รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ 足利幕府 อาชิกางะบากูฟุ | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1338–1573 | |||||||||||
ตราประจำตระกูลอาชิกางะ
เป็นตราราชการของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ | |||||||||||
สถานะ | รัฐบาลสำเร็จราชการโดยโชกุน | ||||||||||
เมืองหลวง | เคียวโตะ | ||||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาญี่ปุ่นยุคกลาง | ||||||||||
ศาสนา | ชิมบุตสึชูโง | ||||||||||
การปกครอง | เผด็จการ ศักดินา ทหาร | ||||||||||
จักรพรรดิ | |||||||||||
• 1332–1334 | โคงง | ||||||||||
• 1557–1586 | โองิมาชิ | ||||||||||
โชกุน | |||||||||||
• 1338–1358 | อาชิกางะ ทากาอูจิ | ||||||||||
• 1568–1573 | อาชิกางะ โยชิอากิ | ||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||
• ก่อตั้ง | 11 สิงหาคม 1338 | ||||||||||
• การยอมแพ้ของ จักรพรรดิโกะ-คาเมยามะ | 15 ตุลาคม ค.ศ. 1392 | ||||||||||
1467–1477 | |||||||||||
• โอดะ โนบูนางะ ยึดเคียวโตะ | 2 กันยายน 1573 | ||||||||||
สกุลเงิน | มง | ||||||||||
|
รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ (ญี่ปุ่น: 足利幕府; โรมาจิ: Ashikaga bakufu) หรือที่มักรู้จักในชื่อ รัฐบาลโชกุนมูโรมาจิ (ญี่ปุ่น: 室町幕府; โรมาจิ: Muromachi bakufu) เป็นระบอบการปกครองโดยกลุ่มทหารในญี่ปุ่นระหว่างปี ค.ศ. 1338-1573 ซึ่งมีโชกุนจากตระกูลอาชิกางะ เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล
ห้วงเวลาใต้การปกครองของรัฐบาลโชกุนนี้รู้จักกันในชื่อ ยุคมูโรมาจิ ซึ่งมาจากชื่อถนนมูโรมาจิ ในนครเคียวโตะ
อาชิกางะ ทากาอูจิ สามารถจัดตั้งรัฐบาลโชกุนของเขาได้ อันเนื่องมาจากการต่อต้านของจักรพรรดิต่อรัฐบาลโชกุนคามากูระ รัฐบาลก่อนหน้า ดังนั้นรัฐบาลโชกุนอาชิกางะจึงได้แบ่งอำนาจและหน่วยงานราชการให้แก่ฝ่ายราชสำนักมากกว่าสมัยคามากูระ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลโชกุนอาชิกางะ เป็นรัฐบาลโชกุนที่มีอำนาจน้อยกว่ารัฐบาลโชกุนคามากูระ หรือ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ซึ่งระบบศักดินาส่วนกลางที่ใช้ในสมัยคามากูระก็ถูกแทนที่ด้วยระบบไดเมียว (ข้าหลวงของแต่ละท้องที่) ดังนั้นอำนาจทางการทหารของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะก็ขึ้นอยู่กับความจงรักภักดีของไดเมียว
รัฐบาลโชกุนอาชิกางะประกอบด้วย สถาบันโชกุนเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐบาล การปกครองของรัฐบาลโชกุนฯ แบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่ การปกครองส่วนกลาง และการปกครองส่วนภูมิภาค
โชกุนและคันเร
[แก้]เมื่ออาชิกางะ ทากาอูจิ (ญี่ปุ่น: 足利 尊氏; โรมาจิ: Ashikaga Takauji ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเซอิไทโชกุน (ญี่ปุ่น: 征夷大将軍; โรมาจิ: Seii Taishōgun ) เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลโชกุนฯ หรือ บากูฟุ โดยที่โชกุนนั้นมาจากตระกูลอาชิกางะ ซึ่งอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งโชกุนผ่านการสืบเชื้อสายจากตระกูลเซวะเก็นจิ (ญี่ปุ่น: 清和源氏; โรมาจิ: Seiwa Genji ) ในช่วงสิบปีแรกของรัฐบาลโชกุนประเทศญี่ปุ่นยังคงตกอยู่ในช่วงสงครามระหว่างพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือและฝ่าย ในยุคราชวงศ์เหนือใต้ (ญี่ปุ่น: 南北朝; โรมาจิ: Nanboku-chō) มีการแบ่งอำนาจกับระหว่างปฐมโชกุนทากาอูจิและน้องชายคือ อาชิกางะ ทาดาโยชิ (ญี่ปุ่น: 足利 直義; โรมาจิ: Ashikaga Tadayoshi) โดยที่โชกุนทากาอูจิดูแลเรื่องการทหารและการสงคราม ในขณะที่ทาดาโยชิน้องชายดูแลเรื่องการบริหาร สองพี่น้องตระกูลอาชิกางะปกครองญี่ปุ่นร่วมกันเป็นเวลาประมาณสิบปีจนกระทั่งสงครามปีคันโน (ญี่ปุ่น: 観応の擾乱; โรมาจิ: Kannō no shōran) โชกุนมะกะอุจิได้สร้างตำแหน่งชิตสึจิ (ญี่ปุ่น: 執事; โรมาจิ: Shitsuji) หรือผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนขึ้นมาแทนที่ทาดาโยชิผู้เป็นน้องชาย ทำหน้าที่ในด้านการบริหารแทนโชกุน
ใน ค.ศ. 1362 โชกุนคนต่อมา อาชิกางะ โยชิอากิระ จัดตั้งตำแหน่ง คันเร (ญี่ปุ่น: 管領; โรมาจิ: Kanrei) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนแทนที่ชิตสึจิ โดยเพื่อป้องกันไม่ให้ตระกูลใหญ่ตระกูลเดียวมีอำนาจดังที่เป็นในยุคคามากูระ ผู้ดำรงตำแหน่งคันเรจึงเวียนมาจากสามตระกูลใหญ่เรียกว่า ซังกันเร (ญี่ปุ่น: 三管領; โรมาจิ: Sankanrei) ได้แก่ โฮโซกาวะ (ญี่ปุ่น: 細川; โรมาจิ: Hosokawa) ฮาตาเกยามะ (ญี่ปุ่น: 畠山; โรมาจิ: Hatakeyama) และชิบะ (ญี่ปุ่น: 志波; โรมาจิ: Shiba) อำนาจของคันเรมีแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ในสมัยของโชกุนอาชิกางะ โยชิมิตสึ (ญี่ปุ่น: 足利 義満; โรมาจิ: Ashikaga Yoshimitsu) ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนด้วยอายุเพียงเก้าปี คันเรโฮโซกาวะ โยริยูกิ (ญี่ปุ่น: 細川 頼之; โรมาจิ: Hosokawa Yoriyuki) จึงเป็นผู้ปกครองรัฐบาลโชกุนในทางพฤตินัย เมื่อโชกุนโยชิมิตสึเติบโตมีอำนาจเต็มแล้ว อำนาจของคันเรจึงลดลง หลังจากสงครามปีโอนิง (ญี่ปุ่น: 応仁の乱; โรมาจิ: Ōnin no Ran) อำนาจของสถาบันโชกุนลดลงมาก คันเรจึงขึ้นมามีอำนาจเหนือโชกุนสามารถปลดเปลี่ยนและตั้งโชกุนใหม่ได้ตามต้องการ
รายนามโชกุน
[แก้]- อาชิกางะ ทากาอูจิ, ปี 1338–1358
- อาชิกางะ โยชิอากิระ, ปี 1359–1368
- อาชิกางะ โยชิมิตสึ, ปี 1368–1394
- อาชิกางะ โยชิโมชิ, ปี 1395–1423
- อาชิกางะ โยชิกาซุ, ปี 1423–1425
- อาชิกางะ โยชิโนริ, ปี 1429–1441
- อาชิกางะ โยชิกัตสึ, ปี 1442–1443
- อาชิกางะ โยชิมาซะ, ปี 1449–1473[1]
- อาชิกางะ โยชิฮิซะ, ปี 1474–1489[1]
- อาชิกางะ โยชิตาเนะ, ปี 1490–1493, 1508–1521[2]
- อาชิกางะ โยชิซุมิ, ปี 1494–1508[2]
- อาชิกางะ โยชิฮารุ, ปี 1521–1546
- อาชิกางะ โยชิเตรุ, ปี 1546–1565
- อาชิกางะ โยชิฮิเดะ, ปี 1568
- อาชิกางะ โยชิอากิ, ปี 1568–1573
การปกครองส่วนกลาง
[แก้]รัฐบาลโชกุนอาชิกางะมีฐานที่มั่นตั้งอยู่ที่เมืองเคียวโตะ การปกครองส่วนกลางของรัฐบาลโชกุนฯ มีหน้าที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับโชกุนและนครหลวง การปกครองส่วนกลางของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะนั้น ได้รับแบบอย่างโดยส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลโชกุนคามากูระ มีองค์กรต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้
- ซามูไรโดโกโระ (ญี่ปุ่น: 侍所; โรมาจิ: Samurai-dokoro) เป็นสภาซึ่งดูแลกิจการของซามูไรทั้งปวง เป็นตำรวจนครบาลภายในเมืองเคียวโตะ และเกณฑ์ไพร่พลจัดทัพของรัฐบาลโชกุนฯ ในการสู้รบต่าง ๆ สมาชิกในสภาซามูไรโดโกโระได้รับการแต่งตั้งจากโชกุนและมาจากตระกูลใหญ่ที่สำคัญในยุคมูโรมาจิสี่ตระกูลรองลงมาจากซังกันเร เรียกว่า ชิชิกิ (ญี่ปุ่น: 四職; โรมาจิ: Shishiki) ได้แก่ ตระกูลอิซชิกิ (ญี่ปุ่น: 一色; โรมาจิ: Isshiki) ตระกูลยามานะ (ญี่ปุ่น: 山名; โรมาจิ: Yamana) ตระกูลอากามัตซึ (ญี่ปุ่น: 赤松; โรมาจิ: Akamatsu) และตระกูลเคียวโงกุ (ญี่ปุ่น: 京極; โรมาจิ: Kyōgoku) หัวหน้าของสภาซามูไรโดโกโระ เรียกว่าโทนิง (ญี่ปุ่น: 頭人; โรมาจิ: Tōnin) ซึ่งมีอำนาจในบากูฟุรองจากโชกุนและคันเร
- เฮียวโจชู (ญี่ปุ่น: 評定衆; โรมาจิ: Hyōjōshū) และ ฮิกิตสึเกะชู (ญี่ปุ่น: 引付衆; โรมาจิ: Hikitsuke-shū) มีหน้าตัดสินคดีความฟ้องร้องต่าง ๆ ของซามูไร โดยที่ฮิกิตสึเกะชูส่งสำนวนคดีความให้แก่เฮียวโจชูเป็นผู้ตัดสิน
- มันโดโกโระ (ญี่ปุ่น: 政所; โรมาจิ: Mandokoro) เป็นสภาทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารและการเงินของรัฐบาลโชกุนฯ หัวหน้าสภามันโดโกโระ เรียกว่า มันโดโกโระชิตสึจิ (ญี่ปุ่น: 政所執事; โรมาจิ: Mandokoro-shitsuji) ซึ่งเป็นตำแหน่งของตระกูลอิเซะ (ญี่ปุ่น: 伊勢; โรมาจิ: Ise)
- มนจูโจ (ญี่ปุ่น: 問注所; โรมาจิ: Monchūjo)
การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาคของญี่ปุ่นในสมัยมูโรมาจิเป็นไปตามระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) เช่นเดียวกับในยุคคามากูระ โดยที่รัฐบาลโชกุนมอบที่ดินให้แก่ซามูไรให้ปกครอง โดยที่ซามูไรเหล่านั้นมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนของตนและเข้าร่วมศึกสงครามของรัฐบาลโชกุนเป็นการตอบแทน
รัฐบาลโชกุนอาชิกางะแบ่งประเทศญี่ปุ่นออกเป็น 66 แคว้น เรียกว่า คุนิ (ญี่ปุ่น: 国; โรมาจิ: kuni) ดังเช่นที่เคยเป็นมาแต่ก่อน ซึ่งในแต่ละคุนิรัฐบาลโชกุนฯ แต่งตั้งเจ้าซามูไรเข้าไปปกครองเรียกว่า ชูโงะ (ญี่ปุ่น: 守護; โรมาจิ: Shugo) หรือ ชูโงะไดเมียว (ญี่ปุ่น: 守護大名; โรมาจิ: Shugo-daimyō) ชูโงะในยุคอาชิกางะนั้นมีอำนาจเหนือดินแดนของตน เป็นอิสระจากรัฐบาลโชกุนส่วนกลางมากกว่าในยุคคามากูระ โดยที่ชูโงะสามารถเก็บภาษีในดินแดนของตน และส่งทอดตำแหน่งของตนเองต่อให้ลูกหลานได้
นอกเหนือจากชูโงะแล้ว ยังมีองค์กรส่วนภูมิภาคซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนสาขาย่อยของรัฐบาลโชกุนฯ ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งตัวแทนเหล่านี้มีอาณาเขตอำนาจที่กว้างใหญ่และในเวลาต่อมาพัฒนากลับกลายเป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของอำนาจของรัฐบาลโชกุนในยุคเซ็งโงกุ
เนื่องจากชูโงะมักจะพำนักอาศัยอยู่ภายในนครหลวงเคียวโตะ เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อโชกุนและเพื่อติดตามข่าวสารการเมือง การบริหารงานภายในแคว้นของตนนั้นชูโงะจึงดำเนินการผ่านผู้แทน เรียกว่า ชูโงะได (ญี่ปุ่น: 守護代; โรมาจิ: Shugo-dai)
คันโตคุกูโบ และ คันโตกันเร
[แก้]ใน ค.ศ. 1349 โชกุนคนแรก อาชิกางะ ทากาอูจิ แต่งตั้งให้บุตรชายของตนคือ อาชิกางะ โมโตอูจิ (ญี่ปุ่น: 足利基氏; โรมาจิ: Ashikaga Motouji) ดำรงตำแหน่งเป็น คันโตกันเร (ญี่ปุ่น: 関東管領; โรมาจิ: Kantō kanrei) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนในภูมิภาคตะวันออกของญี่ปุ่น พำนักอยู่ที่เมืองคามากูระและมีอำนาจเหนือซามูไรในภูมิภาคคันโตทั้งมวล เมื่ออาชิกางะ โมโตอูจิถึงแก่กรรม ตำแหน่งคันโตกันเรจึงตกทอดแก่ลูกหลานของโมโตอูจิ และเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งคันโตคันเรเป็นสมาชิกตระกูลอาชิกางะระดับสูง ตำแหน่งนี้จึงได้รับการขนานนามว่า คันโตกูโบ (ญี่ปุ่น: 関東公方; โรมาจิ: Kantō kubō) หรือ โชกุนแห่งภูมิภาคคันโต คันโตคุโบมีผู้ช่วยเป็นผู้สำเร็จราชการอีกทอดหนึ่ง เรียกว่า ชิตสึจิ เป็นตำแหน่งของตระกูลอูเอซูงิ (ญี่ปุ่น: 上杉; โรมาจิ: Uesugi)
ตำแหน่งคันโตกูโบกลับทำให้เสถียรภาพทางการเมืองของภูมิภาคคันโตตกต่ำลง เนื่องจากคันโตคุโบมักมีความขัดแย้งกับตระกูลอูเอซูงิซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนตนอยู่เนือง ๆ และนอกจากนี้คันโตกูโบยังมีความพยายามที่จะตั้งตนขึ้นเป็นอิสระจากรัฐบาลโชกุนฯ ที่เคียวโตะนำไปสู่สงคราม หลังจากที่คันโตกูโบคนสุดท้ายถูกตระกูลอูเอซูงิขับไล่ออกจากเมืองคามากูระไปใน ค.ศ. 1455 ไม่มีการแต่งตั้งสมาชิกตระกูลอาชิกางะมาดำรงตำแหน่งนี้อีก ตำแหน่งคันโตกูโบจึงถูกล้มเลิกไป จากนั้นตระกูลอูเอซูงิขึ้นเถลิงอำนาจในภูมิภาคคันโตโดยดำรงตำแหน่งเป็นคันโตคักันเรในยุคเซ็งโงกุ
คีวชูทันได
[แก้]ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ เกาะคีวชูเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังของพระราชวงศ์ฝ่ายใต้ โชกุนทากาอูจิตั้งตำแหน่งคีวชูทันได (ญี่ปุ่น: 九州探題; โรมาจิ: Kyūshū-tandai) ขึ้นใน ค.ศ. 1336 เพื่อดูแลปกครองเกาะคีวชูและปราบปรามกองกำลังของฝ่ายใต้ โดยมีฐานการบัญชาการอยู่ที่เมืองฮากาตะ (ญี่ปุ่น: 博多; โรมาจิ: Hakata จังหวัดฟูกูโอกะในปัจจุบัน) โดยตำแหน่งคีวชูทันไดในยุคต้นเป็นของตระกูลอิซชิกิ แต่ทว่าตระกูลอิซชิกิไม่สามารถปราบปรามกองกำลังของฝ่ายใต้ได้ ใน ค.ศ. 1370 สมัยของโชกุนโยชิมิตสึ คันเรโฮโซกาวะ โยริยูกิซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน แต่งตั้งให้ อิมางาวะ ซาดาโยะ (ญี่ปุ่น: 今川 貞世; โรมาจิ: Imagawa Sadayo) ดำรงตำแหน่งเป็นคีวชูทันได อิมางาวะ ซาดาโยะ สามารถปราบกองกำลังของฝ่ายใต้ซึ่งนำโดยเจ้าชายคาเนโยชิ (ญี่ปุ่น: 懐良親王; โรมาจิ: Kaneyoshi shinnō) ได้สำเร็จ แต่ทว่าหลังจากสูญสิ้นอำนาจของคันเรโฮโซกาวะ โยริยูกิ โชกุนโยชิมิตสึมองว่า อิมางาวะ ซาดาโยะ เป็นคู่แข่งทางการเมือง จึงปลดอิมางาวะ ซาดาโยะ ออกจากตำแหน่งคีวชูทันไดไปใน ค.ศ. 1395 หลังจากนั้นตำแหน่งคีวชูทันไดเป็นของตระกูลชิบูกาวะ (ญี่ปุ่น: 渋川; โรมาจิ: Shibukawa) หลังจากที่เกาะคีวชูสงบเรียบร้อยแล้ว ตำแหน่งคีวชูทันไดจึงมีความสำคัญและอำนาจลดลง บรรดาชูโงะไดเมียวเจ้าครองแคว้นต่าง ๆ บนเกาะคีวชูปฏิบัติตามคำสั่งของโชกุนที่เมืองเคียวโตะโดยตรง
โอชูทันได
[แก้]ภูมิภาคโทโฮะกุนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของคันโตคุโบ ใน ค.ศ. 1392 โชกุนโยชิมิตสึตั้งตำแหน่ง โอชูทันได (ญี่ปุ่น: 奥州探題; โรมาจิ: Ōshū-tandai) ขึ้นเพื่อดูแลภูมิภาคโทโฮะกุ แต่ตำแหน่งโอชูทันไดนั้นในทางปฏิบัติมีอำนาจไม่มากและเป็นเพียงแค่ชูโงะตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Ackroyd, p. 298; n.b., Shogun Yoshimasa was succeeded by Shogun Yoshihisa (Yoshimasa's natural son), then by Shogun Yoshitane (Yoshimasa's first adopted son), and then by Shogun Yoshizumi (Yoshimasa's second adopted son)
- ↑ 2.0 2.1 Ackroyd, p. 385 n104; excerpt, "Some apparent contradictions exist in various versions of the pedigree owing to adoptions and name-changes. Yoshitsuna (sometimes also read Yoshikore) changed his name and was adopted by Yoshitane. Some pedegrees show Yoshitsuna as Yoshizumi's son, and Yoshifuyu as Yoshizumi's son."
ข้อมูลเพิ่มเติม
[แก้]- Ashikaga Bakufu จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน
- Kyoto City Web