วิศวรูป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิศวรูป แสดงหลายศีรษะ หลายหัตถ์ และหลายบาท ราว ค.ศ. 1740, พิลาสปุระ

วิศวรูป (สันสกฤต: विश्वरूप, แปลตรงตัว'รูปแห่งจักรวาล', IAST: Viśvarūpa)[1] เป็นรูปเชิงประติมานวิทยาและรูปอวตารเป็นมนุษย์ของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะพระวิษณุในฮินดูร่วมสมัย รูปปางอวตารเป็นวิศวรูปที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดพบใน ภควัตคีตา ซึ่งพระกฤษณะทรงอวตารมาในมหาภารตะระหว่างสงครามทุ่งกุรุเกษตร ถือกันว่าวิศวรูปเป็นปางสูงสุดของพระวิษณุ ที่ซึ่งมีจักรวาลทั้งหมดอยู่ภายในพระองค์[2]

ประติมานวิทยา[แก้]

ยุคแรก[แก้]

แหล่งข้อมูเชิงวรรณกรรมหลายแหล่งระบุถึงวิศวรูปว่ามีศีรษะและแขน "หลาย" หรือ "พัน/ร้อย" หรือ "อนันต์" แต่ก็ไม่ได้ระบุจำนวนอวัยวะเฉพาะที่ปรากฏ[3] ประติมากรรมยุคคุปตะและหลังคุปตะจึงต้องพยายามสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถแสดงความอนันต์ของอวัยวะดังกล่าว[4] การบรรยายลักษณะของวิศวรูปโดยอรชุนในภควัตคีตาทำให้มีความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ประติมากรรมอยู่สองแบบ: วิศวรูปในฐานะเทพเจ้าหลายศีรษะและหลายแขน หรือเทพเจ้าที่ภายในร่างกายมีองค์ประกอบทั้งปวงของจักรวาลอยู่ภายใน[5] วิศวรูปแบบฮินดูนิยมสร้างด้วยแบบแรก ส่วนพระพุทธเจ้าแห่งจักรวาล (พระไวโรจนพุทธะ) แสดงในรูปแบบหลัง เทวรูปองค์หนึ่งที่พบในปาเรล นครมุมไบ อายุราว ค.ศ. 600 แสดงเทพเจ้าเจ็ดองค์ที่เชื่อมต่อกันและกัน ซึ่งเป็นวิศวรูปของพระศิวะ อันถือเป็นปางที่พบได้ยาก[5]

วิศวรูปกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพระวิษณุในสมัยคุปตะ (คริสต์ศตวรรษที่ 6) เทวรูปวิศวรูปยุคคุปตะชิ้นแรก ๆ เป็นศิลปะมถุรา พบที่อำเภออันคฤห์ สร้างขึ้นราว ค.ศ. 430-60 โดยได้รูปแบบมาจากคำบรรยายที่ปรากฏในภควัตคีตา วิศวรูปนี้มีสามศีรษะ มนุษย์อยู่ตรงกลาง, สิงห์ (แทนนรสิงห์) และ หมูป่า (แทนวราหะ) และมีสี่แขน อีกหนึ่งเทวรูปยุคแรกพบที่ปัจจุบันประดิษฐานในจังงูนารายัณมนเทียร ประเทศเนปาล อายุราวศตวรรษที่ 5-6 แสดงเพทเจ้าสิบหัว สิบแขน และล้อมรอบด้วยสามพื้นที่ของจักรวาลวิทยาฮินดู ได้แก่สวรรค์, ปฤถวี (โลก) และ ปาตาล (ใต้โลก) ตามเทพเจ้า มนุษย์ และสัตว์ปาตาลอย่างนาค ตามลำดับ ทางขวาเป็นปิศาจ และทางซ้ายเป็นเทวะ แสดงให้เห็นถึงรูปที่เป็นสองขั้วในปาง เช่นเดียวกับที่พบในวราหะมนเทียร เทโอคฤห์[6]

ยุคใหม่[แก้]

ในงานศิลปะสมัยนิยม นิยมแสดงภาพของวิศวรูปในรูปเทพเจ้ามีหลายศีรษะ แต่ละศีรษะอาจแทนเทพเจ้าแต่ละองค์หรือแต่ละปาง แสดงจนถึงปางดุร้ายของเทพเจ้าเป็นต้น ในมือถืออาวุธหลากชนิด และหลายครั้งมักพบอรชุนปรากฏอยู่ในฉากเคารพแก่องค์วิศวรูปด้วย[7] ที่ชโยติสระ ซึ่งเชื่อกันว่าพระกฤษณะแสดงภควัตคีตาแก่อรชุน มีประดิษฐานเทวรูปพระกฤษณะขนาด 40 ฟุตในรูปวิศวรูป สร้างขึ้นจาก อัษฏธาตุ[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. www.wisdomlib.org (2012-06-29). "Vishvarupa, Viśvarūpā, Visvarupa, Viśvarūpa, Vishva-rupa: 25 definitions". www.wisdomlib.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-08-18.
  2. www.wisdomlib.org (2020-05-08). "Verse 11.16 [Bhagavad-gita]". www.wisdomlib.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-08-18.
  3. Rajarajan, R. K. K. (January 2020). "Water, Source of 'Genesis' and the End Macro and Micro Viṣṇu in the Hymns of the Āḻvārs". The Medieval History Journal (ภาษาอังกฤษ). 23 (2): 296. doi:10.1177/0971945820956583. S2CID 227240912.
  4. Srinivasan p. 137
  5. 5.0 5.1 Howard p. 63
  6. Howard pp. 60-1
  7. Devdutt Pattanaik (1 November 2009). 7 Secrets of Hindu Calendar Art. Westland Ltd./HOV Services. ISBN 978-81-89975-67-8. สืบค้นเมื่อ 10 December 2012.[ลิงก์เสีย]
  8. Work to install Lord Krishna’s statue begins, The Tribune, 15 June 2021.

บรรณานุกรม[แก้]