ข้ามไปเนื้อหา

วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์
วรรณีขณะบรรยายในงาน OECD Forum for World Education 2019
เกิด (1962-09-30) 30 กันยายน ค.ศ. 1962 (62 ปี)
สัญชาติไทย ไทย
การศึกษาFordham University
อาชีพนักธุรกิจ, นักรณรงค์ด้านการศึกษา, นักการกุศล
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2532 - ปัจจุบัน
องค์การConcordian International School
คู่สมรสไมเคิล รอสส์
รางวัลรางวัลนักลงทุนหญิงโดดเด่นแห่งอาเซียน จากเครือข่ายนักลงทุนหญิงอาเซียน พ.ศ. 2561

วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ เป็นนักธุรกิจ นักการเงินการธนาคาร นักรณรงค์ด้านการศึกษาและนักการกุศลหญิงชาวไทย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน และรณรงค์ด้านการศึกษา[1] เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในเวทีสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก[2] เช่น Forum for World Education จัดร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ณ กรุงปารีส, สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งธนินท์ เจียรวนนท์ บิดาของเธอและ Andreas Schleicher ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะของ OECD ร่วมเป็นผู้พูดหลักในเวทีสัมนาดังกล่าวด้วย[3]

ประวัติและการศึกษา

[แก้]

วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ เป็นบุตรและบุตรสาวคนแรกของนายธนินท์และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทธุรกิจการเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศไทย[4] เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพ[5] วรรณีจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจาก Ojai Valley School, รัฐแคลิฟอร์เนีย[6] และจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก The Hun School of Princeton, รัฐนิวเจอร์ซีย์ ก่อนจะเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการจัดการข้อมูลสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และธุรกิจ และปริญญาโทด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม, นครนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา ขณะกำลังศึกษาทั้งสองปริญญา วรรณีได้เข้ารับการฝึกงานที่[7] Chase Manhattan Bank วาณิชธนกิจที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา[8][9] ณ สำนักงานประจำฮ่องกง โดยฝึกงานทั้งในด้านการบริหารงานการธนาคารมูลค่าสูงส่วนบุคคล (Private banking) และการธนาคารเพื่อการลงทุน (Investment banking) หรือ วาณิชธนกิจ และเธอได้เริ่มชีวิตการทำงานในสายงานด้านการเงินด้วยการเป็นนักวิเคราะห์ด้านการลงทุนให้กับ Chase Manhattan Bank ในประเทศไทยด้วย

วรรณี เจียรวนนท์ สมรสกับนายไมเคิล รอสส์ ชาวฮ่องกง[10] เป็นรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี.พี.โลตัส คอร์ปอเรชั่น ธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์[11]

การทำงานทางธุรกิจ

[แก้]

วรรณีทำงานในธนาคารข้ามชาติ Chase Manhattan Bank ในตำแหน่งนักวิเคราะห์ด้านการลงทุน ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 - 2534 จากนั้นได้ลาออกแล้วร่วมก่อตั้งบริษัท CL3 Design จำกัด ในฮ่องกง โดยดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมและนวัตกรรม ทั้งในรูปแบบของเครื่องเรือน อาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอก[12] วรรณีร่วมดำเนินธุรกิจในบริษัทดังกล่าวกว่า 8 ปีแล้วจึงเริ่มตั้งต้นทำธุรกิจด้านการศึกษา

ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน

[แก้]

วรรณีก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียนขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยเป็นโรงเรียนนานาชาติที่มุ่งเน้นการสอนแบบ International Baccalaureate (IB) หรือ หลักสูตรที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาต่อและปรับตัวในการศึกษาต่อได้กับทุก ๆ ระบบการศึกษาในโลก[13] สามารถใช้ภาษาที่กำลังมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของโลกได้ถึง 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาไทย[14]

หลักสูตรยังมุ่งที่จะขัดเกลานักเรียนให้เห็นคุณค่าของทุกคนและรู้จักช่วยเหลือสังคม มีความเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรมและความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ด้วยการออกแบบหลักสูตรให้ฝึกฝนจิตสาธารณะผ่านการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง[15] เช่น การออกค่ายอาสาร่วมสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร การทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่บ้านพักคนชรา สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ไปจนถึงการปลูกป่า และการให้นักเรียนได้รับผิดชอบชีวิตตนเอง ในขณะเดียวกันก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นสุข

การรณรงค์ด้านการศึกษาและการกุศล

[แก้]
วรรณีขณะพูดรณรงค์เปลี่ยนมโนทัศน์ทางการศึกษาระดับนานาชาติในงาน YALPI 2020 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วรรณีทำหน้าที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการศึกษามากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การเรียนในห้องเรียนไม่เพียงพอ เธอเริ่มรณรงค์ในเวทีต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่แบ่งปันความรู้ขนาดใหญ่อย่างมหาวิทยาลัย งานสัมนาระดับประเทศของภาคเอกชน เช่น งาน Creative Talk Conference 2020 จัดโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง AP Thailand[16] หรือกิจกรรมระดมความคิดเห็นของหน่วยงานราชการขนาดใหญ่อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงเวทีระดับนานาชาติของเยาวชนอย่าง Young ASEAN Leaders Policy Initiative (YALPI)[17] ที่จัดโดยนิสิตคณะรัฐศาสตร์และศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเธอได้ร่วมเสวนากับณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนเยาวชนจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[18]

การรณรงค์ด้านการศึกษาของวรรณียังดำเนินต่อไปยังองค์การระหว่างประเทศสำคัญ ๆ หลายแห่ง เช่น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 วรรณีร่วมได้ร่วมเป็นคณะกรรมการอำนวยการ (Steering Committee) และเป็นผู้พูดหลักในงานสัมนาว่าด้วยการศึกษาโลก หรือ Forum for World Education (FWE) ณ กรุงปารีส, สาธารณรัฐฝรั่งเศส จัดร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD[19] เธอได้ให้ทัศนะและวิพากษ์ในหลายประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งหัวข้อกระแสหลักอย่างโรงเรียน หลักสูตร บทบาทสตรีในแวดวงธุรกิจ ไปจนถึงการพัฒนาการศึกษากระแสรอง เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 วรรณีเข้าร่วมเป็นผู้พูดหลักในงานเสวนา "พลังสตรี...ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย"[20] ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เธอเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญและความสามารถของผู้ประกอบการ นักลงทุนและนักธุรกิจหญิง ที่จะเข้ามามีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีประชากรเพศชายน้อยลง[21]

วรรณีมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวสร้างความยั่งยืนผ่านทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการสร้างสถานศึกษาที่จะสร้างทักษะ ความชำนาญทางธุรกิจจากการทำงานจริงและเรียนหลักการทฤษฎีไปพร้อม ๆ กันทำให้เกิดรูปแบบการศึกษากึ่งอุดมศึกษากับอาชีวศึกษาที่กำลังถูกนำไปขับเคลื่อนสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์อยู่ในขณะนี้[22]

ในงาน Forum for World Education (FWE) ณ กรุงปารีส, สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจัดร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD วรรณีกล่าวถึงความขัดแย้งทางแนวคิดระหว่างวิธีการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Conglomerate) ที่มุ่งที่จะลดคู่แข่งในตลาดอยู่เสมอ[23] กับการสร้างสถานที่และระบบการศึกษาที่มุ่งสร้างนักธุรกิจใหม่เข้าสู่ตลาดที่เธอกำลังผลักดันอยู่ว่า เธอเชื่อว่าการแข่งขันเป็นสิ่งที่ดีต่อทุกคนในระบบเศรษฐกิจ ถ้าหากแนวทางการส่งเสริมการศึกษาของเธอจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันให้มากขึ้นนั้น ไม่ใช่อุปสรรคหรือเป็นข้อเสียต่อธุรกิจครอบครัวของเธอเลย แต่กลับช่วยผลักดันให้เกิดทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงในสังคมอีกมากมาย[22]

โครงการการกุศลด้านการศึกษาที่วรรณีดำเนินการอยู่ในขณะนี้และดำเนินการมาตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ คือการให้ทุนการศึกษาแก่บุตรของพนักงานเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งไม่ได้เป็นนักเรียนปัจจุบันของโรงเรียน ให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติของเธอ โดยจะมอบทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นที่ผู้รับทุนเริ่มเข้าศึกษาต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ Grade 12[24] ในขณะเดียวกันวรรณียังมอบทุนการศึกษาเพื่อเป็นการสนับสนุนแก่นักเรียนปัจจุบันของโรงเรียนที่มีผลการเรียนดี รวมไปถึงนักเรียนที่ทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอด้วย และเพื่อเป็นการส่งเสริมผู้มีความสามารถให้มุ่งมั่นศึกษาต่อไป วรรณียังมีโครงการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนของโรงเรียนและบุคคลทั่วไป ให้เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอด้วย[25]

วรรณีเป็นกำลังสำคัญในการทำหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติของเธอเอง โดยนักเรียนทุกคนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและงานอาสาสมัครจึงจะผ่านมาตรฐานและสามารถจบการศึกษาได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้เธอต้องเข้าร่วมกับกิจกรรมการกุศลและช่วยเหลือสังคมร่วมกับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ[26] และยังส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมายที่ตนจะทำงานอาสา ประสานงานขอความช่วยเหลือกับทั้งครอบครัวและเพื่อนร่วมงานด้วยตนเอง วรรณีได้ร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับนักเรียนของเธอมานานกว่า 8 ปี และคืนพื้นที่ป่าอันสมบูรณ์ไปแล้วกว่า 400 ไร่

รางวัลและความสำเร็จ

[แก้]

วรรณีได้รับรางวัลด้านการพัฒนาธุรกิจและการพัฒนาการศึกษาจากหลายสถาบันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ

  • รางวัลนักลงทุนหญิงโดดเด่นแห่งอาเซียน จากเครือข่ายนักลงทุนหญิงอาเซียน พ.ศ. 2561[27][28]
  • รางวัลบุคคลตัวอย่างในภาคธุรกิจการศึกษา จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558[29]
  • รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น จาก Ojai Valley School, รัฐแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2557[6]
  • รางวัล "คุณครูคุณธรรมสตรีไทย" จากเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรม ดร. เทียม โชควัฒนา พ.ศ. 2556[30]
  • บุคคลตัวอย่างในภาคธุรกิจการศึกษา จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556[31]
  • รางวัล “โรงเรียนคุณธรรม” จาก จากเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรม ดร. เทียม โชควัฒนา พ.ศ. 2555

อ้างอิง

[แก้]
  1. ถนัดกิจ จันกิเสน. Future of Education 4 ข้อสำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้ของ วรรณี เจียรวนนท์. 20 มกราคม 2563. https://thestandard.co/future-of-education/ (17 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  2. Organisation for Economic Co-operation and Development. Varnnee Chearavanont Ross. december 4, 2019. https://www.oecd.org/site/forum-world-education/speakers/Varnnee_Chearavanont_Ross_FWE19_BIO.pdf.
  3. Organisation for Economic Co-operation and Development. speakers. december 4, 2019. https://www.oecd.org/site/forum-world-education/.
  4. FORBESTHAILAND. THAILAND RICHEST. may 9, 2019. https://forbesthailand.com/forbes_lists/พี่น้องเจียรวนนท์ (accessed february 18, 2020).
  5. บริษัท กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด (กรุงเทพธุรกิจ). จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2). 18 กันยายน 2559. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/720073 (18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  6. 6.0 6.1 Ojai Valley School. Founder’s Alumni Award. 2014. https://www.ovs.org/alumni/faa/past-recipients/ เก็บถาวร 2020-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (accessed february 18, 2020).
  7. "History of Our Firm". JPMorganChase.
  8. Garrido, Francis; Chaudhry, Saqib (April 5, 2019). "The world's 100 largest banks". Standard & Poor. Retrieved September 8, 2019.
  9. "The World's largest banks and banking groups by market cap เก็บถาวร 2021-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (as of May 31, 2018)". BanksDaily.com. Retrieved February 21, 2019.
  10. Spd, Parima . “Trends & Conversations of The New Decade” #CTC2020. january 19, 2020. https://medium.com/@priwziest/trends-conversations-of-the-new-decade-ctc2020-8bde0514fcdc (accessed february 18, 2020)
  11. ไทยรัฐออนไลน์. "ซีพี" รุกซุปเปอร์มาร์เกตหรูเซี่ยงไฮ้. 7 กรกฎาคม 2554. https://www.thairath.co.th/content/184470 (18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  12. CL3. ABOUT. 2019. https://www.cl3.com/en/about (accessed february 18, 2020).
  13. "IB Middle Years Programme at a glance". ibo.org เก็บถาวร 2020-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  14. "DP curriculum – International Baccalaureate®". International
  15. Concordian International School. (2019). Mission Statement. Retrieved from website Concordian International School:https://www.concordian.ac.th/about/mission-statement/ เก็บถาวร 2020-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. Creative Talk Conference. คุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์. 2563. https://ctc2020.creativetalklive.com/speaker/varnnee-chearavanont-ross (21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  17. Young ASEAN Leaders Policy Initiative - YALPI. #YALPI2020 Panel Session “Striving for Inclusive Education in ASEAN”. february 12, 2020. https://web.facebook.com/YALPIChula/videos/1856005871196129/ (accessed february 21, 2020).
  18. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. YALPI. 6 กุมภาพันธ์ 2563. https://www.moe.go.th/index.php/ข่าวภารกิจผู้บริหารระดับสูง/yalpi/news_act/55641 (21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  19. สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์. “คุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์” ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านการศึกษาบนเวทีระดับโลก. 8 ธันสาคม 2562. http://www.cp-enews.com/news/details/cptalk/3489 (19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  20. สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์. “พลังสตรี...ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย.” www.thaiwomen.or.th. 9 สิงหาคม 2561. https://www.thaiwomen.or.th/upload/attach/20180726094829.pdf (3 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  21. โพสต์ทูเดย์. พม. สนับสนุนสตรี จัดเสวนา "พลังสตรี...ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย". 6 สิงหาคม 2561. https://www.posttoday.com/pr/560009 (18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  22. 22.0 22.1 Session 4, Day 2 | Forum for World Education. Directed by EduSkills OECD. Performed by Varnnee Chearavanont Ross. 2019.
  23. Felton, John Richard. "Conglomerate Mergers, Concentration and Competition." TheAmerican Journal of Economics and Sociology 30, no. 3 (1971): 225-42. Accessed February 20, 2020. http://www.jstor.org/stable/3485152.
  24. We are CP. มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรพนักงาน เครือเจริญโภคภัณฑ์. 20 มิถุนายน 2561. https://www.facebook.com/wearecp/posts/2159481980748583/ (27 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  25. Concordian International School. (2019). IB Diploma Program Scholarship Opportunity. Retrieved from website Concordian International School: https://www.concordian.ac.th/student-admissions/scholarship/
  26. ไทยรัฐ. ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลาง เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีภูมิภาคอาเซียน. 16 พฤษภาคม 2561. https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1282192 (3 มีนาคม 2563 ที่เข้าถึง).
  27. AWEN- Asean Women Entrepreneurs Network. Congratulations to Thai businesswomen who receive the Outstanding ASEAN Women Entrepreneur Award 2018. may 10, 2018. https://web.facebook.com/awenasean/photos/a.806095416201595/1410546909089773/?type=3&theater (accessed february 18, 2020).
  28. ASEAN WOMEN ENTREPRENEURS NETWORK. Congratulations to businesswomen who receive the Outstanding ASEAN Women Entrepreneur Award 2018. april 9, 2019. http://www.awenasean.org/?p=275 เก็บถาวร 2020-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (accessed February 18, 2020).
  29. มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame). 2558. http://www.thaifstt.org/index2/index.php/17-2016-06-25-10-40-16/2016-06-25-10-42-28/111-2015 (18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  30. ไทยรัฐออนไลน์. เชิดชูเกียรติ 10 ครูสตรี มีคุณธรรม. 18 กรกฎาคม 2556. https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/357739 (18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).
  31. มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame). 2556. http://www.thaifstt.org/index2/index.php/17-2016-06-25-10-40-16/2016-06-25-10-42-28/113-2013 (18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เข้าถึง).