วณี เลาหเกียรติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วณี เลาหเกียรติ
เกิดเอเวอลีน เลาหเกียรติ
3 เมษายน พ.ศ. 2464
เสียชีวิต26 กันยายน พ.ศ. 2566 (102 ปี)[ต้องการอ้างอิง]
มีชื่อเสียงจากนางสาวสยาม พ.ศ. 2478
คู่สมรสมานิตย์ สมประสงค์
บุตรจันทิมา วิจิตรวาทการ
อรรณพพร สมประสงค์
ดนัยศักดิ์ สมประสงค์
บุพการีบุญจินต์ เลาหเกียรติ
ละม่อม จันทรเวคิน

วณี สมประสงค์ (สกุลเดิม เลาหเกียรติ; 3 เมษายน พ.ศ. 2464 - 26 กันยายน พ.ศ. 2566)[ต้องการอ้างอิง] หรือชื่อเดิมว่า เอเวอลีน เลาหเกียรติ[1] เป็นนางสาวสยาม พ.ศ. 2478[2]

ประวัติ[แก้]

วณีเป็นบุตรสาวคนเดียวของร้อยตำรวจเอก บุญจินต์ เลาหเกียรติ กับละม่อม จันทรเวคิน ครอบครัวทั้งฝ่ายบิดามารดาล้วนเป็นข้าราชการ ย่าเป็นลูกครึ่งเปอรานากันจากสิงคโปร์[1] ขณะมีอายุได้หนึ่งเดือนจึงถือศีลล้างบาป โล่ เง็ก ล้วนผู้เป็นย่าจึงเลือกชื่อให้ว่า เอเวอลีน เลาหเกียรติ ตามชื่อนักบุญเอเวอลีน และใช้ชื่อนี้มาตลอดกระทั่งเปลี่ยนช่วงประกวดนางสาวพระนครเมื่อปี พ.ศ. 2478[1] ขณะอายุได้เพียง 9 ปี มารดาก็เสียชีวิตลง วณีจึงอยู่ในการดูแลของหลวงขจรยุทธกิจ (เทา จันทรเวคิน) ผู้เป็นตา[1] ก่อนมาอยู่ในการดูแลของโล่ เง็ก ล้วน ซึ่งเป็นย่า และเป็นเจ้าของห้างเคียมฮั่วเฮง รวมถึงอสังหาริมทรัพย์มากมาย ซึ่งย่าของวณีได้บริจาคที่ดินย่านถนนคอนแวนต์เพื่อก่อสร้างอารามชีในศาสนาคริสต์[3]

เริ่มเข้าการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนเซนต์แมรี กุหลาบวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ต่อมาได้ย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เหตุที่จำต้องย้ายโรงเรียนบ่อย ก็เพราะย้ายตามที่ทำงานของพ่อที่เป็นตำรวจ[1]

การประกวด[แก้]

ในปี พ.ศ. 2478 มีการประกวดนางสาวสยามอันเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองรัฐธรรมนูญของรัฐบาล นายอำเภอบางรักจึงจัดผู้หลักผู้ใหญ่ขอให้วณีไปประกวด ซึ่งวณีได้เล่าที่มาของการประกวดไว้ว่า "...สมัยนั้นทางมหาดไทยจะให้ข้าหลวงออกตามหาว่าบ้านไหนมีลูกสาวสวย พอทางการมาเห็นเข้าก็ขอให้ช่วยชาติร่วมฉลองงานรัฐธรรมนูญ ตอนเข้าประกวดนี่เตรียมตัวล่วงหน้าไม่นาน การทำนุบำรุงร่างกายก็เป็นไปตามปกติ เพราะเวลานั้นยังไม่นิยมการบำรุงร่างกายตามแบบสากลนิยมกันนัก..."[3] วณีไปประกวดอย่างไม่เต็มใจโดยกล่าวไว้ว่า "ที่จริงถูกหลอกมาประกวดนะ เพราะคุณหญิงข้างบ้านบอกจะให้ลูกสาวมาประกวดด้วย จะได้เดินเป็นเพื่อน แต่เอาเข้าจริงไม่ได้มา ปล่อยให้เราเดินคนเดียว ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้ตำแหน่ง ไม่เคยมีใครมาบอก พอได้ตำแหน่งแล้วเหนื่อยมาก แต่ก็ภูมิใจ รู้สึกเป็นเกียรติคือรู้สึกตัวเองเป็นผู้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล..."[3] อย่างไรก็ตามเธอผ่านการคัดเลือกจากจังหวัดพระนครให้เป็นนางสาวพระนครในวันแรกของการประกวด[1] และเข้าเป็นตัวแทนของการประกวดนางสาวสยาม การประกวดดังกล่าวจัดขึ้นในเดือนธันวาคมที่สนามหลวงและสวนสราญรมย์ในช่วงที่น้ำท่วมเจิ่งนอง[3] ซึ่งเธอก็ได้รับตำแหน่งนางสาวสยามคนที่สองต่อจากกันยา เทียนสว่าง[2] ได้รับการสวมมงกุฎโดยหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา[4] แต่หลังได้รับตำแหน่งนางสาวสยาม รัฐบาลสยามก็ขอรับบริจาคเงินรางวัล 1,000 บาท วณีจึงมีเพียงมงกุฎและถ้วยรางวัล รวมทั้งต้องออกงานสังคมร่วมกับญาติผู้ใหญ่ ซึ่งภายหลังมีผู้ขอถ้วยรางวัลของเธอไปเป็นรางวัลแก่ทีมฟุตบอลที่ชนะเลิศ ซึ่งวณีก็ให้ไป[3]

ในปี 2480 วณีและวงเดือน ภูมิรัตน์ นางสาวสยามคนที่สองและสามได้เข้าร่วมการประกวดนางสาวสยามอีกครั้งในปีดังกล่าว เพราะในขณะนั้นยังไม่มีกฎห้ามอดีตนางสาวสยามเข้าประกวดอีก และเธอทั้งสองต่างถูกขอให้ไปประกวดโดยให้เหตุผลเพื่อช่วยชาติ และไปเพื่อสร้างสีสันในงานเท่านั้นแต่จะไม่ได้รับตำแหน่งนางสาวสยามอีก ซึ่งผู้รับตำแหน่งนางสาวสยามประจำปีนั้นคือมยุรี วิชัยวัฒนะ

ครอบครัวและบั้นปลาย[แก้]

หลังจากได้รับตำแหน่งนางสาวสยามมาแล้วสี่ปีเธอได้เข้าพิธีสมรสกับนายแพทย์ มานิตย์ สมประสงค์ แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช[1] ขณะมีอายุได้ 20 ปี โดยทั้งคู่มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 3 คนได้แก่ จันทิมา วิจิตรวาทการ, อรรณพพร สมประสงค์ และดนัยศักดิ์ สมประสงค์

ปี พ.ศ. 2557 ขณะมีอายุได้ 93 ปี วณีมีความสุขกับลูกหลาน เดินทางไปพำนักที่สหรัฐบ้างบางโอกาส สามารถเดินเหินได้ดี และมีความจำดีเยี่ยม[5]

วณีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566[ต้องการอ้างอิง] ในวัย 102 ปี 6 เดือน[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "ประวัติคุณยาย". คุณยายวณี สมประสงค์. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 "วณี เลาหเกียรติ์ นางสาวสยามปี พ.ศ. 2478". ศิลปวัฒนธรรม. 26 พฤศจิกายน 2559. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "เส้นทาง "วณี เลาหเกียรติ์" ลูกตร. สู่นางสาวสยามคนที่ 2 เผยเงินรางวัล-ชีวิตหลังรับตำแหน่ง". ศิลปวัฒนธรรม. 22 มิถุนายน 2564. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. ยุทธพงษ์ ใสสะอาด. "นางสาวไทย". l3nr. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. คุณแหน (16 มิถุนายน 2557). "ผู้หญิง". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  6. คุณแหน (7 ตุลาคม 2566). "ผู้หญิง". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]