เวิ้งนครเกษม
![]() | |
โครงการ | |
---|---|
เริ่มสร้าง | 23 มกราคม พ.ศ. 2568 |
แล้วเสร็จ | พ.ศ. 2572 |
เปิดใช้งาน | พ.ศ. 2572 |
ค่าก่อสร้าง | 16,595.5 ล้านบาท |
สถานะ | กำลังก่อสร้าง |
พื้นที่ | 14 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา |
ผู้พัฒนาโครงการ | แอสเสท เวิรด์ คอร์ป |
เจ้าของ | บริษัท ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม จำกัด |
ลักษณะทางกายภาพ | |
อาคารหลัก | ศาลาจีน โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมคิมป์ตัน อาคารพาณิชย์ |
พื้นที่สาธารณะ | สวนลอยฟ้า, ลานกิจกรรม |
การจัดสรรพื้นที่ | ศาลาจีน, โรงแรม, ศูนย์การค้า |
ขนส่งมวลชน | ![]() |
สิ่งอำนวยความสะดวก | ลานจอดรถ 750 คัน |
ที่ตั้ง | |
พิกัด: 13°44′42″N 100°30′16″E / 13.745096°N 100.50451°E | |
ประเทศ | ![]() |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
เขต | สัมพันธวงศ์ |
แขวง | สัมพันธวงศ์ |
เวิ้งนครเกษม (อังกฤษ: Woeng Nakornkasem) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ เวิ้งนครเกษม เยาวราช (อังกฤษ: Woeng Nakornkasem Yaowaraj) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมใจกลางกรุงเทพมหานคร บนที่ดินเวิ้งนาครเขษมจำนวน 14 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา ล้อมรอบด้วยถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ ถนนเจริญกรุง และคลองรอบกรุง ในย่านไชนาทาวน์ บนพื้นที่ต่อเนื่องจากเขตอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ของบริษัท ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม จำกัด พัฒนาโดยบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ในเครือกลุ่มทีซีซี โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า พื้นที่ 68,000 ตารางเมตร, โรงแรม 2 แห่ง และศาลาจีน โดยใช้มูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ 16,595.5 ล้านบาท (รวมที่ดิน) ถือเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดของแอสเสท เวิรด์ คอร์ป มีพิธียกเสาเอกเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2572
ประวัติ
[แก้]ภูมิหลัง
[แก้]
เวิ้งนี้เดิมถูกเรียกว่า "เวิ้งท่านเลื่อน" เพราะเป็นที่ดินของคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ มารดาของพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ก่อนขายที่ดินบางส่วนให้กรมพระคลังข้างที่ (ปัจจุบันคือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) หลังจากมีการตัดถนนเยาวราช โดยพระคลังข้างที่ได้นำที่ดินมาก่อสร้างเป็นห้องแถวทั้ง 2 ฝั่งถนน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระให้ประชาชนใช้อาบ เรียกว่า "วังน้ำทิพย์" ก่อนพระราชทานต่อให้แก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงเห็นว่ามีชุมชนเกิดขึ้น จึงให้ถมสระเป็นพื้นที่โล่ง และเรียกว่า เวิ้งนาครเขษม หมายถึง "เวิ้งอันเป็นที่รื่นรมย์ของชาวเมือง" ก่อนที่ประชาชนจะเรียกเพี้ยนมาเป็น เวิ้งนครเกษม[1]
หลังการเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย มีอดีตทาสในวังนำทรัพย์สินจากวังออกมาขายในเวิ้งนาครเขษม จึงถูกเรียกว่า "ตลาดโจร" (อังกฤษ: Thief Market) และมีชาวตะวันตกที่นำของมาแลกเปลี่ยน เวิ้งนาครเขษมจึงเป็นตลาดค้าของเก่า ก่อนพัฒนาเป็นศูนย์การค้าขนาดย่อม และมีโรงภาพยนตร์นาครเขษมเป็นโรงภาพยนตร์ภายในศูนย์การค้าแห่งแรกของประเทศไทย[2] หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดนตรีตะวันตกเริ่มแพร่หลาย จึงมีการจำหน่ายเครื่องดนตรีตะวันตกในเวิ้งนาครเขษมเพิ่ม ทำให้เป็นแหล่งค้าของเก่า เครื่องดนตรี รวมทั้งภัตตาคาร ต่อมาศูนย์การค้าที่เดิมเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวเกิดไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2508 จึงปรับปรุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบตะวันตกสองชั้นและสามชั้น และสร้างตลาดขึ้นใหม่ซึ่งแล้วเสร็จในปีระกา จึงถูกเรียกว่า "ตลาดปีระกา"
ภายใต้กลุ่มทีซีซี
[แก้]การประมูลที่ดินโดยทีซีซีแลนด์
[แก้]ที่ดินในเวิ้งนาครเกษมในช่วงที่มีการเช่าพัฒนาเป็นศูนย์การค้านี้ถือกรรมสิทธิ์โดยกองมรดกรวมของพระธิดาทั้งหมดในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทั้งหมด 5 ราชสกุล คือ กิติยากร สวัสดิวัตน์ เทวกุล โสณกุล และ บุณยะปานะ โดยมีสำนักงานบริพัตรเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์[3] แต่ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2554 สำนักงานบริพัตรตัดสินใจไม่ต่อสัญญาเช่าให้กับผู้เช่าทั้งหมดที่จะหมดลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 และประกาศประมูลขายที่ดินเวิ้งนาครเขษมทั้งหมดด้วยราคาเปิดประมูลเริ่มต้นที่ 3,800 ล้านบาท โดยก่อนหน้านั้น เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มทีซีซี เคยเสนอซื้อที่ดินนี้ด้วยมูลค่า 3,500 ล้านบาท
การประมูลดังกล่าวถูกต่อต้านจากชาวชุมชนที่อยู่อาศัยบนที่ดินเวิ้งนาครเขษม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีประวัติมายาวนานและมีคุณค่า โดยชาวชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้ง บริษัท เวิ้งนาครเขษม จำกัด นำโดย วิศิษฎ์ เตชะเกษม เพื่อระดมทุนและเข้าประมูลซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวคืน[2] โดยแข่งขันกับกลุ่มทุนต่าง ๆ เช่น เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป, กลุ่มสยามแก๊ส, กลุ่มอักษราที่เป็นหนึ่งในผู้เช่าพื้นที่เวิ้งนาครเขษมเดิม รวมถึงบีอีซีเวิลด์ของตระกูลมาลีนนท์ และกลุ่มทีซีซีของเจริญ ซึ่ง บจก.เวิ้งนาครเขษม ระดมทุนได้จำนวน 4,800 ล้านบาท แต่ผู้ที่ชนะการประมูลในครั้งแรกคือกลุ่มอักษรา ที่เสนอราคาที่จำนวน 5,500 ล้านบาท สูงกว่ากลุ่มบีอีซีเวิลด์ที่เสนอราคาเป็นอันดับที่ 2 ที่จำนวน 5,300 ล้านบาท ก่อนที่กลุ่มอักษราจะขอถอนตัวในเวลาต่อมา เนื่องจากไม่สามารถจ่ายเงินก้อนแรกจำนวน 1,500 ล้านบาทได้ เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลก และกลุ่มทุนของกลุ่มอักษราที่มาจากประเทศจีนหันไปลงทุนในที่ดินในประเทศพม่าแทน[4] สำนักงานบริพัตรจึงนำที่ดินมาเปิดประมูลใหม่ในราคาเปิดประมูลเริ่มต้นที่ 4,800 ล้านบาท และผู้ที่ชนะการประมูลคือ บริษัท ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม จำกัด ในเครือทีซีซี แลนด์ ของกลุ่มทีซีซี ด้วยราคาขายสุทธิ 5,000 ล้านบาท แต่แจ้งโอนที่ราคา 4,507 ล้านบาท รวมค่าโอนอีก 300 ล้านบาท เป็น 4,807 ล้านบาท โดยสำนักงานบริพัตรได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ บจก.ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 หลังจากนั้น เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มทีซีซี ได้ยืนยันว่าจะต่อสัญญาเช่าให้ผู้เช่าทุกราย และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในเชิงพาณิชยกรรมให้ดียิ่งขึ้น[1]
การเข้าซื้อโดยแอสเสท เวิรด์ คอร์ป
[แก้]ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) มีมติเอกฉันท์ให้เสนอวาระการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม จํากัด พร้อมรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเวิ้งนาครเขษมทั้งหมดจากกลุ่มทีซีซี แลนด์ มูลค่าประมาณ 8,265 ล้านบาท ให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณา[5] และที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติธุรกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน ปีเดียวกัน[6]
การเปิดตัวโครงการและก่อสร้าง
[แก้]ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568 แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ได้จัดงานเปิดตัวและพิธีลงเสาเอกโครงการใหม่ในเวิ้งนาครเขษม ในชื่อ เวิ้งนครเกษม เยาวราช (อังกฤษ: Woeng Nakornkasem Yaowaraj) ภายใต้แนวคิด "Legacy of the Past, Inspiration of Tomorrow" โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 16,595.5 ล้านบาท (รวมที่ดิน) ถือเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดของแอสเสท เวิรด์ คอร์ป โดยมีบริษัท นันทวัน จำกัด (ไทย โอบายาชิ) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง[7]
การจัดสรรพื้นที่
[แก้]โครงการเวิ้งนครเกษมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้[7]
- ศาลาจีน (Chinese Pavilion) ความสูง 8 ชั้น เป็นภูมิสัญลักษณ์แห่งใหม่ของไชนาทาวน์ ภายในมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนเข้าสักการะ และพิพิธภัณฑ์เวิ้งนครเกษม จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ ตลอดจนสิ่งของในวิถีชีวิตของชุมชนในเวิ้งนาครเขษมเดิม
- โรงแรม (Hospitality) โดยเป็นแห่งแรกในไชน่าทาวน์ที่จะเป็นโรงแรมหรู (Luxury) จำนวน 2 โรงแรม รวมห้องพักมากกว่า 500 ห้อง ดังนี้
- โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล (InterContinental) จำนวนมากกว่า 300 ห้องพัก เป็นอาคารหลักความสูง 10 ชั้น และอาคารพาณิชย์เก่าแก่ที่อนุรักษ์โครงสร้างภายนอกเดิม ส่วนภายในปรับปรุงเป็นห้องสวีท และมีห้องบอลรูมขนาดใหญ่ที่สุดในไชนาทาวน์ ที่พื้นที่มากกว่า 1,100 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้สูงสุด 750 คน
- โรงแรมคิมป์ตัน (Kimpton) เป็นเครือโรงแรมหรูแนวไลฟ์สไตล์ในเครืออินเตอร์คอนติเนนตัลเช่นกัน แต่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มครอบครัว จำนวนมากกว่า 200 ห้องพัก บนอาคารหลักสูง 10 ชั้น และอาคารพาณิชย์อนุรักษ์ริมคลองรอบกรุง เน้นผสมผสานระหว่างประเพณีท้องถิ่น ความทันสมัยในการบริการ ห้องอาหาร และบาร์
- ศูนย์การค้า (Retail) มีพื้นที่รวมทั้งหมด 68,000 ตารางเมตร ภายในพื้นที่อาคารหลัก ประกอบด้วยจัตุรัสเมืองขนาดใหญ่ใจกลางไชนาทาวน์ ซึ่งเป็นลานสี่เหลี่ยมอาคารล้อมภายในกลุ่มอาคารพาณิชย์อนุรักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่โดดเด่นของเวิ้งนาครเขษมเดิม สำหรับเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ, พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่และสวนลอยฟ้าที่ชั้นบนของด้านหน้าอาคาร, พื้นที่ใต้ดิน ประกอบด้วย ส่วนจำหน่ายสินค้าชั้นใต้ดินขนาดใหญ่ในชั้น B1 และ B2 ประกอบด้วยร้านขายสินค้าฟุ่มเฟือย ร้านค้ารูปแบบใหม่ ภัตตาคารที่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ ร้านกาแฟ และร้านค้าท้องถิ่นของชุมชน ที่เน้นการถ่ายทอดเรื่องราวของเวิ้งนาครเขษมในฐานะย่านการค้าไทย-จีนในอดีต ผ่านการตกแต่งในสถาปัตยกรรมร่วมสมัย และชั้น B3 ถึง B5 เป็นลานจอดรถใต้ดินที่รองรับได้ทั้งหมด 750 คัน
โดยเชื่อมต่อกับสถานีสามยอด ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่ชั้น B1 อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับรถรางไฟฟ้าที่แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ให้บริการเพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารโดยรอบไชนาทาวน์โดยเฉพาะ[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ป่านแก้ว, วราพงษ์ (15 กรกฎาคม 2012). "เวิ้งนาครเขษมจากเมืองราชสกุลถึงเจ้าสัว". โพสต์ทูเดย์. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 2.0 2.1 "กู๊ดบายประวัติศาสตร์ ทุนนิยมโกยเงิน แปลงร่าง'เวิ้งนาครเขษม'". ไทยรัฐ. 27 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014.
- ↑ "ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ยังต้องปรับตัวอีกมาก". หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ. พฤศจิกายน 1999. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2025.
สำนักงานบริพัตร เป็นผู้จัดการผลประโยชน์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนคร สวรรค์วรพินิจ ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นตึกแถวตลาด และที่ดินบริเวณเวิ้งนาครเขษม
- ↑ "'เวิ้งนาครเขษม' ตอนที่ 1 : เจ้าสัวเจริญตั้งโจทย์ขอ 300 ล้าน!!!". ไทยรัฐ. 6 สิงหาคม 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014.
- ↑ "ปิดดีล AWC ซื้อ 'เวิ้งนาครเขษม ' 8.2 พันล้าน". ฐานเศรษฐกิจ. 15 กุมภาพันธ์ 2021. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เจ้าสัวเจริญ ปั้น"เวิ้งนาครเขษม" 30ปีโกย 1.5 แสนล้าน". ฐานเศรษฐกิจ. 10 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 7.0 7.1 "AWC ลงเสาเอก 'เวิ้งนครเกษม เยาวราช'". SPACEBAR. 24 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2025.
- ↑ จุลพันธ์, พรไพลิน (24 มกราคม 2025). "AWC ลงเสาเอก 'เวิ้งนครเกษม เยาวราช' มิกซ์ยูส 1.6 หมื่นล้าน ใหญ่สุดไชน่าทาวน์!". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ เวิ้งนครเกษม
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์