วัดพระเมรุ (จังหวัดนครปฐม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระเมรุ

วัดพระเมรุ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม บริเวณสวนนันทอุทยาน ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ 3 กิโลเมตร อยู่ติดกับตลาดปฐมมงคล[1]

ลักษณะทางกายภาพ[แก้]

ลักษณะทางกายภาพเดิมเป็นมูลดินกลมมีขนาดความกว้าง 8 เมตร สูง 10 เมตร ปกคลุมด้วยต้นหญ้าและต้นไม้ใหญ่อย่างหนาแน่น แต่ในปัจจุบันกลายเป็นซากโบราณสถานที่มีกองอิฐซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้นผสมกับมูลดิน โดยมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่กลางโบราณสถานนับสิบต้นประกอบกับต้นหญ้าขึ้นรกรุงรัง ส่งผลให้ทัศนียภาพของโบราณสถานแห่งนี้ดูทรุดโทรมยิ่งนัก

ประวัติ[แก้]

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดพระเมรุเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม มีนาคม 2478 หน้า 3686[1] เดิมเป็นวัดเก่าแก่แต่ร้างมาเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยที่เมืองนครปฐมโบราณถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง โดยมีการเล่าขานเป็นตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดแห่งนี้ เช่น ตำนานปู่โสมที่เฝ้าปกป้องรักษา หรือโพรงที่ชาวบ้านลักลอบขุดกรุซึ่งกล่าวกันว่าเป็นอุโมงค์ที่สามารถลอดทะลุไปยังวัดธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม ได้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2453 - 2468) ได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดพระเมรุ” จากลักษณะสัณฐานเดิมที่มีแต่ส่วนของฐานเป็นซากอิฐหักพัง ทำให้ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวคิดว่าเป็นพระเมรุของพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ

ก่อนการขุดค้นวัดพระเมรุได้มีการรื้อทำลายโบราณสถานแห่งนี้หลายครั้ง ทั้งการขุดค้นหาสมบัติ การนำอิฐไปถมถนน และการขนอิฐไปสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ต่อมาในระหว่าง พ.ศ. 2481 - 2482 จึงได้รับการขุดค้นและขุดแต่งโดยกรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (École française d'Extrême-Orient (EFEO)) ในความดูแลของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และ นายปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont)[2] นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศสแห่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ผลการขุดค้นในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขปริศนาเกี่ยวกับโบราณสถานแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันโบราณสถานวัดพระเมรุได้ขาดการบำรุงรักษาให้คงสภาพของโบราณสถานที่ได้ขุดแต่งเอาไว้ในครั้งอดีต ทำให้มีต้นไม้ขึ้นเป็นพงรกรุงรังดังที่เห็นจากสภาพในปัจจุบัน

การขุดค้นทางโบราณคดีและการบูรณะ[แก้]

การขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดพระเมรุ ถือเป็นการขุดค้นที่มีการใช้งบประมาณที่มากพอสมควร ซึ่งช่วงเวลานั้นทางประเทศไทยยังไม่มีทุนทรัพย์ที่เพียงพอต่อการดำเนินการขุดค้น จึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (École française d'Extrême-Orient (EFEO)) โดยมีข้อตกลงกัน คือ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศจะรับผิดชอบในส่วนของงบประมาณ ยกเว้นส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่กรมศิลปากรจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมอบหมายให้หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์แห่งกองโบราณคดี กรมศิลปากรเป็นผู้ควบคุมการขุดค้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ คือ นายปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) และแบ่งศิลปวัตถุที่พบให้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งทางกรมศิลปากรมีสิทธิเลือกก่อนจึงให้ทางสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศเลือกในส่วนที่เหลือ โดยลงนามในความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการที่กรุงเทพมหานครระหว่างอธิบดีกรมศิลปากรกับผู้ประศาสน์การของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศเมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2480 และเริ่มการขุดค้นในวันที่ 24 มกราคม 2482 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2482 รวมเวลาทั้งสิ้น 6 เดือนเต็ม

ก่อนการขุดค้น วัดพระเมรุก่อนมีรูปทรงสัณฐานเป็นมูลดินกลมสูง 10 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เมตร ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่และหญ้าอยู่โดยรอบ การลงมือขุดค้นในครั้งแรกเริ่มเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2528 ในเบื้องต้นได้การถางต้นไม้เล็กๆ ออก และได้เริ่มทำการขุดค้นอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 29 มกราคม 2528 แรงงานที่ใช้ในการขุดค้นมีจำนวน 50 คน ได้ค่าแรงตอบแทนต่อคนวันละ 60 สตางค์ แต่ทำการขุดค้นได้ 2 วันก็เกิดปัญหาในการควบคุมการปฏิบัติงาน จึงเปลี่ยนมาใช้แรงงานนักโทษ 90 คน ค่าแรงให้นักโทษวันละ 40 สตางค์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขุดค้นได้มากและสามารถควบคุมการทำงานได้ง่ายขึ้น

การขุดค้นในขั้นแรก ถือเป็นการเปิดโครงสร้างหลักของสถูปประธาน เริ่มจากการขนดินและเศษอิฐที่แตกหักออกจากส่วนยอดสถูปประธานแล้วไล่ลงมายังฐานจนถึงพื้นดิน จากนั้นจึงขุดค้นบริเวณฐานสถูปประธานเข้าหาศูนย์กลางของสถูป ทำให้พบว่าเป็นสถูปประธานของวัดพระเมรุเป็นสถูปกลมขนาดใหญ่รองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยมขนาดสูงใหญ่ย่อมุมทั้ง 4 ด้าน ด้านล่างของฐานสถูปพบฐานครึ่งวงกลมก่อด้วยอิฐทางทิศตะวันออกและทิศเหนือติดอยู่กับฐานประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งยื่นออกมาจากฐานสถูป หากสมบูรณ์จะเป็นแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปและฐานครึ่งวงกลมสำหรับวางบัวรองพระบาทของพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานประจำทั้ง 4 ด้านของฐานสถูป อันได้แก่ พระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทศิลาขาวทั้ง 4 องค์ ที่ต่อมาได้กระจัดกระจายไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ

การขุดค้นขั้นต่อมา ได้ขุดค้นในส่วนที่ต่อจากฐานครึ่งวงกลม โดยกระจายรัศมีการขุดออกมายังฐานสถูปประธานอีกชั้นที่อยู่ด้านล่าง บริเวณใกล้กับฐานครึ่งวงกลมอันเป็นที่ตั้งของบัวรองพระบาท พบหลุมขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 80 เซนติเมตร หลายหลุมเรียงกันเป็นแนวยาวออกมาจากตัวสถูปประธาน สันนิษฐานว่าเป็นหลุมปักเสาของโคปุระ อันเป็นซุ้มประตูทางเข้าของหลังคาระเบียงคดที่ล้อมรอบฐานสถูปประธาน ในแนวเดียวกับโคปุระ ยังพบบันไดที่ทำเป็นอัฒจันทร์หรือครึ่งวงกลมซ้อนกันเป็นทางขึ้นไปยังฐานพระพุทธรูปที่อยู่ด้านบน จากนั้นได้ขุดลึกลงไปในใจกลางสถูปประธาน พบเศษทองคำซึ่งเป็นแผ่นวางฤกษ์ของการก่อวัดพระเมรุเช่นเดียวกับศาสนสถานอีกหลายแห่งในประเทศไทย และได้พบร่องรอยของรูที่เกิดจากการลักลอบขุดมาก่อนหน้านี้ 2 แห่ง คือ ตรงแกนกลางและบริเวณฐานด้านทิศตะวันออกของสถูปประธาน อันเป็นที่มาของความเชื่อว่าเป็นอุโมงค์ที่สามารถทะลุไปยังวัดธรรมศาลาได้

การขุดค้นบริเวณส่วนต่อจากแนวของเสาโคปุระต่อลงมายังฐานด้านล่างที่อยู่ติดกับพื้นดิน ได้พบพื้นทางเดินของระเบียงคดเป็นแนวยาวรอบสถูป โดยมีซากกำแพงของระเบียงคดทางทิศตะวันออกกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือผนังสูง 2 ถึง 3 เมตร ทั้งนี้ยังพบช่องประตูทางเข้าที่ผนังระเบียงคดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือกว้าง 1.20 เมตร ผนังระเบียงคดด้านนอกฉาบปูนและทำเป็นช่อง สันนิษฐานว่าทำขึ้นสำหรับบรรจุพระพิมพ์ เพราะได้พบพระพิมพ์จำนวนหนึ่งกระจัดกระจายอยู่บนฐานสถูปประธานในระหว่างการขุดค้น โดยปรากฏเป็นพระพิมพ์ถึง 3 แบบด้วยกัน ต่อจากผนังระเบียงคดทางด้านนอก พบพื้นทางเดินเป็นทางยาวรอบผนังระเบียงคดด้านนอกกว้าง 60 เซนติเมตร คาดว่าเป็นทางเข้าออกสู่ระเบียงคด เพราะพบกรอบประตูอยู่ที่ผนังระเบียงคด ต่อจากส่วนของทางเดินดังกล่าวจะเป็นส่วนเชื่อมต่อกับฐานสถูปใหญ่ พบร่องรอยของบันไดลงไปยังฐานชั้นล่างทั้ง 4 ทิศ สภาพไม่สมบูรณ์เพราะจากถูกทำลายไปหมดแล้ว และได้พบสถูปบริวารที่มุมทั้ง 4 ของสถูปประธาน ลักษณะเป็นฐานย่อมุมไม้สิบสอง มีอัฒจันทร์ประกบอยู่ที่ฐานสถูปบริวารด้านนอกทั้ง 2 ด้าน ด้านข้างของอัฒจันทร์มีสิงโตปูนปั้นประดับอยู่ข้างละ 1 ตัว แต่ที่พบเหลือเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น คือ อัฒจันทร์ที่ติดกับสถูปบริวารทางด้านทิศตะวันตก

ในระหว่างที่ทำการขุดค้นซึ่งเป็นฤดูฝน ได้ทำให้อิฐด้านทิศตะวันตกเกิดการผุกร่อน เผยให้เห็นเทคนิคการสอปูนที่ใช้หินไข่ปลาบดละเอียดพอประมาณผสมกับทรายและยางไม้บางชนิด จนมีความเหนียวคล้ายกาวสอระหว่างอิฐ (ตรวจหาส่วนประกอบของปูนสอโดยกรมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น)

นอกจากการขุดค้นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆ อีก อาทิ ชิ้นส่วนของพระพุทธรูป อันได้แก่ ท่อนพระชงฆ์ 1 ท่อน พระเพลาซีกขวา 1 องค์ พระอุระ 1 องค์ ข้อพระหัตถ์ 1 องค์ นิ้วพระหัตถ์ 6 องค์ เครื่องสัมฤทธิ์ 2 ชิ้น พระสมัยศรีวิชัย 1 องค์ สังวาลสมัยอยุธยา 1 ชิ้น ปูนปั้นและดินเผา 535 ชิ้น เครื่องศิลา 26 ชิ้น พระพิมพ์ 88 องค์ โดยนายปิแอร์ ดูปองต์ได้ปูนปั้น 64 ชิ้น กับพระพิมพ์ดินเผา 31 องค์ นำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานอินโดจีน ส่วนกรมศิลปากรได้ปูนปั้น 33 ชิ้น สำริด 2 ชิ้น คือพระพุทธรูปกับเศษสังวาล โดยนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนที่เหลือส่งมอบให้คณะกรรมการจังหวัดเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑสถานในพระปฐมเจดีย์ ปัจจุบันย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม จนถึงปัจจุบัน[3][2][3]

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม[แก้]

จากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (École française d'Extrême-Orient (EFEO)) นำโดยนายปิแอร์ ดูปองต์ พบว่าวัดพระเมรุมีการซ่อมแซมและบูรณะอยู่ 3 สมัยด้วยกัน โดยเฉพาะในส่วนของฐานที่มีการต่อเติมและซ่อมแซมโดยตลอด กล่าวคือ

สมัยที่ 1 เมื่อแรกสร้าง เป็นสถูปกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งมีความสูงเกินกว่า 3.5 เมตร รองรับองค์สถูปด้วยฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอีกชั้นหนึ่ง โดยมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐยื่นออกมาจากตัวสถูปทั้ง 4 ด้าน ตอนล่างของแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐเป็นฐานครึ่งวงกลมเป็นบัวรองพระบาทของพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท (ปรลัมพปาทาสนะ) ทำจากศิลาขาวทั้ง 4 องค์ สูงองค์ละประมาณ 3 เมตรเศษ พระหัตถ์ขวาทรงปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) พระหัตถ์ขวาทรงแสดงปางประทานพร (วรทมุทรา) โดยพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์จะหันพระปฤษฎางค์ (หลัง) เข้าหาศูนย์กลาง คือ สถูปประธาน แต่ปัจจุบันพระพุทธรูปศิลาขาวได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามวัดและสถานที่ต่างๆ[4]

สมัยที่ 2 ได้มีการปฏิสังขรณ์เพื่อดัดแปลงจากสถูปให้กลายเป็นวิหารดังเห็นได้จากการสร้างโคปุระและระเบียงคดล้อมรอบสถูป กล่าวคือ สร้างซุ้มจระนำของพระพุทธรูปเป็นมุขยื่นออกมากจากฐานพระพุทธรูป ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นโคปุระหรือซุ้มประตูของระเบียงคดไปในตัวด้วย ผนังของระเบียงคดก่ออิฐเป็นแนวยาวล้อมรอบตัวสถูปสูงประมาณ 3 เมตร โคปุระและระเบียงคดที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีหลังคาเป็นเครื่องไม้ ดังเห็นได้จากหลุมสำหรับปักเสาโคปุระที่ยื่นออกมาจากตำแหน่งของฐานพระพุทธรูป โดยสร้างหลังคาของระเบียงคดเชื่อมต่อกับโคปุระทั้ง 4 ด้านให้เป็นพื้นที่ใช้สอยเดียวกัน ที่มุมทั้ง 4 ด้านของผนังระเบียงคดเจาะเป็นช่องประตู ด้านนอกของผนังระเบียงคดสร้างเป็นทางเดินโดยรอบ ซึ่งสามารถใช้ทางเดินนี้เป็นทางขึ้นสู่องค์สถูปประธานทางช่องประตูที่มุมของระเบียงคดได้นอกจากทางขึ้นหลักสู่โคปุระตรงไปยังแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป

ส่วนฐานชั้นล่างที่สร้างขึ้นใหม่นี้ก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยต่อเติมขยายทั้งความสูงและความกว้างของฐานสถูปซึ่งแต่เดิมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกลายเป็นฐานที่มีมุขยื่นออกมาด้านละ 3 มุข แต่ละมุขย่อเก็จอย่างสลับซับซ้อน เพิ่มชั้นลวดบัวและทำบันไดต่อยาวออกมาจากตัวโคปุระสู่พื้นทั้ง 4 ทิศ ที่มุมทั้ง 4 ของฐานสถูปประธาน มีการสร้างสถูปทิศ ซึ่งมีฐานย่อมุมไม้สิบสอง ติดกับฐานสถูปทิศทางด้านนอกสร้างเป็นอัฒจันทร์ก่ออิฐรูปครึ่งวงกลมติดกับฐานสถูปทิศทั้ง 2 ข้าง อัฒจันทร์แต่ละด้านจะมีสิงโตปูนปั้นตั้งขนาบซ้ายและขวาของอัฒจันทร์ๆ ละ 2 ตัว[5]

สมัยที่ 3 เป็นการปฏิสังขรณ์เพียงเล็กน้อย ด้วยการนำพระพิมพ์ดินเผาติดเข้ากับผนังของระเบียงคดด้านนอก โดยพบพระพิมพ์เหล่านี้หลุดร่วงลงมากองที่ฐานเจดีย์เป็นจำนวนมาก มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ พระพิมพ์แบบที่ 1 เป็นพระพิมพ์ยมกปาฏิหาริย์ พระพิมพ์แบบที่ 2 เป็นพระพิมพ์พระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ และพระพิมพ์แบบที่ 3 เป็นพระพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าสามองค์ประทับสมาธิราบ ปางมารวิชัย ในปราสาท 3 หลัง ทั้งนี้ยังได้มีการบูรณะฐานเพียงเล็กน้อยในบางจุดที่ชำรุดเสียหายทั้งจากการใช้งานและการสึกกร่อน โดยการนำอิฐไปก่อทับเอารอยชำรุดนั้นเอาไว้ ทำให้สัดส่วนของฐานมีความผิดเพี้ยนไปจากเดิม

พระพุทธรูปจากวัดพระเมรุ[แก้]

พระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทศิลาขาว

ทำจากศิลาสีขาว จำนวนทั้งสิ้น 4 องค์ ขนาดสูงประมาณ 3.2 เมตร เป็นพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท (ปรลัมพปาทาสนะ) บนบัลลังก์ซึ่งในปัจจุบัน เหลือเพียงฐานอิฐครึ่งวงกลมเป็นบัวรองพระบาทเท่านั้น พระหัตถ์ขวาแสดงปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) คือ การจีบพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) กับพระดัชนี (นิ้วชี้) เข้าหากันเป็นวงกลม เป็นสัญลักษณ์ของธรรมจักรและมีความหมาย คือ การแสดงพระธรรม ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางหงายเหนือพระชงฆ์ในปางประทานพร (วรทมุทรา) ทรงครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว ชายจีวรตกลงด้านหน้าบริเวณกลางพระชงฆ์เป็นวงโค้ง บัวรองรับพระบาทเป็นบัวคว่ำบัวหงายของบัวฟันยักษ์ เดิมพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาททั้ง 4 องค์ประดิษฐานบนบัลลังก์หันพระปฤษฎางค์เข้าหาสถูปประธานของวัดพระเมรุทั้ง 4 ด้าน ปัจจุบันกระจัดกระจายไปประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

พระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทองค์ที่ 1 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับ พ.ศ. 2404 ชาวบ้านที่ช่วยกันขนอิฐที่วัดพระเมรุ บังเอิญได้เห็นพระเกตุมาลาของพระพุทธรูปโผล่พ้นจอมปลวกใหญ่ จึงช่วยกันทำลายจอมปลวกออกจนพบพระพุทธรูปองค์นี้และได้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

พระพุทธรูปห้อยพระบาทองค์ที่ 2 องค์ที่ 3 และองค์ที่ 4 ประกอบจากชิ้นส่วนของพระพุทธรูปซึ่งพบกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ โดยพบส่วนของพระองค์ พระเพลา พระบาท และบัวรองพระบาท ที่พบพร้อมกับพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทองค์ที่ 1 และนำมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงคดวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2501 ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้รับแจ้งว่าพบเศียรพระพุทธศิลา 2 องค์ในร้านขายของเก่าย่านเวิ้งนครเกษม ซึ่งลักลอบนำมาจากวัดพระยากง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ ยังพบพระพุทธรูปศิลาขาวอีกองค์หนึ่งประดิษฐานที่วัดขุนพรหม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาใกล้กับวัดพระยากง ชาวบ้านเล่าว่าได้ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาวซึ่งพบที่วัดพระยากง เมื่อธนิต อยู่โพธิ์ไปดูที่วัดพระยากงก็พบชิ้นส่วนอื่นๆ ของพระพุทธรูปศิลาอีก จึงลองประกอบกับเศียรพระพุทธรูปที่มาจากร้านขายของเก่าแต่ไม่สามารถประกอบกันได้สนิท และยังพบว่าพระพุทธรูปศิลาขาวที่วัดขุนพรหมซึ่งปฏิสังขรณ์ด้วยการโบกปูนทับให้เรียบเสมอกันก็ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนของพระพุทธรูปคนละองค์กัน จึงได้แยกส่วนต่างๆออกมาประกอบใหม่ แล้วนำชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาวที่เก็บรักษาไว้ ณ ระเบียงคด วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารมาลองประกอบด้วยก็พบว่าสามารถต่อกันได้อย่างสนิท จึงนำพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ซึ่งประกอบกันได้อย่างสมบูรณ์มาปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมและอัญเชิญไปประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว[4]

พระพุทธรูปห้อยพระบาทศิลาเขียว

ปัจจุบันประดิษฐานที่วิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สูงประมาณ 3 เมตร ทำจากหิน Bluish limestone (หินปูนสีเขียวแก่) ประทับนั่งห้อยพระบาท (ปรลัมพปาทาสนะ) เหนือบัลลังก์ พุทธลักษณะของพระพุทธรูปศิลาเขียว มีลักษณะดังนี้ พระพักตร์ของพระพุทธรูปเป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมมน พระเนตรเหลือบต่ำพระขนงเป็นปีกกา มีอุณาโลมอยู่ที่พระนลาฏ รอบพระเศียรมีศิรจักรรูปดอกบัวตูมลายเปลวไฟและประจำยามสลับดอกไม้รูปรี แสดงการครองจีวรเฉียงไหล่จีบทบเป็นริ้วหนา ลักษณะการแสดงปางโดยการวางพระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำบนพระชงฆ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการทำพระหัตถ์วางไว้เหนือพระชงฆ์ และการแสดงนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันนั้นไม่เคยปรากฏเลยในงานศิลปกรรมที่สร้างในยุคเดียวกัน ส่วนบัลลังก์ที่อยู่ด้านหลัง มีลักษณะเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ปรากฏลวดลายสลักที่ด้านข้างทั้งสองด้านของบัลลังก์ โดยล่างสุดสลักเป็นรูปบัวหงาย ถัดขึ้นมาเป็นลายประจำยามบรรจุอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมกรอบเป็นเม็ดไข่ปลาขนาบข้างด้วยเส้นลวด จากนั้นเป็นหน้ากระดานขอบบัลลังก์ลายประจำยามสลับกับดอกไม้รูปรีแทรกด้วยลายหัวม้วน ที่ด้านบนสุดเป็นฐานรองพนักบัลลังก์รูปหน้ากระดานขนาดใหญ่กว่าบัลลังก์ซ้อนกันสองชั้น โดยเว้นระยะห่างประมาณหนึ่งคืบ ภายในบัลลังก์สลักเป็นรูปวงรีคล้ายหมอนรองขนาดใหญ่ ที่ปลายหมอนเป็นรูปดอกไม้กลม ด้านบนสุดเคยมีเป็นพนักบัลลังก์แต่ได้ชำรุดหักหายไป ปัจจุบันพนักบัลลังก์นี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ส่วนบัวรองรับพระบาทเป็นรูปกลีบบัวหงายมีเกสรด้านใน จากการเปรียบเทียบพบว่าลักษณะการประทับนั่งห้อยพระบาทและบัลลังก์นั้น คล้ายกับภาพพุทธประวัติตอนแสดงปฐมเทศนาที่สลักลงบนฐานธรรมจักร จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ในการทำยังเป็นหินชนิดเดียวกันอีกด้วย[9]

ประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้ อาจทราบได้จากศิลาจารึกบริเวณด้านล่างซ้ายภายในวิหารน้อย โดยเป็นหินอ่อนสีขาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๘๐ ซม. สูง ๘๐ ซม. หนา ๔ ซม ในประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๖ ตอนที่ ๑ กำหนดเป็น "หลักที่ ๑๖๑ จารึกที่วิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ" จารึกโดยพระยาไชยวิชิต คราวเมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปศิลาเขียวมาประดิษฐานที่วัดหน้าพระเมรุ กล่าวถึงประวัติโดยสังเขปดังนี้

ศรีสวัสดิ์พิพัทนากาละกำหนดศักราช ๑๒๐๐ ปีจอสำเรจิศกพญาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทษราช ชาติเสนาธิบดิผูรักษากรุง บำรุงพระพุทธสาศนา เปนสาศะณูปถำพก ยกพระมหาอุโบสถบมินาน ถาปนาการพระปราง ส้างพระเจดีโดยจง ทังกุฎีสงฆพร้อมเสจ สร้างพระสรรเพชพีหารเพียงพิมาน ไกรลาศ โอ้พาศพื้นแผ่นแท่นสิลา ไว้พระปติมาหีนเทด งามวิเสตทังแท่ง ตำแหน่งเดีมอยู่วัด หน้าพระธาตุ พระคันทานุราชสิลามาแต่เมืองลังกาก่อนโพ้น สาศนาเมิองโน้นรอ่ยหรอ นำมา ขอพระพิกษุสงฆ คือองคพระอุบาลี ผู้เปนที่ราชาคณะ กับพระสังฆะชิโนรษ ไปอุปสมบท บรรพชา ชาวลังกาประเทษ เปนสงฆวิเสดสืบมา แต่ครั้งอยุทธยาบูรีรมย์ ยังอุดมบริบูรณ์ ครั้นเสิยสูญช้านาน พระพีหารหักพัง วัดรกรังเปนป่า จิงอาราธนามาไว้ ในวัดพระเมรุราช...[5]

จากศิลาจารึกนั้นทำให้ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับพระพุทธรูปศิลาเขียว คือ พระพุทธรูปศิลาเขียวนี้ในจารึก เรียกว่า “พระคันทานุราช” โดยผู้จารึกเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปศิลาที่นำมาจากประเทศศรีลังกา เมื่อครั้งที่พระอุบาลีและพระสังฆชิโนรษไปศรีลังกาในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) จากนั้นได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดหน้าพระธาตุหรือวัดมหาธาตุในเมืองอยุธยา ต่อมาเมื่อครั้งเสียกรุงวัดมหาธาตุร้างลงไป ใน พ.ศ. 2381 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์พ.ศ. 2367-2394) จึงได้มีการอัญเชิญมาไว้ที่วัดหน้าพระเมรุ โดยพระยาไชยวิชิต (เผือก) เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมกันนั้นได้มีการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดได้แก่ พระหัตถ์ทั้งสอง พระบาท ริ้วจีวรหรือแม้กระทั่งอุณาโลม อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่า พุทธลักษณะของพระพุทธรูปศิลาเขียวไม่เป็นพุทธศิลป์แบบพระพุทธรูปของศิลปะศรีลังกาเลย แต่พระพุทธ- รูปศิลาเขียวองค์นี้เดิมเคยประดิษฐานที่วัดพระเมรุเช่นเดียวกับพระพุทธรูปศิลาขาว เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2435-2458) ทรงขุดพบชิ้นส่วนของพนักบัลลังก์เป็นรูปมกรคายสิงห์ ที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมเมื่อนำไปประกอบกันแล้วพบว่าต่อกันได้สนิท จึงทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้มาจากวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดนครปฐม

ชิ้นส่วนพนักบัลลังก์ศิลา เป็นชิ้นส่วนของปลายพนักบัลลังก์ของพระพุทธรูปศิลา ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ มีลักษณะเป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายด้านขวาหักหายไป ปลายด้านซ้ายจำหลักเป็นรูปมกรกำลังคายรูปสิงห์มีเขาคล้ายเขาโคออกจากปาก สิงห์ยกเท้าหน้าทั้งคู่ขึ้นระดับไหล่ เท้าด้านซ้ายก้าวมาข้างหน้า เท้าหลังด้านขวาก้าวตามแผ่นหินที่เป็นส่วนลำตัวของมกร ตกแต่งด้วยการจำหลักลายนูนต่ำ ด้านล่างสุดเป็นลายคล้ายก้านขดซ้อนกันสองชั้น ถัดขึ้นมาเป็นแถบลายดอกไม้รูปรี มีลายก้านขดและลายกระหนกประกอบ สลับด้วยลายประจำยาม แถบลายดังกล่าวขนาบด้วยแถบลายลูกประคำ ตอนบนของพนักพิงตรงกลางยกเป็นแท่นสูง ตกแต่งด้วยแถบลายกลีบสี่เหลี่ยมสองกลีบคว่ำและหงายหันปลายกลีบชนกัน ขนาบด้วยแถบลายลูกประคำ สลับด้วยลายคล้ายหม้อปูรณฆฏะคู่[10]

ชิ้นส่วนพนักบัลลังก์นี้ขุดพบที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายว่า เป็นชิ้นส่วนศิลาทับหลังเรือนแก้วของพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทศิลาเขียวซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยชิ้นส่วนนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากทำให้ทราบว่าเดิมพระพุทธรูปศิลาเขียวเคยประดิษฐานที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมมาก่อน

จากการเปรียบการสลักพนักบัลลังก์เป็นรูปมกรคายบุคคลออกมาจากปาก หรือมกรคายสิงห์มีเขาคล้ายโคนั้น มีลักษณะคล้ายกับรูปมกรคายท่อนพวงมาลัยในทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุก (พ.ศ. 1143-1193) ในศิลปะเขมร ส่วนลายดอกไม้รูปวงรีมีกลีบคล้ายดอกบัวนั้นคล้ายกับลายบัวรูปวงรีในทับหลังแบบไพรกเม็ง (พ.ศ. 1178-1243) ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า พนักบัลลังก์ชิ้นนี้มีอายุราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 13

อายุเวลาของพระพุทธรูปศิลาจากวัดพระเมรุ[แก้]

การกำหนดอายุเวลานั้นเนื่องจากพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์นั้นไม่มีลวดลายใดๆหรือสิ่งบ่งชี้ทางอายุเวลา จึงไม่อาจกำหนดอายุเวลาพระศิลาขาวทั้งสี่องค์ได้ได้อย่างแน่ชัด แต่ในขณะที่พระพุทธรูปศิลาเขียวนั้นกลับพบว่ามีการแกะสลักลวดลายต่างๆประกอบเข้าไปซึ่งสามารถทำให้กำหนดอายุเวลาได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้เพราะลวดลายต่างๆเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้อายุเวลาได้ ด้วยเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามความนิยมในแต่ละยุค จากที่ได้กล่าวถึงลวดลายต่างๆที่ปรากฏบนพระพุทธรูปศิลาเขียวนี้ อาจสรุปได้ดังนี้

ลวดลายบนพนักบัลลังก์ เป็นรูปมกรคายสิงห์มีเขาคล้ายโค ซึ่งการเป็นรูปมกรคายนี้คล้ายกับทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุก ซึ่งอยู่ในราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 12 แต่กลับพบว่าลายดอกไม้ที่พบในชิ้นเดียวกันนั้น มีลักษณะคล้ายกับลายดอกไม้บนทับหลังแบบไพรกเม็ง คือลายดอกไม้รูปวงรีมีก้านต่อดอก ซึ่งมีอายุราวครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 13 นอกจากนี้ลายที่พบบนศิรจักรของพระพุทธรูปนั้น ยังคล้ายกับลวดลายแบบไพรกเม็งเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ได้รับความนิยมอย่างสูงในดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์

จากการทราบถึงอายุเวลาของพระพุทธรูปศิลาเขียวนี้ก็ทำให้สามารถทราบอายุเวลาของพระพุทธรูปศิลาขาวได้ด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้เป็นการสร้างในชุดเดียวกัน แม้จะสังเกตว่าพระพุทธรูปศิลาเขียวมีลักษณะต่างไป ทั้งในแง่ของวัสดุที่ใช้และลักษณะของพระองค์ ก็อาจเป็นไปได้ว่าพระพุทธรูปศิลาเขียวถูกสร้างขึ้นภายหลังพระพุทธรูปศิลาขาว แต่การสร้างขึ้นนั้นก็ไม่ควรเป็นเวลานานเกินเวลา 50 ปีอย่างแน่นอน ดังนั้นพระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง 4 องค์นี้อาจมีอายุเวลามากกว่าประมาณ 50 ปี ซึ่งจะอยู่ในช่วงราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 12 – ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 13 อย่างแน่นอน


พระพิมพ์จากวัดพระเมรุ[แก้]

พระพิมพ์ดินเผา พบทั้งหมด 88 องค์ โดยพบอยู่ด้านนอกของตัวฐานระเบียงที่ สร้างขึ้นล้อมรอบพระพุทธรูปศิลาทั้ง 4 องค์ โดยเชื่อว่าแต่เดิมนั้นภายนอกคดมีการฉาบปูนและทำเป็นช่องๆสำหรับบรรจุพระพิมพ์ เพราะเท่าที่ขุดพบพระพิมพ์ ได้พบบริเวณฐานสถูปเป็นจำนวนมาก ส่วนต่อจากนี้กลับไม่พบพระพิมพ์เลย [6] ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับการนำเอาพระพิมพ์ไปติดผนังด้านนอกวิหารหมายเลข 1515 ในพุกามดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มีด้วยกันทั้งสิ้น 3 ชนิด ดังนี้

แบบที่ 1 พระพิมพ์ยมกปาฏิหาริย์ แสดงภาพพระพุทธเจ้าประดับด้วยแส้จามรีทั้งซ้ายขวา พระหัตถ์ขวาแสดงปางแสดงธรรม ที่ด้านขวามีสถูปและพระอินทร์ ทางด้านซ้ายมีธรรมจักรและพระพรหม ตอนล่างของสถูปและธรรมจักร มีพระโมคคัลลานะและพระอุตปลวรรณา เบื้องหน้าเป็นถาดใส่เครื่องบูชา ข้างถาดทั้งสองด้านมีนาคชื่อ นันทะกับอุปนันทะนั่งคุกเข่าอยู่ ข้างพญานาคคือพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าปุราณกัสสปะ ตอนบนของภาพมีพระพุทธเจ้า 5 องค์ ประทับนั่งสามองค์ ส่วนอีกสององค์ยืนข้างพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตอนล่างภาพมีคาถา “เย ธมฺมา...” ภาษาบาลี พระพิมพ์ลักษณะนี้ยังพบที่วัดพระประโทนอีกด้วย โดยน่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14[7]

แบบที่ 2 พระพิมพ์ทำเป็นรูปพระพุทธรูปประทับสมาธิราบปางสมาธิ โดยประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์รูปหกเหลี่ยม พระหัตถ์แสดงปางสมาธิและมีรัศมีล้อมรอบพระเศียร เคียงข้างด้วยธรรมจักรคู่หนึ่งซึ่งเป็นภาพธรรมจักรที่มองจากด้านหน้าและแส้จามรีคู่หนึ่ง นักวิชาการบางท่านเคยตีความว่า พระพิมพ์นี้เป็นหนึ่งตอนจากชุดพระพิมพ์เล่าเรื่องพุทธประวัติ ซึ่งจับความในระหว่างพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ หลังตรัสรู้และแสดงการเกิดของพุทธบริษัท[8] พระพิมพ์ชนิดนี้พบในหลายแห่งของประเทศไทย เช่น วัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น จึงน่าจะสร้างขึ้นในนิกายเถรวาทเช่นเดียวกัน กำหนดอายุเวลาประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15

แบบที่ 3 พระพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าสามองค์ในปราสาท มีลักษณะเป็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัยบนปัทมาสน์ภายในปราสาทแต่ละหลัง ที่ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ รองรับด้วยสิงห์พ่าห์ เบื้องหลังเป็นศิขรสามชั้นสอบเข้า ส่วนยอดเป็นตรีศูล พื้นหลังเป็นกิ่งโพธิ์และใบโพธิ์ เคียงข้างพระพุทธเจ้าองค์อื่นอีกด้านละองค์ ซึ่งประทับสมาธิราบปางสมาธิ ทรงอุณหิส กรองศอ และพาหุรัด ประทับบนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ ที่ด้านหลังเป็นซุ้มฝักเพกา พระพิมพ์แบบนี้น่าจะสร้างขึ้นในนิกายเถรวาทบริเวณภาคกลางของประเทศไทยที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่18-ต้นพุทธศตวรรษที่19 และจากการกำหนดอายุเวลาจากรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เป็นปราสาทแบบเขมร ควรอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 18[9]

โบราณวัตถุอื่น ๆ ที่ค้นพบ[แก้]

สิงห์ปูนปั้น มีทั้งหมด 2 ตัว พบทางด้านหน้าของวัดพระเมรุ คราวเมื่อตัดทางหลวง [10] ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ สันนิษฐานว่าเดิมวางขนาบข้างเจดีย์ทิศของวัดพระเมรุในการก่อสร้างวัดพระเมรุสมัยที่ 2[11]

สิงห์ตัวแรก มีลักษณะเป็นประติมากรรมรูปสิงห์นั่ง ส่วนหัวและขาคู่หน้าตั้งฉากกับพื้น ลำตัวทอดยาวลงไปตามพื้นท่อนหลังของลำตัว ตั้งแต่กลางหลังหักหายไป หันหน้าตรงอ้าปากกว้างมากแต่ไม่เห็นลิ้น นัยน์ตากลมโปนโต คิ้วย่น จมูกโตใต้คาง มีแผงคอขูดสลักเป็นลายกระหนกรูปสามเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง ถัดออกมาเป็นลายก้านขด ขดหยิกขอดเป็นลอน แบบลายก้านขด จากหัวลงไปถึงต้นคอแต่กะเทาะหลุดเกือบหมด เหลือเพียงบนหัวและด้านหน้าลำตัวและขาเรียบเกลี้ยง

สิงห์ตัวที่ 2 มีลักษณะเป็นสิงห์ยืนบนขาทั้งสี่ ซึ่งหักเหลือเพียงโคนขา ลำตัวทอดยาวไปกับพื้น ส่วนหัวตั้งฉากกับลำตัว หันหน้าตรง อ้าปากกว้างเห็นลิ้นภายในปาก ตากลมโปนโต คิ้วย่น จมูกโตมีใบหูเล็กตั้งตรงอยู่บริเวณหางตาทั้งคู่ แผงคอตกแต่งด้วยการขูดขีดเป็นลายเส้นขนานกัน ขนหยิกขอดเป็นวงก้นหอย บริเวณรอบใบหน้า คอและด้านหลังลงมาเกือบถึงกลางหลัง ขาและลำตัวเรียบไม่มีขน หางเป็นเส้นนูนตลบจากก้นไปจนถึงกลางหัว สิงห์ทั้งสองตัวนี้ อาจจะสร้างขึ้นเมื่อคราวที่มีการบรูณะวัดพระเมรุสมัยที่ 2 ทั้งนี้ เนื่องจากสันนิษฐานว่าสิงห์ทั้ง 2 ตัวอยู่ในลักษณะขนาบข้างเจดีย์ทิศ ซึ่งทั้งฐานและสร้างเจดีย์ทิศเพิ่มเข้าไปคราวบูรณะวัดสมัยที่ 2 สิงห์ทั้งสองตัวมีลักษณะคล้ายกับสิงห์แบบสมโบร์ไพรกุก (พ.ศ. 1143-1193) ในศิลปะเขมรดังตัวอย่างจากปราสาทตาว ประเทศกัมพูชา โดยลักษณะขนที่แผงคอขดหยิกขอดเป็นลอน แบบลายขมวดขดและที่คางมีลายคล้ายลายก้านต่อดอก การใช้สิงห์ประดับศาสนสถานนี้จะเริ่มเป็นที่นิยมกันมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นไป

เศียรยักษ์ปูนปั้น พบที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนใบหน้ารูปร่างกลมแป้น ขมวดคิ้วโก่งเป็นทรงสูง ตากลมโตโปน จมูกแบะ ปากแสยะยิ้มเห็นฟัน ริมฝีปากหน้า ผมมีลักษณะขดเป็นก้นหอย สันนิษฐานว่าแต่เดิมใช้การประดับบันไดศาสนสถาน

อิทธิพลทางด้านศาสนา[แก้]

พระพุทธรูปศิลาของวัดพระเมรุนั้น มีด้วยกันทั้งหมด 5 องค์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ตรงกับความเชื่อในเรื่องพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปของนิกายเถรวาท ดังเช่นการสร้างพระพุทธเจ้าสี่พระองค์บนผอบบรรจุพระธาตุที่เมืองศรีเกษตร ประเทศพม่า มีจารึกอักษรปยู ภาษาบาลี (พ.ศ. 1050-1550) นอกจากนี้เรื่องพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในภัทรกัปป์ยังปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ชื่อ ฑีฆนิกาย มหาวัคค์ (สุตตันตปิฎก) อยู่ใน “ มหาปทานสูตร” โดยเป็นพระไตรปิฎกเล่มที่รวมพระสูตรขนาดยาวของนิกายเถรวาท พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัปป์เป็นพระอดีตพุทธเจ้า 4 พระองค์ คือพระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระสมณโคดมซึ่งตรงกับจำนวนพระพุทธรูปศิลาขาว ส่วนพระอนาคตพุทธเจ้า 1 องค์ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งน่าจะได้แก่พระพุทธรูปศิลาเขียว ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับพระเมตไตรยของจีน กล่าวคือ ชายจีวรทบซ้อนกันเหนือพระอังสาซ้าย ชายจีวรล่างถูกดึงขึ้นมาเหนือพระชานุซ้ายและห้อยเฉียงลงไปคลุมพระชงฆ์ขวาคล้ายกับพระเมตไตรยในสมัยราชวงศ์ถัง

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปศิลาของวัดพระเมรุที่ถูกสร้างขึ้นจากความเชื่อในนิกายเถรวาท ซึ่งนิกายนี้แพร่หลายทางทิศตะวันออกของอินเดียใต้ที่กาญจีปุระ ลังกา และทางทิศตะวันตกของอินเดีย ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 – กลาง 13 และนำมาเผยแพร่ทางหมู่เกาะทะเลจีนตอนใต้ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 โดยอาจเข้ามาในแถบนครปฐมในระยะนั้นเช่นเดียวกัน อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อสร้างวัดพระเมรุขึ้นนั้นได้สร้างพระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง 4 องค์ขึ้นพร้อมกัน เพื่อให้เป็นพระประธานของวัด คติการสร้างพระพุทธรูป 4 องค์หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกันเป็นที่นิยมอย่างมากในท้องที่ที่มีการนับถือนิกายนี้ ดังจะเห็นได้ที่วิหารอานันทเจดีย์ เมืองพุกาม ประเทศพม่า โดยแต่ละองค์นั้นมีพระนามระบุด้วยได้แก่ องค์แรกพระกกุสันโธประจำทิศเหนือ องค์ที่สองพระโกนาคมนะประจำทิศตะวันออก องค์ที่สามพระกัสสปะประจำทิศใต้ และองค์สุดท้ายพระโคตมะประจำทิศตะวันตก ส่วนในประเทศไทยนั้นคติการสร้างพระพุทธรูปสี่พระองค์ยังคงได้รับการสืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังเช่นพระประธานวิหารจัตุรมุขวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน หรือพระประธานวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง เป็นต้น

ต่อมาภายหลังซึ่งอาจเป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกันไม่เกิน 50 ปี คงจะได้มีการสร้างพระพุทธรูปศิลาเขียวขึ้น เพื่อให้เป็นพระศรีอาริยเมตไตรย โดยอาจมีการสร้างวิหารแยกออกมาต่างหาก จากตัวโบราณสถานวัดพระเมรุในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่อานันทเจดีย์ ซึ่งจะมีการสร้างวิหารให้แก่พระศรีอาริยเมตไตรยขึ้น แยกออกมาต่างหาก แต่ที่วัดพระเมรุนี้ไม่สามารถเห็นซากฐานวิหารนี้ได้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการที่ได้มีการขุดค้นโบราณสถาน และขนอิฐไปสร้างศาสนาสถานอื่นๆ เช่นในสมัย ร.4 ได้มีการขนอิฐที่วัดพระเมรุนี้ไปใช้สร้างอาคารของวัดพระปฐมเจดีย์

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเมื่อแรกสร้างวัดพระเมรุนั้น พระพุทธศาสนา นิกายเถรวาทคงเป็นที่นิยมและแพร่หลายในเมืองแถบนครปฐมนี้มาก จึงปรากฏการสร้างศาสนสถานตามความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์ขึ้น

อายุเวลาของวัดพระเมรุ[แก้]

วัดพระเมรุเป็นโบราณสถานที่มีการซ่อมแซมและบูรณะอยู่หลายสมัยด้วยกัน โดยเฉพาะในส่วนของฐาน ซึ่งสามารถกำหนดอายุเวลาจากการบูรณปฏิสังขรณ์ได้เป็น 3 สมัยดังต่อไปนี้

สมัยที่ 1

สร้างเป็นสถูปขนาดใหญ่ที่มีการวางผังที่ไม่ซับซ้อนมากนัก โดยเป็นสถูปกลมบนฐานสี่เหลี่ยมซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทศิลาขาวทั้ง 4 ด้านของฐานหันพระปฤษฎางค์เข้าหาสถูป อันได้แก่ พระอดีตพุทธะ 4 พระองค์ที่นับถือในนิกายเถรวาท โดยกำหนดอายุเวลาของการก่อสร้างสมัยนี้จากอายุเวลาของพระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง 4 องค์ ซึ่งกำหนดอายุเวลาจากการเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทศิลาเขียวที่มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 12 จึงสันนิษฐานว่า วัดพระเมรุน่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 12 ภายใต้คติความเชื่อของพุทธศาสนานิกายเถรวาท

สมัยที่ 2

เป็นการบูรณะครั้งใหญ่โดยเปลี่ยนจากสถูปเป็นวิหารด้วยการสร้างซุ้มจระนำให้กับพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์และใช้เป็นซุ้มโคปุระของระเบียงคดซึ่งทั้งหมดเป็นหลังคาเครื่องไม้ล้อมรอบฐานของสถูปประธาน ขยายฐานชั้นล่างให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นโดยฐานแต่ละด้านมีมุขยื่นออกมาด้านละ 3 มุข มีบันไดทางขึ้นสู่มุขทั้ง 3 และมีการเพิ่มเก็จที่ซับซ้อนในแต่ละมุข นอกจากนี้ยังสร้างสถูปบริวารขึ้นที่มุมทั้ง 4 ของสถูปประธานด้วย การปรับปรุงให้เป็นวิหารในครั้งนี้คงได้รับอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมจากวิหารที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานของอินเดีย ดังตัวอย่างจากโสมปุรวิหาร ที่เมืองปหรรปุระ ประเทศบังกลาเทศ สร้างขึ้นรัชสมัยพระเจ้าธรรมปาละ (พ.ศ. 1319 - 1351) ที่สร้างเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน มีระเบียงคดคลุมเชื่อมถึงกัน รวมทั้งฐานที่ย่อเก็จอย่างซับซ้อนเช่นเดียวกันกับวัดพระเมรุ [12] นอกจากนี้ การสร้างสถูปบริวารที่มุมทั้ง 4 ของสถูปประธานก็คล้ายคลึงกับผังเจดีย์จุลประโทนสมัยที่ 3 เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 14 ด้วย ดังนั้น การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเมรุในครั้งนี้จึงน่าจะอยูในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 14 อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะรับเอางานพุทธสถาปัตย์ของลัทธิวัชรยานมาใช้ แต่ด้านความเชื่อก็อาจนับถือนิกายเถรวาทเช่นเดิม ทั้งนี้เนื่องมาจากไม่พบรูปเคารพหรือศาสนวัตถุที่สร้างขึ้นในลัทธิวัชรยานเลย

สมัยที่ 3

เป็นการบูรณะเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยโดยนำพระพิมพ์แบบต่างๆ ประดับบนผนังด้านนอกของระเบียงคด ในลักษณะเดียวกับกับการประดับพระพิมพ์บนผนังวิหารหมายเลข 1515 เมืองพุกาม ประเทศพม่า[13] ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 โดยพระพิมพ์ที่มีอายุใหม่ที่สุดของวัดพระเมรุ คือ พระพิมพ์รูปพระพุทธเจ้าสามองค์ในปราสาท ซึ่งปางมารวิชัยของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ในปราสาทแสดงให้เห็นว่าสร้างขึ้นในนิกายเถรวาท โดยกำหนดอายุเวลาพระพิมพ์แบบนี้ตรงกับประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่นิกายเถรวาทในภาคกลางของประเทศไทยได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ การปรับปรุงวัดพระเมรุในครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะร้างลงในสมัยต่อมา

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/3679.PDF
  2. Pierre Dupont (นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศส, 2451-2498) เป็นประวัติการขุดค้นที่วัดพระเมรุ และเจดีย์จุลประโทนใน พ.ศ. 2482 และ 2483 และการสำรวจโบราณสถานต่างๆ ที่จังหวัดนครปฐม
  3. กรมศิลปากร, เรื่องการขุดแต่งวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2482)
  4. ธนิต อยู่โพธิ์, พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี, (พิมพ์ครั้งที่ 4) (พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร), 2510.
  5. สำนักนายกรัฐมนตรี.ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 6 ตอนที่ 1, (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517) หน้า 58-59.
  6. ศิลปากร, กรม. เรื่องการขุดแต่งวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม. (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2482.) หน้า 7.
  7. พิริยะ ไกรฤกษ์. อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม 1 ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติงแอนด์พับลิชชิ่ง. 2544.) หน้า 83
  8. พรหมศักดิ์ เจิมสวัสดิ์และฉลวย จารุภานนท์, พระพิมพ์ดินเผาวัดนครโกษา ลพบุรี” ศิลปากร ปีที่ 32 ฉบับที่ 6 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2532). หน้า 40-55.
  9. พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติงกรุ๊ปจำกัด. 2533.
  10. นลินี เหมนิธิ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์. (พระนคร: โรงพิมพ์การศาสนา, 2514).หน้า 15
  11. ศิลปากร, กรม. เรื่องเดิม. (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2482). หน้า 5
  12. เชษฐ์ ติงสัญชลี, “โบราณสถานที่อันติจักและสถูปที่เสริยา: ความเชื่อมโยงกับศิลปกรรมในเอเชียอาคเนย์,” เมืองโบราณ 34(กรกฎาคม - กันยายน 2551): 150 - 161.
  13. Donald M. Stadtner, Ancient Pagan Buddhist Plain of Merit (Bangkok: River Books, 2007), p. 39.