ภควัทคีตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ภควัตคีตา)
หนังสือภควัทคีตาฉบับภาษาสันสกฤต คัดลอกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19

ภควัทคีตา (สันสกฤต: भगवद्गीता, อ่านว่า "พะ-คะ-วัด-คี-ตา") เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู โดยเฉพาะสำหรับนิกายไวษณพหรือผู้ที่ยกย่องพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุด ชื่อคัมภีร์ ภควัทคีตา (ภควตฺ + คีตา) แปลว่า "บทเพลง (หรือลำนำ) แห่งพระผู้เป็นเจ้า" นำเรื่องราวส่วนหนึ่งมาจากมหากาพย์มหาภารตะ ประกอบด้วยบทกวี 700 บท

การดำเนินเรื่อง[แก้]

คัมภีร์นี้มิได้มีลักษณะเป็นเอกเทศ คือมิได้แต่งขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวเป็นเล่มเฉพาะเหมือนดังคัมภีร์พระเวทแต่ละเล่ม แท้ที่จริงเป็นเพียงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคล 2 คน ซึ่งเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาในบรรพที่ 6 (ภีษมบรรพ) แห่งมหากาพย์มหาภารตะ

ในบทสนทนาโต้ตอบดังกล่าวนี้ ฝ่ายที่ถามปัญหาคือพระอรชุน เจ้าชายฝ่ายปาณฑพแห่งจันทรวงศ์ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพใหญ่มาทำสงครามแย่งชิงเมืองหัสตินาปุระจากฝ่ายเการพแห่งจันทรวงศ์เช่นเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าชายทุรโยธน์และกองทัพพันธมิตรมากมายเป็นศัตรูคู่สงครามด้วย ฝ่ายที่ตอบปัญหาทั้งหมดและเป็นผู้อธิบายตลอดทั้งเรื่องก็คือ พระกฤษณะ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายราชสกุลจันทรวงศ์ สาขายาทพ

ในขณะที่ตอบปัญหาอันล้ำลึกดังกล่าวนั้น พระกฤษณะกำลังทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึกให้พระอรชุน บทสนทนาโต้ตอบนี้ถ่ายทอดออกมาโดยสญชัย ผู้เป็นเสวกามาตย์ของพระเจ้าธฤตราษฏร์ พระราชาพระเนตรบอดแห่งเมืองหัสตินาปุระ โดยมหาฤษีวยาสหรือพระฤษีกฤษณไทวปายนเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สญชัย เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งในมหาสงครามครั้งนั้นอย่างแจ่มแจ้งทั้ง ๆ ที่นั่งอยู่ในพระราชวัง และคอยกราบทูลพระเจ้าธฤตราษฎร์ให้ทราบการเคลื่อนไหวทุกขณะในสมรภูมิ

เพราะฉะนั้นข้อความสนทนาระหว่างบุคคลทั้งสองในสนามรบก่อนจะเริ่มมหาสงครามจึงเป็นถ้อยคำที่สญชัยเรียบเรียงทูลถวายพระเจ้าธฤตราษฎร์ และมาให้ชื่อกันในภายหลังว่า ภควัทคีตา ทั้ง ๆ ที่ชื่อเดิมในมหาภารตะเรียกข้อความตอนนี้ว่า ภควัทคีโตปนิษัท (ภควตฺ + คีตา + อุปนิษทฺ) ด้วยเหตุที่มีข้อความหลายตอนคัดลอกมาจาก คัมภีร์อุปนิษัท ฉบับต่าง ๆ อันเป็นหมู่คัมภีร์รุ่นสุดท้ายในสมัยพระเวท ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เวทานตะ (ที่สุดแห่งพระเวท) ตลอดจนความคิดเรื่องอาตมัน ปรมาตมัน พรหมัน อันเป็นแก่นหรือสาระสำคัญที่สุดในคำสอนของอุปนิษัททุกเล่ม ก็มีกล่าวถึงหลายต่อหลายครั้งในภควัทคีตา จะแตกต่างกันเล็กน้อยก็ตรงที่ว่าข้อความในคัมภีร์อุปนิษัทนั้นแต่งเป็นภาษาร้อยแก้ว แต่ในคัมภีร์ภควัทคีตาแต่งเป็นบทร้อยกรอง

ถ้าจะกล่าวโดยแท้จริงแล้ว คำสอนในคัมภีร์ภควัทคีตา เกือบครึ่งเล่มเป็นคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท และอีกกว่าครึ่งเล่มเป็นคำสอนแบบของเหล่าภาควตะ ซึ่งไหว้พระกฤษณะเป็นเทพสูงสุดในนิกายของตน และคำสอนแบบดังกล่าวนี้มีมานานแล้วในหมู่เหล่าภาควตะอันเป็นชนอารยันอินเดียกลุ่มหนึ่ง ต่อมาเหล่านิกายไวษณพ หรือเหล่าที่นับถือพระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุดได้ผนวกเอาพระกฤษณะเข้าไปเป็นพระวิษณุอวตาร หรือนารายณ์อวตารปางที่ 8

คำสอนของเหล่าภาควตะซึ่งเน้นในเรื่องความนับถือพระกฤษณะเป็นเทพสูงสุดก็ถูกกลืนเข้าไปผสมผสานกับแนวความคิดของเหล่าไวษณพที่มีส่วนในการแต่งมหากาพย์มหาภารตะอยู่มากมายหลายตอน จึงปรากฏออกมาในรูปภควัทคีตาดังที่ปรากฏเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้ และการที่จะเรียกหนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้ว่า ภควัทคีโตปนิษัท หรือ ภควัทคีตา หรือ คีตา เฉย ๆ ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของคนอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูนิกายไวษณพ ในรูปแบบของบทสนทนาที่มีข้อความเกือบทั้งหมด เป็นคำอธิบายเรื่องวิถีทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด ส่วนบทที่เป็นคำถามของพระอรชุนในเรื่องความลึกลับและวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้น ก็เป็นเพียงส่วนประกอบที่เล็กน้อยเหลือเกิน คล้าย ๆ กับเป็นบทเชื่อมต่อระหว่างคำอธิบายอันยืดยาว แต่ละตอนของพระเจ้าในร่างมนุษย์คือพระกฤษณะเท่านั้นเอง

คัมภีร์ภควัทคีตา แบ่งออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า อัธยายะ รวมทั้งสิ้น 18 อัธยายะด้วยกัน

อ้างอิง[แก้]