขนนกเป็นส่วนประกอบของเคราติน มีลักษณะเบาแต่แข็งแรง ขนนกช่วยป้องกันนกจากแสงแดด ช่วยในการหาคู่ ช่วยในการปรับอุณหภูมิของร่างกาย และที่สำคัญที่สุดคือช่วยในด้านการบินของนก

ความเป็นอยู่

[แก้]

อาหารการกิน

[แก้]

ในแต่ละวันนกต้องการอาหารจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism) โดยนกแต่ละชนิดจะหาอาหารที่แตกต่างกันออกไป นกบางชนิดเลี้ยงชีพด้วยน้ำต้อย บางชนิดเลี้ยงชีพด้วยธัญพืช แมลง สัตว์พวกหนู สัตว์พวกกิ้งก่า ปลา ซากเน่า ไปจนถึงนกด้วยกัน นกจะพัฒนารูปร่าง ปีก ขา และปาก ให้มีลักษณะเหมาะสมกับการหาอาหาร นกส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางวัน มีนกเพียงบางชนิดเท่านั้นที่หากินในเวลากลางคืน

นกบางชนิดหากินร่วมกันเป็นฝูง เช่น ฝูงนกนางนวลที่บินร่อนหาปลาตามชายทะเล หรือฝูงนกเป็ดน้ำรวมตัวกันแหวกว่ายอยู่ในบึง ซึ่งการหากินร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ช่วยให้นกหาอาหารง่ายขึ้นและได้ปริมาณมากกว่าหากินตามลำพัง รวมทั้งยังช่วยกันระวังภัยได้เป็นอย่างดี

ส่วนนกบางชนิดก็มีพฤติกรรมการหาอาหารร่วมกับสัตว์อื่น เช่น นกเอี้ยงที่หากินร่วมกับวัวควาย โดยนกเอี้ยงจะคอยจับแมลงที่พากันบินหนีขึ้นมาเมื่อวัวควายเดินย่ำไปบนดิน นอกจากนี้นกเอี้ยงยังชอบเกาะบนตัววัวควายเพื่อจับแมลงที่บินตอมตามตัววัวควายอีกด้วย

ถิ่นอาศัย

[แก้]

นกแต่ละชนิดมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับถิ่นอาศัยต่าง ๆ เราจึงสามารถพบนกได้ทุกหนทุกแห่งในสภาพแวดล้อมอันหลากหลาย ซึ่งพอจะแบ่งถิ่นอาศัยของนกได้ดังนี้

มีนกหลายชนิดที่เดินหากินตามแนวหาดทรายชายทะเล เช่น นกหัวโตมลายู และ นกยางทะเล เป็นต้น ขณะที่นกหลายชนิดโผผินบินร่อนอยู่ตามหน้าผาริมทะเล หรือแม้แต่ในทะเลลึกก็เป็นแหล่งหากินของนกขนาดใหญ่ เช่น นกโจรสลัด ซึ่งนกโจรสลัดสามารถบินวนอยู่บนท้องฟ้าได้เป็นเวลาหลายวันโดยไม่ต้องร่อนลงบนพื้นดิน โดยนกที่หากินในท้องทะเลนี้ เรามักเรียกว่า นกทะเล
ตามแนวชายฝั่งที่มีไม้ชายเลนขึ้นหนาแน่นเป็นถิ่นอาศัยของนกมากมาย เช่น นกกินเปี้ยว เหยี่ยวแดง ฯลฯ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะมีนกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาพักอาศัยเป็นจำนวนมาก นกที่หากินตามป่าชายเลนนี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่า นกชายเลน นอกจากนี้ก็มีฝูงนกนางนวลซึ่งเป็นนกทะเลหากินบริเวณนี้ด้วย
พื้นที่เกษตรกรรมแถบชานเมืองหรือในชนบทเป็นที่อยู่ของนกหลายชนิด นกที่อาศัยอยู่ตามทุ่งนาหรือทุ่งหญ้าโล่ง เรามักเรียกกันว่า นกทุ่ง เช่น นกตะขาบทุ่ง นกกระจิบหญ้า ฯลฯ ส่วนนกที่อาศัยตามแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง ทะเลสาบ เรามักเรียกว่า นกน้ำ เช่น นกยาง นกเป็ดน้ำ นกกวัก ฯลฯ
  • ป่าไม้ประเภทต่าง ๆ
ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีนกอาศัยอยู่มากกว่าแห่งอื่น เนื่องจากเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตของนกนานาชนิด เช่น นกเงือก นกขุนแผน นกโพระดก นกแต้วแล้ว ฯลฯ นกที่อาศัยหากินในป่ามีชื่อเรียกโดยรวมว่า นกป่า
  • สภาพแวดล้อมอื่น ๆ
นกบางชนิดมีการปรับตัวจนสามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แม้แต่สัตว์อื่นยังอาศัยอยู่ได้ยาก เช่น ทะเลทราย ขั้วโลกใต้ หรือแม้แต่ในเมือง

ในปัจจุบันมีการนำดีเอ็นเอมาใช้จัดจำแนกนกแล้ว โดยงานที่สำคัญคือ Sibley & Ahlquist's Phylogeny and Classification of Birds (1990) แต่การจัดจำแนกนกในที่นี้ยึดตาม Handbook of Birds of the World ซึ่งจัดอันดับนกโดยอาศัยลักษณะทางสัณฐานวิทยาเป็นหลัก และแบ่งนกออกเป็นอันดับต่าง ๆ ดังนี้

Paleognathae

[แก้]

อันดับใหญ่ Paleognathae (ตามรากศัพท์แปลว่า ขากรรไกรแบบเก่า) ประกอบด้วยนกอันดับต่าง ๆ ดังนี้

Neognathae

[แก้]

อันดับใหญ่ Neognathae (ตามรากศัพท์แปลว่า ขากรรไกรแบบใหม่) ประกอบด้วยนกอันดับต่าง ๆ ดังนี้

Aves

Palaeognathae (Ostriches and relatives)

Neognathae
Galloanserae

Galliformes (chickens and relatives)

Anseriformes (ducks and relatives)

Neoaves
Basal Landbirds
Telluraves

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Field, Daniel J.; Benito, Juan; Chen, Albert; Jagt, John W. M.; Ksepka, Daniel T. (March 2020). "Late Cretaceous neornithine from Europe illuminates the origins of crown birds". Nature. 579 (7799): 397–401. Bibcode:2020Natur.579..397F. doi:10.1038/s41586-020-2096-0. ISSN 0028-0836. PMID 32188952. S2CID 212937591.
  2. De Pietri, Vanesa L.; Scofield, R. Paul; Zelenkov, Nikita; Boles, Walter E.; Worthy, Trevor H. (February 2016). "The unexpected survival of an ancient lineage of anseriform birds into the Neogene of Australia: the youngest record of Presbyornithidae". Royal Society Open Science. 3 (2): 150635. Bibcode:2016RSOS....350635D. doi:10.1098/rsos.150635. ISSN 2054-5703. PMC 4785986. PMID 26998335.
  3. Yonezawa, T.; และคณะ (2017). "Phylogenomics and Morphology of Extinct Paleognaths Reveal the Origin and Evolution of the Ratites". Current Biology. 27 (1): 68–77. doi:10.1016/j.cub.2016.10.029. PMID 27989673.
  4. Kuhl, H.; Frankl-Vilches, C.; Bakker, A.; Mayr, G.; Nikolaus, G.; Boerno, S. T.; Klages, S.; Timmermann, B.; Gahr, M. (2020). "An unbiased molecular approach using 3'UTRs resolves the avian family-level tree of life". Molecular Biology and Evolution. 38 (1): 108–127. doi:10.1093/molbev/msaa191. hdl:21.11116/0000-0007-B72A-C. PMC 7783168. PMID 32781465.
  5. Crouch, N. M. A. (2022). "Interpreting the fossil record and the origination of birds". bioRxiv. doi:10.1101/2022.05.19.492716. S2CID 249047881.
  6. Brands, Sheila (14 August 2008). "Systema Naturae 2000 / Classification, Class Aves". Project: The Taxonomicon. สืบค้นเมื่อ 11 June 2012.
  7. Boyd, John (2007). "NEORNITHES: 46 Orders" (PDF). John Boyd's website. สืบค้นเมื่อ 30 December 2017.

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • All the Birds of the World, Lynx Edicions, 2020.
  • Del Hoyo, Josep; Elliott, Andrew; Sargatal, Jordi (eds.). Handbook of the Birds of the World (17-volume encyclopaedia), Lynx Edicions, Barcelona, 1992–2010. (Vol. 1: Ostrich to Ducks: ISBN 978-84-87334-10-8, etc.).
  • Lederer, Roger; Carol Burr (2014). Latein für Vogelbeobachter: über 3000 ornithologische Begriffe erklärt und erforscht, aus dem Englischen übersetzt von Susanne Kuhlmannn-Krieg, Verlag DuMont, Köln, ISBN 978-3-8321-9491-8.
  • National Geographic Field Guide to Birds of North America, National Geographic, 7th edition, 2017. ISBN 9781426218354
  • National Audubon Society Field Guide to North American Birds: Eastern Region, National Audubon Society, Knopf.
  • National Audubon Society Field Guide to North American Birds: Western Region, National Audubon Society, Knopf.
  • Svensson, Lars (2010). Birds of Europe, Princeton University Press, second edition. ISBN 9780691143927
  • Svensson, Lars (2010). Collins Bird Guide: The Most Complete Guide to the Birds of Britain and Europe, Collins, 2nd edition. ISBN 978-0007268146
  • รุ่งโรจน์ จุกมงคล, นก, สารคดี, 2542. ISBN 974-8211-71-1.
  • โอภาส ขอบเขตต์, นกในเมืองไทย, สารคดี, 2541. ISBN 974-8211-70-3.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]